ชินเซ็นกุมิ: จากซามูไรที่ถูกลืมสู่ตำนานการ์ตูนและ Soft Power การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ในปัจจุบัน เกม การ์ตูน และการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องนำมาสู่ความนิยมในการท่องเที่ยวและการค้าขายสินค้า หรือแม้กระทั่งได้กลายมาเป็น Soft Power ให้ประเทศอื่นๆ รับเอาวัฒนธรรมและความนิยมในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังอาจได้รับความรู้แฝงในทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จากสื่อบันเทิงอีกด้วย 

หากพูดถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันมีความพิเศษเฉพาะตัวแล้ว ‘ซามูไร’ เห็นจะเป็นเรื่องราวของนักรบญี่ปุ่นที่น่าสนใจและถูกนำมาสร้างเป็นสื่อบันเทิงการ์ตูนมากมายหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์หรือการแต่งเรื่องราวขึ้นมาเอง ในส่วนของการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ ในวันนี้จะขอพูดถึง ‘กลุ่มชินเซ็นกุมิ’ กลุ่มซามูไรกลุ่มเล็กๆ ผู้โดดเด่นในเสื้อฮาโอริสีฟ้าตัดขอบด้วยสามเหลี่ยมสีขาว ที่หากไม่เคยได้ยินก็จะไม่รู้จักไปเลย แต่หากรู้จักก็จะพบว่าได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มและโด่งดังเป็นอย่างมากในวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งความน่าสนใจของซามูไรกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ที่วีรกรรมในประวัติศาสตร์ แต่กลับเป็นเรื่องราวกระบวนการนำมาสู่ Soft Power ด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการขายสินค้าที่น่าสนใจ ผ่านการเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่หลายคนยังมีภาพจำว่าไร้สาระ

ก่อนจะเป็นชินเซ็นกุมิ

ย้อนกลับไปในสมัยเอโดะเมื่อปี ค.ศ. 1633 โชกุนโตกุกาวะ อิเอมิตสึ ได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศที่เรียกว่า ซะโกกุ (鎖国) อันเนื่องมาจากปัญหาการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของประเทศตะวันตกซึ่งถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้โชกุนอิเอมิตสึตัดสินใจปิดประเทศญี่ปุ่น งดติดต่อค้าขายกับโลกภายนอก และเปิดให้ค้าขายเฉพาะกับชาวฮอลันดาและชาวจีน ณ เกาะเดจิมะ เมืองนางาซากิเพียงเท่านั้น

ประเทศญี่ปุ่นปิดประเทศเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1854 ในสมัยของโชกุนโตกุกาวะ อิเอโมจิ เมื่อพลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี (Matthew Calbraith Perry) แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้นำกองเรือดำ (The Black Ships) บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในสนธิสัญญาคานางาวะ การถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาเปิดประเทศในครั้งนี้เป็นเหตุให้รัฐบาลภายใต้โชกุนโตกุกาวะ อิเอโมจิ ถูกตั้งข้อครหาว่าอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพในการปกครองประเทศ เป็นผลให้เกิดกระแสการก่อกบฏของกลุ่มไดเมียวแว่นแคว้นต่างๆ และซามูไรจำนวนมากที่ต้องการล้มอำนาจรัฐบาลบาคุฟุ เพื่อคืนอำนาจที่แท้จริงให้แก่จักรพรรดิผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยเริ่มก่อตัวจากเกาะเดจิมะ เมืองนางาซากิ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่มีโอกาสได้สั่งสมความรู้และวิทยาการตะวันตกจากการค้าขายแลกเปลี่ยนร่วมกันมาตลอดกว่า 200 ปี

กลุ่มชินเซ็นกุมิ (新選組) ได้ก่อร่างขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้ในฐานะ ‘หน่วยตำรวจพิเศษ’ ของรัฐบาลโตกุกาวะซึ่งปลุกปั้นมาเพื่อตอบโต้การกบฏของแว่นแคว้นต่างๆ และอารักขาความปลอดภัยของโชกุนอิเอโมจิ โดยในช่วงต้นปี ค.ศ. 1863 ได้มีการรวบรวมสมาชิกกลุ่มจากบรรดาชาวบ้าน ชาวนา และโรนิน (ซามูไรไร้นาย) จากโรงฝึกดาบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) และเดินทางเข้ามายังเมืองเกียวโตอันเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น โดยได้เดินทางมาถึงเมืองหลวงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ในปีเดียวกัน จากนั้นจึงได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ กลุ่มโรชิกุมิ (浪士組) 

อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสทางการเมืองที่ระส่ำระส่ายความจริงก็ได้ถูกเปิดเผยว่าการรวมตัวของกลุ่มโรชิกุมิเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อรวมกำลังพลในการก่อกบฏเพียงเท่านั้น กลุ่มโรชิกุมิได้แตกลงในเวลาไม่นานจากการกบฏของหัวหน้ากลุ่มเอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือการโค่นล้มรัฐบาลโตกุกาวะเช่นเดียวกับกบฏแว่นแคว้นอื่นๆ แม้กลุ่มโรชิกุมิจะแตกลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มภารกิจใดๆ แต่กระนั้นก็ยังคงมีสมาชิกโรนินบางคนที่ต้องการแสวงหาชื่อเสียงในฐานะนักรบภายในเมืองเกียวโตต่อไป 

โรนินผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา 19 คน ได้ปักหลักอาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านมิบุ ก่อนจะได้สร้างผลงานขึ้นมาตามฝันที่หวังไว้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นหน่วยตำรวจพิเศษเพื่ออารักขาความปลอดภัยให้แก่โชกุนอิเอโมจิ จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ‘ชินเซ็นกุมิ’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘กลุ่มผู้ได้รับการคัดสรรใหม่’ อีกทั้งยังตอกย้ำเจตนารมณ์อันแน่วแน่ด้วยตราสัญลักษณ์ประจำกลุ่มอย่างตรามาโคโตะ (誠) อันหมายถึง ‘ความภักดี’

ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัด

จากชาวบ้าน ชาวนา และโรนินผู้ไร้นาย ได้รวมตัวกันและออกเดินทางสู่เมืองหลวงนครเกียวโตเพื่อแสวงหาชื่อเสียงและนายเหนือหัวจนกลายเป็นกลุ่มชินเซ็นกุมิ ภายใต้การนำของหัวหน้ากลุ่มอย่าง ‘คอนโด อิซามิ’ ผู้มีพื้นเพเป็นเพียงลูกชาวนาธรรมดาที่ได้รับการฝึกดาบจากสำนักดาบเล็กๆ ในเมืองเอโดะอย่างสำนักชิเอคัง เพียงเวลาไม่นานนักกลุ่มชินเซ็นกุมิก็ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่โจษจันไปทั่วเมืองเกียวโต โดยปรากฏผ่านหน้าประวัติศาสตร์ว่า ‘กรณีอิเคดายะ’ (Ikedaya Incident / 池田屋事件) 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1864 (หรือบางตำราได้กล่าวไว้เป็นวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1864) กลุ่มชินเซ็นกุมิกว่า 30 คน ได้รุกคืบเข้าไปในย่านเริงรมย์กลางเมืองเกียวโต เพื่อจับกุมกลุ่มต่อต้านจากแคว้นทางตอนใต้บริเวณใกล้เคียงเกาะเดจิมะ อันได้แก่ แคว้นโจชู โทสะ และฮิโงะ ประมาณ 20 คน ซึ่งกำลังชุมนุมวางแผนลักลอบเผาเมืองหลวงกันอยู่ในห้องหนึ่งบริเวณชั้นบนของโรงเตี๊ยมอิเคดายะ และอีกกว่า 10 คนในชั้นล่าง การตะลุมบอนกันในครั้งนี้ได้สังเวยชีวิตสมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิ 1 คน ฝ่ายต่อต้านอีก 8 คน และจับกุมได้ 23 คน 

illustration: Kentaro Kameda (https://www.artstation.com/artwork/YaDARK)

กรณีอิเคดายะนี้ทำให้กลุ่มชินเซ็นกุมิได้รับการเล่าขานในฐานะกลุ่มซามูไรตำรวจบ้าเลือด อันเนื่องมาจากการต่อสู้กันอย่างรุนแรงและโจ่งแจ้งใจกลางแหล่งเริงรมย์ ณ เมืองหลวงใหญ่ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กลุ่มโด่งดังเป็นอย่างมาก และทำให้สถานะทางการเมืองของกลุ่มชินเซ็นกุมิได้รับการเคารพและยอมรับมากขึ้นในฐานะตำรวจซามูไรผู้ปกป้องเมืองเกียวโต

ภาพจากเกม Hakuouki Shinsengumi Kitan

แต่กระนั้นแล้วความโด่งดังดังกล่าวก็หาใช่ที่จะยืนยงหรือทำให้กลุ่มชินเซ็นกุมิยั่งยืนได้ไม่ เมื่อสายลมเปลี่ยนทิศ การเมืองเปลี่ยนทาง จากผู้ภักดีก็กลายเป็นกบฏเสียเอง เมื่อไฟสงครามโบชินได้ปะทุขึ้นมาอย่างร้อนระอุในช่วงภายหลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิองค์ใหม่ อย่างจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือจักรพรรดิเมจิ ในปี ค.ศ. 1867 ซึ่งประกาศยึดอำนาจทั้งหมดคืนจากรัฐบาลทหารบาคุฟุ (ขณะนั้นโชกุนอิเอโมจิได้เสียชีวิตลงแล้ว และอยู่ในสมัยของโชกุนโยชิโนบุ) การประกาศคำสั่งในครั้งนี้ได้แปรเปลี่ยนสถานภาพของกลุ่มชินเซ็นกุมิจากผู้ภักดีให้กลายเป็นกบฏผู้ทรยศต่อประเทศไปตลอดกาล เกียรติยศหน้าที่ในการปกป้องเมืองหลวงและโชกุนในรัฐบาลทหารได้กลายเป็นการกบฏต่อระบอบการปกครองใหม่ของจักรพรรดิเมจิไปในที่สุด

ในปีถัดมา หรือก็คือ ค.ศ. 1868 สงครามโบชินซึ่งเป็นสงครามการเมืองระหว่างฝ่ายของโชกุนโยชิโนบุ และจักรพรรดิเมจิ ก็ได้ปะทุขึ้นมาอย่างเป็นทางการ กลุ่มชินเซ็นกุมิล้วนรู้ดีว่าบัดนี้พวกเขาได้กลายเป็นกบฏไปเสียแล้ว แม้จะมีสมาชิกจำนวนมากลาออกไปตั้งแต่ช่วงปีก่อนหน้า แต่สมาชิกที่ยังเหลืออยู่ก็ยังคงยึดมั่นในตราสัญลักษณ์ประจำกลุ่มที่สื่อถึงความภักดีต่อไปอย่างถึงที่สุด แม้กระทั่งในช่วงกลางปีซึ่งหัวหน้ากลุ่มอย่าง คอนโด อิซามิ ถูกจับกุมและประหารชีวิตด้วยการบั่นศีรษะ อันเป็นการประหารที่หยามเกียรติของซามูไรอย่างถึงที่สุด แต่กระนั้นแล้วรองหัวหน้ากลุ่มอย่าง ฮิจิคาตะ โทชิโซ ก็ยังคงนำทัพชินเซ็นกุมิร่วมกับกองกำลังของโชกุนโตกุกาวะ โยชิโนบุ หลบหนีไปก่อตั้งสาธารณรัฐเอโสะ (บริเวณฮอกไกโดในปัจจุบัน) ก่อนจะพ่ายแพ้และเสียชีวิตลงที่นั่นในปี ค.ศ. 1869 ถือเป็นอันสิ้นสุดประวัติศาสตร์อันแสนสั้นและน่าเศร้าของกลุ่มซามูไรผู้ภักดี ชินเซ็นกุมิ

จากหน้าประวัติศาสตร์สู่ตัวละคร 2D

จากเรื่องราวประวัติของกลุ่มชินเซ็นกุมิ จะเห็นได้ว่าเรื่องเล่าของกลุ่มซามูไรดังกล่าวมีเพียงน้อยนิดมากในหัวข้อของประวัติศาสตร์การปฏิรูปเมจิและสงครามโบชิน เรียกได้ว่าวีรกรรมของพวกเขาแทบจะถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์และไม่เป็นที่จดจำใดๆ ในช่วงการปฏิรูปเมจิและสงครามโบชิน หากแต่ในปัจจุบันตำนานของกลุ่มชินเซ็นกุมิกลับถูกนำมาเล่าขานและได้รับความนิยมอย่างสูงในการนำไปสร้างหรือดัดแปลงเป็นผลงานนวนิยาย ภาพยนตร์ และการ์ตูนหลายเรื่องในฐานะตัวเอกของเรื่อง ดังเช่นการ์ตูนเรื่องดังนักล้อเลียนจากค่าย JUMP อย่าง GINTAMA ที่แต่งโดยอาจารย์ฮิเดอากิ โซราจิ ในปี ค.ศ. 2003-2018 ซึ่งก็ได้มีตัวละครกลุ่มชินเซ็นกุมิเป็น Sub Character ที่โด่งดัง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม คอนโด อิซามิ ที่กลายเป็นกอริลลาในนาม อิซาโอะ หรือรองหัวหน้า ฮิจิคาตะ โทชิโซ ที่กลายเป็นชายหนุ่มผู้คลั่งไคล้การกินมายองเนสกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกในนาม โทชิโร่ และตามมาด้วยหัวหน้าหน่วยที่ 1 ผู้โด่งดังอย่างโอคิตะ โซจิ ที่กลายเป็นเจ้าชายซาดิสม์ในนาม โซโกะ การ์ตูนเรื่อง GINTAMA นี้ได้สร้างปรากฏการณ์ภาพจำของกลุ่มชินเซ็นกุมิในรูปแบบใหม่ และโด่งดังไม่ต่างกับวีรบุรุษสร้างชาติญี่ปุ่นคนอื่นๆ เช่น โอดะ โนบุนางะ จากสมัยเซ็นโกคุ

นอกจากนี้แล้วตัวละครในกลุ่มชินเซ็นกุมิยังไปปรากฏตัวในฐานะตัวการ์ตูนชายหนุ่มอิเคเม็ง (ประเภทของการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีหนุ่มหล่อตามสมัยนิยม) ในการ์ตูนเรื่อง บุปผาซามูไร ผ่าตำนานนักรบชินเซ็น (Hakuouki Shinsengumi Kitan) ซึ่งดัดแปลงจากวิดีโอเกมจีบหนุ่ม และฉายครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2010 ผ่าน TV Kanagawa ได้เล่าถึงเรื่องราวของนางเอกที่ชื่อ ยูคิมูระ จิซึรุ ซึ่งต้องมาพัวพันกับกลุ่มชินเซ็นกุมิระหว่างเดินทางเข้าเมืองเกียวโตเพื่อตามหาพ่อ เนื้อเรื่องเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิซึรุกับสมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิผ่านเหตุการณ์อิงประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีอิเคดายะ เรื่อยมาจนถึงการเสียชีวิตของ ฮิจิคาตะ โทชิโซ รองผู้บัญชาการของกลุ่มและสมาชิกกลุ่มคนสุดท้าย ณ สาธารณรัฐเอโสะ ในสงครามโบชิน เรียกได้ว่าเป็นภาพแทนประวัติศาสตร์ที่แทบจะตรงตามตำราประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น จะแตกต่างก็แต่การดัดแปลงให้กลุ่มชินเซ็นกุมิกลายเป็นหนุ่มหล่อ การเพิ่มนางเอกที่ไม่มีในประวัติศาสตร์จริง และการเพิ่มตัวร้ายกับพลังพิเศษภายในเรื่องเพียงเท่านั้น โดยภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มสาววัยรุ่นทั้งในและนอกญี่ปุ่น 

หากจะย้อนกลับไปตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มชินเซ็นกุมิเริ่มได้รับความนิยมและเข้ามาโลดแล่นในวงการสื่อบันเทิงญี่ปุ่นได้อย่างไรนั้น ในงานวิจัยเรื่อง ‘Becoming-Minor through Shinsengumi: A Sociology of Popular Culture As a Culture of the People’ ของ Rosa Lee ได้กล่าวเอาไว้ว่า ภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างงานประเภทวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) มากขึ้น เพื่อปลอบโยนสังคมซึ่งกำลังบอบช้ำด้วยพิษสงคราม กลุ่มชินเซ็นกุมิจึงกลายเป็นตัวละครที่น่าสนใจภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม 

จุดเปลี่ยนสำคัญของการทำให้ตัวละครชินเซ็นกุมิกลายมาเป็นตัวละครเด่นในวัฒนธรรมสมัยนิยมเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1962 เมื่อ ชิบะ เรียวทาโร่ นักเขียนนิยายแห่งชาติ ได้เริ่มสร้างซีรีส์นิยายอิงประวัติศาสตร์ 2 เรื่องที่มีชินเซ็นกุมิเป็นตัวละครหลัก นั่นก็คือ The Bloody Chronicles of Shinsengumi (1964) และ The Blazing Sword (1972) โดยในเรื่อง The Blazing Sword ได้ยกย่องกลุ่มชินเซ็นกุมิและ ฮิจิคาตะ โทชิโซ รองผู้บัญชาการของกลุ่ม ในฐานะวีรบุรุษซึ่งต่อต้านวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) 

งานนิยายอิงประวัติศาสตร์ดังกล่าวได้สร้างกลุ่มผู้ชายธรรมดาๆ ให้กลายเป็นองค์กรซามูไรอันตรายที่ต่อสู้กับสังคมและตายด้วยน้ำมือของกองทัพเมจิ งานเขียนดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพสังคมญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งผู้คนจำนวนมากกำลังสับสนและหงุดหงิดกับข้อจำกัดทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ ชิบะ เรียวทาโร่ สร้างคาแรกเตอร์ของ ฮิจิคาตะ โทชิโซ และกลุ่มชินเซ็นกุมิในฐานะของวีรบุรุษผู้ต่อต้านวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) และปกครองตนเองอย่างอนาธิปไตย ในช่วงเวลานั้นนิยายอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชินเซ็นกุมิได้รับความนิยมอย่างสูง และนำมาซึ่งความสนใจในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกลุ่มชินเซ็นกุมิในภายหลัง 

นอกจากจะเกิดปรากฏการณ์การสร้างตัวละคร Anti-Hero อย่างชินเซ็นกุมิในขณะนั้นแล้ว ยังเกิดกระบวนการสร้างงานประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ เมื่อกลุ่มแฟนคลับได้สร้างสรรค์จินตนาการเฉพาะตนขึ้นมา ดังเช่น โออุจิ มิโยโกะ (Ouchi Miyoko) แม่บ้านธรรมดาผู้ผันตัวเองให้กลายมาเป็นนักเขียนนิยาย ซึ่งได้สร้างนวนิยายโรแมนติกเสริมสร้างจินตนาการอันแสนหวานของเธอกับ โอคิตะ โซจิ หัวหน้าหน่วยที่ 1 แห่งกลุ่มชินเซ็นกุมิ จนกลายมาเป็นนวนิยายที่ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เกิดแฟนคลับมากมายซึ่งเสพย์ชินเซ็นกุมิอย่างกระตือรือร้้นและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อความสุขแสนหวาน ดังนั้นแล้วชินเซ็นกุมิจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งกระตุ้นให้กลุ่มบุคคลต่างหลงใหลในอุดมคติ ความฝัน และนิยาย ในช่วงเวลานั้น และพัฒนากลายมาเป็นตัวละครยอดฮิตในสื่อบันเทิงการ์ตูนญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันได้อย่างลื่นไหลและน่าสนใจ

สู่ Soft Power ทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

กลุ่มชินเซ็นกุมิภายใต้ภาพจำใหม่ ได้พัฒนาตัวตนจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ในรูปแบบเรื่องแต่งอิงประวัติศาสตร์มากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่แท้จริง นอกจากนี้ยังได้สร้างปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างน่าสนใจ ผ่านสินค้าการ์ตูนที่เกี่ยวข้องกับชินเซ็นกุมิและการท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในลักษณะของการ ‘แสวงบุญ’ (聖地巡礼) หรือก็คือการเดินทางตามรอยสถานที่ที่ปรากฏในการ์ตูน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนเกิดการดัดแปลงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวให้กลายเป็นสถานที่ซึ่งประดับประดาด้วยการ์ตูนชินเซ็นกุมิ เป็นสถานที่ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และความแฟนตาซีที่แต่งขึ้นผ่านอิทธิพลของการ์ตูน ดังเช่นสถานที่ดังต่อไปนี้

ร้านอาหาร / โรงเตี๊ยม อิเคดายะ (Ikedaya Hana no Mai Izakaya / Restaurant)

สถานที่สำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มชินเซ็นกุมิจนได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรก จากเหตุการณ์ที่เรียกว่ากรณีอิเคดายะ เหตุการณ์นี้สร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มชินเซ็นกุมิอย่างมากและกลายมาเป็นเรื่องราวสำคัญที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในการ์ตูนและเกมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชินเซ็นกุมิ 

ปัจจุบันสถานที่ตั้งของโรงเตี๊ยมอิเคดายะกลายมาเป็นร้านอาหารธรรมดาๆ ในย่านสะพานซันโจ เมืองเกียวโต ซึ่งยังอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวกึ่งพิพิธภัณฑ์ ความน่าสนใจคือ ภายในร้านนอกจากจะมีการประดับตกแต่งด้วยรูปภาพและธงของกลุ่มชินเซ็นกุมิแล้ว ยังมีการประดับโปสเตอร์การ์ตูนชินเซ็นกุมิมากมายและยังมีเมนูพิเศษที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในการ์ตูนอีกด้วย นับเป็นการโยงประวัติศาสตร์ให้เข้ากับสมัยนิยมและการ์ตูนได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

สะพานซันโจ (Sanjo Bridge)

หนึ่งในสะพานข้ามแม่น้ำคาโมะ กลางเมืองเกียวโต ซึ่งเคยมีเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างหน่วยที่ 10 ของฮาราดะ ซาโนะสุเกะ ครูหอกง้าวคนสำคัญของกลุ่มชินเซ็นกุมิ กับซามูไรฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบาคุฟุจากแคว้นโจชู เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1866 ในเหตุการณ์ครั้งนี้เอง ณ หัวสะพานได้ปรากฏร่องรอยดาบในการต่อสู้ครั้งนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ชวนให้นักท่องเที่ยวผู้แสวงบุญหลายคนแวะชมเพื่อถ่ายรูป ก่อนจะเดินทางไปลิ้มรสอาหารที่ร้านอิเคดายะ ซึ่งอยู่ถัดไปบนถนนเส้นเดียวกัน

วัดมิบุเดระ (Mibudera Temple)

วัดสำคัญซึ่งเป็นฐานบัญชาการหลักของกลุ่มชินเซ็นกุมิขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นสถานที่ซึ่งทำให้กลุ่มชินเซ็นกุมิได้รับฉายาอันโด่งดังอย่าง ‘หมาป่าแห่งมิบุ’ (หมายถึง การอาศัยอยู่ในหมู่บ้านมิบุและวัดมิบุเดระนั่นเอง) นอกจากนี้แล้วยังเป็นสถานที่สำคัญในฐานะสุสานของสมาชิกกลุ่มชินเซ็นกุมิหลายคน รวมไปถึง คอนโด อิซามิ หัวหน้ากลุ่มด้วย 

ปัจจุบันสุสานดังกล่าวถูกอนุรักษ์เอาไว้ในฐานะพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ โดยเปิดให้เข้าชมสุสานอันมีจุดเด่นเป็นรูปปั้นของ คอนโด อิซามิ และมีสินค้าเกี่ยวกับกลุ่มชินเซ็นกุมิมากมาย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการ์ตูน แต่สถานที่ดังกล่าวก็ยังเป็นที่นิยมในการแสวงบุญของกลุ่มแฟนการ์ตูนเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากการวาดรูปการ์ตูนลงบนป้ายขอพรของผู้เยี่ยมชมนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วตลอดเส้นทางรอบเมืองเกียวโต ตามร้านค้าละแวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าใหญ่ในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือแม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ของชาวบ้านตามตรอกซอกซอยต่างๆ ยังคงปรากฏสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชินเซ็นกุมิมากมาย ทั้งเกี่ยวข้องกับการ์ตูนและไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแฟ้มเอกสาร เสื้อ เข็มกลัด พวงกุญแจ กระเป๋า หรือแม้กระทั่งผ้าเช็ดตัว นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือทางธุรกิจ (collaboration) ในการขายสินค้าชินเซ็นกุมิเข้ากับการ์ตูนเรื่องอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชินเซ็นกุมิด้วยเช่นกัน โดยการนำตัวการ์ตูนเหล่านั้นมาแต่งกายด้วยเครื่องแบบชินเซ็นกุมิและวางขายสินค้าเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว ดังเช่นการ Collaboration ระหว่างการ์ตูนกีฬาชื่อดังเรื่อง Haikyuu! กับ Toei Kyoto Studio Park เมื่อวันที่ 11 กันยายน ถึง 7 พฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ออฟฟิเชียล https://www.toei-eigamura.com/haikyu/) 

Soft Power เช่นนี้ เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ Cool Japan ในปี ค.ศ. 2003 ของรัฐบาล โคอิซุมิ จุนอิจิโร่ และนโยบาย ‘เปิดแนวรบด้านวัฒนธรรม’ ในปี ค.ศ. 2006 โดย ทาโร อาโสะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเร่งให้มีการขยายการเติบโตของวัฒนธรรมสมัยนิยม ได้แก่ การ์ตูน ภาพยนตร์ และเกม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งขึ้น 

บทบาทการส่งเสริมการ์ตูนของทั้งภาครัฐและเอกชน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการสร้างบุคลากร ด้านการวิจัยและการจัดการองค์ความรู้ และด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงบทบาทด้านการประชาสัมพันธ์ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านการท่องเที่ยว หรือก็คือการประชาสัมพันธ์ที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นผ่านอิทธิพลของ Soft Power ที่สำคัญอย่างการ์ตูนญี่ปุ่น นำมาซึ่งความนิยมในสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับชินเซ็นกุมิที่ทุกคนสามารถไปเยี่ยมเยือนเพื่อเติมเต็มความฝันในการ์ตูนญี่ปุ่นได้อย่างมีความสุข และยังได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ อีกด้วย

Kyoto Shinsengumi Historical Site

การดึงเอาจุดเด่นทางประวัติศาสตร์มาผสานกับความคิดในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ และไม่อยู่ในกรอบจำกัด ทำให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถกอบโกยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวผ่านสื่อที่ถูกมองว่าไร้สาระอย่างการ์ตูนและเกมได้อย่างมหาศาล ดังเช่นในปี ค.ศ. 2002 มียอดการส่งออกการ์ตูนเป็นมูลค่าสูงถึง 520,000 ล้านเยน ซึ่งมากกว่าเหล็กที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่นถึง 4 เท่า และได้รับการผลักดันจากนโยบายของรัฐบาล ทำให้วงการอุตสาหกรรมการ์ตูนและเกมญี่ปุ่นสามารถพัฒนาต่อยอดอย่างก้าวกระโดด รวดเร็ว และส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าและการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล 

เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่มซามูไรชินเซ็นกุมิยังถือเป็นผลผลิตชั้นดีของการเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมผ่านการ์ตูนที่เราจะไม่มีทางได้เห็นการผสมผสานที่สร้างสรรค์แบบนี้จากประเทศไทยได้ในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

ในสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายเช่นในปัจจุบันซึ่งมีข่าวลือหนาหูว่าญี่ปุ่นจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าหากใครก็ตามลองเปิดใจดูการ์ตูนเชิงประวัติศาสตร์เช่นการ์ตูนเกี่ยวกับชินเซ็นกุมิ หรือเรื่องอื่นๆ ดูสักครั้ง รับรองว่าการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นจะทำให้อินไปกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ (unique) ของประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

อ้างอิง
  • กรกิจ ดิษฐาน. (2018). The Meiji Revolution ปฏิวัติเมจิ. กรุงเทพฯ: ยิปซี.
  • ชุติมา ธนูธรรมทัศน์. (2003). วัฒนธรรมญี่ปุ่นในการ์ตูน. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  • ยุพา คลังสุวรรณ. (2001). ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี : ภูมิหลังทางวัฒนธรรมของสังคมญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: มติชน
  • วาสนา ปานนวม. (2012). การส่งเสริมการ์ตูนของญี่ปุ่น: เครื่องมือเพิ่ม Soft Power และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ. วารสารญี่ปุ่นศึกษา, ปีที่ 29(1), 76-85. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/13739.
  • เอกสิทธิ์ หนุนภัคดี. (2018). “ญี่ปุ่นอย่างที่เป็น” ลำดับที่ 4 ปฏิวัติเมจิ 1868. กรุงเทพฯ: โครงการสันติไมตรีไทย-ญี่ปุน (Japan Watch) คณะรัฐศาสตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. Retrieved from http://japanwatch.today/th/publication/monographs-minibooks/yiipun-yaangthiiepnlamdabthii-4-ptiwatiemcchi-1868
  • Hillsborough, Romulus. (2013). Shinsengumi: The Shogun’s Last Samurai Corps. [E-book]. Tuttle Publishing. Retrieved from https://www.pdfdrive.com/shinsengumi-the-shoguns-last-samurai-corps-e158558730.html
  • Lee, Rosa. (2014). Becoming-Minor through Shinsengumi: A Sociology of Popular Culture As a Culture of the People. Retrieved from https://japaninstitute.anu.edu.au/sites/default/files/u6/14_Rosa_Lee-JSAA2013.pdf 
  • Lee, Rosa. (2011). Romanticising Shinsengumi in Contemporary Japan. In New Voices. Volume 4 (2011). P.168-187. http://dx.doi.org/10.21159/nv.04.08 Retrieved from https://newvoices.org.au/newvoices/media/JPF-New-Voices-Vol-4-08-shinsengumi_lee.pdf
  • Nishida, Masayuki. (2018). The Role of a Community-based Organization in Promoting Anime Contents Tourism in Takehara City, Hiroshima, Japan. วารสารญี่ปุ่นศึกษา, ปีที่ 35(1), 76-97. Retrieved from https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/165112.

ณัฐณิชา วาณิชย์วิรุฬห์
นักเรียนประวัติศาสตร์ผู้ผันตัวมาทำกราฟิก คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และการ์ตูนญี่ปุ่น อยากถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เข้าใจง่ายด้วยการร้อยเรียงสีสันแห่งอาร์ตเวิร์ค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า