ระหว่างปี 2006-2012 สวนส้มในรัฐฟลอริดา สหรัฐ ประสบปัญหาเพลี้ยชนิดหนึ่ง (ในประเทศไทยเรียกว่า เพลี้ยไก่แจ้ส้ม) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตน้ำส้มไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์
แต่จริงๆ ปัญหาไม่ได้เกิดจากเพลี้ย แต่เป็นแบคทีเรียที่ติดตัวเพลี้ยมา ซึ่งจะทำให้ใบพืชตระกูลส้มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเป็นสาเหตุให้ต้นส้มตายภายในสองถึงสามปี
นักวิจัยพยายามหาทางต่อสู้กับศัตรูของส้ม โดยมีโครงการหนึ่งอาศัยสมมุติฐานว่า คลื่นเสียงอาจช่วยไล่แมลงได้ โดยเฉพาะการรบกวนด้วยเสียงระหว่างกิจกรรมหาคู่และสืบพันธุ์ของพวกมัน ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้คลื่นเสียงรบกวนแมลงและศัตรูพืชได้ผลมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ยุง ริ้น หนอนผีเสื้อ แมลงสาบ หรือแมลงวันผลไม้ ขณะที่แมลงกลางคืน อาจต้องอาศัยคลื่นอัลตราโซนิค ซึ่งอยู่ในช่วงคลื่นเดียวกับที่ค้างคาวใช้ แต่มนุษย์ไม่สามารถได้ยิน
ริชาร์ด แมนคิน นักกีฏวิทยาและผู้ทำวิจัยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯของสหรัฐกล่าวว่า มีความพยายามลดปริมาณสารเคมีปราบศัตรูพืชในสวนส้มด้วยวิธีต่างๆ เนื่องจากความกังวลเรื่องอาการดื้อยา ตามมาด้วยการเพิ่มปริมาณสารเคมี ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค
สิ่งที่แมนคินกับทีมวิจัยค้นพบและนำเสนอระหว่างงานประชุมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงของสมาคม American Acoustical Society คือ เสียงดนตรีสามารถก่อกวนการสืบพันธุ์ของเพลี้ยได้
เมื่อเพลี้ยเพศผู้ต้องการสืบพันธุ์ มันจะนั่งลงกรีดปีกส่งคลื่นความถี่ไปยังใบและกิ่งก้านรอบข้างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย เมื่อต้องการจะขัดขวางกิจกรรมดังกล่าว นักวิจัยจึงประดิษฐ์อุปกรณ์ส่งคลื่นเสียงผ่านระบบไฟฟ้าแรงดัน ลักษณะคล้ายกริ่งไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่เชื่อมต่อกับสายสัญญาณ ไมโครโฟน และเครื่องควบคุม
ทันทีที่จับคลื่นเสียงจากการกรีดปีกของเพลี้ยตัวผู้ได้ อุปกรณ์ชิ้นนี้จะส่งคลื่นเสียงเลียนแบบเพลี้ยตัวเมียกลับไปก่อนที่เพลี้ยจริงๆ จะเริ่มส่งสัญญาณกลับ เมื่อเพลี้ยตัวผู้ขยับเข้าใกล้และพยายามตรึงกริ่งไฟฟ้าเอาไว้ด้วยความเข้าใจผิด ผลการทดลองในห้องแลบพบว่า เพลี้ยตัวผู้แต่ละตัว จะหลงไปผสมพันธุ์กับเพลี้ยปลอมถึง 4 ครั้ง ก่อนจะสามารถเข้าไปจับคู่กับเพลี้ยตัวเมียจริงๆ
แม้จะเป็นผลการทดลองในห้องแลบ แต่แมนคินบอกว่า กำลังจะเข้าไปทดสอบกันจริงๆ ในสวนส้ม และพยายามลดต้นทุนการผลิตต่อชิ้นให้ได้มากที่สุด เพราะขณะนี้ราคาอุปกรณ์ที่ติดตั้งในระยะ 2 ฟุตหรือ 30 เซนติเมตร อยู่ระหว่าง 50-200 ดอลลาร์
แมนคินและทีมยังมีโครงการทดสอบคล้ายกันนี้ในไร่องุ่น เพื่อดูว่าคลื่นเสียงจะส่งผลต่อแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นๆ มากน้อยเพียงใด
ความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีผลิตคลื่นเสียงต้านเพลี้ยมาใช้ในสวนส้ม สำคัญที่การลดต้นทุนวัสดุลง ก่อนที่เพลี้ยส่วนใหญ่จะดื้อยาปราบศัตรูพืชแบบเดิมๆ การควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยเสียงเป็นแนวคิดน่าสนใจที่อาจเป็นทางออกในการป้องกันผลผลิตเพื่อเลี้ยงประชากรโลกในอนาคตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่มา: alternet.org