สมพร​ ช่วยอารีย์: ทำไมการแจ้งเตือนภัยพิบัติจึงล่าช้าและไม่ได้ผล

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใน 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เริ่มคลี่คลายลง ตอของเหตุก็เริ่มผุด หลายเสียงของประชาชนในพื้นที่พูดถึงปัญหาการสื่อสารจากเขื่อน ที่ทำให้พวกเขาสับสนและไม่เข้าใจว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับมวลน้ำที่มากกว่าเดิมในปีนี้ ทั้งๆ ที่ต้นทางมีข้อมูลและสถิติเรื่องน้ำอยู่แล้ว หากการสื่อสารดีกว่านี้ผลกระทบที่เป็นอยู่ อาจพอทุเลาลงไปบ้าง

เพื่อเป็นการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ไม่ปกตินี้ รวมถึงปัญหาการสื่อสารข้อมูลตัวเลขที่ยากจะเข้าใจได้ในสถานการณ์ภัยพิบัติ WAY จึงชวน สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ติดตามสถานการณ์เรื่องภัยพิบัติอยู่อย่างใกล้ชิด มาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจรวมถึงการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต

นอกจากหน้าที่การเป็นอาจารย์แล้ว สมพร ช่วยอารีย์ ยังทำหน้าที่เป็นประธานเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี และตอนนี้กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับงานทางด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

บนหน้าเฟซบุ๊คของเขาเต็มไปด้วยรูปกราฟสถิติเกี่ยวกับเรื่องน้ำ พร้อมคำอธิบายว่าสถานการณ์อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต เป็นอย่างไร

ทำไมปีนี้น้ำถึงท่วมหนักกว่าปีก่อนๆ

ช่วงต้นมกราคมวันที่ 4-8 เป็นช่วงที่ฝนจะตกเยอะหน่อย โดยเฉพาะพื้นที่แถวเหนือเขื่อน รวมถึงบริเวณยะลาและนราธิวาส แถบนั้นฝนจะตกเยอะ และรวมถึงพื้นที่บางส่วนในปัตตานี แต่น้ำในเขื่อนมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงธันวาคม ที่จริงมันก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ในช่วงธันวาคมจะเพิ่มขึ้นแบบชันๆ หน่อย (ความชันของกราฟ)  ก็คือปริมาณน้ำในเขื่อนเยอะ ทำให้น้ำอยู่เหนือเส้น upper rule curve (เส้นน้ำด้านบนที่ใช้ในการควบคุมน้ำให้อยู่ต่ำกว่านั้นตามกฎของกราฟ)

พอมาถึงต้นเดือนมกราคม (2564) ปริมาณน้ำมันก็ไหลลงเขื่อนเรื่อยๆ แล้วมันก็ทะลุไปเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เขื่อนต้องปล่อยน้ำออกมา พอปล่อยน้ำออกมา น้ำก็ท่วม

น้ำจะไหลจากยะลา น้ำจากเขื่อนไหลมาบันนังสตา มาสู่อำเภอเมืองยะลา ไหลมายะรัง ปัตตานี ไหลมาอำเภอเมืองปัตตานี การเดินทางของน้ำมาบรรจบกับช่วงเวลาที่จะเข้าสู่ช่วงแรม 15 ค่ำ หมายความว่าดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ เป็นช่วงน้ำขึ้น ขึ้นมากสุดเลยก็คือช่วงประมาณแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ

เพราะฉะนั้น น้ำทะเลก็หนุนขึ้นมาก็ทำให้น้ำจืดลงทะเลได้ไม่ง่าย มันไม่ใช่แค่ว่าน้ำทะเลหนุนจากดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์อย่างเดียว แต่มันเกิดจากลมมรสุมที่แรงมาหนุนเสริมอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นเหมือนคืนวันที่ 13 มกราคม (แรม 15 ค่ำ) เราจะพบว่าน้ำทะเลหนุนขึ้นมา ทำให้น้ำจืดไหลเข้าบ้านบางหลังบริเวณริมตลิ่งได้อีก ทำให้น้ำไหลลงทะเลได้ยาก

แต่เมื่อถึงวันที่  14 ตอนเช้า น้ำทะเลก็ลงแล้วนะครับ ตั้งแต่วันที่ 13 มาจนถึง 14 ตอนเช้า ก็พบว่าน้ำในแม่น้ำที่สถานีตรวจวัดมันอยู่ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว เห็นได้ว่าน้ำค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้น้ำทะเลก็เริ่มถอยกลับ ลมมรสุมก็เริ่มถอยกลับ หมายความว่าคลื่นลมทะเลที่เคยสูงจากลมไปพัดที่ผิวน้ำทะเล ทำให้เกิดพลังงาน แล้วพลังงานนี้เคลื่อนที่ไปที่ฝั่ง เคลื่อนไปที่อ่าวไทย ไปที่จังหวัดปัตตานี หรืออ่าวปัตตานีหรือบริเวณสงขลา พอมันถอยลง มันก็ทำให้ระดับน้ำทะเลที่หนุนลดลงด้วย พอลดลงต่ำลงน้ำจืดที่เอ่ออยู่ตรงแม่น้ำปัตตานี ก็จะลดต่ำลงด้วย ตอนนี้ก็ต่ำกว่าไปประมาณ 47 เซนติเมตรแล้ว

กระบวนการปล่อยน้ำจากเขื่อนเกี่ยวข้องอย่างไรกับน้ำท่วม

ชาวบ้านอาจจะงงเหมือนกันว่าทำไมน้ำท่วม ทั้งที่ฝนก็ตกไม่มากเท่าไหร่ แต่ฝนมันไปตกเยอะบริเวณเหนือเขื่อน นราธิวาส ยะลา พอฝนตกเยอะน้ำก็ลงไปตามร่องเขาต่างๆ ไหลไปลงเขื่อน เขื่อนบางลางรับน้ำได้ไม่เยอะมาก แต่ว่าพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนเยอะ แล้วก็ยาวด้วย พื้นที่กว้างด้วย แต่ว่าตัวพื้นที่ที่เป็นเขื่อนในการรับน้ำจะมีอยู่ไม่เยอะมาก รับได้แค่ 1,454 ล้านลูกบาศก์เมตร

ศักยภาพของเขื่อนก็มีประมาณนี้ เมื่อปริมาณน้ำอยู่สูงกว่าระดับที่เรียกว่า upper rule curve บริเวณผิวน้ำมันจะกว้างขึ้น มันกว้างขึ้นก็รับน้ำมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจะให้น้ำลดลงได้  10 20 30 เซนติเมตร มันก็เป็นน้ำจำนวนเยอะ ฉะนั้นผมก็เข้าใจว่าเขื่อนจำเป็นต้องปล่อยน้ำ

ความหมายของน้ำมาจากเขื่อนก็คือว่า มันลงมาค่อนข้างแรง เพราะฉะนั้นอยู่ที่เขาปล่อยมาเท่าไหร่ สุดท้ายเราเห็นว่าปริมาณน้ำที่ไหลมา มันมากแล้วก็ขึ้นเร็วจะต้องจัดการให้ทันเวลา

“เพราะงั้นผมเชื่อว่ากระบวนการจัดการเรื่องของการให้ข่าวก่อนที่จะเตรียมว่ามันจะเสี่ยงไปถึงไหน จะปล่อยน้ำวันไหน พี่น้องประชาชนจะยกของนานเท่าไหร่ มีความเสี่ยงในการจะท่วมตรงไหนบ้าง ตรงนี้ต้องสื่อสาร ณ จุดนี้”

กรรมการลุ่มน้ำก็มีนะครับ ทีมที่เขาตัดสินใจว่าจะปล่อยน้ำอย่างไร เขาก็คงมีกรรมการอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่รับน้ำได้มีส่วนร่วมคือ 1. มีส่วนรับรู้ 2. มีส่วนที่จะร่วมตัดสินใจได้

ต้องเอาข้อมูลมากองรวมกัน แล้วร่วมกันอ่านเกม

นั่นหมายความว่า กรมอุตุนิยมวิทยาก็ต้องมามองกันว่า ในพื้นที่นี้ฝนจะตกไหม เขื่อนควรจะปล่อยน้ำหรือไม่ ถ้ามีความเสี่ยงน้อยก็ปิดน้ำไว้ก่อน สภาวะตรงนั้นก็หมายความว่า เขื่อนยังรับน้ำได้อยู่ แล้วก็ยังสามารถรับน้ำได้อีก เขื่อนสามารถจะเก็บได้เกิน 100 เปอร์เซ็นต์นะครับ มันเกินได้เท่าไหร่ก็จะมีข้อจำกัดของมันอยู่ว่า เขื่อนเก็บได้ไม่เกินเท่าไหร่

อย่างนี้นะครับ ตรงนี้มันเป็นทั้งการคาดการณ์แล้วก็การคาดเดา เป็นการพยากรณ์ผสมผสานกันเพื่อหาวิธีการจัดการ มันมีตัว rule curve อยู่แล้วในการที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำนะครับ ข้อมูลตรงนี้ก็เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ถ้าไม่เกิดเรื่องก็ไม่มีใครมานั่งแปลให้อย่างนี้

หน่วยงานที่รับผิดชอบควรวางแผนรับมืออย่างไร

จุดที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ เราอาจจะต้องทำระบบข้อมูล คลังข้อมูลเพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนหรือว่าประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ที่อาจจะเป็นข้อมูลกลางในระดับจังหวัด ระดับลุ่มน้ำอะไรก็ได้ที่เห็นข้อมูลของการกองข้อมูลของทุกกรมที่เกี่ยวข้องไว้ที่เดียวกัน

มันอาจไม่ต้องเป็นข้อมูลที่กองไว้ในเว็บนู้นเข้าไปในเว็บนั้น แล้วต้องเอามาประมวลอีกที มันจะยากสำหรับชาวบ้าน ก็เลยคิดว่าสงสัยต้องจัดการระบบนี้เอาจริงเอาจัง เพื่อจะให้เห็นว่า ฝนมันอยู่ยังไง น้ำมันอยู่ยังไง เขื่อนมันอยู่ยังไง น้ำในคลองมันอยู่ยังไง ระดับน้ำมันอยู่ยังไง รับน้ำได้เท่าไหร่ แล้วมันมีความเสี่ยงพื้นที่ไหนบ้าง และก็อาจจะต้องทำระบบมอนิเตอร์ตรงนี้ในอนาคต

ประชาชนไม่พอใจตรงที่เขื่อนให้ข้อมูลทางตัวเลขมาตลอด แต่ไม่มีคนแปลข้อมูลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น น้ำท่วมตรงไหน อย่างไร ทางเขื่อนต้องพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายกว่านี้รึเปล่า

ผมคิดว่าควรเป็นการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงาน เพราะเวลาเขื่อนทำงานเขาก็อาจจะเก่งในเรื่องของการรู้ตรงนี้ว่าปล่อยน้ำเท่าไหร่ยังไง แต่ว่าระบบลำน้ำข้างล่าง ชลประทานเป็นผู้ที่จะรับงานต่อเวลาปล่อยน้ำลงมา เพราะฉะนั้นตรงนี้มันต้องมีการสื่อสารร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพราะว่าเขื่อนกับชลประทานเหมือนอยู่คนละส่วนกัน แต่ว่าตรงนี้จะทำอย่างไรให้สามารถที่จะดึงข้อมูลตรงนั้นมากองในภาพรวมได้

แต่ว่าระบบความหมายใจความนี่ก็สำคัญ คือข้อมูลมันต้องไปถึงขั้นที่วิเคราะห์ตรงนั้นก่อน สุดท้ายถึงจะออกมาในรูปแบบว่า น้ำปล่อยมาเท่านี้ ณ สถานการณ์รับน้ำที่มีในลำคลองเท่านั้น ความหมายของมันแปลว่าอะไร หมายความว่าปล่อยปริมาณกี่ล้านลูกบาศก์เมตร ชาวบ้านจะไม่เข้าใจนะครับ

คือ…ก็อาจจะเข้าใจ แต่ว่ามองไม่เห็นภาพว่ามันจะท่วมสักเท่าไหร่ เพราะเขาอยากจะมองว่า เอ๊ะ ถ้าปล่อยเท่านี้ ที่บ้านฉันน้ำมันจะขึ้นอีกกี่เซ็น ในเวลาอีกสองชั่วโมง สองวันต่อไปเป็นยังไง จะส่งผลที่บ้านไหม

ในส่วนใจความอันนี้ผมว่าต้องอาศัยทั้งในส่วนนักวิชาการของแต่ละหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน

คงต้องสื่อสารภาษาวิทยาศาสตร์ให้เป็นภาษาวิถีชีวิตครับ

ในฐานะนักคณิตศาสตร์ เข้าไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติได้อย่างไร

ตอนนั้นทำงานวิจัยเรื่องการทำแบบจำลอง การแสดงภาพให้เห็น แต่เรายังไม่ได้เอาความรู้ลงไปถึงชุมชน พอพายุดีเปรสชั่นพัดผ่านเข้ามาในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เราก็คิดว่าถึงเวลาที่ต้องเอาความรู้พวกนี้ลงไปถึงชุมชน หลังพายุเข้าก็ลงชุมชนไปเลยเพื่อที่จะเดินทางไปถ่ายทอดองค์ความรู้พวกนี้ว่าจะดูฝนฟ้า อากาศ คลื่นลมทะเลยังไง ตรงไหนที่มีความเสี่ยงก็เข้าไปช่วยชาวบ้านในการที่จะดูว่าพื้นที่บ้านของเขามีความเสี่ยงด้านไหนบ้าง

พายุลูกนั้นทำให้ผมได้มีโอกาสลงไปสัมผัสกับชุมชนมากขึ้นหลังจากที่เรียนจบมา

ผมเองในฐานะนักวิชาการคิดว่าน่าจะเอาความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ ลงไปแลกเปลี่ยนกับองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เราได้เห็นบริบทของการใช้ชีวิต วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนแล้วเราก็เกิดความคิดว่าถ้าเอาเครื่องไม้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ วิทยาการเทคโนโลยี เข้าไปให้ประชาชนนำไปประยุกต์ใช้ เช่น คืนนี้เราจะกรีดยางได้รึเปล่า พรุ่งนี้เราจะออกเรือได้รึเปล่า ถ้าน้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้เป็นยังไง

เช่น ถ้าเราจะไปกรีดยางแล้วมาดูข้อมูลก่อนว่าข้อมูลฝนฟ้าอากาศเป็นยังไง ถ้ามีพื้นที่ฝนชุกอยู่ในพื้นที่ของเรา หรือว่าตัวฝนจะเคลื่อนที่มาบริเวณสวนยางของเรา เราก็น่าจะนอนดีกว่า

อาจารย์มีการประยุกต์เอาวิทยาการเข้าไปช่วยอย่างไรบ้างเพื่อช่วยในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ

ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า ‘Bringing Science to Society’ ครับ ก็คือการเอาวิทยาศาสตร์วิทยาการลงไปสู่สังคมอย่างไร ตอนหลังผมก็เลยคิดว่าหลายหน่วยงานเขาก็เริ่มที่จะให้ข้อมูลข่าวสารภาคประชาชน อย่างเช่น กรมอุตุนิยมวิทยาเขาก็ออกมาให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน ไลฟ์สดอยู่วันละหลายครั้งในเครือข่ายแล้ว ผมก็เลยเลื่อนขยับไปทำเรื่องของพลังงานดีกว่า

เราเอาเรื่องของการจัดการให้เข้ามาตั้งเป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘หนึ่งครัวเรือนห้าโรง’ หนึ่งครัวเรือนก็จะมีเรื่องของการจัดการไฟฟ้า ก็ผลิตไฟฟ้าไว้เอง เก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่

สอง คือ ผลิตน้ำจัดการน้ำก็คือ น้ำฝน น้ำฟ้า น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำใต้ดิน พวกนี้มาเตรียมไว้กับครัวเรือนตัวเองครับ

สาม คือ แก๊สชีวภาพ เตาชีวมวลแล้วก็น้ำมันดีเซล เตรียมเอาไว้สำหรับการที่จะมี ไม้ฟืนใช้

สี่ คือ โรงอาหารก็คือคิดว่าวางแผนว่าเราต้องปลูกอะไร เราจะต้องเลี้ยงปลาไหม เราจะต้องเลี้ยงไก่ไหม จัดการในครัวเรือน รวมไปถึงจัดการเมล็ดพันธ์ุ

ห้า คือ จัดการความรู้ ก็คือ จัดการความรู้แล้วถ่ายทอดไปให้คนอื่นอะไรอย่างนี้ครับ สิ่งที่ผมขับเคลื่อนมาจนถึงตอนนี้ ก็คือต้องการให้ครัวเรือนพึ่งตนเองได้แบบยั่งยืน

แต่มันก็ยังไปไม่ถึงไหนหรอกครับ แต่เราก็พยายามทำแล้วก็อบรม เรื่องขององค์ความรู้พวกนี้ให้อย่างต่อเนื่อง แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะไปตอบโจทย์เรื่องของภัยพิบัตินั่นแหละครับ

Author

อิสร์ ทวีผลสมเกียรติ
นิยมอิสระตามชื่อที่บุพการีตั้งให้แบบมีตัวการันต์ สนใจภาพยนตร์ วรรณกรรม ความเท่าเทียมทางเพศและรัฐสวัสดิการ ขวบปีที่ผ่านมาใช้เวลาโดดเรียนไปกินลูกชิ้นปิ้งแถวย่านราชดำเนิน ราชประสงค์บ่อย จนน้ำหนักขึ้นไม่รู้ตัว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า