ในวันที่โลกเผชิญภัยคุกคามร้ายแรงที่คาดไม่ถึงจากโรคระบาดโควิด-19 สถานการณ์โดยทั่วไปดูราวกับทุกอย่างหยุดชะงักไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นกิจการอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การจราจร ชีวิตของเมือง และวิถีของผู้คน หนึ่งในกิจกรรมที่คนบางส่วนคิดว่าชะลอชะงักตัวลงเนื่องจากโควิด-19 คือ การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายโดยทั่วไปในโลก ซึ่งการรับรู้นี้อาจสำทับเข้าด้วยการออกแถลงการณ์หยุดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั้งหมดของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือ บีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional; BRN) เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้กับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การทำงานของหน่วยสาธารณสุขของรัฐไทย และสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับประชาชนในปตานี 1
แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ก่อการร้ายโดยทั่วไปในโลกให้ภาพความเป็นจริงที่สวนทางกับการรับรู้ดังกล่าว หากเรานับที่เดือนมีนาคมเป็นต้นมาซึ่งจัดว่า ภัยจากโรคระบาดโควิด-19 แผ่ปกคลุมแทบจะทั่วทั้งโลกไปแล้ว ข้อมูลของเว็บไซต์ Full Fact ระบุว่า เหตุการณ์การก่อการร้ายยังคงปรากฏเป็นระยะในพื้นที่ต่างๆ 2 ตัวอย่างเหตุสำคัญๆ เช่น
การมองไม่เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดและแปลกแต่อย่างใด เพราะอันที่จริงแล้วเหตุก่อการร้ายในพื้นที่เหล่านี้ก็ค่อนข้างอยู่นอกการรับรู้ของผู้คนเป็นปกติอยู่แล้ว แม้จะเป็นในห้วงเวลาก่อนการเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่นี้ก็ตาม งานของ สตีเวน เชอร์มัค (Steven Chermak) สะท้อนว่า ระดับของการรับรู้และหวาดกลัวต่อภัยการก่อการร้ายมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลไกอัตโนมัติหรือเป็นธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยมีสื่อมวลชนเป็นกลไกหลักบรรทุกพาเรื่องราวมาสู่การรับรู้ของผู้คน 3
กล่าวได้ว่าเพดานความรู้และความหวาดกลัวของผู้คนทั่วไปต่อการก่อการร้ายจะสูงหรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับเพดานการนำเสนอของสื่อไม่มากก็น้อย
นอกจากเรื่องระดับการรับรู้ ความรู้ และความหวาดกลัวที่สูงหรือต่ำแล้วนั้น หน้าตาและแง่มุมของเรื่องราวการก่อการร้ายเป็นเช่นใด ก็ยังสัมพันธ์กับบทบาทของสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อยอีกด้วย สื่อมวลชน ทีมข่าว และบรรณาธิการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการวางกรอบข่าว (news media framing) ให้กับเหตุการณ์ก่อการร้ายหนึ่งๆ ผ่านการตีความถอดรหัสความหมายของเหตุการณ์ แล้วเลือกสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ข้อความ รูป ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ มาเรียบเรียงตัดต่อเพื่อนำเสนอถ่ายทอดไปยังผู้รับสาร ดังนั้น ของที่อยู่ตรงหน้าผู้คนจึงมิใช่ ‘ข้อเท็จจริง’ (fact) แต่ทว่าเป็น ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ที่มีระดับของการเน้นให้ผู้รับสารเห็นในบางมุมเป็นพิเศษ และซ่อนเร้นมองข้ามตัดทิ้งบางมุมออกไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม 4
กระบวนการวางกรอบข่าวที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่สามารถดำเนินไปอย่างเป็นกลางหรือเป็นวัตถุวิสัย หากแต่เต็มไปด้วย ‘การเลือก’ (selection)
และในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เปรียบได้กับว่า เหตุการณ์การก่อการร้ายไม่ถูกเลือกให้อยู่ในกรอบข่าว และตำแหน่งของการพาดหัวข่าวนั่นเอง เนื่องด้วยภัยคุกคามที่คร่าชีวิตผู้คนและกระจายในวงกว้างมากกว่ากำลังเขย่าความกังวลสนใจของผู้คนทั่วโลกอย่างหนักหน่วง
สถานการณ์ก่อการร้ายจึงอยู่ในสภาพที่แม้จะยังดำรงอยู่และดำเนินต่อไป แต่ถูกรับรู้น้อยลง
ข้อถกเถียงหลักของผู้เขียนในบทความชิ้นนี้คือ กิจกรรมการก่อการร้ายมิได้ถูกหยุดยั้งลงเพราะโรคระบาด แต่บริบทที่โลกเผชิญโควิด-19 ระบาดหนักนั้น ส่งอิทธิพลให้กิจกรรมการก่อการร้ายมีคุณลักษณะที่แตกต่างออกไปจากเดิม ในแบบแผนของการฉวยโอกาสจากความปั่นป่วนของระบอบความมั่นคง (security regimes’ disorder)
เมื่อ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) สื่อสารผ่านจดหมายข่าวรายสัปดาห์ของพวกเขาที่ชื่อ ‘อัล-นะบา’ (النبا; al-Naba) ฉบับที่ 226 ภายใต้หัวเรื่อง ‘آسوء کوابیس الصلیبیین’ ซึ่งแปลว่า ‘ฝันร้ายอันถึงที่สุดของพวกนักรบครูเสด’ (The Crusaders’ Worst Nightmare)
รายงานผลกระทบของ ‘ศัตรู’ พวกเขาจากการคุกคามของโควิด-19 และรุกเร้าให้มวลชนของตนเองเดินหน้าทำสงครามต่อไปแม้ในห้วงเวลาเผชิญโรคระบาด เพราะเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้เปรียบในการลงมือก่อเหตุในสภาวการณ์ที่ประเทศ ‘ศัตรู’ กำลังอกสั่นขวัญแขวนจากโรคระบาดซึ่งติดต่อจากการสัมผัสกระทั่งขังตัวเองอยู่ในบ้าน การค้าขายหยุดชะงัก วิกฤติเศรษฐกิจที่คืบคลานเข้ามาส่อเค้าจะจุดชนวนให้ระดับอาชญากรรมและระดับความเสี่ยงต่อการลุกฮือก่อจลาจลของผู้คนมีสูงขึ้น
พร้อมกับที่ระบอบความมั่นคงทั้งของประเทศเป้าหมาย และระบอบความมั่นคงระหว่างประเทศตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนอลหม่านจากการคุกคามของโควิด-19 กระทั่งทำให้กลไกในการตรวจรักษาความปลอดภัยตกอยู่ในสภาพต้องแบกรับภารกิจเกินศักยภาพ (overload) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ติดพันสถานการณ์สู้รบกับกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศอยู่แล้ว และซ้ำอ่อนแอลงจากการโจมตีของโรคระบาด
เช่น อิรัก ความเปราะบางของระบอบความมั่นคงของพวกเขาย่อมสูงขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสเปน ประกาศจะถอนกำลังออกจากพื้นที่ โดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่าเพราะหวาดกลัวการระบาดของโควิด-19 แม้ว่าที่ผ่านมา กองทัพของอิรักเองจะปฏิบัติการอย่างเข้มแข็งในการต่อกรกวาดล้างกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) แต่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากการพึ่งพิงค่อนข้างมากกับความช่วยเหลือของแนวร่วมกองกำลังต่างชาตินำโดยสหรัฐอเมริกา การจะยุติกิจกรรมสู้รบ โลจิสติกส์ และฝึกซ้อมให้กับทหารอิรัก แม้อาจมีการกล่าวกันว่าเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าจะควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ก่อนก็ตาม ก็สร้างความเสี่ยงสูงสำหรับการเสียพื้นที่ควบคุมบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งติดต่อกับซีเรียกลับไปให้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) 5
ระบอบความมั่นคงของอิรักค่อนข้างสลับซับซ้อน ในขณะที่รัฐบาลอิรักจำต้องพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) กลุ่มติดอาวุธภายในประเทศซึ่งสนับสนุนโดยพันธมิตรของอิรักอย่างอิหร่านกลับตึงเครียดรุนแรงกับสหรัฐอเมริกา มากถึงขั้นโจมตีค่ายทหารของตะวันตกที่เมืองตาจีด้วยจรวดดังที่กล่าวไว้แล้วในส่วนต้นของบทความ
และอันที่จริงแล้ว การที่สหรัฐอเมริกาประกาศถอนกำลังออกจากอิรักอาจเพียงแค่การเกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับการระบาดของโควิด-19 เท่านั้น หากแต่เป็นปฏิกิริยาจากข้อเสนอของรัฐสภาอิรักต่อรัฐบาลของพวกเขาให้ผลักดันสหรัฐอเมริกาและกองกำลังต่างชาติออกจากประเทศ จากเหตุที่สหรัฐอเมริกาลอบสังหาร นายพลกอเซ็ม สุไลมานี ของอิหร่าน ในเขตอธิปไตยของอิรัก 6
นี่คือความโกลาหลที่อิรักกำลังเผชิญและบั่นทอนความสามารถในการเผชิญภัยก่อการร้าย ไปพร้อมกับสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้กลุ่มก่อการร้ายได้เปรียบในปฏิบัติการมากขึ้น
รายงานของ International Crisis Group 7 ให้ข้อมูลว่า สำหรับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) พวกเขาสื่อสารไปยังมวลชนตนเองว่า ระบอบความมั่นคงที่กำลังปั่นป่วน เปิดโอกาสให้กับการระดมกำลังปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังตะวันตกในประเทศมุสลิม และปลดปล่อยพี่น้องมุสลิมจากการคุมขังในเรือนจำและค่ายทหาร (เป้าหมายที่สำคัญคือ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย อัฟกานิสถาน และแถบแอฟริกาตะวันตก) รวมทั้งการฉวยจังหวะก่อเหตุในประเทศตะวันตก เสมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับปารีส ลอนดอน และบรัสเซลส์ที่ผ่านมา
การระบาดของโควิด-19 บั่นทอนความเป็นเอกภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อกรกับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) หรือกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอื่น ด้วยการทำให้ตะวันตกต้องคิดคำนวณที่จะถอยออกจากการเข้าเกี่ยวพันในระบอบความมั่นคงของพื้นที่อันห่างไกลประเทศตนเอง และลดขีดความสามารถในการประสานงานร่วมมือกันระหว่างประเทศในพื้นที่แถบนั้นๆ เปิดทางให้กับความเป็นไปได้ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย ดังเช่นการก่อเหตุสังหารหมู่ทหารชาดและไนจีเรียเมื่อ 23 มีนาคม โดยฝีมือของกลุ่มโบโกฮารอม ซึ่งปฏิบัติการในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบชาดได้อย่างสะดวกในบริบทเช่นนี้
พึงระลึกว่า แนวโน้มเช่นนี้มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักสำหรับกลุ่มอย่างรัฐอิสลาม (IS) การขยายตัวและศักยภาพในการปฏิบัติการของพวกเขาโดยธรรมชาติแล้ว กล่าวได้ว่าขึ้นอยู่อย่างมากกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เป็นตัวแปรสำคัญมากกว่าความเข้มแข็งภายในองค์กรเอง นับตั้งแต่สงครามอิรัก ค.ศ. 2003 อาหรับสปริง สงครามกลางเมืองซีเรีย ฯลฯ
และเวอร์ชั่นล่าสุดคือ การระบาดของโควิด-19 อันส่งอิทธิพลให้ตัวแสดงในระบอบความมั่นคงจำต้อง ‘รักษาระยะห่าง’ ในการประสานความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น หรือจะเรียกว่าเป็น ‘Security Distancing’ ก็ว่าได้
เชิงอรรถ
|