‘แรงงานข้ามชาติ’ หรือก็คือแรงงานที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย แต่อาศัยอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน อยู่ในร้านอาหารที่เราไปรับประทาน อยู่ในไซต์ก่อสร้างที่เราเดินผ่าน อยู่ในแทบทุกงานบริการที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตเรา
แม้อคติในสังคมไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่า ลาว กัมพูชา จะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกเขาคือกำลังสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย หลายเหตุการณ์ที่เราสูญเสียกำลังแรงงานข้ามชาติไป ล้วนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ไม่ได้โดยไม่มีพวกเขา
ทว่า แรงงานข้ามชาติในฐานะ ‘ผู้ประกันตน’ ที่จ่ายเงินสมทบแก่กองทุนประกันสังคม กลับถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ทั้งๆ ที่ตามหลักกฎหมายแล้วพวกเขามีสถานะเป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่างจากผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยเลยแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ ในหลายๆ ครั้ง แรงงานข้ามชาติกลับถูกลิดรอนสิทธิไปอย่างไม่เป็นธรรม เช่น แคมเปญ ‘ม.33 เรารักกัน’ ที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้แก่แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในช่วงโควิด-19 แต่กลับครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้จ่ายเงินสมทบด้วย
WAY เดินทางไปพบกับ ศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ผู้ทำงานและต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติมายาวนาน และเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ในนามของทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ เพื่อสนทนากับเขาว่าด้วยทุกมิติของแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่นิยามทางกฎหมาย สถานะ ตัวตน การเข้าถึงสิทธิของรัฐ และอนาคตของแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย
-1-
แรงงานข้ามชาติ 101
‘แรงงานข้ามชาติ’ เป็นใคร
โดยภาษากฎหมาย แรงงานข้ามชาติเราใช้คำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือบุคคลที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
อีกกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า คือคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ปัจจุบันเราไม่ค่อยใช้คำว่าต่างด้าวกับคนกลุ่มนี้แล้ว คือเป็นคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ซึ่งในแง่นิยามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองก็ยังระบุว่า คนพวกนี้เป็นคนต่างด้าวอยู่ แต่ในบัตรเขาจะระบุว่าเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือกำลังรอสัญชาติไทยอยู่
แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่ในสังคมไทยเป็นเวลานานมาก เอาเข้าจริงการผ่อนผันให้ผู้ที่หลบหนีเข้ามาทำงานในไทยมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2534-2535 ด้วยซ้ำ ยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทันทีที่เรา ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ เศรษฐกิจของเราก็พัฒนากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ภาคการผลิตของเราต้องการคนทำงาน ซึ่งคนไทยมีไม่พอ เราเริ่มต้นจากการอนุญาตให้คนที่หนีภัยการสู้รบที่อยู่ตามแนวชายแดนให้ทำงานตามแนวชายแดนก่อน
ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ มันเคยเป็นระบบมากกว่านี้ คือมีแนวคิดว่าเราไม่ควรปล่อยให้คนหลบหนีเข้ามาแล้วค่อยให้ใบอนุญาตทำงานในภายหลัง ก็เลยมียุทธศาสตร์การจัดการแรงงานต่างด้าวขึ้นมา 2 แนวทาง คือผ่อนผันให้คนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว หรือคนที่หนี้ภัยสงครามเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ก็ให้มารายงานตัว ขึ้นทะเบียน แล้วใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง อนุญาตให้เขาทำงานชั่วคราว
อีกแนวทางหนึ่ง เรามีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำเข้าแรงงานระหว่างพม่า ลาว กัมพูชา เราก็หวังว่าการตกลงนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติในช่วงต้นจะทดแทนคนที่หลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมายได้
นี่คือนโยบายของไทยตั้งแต่ปี 2544-2545 เป็นต้นมา จนกระทั่งก่อนโควิด-19 ไม่นาน ทั้งรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีความคิดว่าจะยอมผ่อนผันให้คนหลบหนีเข้ามาและมารายงานตัวอีกทีไม่ไหวแล้ว ดังนั้นต้องพยายามทำให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการ MOU คือเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ทุกคน จากนั้นก็เริ่มมีการปรับ และกำหนดเงื่อนไขในการผ่อนผัน โดยให้เวลาคุณในการเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง แล้วทำหนังสือเดินทาง เพื่อเดินทางกลับเข้ามาใหม่อีกรอบหนึ่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ MOU
แต่โดยข้อเท็จจริงตามตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง แรงงานที่ได้รับการผ่อนผันมีจำนวนมากกว่าแรงงานที่นำเข้ามาจาก MOU ค่าใช้จ่ายของทางการในกระบวนการ MOU อาจไม่แพงนัก แต่เมื่อบวกกับค่าบริการของบริษัทจัดหางาน ทั้งของประเทศต้นทางและในประเทศไทยเอง มันแพงกว่าการหลบหนีเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แม้คุณจะเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแล้วติดสินบนเจ้าหน้าที่ก็ยังถูกกว่าด้วยซ้ำ แล้วช่วง 2-3 ปีหลังที่มีสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่ามากขึ้น มีการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากทหารมากขึ้น MOU จึงไม่ใช่คำตอบของคนที่อยู่ต้นทางที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานเมืองไทย มันจะมีความอิหลักอิเหลื่ออยู่ว่า ทำไมเราจึงแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายได้ไม่หมดเสียที
ถามว่าเราจำเป็นไหมที่ต้องมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย กลุ่มใหญ่ๆ ตอนนี้ที่ต้องพึ่งพาก็มีภาคการประมง ภาคการเกษตร และภาคการผลิตที่ใช้แรงงานขนาดหนัก ซึ่งไม่มีคนไทยทำงาน ดังนั้น ก็ต้องพูดตรงๆ ว่าภาคการผลิตของไทยในหลายๆ ส่วนยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ยังใช้แรงงานคนอยู่ ก็เลยเป็นความจำเป็นของเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกัน คนไทยเองก็คิดว่าเป็นเหตุเป็นผลอยู่ว่าทำไมเราต้องทำงานในประเทศไทยได้วันละ 300-400 บาท แต่ไปอิสราเอลได้เดือนละ 40,000-50,000 บาท หรือหลายคนก็ไปเกาหลี ไปขายแรงงานในประเทศที่ได้เงินมากกว่า มันก็เป็นการเคลื่อนไหวของแรงงานบนโลกนี้ แรงงานไทยที่มีทักษะสูงก็ไปประเทศที่ได้ค่าแรงมากกว่า ภาคเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะต่ำกว่า ก็เอาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังจุดนี้
พลวัตแรงงานแบบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ผมไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวใช้เทคโนโลยีได้เมื่อไร แต่จนถึงวันนี้เรายังคงมีความจำเป็นที่ต้องมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอยู่
คำว่า ‘ต่างด้าว’ เป็นคำทางการที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่ทำไมในสังคมไทยคำคำนี้จึงดูมีอคติและชวนให้นึกถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าแรงงานจากประเทศอื่นๆ
คำนิยามต่างด้าว หมายถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทย โดยรวมคือ ฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ก็เป็นต่างด้าวหมด แล้วก็มีข้อกฎหมายที่ห้ามคนต่างด้าวเข้ามาทำงานบางอย่าง เงื่อนไขหนึ่งคือห้ามคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศเพื่อขายแรงงาน อันนี้กฎหมายคนเข้าเมืองห้ามไว้ แต่คุณสามารถขอ work permit (ใบอนุญาตทำงาน) เพื่อเข้ามาทำงานที่ใช้ทักษะอย่างอื่นได้ แต่ห้ามขายแรงงาน คือห้ามคนต่างชาติเข้ามาทำงานที่ไม่มีทักษะ
ภายหลังมีการผ่อนผันในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว โดยอนุญาตให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา เข้ามาทำงานประเภทขายแรงงานได้ จะมีการกำหนดประเภทงาน เช่น กรรมกร คนรับใช้ในบ้าน ภาคการเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะต้องมาเข้าช่องทางพิเศษ ก็เลยทำให้คนในสังคมไทยจำนวนมากเวลานึกถึงคนต่างด้าวจะหมายถึงคนจาก 3 ประเทศนี้ แต่พอเป็นคนจีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ที่มีทักษะฝีมือก็จะมีตำแหน่งแห่งหนที่ชัดเจน
ทำไมคนจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชา จึงได้รับการยกเว้นให้สามารถทำงานที่ไม่มีทักษะได้
เหตุผลง่ายๆ เพราะมีชายแดนติดกับไทย ข้อเท็จจริงก็คือมีการเดินทางไปมาระหว่างกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรืออยุธายาอยู่แล้ว จึงไม่สามารถจะแบ่งแยกได้อย่างชัดเจน ถึงเราจะพยายามปิดชายแดน แต่ก็รู้ว่าปิดไม่ได้ เราก็ต้องปิดตาข้างหนึ่ง
ถ้าเทียบตัวอย่างกรณีของไทยกับประเทศอื่นๆ แบบเป๊ะๆ น่าจะมีแค่แอฟริกาใต้ประเทศเดียวที่มีปัญหากับแอฟริกาตอนบน ซึ่งมีปัญหาเรื่องความรุนแรง เขาอาจยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน แต่ก็อนุญาตให้คนที่หนีภัยสงครามสามารถเข้ามาทำงานได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม
กรณีเวเนซุเอลามีปัญหาการเมืองมานาน แล้วก็เกิดการอพยพไหลเข้าสู่โคลอมเบีย เม็กซิโก อเมริกา สักปีก่อนโคลอมเบียก็อนุญาตให้ผู้หลบหนีเข้ามาจากเวเนซุเอลาอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและสามารถทำงานในโคลอมเบียได้ แต่ก็มีการขึ้นทะเบียนผ่อนผัน
นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องการเมือง มันอยู่ในชุดเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ กรณีของไทย เรามีประสบการณ์ในการจัดการเรื่องนี้บนพื้นฐานเรื่องความมั่นคงมาโดยตลอด ตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา เราจัดการกองพล 93 ของก๊กมินตั๋งที่หนีมาอยู่ตอนบนของประเทศเราในฐานะกองกำลังที่จะตั้งรับกับพรรคคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่กรณีทางภาคตะวันตกที่เราเคยมีนโยบายอย่างไม่เป็นทางการให้มีพื้นที่กันชนกองกำลังกะเหรี่ยง ซึ่งหมายความว่ากองกำลังกะเหรี่ยงอยู่ฝั่งโน้น แต่พี่น้องกะเหรี่ยงก็คงอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในฝั่งไทยอยู่ดี
คนต่างด้าวไม่ได้ถูกมองในมิติทางเศรษฐกิจโดยตรง จนกระทั่งปี 2535 มีการโต้แย้งกันมากขึ้น เรามองประเด็นความมั่นคงและการเมืองอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป ในแง่ความต้องการทางเศรษฐกิจของเราก็มีสูง ถ้าเราไม่ให้เขาเข้ามา หรือให้เขารอแจกข้าวอย่างเดียวก็ไม่ได้อีก มันก็เลยนำไปสู่การอนุญาตให้เขาทำงาน
ในอุดมคติ กรณีของยุโรปก่อนหน้าปี 2015 เกิดวิกฤตผู้อพยพจากแอฟริกาและเอเชียทะลักเข้ายุโรป มุมมองต่อคนต่างด้าวก็เปลี่ยนไป ก่อนหน้านี้ยุโรปเริ่มทำเขตเชงเก้น (วีซ่าเชงเก้น) ทำให้เกิดการอพยพของประชากรจากยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลี ไปทำงานในยุโรปเหนือ เยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ หรือแม้กระทั่งช่วงหลัง 1991 ยุโรปตะวันออกออกจากม่านเหล็ก ก็เลยเกิดการอพยพจากโปแลนด์ เชโกสโลวาเกีย เข้าสู่ยุโรปตะวันตก ใช้เวลา 3-5 ปี กว่าที่การอพยพจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะอยากเดินทางออกจากบ้านเกิด โดยทั่วไปถ้าคนไม่ลำบาก ไม่ได้แสวงหาหรืออยากมีชีวิตที่เกินเลย เขาก็อยากอยู่บ้านมากกว่า การผลักดันมันก็ต้องแรงจริงๆ ถึงทำให้คนเดินทางออกจากบ้านเกิดได้
ดังนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งคนจะไม่อพยพเคลื่อนย้ายแล้ว จนกว่าจะถึงจุดสมดุล อันนี้เป็นความท้าทายมาก กรณีของไทย เรายังไม่กล้าที่จะเปิดถึงขนาดให้ลองดูว่าเราจะถึงจุดสมดุลเมื่อไร จุดสมดุลในความหมายของผมคือเศรษฐกิจไทยรับได้ และความต้องการที่จะต้องเดินทางออกจากประเทศเพื่อนบ้านหมดไปแล้ว หรือมีน้อยมาก จนเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยมั่นใจหรือกล้าที่จะเดินไปสู่จุดนั้น เราอยู่ในจุดที่ว่าเราจะกั้น แล้วรอดูว่ามีการเล็ดลอดออกมาสู่ชายแดนของเรามากเท่าไร แล้วค่อยจัดการกับกลุ่มนี้เท่านั้น มันก็เลยเกิดภาวะคอร์รัปชัน รีดไถกันตลอดเวลา ต้นทุนของการจ้างงาน ทั้งนายจ้างทั้งแรงงาน สูงกว่าต้นทุนทางการเสียอีก
ภาพรวมสถานการณ์สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ถ้านับตั้งแต่ปี 2535 ขึ้นมา มันค่อยๆ ดีขึ้น ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงเอกสารประจำตัว พอมีบัตรประจำตัวก็หมายถึงคุณจะสามารถเข้าถึงสิทธิและบริการพื้นฐานอื่นๆ นอกจากการเป็นแรงงานได้ บุตรที่เกิดในไทยก็สามารถไปฝากคลอดได้ คลอดที่โรงพยาบาลได้ เด็กสามารถเข้าสู่โรงเรียนไทยได้ มันก็เลยเริ่มมีคนรุ่นที่ 2 ที่เป็นบุตรหลานของแรงงานที่อพยพเข้ามาในไทยแล้วก็จบปริญญาตรีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อก่อนเรื่องสุขภาพเราอาจไม่ค่อยพูดถึงมากนัก ให้เขาทำงานแล้วก็จบ แต่ก็ค่อยๆ มีการบังคับให้เขาต้องมาซื้อประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วงต้น ประเด็นที่ว่าแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยและคุณจะเป็นภาระให้กับการดูแลสุขภาพของคนไทยนั้น โดยหลักการคือแรงงานข้ามชาติทุกคน ถ้าจะเข้าสู่กลไกทางกฎหมาย เขาต้องซื้อประกันสุขภาพ ฉะนั้นเงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งก็จะนำไปใช้ดูแลสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นงบไว้ป้องกันของชุมชนในพื้นที่ แต่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็มีการปรับให้คนงานสามารถซื้อประกันสุขภาพจากเอกชนได้ ถามว่ามันยืดหยุ่นไหม ก็ยืดหยุ่น แต่เอกชนไม่มีงบในการป้องกันสุขภาพ ไม่มีเงินเข้าไปอุดหนุนในชุมชนเหมือนกระทรวงสาธารณสุข นี่จึงเป็นความก้าวหน้าที่ถอยหลังในปัจจุบัน แต่โดยพื้นฐานถ้าคนงานไม่อยู่ในระบบประกันสังคมก็จะถูกบังคับให้ซื้อประกันสุขภาพ ไม่ของกระทรวงสาธารณสุข ก็ของเอกชนอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยหลักการ กฎหมายไม่ได้บอกว่าแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย ทั้ง พ.ร.บ.แรงงาน และ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่ได้กำหนดว่าเฉพาะคนงานสัญชาติไทยเท่านั้น กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เขียนบนหลักการของสภาพการจ้างงานเป็นหลัก ไม่ว่าคุณจะสัญชาติใดก็ตาม ถ้าคุณอยู่ในความสัมพันธ์การจ้างงาน คุณต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
แต่ปัญหาในเชิงปฏิบัติเกิดขึ้นเมื่อระเบียบหรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายหลักดันไปกำหนดว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตขึ้นมา คนงานที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายก็จะมีปัญหาเรื่องเอกสารประจำตัว กรมคุ้มครองแรงงานอาจมีคำสั่งว่านายจ้างผิด และนายจ้างต้องจ่ายเงิน แต่เมื่อคนงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารประจำตัว การจ่ายเงินของนายจ้างก็จะผัดผ่อนไป หรือถ้าเกิดกรณีต้องจ่ายเงินผ่านบัญชีกรุ๊ป ญาติพี่น้องที่เข้ามายื่นเอกสารก็จะเปิดบัญชีไม่ได้อีก ก็จะเจอปัญหาแบบนี้
หลายกรณีที่แรงงานข้ามชาติพยายามจะติดต่อสื่อสารกับครอบครัวที่อยู่ต้นทาง แต่การเดินทางมันก็ไม่ง่าย อย่างกัมพูชา หนังสือเดินทาง 1 ฉบับ ปกติอยู่ที่เล่มละ 3,000-4,000 บาท ถ้าต้องการเร่งด่วนภายใน 1 สัปดาห์ ก็จะอยู่ที่ 6,000 บาทต่อเล่ม ขณะที่รายได้ขั้นต่ำของกัมพูชาอยู่ที่วันละ 200 แล้วการขอทำหนังสือผ่านแดนจากกัมพูชามาไทยก็ไม่ง่ายอีกเหมือนกัน ฉะนั้นการเข้าถึงสิทธิในแง่รายละเอียดเหล่านี้มันจึงเป็นปัญหา แต่โดยกฎหมายหลัก เราไม่ได้กีดกัน เราคุ้มครองแรงงานทุกสัญชาติ
แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินประกันสุขภาพและจ่ายเงินประกันสังคม เอาเข้าจริงดูเหมือนพวกเขาจะต้องพึ่งพาตัวเองมากกว่าที่รัฐจะช่วยเหลือดูแล
ใช่ โดยพื้นฐานพวกเขาต้องดูแลตัวเองพอประมาณ โดยปกติคนงานจะไม่ไปโรงพยาบาล แม้พวกเขาจะเจ็บป่วย ถ้าไม่ป่วยหนักก็จะไม่ไป แม้มีประกันสุขภาพและประกันสังคม เขาก็จะไปแค่ร้านขายยา ซื้อยากินให้หาย เพราะคนจำนวนมากมาที่นี่เพื่อทำงานหาเงิน ปัญหาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีปัญหาสุขภาพที่ซื้อยากินแล้วไม่หาย ที่เจอบ่อยสุดก็คือเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน โดยเฉพาะในไซต์ก่อสร้าง พอไปถึงโรงพยาบาล พบว่านายจ้างไม่ได้จ่ายสมทบประกันสังคม นายจ้างบางคนก็อาจดี อาจช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ แต่ว่าค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่แค่ 10,000-20,000 หลายกรณีมันเป็นแสน
จริงๆ เรายังไม่มีกรณีที่ฟ้องนายจ้างว่าเขานำเข้าแรงงานผิดกฎหมายแล้วก็ไม่จ่ายเงินประกันสังคม ซึ่งจริงๆ เจ้าหน้าที่ควรจะทำ ก็ยังไม่ทำ แต่เจ้าหน้าที่จะใช้การพูดคุยขอให้นายจ้างจ่ายย้อนหลัง เพื่อให้เกิดสิทธิ และสิทธิก็จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่อไปถึงอนาคต มันก็จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของอดีต ซึ่งนายจ้างอาจต้องรับผิดชอบจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็จะเข้าสู่กองทุนประกันสังคมที่คุณต้องจ่ายย้อนหลัง ซึ่งก็เป็นการหาทางออกเฉพาะหน้า แต่มันก็ไม่ทำให้นายจ้างรู้สึกว่าเขาต้องเอาทุกคนเข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็น
การที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายประกันสังคม เป็นเพราะเขากลัวว่าจะเดือดร้อนจากการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายหรือเปล่า
แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งมีชื่ออยู่ในระบบของกระทรวงแรงงานแล้ว ขั้นตอนที่เหลือให้นายจ้างเอาชื่อพวกเขาเข้าสู่ระบบของประกันสังคม ซึ่งบางกรณีมันไม่เกิดขึ้นจริง หรือในบางกรณีเลวร้ายกว่านั้น คือนายจ้างอ้างว่าหักค่าแรงไปสมทบกับกองทุนประกันสังคม แต่ไม่ได้ส่งเข้ากองทุนจริง กรณีแบบนี้มันเกิดขึ้นจากกลไกการบังคับใช้กฎหมาย และตัวคนงานเอง โดยพื้นฐานเขาก็ยังไม่ถูกหักค่าแรงไปสมทบกับกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว นอกเหนือจากไม่รู้ หรือถ้ารู้ก็ไม่อยากถูกหัก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างที่ไม่อยากจ่ายเหมือนกัน ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีอุบัติเหตุ แต่จะมีปัญหาทันทีถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา
ประกันสุขภาพของรัฐที่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายนั้น มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน หรือแท้จริงเป็นเพียงกลไกที่มีขึ้นเพื่อหาข้ออ้างให้แรงงานข้ามชาติต้องนำชื่อเข้าไปสู่ระบบเท่านั้น
ประการแรก ถ้าให้เทียบประกันสุขภาพของเอกชนกับสาธารณสุข เราอยากให้มีการบังคับซื้อประกันของสาธารณสุขมากกว่า อย่างน้อยก็สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงแค่ว่างบประมาณรายหัวแทนที่จะได้จากภาษีประชาชน ก็จะได้จากประกันที่แรงงานจะต้องซื้อเอง
ประการที่สอง ถึงที่สุดแล้วเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน โรงพยาบาลเอกชนจะส่งตัวมาที่โรงพยายามบาลรัฐอยู่ดี ดังนั้น ภาระการขาดทุนจากการรักษาบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวก็จะอยู่ที่รัฐเสียมากกว่า การบังคับให้เขาต้องซื้อประกันจึงเป็นเหตุเป็นผล มันคือมาตรการขั้นต่ำที่สุดที่สังคมไทยจะจัดให้กับคนที่มาทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
อีกอย่างหนึ่ง คือความแตกต่างของสังคม ตอนคุณอยู่พม่าที่รัฐยังเอาปืนจ่อหัวคุณอยู่ คุณอาจไม่เข้าใจหรอกว่าอะไรคือประกันสังคม ไม่เข้าใจหรอกว่าแต่ละเดือนที่ต้องจ่าย 5 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นสิ่งที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อคุณ คนงานทั่วไปอาจจะไม่ตระหนัก แต่ทันทีที่คุณได้ใช้สิทธิประโยชน์บางอย่าง คุณจะรู้สึกว่ามันมี มันดี มันใช้ได้ คนงานโดยมากที่ตั้งครรภ์ ก็ได้รับเงินค่าคลอดเหมือนคนงานไทยปกติ
หลายคนเขาก็รู้สึกว่าทำไมประเทศไทยมันดี แต่ถ้าคุณยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ คุณก็ไม่อยากจ่าย อารมณ์ก็จะประมาณนี้ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจยากมากว่าทำไมเขาต้องจ่าย กรณีประกันสังคมมันคือการจ่ายร่วมกันระหว่างรัฐ คนงาน และนายจ้าง คือทุกคนต้องร่วมกันแบ่งเบาภาระ คำถามคือถ้าเราไม่ป่วย ไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ ไม่จ่ายได้ไหม แต่คุณจะได้ใช้แน่ๆ เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น
ราคาขั้นต่ำของประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่แรงงานข้ามชาติจะต้องจ่ายเพื่อเข้าสู่ระบบคือเท่าไร
เดิมอยู่ที่ปีละ 1,700 บาท ไม่รวมค่าตรวจสุขภาพ ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท รวมค่าตรวจสุขภาพแล้ว ซึ่งเป็นภาคบังคับ ถ้าถามเรื่องความสามารถสมัครใจไม่มีใครอยากทำแน่ๆ ขอสารภาพว่าอันนี้เราก็เหมือนคุณพ่อรู้ดี ด้านหนึ่งกระทรวงก็จะบ่นว่าแรงงานมีปัญหาสุขภาพเยอะ ไม่มีงบ โรงพยาบาลขาดทุน เราก็เสนอให้บังคับซื้อ แต่คนงานก็จะบ่นว่าแพง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย มันก็จะเป็นเรื่องประมาณนี้ แต่เราก็ต้องยืนยันว่าสิ่งนี้มันเป็นภาษีทางตรง ไม่ใช่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไป แล้วรัฐบาลจะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ภาษีทางตรง คุณจ่ายไป แล้วคุณจะได้รับบริการกลับมา อย่างน้อยที่สุดก็คือสุขภาพ
อะไรเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ
กองทุนประกันสังคมอยู่ได้ เพราะแรงงานข้ามชาติไม่ไปใช้สิทธิ อุปสรรคเยอะ ทั้งเรื่องภาษา เรื่องของความไม่รู้ไม่เข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิ พอตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิ แต่เวลาไปขอใช้สิทธิ ปัญหาที่เจอก็คือบัตรประจำตัวสะกดชื่อภาษาไทยไม่ตรงกับใบอนุญาตทำงาน หรือสะกดต่างกับชื่อในประกันสังคม แต่ถ้าอ่านก็จะเข้าใจว่าคล้ายๆ กัน เช่น ในใบอนุญาตทำงานอาจสะกดว่า ‘อัสลัม’ แต่ในบัตรประจำตัวคนต่างด้าวอาจสะกดว่า ‘อาสลัม’ หรืออาจเป็น ‘อาสลาม’ แต่คำถามของเจ้าหน้าที่คือมันคือคนเดียวกันหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ประกันสังคมก็อาจบอกให้เขาไปแก้ชื่อที่อำเภอก่อน อำเภอก็บอกว่าไปขอแก้ที่ใบอนุญาตทำงานก่อนแล้วค่อยมาเทียบ ซึ่งคนต่างชาติที่ไม่ใช้ภาษาไทยแล้วต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ไทย กรณีแบบนี้ก็จะหลุดไปโดยปริยาย
เวลาเจออุปสรรคแบบนี้ แรงงานต่างด้าวต้องไปแก้ชื่อที่อำเภอ หรือไปติดต่อราชการที่ค่อนข้างยุ่งยาก สุดท้ายเขาก็เลยเลือกไม่ไปใช้สิทธิ ทำให้ไม่เห็นความสำคัญของประกันสังคม?
ใช่ ก็เป็นปัญหาอยู่ หรือแม้กระทั่งบางครอบครัวที่เข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว มีลูก 3 คน แต่ใบเกิดพ่อแม่คนละชื่อกัน มันก็ใช้ไม่ได้อีก
ในด้านกฎหมายและหลักการ ไทยถือว่าค่อนข้างก้าวหน้า แต่ในทางปฏิบัติยังเจออุปสรรคเยอะมาก แล้วกลไกการติดตามตรวจสอบแก้ไขไม่มี ปัญหาของบ้านเราคือไม่มีกลไกตรวจสอบการทำงานของรัฐ คุณทำงานไปแล้ว คุณเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วคุณจะแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
รัฐให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติมากแค่ไหน
อย่างน้อยที่สุด สภาความมั่นคงแห่งชาติก็ให้ความสำคัญ ในทางเศรษฐกิจประเทศไทยไม่สามารถที่จะไม่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ถ้าจำเหตุการณ์ข่าวลือในช่วงต้นของการรัฐประหาร สมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้คนกัมพูชาทะลักกลับประเทศ ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ก็น่าจะดีใจที่แรงงานกัมพูชาเกือบ 400,000-500,000 คน กลับประเทศไปหมด แต่ภายในถึงไม่ถึง 2 สัปดาห์ รัฐบาลต้องมีการตั้งศูนย์รับแรงงานกัมพูชากลับไทย ตามมาด้วย พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว ปี 2560 อีกรอบหนึ่ง การหายไปของคนงานกัมพูชาทำงานในภาคการก่อสร้างและภาคการประมง มันทำให้กองเรือประมงไทยหายหมด การก่อสร้างก็หยุดชะงัก
กรณีโควิด-19 ก็ชัดเจนว่าหลังจากการเปิดประเทศ สิ่งที่ล่าช้าที่สุดก็คือการนำเข้าแรงงาน ภาคธุรกิจก็กดดันรัฐบาลน่าดู ว่าถ้าคุณไม่เร่งทำ MOU เอาแรงงานเข้ามา ก็ต้องผ่อนผันคนในประเทศไปก่อน ผมว่าความจำเป็นแบบนี้ มันทำให้ภาคเศรษฐกิจอยู่บนจุดยืนพื้นฐานแบบเดียวกับภาคประชาสังคม คือคุณต้องเปิดรับการมีตัวตนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยให้ได้
อีกประการหนึ่ง มติคณะรัฐมนตรีฉบับสุดท้ายที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดที่แล้ว มีการขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่หมดทุกกลุ่ม นี่มันตั้งใจหาเงินเลย ก็คือเปิดให้กลุ่มที่ใบอนุญาตยังไม่หมดมาต่อเลย ส่วนกลุ่มที่ยังไม่มีอะไรเลยก็มารายงานตัว ตีว่ามีคนประมาณ 1.5 ล้านคน จ่ายคนละประมาณ 5,000 บาท ก็หลายพันล้านบาทอยู่ที่จะเข้ารัฐบาล พอเขาตั้งใจหาเงินแบบนี้ปุมันทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึง เพราะไม่มีเงิน เกณฑ์ขั้นต่ำมันสูงเกินไป เกินกว่าที่แรงงานจะหาเงินมาจ่ายได้ ยิ่งหลังช่วงโควิดด้วย ทุกอย่างกำลังจะฟื้นตัวขึ้นมา แต่ต้องมาจ่ายอีกแล้วเหรอ เขาก็อยู่แบบผิดกฎหมายดีกว่า
ผมถึงบอกไงว่า MOU ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยปกติแล้วช่องทางถูกกฎหมายควรจะต้องถูกกว่าช่องทางผิดกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นว่าการเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย
ในเมื่อคุณมี 2 ช่องทาง แล้วช่องทางผิดกฎหมายมันถูกกว่า คุณจะจ่ายช่องทางไหนล่ะ
ที่ผ่านมารัฐมีความพยายามอะไรที่จะส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติบ้าง
ถ้าตัวร่างกฎหมายมันอาจยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าประเด็นการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ก็เป็นประเด็นร่วมกันที่พยายามผลักดัน
แม้จะมีกลุ่มแรงงานไทยบางกลุ่มมีแนวคิดว่า อยากให้ไทยรับรองอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่ให้ยกเว้นแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยไปก่อน แต่โดยส่วนใหญ่ของขบวนการแรงงานไทยทั้งหมด การรวมกลุ่มก็คือการรวมกลุ่มของคนงาน ไม่ว่าคุณจะมีสัญชาติอะไรก็ตาม การเจรจาต่อรองคือสิทธิของคนงาน ไม่ว่าคุณจะสัญชาติอะไร
นี่คืออนุสัญญาต่างประเทศ แต่พอจะแปลงมาเป็นกฎหมาย มันก็อยู่ที่ร่างกฎหมายของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งกรณีพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันดูจะมองการคุ้มครองแรงงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ข้อเสนอเรื่องการแก้ไขการคุ้มครองแรงงานก็ดูจะไม่รวมถึงแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทย แล้วก็ไม่เป็นร่างกฎหมายหลักของรัฐบาล
โดยรวมๆ ผมคิดว่ามันเป็นเจตจำนงร่วมกันส่วนใหญ่ แต่ถามว่ามีความเห็น มีท่าทีที่ยังกังวล หรือยังกีดกันแรงงานข้ามชาติอยู่ไหม มีอยู่ แต่ไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
รัฐควรทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการสำหรับแรงงานข้ามชาติให้ทั่วถึงมากที่สุด
โดยพื้นฐานควรเลิกคิดว่าใครเป็นแรงงานไทย ใครเป็นแรงงานข้ามชาติ กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่ได้พูดถึงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแคร์ว่าใครเป็นแรงงานสัญชาติอะไร ถ้าคุณมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ประเด็นถัดมา ผมยังตระหนักว่าปัญหาส่วนมากของแรงงานข้ามชาติคือ ไม่มีเอกสารประจำตัว พิสูจน์บุคคลไม่ได้ว่าคุณเป็นใคร อันนี้เป็นปัญหาว่าจะทำยังไงให้แรงงานจำนวนมากเข้าถึงการมีเอกสารประจำตัว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องสิทธิการทำงาน คนไทยอาจไม่ตระหนักนะครับ เพราะคุณเกิดมาก็มีรหัสประจำตัวประชาชน เลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วย 1 ส่วนคนงานจำนวนมากจะขึ้นต้นด้วยเลข 0 อย่างน้อยที่สุดการมีรหัสประจำตัวคือการมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย จึงจะไปยื่นขอรับสิทธิต่างๆ ได้ เปิดบัญชีได้ มีกิจกรรมสังคมร่วมกับองค์กรทางสังคมได้หมด ดังนั้นการเข้าถึงฐานะทางเอกสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าสำหรับผม
ตอนนี้กฎหมายเราก็เปิดมากๆ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งก็คงมีความรักชาติและไม่อยากให้ประเทศไทยถูกกลืนโดยต่างชาติ ก็จะเป็นด่านสุดท้ายในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้ยังคงเกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ
ต้องยืนยันอีกรอบว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมไปถึงกฎหมายประกันสังคม ถูกเขียนขึ้นมาโดยหลักการเพื่อคุ้มครองคนทำงานทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ถ้าคุณอยู่ในสภาพการจ้างงาน มีนายจ้าง มีลูกจ้าง มีความรับผิดชอบ มีหน้าที่ต่อกัน คุณก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม
อันนี้เป็นพื้นฐานของกฎหมายการคุ้มครองแรงงานที่ไทยวางไว้ดีอยู่แล้ว ถ้าเราจะรู้สึกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคมต้องคุ้มครองเฉพาะคนไทย มันก็จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้คุ้มครองแรงงานทุกคน เมื่อคุณสร้างข้อยกเว้นที่หนึ่ง ก็จะตามมาซึ่งข้อยกเว้นที่ 2 ข้อยกเว้นที่ 3 เช่น เราคุ้มครองคุณนะ แต่ถ้าคุณไม่จ่าย เราก็ไม่คุ้มครองคุณ แม้ว่าคุณจะเป็นคนไทยก็ตาม
เพราะฉะนั้น การยืนยันหลักการว่าต้องคุ้มครองทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ แต่ผมก็คิดว่ามันก็ไม่ง่ายที่จะอธิบายแก่สังคมไทยว่า ทำไมต้องคุ้มครองคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนไทยด้วย เพราะมันยืนอยู่คนละกรอบวิธีคิด กฎหมายแรงงานอยู่บนพื้นฐานของการทำงาน แรงงานเราไม่มีสัญชาติ แต่กรอบของรัฐยังมีเรื่องสัญชาติอยู่
อีกกลุ่มก้อนหนึ่งที่คนไทยอาจไม่ค่อยรู้ก็คือ คนไทยที่ไร้เอกสาร คนยากจนจำนวนมากที่หนีออกจากบ้านมา เสียบัตรประชาชน เสียทะเบียนบ้านไป คนที่นอนอยู่ตามสนามหลวง ราชดำเนิน ทั้งหมดนี้คุณจะกลายเป็นคนต่างด้าวโดยทันที เพราะคุณไม่มีเอกสารประจำตัว แล้วคุณไม่สามารถยืนยันได้ว่าคุณเป็นคนไทย เมื่อเกิดปัญหาในการทำงาน คุณก็จะถูกผลักออกไปทันที อันนี้ก็เป็นปัญหาต่อเนื่อง ถ้าเราไม่กลับมายืนอยู่บนหลักการที่แม่นว่า เราจะต้องคุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
อย่างที่สอง ล่าสุดเราเห็นการประมาณการอัตราการเกิดของประชากรไทยจากสหประชาชาติ ซึ่งประเมินอัตราการเกิดของไทยอยู่ที่ 1.5 ส่วนนักวิชาการไทยประเมินต่ำกว่านั้นอยู่ที่ 1.2 ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม กระทรวงสาธารณสุขประเมินอยู่ที่ 1.08 เท่ากับว่าตอนนี้เราจะมีเด็กเกิดมาประมาณปีละ 600,000-700,000 คน แล้วจะต่ำลงเรื่อยๆ คำถามต่อไปคือ แล้วสุดท้ายกำลังแรงงานในสังคมไทยจะมาจากที่ไหน
ตอนนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องดูแลคนไทยหรือไม่ไทยแล้ว โจทย์ตอนนี้ของสังคมไทยจึงควรเป็นว่า เราจะดึงเอาคนที่ไม่ไทยเข้าสู่สังคมไทยให้มากที่สุดได้ยังไงบ้าง ข้อเสนอขั้นต่ำที่สุดจากสถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนะว่า เราควรจะเริ่มนำเข้าประชากรอย่างน้อย 200,000 คนต่อปี เพราะทันทีที่ประชากรของเราเริ่มลดลงจริง แล้วเราจะต้องดึงเอาประชากรกลุ่มนอกของสังคมมา ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม เราจะทำให้พวกเขาพร้อมเข้าสู่สังคมไทยยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะที่สังคมเราเล็กลง พวกเขาก็มีมากขึ้น นอกเหนือไปจากนั้น ถ้าเราไม่มีกรอบกฎหมายหรือนโยบายที่ชัดเจนว่าเราจะต้องนำเข้าประชากรอย่างเป็นระบบ คุณจะกลืนจีนเทาเข้ามา แล้วก็ประชากรที่เข้ามาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเอาเข้ามา และจะใช้ชีวิตอยู่ในแบบที่เราไม่ได้อยากให้เขาอยู่อีกต่างหาก นี่คือปัญหาระยะยาวมากๆ
เรื่องประกันสังคมจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่วางอยู่บนหลักการของการคุ้มครองแรงงานทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นสัญชาติไหนก็ตาม ถ้าคุณทำงานอยู่ในประเทศไทย คุณจ่ายประกันสังคม คุณก็จะได้รับการดูแล ถ้าเกิดคุณมีเงื่อนไขหรือเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ แต่ลูกหลานคุณเกิดที่นี่ ประเทศนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศนี้เข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้จนจบปริญญาตรี แล้วคุณก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานของไทย และมารับช่วงต่ออนาคตของสังคมนี้ได้ โดยที่กลมกลืนกับสังคมไทยมากกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่างหาก อันนี้คือโจทย์ที่สังคมไทยต้องคิด เพราะตัวเลขที่ประเมินอย่างเลวร้ายที่สุดบอกว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ประชากรไทยสูงสุดแล้วก็ได้ จากนี้ต่อไปประชากรไทยก็จะเริ่มลดลงแล้ว แต่ยังไม่เลวร้ายมาก
-2-
แรงงานข้ามชาติกับกองทุนประกันสังคม
สถานะของแรงงานข้ามชาติในกองทุนประกันสังคมเป็นอย่างไร
โดยเงื่อนไขการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติ เขาก็มีนายจ้าง เขาจึงอยู่ในมาตรา 33 เช่นเดียวกับแรงงานไทยที่มีนายจ้าง จะไม่มีหลุดไปอยู่ในมาตรา 39 หรือ 40 ที่เป็นผู้ประกันตนเอง เพราะโดยเงื่อนไขใบอนุญาตการทำงานของแรงงานข้ามชาติคือ คุณต้องมีนายจ้าง ซึ่งกรณีว่างงาน ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้ 6 เดือน แต่ปัญหาคือเมื่อคุณไม่มีนายจ้าง เราให้โอกาสคุณหางานใหม่ภายใน 2 เดือน ถ้าหาไม่ได้ ใบอนุญาตการทำงานก็จะหมดอายุ ดังนั้นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในภาวะตกงาน จะสามารถใช้สิทธิรับเงินชดเชยจากการว่างงานได้แค่ 2 เดือน เพราะกฎหมายไทยบังคับให้คุณต้องไปหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 2 เดือน เพราะใบอนุญาตการจ้างงานจะหมดอายุ แล้ววีซ่าคุณก็ผูกพันกับใบอนุญาตการทำงาน
แสดงว่าโดยเงื่อนไขใบอนุญาตทำงาน แรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ได้?
ไม่ได้ ฉะนั้นแรงงานข้ามชาติที่หลุดออกจากระบบ ผมก็สันนิษฐานว่าเขาอาจไปเป็นลูกจ้างอิสระต่างๆ ซึ่งมันกึ่งฟรีแลนซ์ เขาอาจยังมีนายจ้าง แต่นายจ้างก็อาจเป็นคนตัวเล็กมากๆ และไม่ได้อยู่ในระบบ
ตามตัวบทกฎหมายแรงงานข้ามชาติมีสถานะเทียบเท่ากับแรงงานที่มีสัญชาติไทย ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในกองทุนประกันสังคม แต่ในทางปฏิบัติมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำกันอย่างไรบ้าง
โดยข้อเท็จจริงในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่พอเป็นระเบียบของสำนักงานประกันสังคม ระเบียบของกระทรวงแรงงาน มันมีเงื่อนไขกำหนดมา ทำให้การเข้าถึงไม่ง่าย เช่น กรณีประกันว่างงาน กรณีเงินเลี้ยงดูบุตรและค่าคลอด โดยหลักการก็ไม่มีความแตกต่างกับแรงงานไทย แต่มันมีปัญหาชื่อพ่อชื่อแม่ไม่ตรงกัน ก็ว่ากันไป
อีกอันที่มีปัญหามานานคือเรื่องบำนาญ ซึ่งต้องย้อนกลับไปที่เงื่อนไขของใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวก่อน เราออกใบอนุญาตทำงานให้ครั้งละ 2 ปี ต่อได้อีก 2 ปี พอครบ 4 ปี เราก็บังคับให้เขาเดินทางกลับประเทศต้นทาง แล้วอีก 1 เดือน ถึงให้มาทำใหม่ เรากลัวว่าถ้าแรงงานข้ามชาติอยู่ถึง 4 ปี พวกเขาจะขอสัญชาติไทย มันก็มีเงื่อนไขตรงนี้ไว้ และผู้ที่ขอใบอนุญาตทำงานห้ามมีอายุเกิน 55 ปี ซึ่งหมายความว่าถ้าอายุ 55 ปีปุ๊บ คุณก็ต้องกลับประเทศต้นทาง ขณะเดียวกัน เราก็เริ่มให้บำนาญกับที่คนอายุ 55 ปี หมายความว่าถ้าคุณทำงานอยู่ในไทยถึงอายุ 55 ปี มันก็ไม่ง่ายที่คุณจะทำเรื่องรอรับบำนาญ เพราะวีซ่าก็ผูกพันกับใบอนุญาตทำงาน มันคงไม่ทัน ถ้าเขาต้องเดินทางกลับ มันก็ไม่ง่ายที่เขาจะเดินทางกลับเขามาอีกรอบเพื่อตามเรื่องต่างๆ
ล่าสุด มีระเบียบของกระทรวงแรงงานว่า เราจะจ่ายเงินให้กับผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยที่กลับประเทศต้นทางได้ ถ้าต้นทางเขาทำ MOU กับเรา ซึ่งตอนนี้เราไม่มี MOU กับประกันสังคมของกัมพูชา ลาว ส่วนพม่าอาจมีอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในสถานการณ์รัฐล้มเหลว เพราะเกิดสงครามกลางเมือง ฉะนั้นโอกาสที่จะโอนเงินบำนาญให้กับแรงงานข้ามชาติผ่านข้อตกลงระหว่างประกันสังคมไทยกับประกันสังคมต้นทาง ในปัจจุบันมันจึงยังไม่เกิดขึ้นเลย พอไม่เกิดขึ้นเลย หมายความว่าเงินกองทุนที่ถูกกันไว้เป็นเงินบำนาญให้แก่แรงงานข้ามชาติก็ยังถูกรวมอยู่ที่กองทุนประกันสังคมของคนไทยอยู่
กรณี ‘ม.33 เรารักกัน’ ที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ ทั้งที่เป็นผู้ประกันตน มันเกิดจากสาเหตุใด
กรณีนี้มีการฟ้องเกิดขึ้น ฟ้องที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำว่ารัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ โดยข้อเท็จจริงตอนนี้ก็มีความสับสนอยู่บ้างว่า ‘ม.33 เรารักกัน’ มันเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมตามกฎหมาย หรือว่าเป็นนโยบายของรัฐที่ใช้ฐานข้อมูลจากประกันสังคมเท่านั้น
ถ้าตามคำพิพากษาของศาลคือ มันเป็นนโยบายของรัฐที่ใช้ฐานข้อมูลจากประกันสังคมเท่านั้น ซึ่งหมายความว่านโยบายของรัฐ เขาก็มีสิทธิที่จะบอกว่าเขาจะจ่ายให้แค่คนไทย ตอนนี้มันก็ดูเหมือนว่าพอรัฐมีนโยบายเลือกที่จะจ่ายกับบางคน ไม่จ่ายกับบางคน ไม่ใช่ประกันสังคมเป็นฝ่ายเลือกปฏิบัติ ฝั่งประกันสังคมก็เลยคิดว่านี่ไม่ใช่ความผิดของเขา เขาแค่จัดส่งข้อมูลให้รัฐบาลเท่านั้น
มันก็สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการแรงงานของไทยอยู่ในภาพที่อ่อนแอ เราเคยมีคำขวัญว่า ‘แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน’ แต่ทำไมแรงงานสัญชาติไทยถึงได้รับเงินช่วยเหลือ แต่แรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยที่เจอภาวะเงื่อนไขและปัญหากลับไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ
อุปสรรคหรือความยากลำบากที่แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนต้องเจอในการใช้สิทธิประกันสังคม เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่พวกเขาต้องเจอเวลาใช้สิทธิประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขหรือเปล่า
เหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ที่ประกันสังคมคือภาษีทางตรงของคนงาน เพราะงั้นความรับผิดชอบของกองทุนประกันสังคมจึงมีสูงกว่าประกันของกระทรวงสาธารณสุขที่รับเงินมาจากรัฐ มาจากภาษีทางอ้อมอีกทีหนึ่ง เพราะงั้นผลประโยชน์ของผู้ประกันตนจึงควรเป็นความรับผิดชอบลำดับแรกของกองทุนประกันสังคม
ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติเท่านั้นที่เผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิ แต่แรงงานสัญชาติไทยที่ไปขอใช้สิทธิรับเงินชดเชยว่างงาน ผ่านไป 2 เดือนก็ยังไม่ได้ ซึ่งตลอดหลายปีที่ไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มันได้สร้างวัฒนธรรมที่ทำให้กองทุนประกันสังคมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่อผู้ประกันตน
เพราะฉะนั้นอุปสรรคที่เกิดขึ้นมันจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตนทุกคนในวันนี้
ทำไมแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
ผมกับคุณไหม (ธนพร วิจันทร์) และแรงงานอีกจำนวนหนึ่ง ได้ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นบอกว่า การฟ้องกระทรวงแรงงานว่าด้วยการออกระเบียบการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคมซึ่งกำหนดให้บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาลแรงงาน
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าศาลปกครองอาจมีความเข้าใจผิด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการจ้างงาน เป็นเรื่องของการที่หน่วยงานรัฐซึ่งก็คือกระทรวงแรงงานได้ออกระเบียบที่ขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ว่าศาลปกครองชั้นต้นบอกว่าไม่อยู่ในอำนาจเขา ให้เราไปฟ้องศาลแรงงาน แต่พวกเราก็คุยกับนักกฎหมายและทำการอุทธรณ์ไป ยืนยันว่านี่คือเรื่องที่อยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครอง เพราะว่าเราฟ้องให้มีการยกเลิกระเบียบและทำการร่างระเบียบใหม่ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนว่าศาลปกครองชั้นอุทธรณ์จะรับเรื่องหรือไม่รับ
ผมอยู่ในฝั่งของคนที่เชื่อว่าผู้ประกันตนทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย แต่คำถามคือทำไมถึงต้องตัดสิทธิเลือกตั้งของแรงงานข้ามชาติ คำตอบก็คือระเบียบของกระทรวงแรงงานไประบุเอาไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย มันจึงทำให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยก็หมดสิทธิไปโดยปริยาย ถามว่าทำไมถึงมีระเบียบแบบนี้ขึ้นมา ความเห็นของผม ผมคิดว่าตัวแทนของคณะกรรมการประกันสังคมในช่วงเวลานั้น หลายคนมีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งแบบไหนก็ตาม ฉะนั้น บุคคลที่มีสิทธิในการเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย
ประกันสังคมก็เป็นตัวอย่างแรก ต่อไปการเลือกตั้งประธานนักเรียนก็คงต้องกำหนดให้เป็นนักเรียนที่มีสัญชาติไทยด้วยเหมือนกัน ถ้าอิงอยู่บนหลักการนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่เมกเซนส์สำหรับผมเลย อำนาจอธิปไตยมันก็ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วไง ว่าใช้ผ่านสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ผ่านศาล ใช้ผ่านฝ่ายบริหาร ไม่ได้มีการระบุสักมาตราหนึ่ง ว่าอำนาจอธิปไตยของคนไทยมีการใช้ผ่านประกันสังคมด้วย
นี่ก็เป็นเหตุผลที่คณะกรรมการประกันสังคมในตอนนั้นคงคิดแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นการตีความกฎหมายแบบผิดๆ ไปหยิบใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ซึ่งไม่มีสักมาตราไหนที่พูดเรื่องประกันสังคมหรือพูดเรื่องคนงานเลย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่ทำให้สำนักงานประกันสังคมเองก็เห็นด้วยกับการตัดสิทธิบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ก็คือ ถ้าหากไม่มีการระบุว่าต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง เขาอาจคิดว่าจะต้องทำ 2 ภาษาไหม แล้วจะเข้าถึงยังไง ต้นทุนเพิ่มขึ้น ใช้งบอีกหลายร้อยล้านบาท อาจไม่คุ้มค่ากับบอร์ดประกันสังคมที่มีวาระเพียง 2 ปี
หนึ่งในเหตุผลที่สำนักงานประกันสังคมไม่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่แรงงานข้ามชาติ เพราะเกรงว่าจะใช้งบประมาณมาก และต้องการประหยัดงบ?
ถ้าดูกฎหมายประกันสังคมที่แก้ไขเมื่อปี 2558 มาตรา 8 ก็ชัดเจนว่าให้คณะกรรมการประกันสังคมมาจากการเลือกตั้ง แล้วก็พูดอีกด้วยว่าตั้งใจให้มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังด้วยซ้ำ แต่พอมีการออกระเบียบมา หนึ่ง คือกำหนดให้ผู้ประกันตนที่จะมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น สอง กำหนดเงื่อนไขผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบมาเป็นเวลา 3-6 เดือน ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนอยู่ดี สาม คือต้องลงทะเบียบล่วงหน้าอีก ก็ยิ่งตัดสิทธิเข้าไปอีก เท่ากับว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขการใช้สิทธิเลือกตั้ง
ถามว่าในแง่นี้ขัดต่อมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไหม ผมว่าขัด แต่ว่าฟ้องศาลแล้ว แต่ศาลยังไม่พิจารณาว่าขัดหรือไม่ เพราะยังไม่พิจารณา กระทรวงแรงงานก็เดินหน้าตามระเบียบที่ตัวเองมี นี่จึงเป็นภารกิจแรกที่ถ้าเราได้รับเลือกตั้งเข้าไป อันนี้เราต้องรื้อแน่ๆ เรื่องระเบียบการสรรหากรรมการชุดใหม่
เอาเข้าจริงๆ ไม่ใช่แค่ 3 เหตุผลที่ยกมาเท่านั้นนะ สำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้มีทุกอำเภอ ผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย จ่ายครบ ลงทะเบียนแล้ว แต่พอไปดูว่าจุดที่ต้องไปเลือกตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง อย่างเชียงใหม่มี 10 อำเภอ แต่มีสำนักงานประกันสังคม 2 แห่ง มีจุดเลือกตั้ง 2 จุด คุณจะให้คนจากอำเภออมก๋อยมาเลือกตั้งที่อำเภอเมืองเหรอ
ผมคิดว่าตลอดมาที่เราไปทวงถามกับสำนักงานประกันสังคม เขาก็บอกว่าเขาปรึกษากับ กกต. อย่างต่อเนื่อง คือถ้าคุณปรึกษากับ กกต. แล้วคุณตั้งใจให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง คุณก็ต้องออกแบบการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจแพง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าประชาธิปไตยมันคือระบอบการปกครองที่ต้นทุนแพงที่สุด ใช้ทั้งเงิน ใช้ทั้งเวลา แต่มันคุ้มค่าไหมล่ะ ผมว่าเราต้องยืนยันในหลักการว่ามันคุ้มค่า
จากการทำงานคลุกคลีกับแรงงานข้ามชาติ พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับการไม่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้
โอ้ย ไม่ใช่แค่เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมนะ แต่ตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปแล้ว คนทำงานยุคใหม่หลายคนก็บอกผมว่า พี่…ผมไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ฝากเลือกเบอร์นี้ พรรคนี้ให้หน่อย มันก็มีความรู้สึกอยู่ว่าเขาเชื่อมั่น เขาหวังว่าถ้าพรรคนี้ได้เป็นรัฐบาล ชีวิตเขาจะดีขึ้น
จริงๆ เรื่องการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้เป็นเรื่องที่พูดลำบาก เอาเข้าจริงถ้าพวกเขามีสิทธิเลือกตั้งก็คงไม่ได้มาใช้สิทธิเยอะ ภาษาก็เป็นหนึ่งในอุปสรรค แต่ผมว่ามันจะทำให้ประเด็นเรื่องกลไกการดูแลมีการปรับปรุงได้มากขึ้น เพราะมีตัวแทนของคนกลุ่มนี้มากขึ้น อย่างที่ หนู (นลัทพร ไกรฤกษ์ กองบรรณาธิการเว็บไซต์ ThisAble.me ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’) เข้ามา หนูก็จะเห็นปัญหาของกลุ่มผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนที่ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง
นี่ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งว่า กระทรวงกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย แล้วกฎหมายก็กำหนดว่าผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทยด้วย นี่ก็เถียงกันในหมู่คนทำงานเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ว่าการกำหนดสัญชาติกับผู้สมัครด้วยมันดีหรือไม่ดี ควรยกออกไหม แต่ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็คิดว่านี่เป็นคณะกรรมการที่ต้องมาบริหารกองทุนทั้งหมด อย่างน้อยก็ควรล็อกว่าให้คนที่มีสัญชาติไทยมาสมัครเป็นตัวแทน แต่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ควรล็อกไว้ เพราะเขาก็จ่ายเงินประกันตน เขาก็ควรมีสิทธิมีเสียง
ถ้าในอนาคตเราสามารถต่อสู้ให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้ เราควรจะเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถลงสมัครเข้ามาเป็นบอร์ดประกันสังคมด้วยหรือเปล่า เพื่อมาดูแลสิทธิประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง
นี่เป็นคำถามที่ยากนะ ถามว่าแรงงานข้ามชาติในไทยมีกี่สัญชาติ ไม่ได้มีแค่ 3 สัญชาติแน่ๆ แล้วเราจะออกแบบระบบการมีส่วนร่วมให้ถึงที่สุดขนาดไหน ในเชิงปฏิบัติคือจะให้แรงงานข้ามชาติ 40 กว่าสัญชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมมีสิทธิลงสมัครับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคมด้วยเลยไหม มันก็คงไม่ง่าย
ถึงที่สุด ผมก็ยังมีความเป็นชาตินิยมอยู่ ผมยังคงเสนอให้แรงงานทุกคนต้องเรียนภาษาไทยด้วยซ้ำ ผมคิดว่าคุณมาทำงานในไทย คุณก็ควรต้องพยายามปรับตัวเรียนรู้สังคมไทย ดังนั้นถ้าหากเราเดินหน้าแก้ไขระเบียบการสรรหาคณะกรรมการประกันสังคม โดยยกเว้นเรื่องเงื่อนไขสัญชาติไทยออกไป เบื้องต้นก็คือทุกคนมีสิทธิ แล้วการเข้าถึงสิทธิจะเป็นยังไงบ้าง
มันอาจยังเป็นข้อถกเถียงที่เป็นเหตุเป็นผลได้อยู่ว่า เราคงไม่สามารถออกแบบบัตรเลือกตั้งให้มี 3-4 ภาษา หรือจะออกแบบให้มี 2 ภาษา จะเป็นไทย-อังกฤษ หรืออังกฤษ-พม่า เราก็ยังไม่รู้ว่าจะมีผู้ประกันตนจากสัญชาติไหนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ดังนั้นในช่วงแรกก็อาจใช้ภาษาเดียวไปก่อนและคนที่สามารถลงทะเบียนได้ ถ้ายังมีการต้องลงทะเบียนอยู่นะ คนที่ประสงค์จะมาเลือกตั้งจริงๆ ต้องเป็นคนงานที่อยู่ไทยเป็นเวลานาน และมีความสามารถที่จะพูดภาษาไทยได้แล้ว หรือใช้ภาษาไทยได้ อันนี้ก็จะเป็นพื้นฐานว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นคนที่มีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ก็ใช้บัตรเลือกตั้งภาษาไทยก่อน แล้วเราก็จะมีข้อมูลว่ามีผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้สิทธิเลือกตั้งกี่คน เป็นสัญชาติอะไรบ้าง กระจุกตัวอยู่ที่ไหนบ้าง มันจึงจะสามารถออกแบบได้ในครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ว่าเราจะจัดการให้มีการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง
อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในทีมประกันสังคมก้าวหน้า
จริงๆ ตั้งแต่หลังล็อกดาวน์โควิดเป็นต้นมา โดยเฉพาะเคสการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ทางทีมพวกผมก็ทำงานกับสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตอนนั้นล็อกดาวน์ไม่ให้แรงงานออกจากแคมป์ ข้าวก็หมด คนเจ็บป่วยก็เข้าถึงการรักษาได้ยากลำบาก และก็มีทีมสหภาพแรงงานในอุตสาหกกรมก่อสร้างมาคุยกัน มันก็มีความร่วมมือเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรมมากๆ ในการช่วยเหลือเคสเฉพาะหน้ากันมา ตั้งแต่ช่วงนั้นจนถึงช่วงนี้ เราก็ยังร่วมมือกันในการช่วยเหลือเคสต่างๆ ต่อไป ตัวสหภาพแรงงานเอง พอลงไปเจอเคสเยอะๆ เขาก็รู้สึกว่าทำไมมันมีปัญหาเยอะขนาดนี้ ยิ่งเฉพาะแรงงานก่อสร้าง โดน sub-contract ในระดับขั้นที่ 3 ขั้นที่ 4 ด้วยซ้ำ
เราก็ไม่คิดว่าเราจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพ ถ้ามันจบ เราก็ไปทำอย่างอื่นได้ แต่ว่าพอคุยกับทีมก็คิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวพันแค่กับประกันสังคม แต่มันมีเรื่อง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว แล้วยังมีอีก 2-3 เรื่องอีกในภาพรวม คือถ้าประกันสังคมไม่แยกออกมา ลดเงื่อนไขตัวเองลง ไม่ต้องพึ่งพิงหน่วยงานอื่น เช่น คุณจะเข้าถึงสิทธิประกันสังคม คุณไม่จำเป็นต้องไปขอหนังสือรับรองจากกระทรวงมหาดไทยก่อน เอาตัวเองให้ชัดว่าเขาเป็นผู้ประกันตน จ่ายเงินอยู่นะ คุณต้องคุ้มครองสิทธิเขาโดยทันที มันเป็นอำนาจของประกันสังคม ถ้าเราแก้ตรงนี้ได้ มันก็จะลดปัญหาอื่นๆ ที่เหลือ
คุยกันไปคุยกันมา สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างก็เป็นหนึ่งในทีมที่ยื่นฟ้องศาลปกครองกับเราด้วยเหมือนกัน เราจึงรู้สึกว่าคงทิ้งกันไม่ได้เสียทีเดียว แล้วก็เห็นตัวระเบียบที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยถูกกันออกไปด้วย ก็เลยคุยว่าทางทีมผมที่ทำงานกับเรื่องแรงงานข้ามชาติ จะร่วมลงเลือกตั้งด้วยกันไหม เพราะฉะนั้น โจทย์แรกของทีมผมคือการแก้ไขตัวระเบียบ อันนี้คือโจทย์หลักๆ เอาเข้าจริงแล้วระเบียบการเลือกตั้งการสรรหา เป็นแค่หนึ่งในระเบียบของประกันสังคมจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติ แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน
ทีมเขาก็ให้โอกาสผมมาร่วมลงสมัครด้วย ผมก็ตระหนักอยู่แหละว่าในแง่ฐานเสียงผมก็ไม่ค่อยมี แต่ก็พยายามเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากที่สุด
ประสบการณ์การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชนมีส่วนอย่างไรบ้างในการลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้
ผมว่าการเป็นนักเคลื่อนไหวต่างจากการเป็นนักการเมือง และการเป็นนักการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านก็ต่างกับการเป็นนักการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาลแน่ๆ ผมก็ยังรู้สึกว่าผมอาจไมได้เชี่ยวชาญกับการนำแรงงาน แต่ด้วยประสบการณ์มันอาจไม่ใช่เรื่องของพรรคสามัญชนโดยตรง ที่ผ่านมาเรารู้ว่าเราทำงานกับกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมันทำงานการเมืองลำบาก มันไม่มีฐานเสียงของตัวเอง คุณต้องทำงานเชิงประเด็น ต้องคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งพอคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐมันจะต้องเคลียร์ให้ชัดว่ากฎหมายไหนให้อำนาจใคร แล้วก็ทำให้เขามั่นใจว่าการใช้อำนาจแบบนั้นมันสามารถที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนได้
ผมถึงรู้สึกว่าในด้านหนึ่งการก้าวไปในงานการเมือง มันคือการทำให้นโยบายเปิดหรือทำให้เกิดข้อถกเถียง แต่อีกระดับหนึ่งในการลงมือปฏิบัติ มันคือการทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถมั่นใจว่าภายใต้กฎหมายที่เขามีอยู่และนโยบายที่กำลังจะออกมา เขาทำอะไรได้บ้าง
นี่เป็นความท้าทายอีกระดับหนึ่งแล้ว ว่าภายใต้ขั้นตอนระเบียบราชการ เราจะต่อสู้ในสนามของเขาอย่างไร ผมว่านี่คือพื้นที่การต่อสู้ใหม่ มันอาจไม่เร้าใจเหมือนพื้นที่บนท้องถนน แต่ในการเปลี่ยนแปลงภายใต้ระเบียบโครงสร้างที่มีอยู่ มันจับต้องได้ เพราะถึงที่สุดตำแหน่งฝ่ายบริหารก็มีความเกรงใจในหมู่ข้าราชการประจำอยู่
ทีมประกันสังคมก้าวหน้ามีนโยบายเพื่อแรงงานข้ามชาติอย่างไรบ้าง
ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกว่าผมจะไม่พูดนโยบายสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผมว่ามันเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวเกินไป นโยบายของทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่เราคุยกันมันจะมี 3 ระดับ ระดับแรกคือระดับที่ทำได้เลย ระดับต่อมาคือ ระดับที่ทำได้ภายในระยะเวลา 2 ปี และระดับสุดท้ายคือระดับที่ทำได้ในระยะยาว
ระดับที่ทำได้เลย คือระเบียบที่เป็นปัญหา ซึ่งสามารถแก้ไขโดยอำนาจคณะกรรมการประกันสังคม เราสามารถมีความเห็น เสนอ แก้ไข ปรับปรุงได้ แม้ว่าสุดท้ายคนอนุมัติจะเป็นรัฐมนตรี ขั้นตอนหนึ่งที่เป็นปัญหาของประกันสังคมคือ คุณต้องจ่ายก่อนแล้วไปเบิกทีหลัง ซึ่งพอต้องไปเบิกทีหลัง สำนักงานประกันสังคมทั้งจังหวัดมีอยู่ที่เดียว มันก็ไม่ง่ายอีก ขั้นตอนเหล่านี้ต้องลดลง
ทั้งหมดนี้หมายความว่าถ้าลดเงื่อนไขตั้งแต่การสรรหาในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมลงได้ ให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน ให้มีหน่วยเลือกตั้งกว้างขวางมากที่สุด คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติ แต่คือผู้ประกันตนทุกคน ผมคิดว่าการทำให้ประกันสังคมมีเสรีภาพจะช่วยตอบสนองต่อผู้ประกันตนทุกคน ซึ่งผมคิดว่าผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว และผมก็ไม่จำเป็นต้องพูดว่าผมจะทำเพื่อพวกเขา เพราะเราจะทำให้ประกันสังคมเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด ลดเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ถ้าปัญหามาจากกฎหมายระดับรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของคณะกรรมการประกันสังคม แล้วเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
อย่างที่บอกว่าเรามีนโยบาย 3 ขั้นตอน ในส่วนของนโยบายระยะยาวที่ต้องทำภายในระยะเวลา 3-5 ปี คือการเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขกฎหมายประกันสังคม กฎหมายนี้เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งต้องเสนอผ่านพรรคการเมือง แต่ในฐานะกรรมการเราก็ต้องทำให้ประกันสังคมสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้ ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่รวมถึงการติดตามการบริหารงานในพื้นที่
เรื่องที่ง่ายที่สุด ผมคิดว่าในการประชุมในแต่ละขั้น มันควรเปิดเผยได้แล้ว ประกาศไปเลยว่าการประชุมวันนี้มีวาระอะไรบ้าง ประชุมเสร็จก็ทำการแถลงข่าวออกมา แค่นี้ผมว่าก็สร้างมิติใหม่ในการบริหารได้พอสมควร
ในการทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่มีแนวคิดและจุดยืนในเรื่องรัฐสวัสดิการแตกต่างจากเรา จะทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
โดยพื้นฐานทั้งตัวแทนฝั่งนายจ้างและตัวแทนฝั่งลูกจ้างมีปัญหาพื้นฐานเหมือนกันอยู่แล้ว คือประกันสังคมไม่ได้ดูแลทั้งคู่ นายจ้างก็เหนื่อยในการต้องขึ้นทะเบียนคนงาน คนงานก็เหนื่อยกับการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ ผมว่าเรื่องของการลดเงื่อนไขขั้นตอนสิทธิประโยชน์น่าจะเป็นความเห็นร่วมกันได้ แล้วก็การเพิ่มสิทธิประโยชน์โดยไม่หักเงินเพิ่มจากฝั่งนายจ้าง นายจ้างกับลูกจ้างก็น่าจะไปด้วยกันได้
ประเด็นที่ท้าทายที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมนี่แหละที่เป็นเรื่องน่าจะถกเถียงกันมากกว่า
เอาเข้าจริงมันมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหาเชิงระดับโครงสร้าง เช่น วันนี้ผู้ประกันตนยังเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินดูแลสุขภาพตัวเอง เท่ากับว่าเป็นคนไทยที่ถูกเลือกปฏิบัติอยู่ แต่โดยหลักการก็คือคนไทยควรจะมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลชุดเดียวกัน มาจากงบประมาณของรัฐเหมือนกัน
ปัญหาอะไรบ้างที่ควรจับตามองสำหรับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้
หลักๆ ผมคิดว่าพอการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งที่ออกแบบมาโดยมีทั้งเงื่อนไขและอุปสรรค ตั้งแต่เรื่องของการลงทะเบียน การดูคุณสมบัติ การไปใช้สิทธิก็ไม่ง่าย มีผู้ลงทะเบียน 940,000 คน ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วก็เหลือประมาณ 800,000 กว่าคน ผมกังวลมากกว่าจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้ไปใช้สิทธิจะเหลือเท่าไร
การไปใช้สิทธิน้อยสำหรับผมไม่ได้เป็นปัญหา ผมกังวลว่ามันจะถูกใช้เป็นเหตุผลว่านี่ไง เราสร้างการมีส่วนร่วมแล้วไง แต่พวกคุณไม่มาเลือกตั้งเอง มันจะถูกอ้างว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความล้มเหลวและนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่ทำให้บอร์ดมาจากการแต่งตั้งเหมือนเดิม ซึ่งนี่จะเป็นความล้มเหลวมากกว่า
ผมกังวลว่านี่จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการประกันสังคม ดังนั้น ไม่ว่าจะมากจะน้อยก็ต้องรักษาการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด
-3
แรงงานข้ามชาติ กระดูกสันหลังที่ถูกมองข้าม
ทัศนคติของสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ประสบการณ์ส่วนตัวของผม ผมเจอคอมเมนต์ในโลกออนไลน์ค่อนข้างรุนแรง เขาจะพูดว่า เฮ้ย นี่มันแรงงานผิดกฎหมาย ทัศนคติเขาคือคุณจะได้รับการดูแลต่อเมื่อคุณเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งน่าเสียดายที่คนพวกนั้นที่คอมเมนต์ก็อยู่ในขบวนการแรงงานด้วย ไหนว่าพี่น้องกันไง
ในสังคมไทย เรายอมรับว่าเราจำเป็นต้องมีแรงงานข้ามชาติ ต้องเปิดกว้าง เราไม่มีพวกเขาไม่ได้ แต่คนที่มีทัศนคติเชิงลบ ผมว่าเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการผลิต ไม่ได้มีประสบการณ์กับแรงงานต่างชาติโดยตรง
ผมเชื่อว่าเราก็ไม่ได้อคติแบบชาตินิยมขนาดนั้น แต่มันอาจมีการนำเสนอข่าวแบบเหมารวม ว่าแรงงานข้ามชาติฆ่านายจ้างตาย แต่ข่าวที่นายจ้างฆ่าแรงงานข้ามชาติตายก็มีอีกเหมือนกัน
เรื่องที่ผมกังวล ผมคิดว่าสังคมไทยถูกปลุกปั่นโดยหน่วยงานความมั่นคงบางกลุ่ม IO ไทยไม่ได้ทำงานแค่กับทางการเมือง IO ไทยทำงานกับอคติในสังคมไทยด้วย หน่วยงานความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. ที่เคยมีบทบาทสำคัญในคดีค้ามนุษย์ปี 2558 คดีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา ถ้า กอ.รมน. ไม่สามารถสรุปบทเรียนได้ว่าหน่วยงานของคุณมีปัญหาอะไร ก็ไร้ความสามารถเกินไปแล้ว
คิดว่าอุดมการณ์ชาตินิยมส่งผลต่อชีวิตหรือสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างไร
ผมว่าชาตินิยมเป็นอัตลักษณ์ของเราที่คงจะปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็หวังว่าพอเราอยู่ในสังคมที่กว้างขึ้น ความเป็นชาตินิยมก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ความหลากหลายที่เราเจอในแต่ละวันจะสร้างความรู้สึกของการเป็นเพื่อนพี่น้องได้มากขึ้น
ผมเชื่อว่าสังคมที่เปิดกว้างจะลดถอนความเป็นชาตินิยมลงไป แต่สังคมที่พยายามจะปิดกั้นต่างหากที่คอยจะใช้ความเป็นชาตินิยมในการเป็นเครื่องมือปิดกั้นผู้อื่น
รัฐควรปรับวิธีคิดอย่างไรต่อเแรงงานข้ามชาติ ระหว่างเรื่องความมั่นคงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ผมก็คงไม่หวังอะไรกับรัฐบาลชุดนี้ ผมว่าการมีรัฐบาลในอนาคตที่เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น จะสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นให้กับทุกปัญหาในสังคมไทย และการจัดการปัญหาก็จะอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยพื้นฐาน
เหตุผลหนึ่งที่ผมอยากจะมาลงสมัครบอร์ดประกันสังคม เพราะผมว่าประกันสังคมคือระบบภาษีทางตรง ที่คนทำงานจ่ายแล้วได้สิทธิประโยชน์อย่างชัดเจน แม้วันนี้จะยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนที่จ่ายประกันสังคมรู้สึกว่าเขาทำงาน เขาจ่าย เขาได้ เขาภูมิใจที่ได้สร้างระบบนี้ขึ้นมา มันจะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนเห็นคุณค่าจากการทำงานของเขา
สุดท้ายคุณค่าของเราจะไม่อยู่ที่เราเป็นใคร แต่อยู่ที่ว่าเราทำงานแล้วเราจ่ายเข้าสู่ระบบภาษีไหม คุณค่าตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นทิศทางใหญ่ของประเทศนี้มากกว่า เรายังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยอยู่ในแคมป์ประมาณ 90,000 คน ที่รัฐบอกเขาว่าห้ามทำงาน เพราะพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราไม่ทำงานหาเลี้ยงชีพ เราจะเอาอะไรกันกิน คุณอยู่ที่บ้าน คุณรอข้าวแจกเดือนละ 5 กิโล มันเสียศักดิ์ศรีมากเลย มนุษย์โดยพื้นฐานเรามีคุณค่าเมื่อเราทำงาน ผมยังอยากให้เราเป็นสังคมที่เปิดกว้างกับทุกคน ให้พวกเขาแสดงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด และสังคมไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากคนกลุ่มนี้
นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล แรงงานข้ามชาติจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ไหม
ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ก็เหมือนกับกฎหมายแรงงานอื่นๆ คือไม่เคยแบ่งแยกสัญชาติ ดังนั้น ถ้าค่าแรงขั้นต่ำขึ้น จะแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติก็จะได้หมด นี่คือหลักการพื้นฐาน
โดยข้อเท็จจริง แรงงานข้ามชาติได้ค่าแรงมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ หลายคนที่มีประสบการณ์ก็ได้ถึง 400-500 บาทด้วยซ้ำ จะมีแค่บางส่วนที่เป็นทักษะขั้นต่ำจริงๆ ก็จะได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ตรงนี้ก็จะมีผลต่อต้นทุนของบริษัท แต่ก็จะเป็นต้นทุนในเชิงทางการมากๆ แต่ในเชิงอื่นๆ ผมมักไม่ค่อยเห็นว่าคนงานได้เงินที่ค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ แม้กระทั่งภาคการก่อสร้าง หลายคนที่ฉาบปูนได้ก็จะได้เขยิบไปที่ 400 หรือ 450 หรือ 500 บาท แล้ว ผมว่าอันนี้ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำแล้วล่ะ เอาเข้าจริง ปรับค่าแรงขั้นต่ำไปก็ปรับให้เท่ากับค่าแรงในปัจจุบันมากกว่า อาจทำให้ภาคธุรกิจต้องจ่ายมากขึ้น แต่เราเคยพูดเรื่องนี้กันมาเป็นหลายสิบปี ว่าเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ลดการใช้แรงงานลง เพราะงั้นถ้าวันนี้คุณต้องการกดค่าแรงลงเพื่อจะใช้แรงงานอย่างเต็มที่ เมื่อไรเศรษฐกิจไทยมันจะก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่ง
การขึ้นค่าแรงมันอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง แต่ก็ต้องถามสังคมไทยว่าเราพร้อมจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เมื่อไร ถ้าเราอยากเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราก็ต้องเจ็บปวดในบางช่วง ภาคเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้แรงงานขูดรีดอยู่ก็จะเจ็บปวด แต่ภาคเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานความสร้างสรรค์จะต้องได้รับการดูแลมากกว่านี้
วันนี้ เราอย่าจมปลักอยู่กับอดีตของเราที่อยู่บนฐานของการขูดรีดแรงงานเหมือนเดิม มองอนาคตกันเถอะ อนาคตของสังคมไทยที่ควรจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว พอค่าแรงสูง คุณอาจบอกว่ามันจะดึงดูดแรงงานให้หลบหนีเข้ามาแน่ๆ ก็ในเมื่อภาคธุรกิจของเราไม่ได้ใช้คนอย่างเต็มที่เหมือนเดิม เราก็ใช้คนน้อยลงได้ ที่เหลือพอภาคเศรษฐกิจเรามีคนงานเพียงพอ การย้ายถิ่นมันก็จะเกิดขึ้นน้อยลง และเข้าสู่สมดุลที่ต้นทางปลายทางอยู่ด้วยกันได้
อนาคตของแรงงานข้ามชาติในไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรกับแรงงานข้ามชาติ
ผมคงไม่โทษรัฐบาลชุดนี้ ผมว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีกรอบนโยบายในการจัดการแรงงานที่ชัดเจนของตัวเอง พอไม่มีกรอบ ก็ต้องอาศัยแนวทางของกระทรวงแรงงาน คือระดับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงและกรมที่ทำเรื่องพวกนี้จะชงขึ้นมาว่าจะทำอะไรแบบไหนบ้าง
ปัญหาก็คือว่ากรอบที่เจ้าหน้าที่ยึดถือตอนนี้มีปัญหา อย่างที่บอกว่ากระทรวงแรงงานตอนนี้พยายามยึดแนวทางตามข้อตกลงในการนำเข้าแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้าน และหวังว่าการนำเข้าแรงงานตาม MOU จะทดแทนการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายได้หมด ซึ่งผมก็ยืนยันว่าเราไม่เคยทำได้ แล้วสุดท้ายแรงงานผิดกฎหมายก็จะกลับมาซ้ำอีกในอีกไม่นาน ถ้าเหตุการณ์ในพม่ายังไม่จบและลาวก็ไม่ดีขึ้น ผมว่าเราจะมีปัญหาเรื่องแรงงานผิดกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง