หลังจากรัฐบาลออกประกาศมาตรการควบคุม COVID-19 รอบใหม่ ลงชื่อโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีรายละเอียดว่าด้วย ‘การควบคุมพื้นที่’ และ ‘ออกข้อบังคับเข้มงวด’ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 10 จังหวัด เช่น ห้ามสถานประกอบการจำพวกร้านอาหารเปิดบริการนั่งรับประทานในร้าน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับคำสั่งนี้ โดยปราศจากสัญญาณเตือนล่วงหน้า ประกาศดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นร้อน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ในค่ำคืนที่ประกาศมาตรการควบคุมโรคระลอกใหม่เผยแพร่อย่างฉับพลัน ประชาชนจำนวนมากออกมาตั้งคำถามผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดียต่างๆ บางคนอดรนทนไม่ไหวต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจด้วยถ้อยคำที่เกรี้ยวโกรธ
นับตั้งแต่การระบาดระลอก 3 เป็นต้นมา แนวโน้มการควบคุมโรคในประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้น เพดานของผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าวันละ 3,000-4,000 คน ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของรัฐบาล ซ้ำร้ายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เราต่างมองเห็นแต่ข่าวร้ายจากผลกระทบของโรคระบาดครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรอคอยเตียงเพื่อรักษาตัว การสั่งซื้อวัคซีน และการเผชิญกับปัญหาปากท้อง
WAY คุยกับ สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาจาก Knowing Mind ถึงปรากฏการณ์เสียงก่นด่าที่เกิดขึ้น รวมถึงการรับมือเพื่อที่จะอยู่รอดอย่างดีที่สุดในช่วงเวลาที่บอบช้ำมากที่สุดเช่นในเวลานี้
การด่า การแสดงออกถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไรและมีประโยชน์อย่างไร เมื่อพูดออกไป
ผมว่าต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจริงๆ ภาษาที่เราใช้ คำพูดที่เราใช้ มันมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก เมื่อเราได้ยินคำพูดหนึ่งกับอีกคำพูดหนึ่ง เราจะรู้สึกไม่เท่ากัน ฉะนั้นภาษาจึงเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกลึกๆ ข้างในของเรา
การทำงานในฐานะนักจิตวิทยาของผม จะเห็นเลยว่า คนที่เข้ามาปรึกษา พอได้พูดออกมาแล้ว เหมือนเขาได้ระบายความรู้สึก ดังนั้นการใช้ภาษาเอา ‘มัน’ ออกมา จึงเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ข้างใน แน่นอน ผมไม่ได้หมายความว่าการได้บ่น ได้ด่า ได้พูดแล้ว จะช่วยได้ทุกกรณีนะ แต่ด้วยฟังก์ชั่นของมัน การได้เอาออกมา จะทำให้เกิดกระบวนการเรียบเรียง ทบทวน ปลดปล่อยอะไรบางอย่างในใจ
การด่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของการที่เราใช้ภาษาเพื่อสื่อสารความรู้สึกที่อยู่ข้างใน แต่ถ้าเราใช้ภาษาที่มันเบาเพื่อบอกความรู้สึก มันก็ไม่ช่วยไง เพราะมันไม่ตรง ไม่สอดคล้องกับที่รู้สึกจริงๆ แต่ถ้าภาษาที่ใช้ สอดคล้องกับความรู้สึก มันก็จะช่วยปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกมาได้มากขึ้น
สมมุติเราไม่พอใจคนในครอบครัว บางทีพูดกันตรงๆ มันเป็นเรื่องนะ ไม่รู้จะพูดยังไงดี อึดอัดอยู่ข้างในใจ อย่างในห้องรับคำปรึกษา บางคนพอเขาได้พูด ได้ด่า ได้โวยวายออกมา ทำให้บางทีเขาไม่ต้องกลับไประบายกับคนนั้นๆ เลยนะ เพราะในบางกรณีพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่อารมณ์มันได้รับการปลดปล่อยไปแล้ว ฉะนั้นในแง่หนึ่งการด่าหรือการใช้คำหยาบ การสาปแช่ง การก่นด่า พวกนี้มันมีประโยชน์ในแบบของมัน เพื่อให้เราได้เข้าใจความรู้สึกของเราได้อย่างชัดเจนขึ้นว่ามันคืออะไร อยู่ในระดับไหน และเพื่อให้เราได้ปลดปล่อยมันออกมา
ปรากฏการณ์ที่ทุกคนพร้อมใจกัน ‘ด่า’ โดยไม่ได้นัดหมาย อธิบายในมุมจิตวิทยาได้อย่างไรว่าทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้
เราต้องเข้าใจก่อนนะว่า ความโกรธ ความไม่พอใจ เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ เวลาเราเจอกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ความไม่โอเค อารมณ์พื้นฐานคือความโกรธ ในสังคมที่ไม่ยอมอนุญาตให้เราโกรธ ไม่ยอมอนุญาตให้เราแสดงความรู้สึก มันก็ยากที่จะจัดการความรู้สึกนี้
พื้นฐานที่สุด เราต้องไม่ตัดสินว่าอารมณ์ความรู้สึกนั้นดีหรือไม่ดี แต่ควรมองว่าการแสดงความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ในสังคมที่มีอารยะ เราต้องสามารถแสดงออกทางความคิดและความรู้สึกกันได้โดยที่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก ตราบใดที่การแสดงออกนี้ไม่ได้นำไปสู่การทำร้ายกันจริงๆ เพราะนี่คือกลไกพื้นฐานในการจัดการอารมณ์ความรู้สึก
จากข้อสังเกตส่วนตัว คนไทยเป็นคนที่มีความอดทนสูงมากเลยนะ กว่าจะไปถึงจุดที่มันไม่ไหวหรือไม่โอเคแล้ว มันต้องสุดจริงๆ ถึงจะออกมา ดังนั้นการออกมาพร้อมใจกันด่า ก็สะท้อนให้เห็นว่า โอ้โห เรื่องนี้มันเกินจะทน เกินที่จะยอมรับได้จริงๆ ดังนั้นการแสดงความโกรธด้วยการด่าก็เป็นภาพสะท้อนถึงความไม่พึงพอใจ และเป็นความไม่พึงพอใจอย่างถึงที่สุดด้วย เพราะไม่สามารถจัดการได้ด้วยการทำใจ มองโลกในแง่ดี หรือมองบวกได้อีกต่อไป มันต้องเอาออกมาแล้ว ณ สถานการณ์นี้
ถามกลับกัน คนที่ถูกด่ามากๆ เป็นเวลานาน ผลของมันคืออะไร และนำไปสู่อะไรได้บ้าง
คนถูกด่าก็มีผลกระทบกับความรู้สึกนะ เพราะสมองจะประเมินว่า นี่คือสิ่งคุกคามและสั่งการร่างกายให้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ นี่คือกลไกพื้นฐานตามธรรมชาติ คนที่ถูกด่าทุกวันก็เหมือนคุณกำลังเผชิญภัยคุกคามอยู่ทุกวัน ยังไงก็เกิดความตึงเครียดอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว คนที่ถูกด่า เขาไม่สามารถทำจิตใจให้ปกติได้หรอก เราต้องยอมรับว่า สิ่งแวดล้อมมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราโดยไม่รู้ตัว ถ้าคุณเจอด่าทุกวัน ไม่มีทางที่คุณจะทำใจให้นิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่จะจัดการใจตัวเองอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
การด่า ในแง่หนึ่งมันเป็นเรื่องส่วนตัว ที่เราใช้ทำความเข้าใจและจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอย่างที่พูดไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่มันก็ยังมีฟังก์ชั่นทางสังคมด้วยที่จะสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่โอเคกับเรื่องนี้มากๆ และอยากสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ แล้วก็ไม่ใช่การสื่อสารธรรมดาด้วยนะ มันเป็นการสื่อสารที่สร้างผลกระทบได้จริงๆ เหมือนอย่างเราถูกใครด่า เราก็ไม่ได้เชื่อในคำด่านั้นนะ แต่ด้วยเสียง ด้วยบรรยากาศ ด้วยท่าทาง มันกระตุ้นเร้าปฏิกิริยาทางอารมณ์ได้อยู่แล้ว
ตอนนี้เราอยู่ในบรรยากาศที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ในทางจิตวิทยา บรรยากาศแบบนี้สร้างผลกระทบอย่างไร รวมถึงมีแนวโน้มอย่างไร เพื่อเราจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน
ในห้องปรึกษา ปกติแล้วคนก็จะมาคุยเรื่องชีวิต ความไม่พอใจ ความทุกข์ในชีวิตส่วนตัว แต่ในระยะ 3-4 ปีหลัง คนพูดถึงประเด็นทางการเมืองเยอะขึ้น พูดถึงการเลือกตั้ง พูดถึงรัฐบาล พูดถึงวัคซีน พูดถึงอะไรที่ก่อนหน้านี้ไม่ใช่ประเด็นในห้องปรึกษา
ประเด็นตอนนี้มันขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้มีผลกระทบกับชีวิตของคนจริงๆ คนเริ่มรู้สึกว่ายอมรับเรื่องนี้ได้ยากมาก ไม่สามารถมองข้ามได้ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันมีผลกระทบมาถึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไม่สามารถแยกกันได้แล้วระหว่างปัญหาสังคมกับปัญหาส่วนตัว เพราะมันเป็นผลกระทบซึ่งกันและกัน คนที่มีปัญหาการทำงาน ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพจิตในตอนนี้ ถามว่า มันไม่เกี่ยวกับสังคมหรือ คือมันเกี่ยวแน่ๆ แยกกันไม่ออกหรอก
ถ้าถามถึงความทุกข์ในตอนนี้ของคน ผมว่าคนสิ้นหวังกันมากขึ้น สิ้นหวังหมายความว่า ไม่รู้จะไปแก้ ไปจัดการที่ตรงไหน
มีประเด็นน่าหงุดหงิดอยู่ประเด็นหนึ่งว่า หลักคิดที่บอกว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นจัดการที่ตัวเราเอง คุณเป็นทุกข์ คุณก็จัดการตัวเองไปสิ คุณต้องทำใจ มองโลกในแง่ดี ปล่อยวาง ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ผมว่าเป็นการมองที่ไม่ครบทุกมิติ เพราะปัญหาบางอย่างคุณจัดการที่ตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ แต่มันต้องออกมาทำอะไรสักอย่างกับสังคม ออกมาทำอะไรสักอย่างกับสิ่งรอบๆ ตัว
เคสที่เข้ามาปรึกษาปัญหาความเครียดจากเหตุการณ์การเมือง นักจิตวิทยาช่วยอย่างไร
การช่วยเหลือก็คงไม่แตกต่างกันนะ เพราะกระบวนการช่วยเหลือในทางจิตวิทยา ไม่ใช่การที่เรามานั่งเทศนาหรือสั่งสอนกัน ว่าคุณคิดแบบนี้คุณจะเป็นทุกข์ คุณก็คิดแบบใหม่สิ คุณไปยึดติด คุณก็ปล่อยวางสิ เราไม่ได้ทำงานในเชิงสั่งสอน เราทำงานในเชิงสำรวจมากกว่า ว่าตอนนี้ที่คุณเป็นทุกข์ จากปัญหาของคุณที่ดูเหมือนจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย จัดการอะไรไม่ได้เลย พอจะมีสักจุดหนึ่งไหมที่คุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ขึ้นมา จิตวิทยาคือการสำรวจหาตรงนั้น
ในกระบวนการฟัง การพูดคุย การมาทบทวนร่วมกัน คุณจะได้เจอจุดเล็กๆ สักจุดหนึ่งที่จะสามารถทำอะไรได้สักอย่าง อย่างน้อยการกลับไปโพสต์เฟซบุ๊คด่า ก็คือการทำอะไรสักอย่างในภาวะที่มันทำอะไรไม่ได้ หรือการออกไปยืนถือป้ายประท้วง การไปร่วมม็อบ ซึ่งมีหลายกรณีมากที่คนมาบอกว่าไม่กล้าไปม็อบ แต่ว่าตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว ก็ต้องไป ที่ทำงานมีนโยบายห้ามไป แต่ก็ต้องแอบไปกัน เพราะไม่รู้ว่าจะแสดงออกยังไง ผมว่านี่คือกระบวนการหาทางออกของคน
แม้ว่าเราอาจจะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่พอเรารู้สึกว่า เราสามารถจะ take action บางอย่างออกมาได้ จุดนั้นแหละคือจุดที่เราชวนกันค้นหา มันแอคชั่นอะไรได้บ้างนะ ในสถานการณ์ที่ดูจะไม่ค่อยมีความหวังเลย
ในความเข้าใจของคนทั่วไปมักมองว่า คำด่า เป็นคำหยาบคาย เราควรจะเข้าใจกับคำหยาบเช่นนี้อย่างไรดี
ต้องบอกตามตรง มันมีทั้งประโยชน์และผลกระทบ คือถ้าเราใช้คำคำนี้ด้วยความตั้งใจว่า มันไม่ไหวจริงๆ มันเป็นตัวแทนของอารมณ์เราจริงๆ การที่เราสามารถ express ออกมาได้ นี่คือประโยชน์ของการปลดปล่อยความรู้สึก แต่บางครั้งการที่เราใช้คำด่าหรือคำหยาบ โดยไม่มีบริบทเข้ามารองรับ จนกลายเป็นการคุ้นชิน กลายเป็นนิสัย หรือเป็นคำพูดติดปาก ถ้าเป็นแบบหลังก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ พูดง่ายๆ คือการใช้คำด่าหรือคำหยาบคาย ถ้าเรามีความตระหนัก (awareness) มันก็มีประโยชน์ เพราะเราจะใช้มันอย่างสอดคล้องกับเป้าหมาย
ในห้องปรึกษา ผมเจอคนคนหนึ่ง ไม่เคยพูดคำหยาบในชีวิตเลย แต่เขารู้สึกอึดอัดใจมากๆ เลยในความสัมพันธ์กับพ่อแม่ พอเขาได้ด่า ‘ไอ้เหี้ย’ เท่านั้นแหละ พอได้พูดออกมาอย่างนี้แล้วเกิดความโล่งใจอะไรบางอย่าง ทั้งๆ ที่มันเป็นคำที่เขาไม่ได้ใช้ในชีวิตปกติ แต่คำนี้มันสอดคล้องพอดีกับความรู้สึก มันอธิบายได้ยาก จะบอกว่าโกรธก็ไม่ใช่ ไม่พอใจ ก็ไม่ตรง จะบอกว่าน้อยใจ มันก็ไม่ใช่อีก แต่พอเป็นคำหยาบ เออๆ มันใช่ มันเป็นอารมณ์ประมาณนี้ มันช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกตัวเอง แต่ถ้าเขาเอาคำนี้ไปพูดกับพ่อแม่ตรงๆ นั่นก็อาจไม่ได้ประโยชน์ ถ้าเป้าหมายคือการปรับปรุงความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น
คนที่ยังมองว่า คำด่า เป็นความหยาบคาย มากกว่าจะโฟกัสไปที่จุดประสงค์ของการด่า เราจะเข้าใจคนเหล่านั้นได้ยังไง
ผมว่าต้องแยกเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 คือ เราจะใช้ ‘คำหยาบ’ ในบริบทแบบไหนที่จะได้ประโยชน์ กับประเด็นที่ 2 คือ ถ้าเราต้องสร้างความเข้าใจกับคนที่ไม่เห็นด้วย เราจะสร้างความเข้าใจอย่างไรดี
พูดง่ายๆ คือ ในเฟซบุ๊กเราอาจจะมีเพื่อนหลายคนที่มีความเห็นหลากหลาย แต่ถ้าเราบอกว่า เราอยากจะด่าเพื่อนเราเพื่อระบายความรู้สึก แล้วเราก็บอกว่าอยากให้คนอื่นเข้าใจด้วย มันสร้างความซับซ้อนพอสมควรว่าเราจะเอาอย่างไรกันแน่ เราต้องการให้คนเข้าใจเรา หรือเราต้องการจะระบายความรู้สึก เพราะบางทีเมื่อได้เป้าหมายหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้อีกเป้าหมายหนึ่งก็ได้
การแสดงความโกรธ หรือการแสดงความรู้สึกด้วยการด่า ผมว่ามันมีบริบทเฉพาะของมันที่จะได้ประโยชน์ในเรื่องนั้น เช่น คนมาด่าในห้องปรึกษา มันก็เป็นบริบทส่วนตัว คุณด่าไปโดยที่ไม่มีใครรู้อยู่แล้ว แต่ว่าคุณโล่ง หรือเวลาคุณไปม็อบ คุณตะโกนด่า อาจจะไม่มีใครมารู้ทีหลังว่าคุณไปม็อบ มันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณด่าในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเพื่อนร่วมงาน มีใครต่อใครเต็มไปหมด แล้วคุณบอกว่าแค่อยากด่า มันก็ไม่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า มันไม่สามารถจะสร้างความเข้าใจกันได้ในบริบทนี้
ถ้าเราสามารถแยกแยะได้ว่า ในบริบทไหนที่การแสดงออกด้วยการด่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด ผมว่าอันนี้เป็นจุดตั้งต้น เพราะเราคาดหวังกับคนทุกคนให้มาเข้าใจเราไม่ได้ในทุกบริบทอยู่แล้ว ถ้าหากอยากโพสต์ด่าในเฟซบุ๊กก็ต้องยอมรับว่า ต้องมีคนไม่เข้าใจอยู่แล้ว
ในอีกมุมหนึ่ง หรือเพราะว่าในโลกนี้มันมี ‘คำ’ ในปริมาณจำกัด เพราะฉะนั้นคำหยาบจึงต้องมีหน้าที่ของมัน?
ก็ถูกส่วนหนึ่งครับ เพราะจริงๆ แล้วเวลาที่เรารู้สึกอะไรบางอย่าง ความรู้สึกของเรามันกว้างขวางกว่าคำที่เราใช้แทนความรู้สึกเยอะมากๆ นะ อย่างเวลาโกรธ ในความเห็นของคนสามคนก็อาจจะมองไม่ตรงกัน แล้วถ้าคำมันมีจำกัด ฉันจะสื่อสารความโกรธออกไปยังไงดี พอออกมาเป็นคำหยาบปุ๊บ มันรู้สึกว่า เออ มันตรงว่ะคำนี้ เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่ง การเลือกใช้คำก็เป็นตัวแทนที่เป็นภาพสะท้อนของอารมณ์ความรู้สึก แล้วคำหยาบ คำด่าทั้งหลาย ผมคิดว่ามันเชื่อมโยงกับความโกรธและความไม่พึงพอใจอยู่แล้วโดยพื้นฐาน
ผมคิดว่าคำหยาบเป็นชื่อเรียกกว้างๆ นะ
เราใช้คำหยาบในหลายกรณี เช่น การสบถ การก่นด่า การประณาม การสาปแช่ง เยอะแยะมากมายเลย แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับความโกรธ ความไม่พอใจ
ในแง่หนึ่ง เวลาที่เราด่าใคร นั่นหมายความว่าเรากำลังทำให้สถานะของคนคนนั้นกับเราเท่าเทียมกันมากขึ้น ถ้าหากเราด่าใครได้ นั่นแสดงว่าเรากับเขา เท่ากันนะ
แต่ถ้าเราด่าใครไม่ได้ นั่นหมายความว่ามันมีความเหลื่อมล้ำบางอย่างอยู่ในภาษาที่เราใช้ เช่น ภาษาที่ใช้พูดกับพระกับเจ้า มันจะมีชุดภาษาแตกต่างจากภาษาปกติที่เราใช้กัน ความต่างของภาษามันก็สร้างความเหลื่อมล้ำในเชิงความเป็นมนุษย์พอสมควร ว่ามีฝ่ายที่สูงหรือต่ำกว่า เหนือกว่าหรือด้อยกว่า แต่การด่าช่วยให้เราก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำนั้นด้วยการยกตัวเราให้เท่ากับเขา
ในสังคมตอนนี้ไม่ว่าใครก็ถูกด่าได้อย่างไม่ไว้หน้า เราไม่เคยเห็นหมอถูกด่ามากเท่ายุคนี้ ผู้พิพากษาถูกด่ามากขนาดนี้ หรือแม้แต่พระ หรือใครที่สูงกว่านี้ ณ วันนี้ก็ถูกด่าได้ไม่แพ้กัน เมื่อเราสามารถด่าใครได้ นั่นคือ เรากำลังแสดงออกว่าเราไม่ได้เป็นเพียงคนเซื่องๆ ที่เชื่อฟังคำสั่งอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เรามีสิทธิ์มีเสียงที่จะแสดงความคิดและจุดยืนของเรา
ลักษณะของสังคมที่มีการด่ามากๆ มันมีพื้นฐานมาจากความเหลื่อมล้ำที่สูงมากด้วยหรือเปล่า
ผมว่ามันมีในทุกสังคม ในทุกวัฒนธรรมเลยนะเรื่องการด่า แล้วพอมาดูชุดคำด่า มันก็จะเป็นความหมายที่คล้ายๆ กัน อย่างเรื่องเพศแบบนี้ ผมว่ามีในทุกวัฒนธรรม การเอาอวัยวะเพศมาด่ากัน ก็เป็นเรื่องสามัญมากๆ เลย
ถ้ามีคนบอกว่า “ก็กูจะด่า เพราะว่ากูไม่ไหวแล้ว ทุกคนมาห้ามกูไม่ได้” นักจิตวิทยาจะให้คำปรึกษาอย่างไรดี
ผมว่าถ้าเราด่าอย่างรู้ตัวว่า การด่านี้มีขอบเขตอย่างไร ด่าเพื่ออะไร อันนี้มีประโยชน์ สมมุติคุณบอกว่า “ด่าไปมันก็ไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรอก แต่ฉันอยากระบายความรู้สึก” มันโอเคเลยนะ เพราะฉะนั้นการรู้ว่าฉันอยากด่าเพื่อระบายความรู้สึก ใครจะมาบอกว่าด่าแล้วไม่ได้ประโยชน์ แต่ฉันได้ประโยชน์ มันโอเคไง
แต่ถ้าเราบอกว่า เราอยากด่าแล้วอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย การด่าอย่างเดียวอาจจะไม่พอ มันอาจจะต้องคิดว่าจะขยายขอบเขตของความไม่พึงพอใจตรงนี้ไปสู่การปฏิบัติที่มากขึ้นได้ยังไง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราคาดหวังจริงๆ ถ้ามันเป็นไปได้นะ
แต่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ คิดว่าสิ่งนี้ยังไงก็เปลี่ยนไม่ได้ การด่าอย่างน้อยก็ทำให้เราตระหนักว่า “เออ กูได้ทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้ เท่าที่กูทำได้แล้ว ก็คือด่ามันไปซะ”
เคยเจอประโยค “ที่เราด่า เราปกติ แต่คนที่เจอภาวะแบบนี้แล้วไม่ด่า คือคนที่ไม่ปกติ” คุณมองว่าอย่างไร
เรื่องนี้ก็เข้าใจได้ ว่าทำไมบางคนถึงยังเชื่อในสิ่งที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองเขาด่ากันอยู่ ในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ หรือการไม่สอดคล้องทางความคิด มันเป็นสิ่งที่จัดการได้ยากมากๆ เลยนะ การหาสิ่งที่จะมายืนยันความเชื่อของเรา มันง่ายกว่าการเปลี่ยนใจไปเชื่อสิ่งใหม่ที่มีข้อเท็จจริงรองรับเยอะ
เวลาเราชอบใครมากๆ แล้วมีคนมาด่าเนี่ย จะเปลี่ยนใจเราไปเชื่อคนที่เขาด่า หรือไปเห็นดีเห็นงามกับคนที่เขาด่า มันยากมาก เปรียบเทียบกับการไปหาข้อมูลมาสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่อ ทำแบบหลังมันใช้แรงน้อยกว่าไง เพราะงั้นถ้าใครจะด่าคนคนนี้ทั้งบ้านทั้งเมือง แต่เราชอบ เราก็จะหาเหตุผลหรือหาข้อมูลมายืนยันความชอบคนคนนี้ได้ต่อไปอีก
ถึงแม้การด่านั้นจะรองรับด้วยข้อมูลและทุกสิ่งอย่าง?
ใช่ครับ เพราะมนุษย์เราไม่ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง แต่เราเลือกรับรู้บางสิ่งบางอย่างไปตามความเชื่อของเรา สมมุติว่าตอนที่เราคุยกัน ถึงเราจะมองหน้ากัน แต่มันก็มีสิ่งอื่นๆ ที่เราต่างก็รับรู้อยู่ ขึ้นอยู่กับเราจะโฟกัสที่ตรงไหน เพราะฉะนั้นคำด่าพวกนี้มันก็อาจไร้ความหมายในความรู้สึกของคนที่เชียร์หรือคนที่เขาชื่นชอบ เพราะความเชื่อของเขากันสิ่งเหล่านี้ออกไปตั้งแต่แรก
ต้องด่าแบบไหนเพื่อให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ผมว่าการที่สังคมดำเนินมาถึงจุดนี้ สะท้อนให้เห็นเลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันกระทบกับชีวิตของผู้คนจริงๆ จนถึงจุดที่เขาไม่สามารถจะมองข้าม ไม่สามารถจะปล่อยวาง ไม่สามารถจะคิดบวกหรือทำใจยอมรับได้อีกแล้ว ดังนั้น ความโกรธที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่เราควรจะรู้สึก
ถามว่าเราโกรธก็ต่อเมื่ออะไร ผมว่าเราโกรธก็ต่อเมื่อมีคนคุกคาม เราโดนกระทบ เราเผชิญภัยอันตราย มันจึงจำเป็นต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง การที่คนรู้สึกโกรธมากๆ แสดงว่าเขาได้รับผลกระทบมากๆ ในสถานการณ์นี้ และการที่มีคนโกรธเป็นจำนวนมาก ก็หมายความว่าผลกระทบนี้มันกินวงกว้างมากกว่าจะไปกระทบเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป
ดังนั้น คนที่เป็นเป้าของการด่า ก็ต้องพึงสังวรได้ด้วยว่า ความโกรธในระดับนี้มันไม่ธรรมดา หมายความว่ามันมีผลกระทบจริงๆ ดังนั้นก็ควรจะฟังในสิ่งที่คนอื่นเขาโกรธ
ก่อนหน้านี้ความขัดแย้งเชิงความคิดคนยังพอมองข้ามได้นะ เพราะว่ามันไกลตัวไง เราจะถกเถียงกันว่าประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย จะเลือกพรรคไหน อะไรที่มันเป็นคอนเซ็ปต์ มันก็ยังดูไกลตัวจากผู้คนอยู่ แต่อะไรที่เป็นเรื่องปากท้อง อะไรที่เป็นเรื่องชีวิต ความเป็นความตาย พวกนี้มันใกล้ตัวมากขึ้น จุดนี้เองทำให้คนเรารู้สึกมากขึ้นว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของเราด้วย ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ไกลตัวเรา หรือเรื่องของคนไม่กี่กลุ่ม
ถามว่าเราด่าแล้วได้ประโยชน์อะไร ในเบื้องต้นก็คือ เราได้ take action แล้ว อย่างน้อยก็เอาอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจเราออกมาก่อน ถึงแม้จะไม่ใช่การแก้ปัญหา ด่าไปแล้วอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือ ความรู้สึกของเราในตอนด่ามันได้ปลดปล่อย แต่เมื่อด่าแล้วก็ขอให้ถามตัวเองต่อว่า เราพอจะทำอะไรได้อีกบ้างไหมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในสถานการณ์นี้
นอกจากนี้ ก็ขอให้มองว่าการด่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการจัดการอารมณ์ความรู้สึกนะ ยังมีวิธีการอื่นๆ อีก ไม่ใช่ว่าทุกๆ ครั้งจะต้องด่าเพื่อระบายอารมณ์ บางครั้งมันอาจจะไม่ได้ประโยชน์ก็ได้ ด่าไปแล้วอาจจะรู้สึกแย่กว่าเดิมก็มี
เราจะอยู่อย่างไรในภาวะเช่นนี้ เราจะกลับมาดูแลตัวเอง ดูแลจิตใจอย่างไร
จุดตั้งต้นก็คือ การที่เราต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า สิ่งที่เรารู้สึกมันคืออะไร เพราะแต่ละความรู้สึกมันเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งชี้ถึงภาวะอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างในใจเรา และแต่ละความรู้สึกก็มีหนทางในการจัดการและรับมือที่แตกต่างกัน
ผมคิดว่าตอนนี้ความรู้สึกมันสับสนปนเปนะ ถ้าเราบ่งชี้ไม่ได้ มันจัดการต่อได้ยาก แต่ถ้าเราบ่งชี้ได้ว่ามันคือความโกรธนะ คือความกังวลนะ คือความกลัวนะ คือความเศร้านะ เป็นต้นว่า ถ้าเรากังวล มันหมายถึงว่าเรากำลังคาดการณ์ว่า ในอนาคตจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น แล้วเหตุการณ์ที่ไม่ดีที่ว่านั้น ย่อมมีผลกระทบกับชีวิตเรา อันนี้คือที่มาของความกังวล แต่ความกลัวมันไม่ใช่ ความกลัวมันคือตรงหน้าเลย คุณไม่สามารถกลัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่คุณจะกลัวในสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้กับคุณ ส่วนความโกรธ เช่น ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ เราไม่ชอบใจ มันกระทบกับชีวิตเรา อันนี้เราโกรธ หรือความเศร้า มันจะเกี่ยวเนื่องกับความสูญเสีย การที่สิ่งต่างๆ ไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ เราสูญเสียบางสิ่งที่สำคัญไป
มันมีธรรมชาติของความรู้สึก ผมว่าอันดับแรก ถ้าจะดูแลใจตัวเอง เราต้องบ่งชี้ให้ได้ก่อนว่า ตอนนี้ความรู้สึกของเรามันคืออะไรกันแน่ เราโกรธ มันหมายความว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งๆ นั้นที่เราไม่พึงพอใจ แต่ตอนนี้เราอาจจะทำอะไรไม่ได้เลยก็ได้ นอกจากการด่า เพราะฉะนั้นก็ด่าไปก่อน แต่ถ้ามันเห็นช่องทางที่จะทำอะไรบางอย่างได้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น เราก็ทำให้มากเท่าที่เราจะทำไหว
เวลาที่เราตามข่าว ตามโซเชียลมีเดีย หรือติดตามสถานการณ์ ผมว่าเราต้องอยู่ในจุดที่เรารู้ตัวเหมือนกันนะ ว่าตรงไหนที่มันกระตุ้นความรู้สึก บางคนอ่านข่าวคนฆ่าตัวตายช่วงนี้ทีไร แล้วเรารู้สึกดิ่งทุกทีเลยนะ อันนี้ต้องตระหนัก ไม่ได้หมายความว่าเราจะหลับหูหลับตาไม่สนใจโลกนี้นะ แต่หมายถึงว่าครั้งหน้าให้เราระวังเรื่องนี้เพราะจิตใจเราไม่โอเค แต่ละคนมีสิ่งกระตุ้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจเจอข่าวนี้ บางคนไปเจอสถานการณ์แบบนั้น ต้องรู้ตัวเองเหมือนกันนะว่าประมาณไหนที่มันกระทบใจเรามากๆ ในช่วงนี้ แล้วก็อาจจะหลีกห่างมันไว้ก่อน คือลดสิ่งกระตุ้น ความรู้สึกอาจจะไม่ได้ดีขึ้นหรอก แต่มันก็จะไม่ถูกกระตุ้นมากขึ้น
กับสอง ผมว่าเราก็ต้องอยู่อย่างมีความหวังเหมือนกันนะ ซึ่งแม้ว่ามันจะหวังได้ยาก มีคนพูดติดตลกว่า “ช่วงนี้มันคงหวังอะไรไม่ได้หรอก แต่ที่มีชีวิตอยู่ก็เพราะหวังจะดูความล่มจมของคนเหล่านี้” เพราะหวังอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นความหวังหนึ่งที่ทำให้เขามีชีวิตอยู่ต่อได้
ที่มาของความหวังของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ อย่างน้อยเราต้องบ่งชี้ให้ได้ก่อนว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเราที่เราพอจะหวังกับมันได้จริงๆ ในช่วงนี้ อย่างผมมองที่สถานการณ์เฉพาะหน้ามากๆ เลยนะ คือผมก็หวังว่าทุกๆ เช้าที่ผมตื่นมา โอเค ผมยังได้ทำงาน ยังได้ทำประโยชน์บางอย่าง อย่างน้อยๆ มันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงสังคมหรอก แต่ผมพอจะหวังสิ่งนี้ได้ในวันนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนมีสิ่งที่ยังพอหวังได้อยู่ แม้เราจะไม่ได้ดั่งหวังทั้งหมด มันอาจจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้ แต่อยากให้หาสิ่งที่เราพอจะหวังได้ในเฉพาะหน้าว่ามันคืออะไร ที่จะช่วยหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตต่อไปจนถึงวันที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น