ภาพประกอบ: Shhhh
“จุดยืนของเรา และหลักปฏิบัติสากล คือการยอมรับสิทธิ์ที่ว่า ชุมชนใดๆ ในโลก ย่อมมีสิทธิ์เลือก ว่าจะระบุชื่อและถูกเรียกขานว่าอย่างไร และเรายอมรับมัน”
คือถ้อยแถลงที่ สก็อต อลัน มาร์เซียล เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศพม่า มีต่อนักข่าวต่างประเทศในเมืองย่างกุ้งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังถูกซักถามจากกรณีที่ ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้ยกเลิกการเรียกชื่อกลุ่มชนมุสลิมโรฮิงญาว่า ‘โรฮิงญา’ และยืนยันให้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่า ‘ผู้อพยพจากบังคลาเทศ’ หรือ ‘Bengalis’
หลังคำตอบของมาร์เซียลถูกเผยแพร่ออกไป เพจเฟซบุ๊คของเขาปรากฏคอมเมนต์นับพันที่กล่าวประณามและโจมตีถึงจุดยืนทางการเมืองของเขา ขณะที่ส่วนหนึ่งของคำวิจารณ์นั้นเรียกร้องให้เขาออกไปจากประเทศ
กระแสต่อต้านมาร์เซียลและกลุ่มคนทำงานในสถานทูตสหรัฐ ประจำพม่านี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากคำแถลงการณ์ของสถานทูตสหรัฐ ที่แสดงความเสียใจต่อผู้จมน้ำจำนวน 21 คนนอกรัฐยะไข่ และระบุว่าผู้เสียชีวิตจำนวนนั้นเป็นชาวโรฮิงญา
มาร์เซียลได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2016 ในช่วงเวลาสำคัญหลังพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศพม่า และเป็นชัยชนะหลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากว่า 50 ปี
โดยก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งที่พม่านั้น เขาเคยเข้ารับตำแหน่งเดียวกันที่ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ บราซิล และตุรกี และได้เข้าดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2016