ใกล้เวลาย่ำค่ำของวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่มีหมุดหมายอยู่ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน เมื่อกวาดตามองก็เห็นกลุ่มคนใส่ชุดสีกากีกระจายกำลังอยู่ทั่วพื้นที่ เป็นสัญญาณว่าใกล้ถึงบริเวณที่จัดกิจกรรมวันนี้แล้ว เป้าหมายคือการร่วมฟัง สนท. หรือสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย อ่านประกาศคณะราษฎรอีกครั้งในโอกาสครบรอบ 88 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเพื่อย้ำเตือนคำพูดตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันนี้ว่า “ใครคือเจ้าของประเทศนี้?”
เมื่อเดินเข้าไปใกล้มากขึ้นก็เห็นฝูงชนผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยมารวมตัวกันบนสกายวอล์คหลายร้อยคน ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประกบอยู่ทุกระยะ ทั้งใกล้และไกลกว่าร้อยนาย รวมถึงสื่อมวลชนมากมายทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมกันบันทึกภาพเหตุการณ์ครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบได้ทดลองเครื่องเสียงและแจ้งให้สื่อมวลชนอยู่หลังแนวรั้วกั้นแยกผู้ชุมนุมกับนักข่าวให้ชัดเจนเพื่อคัดกรองในกรณีมีผู้กระทำผิด รวมทั้งให้เว้นระยะห่างและระวังการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”
– ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
ข้อความบนป้ายไวนีลสีดำพร้อมภาพประกอบเป็นมือข้างขวาคว่ำลงโดยมีเชือกผูกอยู่ที่ปลายแต่ละนิ้ว เส้นเชือกโยงใยลงมาผูกติดกับภาพชายในเครื่องแบบทหารชั้นนายพลหน้าคล้ายนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แต่ไม่สามารถระบุได้เนื่องจากมีการคาดแถบดำที่ดวงตา และมีภาพรถถังอยู่ข้างหลัง ในเส้นเชือกเดียวกันนั้นโยงลงมาข้างๆ กันผูกไว้กับไพ่คิงส์ 1 ใบที่ขนาดใหญ่กว่าทหารนายนั้น ค้ำศาลพระภูมิขนาดเล็กกว่า ส่วนด้านล่างเป็นพื้นสีขาวดำลายตารางหมากรุก มีลิงกำลังกัดกินกล้วยที่ยังไม่ได้ปอกเปลือก
เมื่อถึงเวลา 18.00 น. เพลงชาติไทยบรรเลง เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการอ่านประกาศคณะราษฎร โดยนักศึกษา สนท. พร้อมหมุดคณะราษฎรจำลอง และพานรัฐธรรมนูญจำลอง ท่ามกลางผู้คนรายล้อมในบรรยากาศกลางแยกปทุมวันที่การจราจรจอแจ ภายใต้ท้องฟ้าสว่างไสวเป็นฉากหลัง
เมื่ออ่านถึงข้อความสำคัญ เสียงไชโยโห่ร้องก็ดังกึกก้องตามมา จนกระทั่งอ่านประกาศฯ จบ กลุ่ม สนท. จึงกล่าวปิดท้ายกิจกรรมนี้ไว้ว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร เป็นของราษฎร เป็นของราษฎร เป็นของราษฎร เป็นของราษฎร เป็นของราษฎร…” เสียงตะโกนของเหล่าประชาชนเปล่งประโยคเดิมซ้ำๆ ออกมาโดยพร้อมเพรียง และยกมือขึ้นชู 3 นิ้ว ย้ำคำตอบของคำถามที่ว่า “ใครคือเจ้าของประเทศนี้?”
กิจกรรมจบลงภายในเวลาประมาณ 15 นาที มีการถือป้าย “คณะราษฎร…ยังไม่ตาย” รวมถึงป้าย #Saveวันเฉลิม เพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจละเมิดสิทธิผู้อื่น และมีการถ่ายรูป พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นกลุ่มๆ
ประชาธิปไตย ต้องไปต่อ
ลุงน้อย ชาวเพชรบุรีวัยเกษียณ หนึ่งในผู้ที่มาร่วมฟังการอ่านประกาศคณะราษฎรที่มีใจมุ่งมั่นอยากเห็นประชาธิปไตยในประเทศนี้เป็นของทุกคน โดยสวมเสื้อยืดสีดำสกรีนตัวอักษรภาษาไทยสีขาวไว้ว่า ‘ประชาธิปไตย ต้องไปต่อ’ และอีกบรรทัดคือข้อความภาษาอังกฤษสีแดงเขียนว่า ‘Democracy Forward’
ย้อนกลับไปสมัยที่ลุงน้อยเรียนอยู่ชั้น มศ.2 ได้เห็นข่าวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่นิสิต นักศึกษา และประชาชน ถูกทำร้ายจากทหาร เนื่องจากการประท้วงในเวลานั้น ทำให้เริ่มสนใจการเมืองและเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่ม สนท. มาตลอด
ลุงน้อยอธิบายว่า การออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการแสดงออกถึงอุดมการณ์ที่มีอยู่ ออกมาส่งเสียงสนับสนุน ถ้ามีโอกาสมาร่วมได้ก็จะมาร่วมตลอด
“ไม่มีระบอบไหนที่ดีเท่ากับระบอบประชาธิปไตยอีกแล้ว ผมเชื่อ ระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด เลวน้อยที่สุด มีการตรวจสอบได้” ลุงน้อยพูดในขณะที่สายตาแสดงถึงความมุ่งมั่น
ข้าวปั้น นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 และ แทน นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศ ชวนกันมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ถึงแม้ทั้งคู่จะมองว่าการออกมาเคลื่อนไหวในวันนี้อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันใดมาก แต่อย่างน้อยก็ช่วยสร้างการรับรู้ให้ผู้คนหันมาสนใจและเห็นความสำคัญของกิจกรรมรำลึกคณะราษฎร
“วันนี้เป็นวันที่เราควรจะออกมาเฉลิมฉลอง เพราะถือเป็นวันเริ่มต้นความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพในบ้านเมืองเรา กลับกัน ภาครัฐกลับนิ่งเฉยกับวันนี้ ผบ.ทบ. กลับเลือกวันนี้ที่จะไปรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดช”
หนึ่งในผู้มาแสดงสิทธิและเสรีภาพด้วยการเขียนป้าย #saveวันเฉลิม ระบุว่า อยากให้ชนชั้นนำรู้ว่าอำนาจไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของเราทุกคน และมองว่าทุกชนชั้นล้วนถูกกดขี่ ซึ่งคณะราษฎรได้ทำถูกต้องแล้วที่ทำการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็อาจจะตกเป็นเมืองอาณานิคมได้ เนื่องจากเป็นชาติสุดท้ายที่เปลี่ยนแปลง
“อยากให้ทุกคนตระหนักเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะอำนาจเป็นของเราทุกคน แต่เขาทำให้เราเชื่อว่าอำนาจอยู่ที่เขาเพียงคนเดียว แต่จริงๆ แล้วถ้าเราพร้อมใจ ไม่ว่าตำรวจ หรือทหาร คนในราชการ พร้อมใจกันออกมาส่งเสียงว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นธรรม ไม่ชอบธรรม เขาก็ไม่มีอำนาจต่อไป เพียงตำแหน่งหรือยศฐาทำให้เขามีอำนาจ”
ประชาธิปไตยยังไม่เคยเต็มใบ
บุ้งกี๋ และ นิว ตั้งใจมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ แต่ไม่ทันได้ร่วมฟังการอ่านประกาศคณะราษฎร เนื่องจากเดินทางมาไกล ทั้งคู่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมที่เพิ่งจบลง
นิวบอกว่า 24 มิถุนายน 2475 คือวันสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศที่จากเดิมปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทุกวันนี้ผ่านมา 88 ปีแล้ว ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ
บุ้งกี๋บอกความรู้สึกถึงการออกมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นเหมือนการแสดงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เพราะยังมีอีกหลายๆ คนที่ยังไม่รู้ว่าวันนี้คือวันอะไร ไม่รู้ว่าวันนี้เคยเป็นวันชาติมาก่อน ให้พวกเขาได้รู้ถึงความสำคัญของวันนี้
“ประชาธิปไตยไม่ได้สำคัญกับเราคนเดียว แต่มันแฟร์กับทุกคน การปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ทั้งสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับสิทธินั้น เป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้”
แม้ว่าการชุมนุมจะจบลงไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบยังคงเฝ้าตรึงกำลังอยู่ ณ จุดเดิม เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์วันนี้ในฐานะผู้มาดูแลความสงบในการจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่รายหนึ่งตอบเพียงว่าให้สัมภาษณ์ไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ในเวลาปฏิบัติงาน ส่วนเจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งบอกว่า ตนไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับวันนี้เลยว่าคือวันอะไร จึงให้สัมภาษณ์ไม่ได้
การอ่านประกาศคณะราษฎรสามารถอ่านที่ไหนก็ได้ แต่การออกมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นการออกมาเพื่อประกาศให้สังคมรู้ว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 สำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร แม้จะต้องใช้วัตถุจำลองทดแทนหมุดจริงที่หายไป แต่ประวัติศาสตร์จะยังคงได้รับการจดจำ