นักสื่อสารวิทยาศาสตร์: อาชีพสำคัญที่ภาครัฐมองข้าม

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นครั้งแรกที่คนไทยจำนวนมากได้รู้จักกับอาชีพ ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ (science communicator) สาเหตุเพราะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งได้กระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการ อีกทั้งยังมีคนจำนวนมากออกมาบอกเล่าเหตุการณ์ที่คล้ายกันว่า เคยตกเป็นภาชนะรองรับอารมณ์และคำพูดที่รุนแรงของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเหตุการณ์เหล่านั้นมาฉายซ้ำ แต่ผมต้องการนำ ‘ประสบการณ์ส่วนตัว’ ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มาเล่าสู่กันฟัง โดยหวังว่าจะทำให้คนทั่วไปรู้จักอาชีพนี้มากยิ่งขึ้นครับ

การสื่อสารวิทยาศาสตร์คืออะไร?

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ (science communication) มีความหมายกว้างๆ ว่า การนำข่าวสารหรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย โดยเฉพาะคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งรูปแบบของการสื่อสารวิทยาศาสตร์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเขียน การเล่า การทำคลิปวิดีโอ หรือวิธีการอื่นๆ ที่ผู้ส่งสารถนัดและเหมาะสมกับผู้รับสาร

บันทึกทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ปรากฏให้เห็นในต่างประเทศมานานแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นจะมีลักษณะคล้ายทอล์กโชว์หรือมหรสพ โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาบรรยายหรือสาธิตการทดลองบนเวทีให้คนทั่วไปรับชม นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเสมือน ‘คนกลาง’ ที่ทำให้ระยะห่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับคนทั่วไปลดน้อยลง

เราสื่อสารวิทยาศาสตร์ไปทำไม?

แม้ว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะนิยมนำข่าวสารหรืองานวิจัยที่ย่อยยากมาทำให้เคี้ยวง่าย แต่ความจริงแล้วการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะยังมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดข้อมูลที่ยากและซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ (history of science) ปรัชญาวิทยาศาสตร์ (philosophy of science) และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific process) ขณะที่บางท่านอาจสวมบทเป็น ‘นักสู้’ ออกมารบรากับวิทยาศาสตร์เทียม (pseudoscience) หรือเรื่องลวงโลกอื่นๆ โดยเฉพาะ!

หากถามว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะเล่าเรื่องราวที่ยากๆ ไปทำไม ผมเชื่อว่าหลายท่านน่าจะมีคำตอบที่คล้ายกัน นั่นคือการพยายามบอกว่าหัวใจสำคัญของวิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่การท่องจำทฤษฎี การพิสูจน์สมการ หรือการคำนวณตัวเลขที่ซับซ้อน แต่เป็น ‘กระบวนการคิด’ ที่เต็มเปี่ยมด้วยตรรกะ เหตุผล และความกระตือรือล้นในการแสวงหาความจริง ซึ่งกระบวนการคิดที่ว่านี้คือจุดเริ่มต้นของพลังที่จะขับเคลื่อนสังคมให้หลุดพ้นจาก ‘ความลวง’ ที่เฝ้ากัดกินความก้าวหน้าอยู่ในมุมมืดมาอย่างยาวนาน

ใช่หรือไม่ว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือสมบัติล้ำค่าของมนุษย์ เพราะสิ่งนี้ทำให้เราแยกแยะวิทยาศาสตร์ออกจากสิ่งที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เราจำแนกข้อเท็จจริงออกจากเรื่องเพ้อฝัน และนำพาเราก้าวผ่านจากความไม่รู้ไปสู่ความรู้ เฉกเช่นการเดินฝ่าความมืดมิดไปสู่แสงสว่าง ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นความลึกซึ้งและความสวยงามของธรรมชาติได้อย่างชัดเจนด้วยสายตาที่แตกต่างไปจากเดิม

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต้องเรียนจบด้านใด?

หลายคนอาจคิดว่าคนที่สามารถเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้จะต้องเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ครับ เพราะถ้าเราสามารถสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง รัดกุม และเข้าใจง่าย เราก็สามารถเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน ความแตกต่างคือคนที่เรียนวิทยาศาสตร์อาจสื่อสารได้แม่นยำกว่าคนที่ไม่ได้เรียนมาโดยตรง ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ แต่อยากเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็อาจต้องสืบค้นข้อมูลและทบทวนความถูกต้องมากกว่าสักหน่อย

หลายปีก่อนเคยมีน้องๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาถามผมว่า “ถ้ายังเรียนไม่จบจะเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ไหม?” คำตอบคือ ได้ครับ เพราะตัวผมเองก็เริ่มฝึกฝนและลองผิดลองถูกด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี ซึ่งนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แต่ละคนจะมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสายเฮฮา สายจริงจัง สายบุ๋น สายบู๊ สายแซ่บ หรือแม้กระทั่งสายติดเรท 18+ ก็ยังมี!

สิ่งสำคัญคือเราต้องช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดีว่า วิทยาศาสตร์เป็นของมนุษย์ทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ เชื้อชาติ การศึกษา หรือสถานะทางสังคมมาปิดกั้น และการเรียกตัวเองว่า ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ต้องการถ่ายทอดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ใครหรือหน่วยงานใดมาอนุญาต

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีควรเป็นอย่างไร?

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีเป็นแบบไหน ความจริงแล้วเป็นคำถามที่ตอบยากพอสมควรเลยครับ แต่ผมขอสรุปประเด็นสำคัญจากประสบการณ์ของตัวเองออกเป็น 6 ข้อ ดังนี้

1. ความถูกต้องของข้อมูล

เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มีทั้งส่วนที่ง่ายและส่วนที่ยาก สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การคัดเลือกข้อมูลให้เหมาะสมกับผู้รับสาร โดยการตัดทอนส่วนที่ยากออกไป ใช้การเปรียบเทียบกับสิ่งที่เห็นภาพได้ง่าย หรือลดทอนความซับซ้อน (simplification) แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือ วิธีการเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและทำให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจผิด (misleading) เราจึงต้องย้ำเตือนกับผู้รับสารบ่อยๆ ว่า เนื้อหาสาระที่แท้จริงยากกว่าสิ่งที่เรากำลังสื่อสารอยู่มากมายหลายเท่า และที่สำคัญคือต้องหา ‘จุดสมดุล’ ระหว่างความถูกต้องกับความเข้าใจง่ายให้เจอ

2. ความทันสมัยของข้อมูล

ปกติแล้วงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะมี ‘ข้อมูลใหม่ที่ดีกว่า’ มาแทนที่ ‘ข้อมูลเก่าที่ดีน้อยกว่า’ เกือบตลอดเวลา เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบความทันสมัยของข้อมูลบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ตกยุคตกสมัย มีบางครั้งที่ผมกำลังเขียนบทความเรื่องหนึ่งอยู่ แล้วมีงานวิจัยเรื่องเดียวกันที่ถูกต้องกว่าเผยแพร่ออกมา ทำให้ผมต้องรื้อบทความบางส่วนแล้วเขียนขึ้นมาใหม่ แม้บางครั้งการเขียน ลบ แล้วเขียนใหม่จะทำให้รู้สึกเหนื่อย แต่ผมอยากให้ทุกคนตระหนักไว้เสมอว่า การแทนที่ข้อมูลเก่าด้วยข้อมูลใหม่ที่ดีกว่า ไม่ได้ทำให้ความงดงามของวิทยาศาสตร์ลดน้อยลง แต่ทำให้วิทยาศาสตร์มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

3. การคัดสรรแหล่งอ้างอิง

การสื่อสารวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นการนำข่าวหรืองานวิจัยมาเรียบเรียงให้เข้าใจง่าย เราจึงต้องเลือกแหล่งอ้างอิง (reference) ที่มีความน่าเชื่อถือและควรใส่แหล่งอ้างอิงให้ชัดเจน เพื่อเป็นการให้เครดิตแหล่งข้อมูลต้นทาง เพราะสิ่งที่เรานำมาเล่าไม่ได้ผุดขึ้นมาจากความว่างเปล่า และเราอาจไม่ได้บอกเล่าผลผลิตทางปัญญาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่กำลังบอกเล่าสายธารแห่งภูมิปัญญาที่ถูกส่งต่อผ่านกาลเวลาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกหลายรุ่น เพราะการส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่นอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ความรู้นั้นยังคงมีชีวิตอยู่ แม้ผู้ที่ค้นพบจะจากโลกนี้ไปแล้ว

4. การหลีกเลี่ยงนำเสนอสิ่งที่ตนเองไม่รู้

คนส่วนใหญ่น่าจะถูกค่านิยมและระบบการศึกษาหล่อหลอมมาว่า คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือคนที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ได้อย่างฉะฉานล้วนเป็นคนฉลาด หากเขาหรือเธอพูดอะไรออกมา สิ่งนั้นน่าจะถูกต้องและเชื่อถือได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เสมอไปหรอกครับ เพราะเคยมีนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังหลายท่านที่เผลอพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญจนทำให้เกิดความเข้าใจผิด เราจึงควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หรือถ้าจำเป็นต้องทำก็ควรสืบค้นข้อมูลให้มากเพียงพอและทำความเข้าใจอย่างถี่ถ้วนก่อนนำเสนอออกสู่สาธารณชน สิ่งสำคัญคือเราต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอว่า การยอมรับว่าตัวเองไม่ได้รอบรู้ไปเสียทุกอย่าง ไม่ใช่การเสียศักดิ์ศรีแต่อย่างใด

5. การตรวจสอบความคิดของตนเอง

หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา มนุษย์ทุกคนจะมี ‘ความชอบส่วนตัว’ ในการเลือกที่จะรับหรือไม่รับข้อมูลบางอย่าง แต่หากเราเปิดรับข้อมูลไม่รอบด้านหรือไม่ลึกซึ้งเพียงพอ เราก็อาจตกเป็นเหยื่อของความลำเอียง (bias) หรืออาจถึงขั้นเผลอนำตรรกะวิบัติ (fallacy) มาใช้เสียเอง ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่เราสื่อสารไปยังผู้รับสารผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ดังนั้น นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงต้องฝึกเป็นคนใจกว้าง ยึดมั่นในข้อเท็จจริง และหมั่นสำรวจตรวจสอบไม่ให้ตัวเองลุ่มหลงงมงายหรือยึดติดในตัวบุคคล องค์กร และสถาบันความเชื่อต่างๆ นานา

6. การยอมรับความผิดพลาดของตนเอง

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ทำงานมาเป็นเวลานานหรือผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก อาจมีบ้างที่ผลงานบางชิ้นจะเกิดความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดด้วยสาเหตุหลายประการ เราจึงควรมองย้อนกลับไปตรวจสอบผลงานในอดีตของตัวเองอยู่เสมอ หรือหากมีผู้อื่นทักท้วงแล้วพบว่าผลงานของเรามีจุดบกพร่องจริงๆ ก็ควรแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะบทเรียนที่มีค่าที่สุดอาจไม่ได้มาจากความสำเร็จ แต่มาจากการมองเห็นความผิดพลาดของตัวเอง (ขอสารภาพว่าผมเองก็พลาดบ่อย)

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่มั่นคงหรือไม่?

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า นักสื่อวิทยาศาสตร์เป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย และมีหน่วยงานของภาครัฐเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดรับตำแหน่งงานนี้ ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังมานานหลายสิบปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐจึงต้องหารายได้ด้วยการเป็นนักเขียน นักแปล บรรณาธิการ วิทยากร หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพราะถ้าเราสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องและสื่อสารกับสังคมได้อย่างถูกจริต เราก็สามารถเปิดรับการสนับสนุนจากแฟนคลับ หรืออาจมีสปอนเซอร์เข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งผมขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจนร่ำรวยหรอกครับ (อ้าว เศร้าซะงั้น!)

เหตุใดภาครัฐจึงต้องส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์?

ตลอดระยเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอาจเรียกว่า ‘ไม่เงียบ แต่ก็ไม่ดัง’ สังเกตได้จากการมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกมาสร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความนิยมยังจำกัดอยู่ในสังคมกลุ่มเล็กๆ สาเหตุมาจากขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนและความหลากหลายของตำแหน่งงาน หรืองบประมาณสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้อง

ผมขอแวะเล่าเรื่องของตัวเองสักหน่อย หลายปีก่อน ผมและเพื่อนกลุ่มหนึ่งเคยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาอาคารสถานที่ ปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ง่าย ราคาไม่แพง และไม่ต้องเดินทางไกล

จะดีแค่ไหน ถ้าประเทศไทยมีศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ

จะดีแค่ไหน ถ้าประเทศไทยมีเครือข่ายนักวิชาการที่ถ่ายทอดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

จะดีแค่ไหน ถ้าประเทศไทยมีนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามท้องถิ่นของตัวเอง

แต่ความตั้งใจเหล่านั้นกลับถูกทุบทำลายลงด้วยคำว่า ‘งบประมาณไม่เพียงพอ’ แม้โครงการดังกล่าวจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มอัตราการจ้างงานของบัณฑิตจบใหม่ ทำให้คนที่เรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์มีตัวเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น อีกทั้งยังได้ทำงานใกล้บ้าน ประหยัดค่าใช่จ่าย และมีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่น่าเสียดายที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดมองเห็นถึงรากเหง้าของปัญหาและความสำคัญของการสื่อสารวิทยาศาสตร์

ผมเชื่อว่าเด็กแทบทุกคนเกิดมาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็น ความสนุกสนาน และจินตนาการ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานกลับเป็นสาเหตุที่ผลักเด็กๆ จำนวนมากออกจากการศึกษาที่ดี และทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นเลือนหายไปเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คำถามคือเราจะทำอย่างไรเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้และทำให้วิทยาศาสตร์กลับไปอยู่ในสถานที่ที่สามารถผลิบานและเจริญงอกงามได้ดี นั่นคือภายในหัวใจของเด็กๆ

แม้ภาครัฐจะไม่เคยมีคำตอบ แต่ผมเชื่อว่านักสื่อสารวิทยาศาสตร์หลายท่านจะยังคงขีดเขียน บอกเล่าเรื่องราว และกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อไป แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะยังไม่ผลิดอกออกผลให้เห็นภายในเร็ววัน แต่ความทุ่มเทที่พวกเราร่วมกันทำจะกลายเป็นรากฐานที่สรรสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างแน่นอน

แล้วผู้อ่านล่ะครับ มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า?

อ้างอิง:
  • ชลิดา จูงพันธ์. 2566. เรื่องเล่าของวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ การคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารวิทยาศาสตร์กับสังคมไทย.
  • Tim Lewens. 2015. The Meaning of Science: An Introduction to the Philosophy of Science.

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า