Lemon Law ตัวช่วยเมื่อสินค้าชำรุด

Lemon-Law-3

 

จากสแลงภาษาอังกฤษ ‘Lemon’ หมายถึง สินค้าที่ชำรุดเสียหาย หรือมีข้อบกพร่อง ถ้าเป็นรถยนต์ ก็ต้องถือว่าเป็นรถใหม่ป้ายแดงที่เจ้าของเพิ่งซื้อมาไม่ถึงปี แต่ต้องเทียวพาไปเข้าอู่เพราะนู่นนี่มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น  Lemon Law ก็คือ กฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภคเมื่อได้รับสินค้าชำรุด หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น กฎหมายส่งคืนสินค้าชำรุด นั่นเอง

 

ในสหรัฐอเมริกา Lemon Law เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เน้นเฉพาะยานพาหนะต่างๆ เท่านั้น ซึ่งแต่ละรัฐก็มีข้อกำหนดและขอบเขตของ ‘ความชำรุดบกพร่อง’ และการเยียวยาแก้ไขให้กับผู้บริโภคต่างกันออกไป

 

ข้ามทวีปกลับมาดูใกล้ๆ บ้านเรากันบ้าง ทางสิงคโปร์ก็เพิ่งผ่านกฎหมาย Lemon Law ของตัวเองไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Lemon Law ของสิงคโปร์ ครอบคลุมและคุ้มครองตั้งแต่ยานพาหนะและสินค้าเกือบทุกประเภท ยกเว้นแต่เพียงการเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

 

 

Lemon-Law-2

 

Lemon Law ในสิงคโปร์

จากการผลักดันของสมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ (Consumers Association of Singapore: CASE) สิงคโปร์ก็ได้บังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคตัวนี้ (Consumer Protection [Fair Trading] Act: CPFTA) ไปเมื่อ 1 กันยายน 2012

 

“การบังคับใช้กฎหมายนี้จะช่วยให้สิงคโปร์ได้รับการยอมรับในระดับสากล สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวว่าสินค้าที่พวกเขาซื้อไปเป็นสินค้ามีคุณภาพ ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศอีกด้วย” Teo Ser Luck รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าว

 

นิยามของคำว่า ‘ชำรุดบกพร่อง’ สำหรับที่สิงคโปร์ จะยึดตามกฎหมายซื้อขายสินค้า (Sale of Goods Act) ที่ให้คำจำกัดความว่า เป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ หรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพที่แจ้งไว้บนฉลาก

 

ภายใน 6 เดือน หากผู้บริโภคพบความชำรุดของสินค้า ซึ่งเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนการซื้อขาย ก็สามารถแจ้งให้ผู้ขายทำการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่ได้ทันที

 

ในกรณีรถยนต์ใหม่ กฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าผู้ซื้อพบปัญหา อาทิ สตาร์ทไม่ติด ขับไปอยู่ๆ เครื่องดับ จนต้องส่งซ่อม 3 ครั้งด้วยปัญหาเดิมๆ ภายในครึ่งปี จะถือว่ารถคันนั้น เข้าข่าย ‘Lemon’ และมีสิทธิ์เรียกร้องให้ผู้ขายเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ได้

 

หากผู้ขายไม่ทำตามที่เรียกร้องเข้าไปในระยะเวลาที่สมควร ผู้บริโภคสามารถบอกให้ผู้ขายลดราคาสินค้านั้นๆ หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ผู้บริโภคก็ต้องขอคืนสินค้าแก่ผู้ขายและรับเงินคืน

 

สินค้ามือสองก็ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนี้เช่นกัน แต่ก็ต้องตรวจสอบจากฐานของสิ่งที่ผ่านการใช้งาน อายุและราคาสินค้านั้นๆ จะถูกพิจารณาร่วมกับจุดชำรุดบกพร่องที่สมเหตุสมผล

 

Lemon-Law-4

 

กฎหมายชำรุดในไทย

 

ในไทย เรามีกฎหมายลักษณะนี้บังคับใช้อยู่แล้ว นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 เรื่องความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในลักษณะซื้อขาย คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะไม่ค่อยได้ยินว่ามีกฎหมายแบบนี้อยู่ด้วย

 

มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุด บกพร่องมีอยู่

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การกำหนดขอบเขตความรับผิดของผู้ขายไม่ชัดเจน สิทธิของผู้ซื้อก็ยังคลุมเครือ การตัดสินขึ้นกับการตีความบทบัญญัติในแต่ละกรณีๆ ไป ยังไม่มีบรรทัดฐาน หรือมาตรฐานให้ยึดถือแต่อย่างใด อุปสรรคอีกข้อ คือขั้นตอนการตรวจสอบและพิสูจน์ความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่เป็นไปได้ยาก

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สมควรปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือการเพิ่มรายละเอียดในส่วนคุ้มครองและเยียวยาผู้บริโภค

 

นอกจากกฎหมายแพ่งที่ดูจะเป็นตัวช่วยที่ไม่ทันเหตุการณ์เท่าไหร่ เรายังเหลืออีกทางเลือกในอนาคต ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการต่อสู้เรียกร้องมายาวนานเกือบ 20 ปี

 

ได้เวลาเอาจริง?

 

จากความถี่ของการร้องเรียนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและความต้องการที่จะหาหน่วยงานหรือตัวช่วยเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรองรับ

 

มาตรา 61 สิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

 

เป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘มาตรา 61’ ในรัฐธรรมนูญ ที่ภาคประชาชนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมผลักดันมาตลอด 16 ปี

 

หลักการสำคัญของการก่อตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า เป็นองค์การของผู้บริโภค ที่ประกอบด้วยตัวแทนที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ เป็นอิสระจากกลุ่มทุน และเสนอให้บัญญัติการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้องค์กรอิสระสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน

 

หากองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถเกิดขึ้นได้จริง ผู้บริโภคจะมีตัวช่วยในการรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงฟ้องคดีแทน เรียกได้ว่าเป็น One Stop Sevice จบทุกเรื่องได้ในที่เดียว

 

 

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า