คงไม่ต้องพูดอะไรเยอะเกี่ยวกับเนื้อหาและเพลงแร็พ ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP หลังจากปรากฏการณ์ยอดเข้าชม 900,000 แต่เมื่อเริ่มมีกระแสจากฝ่ายรัฐว่าห้ามดู ห้ามแชร์ ยอดกลับสวนทาง ขยับพุ่งไปถึง 9 ล้านวิว ภายใน 24 ชั่วโมง ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นโดยไม่หวั่นกับคำสั่งแบบสายฟ้าแลบเช่นนี้กำลังบอกว่าเราทุกคนกำลังตื่นตัว และเริ่มมองซ้ายมองขวา ให้ความสำคัญกับประเทศของตัวเองมากขึ้นหรือไม่?
วันนี้จึงจะพาไปไขรหัส ผ่านงานเสวนาเรื่อง ‘ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน’ จัดโดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ร่วมกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมแค่จังหวะไรม์ที่ลื่นไหล บวกกับเสียงบีทหนักหน่วง ถึงมีกำลังและกล้าหาญ จนพวกเขาใช้ดนตรีเป็นอาวุธ และกล้าออกมาพูดว่า “ประเทศกูมีอะไร” แบบโฟลว์ๆ
รหัสที่ 1: ประเทศกูมี เพลงจากประชาชนที่เบื่อรัฐ
สุชาติ แสงทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลงการเมือง (political music) บอกว่า เพลงที่แสดงออกถึงนัยยะทางการเมืองมีมานาน และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพลงเหล่านี้เกิดจากแรงบันดาลใจ รากฐานความคิดของผู้สร้าง เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองสังคมในแต่ละยุคสมัย
“ความเป็นดนตรีผนวกกับภาคประชาชน เกิดเป็นการต่อสู้โดยใช้ศิลปะ ประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เป็นการต่อสู้ที่งดงามอย่างหนึ่ง”
ดนตรีการเมือง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของภาครัฐเพียงอย่างเดียว ฝ่ายประชาชนก็สามารถใช้ศิลปะเป็นตัวถ่ายทอดความรู้สึกได้ ดังนั้นเพลงการเมืองในแต่ละยุคสมัยจึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องพยายามนึกถึงวิธีการสื่อสารเพื่อกะเทาะความรู้สึกของประชาชนให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันจึงใช้ความร่วมสมัยมาผสมผสาน เกิดสำนึกรวมหมู่บางอย่าง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผู้รับดนตรีอาจไม่รู้เลยว่า เรารับอะไรเข้ามา ทั้งที่เพลงนั้นใช้เพื่อเป้าหมายการเมือง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 นำเพลง ‘God Save the Queen’ ทำเป็นเพลง ‘จอมราชจงเจริญ’ เพื่อสถาปนาอำนาจของสถาบัน หรือเพลง ‘ก๋วยเตี๋ยว’ ที่ถูกแต่งขึ้นในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อตอกย้ำให้ประชาชนทำตามนโยบายของรัฐ
จนมาถึงเพลง ‘ประเทศกูมี’ ก็อาจจะนิยามได้ว่า เป็นบทเพลงปลุกใจลักษณะหนึ่งที่ไม่ได้เกิดมาจากรัฐบาลเอง แต่มาจากเสียงประชาชนที่เบื่อและรู้สึกทนไม่ได้กับฝ่ายรัฐ
รหัสที่ 2: ประเทศกูมี เพลงที่สนุกสนานบนความเจ็บปวด
นอกจากเนื้อหาเพลงที่จัดจ้าน และจังหวะดนตรีที่เชิญให้โยกหัวตาม มิวสิควิดีโอที่ใช้ประกอบเพลง ‘ประเทศกูมี’ ก็น่าสนใจเช่นกัน
การเลือกใช้ภาพเหตุการณ์ทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ศพถูกแขวนคอและตีด้วยเก้าอี้ รายล้อมไปด้วยกลุ่มคนที่ยืนมองด้วยความสะใจ ภาพนี้กำลังบอกอะไรบางอย่างกับสังคม?
ในสายตา ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นว่า การที่คนยืนล้อมวง มองเห็นความรุนแรงอยู่ตรงหน้าแล้วรู้สึกสนุกสนาน ก็ไม่ต่างอะไรจากเวลานี้ ที่ประชาชนทุกคนกำลังถูกกระทำความรุนแรง ถูกปิดกั้นอะไรหลายๆ อย่างจากภาครัฐ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่รื่นรมย์และยินดีกับกระทำความรุนแรงนั้นด้วย
รหัสที่ 3: ประเทศกูมี เพลงขบถของคนเมือง
ดนตรีและเสียงเพลง ถูกเอามาใช้ทางการเมืองตั้งแต่อดีต ในช่วง 1930-1945 ฮิตเลอร์ มุสโสลินี ที่ใช้ไมโครโฟนพูดปลุกใจพร้อมเพลงมาร์ชให้เดินเข้าสนามรบ
‘ประเทศกูมี’ ในสายตา ถนอม ชาภักดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไม่ต่างจาก ‘เพลงขบถหมอลำ’ ที่พรรคคอมมิวนิสต์-รัฐ ใช้ตอบโต้กันในช่วงสงครามเย็น ในลักษณะกลอนต่อกลอน
เพราะรากฐานของแร็พและหมอลำคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีพื้นที่แสดงออก ไม่มีใครฟัง ฉะนั้นถ้าย้อนกลับไปการใช้เสียงดนตรีแสดงออกทางการเมืองมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่เพลงหมอลำไม่เคยถูกนับว่าเป็นเสียงของการขบถของคนในเมือง พูดให้ง่ายคือ ‘ประเทศกูมี’ เพิ่งมาสะกิดต่อมคนชั้นกลาง ทั้งที่เพลงหมอลำซึ่งเป็นเพลงในเชิงต่อต้านมีมานานแล้ว
การรำพึงรำพรรณความเป็นขบถ มีอยู่ในประชาชนทุกคน แต่ปัญหาคือระยะเวลาที่ผ่านมา โครงสร้างเผด็จการทหารมีความแยบยล สามารถกล่อมเกลาแทรกซึมให้ศิลปะตกเป็นของรัฐมากกว่าจะใช้เป็นเครื่องมือคานอำนาจ
‘ประเทศกูมี’ จึงเข้าไปจับใจประชาชน จนได้รับกระแสอย่างถล่มทลาย เพราะตอนนี้ทุกคนต่างกำลังกระหาย หิวโหย รอคนมาพูดแทนในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก เราอาจไม่สามารถฟังเพลงนี้ในขณะที่ประเทศมีเสรีภาพ
แก่นของศิลปะเป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทุกคนสัมผัสได้ และไม่ผิดถ้าเราจะใช้ศิลปะเป็นอาวุธในการแสดงออก-ต่อต้าน ศิลปะทุกรูปแบบสามารถหยิบยื่นความน่าละอายให้กับเผด็จการได้
รหัสที่ 4: ประเทศกูมี กางข้อกฎหมายแล้วไม่เป็นเท็จ
เคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมบรรดาผู้มีอำนาจถึงอยากจะกดปราบ ปิดกั้นศิลปะ โดยเฉพาะที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายอย่างเพลง ภาพยนตร์ ละคร หรือภาพวาด?
“ก็เพราะศิลปะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า ก่อนหน้านี้คนอาจจะเล่าเรื่องการเมือง เพื่อนอาจจะไม่สนใจ แต่พอเป็นเพลง ‘ประเทศกูมี’ ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น ศิลปะมันจึงเป็นเรื่องที่คนมาเข้าถึงและเสพได้ง่ายกว่า เพลงแร็พประเทศกูมีก็มีฟังก์ชั่นไม่ต่างจากเพลงเพื่อชีวิตในอดีต” สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถอดรหัสต่อว่า ‘ประเทศกูมี’ ในเชิงกฎหมายมีความผิดจริงจนทำให้ประเทศสั่นคลอนจริงหรือไม่
จากความเคลื่อนไหวอย่างเกรี้ยวกราดในช่วงที่ผ่านมา บรรดาตำรวจออกมาลุกฮือกับกระแสที่ฉุดไม่อยู่ จนถึงขั้นเตรียมใช้อำนาจสั่งตรวจสอบ หาก ฟัง-แชร์-กดไลค์ เพลง ‘ประเทศกูมี’ จะถือว่าผิด เพราะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่เพียงเวลาไม่นานก็ต้องยอมถอยออกไป และออกประกาศตามมาว่าสามารถ ฟัง-แชร์-กดไลค์ ได้ตามปกติ
สาวตรีบอกว่า นี่ไม่ใช่สัญญาณแห่งชัยชนะของประชาชน บรรดาตำรวจทั้งหลายไม่ได้รู้สึกสำนึกถึงการใช้อำนาจของตัวเองแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะปรากฏการณ์ยอดคนดูที่พุ่งสูง จนปัจจุบันอยู่ที่ 26 ล้าน เลยทำให้พวกเขาเพิ่งฉลาดและเริ่มคิดได้ว่า ‘ยิ่งปิดปากคนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหูคนยิ่งอยากฟัง’
รัฐบาลมักอ้างถึง ‘พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง’ มาเป็นอาวุธสำคัญในการเอาผิด
แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว องค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้คือ ‘ประเทศกูมี’ จะต้องนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ (ไม่จริง โป้ปด หลอกลวง) หรือข้อเท็จจริงที่น่าจะเกิดความเสียหาย
“ท่อนในเพลงพูดว่า ‘อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟล’ เป็นการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่เขาอาจจะลืมไปว่าการเปรียบเปรยเช่นนี้ มันคือความคิดเห็น ความคิดเห็นจึงไม่ผิดกฎหมาย”
“ข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนพูดความจริง ถึงแม้จะเป็นเรื่องไม่ดีก็ตาม ดังนั้นเมื่อเพลงนี้ไม่มีข้อใดเป็นความเท็จ จึงไม่เข้าข่ายมาตรานี้ กลับกันบทเพลงบางเพลงที่กล่าวถึงการ ‘คืนความสุข’ ต่างหาก ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ”