โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม จากการเสพติดในรสชาติ ‘หวาน มัน เค็ม’ เกินพอดี
กล่าวเฉพาะ ‘ความเค็ม’ มีหลักฐานวิชาการยืนยันว่า การบริโภคเกลือและโซเดียม (sodium) มากเกินความต้องการของร่างกาย มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญ
ถัดจากนี้คือ ข้อค้นพบทางวิชาการที่สะท้อนถึงพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียมของคนไทย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างน่าเป็นห่วง
วิกฤตการณ์เกลือและโซเดียม
- องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน (1 ช้อนชา) เพื่อลดความชุกของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ
- ผลการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทยครั้งแรกในปี 2550 โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมถึง 2 เท่า
- การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชากรไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,264 มิลลิกรัมต่อวัน
- การสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 1-5 โดยกรมอนามัย พบว่า คนไทยส่วนมากร้อยละ 98 บริโภคเครื่องปรุงรสทุกวัน โดยเครื่องปรุงรสที่นิยมมากที่สุดคือ น้ำปลา รองลงมาคือ กะปิและเกลือ ตามลำดับ
- รายงานวิจัยการสำรวจสถานการณ์การแสดงข้อมูลโภชนาการและปริมาณโซเดียมบนฉลากอาหาร ในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ปี 2555-2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า แหล่งของเกลือและโซเดียมที่ประชาชนไทยได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีมากที่สุดคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีโซเดียมอยู่ที่ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค รองลงมาคือ อาหารแช่เย็นแช่แข็ง 400-1,500 มิลลิกรัม โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 400-1,200 มิลลิกรัม ผลิตภัณฑ์กลุ่มปลาเส้น 300-900 มิลลิกรัม เครื่องปรุงรส เช่น ซอส ซีอิ๊ว น้ำปลา ผลปรุงรส 201-300 มิลลิกรัม เป็นต้น
เค็ม-ป่วย-เจ็บ-ตาย
- การได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไต และเพิ่มความรุนแรงของโรคเบาหวาน
- ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เกิดจากสาเหตุแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน และร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีสาเหตุแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง
- ปี 2551 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รายงานการคัดกรองและประมาณการณ์เบื้องต้น พบว่า ความชุกของโรคไตเรื้อรังในประชากรผู้ใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 17.5 และคาดว่าประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน
- ในจำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ประมาณ 3 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรัง แม้กระทั่งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรัง
- จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง หรือปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นจาก 419.9 ต่อประชากร 1 ล้านคน ในปี 2550 เป็น 905.9 ต่อประชากร 1 ล้านคน ในปี 2555
- ค่าใช้จ่ายในการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี
- ปี 2552 สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ ระบุความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคไม่ติดต่อ อยู่ที่ 198,512 ล้านบาท จำแนกเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 78,976 ล้านบาท โรคเบาหวาน 24,489 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย 2.2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
ยุทธศาสตร์การลดเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2568)
สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 มีมติรับรองนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุการป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568’ [1]
‘SALTS’ ยุทธศาสตร์ลดเค็ม-ลดโรค
- S (Stakeholder Network) การสร้าง พัฒนา และขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ
- A (Awareness) การเพิ่มความรู้ความตระหนัก และเสริมทักษะให้ประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และผู้กำหนดนโยบาย
- L (Legislation and Environmental Reform) การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหารที่ปริมาณโซเดียมต่ำ
- T (Technology and Innovation) การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ และการนำสู่ปฏิบัติ
- S (Surveillance, Monitoring and Evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการ ผลผลิต และผลลัพธ์
เป้าหมาย
- ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568
[1]ยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข thaincd.com