Illustration: Nola Nolee
โตมร ศุขปรีชา
พูดได้ว่า สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น แม้สังคมไทยจะมีการ ‘ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการ’ มากพอสมควรแล้ว แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ยังมี ‘การไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ’ ปรากฎให้เห็นอยู่อีกไม่น้อย การไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือการไม่ยอมรับใน ‘การจดทะเบียนสมรส’ ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
นั่นก็คือ ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนที่มีเพศชายและหญิง แต่จูงมือกันเดินขึ้นอำเภอหรือเขตไปจดทะเบียนสมรสกัน คุณจะพบว่าตัวเอง ‘ไม่ได้รับอนุญาต’ ให้ ‘อยู่ร่วมกัน’ ได้ในสายตาของกฎหมาย
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสระบุไว้ว่า คนที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้นต้องเป็น ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เท่านั้น!
ผมเข้าใจ (ไปเอง) ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายคงไม่ได้อยากจะ ‘สั่งห้าม’ คนเพศอื่นๆแต่งงานกันหรอกนะครับ แต่ด้วยความที่กฎหมายนี้เก่าแก่มาก และยุคสมัยก่อนก็เหมือนถูกขังอยู่ในกรอบทางเพศจนไม่สามารถ ‘จินตนาการ’ ได้ว่าน่าจะมีการจดทะเบียนสมรสในแบบอื่นๆขึ้นมา อาทิเช่น พลกับนิกรอาจรักกันจนอยากจดทะเบียนสมรสกันโดยมีกิมหงวนเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว หรือพจมานอาจไม่สนใจบ้านทรายทองและคุณชายพจน์ แต่อยากจดทะเบียนสมรสกับปริศนา-แล้วอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเล็กๆแทนที่จะเป็นวังไหน ฯลฯ จินตนาการเหล่านี้พูดได้ว่าเป็นเรื่องที่ Unthinkable คือคิดไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะไร้ความสามารถในการคิดหรือไม่มีคนเหล่านี้อยู่ แต่เพราะ ‘กรอบ’ ที่มองไม่เห็นได้ล้อมจำกัดเอาไว้ ทำให้จินตนาการของคนและกฎหมายขยายตัวไปไม่ถึง
ดังนั้น เมื่อสังคมเกิดอาการ ‘ยอมรับอย่างไม่เป็นทางการ’ และมีแนวโน้มที่จะยอมรับกันมากขึ้นไปเรื่อยๆ ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะอยาก (หรือมีความจำเป็นที่จะต้อง) ลุกขึ้นมาจดทะเบียนสมรสกันก็ได้
แล้วกฎหมายจะทำอย่างไรเล่า
คู่หญิงรักหญิงคู่หนึ่งเคยบอกผมว่า พวกเธออยากจดทะเบียนสมรสกันใจจะขาด ไปอำเภอเขาก็ไม่ให้จด แต่อยู่มาวันหนึ่ง นั่งดูข่าวเห็นนายอำเภอแห่งหนึ่งไปทำพิธีแต่งงานให้กับ ‘ควาย’ คู่หนึ่ง น่าจะเป็นควายคู่สำคัญของหมู่บ้านหรืออะไรทำนองนั้น ปรากฎว่านายอำเภอเอาทะเบียนสมรส (ไม่ใช่ทะเบียนปศุสัตว์) ไปจดให้เสร็จสรรพ เห็นแล้วพวกเธอเกิดอาการ ‘รับไม่ได้’ ขึ้นมาทันที
“ก็ควายยังจดทะเบียนสมรสให้ได้ ทำไมคนถึงจะจดให้ไม่ได้!” พวกเธอว่า
ฟังพวกเธอแล้วคุณอาจมีคำถามนะครับ ว่าแล้วทำไมถึงจะต้องแต่งงานจดทะเบียนสมรสกันด้วยล่ะ เดี๋ยวนี้เขาไม่ฮิตกันแล้วนะฮ้า แต่งงงแต่งงานอะไรนี่น่ะ สถิติการแต่งงานของผู้คนก็ลดน้อยลง แถมคนที่แต่งงานแล้วก็มีสถิติการหย่าเพิ่มมากขึ้นด้วย แล้วจะอยากแต่งไปทำไม
เรื่องนี้พูดยากอยู่เหมือนกันนะครับ เพราะคนแต่ละคนแต่ละคู่ ต่างก็มี ‘เงื่อนไข’ ในชีวิตของตัวเองไม่เหมือนกัน
ชายรักชายคู่หนึ่งบอกว่าอยากจดทะเบียนสมรส เพราะว่ารักกันมานานเป็นทศวรรษแล้ว จึงอยาก ‘สร้างเนื้อสร้างตัว’ ร่วมกันด้วยการซื้อบ้าน แต่ทั้งคู่ไม่สามารถไป ‘กู้ร่วม’ เพื่อซื้อบ้านด้วยกันได้ ไอ้ครั้นจะให้คนใดคนหนึ่งกู้คนเดียว เงินเดือนที่มีก็ไม่พอที่ธนาคารจะยอมให้กู้ ก็เลยซื้อบ้านในระดับราคาที่อยากได้ไม่ได้
“มันเหมือนถูกกีดกันเลย” ทั้งคู่ว่า “เพราะคู่รักชายหญิงนะ ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ถ้าอยู่กินกันมาระยะหนึ่งให้ชาวบ้านเห็นเป็นประจักษ์พยาน ก็สามารถกู้ร่วมได้นะ ธนาคารอนุญาต แต่ของเราอยู่กันมาตั้งนาน กลับเหมือน ‘มองไม่เห็น’ ไปเสียอย่างนั้น”
เขายังเล่าถึงปัญหาตอนที่อีกฝ่ายป่วยหนักหมดสติ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่คู่ชีวิตไม่สามารถลงนามยินยอมรักษาแทนได้ ต้อง ‘รอ’ ให้ญาติ (ที่ก็ไม่ได้ติดต่อกันมานาน เนื่องจากญาติรังเกียจความเป็นเกย์ของผู้ป่วย) เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาลงนามแทน
“อันนี้ก็เหมือนกัน มันเหมือนสังคมปล่อยให้เราตายเพราะเราเป็นเกย์ได้เลยนะ” เขาตัดพ้อ “เพราะถึงมีคนลงชื่อแทนก็ไม่อนุญาต”
คู่หญิงรักหญิงอีกบางคู่มีปัญหาอีกบางแบบ ฝ่ายหนึ่งมีลูกติดจากสามีเก่าที่โหดร้าย ไม่เลี้ยงดูลูก ทำร้ายร่างกายทั้งเมียและลูก เมื่อเธอหนีออกมาจากเขาได้ และเลือกจะมีคู่ชีวิตคนใหม่เป็นผู้หญิงแล้ว เธอจึงอยากจดทะเบียนสมรสเพื่อให้คู่ชีวิตของเธอมีสิทธิในการดูแลลูกด้วยการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นเรื่องปกติในคู่ชีวิตชายหญิงทั่วไป เธอบอกว่าที่ต้องการอย่างนี้ก็เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
“เกิดฉันตายไปล่ะ” เธอว่า “ตอนนี้ลูกๆมีความสุขดีกับแฟน” เธอหมายถึงคู่ชีวิตคนใหม่ที่เป็นผู้หญิง และอยู่กินกันมาเกือบสิบปีแล้ว “แต่ถ้าฉันตาย สิทธิในการเลี้ยงดูลูกตามกฎหมายก็ต้องกลับไปอยู่กับพ่อของพวกเขา แล้วลูกๆก็ต้องกลับไปทนทุกข์ทรมานกันอีก ฉันไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสนั้นน่าจะแก้ไขได้ง่ายมาก นั่นคือแทนที่จะบอกว่าการจดทะเบียนสมรสต้องเป็นเรื่องระหว่าง ‘ชาย’ กับ ‘หญิง’ ก็เปลี่ยนเป็นระหว่าง ‘บุคคล’ กับ ‘บุคคล’ เสียก็สิ้นเรื่อง หรือถ้าจะให้ ‘ก้าวหน้า’ เข้าไปอีกขั้น ก็ควรจะระบุไปด้วยว่า ‘ตั้งแต่สองคนขึ้นไป’ เพื่อให้กฎหมายนั้นรองรับ ‘ความรัก’ ของคนได้กว้างขวางมากขึ้น และถ้าใครอยากจะอยู่ร่วมกัน กฎหมาย (ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคม) ก็ควรจะ ‘อำนวยความสะดวก’ ให้ผู้คนได้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากกว่าจะกลายเป็นอุปสรรคกีดขวาง และแสดงให้เห็นถึงอคติทางเพศที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่โบราณ
แต่กระนั้นก็มีผู้รู้บอกว่า การจะแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นเหมือนการย้ายโลกจากทางช้างเผือกไปอยู่ในกาแล็กซี่แอนโดรเมด้า คือยากมาก เพราะมันเป็นกฎหมายเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าแก้ข้อหนึ่งก็จะต้องไปเกี่ยวพันโยงใยยึกยือกับเรื่องอื่นๆอีกเพียบ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีผู้เรียกร้องกันอยู่ก็คือการร่าง ‘พระราชบัญญัติคู่ชีวิต’ (หรือชีวิตคู่) ขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง แล้วให้ข้อกำหนดต่างๆ ‘อนุโลม’ ใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีอยู่
ปัญหาในตอนนี้ก็คือ แม้คนจำนวนมากจะเห็นว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศน่าจะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้แล้ว แต่ยังไม่มีใครกล้า ‘แตะ’ ลึกลงไปถึงประเด็นเรื่องลูกหรือการรับเลี้ยงลูก และประเด็นนี้ก็น่าจะเป็น ‘เพดานแก้ว’ (Glass Ceiling) ของการเรียกร้องในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการให้นิยามของคำว่า ‘ครอบครัว’ ที่จำกัดตายตัวอยู่กับ ‘การสืบพันธุ์’ ของมนุษย์ นั่นก็คือถ้าใครจะเป็นครอบครัวขึ้นมาได้ ก็ต้อง ‘มีความสามารถในการสืบพันธุ์’ เป็นอันดับแรก กฎหมายถึงได้กำหนดว่าต้องเป็นชายและหญิง และครอบครัวก็มี ‘ความหมาย’ อิงอยู่กับนิยามแบบนี้มาตลอด
แต่ในโลกยุคใหม่ เราจะเห็นว่า ‘ครอบครัว’ ไม่ได้มีความหมายแบบเดียวอีกต่อไป ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น ผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือเพศอื่นๆที่หลากหลายก็สามารถ ‘จับคู่’ เป็น ‘คู่ชีวิต’ กันได้ หรือในบางกรณีก็ต้องยอมรับว่าเราสามารถ ‘จับคี่’ เป็น ‘คี่ชีวิต’ ได้ด้วย เหมือนอย่างในหนังเรื่อง A Home at the End of the World ที่มี ‘ครอบครัว’ เป็นสองชายหนึ่งหญิง (และลูกอีกหนึ่งคน)
นอกจากนี้ ในโลกสมัยใหม่ บางทีคำว่า ‘ครอบครัว’ ก็อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการ ‘สืบพันธุ์’ เสมอไป มีคนตั้งมากมายที่สนิทสนมกลมเกลียวกับอีกคนหนึ่งในฐานะ ‘เพื่อน’ ที่สนิทกันมากๆจนรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันโดยไม่ต้องสัมพันธ์กันผ่านการร่วมเพศ คำถามก็คือ แล้วเพื่อนที่สนิทกันมากๆถึงขนาดตายแทนกันได้นั้น ไม่พึงมีสิทธิตามกฎหมายในการกู้ร่วม, ร่วมรับเลี้ยงดูเด็ก, ลงชื่อให้อีกฝ่ายเข้ารับการรักษาพยาบาล ฯลฯ หรอกหรือ
มหาตมะ คานธี เคยพูดไว้ว่า ครอบครัวที่แท้จริงมักไม่ได้เติบโตอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน ความหมายก็คือคนที่มีสายเลือดและนามสกุลร่วมกับเรา ได้ชื่อว่าเป็นญาติแต่ในนามของเรานั้น ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีอะไรๆเหมือนเรา แต่เรามักค้นหาคนที่มีความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ วิถีชีวิต ฯลฯ ที่สอดคล้องลงตัวกับเรา (อาจเหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้) ได้จากโลกกว้างและสังคมข้างนอกโน่นต่างหาก
และถ้าเรารู้สึกว่ามีคนอื่นๆที่เป็นครอบครัวของเรายิ่งกว่าครอบครัวดั้งเดิมของเรา เราไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะพูดเช่นนั้นได้เลยหรือ
แน่นอน-นั่นคือคำถามที่อาจมีจุดอ่อนในคำตอบมากมาย
แต่ผมว่าถึงอย่างไรก็เป็นคำถามที่พึงถาม!
*********************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Way ฉบับที่ 63)