ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์: เรื่องและภาพ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกินของคนกัมพูชา ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นในเมืองพระสีหนุ เมืองที่รัฐบาลไล่รื้อบ้าน ยึดที่ดินทำกินชาวบ้านไปสัมปทานให้นายทุนจีนหวังสรรค์สร้างเมืองชายทะเลเงียบสงบให้กลายเป็นเมืองแห่งสีสันและคับคั่งด้วยธุรกิจการพนัน แต่คำสัญญาที่รัฐบาลบอกว่าเมื่อโครงการนี้สำเร็จคนกัมพูชาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้น – ไม่เป็นจริง เพราะคนจีนที่รัฐบาลเปิดรับเข้ามาในเมืองมีอภิสิทธิ์เหนือคนพื้นเมืองและแย่งงานคนท้องถิ่น
ร่มเงาของต้นไม้ในเขตร้อนชื้นเขียวชอุ่ม และทะเลอันเงียบสงบ ในเมืองพระสีหนุ ซึ่งรู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า ‘สีหนุวิลล์’ ประเทศกัมพูชา กลายเป็นเพียงภาพความทรงจำของ โสพล (นามสมมุติ) ชายผู้ย้ายมาอยู่ในเมืองนี้นานกว่า 24 ปี
“เมื่อราวปี 2539 ผมอายุ 12 ปี บ้านเรือนตอนนั้นสร้างด้วยไม้เกือบทั้งหมด ถนนในเมืองเป็นดินแดง มีต้นไม้ริมทางจำนวนมาก เมืองนี้จึงร่มเย็น เงียบสงบ” โสพลเล่าให้เราฟังในร้านอาหารริมชายหาดแห่งหนึ่ง
แม้พื้นเพครอบครัวของโสพลไม่ได้เป็นคนเมืองพระสีหนุโดยกำเนิด เพราะพวกเขาโยกย้ายมาจากจังหวัดกันดาร จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศใกล้กับกรุงพนมเปญ เพื่อหางานทำและปักหลักอยู่ที่นี่ แต่ความทรงจำในวัยเด็กของเขาก็เป็นเครื่องยืนยันว่า เมืองแห่งนี้เคยสวยงามและเงียบสงบสมกับคำร่ำลือของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
“สภาพเมืองตอนนั้นแตกต่างจากตอนนี้ที่ต้นไม้ถูกตัดเพื่อก่อสร้างตึก อากาศมีแต่มีฝุ่นจากการก่อสร้าง ขยะในเมืองเพิ่มขึ้น ภาพความสงบ ความร่มเย็นคงไม่มีวันได้เห็นอีกแล้ว เพราะที่นี่กลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุนจีนไปเสียแล้ว” โสพลกล่าว
‘เมืองสวรรค์’ สำหรับนักลงทุนและคนจีน
ปี 2551 รัฐบาลกัมพูชาประกาศให้พื้นที่ 3,300 ไร่ในเมืองพระสีหนุ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับรัฐบาลจีนในนามว่า ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจร่วมของรัฐบาล 2 ประเทศ’ (Bilateral Government Agreement) ภายใต้แผนการพัฒนา ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road – OBOR)’ ของทางการจีน
หลังจากนั้น รัฐบาลกัมพูชาจึงเริ่มให้สัมปทานที่ดินแก่บริษัทเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ซึ่งมีอิสระในการก่อสร้างตึกอาคาร อีกทั้งยังสามารถนำเข้าแรงงานจีนเข้ามาในพระสีหนุ ให้สิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าและส่งออกแก่นักธุรกิจจีนอีกด้วย
ตามแผนเดิม รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้เน้นด้านอุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอ แต่นักลงทุนจีนกลับเห็นช่องทางทำกำไรจากธุรกิจคาสิโน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้ธุรกิจคาสิโนสามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย
ปัจจุบัน คาดว่ามีคาสิโนมากถึง 62 แห่ง ร้อยละ 77 มีคนจีนเป็นเจ้าของกิจการ
ขณะที่มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์รวม 156 แห่ง คาราโอเกะ 41 แห่ง อาบอบนวด 46 แห่ง ร้านอาหาร 436 แห่ง เกือบทั้งหมดเป็นของนักธุรกิจชาวจีน จนทำให้เมืองพระสีหนุได้รับขนานนามว่า ‘มาเก๊าแห่งอาเซียน’
แม้จะผ่านมากว่า 1 ทศวรรษ เมืองพระสีหนุเปิดรับนักลงทุนชาวจีน แต่การพัฒนาเมืองยังคงไม่จบสิ้น
รถบรรทุก รถไถ รถบด เครื่องจักรกลก่อสร้าง ยังคงส่งเสียงแผดร้องจากทุกซอกมุมของเมือง การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า และประปา ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดพัก
ชายที่อดีตเคยทำอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ในเมือง ปัจจุบันกลายเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คาสิโนของคนจีนแห่งหนึ่งในเมืองพระสีหนุคนเดิม อธิบายความเปลี่ยนแปลงของเมืองพระสีหนุ ว่าคือการเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ”
ยึดที่ดินชุมชน ยกให้นายทุนจีน
ผลกระทบที่ตามมาภายหลังเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น จนคนท้องถิ่นมิอาจเอื้อมถึง
โสพลเล่าว่า ก่อนประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ราคาที่ดินในเมืองพระสีหนุอยู่ที่ประมาณตารางเมตรละ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,000-6,000 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า
นอกจากปัญหาราคาที่ดินสูงขึ้น เขาบอกอีกว่า ยังมีปัญหารัฐแย่งยึดที่ดินชาวเมืองไปปล่อยให้นักลงทุนจีนเช่าและซื้อ เพราะในเมืองนี้ที่ดินเป็นของรัฐบาล โดยมีผู้ดูแลคือผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้านอย่างเขามีสิทธิแค่อยู่อาศัย ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว
“ผู้ว่าราชการจังหวัด (พระสีหนุ) คนก่อนขอเวนคืนที่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ดินที่ชาวเมืองอาศัยอยู่นานหลายสิบปีไปขายให้บริษัทจีนทำกิจการ ทำให้คนกัมพูชาหลายร้อยคนไม่มีที่อยู่อาศัย” โสพลกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังยึดที่ดินของคนในพื้นที่ แล้วปล่อยขายหรือให้นักลงทุนจีนเช่า โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่ดิน ซึ่งให้สิทธิรัฐในการครอบครองและจัดการที่ดิน ทำให้คนที่อาศัยในชุมชนดั้งเดิมแห่งนี้มีสถานะเป็นเพียงผู้อยู่อาศัย ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย
ครอบครัวโสพลเป็น 1 ใน 300 ครัวเรือนในเมืองนี้ที่ถูกรัฐไล่ออกจากที่ดินและรื้อบ้าน เมื่อกลางปี 2562
“ที่ดินที่ครอบครัวผมซื้อแบบเปลี่ยนเจ้าของไม่ใช่ซื้อเป็นโฉนดเมื่อปี 2555 (2012) ความกว้าง 20 x 30 ตารางเมตร ในราคา 800 ดอลลาร์ (26,000 บาท) ถูกผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเป็นที่ดินใกล้แหล่งน้ำสะอาดห้ามอยู่อาศัย”
แต่ในความรู้สึกของเขา “มันเป็นแค่ข้ออ้างของรัฐที่จะรื้อบ้านผม เพราะบ้านข้างๆ ที่เป็นบ้านของข้าราชการก็ไม่ถูกทำลาย”
ในความเห็นของโสพล เรื่องนี้มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะบ้านหลังไหนในเขตเมืองนี้ที่ครอบครัวสนับสนุนพรรคฝ่ายรัฐบาลจะไม่ถูกรื้อทำลาย และที่สำคัญเขาบอกว่าในประเทศนี้ที่ดินทั้งหมดจะเป็นของรัฐตามกฎหมาย รัฐบาลมีสิทธิที่จะทวงคืนไปใช้ทำอะไรก็ได้หากต้องการ
สอดคล้องกับข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินของกัมพูชาที่รวบรวมและวิเคราะห์ (2561) โดย ภูริณัฐร์ โชติวรรณ นักวิชาการสิทธิที่ดินทำกินขององค์กรจับตาปัญหาที่ดินในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (Land Watch THAI) พบว่า ที่ดินที่นี่เคยตกเป็นของรัฐทั้งหมดตั้งแต่ประเทศกัมพูชาปกครองด้วยกษัตริย์ กษัตริย์จะมอบที่ดินให้ประชาชนเพื่อทำกินเท่านั้น ไม่ให้สิทธิครอบครองเป็นเจ้าของ เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาบริหารกัมพูชาช่วงทศวรรษ 2490 ที่ดินถูกแบ่งประเภทเป็นของกษัตริย์ตามจารีต และของเอกชน โดยเอกชนมีสิทธิที่จะประกอบกิจการหรือขายโฉนดได้
พอถึงยุคกัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง ช่วงปี 2518-2522 ที่ดินของกษัตริย์และเอกชนถูกเขมรแดงยึดมาเป็นของส่วนรวม เอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชนและกษัตริย์ถูกทำลายทิ้ง
หลังจากยุคเขมรแดงจบลง กัมพูชากลายเป็นประเทศที่ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ที่ดินในประเทศทั้งหมดตกเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิและอำนาจในการจัดสรรที่ดินเพื่ออะไรก็ได้
ปัจจุบันกฎหมายที่ดิน ฉบับแก้ไขปี พ.ศ. 2544 โดยเฉพาะที่ดินประเภทที่ 3 คือ ที่ดินเอกชนของรัฐ (State Private Property) เป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐนำที่ดินในประเทศไปขายและเปิดให้เอกชนเช่าทำธุรกิจได้
ในเรื่องนี้ สมพร (นามสมมุติ) นักพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องสิทธิที่ดินทำกินในประเทศกัมพูชาเห็นสอดคล้องกัน
หากชาวบ้านคนไหนสนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชาแล้ว เมื่อถูกเวนคืนที่ดิน ก็จะได้รับค่าชดเชย และได้รับการดูแลหลังออกจากที่ดิน ต่างกับชาวบ้านที่ไม่สนับสนุนพรรครัฐบาล พวกเขาถูกรัฐไล่รื้อบ้านและไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ
เมื่อโดนรัฐบาลไล่รื้อและยึดที่ดิน โสพลและเพื่อนบ้านกว่า 10 คน จึงรวมตัวกันเดินประท้วงเรียกร้องขอค่าชดเชยจากการสูญเสียที่ดิน พวกเขาเรียกค่าชดเชยประมาณ 15,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 480,000 บาท) เพื่อจะเอาไปหาซื้อที่อยู่ใหม่
การประท้วงครั้งนั้น จบลงที่เพื่อนบ้านของเขา 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม และจำคุก 1 ปี 6 เดือน จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
อพยพออกนอกเมือง วิถีชีวิตเปลี่ยน
เมื่อถูกรัฐไล่รื้อบ้านและยึดที่ดิน หลายครอบครัว รวมถึงครอบครัวของโสพล กลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องอพยพย้ายออกไปอาศัยอยู่ในแถบชานเมือง
“ผม พ่อแม่ ภรรยา และลูกอีก 2 คน ต้องไปขออาศัยที่บ้านของแม่ภรรยาในอีกตำบลหนึ่งของจังหวัดพระสีหนุ ส่วนเพื่อนบ้านคนอื่นที่ถูกไล่รื้อ ต้องอพยพข้ามจังหวัด บางคนกลับไปอยู่กับญาติพี่น้องที่ภูมิภาคอื่น บางครอบครัวตัดสินใจอยู่เมืองแห่งนี้ต่อ โดยอาศัยเช่าห้องพักราคาถูก” โสพลกล่าว
“ชาวเมืองดั้งเดิมเปลี่ยนอาชีพจากหาปลาหรือค้าขาย มาเป็นคนงานก่อสร้างตึกให้คนจีน บางคนไปทำงานบริการในโรงแรมและคาสิโนของคนจีน” โสพลกล่าว
เขาเองก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อความอยู่รอด นั่นคือ การละทิ้งอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะไม่มีเด็กๆ ให้สอน จนไม่มีรายได้ จึงหันไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คาสิโนของชาวจีน ที่มีเงินเดือนแน่นอนและมั่นคง
การถูกไล่รื้อออกจากบ้านเรือนของชาวกัมพูชายังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงลูกหลานของพวกเขาด้วย
“เมื่อไม่มีที่ดินทำกินและบ้าน ครอบครัวเหล่านั้นต้องทำงานหนัก เพื่อหาเงินไว้เช่าบ้านและซื้ออาหาร บางครอบครัวต้องให้ลูกหลานออกจากโรงเรียน มาช่วยทำงานหาเงิน โดยให้เข้าไปทำงานในคาสิโนอย่างผิดกฎหมาย เด็กผู้ชายทำความสะอาด หรือเป็นพนักงานต้อนรับ เด็กผู้หญิงจะทำหน้าที่แจกไพ่ ทำความสะอาด หรือเสิร์ฟกาแฟ” โสพลกล่าว
เขาบอกอีกว่า ตามกฎหมายของกัมพูชา นายจ้างห้ามจ้างงานเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ผู้ปกครองจะกรอกชื่อใบสมัครงานให้กับลูกหลานของตน โดยปลอมชื่อ และสวมใบแจ้งเกิดของผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี เพื่อให้ได้งานที่โรงแรมหรือคาสิโน
คนจีนมีอภิสิทธิ์เหนือคนกัมพูชา
“ถ้าปล่อยให้คนจีนมีจำนวนมากแบบนี้ คนเขมรลำบากแน่ คนจีนเข้ามาค้าขาย อันนั้นก็จีนขาย อันนี้ก็จีนขาย คนจีนขายของให้คนจีนกันเองในเมืองนี้” โสพลกล่าว
เขาเชื่อว่าในอนาคตเมืองแห่งนี้จะเป็นของคนจีน เพราะปัจจุบันธุรกิจบริการต่างๆ ภายในเมืองอย่างรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊ก ก็เป็นของคนจีน มิหน้ำซ้ำบริษัทยังรับสมัครคนขับรถที่เป็นคนจีนอีกด้วย
คนเขมรทุกวันนี้หากินไม่ได้ ธุรกิจจีนมันครบวงจร รัฐบาลเราก็ไม่ได้สนใจพี่น้องเขมรกันเอง ตอนนี้ชาวบ้านแทบไม่มีสิทธิ ไม่มีปากมีเสียงเรียกร้องอะไรในเมืองนี้เลย ถึงเราจะเรียกร้องอะไรจนแทบตาย รัฐบาลก็ไม่สนใจเรา
ในอีกด้านหนึ่ง มงคล (นามสมมุติ) ช่างเหล็กทำงานก่อสร้างตึกให้กับบริษัทจีนเล่าว่า คนเขมรแม้จะเป็นช่างฝีมือมีความสามารถและมีประสบการณ์ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นหัวหน้างาน เพราะหัวหน้าคุมงานคือคนจีนเป็นหลัก
คนเขมรอย่างพวกเราเป็นได้แค่แรงงานระดับล่าง อย่างกรรมกร แต่พวกวิศวกร นักเขียนแบบจะเป็นคนจีน
“อย่างบริษัทผม เขาขนคนจีน และเครื่องจักรก่อสร้างจากจีนเข้ามา ทำให้คนเขมรอย่างเราไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไร”
นอกจากการเป็นช่างเหล็กในระหว่างการทำงาน แต่ละวันเจ้านายจีนจะใช้ทำอะไรก็ได้ เขาต้องทำตาม
“บางวันกำลังทำงานอยู่ นายคนจีนสั่งยกเหล็ก เก็บขยะ ยกของ ผมก็ต้องทำ ต้องทำตามคำสั่งเขา” มงคลกล่าว
นอกจากนี้ เมืองพระสีหนุยังมีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยระยะหลัง เกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มมาเฟียชาวจีนประจำ มีข่าวคนจีนฆาตกรรมกันเอง ทั้งยังมีข่าวการจี้ปล้นโดยคนจีน
สำหรับโสพล กรณีที่รัฐบาลเปิดประเทศให้นักลงทุนจีนเข้ามาเพื่อให้ประเทศมีรายได้นั้น “เป็นสิ่งที่ดี” แต่อยากเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดอาชีพหรืองานที่คนจีนสามารถทำได้ ไม่ควรจะให้สิทธิคนจีนทำงานอะไรก็ได้ในเมืองนี้
“ผมอยากให้อาชีพขับแท็กซี่หรือว่าค้าขายขนาดเล็ก เป็นอาชีพของคนพื้นเมือง เพื่อให้คนในเมืองนี้มีงานทำ มีรายได้ สอง อยากให้รัฐบาลจัดหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยให้กับคนกัมพูชาที่ถูกไล่รื้อที่ดิน”
“โครงการพัฒนาที่ผ่านมา เหมือนจะให้ประโยชน์กับกลุ่มนักลงทุนจีน คนรวย และกลุ่มคนมีอำนาจในกัมพูชา มากกว่าคนกัมพูชาที่มีฐานะยากจน”
โสพลและครอบครัวมีแผนจะย้ายไปอยู่ที่เกาะรง เขาเพิ่งซื้อที่ดินที่นั่น อีก 5 ปีข้างหน้า เขาอาจจะสร้างบ้าน พาครอบครัวหนีความยากลำบากจากพระสีหนุ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในที่ที่เขาอาจจะมีโอกาสมากกว่าที่เป็นอยู่
หมายเหตุ: ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย