เซีย จำปาทอง: จากขบวนการแรงงานสู่ถนนการเมืองเพื่อกรรมาชีพ

บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง WAY จอดรถหน้าสำนักงานใหญ่ของพรรคก้าวไกล ย่านบางกะปิ การเดินทางมาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อพูดคุยกับชายผู้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในพรรค และทุกคนต่างจับตามองเขาอย่างไม่กะพริบ

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง บรรยากาศดูยุ่งไปเสียหมด ผู้คนต่างเดินจ้ำด้วยความเร่งรีบ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคระดับไหน ทุกคนล้วนมีภารกิจที่ต้องทำ เราเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเดินไปตรงบริเวณแผนกต้อนรับ พร้อมแจ้งรายชื่อสมาชิกพรรคที่เรานัดหมายไว้ต่อลุงมะลิ พนักงานต้อนรับวัยเก๋า อดีตพนักงานขับรถของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งทุกคนที่ผ่านเข้ามาในตึกนี้ ไม่มีใครเล็ดรอดสายตาจากลุงมะลิไปได้

“เซีย จำปาทอง” เราแจ้งชื่อแก่ลุงมะลิอย่างหนักแน่น สั้นกระชับ ไม่ยืดเยื้อ

ลุงมะลิตอบกลับสั้นๆ เช่นกัน 

“ใครนะ?” 

เราแจ้งชื่ออีกครั้ง พร้อมน้ำเสียงที่ดังชัดเจนขึ้น “เซีย จำปาทอง” ลุงมะลิตอบกลับมาสั้นๆ พร้อมน้ำเสียงที่ดังชัดเจนเช่นกัน “ไม่รู้จัก”

“บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ไงลุง” ลุงมะลิทำหน้างงเล็กน้อย ก่อนจะนึกขึ้นได้ และพูดขึ้นมาว่า “อ่อ แรงงาน” 

ใช่ เซีย จำปาทอง คือ ‘แรงงาน’ ที่เคลื่อนไหวในนามสหภาพแรงงาน และต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานมานานกว่า 2 ทศวรรษ เคยร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในฐานะ ‘คนเสื้อแดง’ ผ่านเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อปี 2553 จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อนได้เข้าร่วมทำงานกับพรรคอนาคตใหม่ในฐานะปีกแรงงาน 

วันนี้ ชื่อของเซียปรากฏบนหน้าสื่อในนามผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 4 ของพรรคก้าวไกล ถ้าถามว่าสถานะดังกล่าวมีความสำคัญแค่ไหน ต้องตอบว่า ประการแรก ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 4 เคยเป็นของ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งปี 2562 ประการที่สอง หากคะแนนความนิยมและผลสำรวจจากสื่อสำนักต่างๆ คาดการณ์ได้แม่นยำ การมีชื่อเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ ของพรรคก้าวไกลเช่นนี้ น่าจะทำให้ขาข้างหนึ่งของเซียเหยียบย่างเข้าไปในรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

แต่นอกจากการต่อสู้เรื่องแรงงาน เรายังคงติดใจว่า ทำไมพรรคก้าวไกลจึงอยากส่งเขาเข้าไปในสภามากขนาดนี้ เช่นเดียวกับลุงมะลิ หากไม่ใช่ผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวด้านแรงงานอย่างใกล้ชิด ในมุมมองภายนอก เซีย จำปาทอง เป็นเพียงชายอายุ 50 ผู้ดูมีภาพลักษณ์ธรรมดาสามัญเสียนี่กระไร หากเทียบกับบัญชีรายชื่อลำดับเดียวกันของพรรคอื่น

แล้วเซีย จำปาทอง ก็ปรากฏตัวขึ้น แม้บุคลิกภาพแรกเห็นแทบจะไม่มีอะไรหลุดกรอบจากคำว่าคนธรรมดาสามัญ แต่ภายใต้ความธรรมดานั้นกลับดูเหมือนมีอะไรบางอย่างที่หนักแน่นมั่นคง 

ไม่มีรีรอ เมื่อจัดแจงหาที่นั่งกันได้เรียบร้อย WAY จึงเริ่มสนทนากับเขาด้วยคำถามง่ายๆ ที่หลายคนก็สงสัยว่า…

เซีย จำปาทอง เป็นใคร

ผมเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ เกิดเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ฐานะยากจน ผมไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงๆ ผมจบแค่ ป.6 ตอนหลังผมก็เรียนศูนย์การศึกษานอกระบบ (กศน.) จนได้วุฒิมัธยมปลาย เมื่อไม่ได้จบการศึกษาระดับสูง ผมก็ต้องทำงานรับจ้าง 

ผมทำงานรับจ้างครั้งแรกได้เงินเดือน 1,000 บาท ลงเรือประมงรับจ้างหาปลาตั้งแต่อายุ 15 ออกไปอยู่กลางทะเลประมาณ 15-30 วัน มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำทะเล ทำอย่างนั้นอยู่ 6 ปี เมื่อถึงปี 2536 พี่สาวก็ชวนมาทำงานในโรงงานทอผ้าที่จังหวัดสมุทรปราการ ผมจึงทำงานในอุตสาหกรรมทอผ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สภาพการทำงานในโรงงานช่วงนั้นเป็นอย่างไร

ตอนผมเข้าทำงานใหม่ๆ โรงงานปั่นด้ายทอผ้ามีการจ้างงานที่เข้มข้นมาก มีคนงานประมาณ 1,000 กว่าคน ผมเข้ามาในฐานะลูกจ้าง เป็นพนักงานทั่วไป เพราะไม่มีความรู้ ช่วงแรกได้ค่าจ้างวันละ 115 บาท ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำในสมัยนั้น 

บรรยากาศตอนนั้น ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เพราะเป็นช่วงหลังรัฐประหารปี 2534 ในโรงงาน ขบวนการสหภาพแรงงานก็กำลังเติบโต และขบวนการสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ถือว่ามีบทบาทมาก พี่ๆ ในโรงงานเขาก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

สหภาพฯ พาผมไปทำกิจกรรมที่ทำให้เห็นว่า ถ้าอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องเรียกร้อง เช่น สหภาพฯ ของเรายื่นเรียกร้องเพื่อขอปรับขึ้นโบนัสและเงินประจำปี หลังจากเจรจาก็ส่งผลให้มีการปรับเงินขึ้นจริงๆ ผมก็เริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานของสหภาพแรงงาน และเข้าใจความสำคัญของการรวมตัวกันของแรงงานนับแต่นั้น

การเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิประกันสังคม?

ใช่ เพราะสหภาพแรงงานที่ผมสังกัดอยู่ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคม ตอนที่ผมเข้ามาทำงาน มีการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมแล้ว และมีการบังคับใช้อยู่ 4 กรณี คือ เจ็บป่วย-อุบัติเหตุ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต 

เมื่อสหภาพแรงงานจัดกิจกรรมให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเรื่องแรงงาน แก่คนงานและสมาชิก ก็มีการคุยกันว่า ประกันสังคมน่าจะต้องบังคับครอบคลุมในอีก 3 กรณี คือ เราควรจะมีงบกรณีสงเคราะห์บุตรด้วย เวลาลูกพวกเราเกิดมาต้องได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนประกันสังคม เพื่อแบ่งเบาภาระของเรา กรณีต่อมา เวลาที่เราเกษียณอายุหรือชราภาพก็ควรจะได้รับเงินจากสำนักงานประกันสังคม และกรณีที่เราตกงาน ไม่มีงานทำ ก็ควรจะมีเงินช่วยเหลือไม่ให้เราเดือดร้อน

ตอนนั้นผมเองก็เพิ่งเริ่มรับรู้ว่า สิทธิต่างๆ ของแรงงานมีอะไรบ้าง และก็มีส่วนร่วมในการเรียกร้องครั้งนั้น พี่ๆ พาเราไปทำเนียบรัฐบาล พาไปกระทรวงแรงงาน บางวันไปตอนกลางวัน บางวันก็ไปตอนเย็นหลังเลิกงาน แต่เนื่องจากสมาชิกของสหภาพและคนงานในโรงงานมีจำนวนเยอะ เวลาไปทีก็ 1-2 คันรถบัส ทุกคนมีความตั้งใจที่จะผลักดันกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน 

ถ้าตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของสหภาพแรงงานไทย ทุกวันนี้ถือว่าแผ่วลงไปไหม

กระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมมันเปลี่ยนไป ทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งโลก โรงงานทั้งหลายที่เคยรุ่งเรืองปิดตัวลงไปตามๆ กัน แม้บางโรงงานจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น แต่บางโรงงานก็ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมเดิมได้ จึงปิดตัวลงไปเยอะมาก 

โรงงานผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ลดลง ตอนที่ผมเริ่มงานใหม่ๆ คนงานเยอะกว่าสมัยนี้ สมาชิกสหภาพแรงงานก็เยอะตามไปด้วย แต่ตอนนี้โรงงานใหม่ๆ ใช้เครื่องจักรเข้ามาทำการผลิตมากขึ้น คนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงน้อยลง นอกจากนี้ คนไม่ค่อยอยากเข้าทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ทำงานหนักและเข้มข้น มีทุกอย่างตั้งแต่เครื่องจักรที่เสียงดัง ฝุ่นละออง และความร้อน บางคนก็เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน 

ความท้าทายหรืออุปสรรคหลักในชีวิตของแรงงานคืออะไร

ความท้าทายคือจะทำงานยังไงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำยังไงเราจึงจะไม่ตกงาน แรงงานแบบพวกเราไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ต้องยอมรับว่า เราทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่รู้เลยว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ นายจ้างจะปิดกิจการตอนไหน เพื่อนผมในหลายโรงงานเจอนายจ้างปิดกิจการหนี แล้วลอยแพ เลิกจ้าง ผมก็ไปช่วยเขา พาเขาไปเรียกร้อง 

ส่วนปัญหาด้านอื่นๆ เช่น สิทธิในการรวมตัว การเจรจาต่อรอง รัฐก็ไม่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เราพยายามผลักดันเรื่องการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98 (อนุสัญญาที่ให้การรับรองสิทธิลูกจ้างในการจัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้าง) ถึงแม้จะมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ให้ลูกจ้างสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานได้ แต่พอเอาเข้าจริง กระบวนการในการจัดตั้งมันยากมาก เพราะหากนายจ้างรู้ว่า คนงานกำลังจะจัดตั้งสหภาพฯ เขาก็จะเลิกจ้าง เพราะนายจ้างส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสหภาพฯ ของคนงาน

สหภาพฯ บางแห่งที่จัดตั้งขึ้นสำเร็จ เพราะเขาแอบไปคุยกัน โดยไม่ให้ผู้บริหารหรือนายจ้างทราบ จึงจะสามารถจัดตั้งได้ ถ้ารัฐไม่มีนโยบายที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ นายจ้างก็ยิ่งไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของแรงงานในการรวมตัว เจรจาต่อรองกับนายจ้าง

ปัญหาเร่งด่วนที่สหภาพแรงงานต้องการขับเคลื่อน ทำไมจึงเน้นที่เรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก

เพราะค่าจ้างขั้นต่ำมันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้อยู่ที่ 350 บาทต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทุกวันนี้เราจะเจอวาทกรรมว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แล้วสินค้าอุปโภคบริโภคจะแพงขึ้น แต่ที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำแทบไม่ปรับขึ้นเลย แต่ราคาสินค้าปรับขึ้นตลอด 

มันเป็นวาทกรรมที่ทำให้คนเห็นว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งเลวร้าย ไม่ควรทำ ขณะที่รัฐบาลก็ปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยไม่มีการควบคุม อันนี้ก็เป็นโจทย์หลักที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง 

ทีนี้พอคนงานไม่มีเงินใช้สอย เศรษฐกิจก็โตไม่ได้ เพราะเมื่อได้เงินมา แรงงานก็นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไปส่งค่างวดรถ ไปซื้ออาหาร เงินก็จะหมุนเวียนในระบบ แต่พอเงินลดลง เวลาจะซื้ออะไรก็ต้องคิดมากขึ้น หากจะซื้อเสื้อผ้า ก็ต้องคิดว่าเราจะมีเงินใช้ถึงสิ้นเดือนไหม เพราะงั้นถ้าแรงงานหรือประชาชนมีเงินน้อยลง เศรษฐกิจมันก็จะชะลอตัวด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บางพรรคการเมืองชูนโยบายที่เน้นแก้ปัญหาปากท้องเพียงอย่างเดียว โดยไม่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ แต่มันเพียงพอไหมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน 

ผมคิดว่าไม่พอ เพราะปัญหาที่เราเห็นตั้งแต่เริ่มทำงานในสหภาพแรงงาน คือในการจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าพรรคการเมืองและรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย ก็ไม่มีโอกาสเลยที่จะปรับขึ้น พรรคการเมืองต้องมีส่วนร่วมในจุดนี้ด้วย จึงจะสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้นได้

ทีนี้ถ้าจะพูดถึงการแก้ปัญหาปากท้องอย่างเดียว โดยไม่พูดถึงโครงสร้าง มันก็จะวนเวียนอยู่แค่นั้น ชีวิตของแรงงานก็ไม่ดีขึ้น เพราะโครงสร้างของประเทศยังมีปัญหา เพราะงั้นต้องทำควบคู่กันไป ทั้งแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องแรงงาน และแก้ปัญหาโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ และหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน

ปัญหาโครงสร้างที่เซีย จำปาทอง เห็นว่าใหญ่โตมากๆ คือปัญหาใด 

ปัญหาที่เห็นได้ชัดตอนนี้ก็คือ รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ที่กำหนดว่าประเทศนี้จะอยู่กันอย่างไร จะจัดการกันอย่างไร จะมีรัฐบาลอย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหา หรือวางกรอบไว้โดยไม่เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ และมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ สุดท้ายเราก็จะวนอยู่ในกรอบเดิมๆ

แต่เนื่องจากโครงสร้างของเรามีปัญหา พอจะเขียนรัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเหมือนตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีคนขัดขวาง เมื่อเห็นว่าพรรคการเมืองเริ่มเข้มแข็ง สุดท้ายก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะกลุ่มทุนบางกลุ่ม เขาเสียประโยชน์ พอกลุ่มทุนเสียประโยชน์ ก็นำไปสู่การรัฐประหาร แล้วก็นำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่งตั้งคนไม่กี่คนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าใจปัญหาของคนในประเทศทั้งหมด เขาไม่เข้าใจปัญหาเรื่องแรงงานเหมือนพวกผม อาจพอรู้บ้าง แต่ไม่ได้เข้าใจรากลึกของปัญหา 

ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญและกลุ่มทุนผูกขาด จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่เราจะต้องพูดถึงและแก้ไข

จากการต่อสู้ผ่านสหภาพแรงงาน อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องหันมาต่อสู้ผ่านระบบพรรคการเมือง

ผมเริ่มต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ตอนอยู่สหภาพแรงงาน จะเปรียบเทียบสหภาพแรงงานกับประเทศก็ได้ เพราะการรวมตัวของคนงานในสหภาพฯ จะมีข้อบังคับในการอยู่ร่วมกันเหมือนรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขข้อบังคับเหล่านี้ก็ต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ ถ้าที่ประชุมใหญ่เห็นด้วยก็แก้ได้ แต่ถ้าที่ประชุมไม่เห็นด้วยก็แก้ไม่ได้

แต่เวลาจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้ขอมติจากพี่น้องประชาชนเลย ผมจึงเกิดจิตสำนึกว่า การที่ผมทำงานสหภาพแรงงาน เป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงาน หรือเป็นผู้แทนแรงงาน ผมก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันในระดับประเทศ พอคุณจะมาเป็นตัวแทนประชาชน คุณไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ยึดอำนาจเข้ามา

พอมีการชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้อง เช่น การชุมนุมในช่วงปี 2552-2553 มันเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งของคนในสังคม มีการเรียกร้องให้เลือกตั้ง เรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่ สุดท้ายก็ไม่มีการดำเนินการ แล้วคนเสื้อแดงก็ถูกสลายการชุมนุม ถ้าใช้คำของรัฐบาลก็คือถูกยึดคืนพื้นที่ 

ผมเป็นหนึ่งในคนเสื้อแดงอีกเป็นแสนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในตอนนั้น แต่ผมไม่ได้มีบทบาทอะไรนอกจากเป็นมวลชนที่เข้าร่วม และเชื่อว่าเราจะทำให้ขบวนการมีพลังมากขึ้น แล้วรัฐบาลจะยอมรับฟัง แต่สุดท้ายเขาก็เอาปืนมายิง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า 

หลังจากการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพพอสมควร ทำให้เราพูดคุยกันภายในเครือข่ายขบวนการแรงงานว่า อยากมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง เพราะเรารู้ว่า ปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิแรงงาน ปัญหาปากท้อง หรือปัญหาต่างๆ ของแรงงาน ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง 

พอถึงปี 2560 คนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาในโรงงาน หรือคนที่เข้าร่วมการชุมนุม ก็คุยกันว่า ตอนนี้มีกลุ่มที่เคยทำงานกับประเด็นเหล่านี้อยากจัดตั้งพรรคการเมือง อยากเข้าร่วมไหม เราก็เลยลองคุยกันดูว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ผมเห็นพี่น้องที่เคยร่วมต่อสู้กันมา และก็เชื่อมั่นว่าพวกเขายังยืนหยัดในอุดมการณ์ของตัวเอง หลังจากโดนสลายการชุมนุม ผมก็ยังติดตามความเคลื่อนไหวและรับรู้ข้อมูลต่างๆ ของพี่น้องอยู่เสมอ ผมก็เลยตัดสินใจทำงานร่วมกับพรรคอนาคตใหม่

การทำงานในสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

มีบางอย่างเหมือนกัน สหภาพแรงงานเป็นการรวมตัวของคนงาน มีการจัดเก็บค่าบำรุงมาเป็นเงินกองกลาง เพื่อใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้สหภาพแรงงานเข้มแข็ง เช่น จัดการศึกษาให้กับคนงาน พรรคการเมืองก็ไม่ต่างกัน ได้เงินค่าบำรุงจากสมาชิก ก็เอามาใช้บริหารจัดการคล้ายๆ กัน การแก้ไขปัญหาในองค์กรก็เหมือนกัน คือใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของเหล่าสมาชิก ต้องมีการพูดคุย ปรึกษาหารือกัน ว่า จะแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ยังไง 

หลักสำคัญของสหภาพแรงงานก็คือ คนที่สมัครเป็นคณะกรรมการต้องเลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะคล้ายกับพรรคการเมือง เพียงแต่พรรคการเมืองจะมองปัญหาภาพรวมของประเทศ แต่สหภาพแรงงานจะเน้นเฉพาะในส่วนของแรงงาน นี่เป็นจุดที่แตกต่างกัน

ในพรรคการเมืองก็มีกลุ่มที่ผลักดันประเด็นแตกต่างกัน เวลาที่ผลักดันประเด็นแรงงาน จำเป็นต้องต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ ไหม หรืออาจต้องยอมลดข้อเรียกร้องบางอย่างลงไหม

เป็นเรื่องปกติของคนส่วนใหญ่ที่มารวมกลุ่มกัน เมื่อมาจากคนละที่ เราก็ต้องคุยกันด้วยเหตุผลว่า ทำไมคุณเสนอเรื่องนี้ จะให้ผมไปคุยเรื่องประมง ผมก็ไม่รู้รายละเอียด ต้องให้เขาอธิบายเหตุผลให้ฟัง 

ขณะเดียวกันเวลาพวกผมเสนอเรื่องแรงงาน เกษตรกรก็อาจไม่เข้าใจ เราก็ต้องคุยกัน หากสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็จะใช้ระบบแบบนี้ เพื่อให้ทุกคนได้เสนอเหตุผลของแต่ละคน และสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่อยู่ในแวดวงของเรา

พรรคก้าวไกลเคยชูความเป็น ‘พรรคการเมืองสำหรับกรรมาชีพ’ นิยามเช่นนี้ต้องมีองค์ประกอบอย่างไร

นิยามของคำว่า ‘กรรมาชีพ’ หมายถึง คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัจจัยในการผลิต เช่น ที่ดิน เครื่องจักร โรงงาน หรือเงินทุน พูดอีกนัยคือ แรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่อยู่ในวัยแรงงานเกือบ 40 ล้านคน พรรคก้าวไกลพยายามที่จะพูดถึงคนเหล่านี้ ดึงคนเหล่านี้มาเป็นสมาชิก และดึงเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

ดังนั้น นิยามของพรรคการเมืองสำหรับกรรมาชีพ จึงเป็นพรรคที่ให้กรรมาชีพมีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น เพราะพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

นิยามของ ‘แรงงาน’ จึงไม่ได้หมายถึงคนงานในโรงงานแต่เพียงอย่างเดียว? 

ใช่ เพราะรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป ประเทศและสังคมพัฒนาไป เมื่อก่อนอยากจะซื้อของ เราต้องไปซื้อด้วยตัวเอง แต่พอเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เราสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตหรือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เมื่อรูปแบบงานเปลี่ยนไป แรงงานก็เปลี่ยนไปทำงานรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ 

เราจะสื่อสารอย่างไรให้นิยามของคำว่า ‘แรงงาน’ ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงคนงานในโรงงาน และจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล พนักงานออฟฟิศ หรืออาชีพอื่นๆ ตระหนักถึงเรื่องนี้

เราต้องคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีคนนำเรื่องนี้มาพูด แต่ช่วงหลังก็มีคนหยิบประเด็นนี้มาพูดถึงมากขึ้น เช่น คนขับเครื่องบินก็เป็นแรงงาน คนทำงานในกองถ่ายก็เป็นแรงงาน พนักงานธนาคารก็เป็นแรงงาน ผมคิดว่าตอนนี้คนในสังคมเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ และเปิดประเด็นพูดคุยกันมากขึ้นแล้ว

พรรคก้าวไกลมีนโยบายด้านแรงงานอย่างไร

นโยบายแรกก็คือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน และปรับขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีนโยบายลดชั่วโมงการทำงานให้เหลือไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาพักผ่อน มีเวลาออกกำลังกาย มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาทำกิจกรรมในสังคม และมีเวลาศึกษาหาความรู้เพื่อยกระดับตัวเอง

ทุกวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ เมื่อเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หากโรงงานไม่มี OT คนงานก็ไม่อยากอยู่ เขาก็จะไปหาโรงงานที่มี OT ทำ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน เราจึงเสนอว่าให้ลดชั่วโมงการทำงาน แต่ต้องไม่ลดรายได้ 

ต้องมีการปรับพนักงานรายวันเป็นพนักงานรายเดือน คือสภาพการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็นพนักงานรายวัน พนักงานรายเดือน และลูกจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งแรงงานแต่ละประเภทมีค่าจ้างและสวัสดิการไม่เหมือนกัน พนักงานรายเดือนได้รับค่าจ้างและสวัสดิการดีที่สุด ส่วนพนักงานรายวันจะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันทำงาน นั่นหมายความว่า วันหยุด คุณไม่มาทำงาน ก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง แล้วพนักงานเหมาค่าแรงบางโรงงานก็ไม่ได้รับการปรับเงินขึ้นประจำปีเหมือนกับพนักรายวันหรือรายเดือน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกัน บางทีอยู่ในไลน์ผลิตเดียวกันเลย แต่ได้ค่าจ้างและสวัสดิการต่างกัน เราจึงต้องผลักดันให้มีการปรับพนักงานรายวันเป็นพนักงานรายเดือน

นโยบายเรื่องสิทธิในการรวมตัว การเจรจาต่อรอง อันนี้เราคุยกันมานานแล้ว เราต้องทำให้อนุสัญญา ILO 87 และ 98 เกิดขึ้นจริง 

อีกเรื่องที่เราพยายามผลักดัน คือ สิทธิในการลาคลอด 180 วัน ก็พูดกันมานาน ยื่นข้อเสนอกันทุกปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจของโรงงานที่ทำให้มีรายได้น้อยและค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบัน ถึงแม้ลูกจ้างจะมีสิทธิลาคลอด 98 วัน แต่คนงานบางคนก็ลาคลอดแค่ 1-2 เดือน แล้วก็กลับเข้าทำงานเลย เพราะเขาต้องการเงินค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกและครอบครัว แต่สุขภาพขณะที่กลับมาทำงานของเขายังคงมีปัญหาและไม่แข็งแรงนัก แล้วก็อาจมีปัญหาในอนาคตเมื่อเขามีอายุมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่เราอยากเปลี่ยน ขอให้แรงงานมีสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็ม เขาจะได้มีโอกาสเลี้ยงดูลูก และขอให้สามีภรรยาสามารถแบ่งกันลาได้ เช่น ภรรยาหยุดมาแล้ว 90 วัน อยากให้สามีมาเปลี่ยนตัวสัก 10 วันก็ได้ แล้วภรรยาค่อยลาต่อก็ได้ 

นี่เป็นนโยบายด้านแรงงานของพรรคก้าวไกล เราหวังว่าถ้าเราได้เป็นรัฐบาล จะสามารถผลักดันแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ได้ทันที จะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

สิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานควรครอบคลุมถึงขั้นไหนบ้าง 

มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น นิ้วขาด สิทธิการรักษาพยาบาลส่วนนี้จะมองเห็นได้ชัด แต่จะมีอีกส่วนที่มองเห็นไม่ชัด เช่น โรคที่เกิดจากการทำงาน อย่างผมเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ในปี 2556 หมอวินิจฉัยว่าเกิดจากการทำงาน แต่บางคนก็เป็นคล้ายๆ กัน แต่หมอไม่ได้วินิจฉัยให้เป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน สิทธิการรักษาจึงอาจยังไม่ครอบคลุม

ดังนั้น จึงควรยกระดับสิทธิการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น คนงานจำนวนมากบ่นว่า เวลาไปโรงพยาบาลแล้วใช้สิทธิประกันสังคม จะได้ยาที่คุณภาพต่ำ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตลอด ถึงแม้จะมีสิทธิรับการรักษาจนหาย แต่การได้ยาคุณภาพต่ำ มันก็เหมือนกับเลี้ยงไข้ เทียบไม่ได้กับคนที่จ่ายเงินเองหรือใช้ประกันเอกชน แล้วได้ยาคุณภาพดีๆ 

อยากให้แรงงานทุกคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ม.33 หรือข้าราชการ และคนที่ใช้สิทธิบัตรทองมีมาตรฐานในการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม นโยบายของเราจึงพยายามทำให้แรงงานทุกคนเข้าสู่ระบบอย่างถ้วนหน้า เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลในมาตรฐานเดียวกัน 

มีนโยบายช่วยเหลือ ‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ ที่กำลังเผชิญปัญหาสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม และขาดสวัสดิการที่จำเป็นในชีวิตอย่างไร

เราจะดูแลให้พวกเขาได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนแรงงานประเภทอื่น ให้พวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะจริงๆ แล้วมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า พวกเขาเองก็มีนายจ้างที่คอยสั่งงาน ไม่ได้เป็นเพียงพาร์ทเนอร์

การทำงานด้านแรงงานของพรรคก้าวไกลครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีจำนวนมากในไทย และเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางในสังคมด้วยหรือไม่

ถ้ากฎหมายถูกบังคับใช้ แรงงานข้ามชาติจะต้องได้สิทธินั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันสังคมที่ต้องได้รับไม่ต่างจากแรงงานไทย กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เหมือนกัน

‘รัฐสวัสดิการ’ ที่แรงงานฝันถึง มีหน้าตาอย่างไร

เราอยากให้รัฐดูแลเราตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต มุมมองของเราที่คุยกันมาตั้งแต่ทำงานขบวนการแรงงาน ก่อนจะเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ เมื่อตั้งท้องและคลอดออกมา รัฐต้องดูแลเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยเรียน ก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือฟรี เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน รัฐก็ควรสร้างงานเพื่อรองรับ เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา โรงงานปิดตัว รัฐก็ต้องดูแลยามตกงาน และต้องส่งเสริมให้พวกเขาสามารถกลับไปทำงานได้

เมื่อเขาทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง และตอนทำงานก็เป็นพลเมืองที่จ่ายภาษีตลอด ทำให้เศรษฐกิจเติบโต รัฐก็ควรจะดูแล ไม่ทอดทิ้งพวกเขาในวัยชรา โดยการมีสวัสดิการให้กับเขาเป็นเงินบำนาญดูแลจนถึงวันเกษียณ 

นี่คือสิ่งที่เราพูดมาตลอดว่า รัฐต้องดูแลเราตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน

จะทำยังไงให้แรงงานต่างถิ่น กลับไปเป็นแรงงานในถิ่นที่อยู่ของตัวเองได้อย่างมั่นคง

ถ้าเราปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แล้วถ้ามีงานรองรับที่จังหวัดสุรินทร์ ผมก็อยากกลับไปทำ เพราะได้อยู่ใกล้ญาติพี่น้องและถิ่นฐานที่เคยชินกับการดำรงชีวิตตั้งแต่ในอดีต 

แต่ในเมื่อต่างจังหวัดไม่มีงานให้ผมทำ ผมจะเอาเงินที่ไหนมาดำรงชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัว ผมก็ต้องมากระจุกตัวอยู่ในเมือง เพื่อหารายได้เลี้ยงดูชีวิต 

ผมเชื่อว่า ทุกคนที่เป็นแรงงานต่างถิ่น ถ้ามีงานใกล้บ้าน เขาก็อยากทำงานใกล้บ้าน ความอบอุ่นกับการอยู่ในครอบครัวและชุมชนจะทำให้เรามีความสุข และเมื่อมีความสุข งานที่ทำก็จะมีคุณภาพมากขึ้น 

การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของแรงงานและประชาชนจำนวนมาก ทว่าสำหรับแรงงาน การเลือกตั้งกลับมีความยากลำบาก ทั้งการเดินทาง และต้นทุนที่แรงงานต้องแบกรับ จะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร

ขบวนการแรงงานก็พูดถึงเรื่องนี้มาหลายสิบปีแล้ว ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เราก็มีต้นทุนที่ต้องจ่ายด้วย เพราะส่วนใหญ่แรงงานก็เป็นคนที่อพยพจากต่างจังหวัดมาทำงานในเมือง จะเลือกตั้งแต่ละครั้งก็ต้องกลับไปต่างจังหวัด ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้า หลายคนก็บ่นว่า ไม่ทราบข้อมูลเลยว่าเขาลงทะเบียนตั้งแต่เมื่อไหร่ กกต. ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้น้อยมาก 

การเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีคนไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เยอะ เพราะต้องลางาน คุณอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อเขาจัดการเลือกตั้งวันอาทิตย์ ทำไมต้องลางาน ก็เพราะบางโรงงานเขาไม่ได้หยุดงานวันอาทิตย์ เขาอาจหยุดวันจันทร์ ถ้าเป็นไปได้ รัฐต้องประกาศให้วันเลือกตั้งเป็นวันหยุด แต่ถ้ารัฐประกาศขอความร่วมมือให้นายจ้างอนุญาตให้คนงานหยุดเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะมีนายจ้างไม่กี่รายที่ให้ความร่วมมือ แล้วนายจ้างบางรายอาจให้คุณลางานได้ แต่เขาก็จะไปตัดค่าจ้าง ไปตัดโบนัส หรือไปตัดเงินขึ้นประจำปีของคุณด้วยนะ

ผมอยู่จังหวัดสุรินทร์ เดินทางกลับวันเดียวไม่พอนะ อย่างน้อยต้อง 2-3 วัน แล้วคนที่อยู่ไกลกว่าผมล่ะต้องใช้เวลาและต้นทุนเท่าไร มันมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น 

เพราะฉะนั้นเราเลยเสนอว่า ไม่ว่าแรงงานจะทำงานอยู่ที่ไหน ขอให้เราได้ใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ที่เราทำงาน ข้อมูลที่บอกว่าแรงงานอยู่ตรงไหนบ้างก็มีอยู่แล้ว ขอข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมก็ได้ แต่เรื่องนี้ไม่เคยมีเสียงตอบรับจากฝ่ายที่มีอำนาจ ผมอยากให้รัฐอำนวยความสะดวกให้แรงงานสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

การอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคทำให้รู้สึกกดดันไหม 

มันเป็นภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพี่น้องแรงงาน ผมจะต้องผลักดันเรื่องที่พวกเขาเสนอให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าภายใต้เงื่อนไขแบบไหนก็จะทำให้เต็มที่ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลไหม ถ้าได้เป็นรัฐบาล การทำงานก็ง่ายขึ้น ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ก็อาจยากหน่อย แต่เราก็จะทำเต็มที่ในฐานะฝ่ายค้าน 

ขณะเดียวกันผมคิดว่า ทั้งพี่น้องแรงงานและพี่น้องประชาชนก็จะสนับสนุนเรา และช่วยผลักดันประเด็นต่างๆ ที่เราเสนอให้เกิดขึ้นจริงได้ เราหวังแบบนั้น 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ถูกเลือก และพรรคจัดให้อยู่ลำดับที่ 4 หลายคนก็ตั้งความหวังว่า ผมจะทำเรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ แต่ต้องเข้าใจว่า ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เป็นอยู่นี้ มันไม่ง่ายเลย กลไกต่างๆ ของรัฐ หรือองค์กรอิสระต่างๆ ก็ไม่ได้อิสระอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้การผลักดันประเด็นต่างๆ อาจไม่ง่ายแบบที่เราตั้งเป้าไว้ แต่ผมจะทำเต็มที่

ทราบมาก่อนล่วงหน้าไหมว่า พรรคจะจัดให้เราอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4

ไม่ทราบมาก่อน ทราบแต่เพียงว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับแรงงานมาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ และชวนแรงงานมาจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่แรก เขาให้สัดส่วนแรงงานในบัญชีรายชื่อเสมอ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของพรรค มีการทำความเข้าใจกันว่า อย่างน้อยๆ ถ้าพรรคได้รับเลือกตั้ง แม้จะมี ส.ส. จำนวนไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีฝั่งแรงงานเข้าไปทำงานด้วย 

ตอนที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ก็มีวรรณวิภา ไม้สน (บัญชีรายชื่อลำดับที่ 3 พรรคอนาคตใหม่) ที่เป็นแรงงานเหมือนกัน ถ้าถามว่า ตัวผมรู้ไหมว่าจะมาอยู่จุดนี้ ก็รู้แค่ว่าเรามีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกแรงงานมาทำงานพรรค มีกระบวนการตอบคำถาม คัดเลือกคน มีคณะกรรมการและเครือข่ายผู้ใช้แรงงานมาประชุมพิจารณารายละเอียดต่างๆ สนับสนุนข้อมูลต่างๆ และสุดท้ายก็ให้พรรคพิจารณา

เป้าหมายทางการเมืองสูงสุดของ เซีย จำปาทอง คืออะไร

เป้าหมายสูงสุดของผมคือ อยากผลักดันให้ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานและพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ครั้งนี้ผมในฐานะบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 อาจได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนครั้งหน้า แม้อาจไม่ได้เป็นว่าที่ผู้สมัครหรือไม่มีตำแหน่งอะไรในพรรค ผมก็ยังช่วยสนับสนุนและช่วยทำงานในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่ง เพื่อผลักดันให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศไทย และเพื่อผลักดันให้ประเทศเรามีประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคกัน ผมหวังแบบนั้น

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า