กระทรวงแรงงานเปิดรับฟังความเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th ซึ่งจะปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ร่างกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมใหม่ จากเดิมที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันสังคม มาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยจะมีการเพิ่มเพดานการคำนวณใหม่
กระทรวงแรงงานให้เหตุผลในการปรับปรุงฐานค่าจ้างว่า เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม
เดิมที ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่ได้รับต่อเดือน ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 กำหนดจำนวนเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และขั้นสูงไม่เกิน 15,000 บาท นั่นคือ ผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบ 750 บาท ส่วนผู้ที่เงินเดือนเกิน 15,000 บาทไปแล้ว ก็จ่ายเพียง 750 บาทเช่นกัน
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงเสนอปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท แบบค่อยเป็นค่อยไป สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท ดังนี้
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป บังคับใช้กับผู้ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
กฎกระทรวงฉบับนี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 บางส่วนอาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น โดยสรุปคือ
- ปี 2567-2569 ผู้มีเงินเดือน 15,000 บาท ยังจ่ายเงินสมทบ 750 บาทเท่าเดิม แต่ผู้ที่มีเงินเดือน 17,500 บาท หรือมากกว่านั้น จะต้องจ่ายเงินสมทบ 875 บาท
- ปี 2570-2572 ผู้มีเงินเดือน 20,000 บาท หรือมากกว่านั้น จะต้องจ่ายเงินสมทบ 1,000 บาท
- ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ผู้มีเงินเดือน 23,000 บาท หรือมากกว่านั้น จะต้องจ่ายเงินสมทบ 1,150 บาท
ในเว็บไซต์รับฟังความเห็นดังกล่าวระบุถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มขึ้น ได้แก่
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน