ดับฝัน ‘โซลาร์เซลล์’ เมื่อพลังงานทางเลือกถูกกีดกัน

ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีมากน้อยแค่ไหน?

คำถามผุดขึ้นในบรรยากาศเย็นย่ำหลังกระแสข่าว กฟผ. เรียกเก็บค่าไฟฟ้าสำรองกรณีประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในครัวเรือน ก่อนจะกลับคำเปลี่ยนเป็นการเรียกเก็บเฉพาะบริษัทห้างร้าน และภาคอุตสาหกรรมระดับโรงงานเท่านั้น

ทว่าข้อเท็จจริงแล้ว เรายังคงใช้ไฟฟ้าอยู่ทุกวัน และความเท่าเทียมในการใช้ไฟฟ้าระหว่างคนเมืองกับคนชนบทในพื้นที่ห่างไกลยังคงมีความแตกต่าง

WAY ชวนสองนักวิชาการด้านพลังงานทางเลือก คือ สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ประสาท มีแต้ม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาคุยถึงทิศทางในอนาคตของโซลาร์เซลล์ในบ้านเรา


เริ่มต้นที่โซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน

“ในส่วนของภาคประชาชนมีความเป็นไปได้แน่นอนที่จะผลิตฟ้าไว้ใช้เองภายในครัวเรือน หากรัฐให้การสนับสนุน ยกตัวอย่างบ้านผม สมัยก่อนเคยจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน พอเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงแดด ค่าไฟก็ลดลงไปเหลือเดือนละ 200 บาท บางเดือนเหลือแค่ 0 บาทด้วยซ้ำ” สมพร ช่วยอารีย์ เจ้าของฉายา ดร.พลังงานทางเลือก เริ่มต้นจากตัวเอง

สมพรยังกล่าวอีกว่านอกเหนือจากการลดค่าไฟฟ้าแล้ว กรณีพลังงานไฟฟ้าเหลือจากการใช้งาน ประชาชนยังสามารถขายคืนให้กับ กฟผ. ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ กฟผ. ใช้มาตรการกีดกันประชาชนจากการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการบังคับให้ติดมิเตอร์กันย้อน ซึ่งเกิดขึ้นจากฐานความคิดที่ไม่ไว้ใจประชาชน ป้องกันประชาชนขโมยไฟฟ้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สมพรมองว่าการผลิตไฟฟ้าใช้เองนั้นจะเท่ากับเป็นการประหยัดการนำเข้าไฟฟ้าและลดการใช้ไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนลง ภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรเองด้วยซ้ำที่จะได้ประโยชน์มากกว่า

 

อนาคตที่ดับวูบของสายส่ง

“ปัจจุบันเรานำเข้าไฟฟ้าจากประเทศลาว 3,500 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ”

นั่นหมายถึง ระบบคิดของภาครัฐที่ผลักประชาชนให้อยู่นอกวงของการจัดการพลังงาน ย้อนแย้งกับการประกาศสนับสนุนพลังงานทางเลือกของรัฐเอง

ทั้งที่ประเทศไทยรู้จักพลังงานแสงอาทิตย์มากว่า 30 ปี แต่รัฐกลับไม่สนับสนุนอุปกรณ์การติดตั้ง ซึ่งราคาได้ลดลงมากแล้ว จากเดิมเฉพาะแผงรับพลังงานแสงแดดอย่างเดียวสนนราคาถึง 300,000 บาทต่อ 1 แผง ก่อนจะลดลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแผงละ 3,000 บาท

“ทุกวันนี้เราใช้พลังงานจากฟอสซิล ถ้ามีพลังงานแสงแดดเข้ามา ก็จะเข้าไปเติมตรงนี้ให้สมดุล เกิดเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงาน เกิดความเท่าเทียมในเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่คนต่างจังหวัดจะมีไฟฟ้าใช้ได้เท่าเทียมกับคนในเมือง ถ้าเป็นอย่างนั้น สุดท้ายสายส่งก็จะไม่จำเป็น ซึ่งถึงตอนนั้น เขาก็ต้องไปดูว่าจะจัดการอย่างไร แต่ผมคิดว่าอย่างไรก็ตาม ในอนาคต เราหนีไม่พ้นเรื่องพลังงานแสงแดดแน่ๆ”

สมพร ช่วยอารีย์

 

เป็นไปได้ไหม ประเทศไทยจะมั่นคงทางพลังงาน

งานวิจัยของ National Renewable EnergyLab และ Lawrence Berkeley National Lab ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พบว่า การเพิ่มขึ้นของระบบพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับรายได้ที่การไฟฟ้าจะได้รับจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ หรือการลงทุนในระบบผลิต

จากเอกสารของกระทรวงพลังงาน สรุปสถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 มกราคม-มีนาคม ระบุว่าไตรมาสแรกของปีประเทศไทยใช้พลังงาน 20,128 พันตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ร้อยละ 0.6 คิดเป็นมูลค่ากว่า 276,170 ล้านบาท โดยน้ำมันสำเร็จรูปนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน ในลำดับสาม

แม้ว่าจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น โดยส่งผลจากธุรกิจด้านการส่งออก แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสแรกของปี 2560 ไทยมีการนำเข้าพลังงาน คิดเป็นมูลค่ากว่า 213,653 ล้านบาท โดยมีการนำเข้าพลังงานน้ำมันดิบมากที่สุด ในขณะที่ตัวเลขด้านการใช้พลังงานทดแทนตามนโยบายของภาครัฐ แม้จะมีตัวเลขสูงขึ้นร้อยละ 4.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการใช้พลังงานทดแทน 2,895 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ทว่าเมื่อเจาะเข้าไปในส่วนของรายงานกลับไม่พบการใช้พลังงานทดแทนในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์แต่อย่างใด

แม้รายงานฉบับนี้ของกระทรวงพลังงานจะระบุว่า สัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นปีฐานที่เริ่มดำเนินการแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (คนละแผนกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) พ.ศ. 2554-2573

คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมา ต่อจากคำถามในเรื่องความเป็นไปได้ของโซลาร์เซลล์ คือ เป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ที่จะลดการนำเข้าน้ำมันดิบลงเหลือเท่าที่จำเป็น แล้วหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน ประสาท มีแต้ม ตอบว่า

“เป็นไปได้ แต่มันมีน้อย อย่างที่อเมริกาทุกวันนี้ มีการใช้พลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ 2 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่ใช้ในทั่วประเทศทั้งหมด ในขณะที่ใช้พลังงานลม 7 เปอร์เซ็นต์ ประเทศอื่น อย่างเยอรมนีเมื่อหกเดือนที่แล้วผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเยอะมาก อาจจะเยอะที่สุดในโลก” 

การกีดกันทางไฟฟ้า

ในขณะที่ตัวเลขด้านพลังงานทดแทนในต่างประเทศเติบโตเป็นอย่างมาก กลับมายังภาคเอกชนในประเทศไทย ประสาทกล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดในปัจจุบันมีเพียงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเท่านั้นที่นำร่องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด โดยประมาณต้นทุนอยู่ที่ 1.50 บาท/หน่วย ตลอดระยะเวลา 25 ปี ซึ่งจะเริ่มที่ห้างบิ๊กซี สาขานครปฐมเป็นที่แรก ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ

ย้อนกลับไปสู่ประเด็นที่โฆษกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ให้ข่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “กกพ.ไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า โซลาร์รูฟท็อป ประเภทใช้เองในบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าใช้ในปริมาณไม่มาก แต่ประเภทกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มมากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในปริมาณมาก เฉพาะบางช่วงเวลา ซึ่งจะผลิตใช้ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนที่ผลิตไม่ได้ก็จะต้องมาขอใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ซึ่งในกลุ่มนี้หากในอนาคตเกิดการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้ารวมและต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศได้”

การที่ กฟผ. ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยไม่เก็บเงินค่าสำรองไฟฟ้าจากผู้ใช้ในครัวเรือนนั้น เป็นเรื่องที่อาจนำไปสู่ความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริง แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ทุกวันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยินยอมเพียงให้กระแสไฟฟ้าจากระบบโซลาร์รูฟท็อปไหลย้อนกลับเข้าสู่สายส่งเท่านั้น แต่ไม่ยอมจ่ายเงินตอบแทนให้กับประชาชนที่ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป

“ปัญหาตรงนี้ที่บ้านเรา มันติดแล้วมันไม่คุ้มทุน ซึ่งไม่คุ้มทุนไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี แต่เพราะรัฐบาลไทยไปกีดกัน กีดกันยังไงน่ะเหรอ? เวลากลางวันเราไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้ามันไม่รู้ไปไหน มันก็ไหลกลับไปสายส่ง แต่การไฟฟ้าไม่จ่ายให้เราไง พอการไฟฟ้าไม่จ่ายเงินให้เราก็ทำให้คนไม่อยากติด แต่ในอเมริกาเขาจะคิดให้ แต่เราก็ไปกีดกัน ไฟน่ะมันไหลไป แต่ตังค์มันไม่ย้อนกลับ”

ประสาทกล่าวต่ออีกว่า ทั้งที่แสงแดดเป็นพลังงานสะอาด และใช้ได้ฟรี ไม่เหมือนการแปรรูปพลังงานหมุนเวียนด้านอื่นๆ เช่น การแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลกระทบด้านสุขภาพประชาชน และแทนที่รัฐจะดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก

“รัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับประชาชน ขอเพียงแต่ไม่กีดกันก็เพียงพอแล้ว” ความเห็นจากประสาท

 

ภาษีแดดและธนาคาร NEM

อาจารย์ประสาทยังเล่าต่ออีกว่า ประเด็นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของภาครัฐ คือ การยังไม่มีการนำระบบ NEM หรือ Net Energy Metering มาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งระบบนี้คือการที่รัฐอนุญาตให้เจ้าของบ้านผลิตไฟฟ้าได้เอง แม้ยังไม่ถึงเวลาต้องใช้ เช่น เก็บไฟฟ้าสำรองในตอนกลางวัน ซึ่งกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้จะไหลเข้าสู่ระบบสายส่ง เปรียบไปแล้วก็เหมือนนำเงินไป ‘ฝากธนาคาร’ ไว้และจะถูก ‘ถอนออกมาใช้’ ในเวลากลางคืน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาคิดค่าไฟฟ้าในรอบเดือน การไฟฟ้าก็จะคิดตามตัวเลขที่คงเหลือสุทธิ ซึ่งจะทำให้ทั้งรัฐและประชาชนประหยัดเงินได้จำนวนมาก

“ในอเมริกา นับถึงปี 2016 มี 43 รัฐที่ใช้ระบบ NEM มีการติดตั้งไปแล้วจำนวน 40,300 เมกะวัตต์ รองลงมาจากจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในขณะที่เคนยา ซึ่งเป็นประเทศยากจน มีจีดีพีต่อหัวประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศไทยกลับมีการใช้ระบบ NEM หน่วยงานด้านเด็กแห่งหนึ่งของเคนยาสามารถป้อนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้โดยตรงเข้าสู่สายส่งได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ของที่ผลิตได้ สิ่งที่ผมรู้สึกตกใจมากก็คือ ค่าไฟฟ้าที่เขาจ่ายให้การไฟฟ้าของเขาคิดเป็นเงินไทยหน่วยละ 7.65 บาท หรือเกือบสองเท่าของประเทศไทย แต่ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าตลอด 25 ปีกลับเท่ากับ 3.96 บาทต่อหน่วยเท่านั้น”

ไม่เพียงแต่ในเรื่องประหยัดเงิน ได้พลังงานที่สะอาดมากกว่าการแปรรูปไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ประสาทยังชี้ว่าในอนาคต หากรัฐมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการลดการกีดกันลง การเก็บภาษีแสงแดดจากประชาชนรายย่อยก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งควรจะทำหากรัฐต้องการนำพาประเทศไปสู่ยุค 4.0 จริง แต่ในความจริงแล้ว รัฐกลับใช้นโยบายบีบบังคับประชาชนให้เป็นผู้ซื้อจากพ่อค้าพลังงานซึ่งผูกขาดและตกยุค

“ถ้าเราช่วยกันทำให้มันปรากฏเป็นที่รับรู้ ก็เป็นไปได้ที่รัฐจะเปลี่ยนนโยบาย” ประสาททิ้งท้าย

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า