Singapore’s Strategy: ทัศนคติสากลของสิงคโปร์ ในโลกที่ไม่ได้มีเราเพียงลำพัง

สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPDD) ร่วมกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จัดงานเสวนาออนไลน์ ชุด ‘…’s Strategy: บุญเก่าบุญใหม่ของ… ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม’ ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในการพลิกโฉมประเทศของตน ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้

ครั้งนี้เป็นการเสวนาถึงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมี ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist แห่ง Sea Limited ร่วมเป็นวิทยากร

ยุทธศาสตร์การพัฒนาของสิงคโปร์: บุญเก่า

In a world where the big fish eat small fish and the small fish eat shrimps, Singapore must become a poisonous shrimp.

ประโยคข้างต้นเป็นของ ลี กวนยู รัฐบุรุษแห่งสิงคโปร์ แสดงให้เห็นความคิดของผู้นำที่วางตำแหน่งสิงคโปร์เข้ากับบริบทโลก พร้อมความตระหนักว่าประเทศตัวเองเป็นประเทศขนาดเล็ก

ดร.อาร์ม กล่าวถึงยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ก่อนจะยกตัวอย่างยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่สิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว และการบริหารจัดการพื้นที่ในยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง เพื่อให้เข้าใจหลักคิดเชิงยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์

พื้นบุญของสิงคโปร์

ยุทธศาสตร์พื้นฐานอันเป็นพื้นบุญของสิงคโปร์มี 3 ด้าน

  • การศึกษา มีการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาอาชีวะชั้นเลิศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่เริ่มต้น
  • สาธารณสุข สิงคโปร์สร้างสมดุลระหว่างรัฐสวัสดิการกับกลไกตลาด โดยมีโปรแกรม Medisave หักเงินเดือนเข้ากองทุนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล เป็นหลักประกันพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่อาศัยกลไกตลาด ทำให้คนยังคงมีแรงจูงใจที่จะทำงาน
  • ที่อยู่อาศัย สิงคโปร์พัฒนาที่อยู่อาศัยราคาถูกแต่คุณภาพดีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบโดยรัฐ เป็นหลักประกันที่สามารถรองรับประชากรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในสิงคโปร์

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

2 ข้อคำนึงสำคัญของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ คือ 1. ความอยู่รอดจากความเสี่ยงที่มีทรัพยากรจำกัด และ 2. บริบทภายนอกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงเกิดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจหลายฉบับนับจากอดีต

  • Strategic Economic Plan (1991) กล่าวถึงทรัพยากรพื้นฐาน ได้แก่ มนุษย์ และโครงสร้างอ่อน (Soft Infrastructure) เช่น กฎหมายที่ดี สถาบันต่างๆ ที่มีคุณภาพ วางแผนสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงไปหลายภาคส่วน พร้อมกับวางตัวชี้วัดในการแข่งขันเทียบกับบริบทโลก
  • Singapore Unlimited (1995) ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับนานาชาติ โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น การเงิน การสื่อสาร และเทคโนโลยี ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่น ยกระดับอุตสาหกรรมโดยใช้ประโยชน์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มย้ายไปลงทุนในประเทศอาเซียนเมื่อหมดข้อได้เปรียบเรื่องแรงงานโดยมีศูนย์กลางคือสิงคโปร์
  • Remaking Singapore (2001) ภายใต้บริบทโลกใหม่ภายหลังวิกฤติการเงินของเอเชียและการผงาดขึ้นของจีน สิงคโปร์เริ่มให้ความสำคัญกับชื่อเสียงในระดับโลก (Global Reputation) พัฒนาผู้ประกอบการ ปรับโครงสร้างเชิงสถาบันให้เอื้อกับผู้ประกอบการ เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการ

ยุทธศาสตร์เมือง

Concept Plan คือแผนระยะยาว 50 ปี (ปรับทุก 10 ปี) และ Master Plan แผนระยะกลาง 10-15 ปี (ปรับทุก 5 ปี) เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่และความเป็นเมืองที่ยั่งยืน ผ่านหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ การประกันหลักพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย มาตรวัดด้านคุณภาพชีวิต การกระจายความเจริญเพื่อไม่ให้มีพื้นที่ใดแออัด ขนส่งมวลชนสาธารณะ จิตวิญญาณความเป็นเมือง (City with Identity) ความสนุก (Play Options) และพื้นที่ทดลองโครงการพัฒนาเมืองที่อาจนำมาใช้ในอนาคต เช่น การบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังมีการมุ่งเน้นทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น การมุ่งเน้นอุตสาหกรรมหนักในตะวันตก เน้นภาคการบริการในภาคกลาง

ยุทธศาสตร์ดิจิตอลและเศรษฐกิจใหม่: บุญใหม่

ดร.สันติธาร อภิปรายภาพกว้างของยุทธศาสตร์ด้านดิจิตอลและเศรษฐกิจใหม่ว่ามีความหลากหลายพอสมควร แต่อยู่ภายใต้คำจำกัดความของ Smart Nation อย่างไรก็ตามความหมายของคำดังกล่าวมีการพูดถึงครั้งแรกเมื่อปี 2014 ซึ่งเปลี่ยนไปตามบริบทเช่นกัน

สิงคโปร์ต้องการปักธงสำคัญ 4 เรื่องในเวทีโลก

  1. การเป็นเมือง Start-up
  2. การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ระดับโลก ซึ่งได้เปรียบ เพราะมีบุญเก่าคือการเป็นศูนย์กลางสถาบันการเงินระดับโลกอยู่แล้ว
  3. นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ
  4. การทำให้ดิจิตอลเข้าสู่ทุกภาคส่วนในสังคม รวมไปถึงรัฐบาลดิจิตอล (Digital Government) ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ และมีแผนส่งเสริมให้คนเข้าถึงดิจิตอลได้โดยไม่ตกหล่นจากความเหลื่อมล้ำ

สิงคโปร์มีปรัชญาที่เป็นจุดร่วมสำคัญ คือ การผูกโยงตัวเองเข้ากับบริบทโลก การพัฒนาศักยภาพของคนให้พร้อมต่ออนาคต เปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมในการวางยุทธศาสตร์ และที่สำคัญคือมีพลวัต (dynamic) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของสิงคโปร์ คือ การเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับยุทธศาสตร์บางอย่างได้ เป็นเหตุผลให้ต้องผูกโยงตัวเองกับโลกมาตลอด คนสิงคโปร์แม้ทำงานอยู่ในระบบได้ดี แต่ความสร้างสรรค์หรือความยืดหยุ่นยังเป็นจุดอ่อน การที่คนเก่งกระจุกตัวอยู่ในภาครัฐ และการวางยุทธศาสตร์แบบรวมศูนย์โดยรัฐแบบที่ผ่านมาอาจไม่หลากหลาย โดยภาคประชาสังคมไม่มีบทบาทมากพอ เป็นข้อกังวลหนึ่งเช่นกัน

เมื่อพูดถึงสถานการณ์โควิด-19 ดร.สันติธาร มองว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มที่สำคัญหลายด้านต่อประเทศสิงคโปร์ คือ การเข้าสู่โลกดิจิตอล (Digitalization) ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ความผันผวนและความขัดแย้งในเวทีโลกทำให้สิงคโปร์ต้องเตรียมแผนรับมือ การหันมาใช้อุปกรณ์อัตโนมัติมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดกลุ่มคนเปราะบางเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างระบบรองรับและยกระดับทักษะให้กับคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ยุทธศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องมี แต่ความหมายของมันจะเปลี่ยนไป ต้องมีความยืดหยุ่นอยู่ในตัว มีการวางฉากทัศน์ (scenario) มีการวางกระบวนการอย่างหลากหลาย ต้องมีภาคเอกชนทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ภาควิชาการ ประชาสังคม เข้าไปร่วมในการทำยุทธศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วขั้นตอนการวางแผนสำคัญกว่าตัวแผนเสียอีก ต้องมาวางแผนร่วมกันเพื่อให้ร่วมกันคิดว่าในอนาคตจะมีฉากทัศน์กี่รูปแบบ

ทั้งนี้ 3 ข้อสำคัญที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จากยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ คือ

  1. การมีทัศนคติสากล (Global Mindset) เพื่อยกระดับให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
  2. การสร้างคนโดยการดึงคนเก่งเข้ามาในประเทศก่อน จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้และมีคนเก่งเพิ่มขึ้น
  3. บทบาทของรัฐบาลที่ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนมากขึ้น

ชมงานเสวนาย้อนหลัง ที่นี่

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า