Seven Brief Lessons on Physics ถูกแปลเป็นไทยในชื่อ ความงามของฟิสิกส์ นี่คือหนังสือเล่มบางที่มีการแปลไปแล้วกว่า 40 ภาษา และเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีทั่วโลก ผู้เขียนคือ คาร์โล โรเวลลี เป็นนักทฤษฎีฟิสิกส์ผู้มีผลงานสำคัญด้านฟิสิกส์ของปริภูมิและเวลา ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยความโน้มถ่วงควอนตัมที่ศูนย์ทฤษฎีฟิสิกส์ ในเมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส
เห็นข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเพียงเท่านี้อาจคิดว่า นี่คือกระดาษบรรจุข้อความที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ มีสมการอันยุ่งเหยิง อ่านยาก และน่าปวดหัวสำหรับการทำความเข้าใจใช่ไหม ตอบแบบในทรรศนะของผู้อ่านอย่างผมที่เรียนสายศิลป์มา และไม่เคยเข้าห้องเรียนฟิสิกส์แม้แต่คาบเดียวว่า “ใช่ครึ่ง และไม่ใช่อีกครึ่งนึง” ที่บอกเช่นนี้มีเหตุและผลมารองรับ
ใช่ครึ่ง ที่บอกว่าอ่านยากนั่นเพราะหนังสือใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์จริง หากกรีดไล่ไปทีละหน้าจะพบข้อความเชิงทฤษฎีถูกกล่าวถึงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องปริภูมิ (space) ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (theory of relativity) และกลศาสตร์ควอนตัม (quantum mechanics) ซึ่งก็ช่วยไม่ได้อยู่แล้วเพราะนี่คือหนังสือที่ชื่อก็บอกตัวตนของมันอยู่โทนโท่
ไม่ใช่ครึ่ง แม้จะบรรจุเรื่องราวเชิงทฤษฎีเอาไว้ ทว่าหนังสือเล่มนี้กลับมีวิธีการเล่าเรื่องที่อธิบายหลักการทางฟิสิกส์ไว้ผ่านนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ยุคสมัย การค้นพบ ความเป็นไปของโลก ซึ่งอันที่จริงมันก็คือการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติด้วยฟิสิกส์นั่นเอง หากสายตาเราเห็นอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับโลก การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เหมือนทำความเข้าใจว่าในเชิงหลักการแล้ว มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทีนี้จะอ่านอย่างไรให้สนุก
คิดแบบผมก็คือ การไม่ไปจมกับคำศัพท์หรือตั้งการ์ดกับทฤษฎีมากเกินไป จะทำให้เพลิดเพลินกับการอธิบายที่ ‘เชื่อมโยง’ จากสิ่งที่เล็กที่สุดบนผืนโลก จนถึงจักรวาลที่ควานหาขอบเขตของมันไม่เจอ
หนังสือเล่าเรื่องไปทีละบท แต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่บทแรก ทฤษฎีอันงดงามที่สุด, ควอนตัม, สถาปัตยกรรมแห่งจักรวาล, อนุภาค, เกล็ดปริภูมิ, ความน่าจะเป็น เวลา ความร้อนของหลุมดำ และบทสุดท้ายคือ ตัวเรา
บทที่ผมชอบคือ เกล็ดปริภูมิ ที่อธิบายให้เห็นว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นหัวใจของฟิสิกส์คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และกลศาสตร์ควอนตัม นั้นยังไม่สมบูรณ์ และทั้งสองทฤษฎีกลับขัดแย้งกันเอง
แม้ไม่เคยเรียนฟิสิกส์ แต่ผมชอบวิธีการอธิบายเรื่องนี้ที่พาเรากลับไปยังบรรยากาศห้องสี่เหลี่ยมที่นักเรียน นักศึกษา อาจคิดว่าอาจารย์ของพวกเขาโง่เง่า เพราะตอนเช้าเรียนวิชาสัมพัทธภาพแล้วบอกว่า โลกเป็นปริภูมิโค้งซึ่งทุกสิ่งล้วนต่อเนื่องกัน แต่พอภาคบ่ายที่ต้องเรียนกลศาสตร์ควอนตัมกลับบอกว่า โลกเป็นปริภูมิแบนราบซึ่งควันตัมพลังงานกระโดดไปมา
อ้าว! ไหงงั้น?
กระนั้น ความขัดแย้งทางทฤษฎีนี้สามารถอธิบายได้ผ่านวิธีการของนักบวชยิวที่ต้องมาไขข้อพิพาทของชาย 2 คน
หลังจากรับฟังคนแรก นักบวชกล่าวว่า “คุณเป็นฝ่ายถูก” หลังจากรับฟังคนที่สอง นักบวชกล่าวว่า “คุณก็ถูกเหมือนกัน” เมื่อได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้น ภรรยาของนักบวชที่นั่งฟังอยู่ห้องข้างๆ ก็ตะโกนขึ้นมาว่า “แต่พวกเขาจะถูกต้องทั้งสองฝ่ายไม่ได้!”
รู้ไหมหลังจากตรึกตรองแล้วนักบวชตอบว่ายังไง?
นักบวชตอบว่า “และคุณก็ถูกเช่นกัน”
วรรคตอนนี้ช่วยทำให้เราเห็นว่า ข้อค้นพบต่างๆ นานานั้นยังไม่มีอะไรเป็นที่สุด ธรรมชาติที่เราเห็นก็ยังมีสิ่งลึกลับมากมายรอการค้นหาและอธิบาย ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คิดค้นก็มีการทบทวน รื้อสร้าง และล้มล้างตลอดเวลา นี่คือเสน่ห์ของมนุษย์ในฐานะผู้สังเกตโลก ที่ค่อยๆ ค้นพบสิ่งละอันพันละน้อยแล้วเอามาเชื่อมร้อยโยงสัมพันธ์ และโลกที่มีหน้าตาเช่นปัจจุบันก็มาจากนิสัยของมนุษย์ที่ชอบตั้งคำถาม หาคำตอบ กระทั่งนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมและสรรพสิ่ง
อ่านเล่มนี้จบผมนึกถึงวันที่ตัดสินใจเลือกเรียนสายศิลป์ หากวันนั้นผมเลือกกาอีกช่อง ห้องเรียนของผมจะเป็นเช่นไร และหากผมนั่งอยู่ในห้องนั้น ผมจะรู้สึกหลงรักหรือชิงชังวิชาเหล่านี้ เพราะเวลาสนทนากับเพื่อนพ้องสมัยมัธยมล้วนส่ายหน้าเบ้ปากเวลาที่ต้องพูดถึงวิชาฟิสิกส์ อาการเช่นนี้อาจเป็นเพราะฟิสิกส์ถูกฉาบด้วยความทรงจำสีดำ ต้องท่องจำเพื่อทำข้อสอบ ทั้งๆ ที่มันควรจะมีสีหวาน น่าหลงใหล ท้าทายให้ค้นหา และมีชื่อวิชาเรียบง่ายขึ้นต้นด้วย ‘ความงาม’
อีกความสงสัยคือ ทำไมเด็กศิลป์จึงไม่จำเป็นต้องเรียนฟิสิกส์ ทั้งที่เรื่องนี้ล้วนอยู่รายรอบตัวเรา
ความงามของฟิสิกส์ คาร์โล โรเวลลี เขียน สุนันทา วรรณสินธ์ แปล สำนักพิมพ์ openworld |