หาก ‘เพศ’ คือจุดลึกสุดของการมีอยู่ (existence) เนื้อหาของวิชา ‘เพศศึกษา’ ที่กำหนดโดยรัฐคงเป็นกระจกสะท้อนเสรีภาพของพลเมืองในสังคมนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
หนึ่งในประเทศที่วิวัฒนาการเรื่องเพศศึกษาถือกำเนิดและดำเนินไปอย่างน่าสนใจคือประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกว่าจะกลายเป็นประเทศที่องค์ความรู้เรื่องเพศตกผลึกได้ถึงขั้นนั้น ฝรั่งเศสต้องผ่านการเรียกร้องและการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณค่าและอุดมการณ์หลายต่อหลายครั้งตลอดศตวรรษที่ 20
บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านย้อนดูวิวัฒนาการของ ‘เพศศึกษา’ ในประเทศฝรั่งเศสที่จะแสดงการเดินทางคู่ขนานขององค์ความรู้เรื่องเพศซึ่งผันแปรไปตามอุดมคติของสังคม จนอาจชวนให้เราเอะใจว่า ความล้าหลังในองค์ความรู้ทางเพศของหนังสือ ‘สุขศึกษา’ ภายใต้หลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการของไทย เกิดจากปัจจัยใดบ้างนอกเหนืออุปสรรคที่เห็นได้ชัดคือภาครัฐ
เจตนารมณ์แรกเริ่มของ ‘เพศศึกษา’ และจิตวิทยาว่าด้วยแรงขับทางเพศ
ก่อนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 การศึกษาเรื่องเพศในยุโรปเป็นเพียงการพูดถึงพัฒนาการทางกายภาพจากวัยเด็กสู่ผู้ใหญ่ เรื่องเพศยังไม่ได้มีมิติที่ซับซ้อนและเป็นวาระสำคัญในสังคมมนุษย์
คำว่า ‘เพศศึกษา’ ปรากฏเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสเมื่อปี 1914 โดยมี ‘กลุ่มแพทย์’ ที่มุ่งเน้นเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ‘นักบวช’ ผู้ต่อต้านเรื่องการคุมกำเนิด และกลุ่ม ‘นักสตรีนิยม’ ผู้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
เรื่องเพศได้กลายมาเป็นวาระที่ยิ่งใหญ่เมื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ได้นำพามนุษยชาติไปรู้จักกับพื้นที่ในจิตใจส่วนลึกอันซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งถูกครอบงำโดยแรงขับทางเพศที่ฝังตัวอยู่อย่างเงียบๆ และจะปรากฏตัวขึ้นมาบ้างในความฝัน หลุดออกมาในคำพูด หรือบางครั้งผ่านการกระทำโดยเราอาจไม่รู้ตัว
ฟรอยด์เสนอว่า การทำความเข้าใจแรงขับทางเพศในจิตของมนุษย์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคม การขาดความเข้าใจและขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการแรงขับทางเพศนั้นอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตของเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ จนอาจนำมาสู่ความ ‘ผิดปกติ’ หรือเข้าขั้น ‘วิปริต’ ได้ เพศของพลเมืองและสมดุลของรัฐจึงผูกโยงเชื่อมต่อกันอย่างแนบแน่น การศึกษาเรื่องเพศอย่างเปิดเผยจึงถือเป็นการเสริมสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการในทุกๆ ด้าน แถมยังเป็นประโยชน์ต่อรัฐเองด้วย
จิตวิทยาหรือจิตวิเคราะห์ จึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับโลกตะวันตกที่เปิดประตูสู่การศึกษาเรื่องเพศอย่างเปิดเผยมากขึ้น และเห็นความสำคัญของเพศศึกษาในระดับพัฒนาการของรัฐ
ในปี 1948 ประเทศฝรั่งเศสมีนโยบายปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาทั้งระบบ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Plan Langevin-Wallon1 มีการนำหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา มองผิวเผินดูเป็นเรื่องก้าวหน้า แต่เนื้อหาและองค์ความรู้ทางเพศกลับย้อนไปยึดถือแนวทางปฏิบัติและความเชื่อแบบเดียวกับศาสนาคริสต์และคุณค่าทางสังคมแบบกระฎุมพี หลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะการพยายามชี้ให้เห็นโทษของการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง อันเป็นเหตุของความหมกมุ่นทางเพศและปัญหาเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
Mai 68 การปลดแอกทางเพศ (Libération Sexuelle) และความหมายใหม่ของการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
จนกระทั่งเหตุการณ์ Mai 68 หรือเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเชิงอุดมการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ของสังคมฝรั่งเศส
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสภายใต้การนำของประธานาธิบดีชาร์ลส เดอ โกล (Charles De Gaule) ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเพิกเฉยต่อปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการศึกษาไม่สอดรับกับความต้องการของภาคแรงงานและการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล มีการนัดหยุดงานและการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มนักศึกษา คณาจารย์ และภาคแรงงาน
นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สาเหตุที่ฝังรากลึกและสร้างแรงกดดันให้แก่สังคมฝรั่งเศสคือ กรอบศีลธรรมและจารีตที่สืบทอดมาจากมรดกตกค้างของคริสต์ศาสนาและค่านิยมแบบวิคตอเรียน แรงต้านจากประชาชนที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงนั้นเป็นเพียงปลายทางของการต่อสู้ แต่ก่อนหน้านั้นมีความพยายามบ่อนเซาะพลังของเผด็จการทางวัฒนธรรมในนามของศีลธรรม โดยไม่ได้เป็นไปในรูปแบบของการประท้วงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการขัดขืนต่ออำนาจในรูปแบบอื่นๆ และที่เห็นชัดเจนมากที่สุดคือ ศิลปะ
ศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ไม่ได้เป็นเพียงการนำเสนอภาพตัวเป็นคน หัวเป็นสัตว์ แต่เพียงเท่านั้น แต่นัยยะที่สำคัญคือการขบถต่อขนบทางการเมืองและศิลปะ เซอร์เรียลิสม์ยืนยันหลักการบนพื้นฐานของจิตวิทยา ซึ่งเชื่อว่าพลังขับเคลื่อนของปัจเจกบุคคลและสังคมล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดจากแรงขับทางเพศ สังคมอุดมคติจึงเป็นสังคมที่เรื่องเพศต้องไม่ถูกกดทับ และการพูดเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผยในสังคมถือเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นการยืนยันเสรีภาพของพลเมืองที่ปลดแอกจากคุณค่าทางสังคมแบบกระฎุมพี กระแสของของเซอร์เรียลิสม์จึงเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่นำสังคมฝรั่งเศสไปสู่เหตุการณ์ Mai 68
ในช่วงเดียวกัน การปลดแอกทางเพศ (Libération Sexuelle) เป็นอีกหนึ่งสายของการปฏิวัติเชิงอุดมการณ์ในโลกตะวันตก คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ปูทางสังคมฝรั่งเศสสู่เหตุการณ์ Mai 68 โดยหลักใหญ่ใจความมีพัฒนาการมาจากการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มเฟมินิสต์ในช่วงต้นศตวรรษ
เป็นผลกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามต่อเสรีภาพทางเพศและกรอบของศีลธรรมจรรยา ผนวกกับการค้นพบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์หลายประการ เช่น การคิดค้นนวัตกรรมถุงยางอนามัยจากน้ำยางพาราที่ทั้งทนทานและบางมากขึ้นในช่วงปี 1920 การคิดค้นห่วงอนามัยในปี 1928 การรักษาโรคซิฟิลิสสำเร็จในช่วงปี 1941 และการกำเนิดขึ้นของยาคุมกำเนิดในช่วงปี 1950
นวัตกรรมเหล่านี้ท้าทายต่อความเชื่อในเรื่องเพศแบบเดิมๆ และทำให้สำนึกเรื่องเพศในสังคมตะวันตกเปลี่ยนไป จากความวิตกกังวลต่อกิจกรรมทางเพศซึ่งอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ แถมยังถูกตีตราจากความเชื่อทางศาสนาและค่านิยมแบบกระฎุมพีทับถม กลับกลายเป็นความหฤหรรษ์ในชีวิตที่มนุษย์สามารถควบคุมได้และยังคงปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์
สำนึกทางเพศลักษณะนี้เองที่เป็นที่มาของนวัตกรรมการต่อต้านกรอบศีลธรรมทางเพศในเชิงปฏิบัติการทางสังคม เช่น การเกิดขึ้นของกระโปรงมินิสเกิร์ต (mini skirt) การแพร่กระจายของวัฒนธรรมบุปผาชน (Hippie) การยกเลิกกฎหมายห้ามใช้ยาคุมกำเนิด ภาพผู้หญิงเปลือยกายในภาพยนตร์ อัตราการเพิ่มขึ้นของการหย่าร้าง ความอ่อนแรงของค่านิยมการรักษาพรหมจรรย์จนถึงวันแต่งงานในหมู่หญิงสาว การพูดถึงเรื่องเพศอย่างเสรีมากขึ้นในสังคม สโลแกน ‘ร่วมรักไม่ร่วมรบ’ (Faites l’amour, pas la guerre) รวมถึงเหตุการณ์ Mai 68 อีกด้วย
สำนึกรู้เรื่องเพศ หลังการปลดแอกและการปฏิวัติเชิงอุดมการณ์
หลังจากผ่านการต่อสู้เชิงอุดมการณ์มาหลายปี สังคมฝรั่งเศสได้เดินทางสู่หมุดหมายใหม่ในเรื่องเพศวิถี การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช่ความผิดปกติอันเกิดจากความหมกมุ่น แต่หากเป็นกิจกรรมที่วัยรุ่นสามารถทำได้เพื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และช่วยลดความตึงเครียดอันเกิดจากความต้องการทางเพศ ตรงกันข้าม บุคคลที่ไม่ประกอบกิจนี้ต่างหากที่อาจมีความผิดปกติได้
เราอาจเรียกปี 1973 ได้ว่าเป็นปีแห่งรุ่งอรุณหลังจากเหตุการณ์ Mai 68 อย่างเป็นทางการ โจเซฟ ฟงตาเนท์ (Joseph Fontanet) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในช่วงนั้นให้ความสำคัญกับเพศศึกษาอย่างชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจากองค์ความรู้ทางกายภาพแล้ว ฟงตาเนท์ยังเสนอว่า เรื่องเพศวิถีเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่แต่ละคนพึงเลือกตามเงื่อนไขชีวิตของแต่ละบุคคล ขอเพียงการเลือกนั้นจะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ ทั้งต่อชีวิตของตัวเอง คนอื่น และสังคม อีกทั้งเขายังผลักดันให้โรงเรียนเป็นศูนย์กระจายองค์ความรู้เรื่องเพศให้แก่เด็กและเยาวชน เนื่องจากเรื่องเพศยังคงเป็นหัวข้อสนทนาที่ไม่เปิดกว้างมากนักในพื้นที่ครอบครัว
ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ ฐานความคิดของฟงตาเนท์ว่าด้วยเรื่อง ‘เสรีภาพ’ ‘การเลือก’ และ ‘ความรับผิดชอบ’ ล้วนแล้วแต่เป็นคำสำคัญที่ยึดโยงกับแนวความคิดเรื่องอัตถิภาวะ (Existentialism) เป็นกระแสของปรัชญาภายใต้การนำของ ฌอง-ปอล ซาร์ต (Jean-Paul Sartre) ซึ่งจุดขึ้นกลางศตวรรษที่ 20 โดยมีจุดประสงค์หลักคือการเชิดชูคุณค่าแบบมนุษยนิยมและต่อต้านอำนาจการครอบงำใดๆ ก็ตามที่นำไปสู่การสร้างเงื่อนไขในการมีอยู่ของชีวิตมนุษย์ ณ จุดนี้เราจึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้เรื่องเพศและอุดมคติทางสังคมที่ผูกติดกันอย่างแน่นแฟ้น
ในช่วงปี 1980 โรคเอดส์เป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักและเร่งด่วนในเนื้อหาของเพศศึกษา เนื่องจากการระบาดอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี องค์ความรู้เรื่องเพศศึกษาในช่วงเวลานี้ยังคงถูกตั้งคำถามถึงอุดมการณ์เบื้องหลังว่า ชุดความรู้นี้อยู่บนฐานคิดของการสร้างครอบครัวของคนรักต่างเพศแบบเดียว ละเลยการพูดถึงความรุนแรงทางเพศ ความไม่เสมอภาคทางเพศ เพศวิถีหลากหลาย และโรคเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งกว่าเรื่องต่างๆ นี้จะผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาเพศศึกษาในโรงเรียน ต้องรอถึงศตวรรษที่ 21
เพศศึกษาในศักราชใหม่และการเคลื่อนทัพของ ‘Le Mariage pour Tous’ กับจุดเปลี่ยนสู่ความก้าวหน้าที่เสรีภาพถูกตั้งคำถาม
ปี 2001 รัฐบาลฝรั่งเศสออกกฎหมายว่า ทุกโรงเรียนจะต้องมีการเรียนการสอนเพศศึกษา เนื้อหาที่เพิ่มเข้ามาคือ ความรุนแรงทางเพศ การป้องกันการเหยียดเพศ และการรักเพศเดียวกัน
แม้กระนั้นยังปรากฏอคติทางเพศบางประการในเนื้อหาวิชาเรียน เช่น การเรียนการสอนเกี่ยวกับเพศวิถีของคนรักต่างเพศสามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย แต่สำหรับเพศวิถีของคนรักเพศเดียวกันกลับถูกอธิบายว่าเป็นรสนิยมส่วนบุคคลซึ่งเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ยังคงไร้ซึ่งการพูดถึงมิติความสัมพันธ์ทางสังคมของคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงความพยายามจำกัดการพูดเรื่องเพศกับเด็กอายุในช่วงวัยประถมบนฐานความเข้าใจว่า เด็กอายุ 7-12 ปี เป็นช่วงวัยที่ไร้เดียงสา และการพูดถึงเรื่องเพศวิถีอาจเป็นการชี้นำทั้งในแง่ของวิถีปฏิบัติและรสนิยมได้
จนกระทั่งถึงช่วงเวลาของการเรียกร้องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ภายใต้แคมเปญ ‘Le Mariage pour Tous’ ที่อาจแปลแบบไทยๆ ได้ว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ได้รับชัยชนะ และข้อกฎหมายต่างๆ จากการเรียกร้องมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2013
ในช่วงนี้ กระแสการถกเถียงถึงองค์ความรู้เรื่องเพศเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาเพศศึกษา เช่น การอธิบายตำแหน่งของจุดที่ไวต่อความรู้สึกของร่างกาย (จุดเสียว) การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ทวารหนัก รสนิยมทางเพศแบบ BDSM การมีเพศสัมพันธ์ที่จำนวนผู้เข้าร่วมเกิน 2 คนขึ้นไป ฯลฯ
จนมีเสียงคัดค้านจากกลุ่ม ‘La Manif pour Tous’ (การประท้วงสำหรับทุกคน) ที่ตั้งขึ้นมาโดยใช้ชื่อล้อกับแคมเปญ Le Mariage pour Tous ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิทธิการรับเลี้ยงบุตรของคนรักเพศเดียวกัน และตั้งคำถามอย่างหนักถึงเนื้อหาวิชาเพศศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้น โดยอธิบายว่าเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาหมกมุ่นอยู่กับการพูดถึงแต่กิจกรรมทางเพศ โดยปราศจากการพูดถึงความรักและความสัมพันธ์ซึ่งควรจะเป็นหัวเรื่องใหญ่ของเพศศึกษา อีกทั้งสื่อการสอน รูปภาพ และวิดีโอ ล้วนแล้วแต่อนาจารเกินกว่าจะใช้เป็นสื่อสอนเยาวชน
แม้ว่าสังคมจะเดินทางมาสู่ความขัดแย้ง แต่ถือเป็นช่วงที่การถกเถียงเรื่องเพศคึกคักมากในสังคมฝรั่งเศส และปัจจุบันเนื้อหาในวิชาเพศศึกษาก็ยังเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งประเทศที่องค์ความรู้เรื่องเพศตกผลึก เป็นประเทศที่กล้ายืนยันว่าสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเกิดจากความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศของคนในสังคม
แตกต่างจากบ้านเราที่การผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของรัฐบาล มีข้อกังขาในเรื่องเจตนารมณ์ว่า ถึงที่สุดแล้วรัฐบาลให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชน หรือเป็นเพียงความพยายามลดแรงเสียดทานและช่วงชิงความน่าเชื่อถือทางการเมืองเท่านั้น ดังเช่นเหตุผลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ชี้แจงบนเวทีดีเบตกับนักเรียน ว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางเพศ เพราะเรากำลังจะมีกฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน โดยบ่ายเบี่ยงจากคำถามที่ว่า รัฐมนตรีจะจัดการอย่างไรกับกฎเกณฑ์การแต่งกายและทรงผมที่คำนึงจากเพศสรีระเท่านั้น
บทสรุป
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน องค์ความรู้เรื่องเพศศึกษาในสังคมฝรั่งเศสแปรเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จากการศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจเพศสัมพันธ์เพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ สู่การเรียนรู้กลไกทางร่างกายและความสุขที่เกิดได้จากกิจกรรมทางเพศ รวมถึงแง่มุมของความรับผิดชอบต่อตัวเอง ผู้อื่น และสังคม เช่น ความรุนแรง การเหยียดเพศ การรักเพศเดียวกัน และรสนิยมทางเพศแบบอื่นๆ
วิวัฒนาการเรื่องเพศศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ฐานขององค์ความรู้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีความถูกต้องตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามคุณค่าทางอุดมคติของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากความเมตตาของรัฐ แต่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนที่ลุกขึ้นมาทัดทานอำนาจที่อาจอยู่ในรูปแบบของกฎเกณฑ์หรือศีลธรรมอันดีที่กดทับเสรีภาพ และลดทอนความเป็นมนุษย์ของพลเมือง
เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เสียงเงียบต่อความรุนแรง การเพิกเฉยต่ออคติ และการสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของคนทุกรุ่นในอดีต ควรจะถูกนับรวมเป็นหนึ่งในสมการนี้ด้วย
การประท้วงของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่รวมตัวกันหน้ากระทรวงศึกษาธิการเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในสถานศึกษา การฉีกหนังสือสุขศึกษา หรือการท้าดีเบตกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีเหลือเกินสู่การเริ่มต้นการถกเถียงเรื่องเพศในหลักสูตรการเรียนการสอน
และนับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่ควรออกมาสนับสนุน ไม่ใช่เพื่อลบล้างความเพิกเฉยในอดีตเท่านั้น แต่ร่วมกันทำเพื่อสังคมที่เปิดกว้างและเคารพต่อความแตกต่างในวันข้างหน้า พอกันทีกับการที่จะมีใครสักคนถูกหัวเราะเยาะหรือรุมประณาม เพียงเพราะชีวิตที่เขาเลือกไม่สอดคล้องกับแบบเรียน
หากเราเชื่อตามหลักจิตวิทยาที่ว่า สาเหตุที่ลึกที่สุดของความยุ่งเหยิงวุ่นวายในสังคมเกิดจากแรงขับทางเพศที่ถูกกดทับ… มันคงถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่เรื่องเพศควรเป็นหนึ่งในวาระของขบวนการปลดแอก เพื่อสร้างสังคมในอุดมคติที่เราประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดความเป็นอยู่ของเรา โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างที่เคยเป็นมา
เชิงอรรถ
1 Plan Langevin-Wallon คือโครงการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลฝรั่งเศสในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจุดประสงค์หลักคือ สนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่พลเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐฟรี และจัดระบบรูปแบบการศึกษาโดยแบ่งออกเป็นสายสามัญและสายอาชีวะ
อ้างอิง
Cécile Guéret. (2017). “A quoi sert l’éducation sexuelle à l’école”.
Aurore Le Mat. (2014). “L’homosexualité, une « question difficile ». Distinction et hiérarchisation des sexualités dans l’éducation sexuelle en milieu scolaire”
Véronique Pourtrin. (2014). “L’évolution de l’éducation à la sexualité dans les établissements scolaires”.
Christophe Premat. (2009). “Émancipation ou aliénation sexuelle ? La révolution des mœurs en débat. Lecture de M. Brix, L’Amour libre, brève histoire d’une utopie”.
Alain Giami. (2007). “Une histoire de l’éducation sexuelle en France: une médicalisation progressive de la sexualité (1945-1980)”.