“ทหารไม่ได้มีหน้าที่ทางพลเรือน” เสียงสะท้อนจากกองทัพอังกฤษกับการใช้งานกองทัพผิดประเภท

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว The Economist รายงานว่า ปัจจุบันกองทัพสหราชอาณาจักรถูกเรียกตัวกลับมาทำหน้าที่บนแผ่นดินมากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม เพื่อทำหลากหลายหน้าที่ท่ามกลางความเป็นห่วงของสังคมและตัวกองทัพเอง

การให้กองทัพเข้ามาช่วยเหลือกิจการพลเรือนในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2015 มีที่บันทึกเอาไว้น้อยกว่า 80 ครั้ง ในขณะที่กระทรวงกลาโหมระบุว่าในปี 2020 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 359 ครั้ง และกลายเป็นว่าการนำกองทัพเข้ามาช่วยเหลือรัฐในยามวิกฤติกลายเป็นค่านิยมของรัฐบาลอังกฤษในยุคปัจจุบัน ซึ่งตามกฎหมายแล้วกองทัพสหราชอาณาจักรไม่มีหน้าที่ในการเตรียมการรับมือสำหรับวิกฤตการณ์พลเรือน แต่คือหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยให้บริการทางสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอื่นๆ ในขณะที่กองทัพมีหน้าที่ในการจัดการเฉพาะสิ่งที่นอกเหนือไปจากความสามารถขององค์การเหล่านี้เท่านั้น

“หากพูดตรงๆ คือ เราควรเป็นที่พึ่งสุดท้าย”

คำให้สัมภาษณ์ของ พลอากาศโทเอ็ดเวิร์ด สตริงเกอร์ (Air Marshal Edward Stringer) ผู้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหารของกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปี 2015-2017 ซึ่งเน้นย้ำถึงหลักการที่ว่า กองทัพควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายและให้รัฐพึ่งพากองทัพน้อยที่สุด เพื่อให้กองทัพสามารถปฏิบัติหน้าที่หลักของตนเองต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้งานกองทัพมากไปกว่าวัตถุประสงค์เดิมของสหราชอาณาจักรเริ่มขึ้นเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ต้องรับมือกับวิกฤติระดับน้ำเพิ่มสูง โดยการถามหาความกระตือรือร้นของกองทัพในการออกมาช่วยเหลือกิจการของพลเรือน และในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ส่งผลให้ทหารสหราชอาณาจักรจำนวนถึง 20,000 นาย ต้องกลับมาประจำการในแผ่นดินบ้านเกิดเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ตรวจเชื้อให้แก่ประชาชน ไปจนถึงช่วยฉีดวัคซีนที่ทำให้เกิดปัญหาการจัดการกำลังคนและการปฏิบัติหน้าที่ปกติตามมาอย่างต่อเนื่อง

photo: www.army.mod.uk

อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อครหาจากนักวิชาการบางภาคส่วน เช่น เอลิซาเบธ บรอว์ (Elisabeth Braw) จากสถาบัน Think-Tank อย่าง American Enterprise Institute กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่พลเรือนไม่มีประสบการณ์ในการวางแผนรับมือโรคระบาดภายใต้สถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้” หรือความเห็นของอาจารย์อาวุโสด้านกลาโหมศึกษาจากมหาวิทยาลัย King’s College อย่าง ร็อด ธอร์นตัน (Rod Thornton) ที่มองว่าสถานการณ์ในอัฟกานิสถานและอิรักเบาบางลงแล้ว และทำให้มีเจ้าหน้าที่ของกองทัพสหราชอาณาจักรจำนวนมากไม่มีงานทำ ด้วยเหตุนี้เขาจึงกล่าวย้ำถึงประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากพวกเขา (กองทัพ) อยู่เฉย และไม่ทำอะไร พวกเขาจะต้องถูกตัดงบประมาณ”

ปัจจุบันจำนวนบุคลากรของกองทัพสหราชอาณาจักรลดลงมากกว่าร้อยละ 10 นับตั้งแต่ปี 2012 และการปรับลดจำนวนบุคลากรในอนาคตยังคงอยู่ในขั้นตอนพิจารณาต่อไป

ที่มา

The British state is becoming worryingly reliant on its armed forces

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า