ข้อสอบวิชา ‘สาระร่วมสมัย’ ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปลายภาคการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา สร้างความฮือฮาและดรามาไปพร้อมกันบนหน้าสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากเป็นการทดสอบด้วยปากเปล่า (Oral Test) โดยให้นักเรียนสุ่มจับฉลากคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมร่วมสมัย ก่อนอธิบายคีย์เวิร์ดเหล่านั้นภายในระยะเวลา 3 นาที ตามด้วยการถูกผู้สอนถามกลับ 2 คำถาม ซึ่งมีเวลาตอบ 2 นาที
ความน่าสนใจคือ คีย์เวิร์ด 50 คำนั้น คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและการเมืองที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
คีย์เวิร์ดสำหรับการตอบคำถามด้วยปากเปล่าดังกล่าว ถูกฝ่ายขวาไทยมองว่า เป็นเรื่องอ่อนไหว เกินกว่าความคิดและจิตใจอันเปราะบางของฝ่ายอนุรักษนิยมจะยอมรับได้ ทำให้พวกเขาประสานเสียงแสดงความคิดเห็น จุดประเด็นดรามา ต่อการสอบของนักเรียนครั้งนี้ว่ามีความไม่เหมาะสม อะไรคือมาตรฐานหรือเกณฑ์การให้คะแนนจากคำตอบของนักเรียน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้สอนว่ามีความเข้าใจข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ หรือไม่ หรือยิ่งดึงเข้าสู่ประเด็นทางการเมืองว่าเป็นความพยายามในการแทรกซึมของพรรคก้าวไกลในระบบการศึกษาก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม เสียงสนับสนุนการสอบวิชาสาระร่วมสมัยของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองก็มีท่วมท้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวจากเพจดังอย่าง ‘กรรมกรข่าว’ ว่า วิธีเช่นนี้ทำให้การเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาสร้างสรรค์ ไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่การท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองเพื่อมาตอบข้อสอบปรนัย สร้างความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) สอนให้เด็กคิดเป็น มีเสรีภาพทางความคิด เปิดศักยภาพทางปัญญาของเด็กไทย สามารถให้เหตุผลในการตอบได้ อีกทั้ง 50 คีย์เวิร์ด ยังเป็นประเด็นร่วมสมัย น่าศึกษา และร่วมกันหาคำตอบให้กับสังคม
ประเด็น ‘การศึกษาไทย’ หากจะกลับมานั่งวิพากษ์วิจารณ์กัน คงไม่อาจพูดจบได้ในวันเดียว โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษาที่เป็นวิชาเปิดกว้างทางความคิดเห็น มีคำตอบไม่ตายตัว ต้องใช้เหตุผลและหลักฐานเข้าอภิปราย แสดงให้เห็นถึงเสรีภาพและความหลากหลายในการคิด ไม่ใช่การครอบงำทางปัญญา หรือนำเสนอประวัติศาสตร์ชาตินิยมเพียงด้านเดียว ที่มุ่งสั่งสอนให้คนเชื่อง ไร้ซึ่งความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้แต่การใช้วิจารณญาณก็ตาม
หลายปีที่ผ่านมา ‘การศึกษาฟินแลนด์’ กลายมาเป็นต้นแบบในอุดมคติของคนไทยจำนวนมาก ที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งตอบโจทย์ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน เป็นการศึกษาจากล่างสู่บน (นักเรียน-ครู-กระทรวง) ไม่เน้นการสอบวัดผล (แต่มีการประเมิน) เน้นความเสมอภาค เคารพความแตกต่างในสังคม ทำให้ฟินแลนด์กลายมาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
การออกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัยของครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง กำลังสะท้อนภาพระบบการศึกษาของฟินแลนด์ในแดนกะลาแลนด์อย่างชัดเจน เนื่องจากครูฟินแลนด์สามารถออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้อย่างอิสระ และยิ่งเป็น ‘วิชาสังคมศึกษา’ ด้วยแล้ว การให้อิสระทางความคิดแก่ผู้เรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะสร้างสังคมให้เจริญรุดหน้าอย่างมีวุฒิภาวะ
ฟินแลนด์เรียนวิชาสังคมศึกษาอย่างไร
วิชาสังคมศึกษา (Social Studies) ของฟินแลนด์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากหลักสูตรปี 2019 (Lukion opetussuunnitelman perusteet 2019) ถูกออกแบบมาให้นักเรียนสามารถสร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงสังคมที่ห้อมล้อมพวกเขาอยู่ มากกว่าการชี้นำทางสังคมแบบใดแบบหนึ่ง เน้นยํ้าถึงคุณค่า ความเท่าทเียม การรับผิดชอบต่อสังคม สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก การเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย บนพื้นฐานของการศึกษาแบบสหวิทยาการ (Interdisciplines) ที่เน้นสร้างความเข้าใจทางสังคมให้กับตัวผู้เรียน โดยมีจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้คือ
- เข้าใจธรรมชาติของสังคมในฐานะ ‘วิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์’
- เข้าใจพื้นฐานทางระบบทางสังคมและเศรษฐกิจ และสามารถเข้าใจในบริบทระหว่างประเทศได้
- เข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญของรูปแบบทางความคิด (Concept) ทางสังคมและเศรษฐกิจ
- ตระหนักถึงโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือใช้ช่องทางภาคประชาสังคมในการผลักดันประเด็นหรือวาระทางสังคม
- สามารถใช้วิจารณญาณในการประมวลข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์
- สามารถสร้างวิธีคิดทางสังคมที่วางอยู่บนความรับผิดชอบ ความอดกลั้น และเคารพในความเท่าเทียมเสมอภาค ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
นอกจากจุดมุ่งหมายปลายทางแล้ว เนื้อหาของหลักสูตรนั้นมีลักษณะในการวางโครงร่างทางหลักสูตรเอาเป็นพื้นฐาน ว่าเด็กมัธยมปลายจะต้องเรียนในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เพื่อที่จะต้องบรรลุจุดหมายที่ตั้งไว้ ผู้สอนมีอิสระในการออกแบบการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษา โดยทำการแบ่งโมดูลภาคบังคับ 3 โมดูล โมดูลละ 2 หน่วยกิตด้วยกันคือ วิชาการเมืองและสังคม วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาสหภาพยุโรป และโมดูลเสริมคือ วิชาพลเมืองและกฎหมาย โดยในแต่ละวิชาจะมีเนื้อหาดังนี้
วิชาการเมืองและสังคม
- สังคมฟินแลนด์ – โครงสร้างทางสังคม รัฐสวัสดิการ
- แนวคิดเรื่องอำนาจ – แนวคิดเรื่องอำนาจ ระบบการเมือง
- ประชาธิปไตยและประชาสังคม
- นิติรัฐ – สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน อำนาจตุลาการ การบังคับใช้กฎหมาย
วิชาเศรษฐศาสตร์
- ที่มาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฟินแลนด์ – ผลผลิตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการทำให้เป็นอุตสาหกรรม การบริการสังคม
- กิจกรรมทางเศรษฐกิจ – แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์และเสรีนิยมใหม่
- นโยบายสาธารณะด้านเศรษฐกิจ
- ฟินแลนด์และการค้าระหว่างประเทศ – โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์
- การบริหารการเงิน การออม การใช้จ่าย และการก่อหนี้
วิชาสหภาพยุโรป
- อัตลักษณ์ยุโรป – คุณค่าสากลของยุโรป และการเป็นพลเมืองยุโรป
- สหภาพยุโรป – อำนาจของสหภาพยุโรปในฐานะองค์กรเหนือรัฐ ระบบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ฟินแลนด์ในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป
วิชาพลเมืองและกฎหมาย
- กฎหมายเบื้องต้น – ประวัติศาสตร์กฎหมายฟินแลนด์ ระบบกฎหมาย แนวคิดเบื้องต้นทางนิติศาสตร์
- กฎหมายพลเมืองเบื้องต้น – กฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
- อาชญากรรมและกระบวนการทางกฎหมาย – กระบวนการทางกฎหมาย การลงโทษ กฎหมายระหว่างประเทศ และการอุทธรณ์
แม้ฟินแลนด์จะไม่มีการสอบ แต่จะต้องผ่านการประเมินพัฒนาการ ทักษะ ทัศนคติ และพฤติกรรม ผ่านการประเมินด้วยวิธีการสอบปากเปล่า (Oral Evaluation) ควบคู่ไปกับการประเมินด้วยการเขียน (Written Evaluation) แต่การประเมินนี้ก็วางอยู่บนความสามารถในการค้นหาข้อมูล การทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ประเมินผล และประยุกต์ใช้ข้อมูล ทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถที่หลากหลายและแตกต่างของตัวผู้เรียนเอง จากการประยุกต์สิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้
อ้างอิง
- Lukion opetussuunnitelman perusteet 2019
- One of the Countries That Turkey Models: Finland Secondary Education Social Studies Curriculum