สึนามิวิทยา 101: เรื่องราวของคลื่นยักษ์แห่งการทำลายล้าง

เวลา 07.58 นาฬิกาของวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 แผ่นเปลือกโลกบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราเกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่ความลึก 30 กิโลเมตร การขยับตัวของผืนธรณีเป็นระยะทางยาว 1,300 กิโลเมตรในครั้งนั้น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ที่มีความสูงระหว่าง 15-51 เมตร ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งทั่วมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายมากมายเหลือคณานับ วันนั้นเองที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้จักกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เรียกว่า ‘สึนามิ’

บทความนี้ ผมจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘วิทยาศาสตร์ของสึนามิ’ โดยจะพยายามอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่มีสมการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน และครอบคลุมประเด็นสำคัญที่ควรรู้อย่างครบถ้วนครับ

ตำแหน่งศูนย์กลางการเกิดสึนามิเมื่อปี 2004 | photo: Bureau of Meteorology

ความหมายของสึนามิ

สึนามิวิทยา (tsunamiology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเกิด ลักษณะ ผลกระทบ การรับมือ การตรวจวัด และการเตือนภัยสึนามิ แรกเริ่มเดิมที ‘สึนามิ’ (tsunami) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า ‘คลื่นท่าเรือ’ (harbor wave) ซึ่งอาจสื่อถึงคลื่นขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายแก่ท่าเรือ ชายฝั่ง หรืออ่าว

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จำแนกสึนามิเป็นคลื่นน้ำตื้น (shallow water wave) เนื่องจากสึนามิมีความยาวคลื่น (wave length) มากกว่าความลึกของน้ำ (water depth) เป็นอย่างมาก

ความจริงแล้ว ปรากฏการณ์เกี่ยวกับคลื่นน้ำที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายสึนามิมีอยู่หลายอย่าง เช่น คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ที่เกิดจากพายุหมุนเขตร้อน คลื่นน้ำหนุน (tidal bore) ที่เกิดบริเวณรอยต่อของแม่น้ำกับทะเลในช่วงน้ำขึ้น คลื่นเซชไหวสะเทือน (seismic seiche) ที่เกิดจากแรงกระทำของแผ่นดินไหวทำให้มวลน้ำกระฉอกไปมา และคลื่นอันธพาล (rogue wave) ซึ่งเป็นคลื่นทะเลขนาดใหญ่ที่ปรากฏออกมาอย่างปุบปับและยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร

คลื่นพายุซัดฝั่งที่เกิดจากเฮอริเคนไอค์ (Ike) เข้ากระทบชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเมื่อปี 2008 | photo: National Oceanic and Atmospheric Administration

การเกิดสึนามิ

สึนามิเกิดจากปรากฏการณ์ที่รุนแรงและฉับพลันที่ถ่ายโอนพลังงานไปสู่มวลน้ำปริมาณมหาศาลในทะเลสาบ ทะเล และมหาสมุทร เช่น แผ่นดินไหว ดิน-หิน-ธารน้ำแข็งถล่ม ภูเขาไฟปะทุ ลมฟ้าอากาศแปรปรวน อุกกาบาตตก หรือการทดลองระเบิดนิวเคลียร์

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ‘วงแหวนแห่งไฟ’ (ring of fire) รอบมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดสึนามิมากที่สุด รองลงมาคือมหาสมุทรแอตแลนติกกับทะเลแคริบเบียน ทะเลเมดิเตอเรเนียน มหาสมุทรอินเดีย และทะเลอื่นๆ โดยสึนามิขนาดเล็กจะเกิดบ่อยกว่าสึนามิขนาดใหญ่ เพราะแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดบ่อยกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่นั่นเอง

แม้สาเหตุของการเกิดสึนามิจะมีหลายประการ แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า สึนามิส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหวในทะเลหรือใกล้ทะเล โดยแผ่นดินไหวต้องมีขนาดมากกว่า 6.5 และพื้นทะเลที่ความลึกไม่เกิน 100 กิโลเมตร เกิดการเลื่อนตำแหน่งในแนวตั้งหรือแนวเฉียงอย่างฉับพลัน

การเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีทำให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ | photo: National Oceanic and Atmospheric Administration
ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของแผ่นดินไหวและความลึกของจุดศูนย์เกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิ | photo: Creative Commons Attribution 4.0 International

กลไกการเกิดสึนามิยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ เช่น เมื่อลมฟ้าอากาศเหนือแหล่งน้ำแปรปรวนอย่างฉับพลันจนมวลน้ำกระเพื่อมอย่างรุนแรง หรือภูเขาไฟกลางทะเลระเบิดจนเกิดคลื่นกระแทก (shockwave) ที่ผลักมวลน้ำออกไปเป็นวงกลม มวลน้ำดังกล่าวจะกลายเป็น ‘เมทีโอสึนามิ’ (meteotsunami) หรือสึนามิที่เกิดจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา

กรณีที่ความเร็วของเมทีโอสึนามิมีค่าเท่ากับความเร็วของลมที่เกิดจากคลื่นกระแทก เมทีโอสึนามิจะถูก ‘ขยาย’ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เรียกว่า การสั่นพ้องแบบพราวด์แมน (Proudman resonance) และเมื่อสึนามิดังกล่าวเคลื่อนที่เข้าใกล้ชายฝั่งจะเกิดการสั่นพ้องกับภูมิประเทศ (topographic resonance) อีกหลายรูปแบบ เช่น การสั่นพ้องแบบกรีนสแปน (Greenspan resonance) การสั่นพ้องกับไหล่ทวีป (shelf resonance) และการสั่นพ้องกับอ่าว (harbor resonance) ซึ่งผมจะขอละเว้นการอธิบายรายละเอียดของการสั่นพ้องแต่ละรูปแบบ เพราะจำเป็นต้องอาศัยสมการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนครับ

การสั่นพ้องแบบต่างๆ ของสึนามิ | photo: Courtesy Chin Wu, University of Wisconsin

สิ่งที่ควรรู้คือ แม้จะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดสึนามิ แต่ถ้าการถ่ายโอนพลังงานไปยังมวลน้ำมีค่าน้อย สึนามิที่เกิดขึ้นจะมีขนาดพอๆ กับคลื่นทะเลทั่วไป ดังนั้นสึนามิจึงไม่จำเป็นต้องถูกเรียกว่า ‘คลื่นยักษ์’ เสมอไป

ส่วนสึนามิที่มีความสูงหลายสิบหรือหลายร้อยเมตรจะเรียกว่า ‘เมกะสึนามิ’ (megatsunami) ตัวอย่างคือ สึนามิที่เกิดจากอุกกาบาตขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร ที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนจนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ถูกจัดเป็นเมกะสึนามิที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ลักษณะของสึนามิ

เมื่อสึนามิอยู่กลางทะเลลึก คลื่นจะมีความสูงน้อย เคลื่อนที่เร็ว และมีระยะห่างระหว่างคลื่นแต่ละลูกมาก สึนามิจึงสูญเสียพลังงานไปกับการเสียดสีบนพื้นทะเลค่อนข้างน้อยและสามารถเคลื่อนที่เป็นระยะทางไกล ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีทางคณิตศาสตร์และปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า คลื่นเดี่ยว (solitary wave) หรือโซลิตอน (soliton)

เมื่อสึนามิเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้น เคลื่อนที่ช้าลง และมีระยะห่างระหว่างคลื่นแต่ละลูกน้อยลง เรียกว่า ผลกระทบจากเขตน้ำตื้น (shoaling effect) ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณอย่างคร่าวๆ ได้ว่า ความเร็วของสึนามิจะแปรผันตามความลึกของน้ำและความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก

ความลึกของน้ำ ความยาวคลื่น และความเร็วของสึนามิ | photo: National Oceanic and Atmospheric Administration

ความจริงแล้ว ลักษณะการขยับตัวของแผ่นธรณี ทิศทางการวางตัวของชายฝั่ง และวัตถุบนชายฝั่ง ล้วนมีผลต่อความสูงของสึนามิที่เข้ากระทบชายฝั่งและการไหลท่วมบนแผ่นดิน (inundation) เช่น อ่าวรูปตัววีหรือตัวยูจะสามารถ ‘บีบ’ สึนามิให้มีความสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าอ่าวที่เป็นเส้นตรง ชายฝั่งที่แบนราบจะทำให้สึนามิไหลท่วมบนแผ่นดินไกลกว่าชายฝั่งที่สูงชัน และชายฝั่งที่มีสิ่งกีดขวาง เช่น กลุ่มโขดหิน แนวปะการัง ป่าชายเลน จะต้านทานการไหลของสึนามิได้ดีกว่าชายฝั่งที่โล่งเตียน

สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้คือ สึนามิอาจมีหลายระลอก และคลื่นลูกแรกอาจไม่ใช่คลื่นลูกที่ใหญ่ที่สุดเสมอไป

ผลกระทบของสึนามิ

เมื่อสึนามิเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งจะสร้างความเสียหายแก่สิ่งมีชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และสัณฐานของพื้นผิวโลกเป็นบริเวณกว้าง เช่น คนและสัตว์เสียชีวิตหรือไร้ที่อยู่อาศัย พืชพรรณล้มระเนระนาด สิ่งก่อสร้างเสียหาย การคมนาคมเป็นอัมพาต การสื่อสารถูกตัดขาด เพลิงไหม้ ไฟฟ้าดับ น้ำไม่ไหล ก๊าซและสารเคมีรั่ว โรคบางชนิดแพร่ระบาด ดินถล่ม ชายฝั่งถูกกัดเซาะ น้ำเค็มปนเปื้อนบนพื้นผิวดินและน้ำบาดาล

สึนามิที่ไหลเข้าสู่ปากแม่น้ำสามารถผลักให้น้ำบางส่วนไหลย้อนกลับและเกิดน้ำท่วมตลอดแนวตลิ่ง ซึ่งการไหลไป-กลับของสึนามิจะทิ้งร่องรอยการกัดเซาะดิน การคัดขนาดตะกอน รอยริ้วคลื่น และวัตถุต่างๆ เอาไว้บนชายฝั่ง หลักฐานเหล่านี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุขนาด ทิศทาง ความเร็ว รูปแบบการไหลของน้ำ และช่วงเวลาที่เกิดสึนามิได้

สึนามิทำให้แม่น้ำบางส่วนไหลย้อนกลับ | photo: Kalle Lampela

แม้สึนามิจะเป็นตัวแทนของพลังอำนาจแห่งการทำลายล้าง แต่สึนามิก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีบทบาทในการพัดพาธาตุอาหารจากทะเลลึกขึ้นมายังเขตน้ำตื้น ขนย้ายวัตถุที่กีดขวางการไหลของน้ำ และอาจปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของชายฝั่งไปอย่างสิ้นเชิง

การรับมือกับสึนามิ

สึนามิขนาดใหญ่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มาตรการรับมือกับสึนามิจึงจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนโดยภาครัฐและต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ดังนี้

มาตรการของภาครัฐ

  1. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติ
  2. บรรจุรายวิชาเกี่ยวกับภัยพิบัติลงในหลักสูตรการศึกษา
  3. ประชาสัมพันธ์และจัดการฝึกซ้อมหนีภัยพิบัติเป็นประจำ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ
  4. ติดตั้งป้ายบอกเส้นทางหนีภัย สัญญาณเตือนภัย และลำโพงกระจายเสียง รวมถึงจัดเตรียมเสื้อชูชีพ ห่วงยาง หรือเรือ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
  5. บริหารจัดการพื้นที่ เช่น กำหนดว่าพื้นที่ใดเป็นเขตอนุรักษ์ เขตท่องเที่ยว เขตชุมชน เขตอุตสาหกรรม หรือเขตเสี่ยงภัยพิบัติ โดยหลีกเลี่ยงการสร้างแหล่งชุมชนในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ
  6. ออกแบบสิ่งก่อสร้างและผังเมืองให้เหมาะสม เช่น สร้างเส้นทางหนีภัย อาคารหลบภัย กำแพงป้องกันภัย และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของผู้ประสบภัย โดยอาศัยความรู้ทางวิศวกรรมสึนามิ (tsunami engineering) แต่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และคุณค่าของระบบนิเวศ เป็นสำคัญ

การปฏิบัติตนของภาคประชาชน

  1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่หรือสถานที่ที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยว ว่ามีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติหรือไม่
  2. จัดเตรียมไฟฉาย วิทยุสื่อสาร ยารักษาโรค หรือสิ่งของจำเป็นในยามฉุกเฉิน ให้พร้อมใช้งาน
  3. ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่เสมอ
  4. หากทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวในทะเล สังเกตเห็นระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ สัตว์น้ำหนีกระเจิง หรือแนวคลื่นขนาดใหญ่ ให้รีบหนีไปยังสถานที่ปลอดภัยที่ไกลจากชายฝั่งหรือหนีขึ้นที่สูง โดยไม่ต้องรอการประกาศจากหน่วยงานรัฐ
  5. ไม่ควรอยู่ใกล้เนินเขาที่สูงชันและแม่น้ำ เพราะแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอาจทำให้เกิดดินถล่ม และสึนามิสามารถไหลเข้าสู่แม่น้ำจนน้ำล้นตลิ่งได้
  6. ถ้าอยู่บนเรือกลางทะเลที่ค่อนข้างไกลจากชายฝั่งและหนีขึ้นฝั่งไม่ทัน ให้รออยู่กลางทะเล เพราะสึนามิที่อยู่ไกลจากชายฝั่งจะมีขนาดเล็ก
  7. ห้ามยืนดูสึนามิ เพราะสึนามิที่มีความสูงเพียง 1 เมตร ก็สามารถทำให้คนล้ม จมน้ำ หรือถูกพัดปลิวไปตามคลื่นได้
  8. กรณีที่ถูกคลื่นซัด ให้พยายามลอยตัว แล้วคว้าจับวัตถุที่สามารถยึดเกาะหรือพยุงร่างไม่ให้จมน้ำ
  9. ระวังอันตรายจากวัตถุต่างๆ ที่ถูกพัดมาพร้อมกับสึนามิ
  10. สึนามิแต่ละครั้งอาจมีคลื่นหลายระลอก ดังนั้นจึงควรรอดูสถานการณ์อยู่ในสถานที่ปลอดภัย ไม่ควรรีบลงมาที่พื้นราบ

การตรวจวัดและเตือนภัยสึนามิ

นักวิทยาศาสตร์จำแนกสึนามิโดยอาศัยระยะห่างระหว่าง ‘จุดกำเนิด’ กับ ‘ชายฝั่ง’ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. สึนามิท้องถิ่น (local tsunami) มีระยะห่างระหว่างจุดกำเนิดกับชายฝั่งน้อยกว่า 100 กิโลเมตร
  2. สึนามิภูมิภาค (regional tsunami) มีระยะห่างระหว่างจุดกำเนิดกับชายฝั่งน้อยกว่า 1,000 กิโลเมตร
  3. สึนามิระยะไกล (teletsunami) มีระยะห่างระหว่างจุดกำเนิดกับชายฝั่งมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

จากเกณฑ์ข้างต้น เราจะพบว่ายิ่งสึนามิอยู่ใกล้ชายฝั่งมากเท่าไร สึนามิจะยิ่งเดินทางมาถึงเร็ว และทำให้เรามีเวลาในการ ‘หนี’ น้อยเท่านั้น หมายความว่าถ้าเราสามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้เร็ว ความเสียหายก็จะน้อยลง

ระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า (tsunami early warning system) ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำและความดันน้ำ แล้วส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมและศูนย์เตือนภัยพิบัติ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ

  1. เครือข่ายมาตรวัดระดับน้ำทะเลตามแนวชายฝั่ง (Global Sea Level Observing System หรือ GLOSS) มีลักษณะเป็นมาตรวัดระดับน้ำทะเล (sea level gauge) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง
  2. ระบบประเมินและรายงานสึนามิในมหาสมุทรลึก (Deep-ocean Assessment and Reporting of Tsunamis หรือ DART) ประกอบด้วยทุ่นตรวจวัดคลื่นบนผิวน้ำทะเล (surface buoy) และเครื่องตรวจวัดสึนามิบนพื้นทะเล (tsunameter)

อุปกรณ์ตรวจวัดสึนามิมีอายุการใช้งานที่จำกัด เนื่องจากการเสื่อมสภาพเพราะแรงกระทำของคลื่นลม ความซุกซนของสัตว์ทะเล และการถูกคนร้ายลักขโมย ปัญหาเหล่านี้ทำให้หลายคนมีคำถามว่า ถ้าอุปกรณ์ตรวจวัดสึนามิพังเสียหาย เราจะแจ้งเตือนภัยสึนามิได้ไหม?

คำตอบคือ “ได้ครับ” เพราะสึนามิส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งคลื่นไหวสะเทือน (seismic wave) จะเคลื่อนที่เร็วกว่าสึนามิเป็นอย่างมาก เมื่อคลื่นไหวสะเทือนเดินทางมาถึงสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว โปรแกรมอัตโนมัติจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลเพื่อคำนวณหาขนาดของแผ่นดินไหวและโอกาสที่จะเกิดสึนามิ ส่วนอุปกรณ์ตรวจวัดสึนามิจะมีหน้าที่ยืนยันว่าสึนามิ ‘เกิด’ หรือ ‘ไม่เกิด’ และคลื่นที่เกิดขึ้นจริงมีความสูงเท่าไร

ตัวอย่างคือ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวใกล้ทะเลอันดามัน สึนามิจะเดินทางมาถึงประเทศไทยภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจึงต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนภายในไม่กี่นาทีหลังตรวจพบแผ่นดินไหว

เรื่องน่ารู้คือ นอกจากคลื่นปฐมภูมิ (primary wave) กับคลื่นทุติยภูมิ (secondary wave) ยังมีคลื่นไหวสะเทือนอีกชนิดหนึ่งที่เดินทางผ่านทะเลและมักถูกตรวจพบที่สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวใกล้ชายฝั่ง เรียกว่า คลื่นตติยภูมิ (tertiary wave) อีกด้วย

คลื่นตติยภูมิที่เกิดจากการสั่นสะเทือนในทะเล | photo: Jung-Han Lee et. al.

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถจับตาดูสึนามิด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น ดาวเทียมบนอวกาศ เส้นใยนำแสงใต้ทะเล การเปลี่ยนแปลงของอิเล็กตรอนในบรรยากาศ สนามแม่เหล็กโลก สนามความโน้มถ่วง ไปจนถึงจำนวนของอนุภาคมิวออน (muon) ที่มาจากอวกาศ

มาตราขนาดและความรุนแรงของสึนามิ

สึนามิเหมือนกับแผ่นดินไหว เพราะมี ‘มาตรา’ (scale) สำหรับคำนวณขนาดและความรุนแรงของสึนามิออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งมีอยู่หลายแบบพอสมควร โดยมาตราขนาดของสึนามิแบบดั้งเดิมมีชื่อว่า มาตราอิมะมูระ-อิดะ (Imamura-Iida scale) ซึ่งคำนวณจากความสูงที่มากที่สุดขณะสึนามิเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่ง ส่วนมาตราความรุนแรงของสึนามิ (tsunami intensity scale) จะแปรผันตามความสูงเฉลี่ยของสึนามิที่เดินทางมายังชายฝั่ง

พูดง่ายๆ คือ ถ้าสึนามิมีความสูงมาก ขนาดและความรุนแรงของสึนามิก็จะมากตามไปด้วยนั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของแผ่นดินไหวกับความสูงของสึนามิ | photo: Pure and Applied Geophysics
ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของแผ่นดินไหวกับขนาดของสึนามิ | photo: E. A. Kulikov
ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของแผ่นดินไหวกับความรุนแรงของสึนามิ | photo: Pacific Coastal and Marine Science Center

ในอดีต ความรุนแรงของสึนามิถูกแบ่งแบบหยาบๆ ออกเป็น 6 ระดับ แต่ปัจจุบันถูกแบ่งอย่างละเอียดออกเป็น 12 ระดับ ไล่เลียงจากเบาที่สุดคือ ไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ ไปจนถึงแรงที่สุดคือ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกคลื่นซัดจนราบเป็นหน้ากลอง นักวิทยาศาสตร์เรียกวิธีการประเมินโอกาสที่สิ่งต่างๆ จะเกิดความเสียหายจากสึนามิว่า ความเปราะบางจากสึนามิ (tsunami fragility)

ความเสียหายของสิ่งต่างๆ เนื่องจากสึนามิเข้าข่าย ‘ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ’ กล่าวคือ สมัยที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนา บริเวณที่มีความรุนแรงของสึนามิมากที่สุดจะถูกนำมาตีกรอบเพื่อค้นหาจุดกำเนิดของสึนามิที่อาจอยู่ใกล้ๆ แต่ปัจจุบันเราสามารถระบุจุดกำเนิดของสึนามิได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำภายในชั่วอึดใจด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

การตามหาสึนามิในอดีต

สึนามิเป็นภัยพิบัติที่อยู่คู่กับโลกมานานหลายพันล้านปีนับตั้งแต่มหาสมุทรถือกำเนิด การศึกษาเกี่ยวกับสึนามิที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเรียกว่า บรรพสึนามิวิทยา (paleotsunamiology) โดยนักวิทยาศาสตร์จะอาศัยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ชั้นตะกอน ซากดึกดำบรรพ์ หลักฐานทางโบราณคดี และบันทึกทางประวัติศาสตร์

ตัวอย่างคือ เมื่อสึนามิถาโถมเข้าหาชายฝั่ง คลื่นจะหอบเอาสิ่งมีชีวิตและตะกอนในทะเลที่อยู่ไกลจากชายฝั่งขึ้นมาทับถมบนแผ่นดิน นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถนำซากสิ่งมีชีวิตและตะกอนมาคำนวณหาช่วงเวลาที่เกิดสึนามิด้วยวิธีการวิเคราะห์ธาตุคาร์บอน-14 (carbon-14 dating) และวิธีการเปล่งแสงของแร่ (luminescence dating)

ข้อควรระวังคือ ซากสิ่งมีชีวิตและตะกอนที่ทับถมอยู่บนแผ่นดินอาจถูกคลื่นพายุซัดฝั่ง คลื่นน้ำหนุน คลื่นเซชไหวสะเทือน หรือคลื่นอันธพาล หอบขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ซากสิ่งมีชีวิตและตะกอนว่ามาจากบริเวณใกล้ชายฝั่งหรือไกลชายฝั่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยตะกอนบนชายฝั่งมักจะเป็นดินสีเข้ม ส่วนตะกอนสึนามิมักจะเป็นทรายสีอ่อน

ชั้นตะกอนสึนามิยุคโบราณที่เมือง Maullin ประเทศชิลี | photo: Amy L. Prendergast

ก่อนปี 2004 ประเทศไทยไม่เคยมีบันทึกทางประวัติศาสตร์หรือคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่เกี่ยวกับสึนามิมาก่อน แต่ความจริงแล้วเหตุการณ์นั้นไม่ใช่ ‘ครั้งแรก’ ที่เกิดสึนามิในพื้นที่ดังกล่าว เพราะผลการศึกษาชั้นตะกอนสึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยคณะวิจัยของ อ.ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว (ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น) แห่งภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าพื้นที่นั้นเคยเกิดสึนามิมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 600 ปีก่อน!

ถ้าถามว่าสึนามิที่เกิดขึ้นในวันนั้นจะเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ หรือไม่ คำตอบคือ “อาจจะไม่” ส่วนสึนามิครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันและเวลาไหน ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่คงไม่ใช่อนาคตอันใกล้ เพราะแผ่นธรณีต้องใช้เวลาสะสมพลังงานนานหลายสิบปีหรือหลายร้อยปีจึงจะสามารถทำให้เกิดสึนามิที่มีขนาดใกล้เคียงกันได้อีกครั้ง

การทำนายสึนามิในอนาคต

หลายปีที่ผ่านมา นักคิดบางกลุ่มพยายามเชื่อมโยงการเกิดสึนามิกับเมฆบนท้องฟ้า เรียกว่า เมฆสึนามิ (tsunami cloud) เช่น เมฆสีรุ้ง (iridescent cloud) เมฆสเตรตัสที่เกิดจากภูเขา (orographic stratus cloud) เมฆอาร์คัส (arcus cloud) เมฆเคลวิน-เฮล์มโฮลตซ์ (Kelvin-Helmholtz cloud) เมฆแมมมาตัส (mammatus cloud)

แต่คนที่เคยเรียนวิชาเมฆาวิทยา (nephology) จะทราบดีว่า เมฆบางชนิดปรากฏให้เราเห็นบ่อย แต่สึนามิไม่ได้เกิดบ่อย และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าเมฆเหล่านี้เชื่อมโยงกับสึนามิ การนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยไปเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนานทีปีหนจึงไม่มีน้ำหนักทางวิทยาศาสตร์เท่าไรนัก ด้วยเหตุนี้ สึนามิจึงเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยังไม่สามารถทำนายการเกิดล่วงหน้าได้ แม้ปัจจุบันจะมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เข้ามาช่วยค้นหาคำตอบแล้วก็ตาม

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมพบว่าประเทศไทยยังมี ‘นักเดา’ ที่ชอบทำนายทายทักว่า อ่าวไทยจะเกิดสึนามิ ทำให้ประชาชนบางส่วนหวาดกลัว การท่องเที่ยวซบเซา และชาวบ้านสูญเสียรายได้ แต่ต้องบอกตามตรงว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบสาเหตุที่จะทำให้เกิดสึนามิในอ่าวไทยเลย!

ความเป็นไปได้ที่ใกล้เคียงที่สุดคือ สึนามิสามารถเกิดจากการขยับตัวของแผ่นธรณีบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ แล้วเคลื่อนที่มายังอ่าวไทย แต่ระดับน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยตื้นมาก สึนามิจึงมีขนาดเล็ก เคลื่อนที่ช้า และอาจสลายตัวไปจนหมดก่อนจะเดินทางมาถึงจุดหมาย โดยเราจะมีเวลาแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าประมาณ 9 ชั่วโมง

สำหรับอนาคตอันใกล้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) จะเข้ามามีบทบาทต่อการเกิดสึนามิ เช่น น้ำแข็งที่แทรกอยู่ภายในดินจะละลาย แล้วทำให้เกิดดินถล่มลงสู่ทะเล ธารน้ำแข็งจะปริแตกอย่างรวดเร็ว แล้วทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ พายุที่รุนแรงจะทำให้เกิดเมทีโอสึนามิบ่อยขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้ความรุนแรงของสึนามิเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ปัจจุบัน คำว่า ‘สึนามิ’ ไม่ได้ถูกจำกัดการเรียกเฉพาะกับคลื่นน้ำเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปเรียกการเคลื่อนที่ของสสารคราวละมากๆ เช่น สึนามิโคลน (mud tsunami) สึนามิน้ำแข็ง (ice tsunami) สึนามิลาวา (lava tsunami) ไปจนถึงสึนามิสุริยะ (solar tsunami) หรือ ‘คลื่นมอร์ตัน-แรมซีย์’ (Moreton-Ramsey wave) ซึ่งเป็นคลื่นกระแทกขนาดใหญ่ที่เกิดจากการปะทุของเปลวสุริยะ (solar flare) ผ่านบรรยากาศของดวงอาทิตย์

สึนามิสุริยะบนดวงอาทิตย์ | photo: National Aeronautics and Space Administration

ตอนนี้ ผู้อ่านคงจะเต็มอิ่มกับคำว่า ‘สึนามิ’ แล้วใช่ไหมครับ แต่วิชาสึนามิวิทยายังมีหัวข้อ รายละเอียด และข้อมูลอีกมากมายที่ผมไม่ได้นำมาเล่า ถ้าใครสนใจก็สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองได้ที่แหล่งอ้างอิง

เหตุการณ์หายนะเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ได้สร้างบาดแผลและความทรงจำอันเลวร้ายเอาไว้มากมาย แม้บางสิ่งจะสามารถเรียกคืนกลับมาได้ แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ถูกพรากไปตลอดกาล ซึ่งผมหวังว่าภาครัฐจะเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อป้องกันหรือบรรเทาภัยพิบัติให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใช่หรือไม่ว่า การที่ผู้คนจำนวนมากพยายามยื่นมือเข้ามาประคับประคองซึ่งกันและกันในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติร้ายแรง คือหลักฐานอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า ‘มนุษย์ยังรักกัน’

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า