เสียงสะท้อนถึง ‘ซีไรต์’ และความหวังในวันพรุ่งนี้

เรื่อง: สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

รางวัลซีไรต์เพิ่งประกาศไปหมาดๆ และรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ก็ได้รางวัลไป

ในช่วงหลายปีที่ผ่าน รางวัลที่กลายเป็นสถาบันทางวรรณกรรมซึ่งปีหน้าก็จะเดินทางมาถึงปีที่ 40 แล้ว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่การประกวดรางวัลซีไรต์มีแต่เรื่องให้ต้องอุทาน “เอ๊ะ” ตลอดเวลา

ไล่เรียงมาตั้งแต่เริ่มประกวดที่จู่ๆ ก็เลื่อนวันหมดเขตรับผลงานไปอีก 15 วัน การเลื่อนดังกล่าวส่งผลให้มีนักเขียนประกาศถอนผลงานที่ส่งเข้าประกวด, คามิน คมนีย์ กรรมการรอบคัดเลือกประกาศลาออก ซึ่ง พินิจ นิลรัตน์ ที่เข้าไปแทนก็ลาออกอีก จึงเท่ากับกรรมการรอบคัดเลือกเหลือเพียงหกคน, ส่วนรอบตัดสิน อาจารย์สกุล บุณยทัต และ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพฑูรย์ ธัญญา ได้ถอนตัวไปอย่างเงียบๆ โดยในวันประกาศรางวัลก็มีชื่อของ นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ และ อัศศิริ ธรรมโชติ มาแทนที่แบบเงียบๆ และประกาศแบบเงียบๆ เงียบมาก สามารถรู้ผลของรางวัลนี้ได้จากเฟซบุ๊คของคณะกรรมการ

เราชวนหลายๆ คนมาคุยกันว่า พวกเขามีความคิดเห็นกับสภาวะของซีไรต์ตอนนี้อย่างไร และถ้าจะมีรางวัลใหม่ขึ้นมานั้นอยากจะเห็นอะไร

วชิระ บัวสนธ์

“ควรเลิกไปเถอะนะครับ เพราะยิ่งนานวันยิ่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของรสนิยมการอ่านที่ห่างไกลจากความหมายคุณค่าในทางสังคมจนกู่ไม่กลับ ถ้าวรรณกรรมสร้างสรรค์ไม่ได้ทำหน้าที่ส่องสะท้อนสังคมร่วมสมัยจนถึงแก่น ตลอดจนยกระดับจิตใจของผู้อ่าน ก็ไม่เห็นจะต้องไปเรียกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์ก็ได้ ปัญหาใหญ่ของซีไรต์ จริงๆ แล้วก็อยู่ตรงที่กรรมการส่วนใหญ่มักหน้าเดิมๆ วนเวียนกันอยู่ไม่กี่รายในเครือข่ายกลุ่มก้อนเดียวกันนั่นล่ะ

”หากจะมีรางวัลใหม่ ผมเห็นว่าควรยกเลิกการประกวด โดยหันไปใช้ระบบการพิจารณาจากผลงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย รวมบทกวี และรวมเรื่องสั้น กระทั่งความเรียงหรือบทละคร ที่มีการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มออกมาในรอบปีนั้นๆ เสร็จแล้วก็ประกาศยกย่องว่าหนังสือหรือผลงานยอดเยี่ยมประจำปีนั้นๆ คือเล่มใด ปีไหนไม่มีหรือไม่ได้มาตรฐาน ก็ไม่ต้องไปควานหาหรือดันทุรังยกย่องกันอย่างแกนๆ หรอก

อ้อ… เงินรางวัลน่าจะสัก 500,000 บาทเป็นอย่างต่ำ และปรับเพิ่มทุกๆ สามปีหรือห้าปี ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์นะครับ และที่สำคัญมาก คือต้องเลิกใช้บริการพวกกรรมการจากสมาคมนักเขียนฯ และสมาคมภาษาฯ ด้วยนะครับ เพราะพวกท่านเหล่านี้ไปเป็นกรรมการรางวัลอะไรต่อมิอะไรในแต่ละปีอยู่แล้วนะครับ”

ปองวุฒิ รุจิระชาคร

“พูดแบบตรงๆ นะ ชื่อเสียงรางวัลอาจจะเสื่อมไปตามกาลเวลา ด้วยเหตุผลหนึ่งคือเป็นแนววรรณกรรมเข้มข้นอยู่แล้ว อีกเหตุผลคือ สำหรับคนพอรู้ข้อมูลหน่อยเราจะเห็นว่าระบบจัดการภายในดูไม่ดี ทีนี้พอถึงรอบคนเข้ารอบหรือคนชนะผลเลยออกมาแปลกๆ ในบางที กลายเป็นฉาว ขัดสายตาพิลึกในสายตาคนที่เขาอ่านหนังสือ ยังไม่รวมประเภทเปลี่ยนกรรมการกลางอากาศแบบไม่บอกสาธารณชน บางกรณีตัดสินไปก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนผลัดมือให้อีกคนมาทำต่อหรือออกหน้าแทน เยอะจนบางทีคนดูคนประกวดอย่างผมคิดว่า ‘เออ จะทำอะไรก็ทำเถอะ ยังไงมันก็มั่วไปหมดอยู่แล้ว’ คนข้องใจ คุณค่ามันก็เลยลดลงไปเป็นธรรมดา แต่ว่าอย่างแฟร์ๆ สำหรับนักเขียนสายวรรณกรรมนี่ก็เป็นรางวัลใหญ่และดังสุดในไทย ใครได้ก็ถือว่าโชคดีไป แต่กลายเป็นว่าคุณสมบัติกลายเป็น ‘หวย’ อย่างที่เขาล้อกันมากขึ้นทุกที

”จากที่พูดมาทั้งหมด ผมว่าควรจะปรับปรุงสุดก็เรื่องระบบการทำงานที่ควรจะมีมาตรฐาน ชัดเจน เที่ยงธรรม ไม่ใช่นึกจะหยิบเข้าหยิบออก เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ตามใจ งุบๆ งิบๆ ผมว่าแค่นี้พอแล้ว ความชัดเจน ความถูกต้อง ความสง่าผ่าเผย ผมว่าสำคัญกับทุกเรื่องนะ”

กล้า สมุทวณิช

“ซีไรต์ส่อแววจะเป็น ‘ขาลง’ มาได้ประมาณห้าปีแล้ว คือหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์เริ่มไม่ขลัง จากสมัยก่อนหนังสือแค่ได้เข้ารอบสุดท้ายก็ดังระเบิด มีการถกเถียงกันในวงกว้าง ถ้ามองในเชิงยอดขายหรือการอ่าน เราเข้าสู่ยุคที่มีแต่หนังสือที่ได้ซีไรต์อยู่เล่มเดียวที่ขายดี จนกระทั่งมาสู่ยุคที่ต่อให้ได้ซีไรต์ก็ใช่ว่าจะขายได้เป็นกอบเป็นกำ นักเขียนซีไรต์บางคนถูกลืม งานที่ได้ซีไรต์ที่เป็นกระแสและเป็นหนังสือขายดีในช่วงสิบหรือห้าปีหลัง ผมนึกได้แค่ ลับแล แก่งคอย ของ อุทิศ เหมะมูล ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา และ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของ วีรพร นิติประภา ซึ่งหนังสือเหล่านั้นดังและขายได้ด้วยตัวเองมาก่อนแล้ว

”ผมมองว่าผู้คนในยุคปัจจุบันอ่านงานเชิงวรรณกรรมกันน้อยลง และงานวรรณกรรมเองก็ไม่เอื้อต่อการอ่านเท่าไรนัก งานที่ได้ซีไรต์หลายเล่มอ่านยาก จนคนเข็ดพวกหนังสือแนว ‘ซีไรต์’ กันไป แต่ไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นเพราะยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงมากกว่า การอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต สังคม หรือเพื่อความงามบริสุทธิ์ของภาษาหรือสภาวะจิตใจ อาจจะไม่ใช่วิสัยของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคนที่ยังยืนยันจะเขียนแนวนั้น และผมก็ไม่ได้แนะนำว่าให้เลิกเขียนหรือเลิกแจกรางวัลงานประเภทนี้ แต่ในที่สุดแล้วหากใครจะเดินเส้นทางนี้คงต้องรับสภาพความเปลี่ยนแปลงนี้

”ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ตัวรางวัลเองอาจจะต้องเลือกว่าจะยืนยันให้เป็นรางวัลตามเจตนาเดิม และยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่ารางวัลนี้จะค่อยๆ ลดความสำคัญในสังคมลงไป เพราะขาดความเชื่อมโยงกับสังคม หรือรางวัลนี้จะสร้าง ‘พลัง’ ของตัวเอง ด้วยการไปเชื่อมต่อกับสังคมการอ่าน และให้รางวัลกับงานวรรณกรรมประเภทที่สังคมยุคใหม่นิยมชื่นชอบ และเป็นมิตรต่อการอ่าน ซึ่งถ้าปีไหนโชคดีเจองานแบบ ไส้เดือนตาบอดฯ หรือแม้แต่ สิงโตนอกคอก ก็อาจจะโชคดีไป

“ในการเปลี่ยนแปลงซีไรต์อาจจะต้องพิจารณาว่า การยืนยันจะแจกรางวัลแบบเดิมยังเชื่อมต่อกับสังคมการอ่านอยู่หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเลือกแจกให้งานประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้นไปเลย หรืออาจจะไม่กำหนดอะไรเลย แต่เลือกแจกรางวัลให้ ‘วรรณกรรม’ ที่ดีที่สุดในแต่ละปีเพียงหนึ่งเล่ม ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อาจจะเป็นได้แม้แต่พวกความเรียงให้กำลังใจแบบที่คนสมัยใหม่นิยมอ่านกัน เช่น งานของ นิ้วกลม หรือ คิดมาก ที่จริงๆ อาจจะเป็น ‘บทกวี’ ของคนรุ่นใหม่ หรืองานเรื่องสั้นขนาดยาวหรือนวนิยายขนาดสั้น อย่างงานของสำนักพิมพ์ PS หรือ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา รวมถึงงานเขียนประกอบภาพอย่างของ องอาจ ชัยชาญชีพ ซึ่งเป็นงานที่เชื่อมต่อกับสังคมการอ่านในปัจจุบันมากกว่า หรือถ้าเกิดจะมีนิยายยาวๆ หนาๆ ที่เจ๋งจริงๆ อย่าง ลับแล แก่งคอย โผล่มา ก็สามารถได้รางวัล สรุปว่าเป็นการให้รางวัลโดยไม่สนใจรูปแบบของงานนั้น ซึ่งถ้ามีรางวัลใหม่ก็อยากให้เป็นแนวนั้น เพราะในที่สุดแล้ว วรรณกรรมต้องรับใช้มนุษย์ เป็นหนังสือที่คนอ่านแล้วมีความสุข ได้แง่คิด ได้ประสบการณ์ ได้สัมผัสกับแง่มุมอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลอื่น ได้ค้นพบตัวเอง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สำหรับยุคปัจจุบัน อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้ว”

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

“ซีไรต์อาจจะไม่ได้มีอำนาจชี้นำสังคมการอ่านอะไรได้มากเท่าไหร่แล้ว ทุกวันนี้คนอ่านเองไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะต้องอ่านหนังสือรางวัลซีไรต์ตามการคัดสรรของกรรมการ เพราะเล่มที่ได้รางวัลก็คือความคิดเห็นของคณะกรรมการชุดหนึ่งหรือสองชุด เขาเลือกอ่านหนังสือที่อยากอ่านเองได้

“กลุ่มที่คาดหวังก็คือนักเขียนและสำนักพิมพ์ต่างหาก แต่กลายเป็นว่าหนังสือที่ได้ซีไรต์ก็ขายไม่ค่อยได้ โรงเรียนก็ไม่ได้สั่งซื้อเข้าห้องสมุดมากๆ นอกจากบางเล่มที่แมสอยู่แล้ว ซึ่งขายได้ขายดีอยู่เดิม เลยดูเหมือนว่า อ้าว ซีไรต์เสื่อมลง เพราะชี้นำคนอ่านไม่ค่อยได้แล้ว ซึ่งไม่แปลกหรอก บริบทของการอ่านหนังสือมันก้าวไปตามความทันสมัย แต่กระบวนการของการพิจารณาหนังสือซีไรต์ยังย่ำอยู่กับร่องรอยเดิมๆ พยายามจะก้าวตามยุคสมัยบ้าง แต่ยังทำได้ไม่ดีนัก ดูไม่ค่อยคล้องจองไปกับบริบททางสังคมสักเท่าไหร่ ถ้ารางวัลนี้ยังอยากจะร่ายมนต์สะกดให้กับคนอ่าน คงต้องปรับตัวหลายๆ อย่างให้เข้ากับความทันสมัย คือลดความขรึมขลังลงบ้าง ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่า เฮ้ย น่าอ่านแฮะ

“คณะกรรมการเป็นผู้ใหญ่ก็โอเคดี แต่พวกเขาก็ต้องแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะฟังเสียงคนรุ่นใหม่ๆ และมีความตื่นตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น ลองอ่านงานเขียนของคนรุ่นใหม่ๆ ลองหัดฟังเพลง BNK48 ยิ่งถ้ามีกรรมการเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยจะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ที่จริงคำว่า ‘รรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน’ ไม่จำเป็นต้องผูกโยงกับวรรณกรรมขรึมขลังอย่างเดียวนี่ ความริเริ่มสร้างสรรค์ต้องเคลื่อนไปพร้อมๆ กับความทันสมัยด้วย สิ่งสำคัญอีกอย่างคือคนรุ่นใหม่ หรือกระทั่งตัวผมเอง ก็จำเป็นต้องปรับตัว ต้องสร้างพื้นที่แห่งการเขียนของพวกเราเองด้วยเช่นกัน

“เรามักได้ยินเสียงตีโพยตีพายทำนอง ‘คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือวรรณกรรม’ ที่จริงคนรุ่นใหม่ก็อ่านหนังสือกันเยอะแยะนะ ทำไมเราไม่ไปดูบ้างว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกอ่านในพื้นที่นอกเหนือไปจากหนังสือที่พัวพันกับรางวัล ซึ่งมีเยอะแยะมากมายเลย

“คนที่พูดเรื่องนี้ได้ดี กลายเป็นว่าคือนักเขียนอาวุโสอย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ท่านบอกทำนองว่า อย่ามัวบ่นว่าคนไม่อ่านหนังสือ แต่ควรถามตัวเองว่านักเขียนมัวทำอะไรอยู่ ทำไมคนจึงไม่อ่านงานของเราล่ะ โอ้ ผมอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วชอบมากเลย นี่คือหนทางก้าวพ้นไปจากรางวัลที่น่าสนใจมากๆ

“ผมรู้สึกว่าช่วงหลังๆ รางวัลหลายรางวัลที่เกิดขึ้นมาใหม่มักมีนัยยะของการประกาศน้ำเสียงว่าเราจะไม่เป็นแบบรางวัลซีไรต์ อาจจะเป็นเพราะผู้ตั้งรางวัลคงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของซีไรต์หลายอย่าง จึงเกิดแรงบันดาลใจตั้งรางวัลขึ้นมา แต่ผมกลับมองว่า ในแง่หนึ่งการที่บอกว่าจะไม่เป็นแบบซีไรต์ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าซีไรต์เป็นอะไรที่มีอิทธิพลสูงมากๆ และในที่สุดเหมือนว่าไม่มีใครหลุดพ้นไปจากการครอบของซีไรต์ได้เลย การตั้งรางวัลอาจจะดีในแง่ของการเปิดพื้นที่ให้นักเขียนและนักอ่าน แต่รางวัลต่างๆ ควรจะมีหลักการชัดเจนไปเลยว่า รางวัลนี้จงใจจะเปิดพื้นที่ให้กับงานแบบไหน ลักษณะอย่างไร มากกว่าการก่อตัวขึ้นมาเพื่อที่จะประกาศว่าจะไม่เป็นแบบรางวัลเดิมที่มีอยู่ ซึ่งพูดตรงๆ ก็คือจะไม่เป็นแบบซีไรต์”

พิเชฐ แสงทอง

“ซีไรต์ถูกคาดหวังสูงขึ้นๆ ทุกที การที่ถูกวิจารณ์หนักสะท้อนให้เห็นว่ามีความคาดหวังที่สูงมาก ยิ่งในสถานการณ์ที่วรรณกรรมซบเซา การอ่านหนังสือกระดาษตกต่ำ ซีไรต์จึงเหมือนกับขอนไม้ขอนเดียวที่ลอยอยู่ในทะเลให้เรารอดชีวิตได้ ลองนึกภาพดู ขอนเดียวลอยอยู่ท่ามกลางคนเรือแตก

“ในกระบวนการของซีไรต์เอง แม้มีความพยายามปรับเปลี่ยนรอมชอมกับปรากฏการณ์ในวงการหนังสือและวรรณกรรมในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็เจอปัญหาเรื่องกรรมการ ซึ่งเป็นผลมาจากวงการวรรณกรรมเองด้วย คือไม่สามารถผลิตกรรมการหน้าใหม่ๆ ป้อนรางวัลต่างๆ ได้ กรรมการจึงวนเวียนอยู่เพียงคนกลุ่มเดียว ผมว่าเราขาดนักวิจารณ์หน้าใหม่มานานเกินทศวรรษแล้ว มีรางวัลอะไรจึงต้องเอากรรมการมาจากสองสมาคม ซึ่งหลายหนก็อาจจะมีปัญหาว่าไม่สามารถสร้างคำอธิบายได้ว่าเรื่องที่ให้ได้รางวัลเด่นอย่างไร เอาเหตุผลอะไรมาจับ แค่อ่านแล้วสะท้อนนั่นสะท้อนนี่ไม่พอสำหรับทุกวันนี้ เพราะงานเขียนมันพัฒนาไปไกลมากแล้ว นอกจากนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องการจัดการ ถึงเวลาแล้วที่สองสมาคมต้องจับเข่ากันพูดคุยกันอย่างจริงจังได้ซะที ว่าจะอยู่ใต้ร่มเงาเดิมอย่างไรหรือไม่”

ภาณุ ตรัยเวช

“มักได้ยินคนวิพากษ์วิจารณ์ซีไรต์บ่อยๆ ในแง่ของการใช้กรรมการชุดเดิม แต่ส่วนตัวไม่เคยมีปัญหาในแง่นี้เลย ถ้าจะมีปัญหา ปัญหาของผมจะไปอีกทางหนึ่งมากกว่า คือรู้สึกแนวทางการตัดสินของแต่ละปีมันไม่ค่อยมีเอกภาพ เรามีหนังสือซีไรต์ที่เข้มขลังทางภาษา เช่น อสรพิษ แต่ขณะเดียวกันเราก็มีหนังสือซีไรต์ที่มีเสน่ห์คือความเข้าถึงง่าย เยาวชนอ่านได้ เช่น ความสุขของกะทิ และอีกด้านหนึ่งเรามีหนังสือซีไรต์ที่ท้าทาย อ่านเข้าใจยาก เปิดช่องให้ตีความถกเถียงกัน เช่น ความน่าจะเป็น

“หนังสือทั้งสามประเภทนี้ดีหมดนั่นแหละครับ แต่ในฐานะคนเขียนก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในแต่ละปีกรรมการจะมาแนวไหน จะให้หนังสืออ่านสนุก หนังสือเขียนดี หรือหนังสือท้าทาย ก็เลยไม่ค่อยแปลกใจ ที่บางทีคนชอบพูดเล่นๆ ว่า ‘หวยซีไรต์’ เพราะเหมือนหวยจริงๆ ทั้งหมดนี้ผิดไหม ก็คงไม่ผิดหรอก เพราะวรรณกรรมดีได้หลายแบบหลายแนวทาง

“แต่ถ้าให้เลือกได้ ในอนาคตอยากให้มีเวทีประกวดวรรณกรรมที่ชัดเจนในแง่วิธีตัดสิน เวทีที่เฟ้นหางานแนวทดลองไปเลย เวทีที่ต้องการงานภาษาดีๆ หรือเวทีที่อยากได้งานอ่านสนุก รวมไปถึงเวทีประกวดหนังสือเล่มแรก อะไรประเภทนี้ด้วย”

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

“เหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่กำลังจะหลุดมือไป แม้ในปีหลังๆ ชื่อเสียงของรางวัลจะแผ่วลงไป แต่คนในวงการก็ยังเห็นว่าเป็นรางวัลที่สำคัญมาก เพราะทำให้ผู้ที่ได้กลายเป็นนักเขียนมีชื่อชั้นขึ้นมาทันทีที่ได้รับรางวัล ที่น่าสนใจกว่านั้นคือรางวัลนี้ยังต่อยอดไปสู่รางวัลอื่นๆ อย่างรางวัลศิลปาธร รางวัลแม่น้ำโขง หรือแม้แต่ศิลปินแห่งชาติ ช่วงปีหลังๆ เป็นนักเขียนที่เคยได้ซีไรต์มาแล้วแทบทั้งสิ้น

“หลายปีที่ผ่านมา ผมว่าจุดอ่อนที่สุดของซีไรต์คือกรรมการ สมาคมสองสมาคมมีหน้าที่ในการสรรหาคณะกรรมการ แต่แทนที่จะเฟ้นคนเก่งจริงๆ ส่วนใหญ่กลับเลือกมาจากกรรมการสมาคม โดยเฉพาะในรอบคัดสรร กรรมการสมาคมมีแค่ 20 กว่าคน ตัวเลือกจึงมีน้อยนิด แทนที่จะเลือกจากคนวรรณกรรมทั้งหมด หลายคนที่เข้ามาก็ไม่ได้เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ และมีไม่น้อยที่ตามวรรณกรรมร่วมสมัยไม่ทัน แต่ได้เข้ามาเพียงเพราะมีตำแหน่งในสมาคมเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่สุด หลายปีมาแล้วที่การพิจารณาในรอบต่างๆ ค้านกับสายตาผู้อ่านส่วนใหญ่ ผลงานดีๆ ตกไป ขณะที่ผลงานระดับครึ่งๆ กลางๆ ผ่านเข้ามา

“ถ้ามีรางวัลอื่นก็อยากให้เป็นการประกวดหนังสือเล่มแบบซีไรต์นี่ล่ะ แต่เปิดช่องทางให้ผู้อ่านทั่วไปร่วมเป็นกรรมการด้วย เหมือนรายการแบบ The Voice ที่รอบแรกๆ ให้กรรมการเลือกก่อน แต่รอบหลังๆ ใช้มติมหาชนเป็นหลัก เพื่อไม่ให้คณะกรรมการมีสิทธิ์ชี้ขาดแต่ผู้เดียวเหมือนที่ผ่านมา”

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า