รักมิใช่ใคร่ จำยอมมิใช่ยินยอม

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh

 

ในสังคมที่พื้นความรู้แต่เดิมไม่เคยมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และมองความแตกต่างของคนตั้งแต่ระดับชนชั้น ภูมิภาค ไปจนถึงสภาวะทางร่างกายที่พิกลพิการ บนฐานคิดของการหมอบกราบ จึงไม่แปลกที่จะเกิดปรัมนิยายหรือละครทีวีที่วาดภาพผู้ชายแกร่งกล้า ทว่าข่มเหงและข่มขืนผู้หญิงได้อย่างไม่ปรานีเพียงเพื่อจบลงด้วยรักชนะทุกสิ่ง ขณะเดียวกันก็เหยียดหยันขบขันให้กับเพศทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะกะเทย เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ ให้รับบทตัวตลกในละคร

ภายใต้ภาพรวมๆ ของสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบอบปิตาธิปไตย’ หรือสภาวะพ่อเป็นใหญ่ นอกจากถ้อยคำบนกำแพงว่า (…) พ่อทุกสถาบันแล้ว ลึกลงไปในคำว่า ‘พ่อ’ มีทั้งการใช้กำลัง อำนาจ ไม่ว่าจะด้านวาจา หรือตำแหน่ง เพื่อกดข่มผู้ที่อยู่ในสถานะด้อยกว่าให้ยินยอม หากแต่ด้านที่อาจจะเรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดต่อประเด็นที่นำมาสู่หัวข้อของวงเสวนา ‘เซ็กส์แฟร์ๆ เพราะเราแคร์: ถึงเวลาสังคมไทยต้องเข้าใจ sexual consent’ คือ ด้านของคนที่เราแคร์นั่นเอง หลายต่อหลายครั้ง การคุกคามทางเพศจนนำไปสู่การข่มขืน มักเกิดจากคนใกล้ชิด ในนามของเพื่อน พี่ น้อง พ่อ หรือกระทั่งในนามของคนที่เรารักแทบทั้งสิ้น

คำถามสำคัญสุดต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ดูเหมือนชุดความรู้ต่างๆ จะได้รับการเผยแพร่และส่งต่อมากขึ้น แล้วเหตุใดจึงเกิด sexual consent เราไม่รู้ว่าอะไรบ้างคือการคุกคามทางเพศกระนั้นหรือ การอ้างความไม่รู้สามารถนำมาเป็นข้ออ้างได้ไหม กระทั่ง แล้วไงล่ะ…ยอมให้เขาเข้าห้องเอง

มันใช่จริงๆ น่ะหรือ?


ชายเป็นใหญ่ หรือใครกำหนด

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา ออกตัวแสดงความจำนงที่จะมาเข้าร่วมวงเสวนาตั้งแต่ได้รับทราบว่าจะมีการจัดเวทีนี้ขึ้น โดยกล่าวว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย และยังเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของเพศทางเลือก หรือแม้กระทั่งความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับตัวผู้ชายเอง จนนำไปสู่คำถามที่ว่า ในสังคมไทยใครเป็นคนนิยาม sexual consent

“ทำไมเป็นอย่างนั้น? เพราะในแง่การเมืองของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้ที่เป็นคนให้คำนิยามนั้นได้ต้องถือว่ามีอำนาจมาก ต้องมีอำนาจอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นการที่เราไปอยู่ในสถานการณ์ระดับปัจเจกบุคคล ใครเป็นคนนิยาม และถ้าอยู่ในสถานการณ์ระดับชุมชน ในสถานการณ์ที่ขึ้นโรงขึ้นศาล ใครเป็นคนนิยามเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น คนที่นิยามไม่มากก็น้อยก็คือ คนที่กำหนดกฎเกณฑ์เรื่อง sexual consent”

กฤตยากล่าวอีกว่า ในสังคมไทย แม้แต่การจัดรณรงค์ของ สสส. เอง ยังขาดการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเซ็กส์อย่างมีสุขภาวะ ซึ่งสุขภาวะทางเพศจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความรู้และอำนาจในการเรียกร้อง ในการเจรจา ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับมีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ต้องอยู่ภายใต้การเคารพซึ่งกันและกันในความมนุษย์ ไม่มีการเอาเปรียบ ไม่มีการใช้ความรุนแรง

“เพราะเซ็กส์ต้องมากับความยินยอมพร้อมใจ และต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนเสมอ”

Sexual Consent 101

“consent ที่ไม่มีการตกลง ไม่มีการอนุญาตจากอีกฝ่ายหนึ่ง มันคือการข่มขืน” บทเรียนบทที่หนึ่งเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจความหมายที่แท้ของคำว่า ‘ยินยอม’ ซึ่งกฤตยาตั้งชื่อบทเรียนว่า Sexual Consent 101 เพื่อบอกกล่าวให้คนทั่วไปรับรู้ว่า สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่อง sexual consent อย่างชนิดที่เรียกว่ารุนแรง ซึ่งมีฐานสืบเนื่องจากการขาดความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์

yes คือ yes ถ้าอีกฝ่ายไม่พูดหรือตอบอะไร อย่าได้นิยามแบบเข้าข้างตัวเองว่า “ได้/ใช่” อย่าสันนิษฐานว่าเขาจะ yes จากภาษากาย ต้องถามอีกฝ่ายเสมอว่า consent หรือไม่ และหาก no ก็คือ no

“อย่าคิดว่า sexual consent เป็นเรื่องยุ่งยาก หรือทำให้หมดอารมณ์ เพราะ sexual consent เป็นเรื่องสนุก แต่ไม่ใช่ต้องมานั่งถามว่าน้องอยาก xxx ไหม พี่กำลังอยาก อะไรแบบนี้ ไม่ใช่นะคะ จริงๆ แล้ว sexual consent ถ้าทุกคนเคลียร์กันให้ชัดเจน จะเป็นตัวเพิ่มความสนุกในการมีเซ็กส์ เพิ่มความสนุกทางเพศ เพราะเรารู้ว่าเราต้องการอะไร อย่างไร ด้วยวิธีแบบไหน ทางไหนด้วย เพราะฉะนั้น sexual consent จำเป็นเสมอ” คือคำกล่าวของเลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา

 

นิยาม ‘ข่มขืน’ หรือ ‘สมยอม’

เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศจนนำไปสู่การข่มขืน กฎหมายไทยมักมุ่งไปที่การตั้งคำถามต่อผู้ถูกกระทำว่า แต่งกายอย่างไร เชื้อเชิญให้เขาเข้าห้องเองหรือเปล่า มากกว่าจะมุ่งไปที่เรื่องการเคารพกัน และต่อประเด็นนี้ กฤตยายกตัวอย่างขั้นตอนการสืบสวนเหตุละเมิดทางเพศของอังกฤษที่จะนำไปสู่การนิยามว่า การกระทำใดที่เรียกว่า ‘ยินยอม’ หรือการกระทำใดที่เรียกว่า ‘ข่มขืน’ โดยมีหลักคิดสี่ข้อ ดังนี้

  1. ความสามารถที่จะทำให้เกิดความยินยอมพร้อมใจได้ (capability  to consent)
  2. เสรีภาพที่จะสามารถเลือกว่ายินยอมหรือไม่ยินยอม (freedom to consent)
  3. ขั้นตอนในการให้ความยินยอมพร้อมใจ (steps taken to obtain consent)
  4. มีเหตุผลเพียงพอที่เชื่อได้ว่ามีการให้ความยินยอมพร้อมใจ (reasonable  belief in consent)

ในขณะที่สังคมไทยมักต้องข้อสงสัยว่า คนที่ถูกละเมิดไปทำอะไร เขาจึงมาละเมิด คำถามมักจะเป็นไปทางนั้น แต่ตำรวจอังกฤษจะสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่า รู้ได้อย่างไรว่าผู้ถูกละเมิดให้ความยินยอมตั้งแต่ต้น และยินยอมตลอดการมีเซ็กส์ ไม่ใช่แค่ช่วงใดช่วงหนึ่ง

“ประเด็นที่สอง ผู้ละเมิดมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงคนนี้เพื่อจะแสวงหาประโยชน์ในช่วงที่ผู้ถูกละเมิดเปราะบางมากที่สุดหรือไม่ นี่คือกระบวนการสืบสวนของอังกฤษ ประเด็นที่สาม คือความสมเหตุสมผลที่เชื่อได้ว่ามีความยินยอม ผู้ต้องสงสัยละเลยสัญญาณจากผู้ถูกละเมิดว่าไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์หรือไม่ แม้เขาไม่ได้พูด และความยินยอมพร้อมใจในการมีเซ็กส์ คือ มีเซ็กส์แบบไหน”

 

คนข้ามเพศกับสภาวะไร้ตัวตน

กลุ่มบุคคลที่มักไม่ถูกพูดถึง กระทั่งไม่ให้ถูกให้ความสำคัญต่อประเด็น sexual consent คือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างๆ ที่เมื่อถูกละเมิด มักจะตามมาด้วยการเหยียดหยามและหมิ่นแคลนในเชิงขบขันยิ่งกว่ากลุ่มบุคคลเพศหลัก จนแทบเป็นกลุ่มชายขอบของชายขอบในสังคมที่ไม่เคยสนใจในเรื่องความเท่าเทียมอย่างประเทศไทย

“ถ้าจะพูดถึงเมืองสวรรค์ของ LGBT หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือประเทศไทย อย่าพูดนะคะ อายเขา ถ้าบอกว่าบ้านเราเป็นเมืองสวรรค์ของเกย์ กะเทย ตุ๊ด ขอบอกสวัสดีค่ะ เพราะมีข้อมูลมากมายที่บ่งบอกว่าไม่ใช่”

ในประเด็นนี้ ฐิติญานันท์ หนักป้อ จากมูลนิธิซิสเตอร์ ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ความเชื่อที่มักมองว่าเมืองไทยเป็นเมืองสวรรค์ของ LGBT นั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นเมืองที่ละเลยกลุ่มคนเหล่านี้มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มข้ามเพศที่ได้รับการแปลงแล้ว แต่คำนำหน้าชื่อยังคงระบุเป็น ‘นาย’ ‘นางสาว’ ส่งผลให้เกิดสภาพที่ไร้ตัวตนระหว่างสภาพทางเพศกับเพศสภาพ จนในที่สุดก็นำไปสู่ประเด็นความรุนแรงทางเพศได้โดยง่าย ด้วยความเชื่อผิดๆ ว่า กลุ่มคนที่แปลงเพศมาแล้วเหล่านี้ หรือในกลุ่มที่แต่งหญิง เพราะต้องการอยากมีเซ็กส์ทั้งสิ้น อีกทั้งยังนำไปสู่ความยุ่งยากในการฟ้องร้องที่ไม่มีกฎหมายรองรับต่อสภาวะที่ผู้ถูกละเมิดมองว่าตนเองเป็นหญิง แต่คำนำหน้าชื่อระบุเป็นชาย

sexual consent กลายเป็นเรื่องที่กลุ่มคนข้ามเพศถูกทำให้มองไม่เห็น อย่างรายการโทรทัศน์วาไรตี้ต่างๆ ก็มักทำให้เรามองเห็นว่า การจับเนื้อต้องตัว การสัมผัส การหอมแก้ม คนที่เป็นคนข้ามเพศ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องสนุกโปกฮา และเป็นของแปลก ด้วยอำนาจของสิ่งที่เกิดขึ้นในรายการ บางทีมันคอนโทรลไม่ได้ และทำให้เรามองไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น

“และภายใต้คำนำหน้า ‘นาย’ นั่นก็แสดงว่าคุณก็ยังเป็นผู้ชายไง ฉันถึงกล้าที่จะทำแบบนี้ แต่ถ้าคำนำหน้าเป็นผู้หญิงล่ะ คุณจะฉุกคิดขึ้นทันทีว่า อย่าเพิ่ง มีค่าสินไหมนะ ซึ่งกับผู้ชายด้วยกันยังไม่ทำ แต่พอเป็นกะเทยสวย เขาก็มองว่าฉันทำได้ และน้องเขาก็ยินยอม โดยที่พิธีกรเองไม่ได้รู้สึก สุดท้ายก็นำไปสู่ประเด็นที่ว่าการข่มขืนไม่ผิด เพราะถึงยังไงมันก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับผู้หญิง”

Thai Consent

การทำเนียน ทำเบลอ มองไม่เห็นประเด็นเรื่อง sexual consent ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศไม่ว่าหญิงหรือชาย ไปจนถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ นั่นเองที่ทำให้ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง มองว่า สังคมไทยยังขาดความเข้าใจกับคำพูดที่ว่า “ไม่ก็คือไม่” ทำให้นำไปสู่การก่อตั้งเพจ Thaiconsent ที่เผยแพร่เรื่องราวของการยินยอมและจำยอมในเรื่องเซ็กส์ จากหลากหลายประสบการณ์ของผู้ที่เข้ามาบอกเล่าให้สาธารณะรับรู้

วิภาพรรณอธิบายหลักของการ consent ไว้สี่ขั้นตอน เริ่มต้นจากการ 1) กอด จูบ 2) การสัมผัสอวัยวะสงวน เช่น หน้าอก 3) การเล้าโลมเพื่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ และสุดท้ายขั้นตอนที่ 4) การมีเซ็กส์ โดยในแต่ละขั้นตอนล้วนมี consent อยู่ในนั้นแทบทั้งสิ้น

วิภาพรรณยังกล่าวอีกว่า คอนเซ็ปท์ของ Thaiconsent ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อจะบอกเล่าประสบการณ์ของคนที่มีเคยเซ็กส์และยังไม่เคยมีเซ็กส์ แต่เพื่อให้เข้าใจถึงอำนาจการเจรจาในประเด็น sexual consent อีกด้วย

Consent ของคนสองคน

ปัญหาของ sexual consent ในปัจจุบัน นอกจากมุ่งส่งเสริมให้สังคมเข้าใจในเรื่องการยินยอม/ไม่ยินยอมต่อความสัมพันธ์ทางเพศแล้ว วิภาพรรณยังมองสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การไม่มุ่งแต่จะหาตัวคนทำผิดมาประจานให้สะใจด้วยสายตาของไทยมุงที่ต้องการตัดสินว่า คนนั้นคนนี้เป็นคนทำ ซึ่งไม่เพียงแต่ไม่ช่วย ยังเป็นการทารุณซ้ำเติมต่อผู้ถูกละเมิดทางเพศ เพราะการจะเอาผิดผู้ละเมิดให้ถึงที่สุด ควรต้องย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า สิ่งที่กำลังทำนั้น เพื่อผู้ถูกละเมิดจริงๆ หรือแค่เพื่อความสะใจของตัวเอง

“ดังนั้น การที่เราจะหาทางออกร่วมกัน ต้องยอมรับกันก่อนว่า เราต่างก็เคยผิดพลาดมาด้วยกันทั้งสองคน แล้วเราก็ข้ามช็อตมาช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ไปตีว่าใครต้องรับผิดชอบ มันไม่มี ฉะนั้น คนที่เคยทำผิด และตอนนี้รู้แล้วว่าทำไม่ดี เราก็ต้องกลับมาช่วยกันเปลี่ยนแปลง”

ประเด็นสุดท้าย วิภาพรรณมองว่า อีกทางที่จะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดทางเพศได้ คือ บทบาทของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งอาจเป็นเพื่อน เป็นอาจารย์ เป็นพ่อแม่ แต่ประเด็นสำคัญคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจเรื่อง consent เราต้องสำรวจตัวเองว่าในแต่ละวัน เรามีท่าทีอย่างไรต่อมุขตลกเหยียดเพศ เรามีท่าทีอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิดกับคนที่เขามีสัมพันธ์ เราได้เอื้อให้คนที่เราห่วงใยพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะเกิดการละเมิดทางเพศหรือไม่

“มีงานศึกษาในอเมริกา พบว่า ครึ่งหนึ่งของการละเมิดสามารถป้องกันได้หมดเลย ถ้ามีคนนอกไปบอกให้หยุด หรือไปบอกให้ช่วยเหลือ”

นอกจากนี้ ผู้ที่ให้คำปรึกษาต้องทบทวนตัวเองว่ามีท่าทีขัดขวางผู้ถูกละเมิดไม่ให้ไปถึงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ อาจด้วยวาจาที่ทำให้ผู้ถูกละเมิดรู้สึกอับอาย หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล กระทั่งคำพูดที่บอกว่า ยอมให้เขาทำทำไมล่ะ? อีกด้วย

วิภาพรรณเชื่อว่า การส่งเสริมให้ผู้ถูกละเมิดเข้มแข็ง ไม่ใช่ขัดขวางหรือซ้ำเติม จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอน และไม่ว่าผู้ถูกละเมิดจะเลือกหรือไม่เลือกเดินเข้าหากระบวนการยุติธรรมเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ผู้ให้คำปรึกษาก็จะต้องไม่ซ้ำเติม ไม่ทำให้ผู้ถูกละเมิดต้องรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด และต้องไม่ใช้กระบวนการทางสังคมมากดดัน เช่น การโพสต์ประจานหาตัวผู้กระทำผิดบนเฟซบุ๊ค เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่อาจควบคุม

เราควบคุมฝูงชนไม่ได้ แต่เราควบคุมตัวเองได้ เราควบคุมอำนาจตัวเองในฐานะคนที่เขาไว้ใจให้ช่วยได้ เพราะเมื่อไหร่ที่เรื่องเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียแล้ว จะมีคนที่เข้ามาเชียร์ฝ่ายผู้เสียหาย จะมีคนเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรม พอมีความยุติธรรม จะมีคนเข้ามาตั้งคำถามต่อนิยามความยุติธรรม ตั้งคำถามเสร็จก็จะมีคนทะเลาะต่อนิยามความยุติธรรมว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะไม่มีคนรู้สักคนเลย เสร็จแล้วก็จะมีคนคิดว่าถ้าอยากให้ยุติธรรมต้องเอาเรื่องของทั้งสองฝ่ายมาลงให้เคลียร์ทั้งหมด ทั้งหมดนี้ ผลดีไม่ได้ไปลงที่เหยื่อหรือคู่กรณี แต่มันไปลงกับกองเชียร์ ว่าคนที่กูเชียร์ถูกหรือเปล่า?

ความเข้าใจเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเคารพ ไม่ว่าจะในฐานะเพื่อนของผู้ถูกละเมิดและผู้ละเมิด ความเข้าใจเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่สุด ที่เราต้องบอกตัวเองให้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายพูดคำว่า no ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยความเงียบ นั่นไม่ได้หมายความว่าเสียงที่ซ่อนลงไปนั้น คือคำว่า yes

ทว่าแท้ที่จริงแล้ว เสียงที่ซ่อนลงไป อาจเป็นเสียงร่ำไห้ ที่จะเป็นมากกว่าความไว้ใจที่ถูกทำลายลง แต่ยังเป็นความเชื่อใจในฐานะมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน


Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า