กางตัวเลขกลางหมอกควัน ฤดูพิษที่แก้ไม่ได้ด้วยการปลูกผักชีและชี้นิ้วหาคนผิด

 

ต้นปีนี้คนทั้งประเทศตื่นตัวกับหมอกควันเฉกเช่นต้นปีที่ผ่านๆ มา หลังจาก PM2.5 สร้างปัญหาให้ผู้คนกลางมหานคร กระแสนี้พลอยทำให้เรื่องหมอกควันภาคเหนือซึ่งอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันถูกพูดถึงและเป็นวาระการรับรู้ระดับชาติอยู่พักใหญ่ๆ แต่ก็อย่างที่เห็นคือ พอสถานการณ์คลี่คลายเราก็เลิกคุยมันเสียดื้อๆ
 
เราจึงปัดฝุ่นวาระนี้มาคุย โดยยกเอาพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศมาก่อนใคร เพราะเมื่อรู้เหนือย่อมรู้ใต้
 

หมอกควันภาคเหนือ

3 เดือนสีเทา เราจะกลับมาในเดือนแห่งความรัก

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์และการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงของประเทศไทย ปี 2560 โดยกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยกรณีหมอกควันในภาคเหนือระบุว่า เมื่อฤดูกาลเดินทางมาถึงช่วงแล้ง ฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ผลของปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพื้นที่สารพัด ตั้งแต่เรื่องสุขภาพอนามัย การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การจราจรทางบก กระทั่งการบินก็ไม่เว้น

ช่วงเวลาดังกล่าวนำมาซึ่งการรายงานผลอย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อดูว่าในช่วง 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ของปี 2556-2560 นั้นสภาพอากาศเป็นอย่างไร ผลก็คือ แม้ตัวเลขจะแกว่งไปมาบ้างแต่ค่า PM10 ก็อยู่ในระดับสูงทั้งนั้น โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

โดยหากไล่เรียงรายปีจะพบตัวเลขตั้งแต่ 428, 381, 324, 317 และ 237 ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่ก็คือ ค่ามาตรฐานของ PM10 นั้น องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนมาตรฐานแบบไทยๆ คือไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งแน่นอนว่า ค่าเฉลี่ยของทุกปีนั้นฉีกมาตรฐานทั้งของไทยและของโลกจนขาดวิ่นอยู่ดี

หมอกควันภาคเหนือ

1 เดือนเป็นอย่างน้อย ที่ต้องอยู่กับหมอกควันเกินมาตรฐาน

หากพิจารณารายจุด จะพบว่าพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดคือ ตำบลดงปะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งวัดในวันที่ 24 มีนาคม 2560 ได้ 237 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้จะเป็นปริมาณที่สูงแต่ก็ลดลงจากเดิมซึ่งเคยวัดจุดพีคสุดได้ถึง 317 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

ค่าดังกล่าวสอดคล้องกับจำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ซึ่งปี 2560 มี 38 วัน ลดลงจากปี 2559 ซึ่งมีถึง 61 วันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ตัวเลขนี้เหมือนจะหลอกให้ดีใจ แต่โปรดอย่าลืมว่า นั่นหมายถึงมากกว่า 1 เดือนที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศที่เป็นอันตรายต่อชีวิต กระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยโรคหอบหืด และโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อมองย้อนกลับไปไกลกว่านั้นจะพบว่า ในรอบ 5 ปีที่มีรายงานออกมา ไม่มีปีใดเลยที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานน้อยกว่า 1 เดือน ตั้งแต่ปี 2556-2560 จะพบจำนวนวันไล่เรียงลำดับตามปีคือ 46, 48, 42, 61 และ 38 วัน ย้ำว่านี่คือตัวเลขของจำนวนวันที่มีฝุ่นเกินมาตรฐานที่มีการรายงานช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ของทุกปี

หมอกควันภาคเหนือ

90 ล้านบาท/ปี/จังหวัด เอาไปจัดการเรื่องหมอกควัน

จะบอกว่ารัฐทำเป็นไม่เหลียวมองก็ไม่ได้ เพราะตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาในภาคเหนือตลอดมา มีหน่วยงานอย่างศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ 3 ระดับ ไล่เรียงตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการแบบ Single Command

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลยังอนุมัติงบประมาณอัดฉีดมาให้อีกปีละ 90 ล้านบาท สำหรับ 9 จังหวัดภาคเหนือเพื่อไปดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ

ไม่ช่วยแค่เงิน แต่รัฐยังสนับสนุนคนจากกองทัพภาคที่ 3 ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งเฝ้าระวังและจัดทำแนวกันไฟ พร้อมเข้าดับไฟก่อนเกิดการลุกลาม มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า รวมทั้งผลักดันให้เรื่องหมอกควันเป็นปัญหาร่วมของอาเซียนผ่านแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 (Chiang Rai 2017 Action for Transboundary Haze Pollution Control in the Mekong Sub-Region) เพราะปัญหาหมอกควันไม่ได้มีเขตแดน โดยมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะปลอดหมอกควันในปี 2563 ซึ่งนับนิ้วมือจากซ้ายไปขวาแล้วก็พบว่าเราเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนเท่านั้น

หมอกควันภาคเหนือ

10,000 ล้านบาท ควันลอยมา เงินลอยไป

ภาคเหนือคือพื้นที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของไทย นักท่องเที่ยวทยอยแบกเป้เดินทางมาเยี่ยมชมเมืองและธรรมชาติกระทั่งสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะหนาตาเป็นพิเศษ โรงแรมถูกจองเต็ม ร้านรวง ธุรกิจภาคบริการอื่นๆ ก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 ปรากฏว่ายอดการจองห้องพักลดเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุก็มาจากหมอกควัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเฉพาะเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ว่ามีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท

ยังไม่นับความเสียหายทางสุขภาพซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เก็บสถิติในวันที่ 6 มกราคม – 16 มีนาคม 2562 ว่าพบผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจมากเป็นอันดับ 1 ถึง 40,383 ราย ขณะที่อันดับ 2 เป็นกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด ซึ่งพบผู้ป่วย 29,651 ราย ส่วนอันดับ 3 คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ซึ่งพบผู้ป่วย 2,783 ราย และ 2,373 ราย ตามลำดับ

หมอกควันภาคเหนือ

19,130 Hotspot ประเทศไทยในแวดล้อมแห่งไฟ

การวัดจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศรายรอบเพื่อนบ้านเราเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2562 พบตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อจุดสีแดงที่แสดงถึงความร้อนนั้นมีมากถึง 19,130 จุด โดยอันดับ 1 คือ ประเทศไทย 6,458 จุด อันดับ 2 เมียนมาร์ 5,336 จุด อันดับ 3 ลาว 4,715 จุด อันดับ 4 กัมพูชา 1,632 จุด อันดับ 5 เวียดนาม 882 จุด และอันดับ 6 คือ จีน 107 จุด

ข้อมูลเหล่านี้อธิบายว่า หมอกควันที่ปกคลุมประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือนั้นมาจากประเทศของเราเองมากที่สุด และสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเมื่อมองภาพรวมว่าประเทศรายรอบก็มีส่วนในการสร้างปัญหาเช่นกัน และเมื่อพิจารณาว่าหมอกควันไม่ได้มีพรมแดน ควันบ้านฉันจึงลอยไปถึงบ้านเธอกระทั่งผู้คนทั้งภูมิภาคเจอปัญหาร่วมเดียวกัน

ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้มาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม หากพิจารณากรณีจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นแอ่ง และอากาศนิ่ง ยิ่งทำให้เกิดฝุ่นควันสะสมจนเกินมาตรฐาน หากมองตามแผนที่ Hotspot ที่พบวงกลมแดงเต็มไปหมดก็พบว่าส่วนมากเกิดไฟในพื้นที่ป่ามากกว่าพื้นที่เกษตร กระนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นการเผาจากพื้นที่เกษตรแล้วลามไปยังพื้นที่ป่า

คำถามที่น่าสนใจคือ พืชชนิดใด ไร่นาประเภทไหน และเกษตรกรรมแบบใดที่บีบให้ผลัดปลูกผลัดเผากระทั่งสร้างปัญหากระทบผู้คนในภูมิภาคนี้ไม่หยุดหย่อน

หมอกควันภาคเหนือ

5 ความเหลื่อมล้ำ เข้าใจปัญหาก่อนกลายเป็นลิงแก้แห

หมอกควันมาทีไร นิ้วชี้ของเราก็มักพุ่งออกไปจากตัวเอง เป้าหลักที่เล็งก็มักเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ครั้นจะหาวิธีการแก้ปัญหา ข้อเสนอต่างๆ ก็มักจะว่าด้วยมาตรการลงโทษ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไล่ให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพหรือเลิกปลูกพืชแบบเดิมก็มี

คำถามคือมันแก้ปัญหาได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ?

สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นี่คือรายชื่อขององค์กรที่พยายาม ‘เชื่อมความรู้ที่หลากหลายสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Inclusive Knowledge and Policy Interface for Coping with Haze) กรอบคิดบางประการจากการร่วมผลักดันเรื่องหมอกควันเหล่านี้ก็คือ การมองเข้าไปให้ลึกในม่านหมอกของความคิดเพื่อให้เห็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ซ่อนอยู่ในนั้น เพราะหากเริ่มต้นแก้ปัญหานี้ด้วยการมุ่งจัดการและหาคนผิดโดยไม่คำนึงถึงโครงสร้างของปัญหาที่สะสมอยู่ โอกาสในการแก้ปัญหาเก่าเพื่อสร้างปัญหาใหม่ก็มีสูง

  1. ความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรมระหว่างเมืองกับชนบท (Spatial Inequality) มองให้เห็นว่านอกจากภาคเกษตรกรรมแล้ว กิจกรรมในเมืองก็มีส่วนในการสร้างปัญหา มิพักต้องพูดถึงภาคอุตสาหกรรมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยของมลภาวะทางอากาศ
  2. ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ (Knowledge Inequality) การใช้วิทยาศาสตร์นำไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีหรือดัชนีต่างๆ มาอธิบายโดยละเลยความรู้ทางสังคมทำให้เกิดความคับข้องใจระหว่างคนเมืองกับคนชนบท เพราะมุมมองว่าเรื่องหมอกควันเป็นปัญหาร่วมนั้นไม่เกิด ต่างฝ่ายต่างชี้หน้ากันว่าเป็นปัญหาที่ ‘เธอ’ สร้างแล้วกระทบมาถึง ‘ฉัน’
  3. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (Economic Inequality) เรามักมองว่าหมอกควันจากภาคเกษตรกรรมทำให้เกิดปัญหาต่อการท่องเที่ยวของเมือง ตลอดจนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาชีพไปทำอย่างอื่นนอกจากเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ทั้งที่คนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้มีความเสี่ยงและความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจครัวเรือน เกษตรกรแต่ละครัวเรือนมีที่ดินราว 30-50 ไร่ ขณะที่แรงงานในครัวเรือนกลับมีเพียง 2-3 คน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การจะปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือใช้วิธีการอื่นในการเกษตรย่อมเป็นเรื่องยากตามมา
  4. ความเหลื่อมล้ำในเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Inequality) ข้อค้นพบจากโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน ปี 2561 คือ มาตรการควบคุมคนชนบทไม่ให้เผาซังข้าวโพดนั้นได้ผลเป็นอย่างดี แต่ในปีเดียวกันนี้สถานการณ์หมอกควันกลับทวีความรุนแรงขึ้นมาเฉยเลย ตัวอย่างนี้อธิบายให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่คนที่เป็นปัจจัยของปัญหา แต่สภาวะโลกร้อนนำมาซึ่งไฟป่าทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งความกดอากาศต่ำก็ทำให้หมอกควันไม่หนีหายไปไหน
  5. ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม (Cultural Inequality) เหตุผลประการหนึ่งในการเผาก็คือ มันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีทางการเกษตรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิต การปรับตัวเป็นอย่างอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย ตัวอย่างนี้หากเปรียบเทียบก็เหมือนคนเมืองที่สร้างมลภาวะจากการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล การบริโภคอาหารปิ้งย่างที่มีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง หากต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ก็ยากเช่นกัน

ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่ยกมาอย่างย่นย่อเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัญหานี้จะยืนมองอย่างแบนๆ จากฝั่งใดของเหรียญแล้วตัดสินใจแก้ปัญหาไม่ได้ กระทั่งการจัดการอย่างยั่งยืนก็มิอาจทำแบบลูบหน้าปะจมูกหรือพึ่งพิงองค์ความรู้จากฟากใดฟากหนึ่งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องจับมือผู้คนที่อยู่ใต้ม่านหมอกเดียวกันนี้ขบคิดอย่างเข้มข้นเพื่อนำไปสู่หนทางใหม่อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่สำหรับภาคเหนือ แต่หมายรวมถึงเมืองใหญ่ และภูมิภาคด้วย

อ้างอิง

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า