SPACETH.CO วิทยาศาสตร์โคตรสนุก วิชาวิทยาศาสตร์ต่างหากที่ไม่สนุก

อายุน้อยสุดของทีมนี้คือ 13 มากที่สุดคือ 20 วางกำลังอยู่ทั่วประเทศ ไม่มีสำนักงาน บ้านของทุกคนคือสายพานการผลิต นับคนทำงานรวมแล้ว 10 ชีวิต

“เราเห็นว่ามีกลุ่มสถาบันวิจัยต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐแล้ว ในภาคการศึกษา เรามีคนที่สอนในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เรามีบริษัทที่ทำสื่อต่างๆ ออกมา แต่ว่ามันยังขาดไปภาคหนึ่ง คือภาคของคนและกลุ่มที่สนใจจริงๆ คือเรา ซึ่งการสื่อสารหรือ message ที่ออกไป มันจะแตกต่าง”

เรากำลังพูดคุยกับทีมงาน SPACETH.CO นำทีมโดย ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน วัย 20 ปี, อิงค์-จิรสิน อัศวกุล นักเขียนวัย 18 ปี และเออีวัย 16 ปุณ-ปุณยภา วิทูรปกรณ์

ทีมก่อตั้งและนักเขียนมารวมตัวกันได้เพราะชอบวิทยาศาสตร์และอวกาศเหมือนๆ กัน ต่างคนต่างเขียนบล็อก เจอกันตามค่าย จนสุดท้ายก็รวมกลุ่มคนคอเดียวกันสร้าง SPACETH.CO ขึ้นมา และครบขวบปีแรกไปเมื่อเร็วๆ นี้

ถ้ากดไลค์แฟนเพจหรือคลิกเข้าไปท่องเว็บ ภาษาและสำนวนที่ใช้จะฟ้องว่าพวกเขาแตกต่างอย่างยียวน ขณะเดียวกันข้อมูลก็แน่นปึ้กด้วยความเนิร์ดขั้นสูงของแต่ละคน

เติ้ล เจ้าของบทความ ‘ในรัฐประหาร 4 ปี วงการอวกาศพัฒนาไปมากแค่ไหน’, อิงค์ ผู้เขียน ‘การขี้ในอวกาศ’ กับปุณ เออีชั้น ม.6 ที่หนุ่มๆ บอกว่าพูดจารู้เรื่องที่สุดแล้ว

สองหนุ่มเนิร์ด กับหนึ่งสาวธรรมดา ทั้งหมดพร้อมสนทนาภาษาอวกาศ กับ WAY ตั้งแต่บรรทัดล่างเป็นต้นไป

SPACETH.CO
จากซ้ายไปขวา: อิงค์-จิรสิน อัศวกุล เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ ปุณ-ปุณยภา วิทูรปกรณ์

ความชอบเรื่องอวกาศเรื่องดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาจากตรงไหน

อิงค์: ตอนเด็กๆ ผมคิดว่าทุกคนต้องได้ดูการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน แล้วคนเขียน ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เขาเป็นคนชอบเรื่องไซ-ไฟมาก คือเขาเคยเขียนการ์ตูนไซ-ไฟ มาก่อนเรื่องนึงแต่ขายไม่ได้ เขาเลยมาเขียนการ์ตูนกิ๊งก๊องน่ารัก ชื่อโดราเอมอน ซึ่งจริงๆ เป็นการ์ตูนไซ-ไฟเสียดสีสังคม และมีความคมคายอยู่

โดราเอมอนจะมีหลายตอนที่เป็นอวกาศแล้วก็สอนเราเรื่องหลุมดำ หรือไปเที่ยวด้วยประตูไปที่ไหนก็ได้ เช่น ไปดาวเคราะห์น้อย ไปดาวต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนุก เป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกชอบอวกาศขึ้นมา ประกอบกับได้ดูสารคดีทางทีวี ก็ทำให้รู้สึกเกิดแรงบันดาลใจมากขึ้น

เติ้ล: เติ้ลเป็นเด็กยุคปี 2000 ครับ คือเด็กช่วง 2000 จะเป็นช่วงที่มี culture อะไรบางอย่างที่พ่อแม่ออกไปทำงานใช่ไหม ลูกอยู่ที่บ้านแล้วก็มีทีวีเป็นเพื่อนลูกไป

แต่วิธีการถูกเลี้ยงของเติ้ลอาจจะต่างกับครอบครัวอื่นสักหน่อยคือ แทนที่จะทิ้งไว้กับทีวี แม่ก็จะทิ้งไว้กับหนังสือ แม่ซื้อหนังสือทิ้งไว้ให้หลายเรื่อง ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม เรื่องราวที่น่าสนใจต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องวิทยาศาสตร์ เลยจุดประเด็นทำให้ชอบวิทยาศาสตร์ พอโตขึ้น เราได้เล่นอินเทอร์เน็ต ได้ดูสารคดี เราอยากจะบอกเล่าสิ่งที่เราเรียนรู้มาให้คนอื่นฟัง

 

มันมีจุดอะไรในอวกาศที่เราสนใจเป็นพิเศษไหม ณ ตอนนั้น

เติ้ล: ช่วงปี 2003 ครับ ตอนนั้นไม่กี่ขวบ ได้ดู NASA ส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคาร ปีนั้นมันเป็นปีที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุด ดังนั้นพวกหน่วยงานอวกาศต่างๆ เขาจะใช้โอกาสนี้ส่งยานไปดาวอังคาร เพราะว่าพอมันเข้ามาใกล้ เชื้อเพลิงก็ใช้น้อยกว่า ระยะเวลาก็ใช้น้อยกว่า โอกาสในการสื่อสารสัญญาณต่างๆ มันก็มีมากขึ้น

พอเราได้เห็นเทคนิคการลงจอดอะไรต่างๆ มันทำให้เราเกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ้ย แล้วทำไมคนเราต้องมาสำรวจอวกาศ ตอนนั้นยังเด็กก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องของปรัชญา เป็นเรื่องของความหมายในชีวิต เป็นเรื่องของนักสำรวจ แต่ว่าสิ่งที่สัมผัสได้ ณ ตอนนั้นคือเรารู้สึกว่ามันเจ๋ง แล้วเราอยากทำแบบนี้บ้างหรืออย่างน้อยถ้าเราทำไม่ได้เราก็อยากบอกเล่าว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่

ปุณ: ปุณถูกชวนมาอยู่เว็บนี้อย่างงงๆ ตั้งแต่ต้นมา คือรู้ว่ามีพวกดาราศาสตร์อยู่แต่ก็แทบไม่ได้ศึกษาอะไรเลยค่ะ แค่รู้ว่ามีอยู่แต่ไม่ได้สนใจหรือว่าเข้าไปค้นคว้าเป็นพิเศษ ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เริ่มหาอ่านมากขึ้น ก็เป็นเพราะว่าเว็บนี้ค่ะ

เติ้ล: เติ้ลไปชวนปุณเข้ามา ปุณเป็นคนพรีเซ็นต์เก่ง สื่อสารเก่ง แล้วก็มีวิธีการคุยงานหรือว่าการคิดงานที่สร้างสรรค์และไม่เหมือนใคร

ช่วงนั้นเรากำลังหาคนที่มาคอยประสานดูเรื่องนู่นนี่ เพราะในทีมจะเป็นคนที่พูดกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง จะเนิร์ดๆ เวลามีใครติดต่อมาก็จะงงๆ น่ะครับ (ยิ้ม)

ปุณเป็นเหมือนกับตัวแทนของคนในระดับธรรมดาที่พอรู้เรื่องดาราศาสตร์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาแบบเจาะลึกไปถึงขั้นคุยกับใครไม่รู้เรื่อง ทีนี้เวลามีคุยงานกับลูกค้า หรือคนอื่นๆ ปุณเขาจะทำได้

SPACETH.CO

เนิร์ดกันหมดไหม

เติ้ล: ก็น่าจะเนิร์ดทั้งกลุ่ม

ปุณ: (ขำ) ก็เนิร์ดค่ะ เวลามีข่าวเกี่ยวกับอวกาศใหม่ๆ ขึ้นมา หรือว่ามีข่าวลือโผล่ขึ้นมาในแชทเขาก็จะเริ่มรัวภาษาอะไรของเขาเข้าไป อันนั้นเราก็จะออกมาอยู่วงนอก แต่พอเป็นเรื่องงาน เราก็แค่ฟังจากฝั่งนึงมาแล้วก็มาบอกอีกฝั่งนึงว่าเป็นยังไง และพยายามสรุปให้เขาค่ะ

นอกจากเนื้อหา เห็นมีแก๊กกวนๆ เยอะมากเลยในโซเชียลมีเดียทีมคิดยังไงถึงเล่นกับอะไรพวกนี้

เติ้ล: มองคอนเทนต์ไว้สองอย่าง คือ หนึ่ง-คอนเทนต์ที่บอกว่าเราเป็นใคร กับ สอง-คอนเทนต์เรียกแขก เช่น การใส่มุก คือพอทำไปแล้วคนก็จะชอบ กดไลค์กดแชร์กันเยอะ นี่คือการทำให้คนรู้จักเราว่าเอ้อ มันมีเว็บดาราศาสตร์ เว็บอวกาศอยู่นะ แล้วพอเขากดเข้ามาดู เขาก็จะเจอกับเนื้อหาที่มัน define ความเป็นเราว่า โอเคเราไม่ได้แค่เล่นมุกไร้สาระแต่ว่าเราเป็นกลุ่มคนผู้สนใจจริงๆ ที่จะให้เล่าในมุมตลกเราก็ทำได้ เล่าในมุมจริงจังเราก็ทำได้ เล่าในมุมเศร้าในมุมต่างๆ เราก็ทำได้

เพราะว่าเราเป็นกลุ่มคนที่ชอบเรื่องพวกนี้จริงๆ เราไม่ได้แค่อยู่ดีๆ มา เฮ้ย อยากเล่นมุกเกี่ยวกับอวกาศ

เหมือนกับการ define บ่งบอกให้เสียงของเรามันไปได้ไกลขึ้น อย่างเวลาเราตะโกนเรียกคนอื่น แน่นอน เราต้องตะโกนด้วยเสียงที่ดังใช่ไหมครับ แต่เวลาที่เรา make decision (ตัดสินใจ) หรือทำอะไรที่จริงจังมากๆ เราก็ต้องใช้ความ deep (ลึก) ใช้น้ำเสียงที่จริงจัง ใช้ความเบาแต่มีพลัง มัน powerful นี่เป็นเทคนิคหนึ่งที่เราใช้ดึงดูดกลุ่มผู้อ่านและทำให้เรารู้สึกว่าคนที่เข้ามาอ่านเราเขามีความชื่นชอบจริงๆ แล้วเขาอยากฟัง

SPACETH.CO

วิธีการเลือกเรื่อง เลือกวิธีการสื่อสารเป็นแบบไหน

อิงค์: ผมชอบเรื่องธรรมชาติ โลก อวกาศ ทั้งหมดที่ผมสนใจผมก็จะเขียนออกมา สื่อสารให้เขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจนะ เพราะเราสนใจ เราเลยอยากสื่อให้เขาสนใจเหมือนที่เราสนใจ เช่นบทความเรื่องการขี้ในอวกาศที่ผมเขียน เพราะผมสนใจ เลยอยากให้คนอื่นสนใจ แล้วก็เป็นคอนเทนต์ที่เรียกแขกได้ดี อีกทั้งมันก็ยังเป็นคอนเทนต์ที่แปลกแหวกแนวไม่มีใครเคยเขียนมาก่อน…แต่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่เข้าถึงได้

ความรู้สึกมั่นใจว่าเขียนมารู้เรื่องและเข้าใจ มาจากตรงไหน?

อิงค์: เอาจริงๆ ผมเป็นคนพูดไม่เก่งนะ สื่อสารไม่ค่อยเก่งด้วย มีปัญหากับการสื่อสารกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ ก็พยายาม…ผมเลยถนัดเขียนมากกว่า เพราะผมสามารถมานั่งดูรูปคำได้อีกที…ผมดูรูปคำ 10 กว่ารอบในการเขียนแต่ละครั้ง กว่าจะออกมาได้ทีละคำหนึ่ง เพื่อเช็คว่าเรารู้เรื่องและพยายามประเมินตัวเองว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลย จะรู้เรื่องหรือเปล่า

เติ้ล: เติ้ลจะชอบสื่อสารโดยการเอามุมอื่นๆ เข้ามามองอวกาศ เราพยายามจับต้องลูบคลำอวกาศในมุมอื่นๆ ที่คนเราอาจจะยังไม่นึกว่า เอ๊ย มันมีมุมนี้ด้วย เพราะส่วนตัวแล้วเติ้ลเป็นคนที่ชอบหลายเรื่องมากตั้งแต่เรื่อง สังคม การเมือง วัฒนธรรม มองอวกาศว่าหมือนกับ culture หนึ่ง

ทีนี้พอเราสื่อสารในมุมมองอื่นๆ เช่น อวกาศกับปรัชญา อวกาศกับการเมือง อวกาศกับความเป็นมนุษย์ อวกาศกับวิวัฒนาการ ฯลฯ มันทำให้เราได้มุมใหม่ๆ พอคนเข้ามาอ่านก็จะได้แบบ เอ้ย มันมีมุมนี้ด้วยเหรอ ส่วนรูปแบบของการเขียนหรือว่าการสื่อสาร คือเราเอา space มาบวกกับ creative มันก็จะได้การสื่อสารที่แปลกใหม่กว่าเดิม

อีกอย่าง…เวลาเราจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม เราจะมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเลยว่าคอนเทนต์นี้เราอยากให้คนได้อะไร เราจะไม่แบบ อยู่ดีๆ มาเขียนเรื่องดาวพลูโตกันดีกว่า แต่เราจะตั้งเป็นเป้าหมายขึ้นมาเลยว่า เช่น ยาน Cassini ของ NASA ครบรอบ 20 ปีแล้วนะเราจะทำยังไงให้คนรู้และซาบซึ้งถึง 20 ปีที่ผ่านมาของมัน ซึ่งวิธีการสื่อสาร เราค่อยมาคิดทีหลัง

พอเราคิดได้แบบนี้แล้ว การทำคอนเทนต์ก็จะไปในแนวทางเดียวกันชัดเจน หลายคนสามารถเข้ามาช่วยกัน contribute ได้โดยที่เรามีวัตถุประสงค์เดียวกัน

SPACETH.CO

เพราะรู้สึกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ในห้องมันไม่ตอบเราหรือเปล่า หรือให้มันอยู่แบบนั้นแหละ แล้วเราก็ออกไปหาความรู้ที่สนใจเอาเองข้างนอกก็ได้

อิงค์: เอาจริงๆ วิทยาศาสตร์มันเป็นศาสตร์ที่เกิดมาพร้อมกับปรัชญา เราพยายามหาคำตอบของปรัชญาและธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน

แนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยก่อนคือค้นหาความจริง เราค้นหาความจริงจากสิ่งที่เราสงสัยแล้วเราก็หลงใหลในมัน จากนั้นค่อยๆ ศึกษาว่ามันคืออะไร กลับกัน การศึกษาบ้านเราคือบอกคำตอบเลย แล้วค่อยให้เด็กรู้สึกว่ามันน่าสนใจ มันน่าลุ่มหลง น่าหลงใหล สุดท้ายค่อยไปเริ่มกระบวนการใหม่คือเริ่มศึกษามัน

มันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า…ก็แล้วไง ไม่เห็นน่าสนใจอะไรเลยสปอยล์ตอนจบไปแล้วมันก็ไม่สนุก เหมือนนิวตันรู้เรื่องแรงโน้มถ่วง กว่าเขาจะรู้ได้ เขาสงสัยว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แต่เราดันมาบอกเลย F=ma, F=mg จบแล้ว มันขาดความน่าสนใจในระหว่างเส้นเรื่องที่เกิดขึ้นน่ะครับ

เติ้ล: เราเคยมานั่งคุยกันว่า ทำไมคนถึงชอบมองว่าวิทยาศาสตร์มันเป็นวิชา ก็เลยตกผลึกได้ว่าจริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์และศาสตร์ทุกอย่างในโลก มันเกิดขึ้นจากความสงสัย และเราพยายามจะอธิบายอะไรบางอย่าง

แต่สิ่งที่ระบบการศึกษาหรือว่าสิ่งที่โรงเรียนพยายามจะให้คือเขาบอกคำตอบมา บอกให้เรารู้ พอบอกให้เรารู้เสร็จ บอกให้เราไปสงสัยไปตั้งคำถามกับมันซึ่งมันเป็นกระบวนการย้อนกลับ ถามว่ามันดีไหม มันอาจจะโอเคในแง่การวัดผล การประเมิน แต่ถ้าเราจะหวังเรื่องความรู้หรือว่าทักษะกระบวนการคิดจริงๆ มันจะต้องผ่านกระบวนการที่ เป็นการ unlearn แล้วก็มา relearn มันใหม่อีกครั้งครับ

ยกตัวอย่าง เติ้ลไม่เคยขึ้นเครื่องบิน พอได้มาขึ้นเครื่องบินครั้งแรกมันเปิดมุมมองอะไรหลายๆ อย่าง จากสมการในห้องเรียนว่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลกมันเป็นแบบนี้นะ พอเราอยู่ในเครื่องบินที่กำลังยกตัวขึ้นเราจะรู้สึกว่าหนักขึ้นครับ หรือว่าความเร่งหน้าตามันเป็นยังไง เราเคยสัมผัสกับความเร่งจริงๆ ไหม ความกดอากาศมันเป็นยังไง การที่เราไปอยู่ในที่ที่ความกดอากาศต่างกัน มันจะทำให้สภาพร่างกายของเราปรับเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

พอเราได้ไปสัมผัสกับมันจริงๆ กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเรียนมาในห้องเรียน เป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นถามว่าวิธีการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จะต้องไปในทางที่โรงเรียนสอน หรือไปในทางการตั้งคำถาม การสงสัยตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ เติ้ลมองว่าแล้วแต่ สิ่งที่สำคัญคือเราควรจะปรับตัวเองให้สามารถเรียนรู้ได้กับทุกเรื่องไม่ว่าโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้มันจะมาแนวไหน เหมือนกับว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับทุกเรื่องที่ัมันจะเข้ามา ถ้าเราอยากจะเรียนรู้กับมันจริงๆ

ปุณ: ส่วนตัวชอบเวลาที่ได้เรียนนอกห้องมากกว่า เพราะพอเรามาหานอกห้องมันแปลว่าเราสนใจ เราอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเอง เวลาที่เราสนใจอะไรสักอย่าง มันก็สนุกกว่าอยู่แล้วที่จะได้เรียนรู้มัน

กลับกันในห้อง มันก็มีหลักสูตรมาอยู่แล้ว บางทีเราเรียนไปเราก็ตั้งคำถามว่าเราเรียนอันนี้ไปทำไม ทำไมเราต้องรู้ว่ามนุษย์วิวัฒนาการมาจากไหน ทำไมเราต้องรู้ว่ามันคืออะไร…ถามว่าเรารู้ไปทำไม ไม่ได้ใช้มัน เราไม่ได้จะไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว พอเราเกิดคำถาม…ก็จะเกิดความไม่อยากเรียน ไม่สนใจ แล้วก็คิดแค่ว่าเรียนไปแค่เพื่อสอบเฉยๆ

ทำไมอิงค์ถึงเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ แต่เติ้ลกลับเลือกนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

อิงค์: อยากเรียนรู้ต่อ เพราะว่าโลกนี้มันมีอะไรให้รู้อีกเยอะเลย ช่วงเข้าศตวรรษที่ 20 มีนักฟิสิกส์คนหนึ่งบอกว่า โลกของฟิสิกส์มันจบแล้ว ไม่มีอะไรอีกแล้ว ทุกอย่างเหลือแค่คุณพยายามวัดให้มันเที่ยงตรงมากขึ้นก็พอ จนกระทั่งเริ่มมีคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์กับทฤษฎีควอนตัมขึ้นมา อันนี้กลายเป็นจุดหักล้างคำพูดของนักฟิสิกส์คนนั้นว่าโลกมันยังมีอะไรให้เราศึกษาอีกเยอะ

เช่น คำถามที่คนสงสัยว่าในหลุมดำมีอะไร สมองคนทำงานได้อย่างไร หรือว่ามีชีวิตนอกโลกอีกไหม ก็เป็นเรื่องที่ยังรอให้เราศึกษาอยู่อีกเยอะ ผมสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กแล้ว เลยอยากศึกษาต่อแล้วก็เอาความที่เราลุ่มหลง หลงใหลในวิทยาศาสตร์มาเผยแพร่ให้กับคนอื่นต่อ สื่อให้กับคนอื่นให้เข้าใจในสิ่งที่เราหลงใหล แล้วก็สื่อสารให้มันในถูกต้องครับ

SPACETH.CO

ทำไมเติ้ลไม่เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์

เติ้ล: เป็นคนที่หวงความรู้สึกของตัวเองว่าไอ้เรื่องที่เรารักมากที่สุด เราไม่อยากให้มีใครมาบังคับว่าเราจะต้องเรียนรู้ตามหลักสูตรตามแบบบทที่ 1 บทที่ 2 อยากเรียนอะไรที่เรารู้สึกว่าเราสนุกแล้วพอเราได้ทำ จับต้องมัน ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราสามารถนำสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรารักอย่างวิทยาศาสตร์ได้น่ะครับ

การเรียนอะไรมันไม่สำคัญเท่าเราจะทำอะไรมากกว่า ต่อให้เราเรียนอะไรก็ตาม ในความลึกๆ ของเรามีความเป็นวิทยาศาสตร์ มุมมองต่อโลกของเรามันคือวิทยาศาสตร์ นี่คืออสิ่งสำคัญเพราะมันจะมา define ตัวตนว่าเราเป็นใคร เราทำอะไร เติ้ลเชื่อว่าที่ทำอยู่ตอนนี้ พอที่จะ define ตัวเองได้แล้วว่าเป็นคนชอบวิทยาศาสตร์และหลงใหลในวิทยาศาสตร์

สี่ปีในมหา’ลัย เมื่อเทียบกับเวลาของโลก เวลาของชีวิตเราหรือแม้กระทั่งเวลาของจักรวาลมันเป็นเวลาที่สั้นมาก เราไม่สามารถที่ไปเรียนรู้อะไรได้มากขนาดนั้นน่ะครับ

เราใช้เวลาสี่ปีในมหา’ลัย ให้มีความสุข แล้วที่เหลือเราทุ่มเทไปกับการเรียนรู้ในสิ่งที่เรารักมากกว่า มหา’ลัยเป็นแค่ข้างทาง แต่ว่าเส้นทางที่เราต้องเลือก เราต้องเลือกด้วยตัวเราเอง เราอยากรู้เราถึงไปมหา’ลัย ไม่ใช่ว่าเราไปมหา’ลัย แล้วมหา’ลัยจะทำให้เราอยากรู้

วิทยาศาสตร์น่าหลงใหลตรงไหน

อิงค์: น่าลุ่มหลงสงสัยตรงที่ว่า มันรู้แล้วมันอยากรู้อีก พอเรารู้จุดนี้ปุ๊บ แล้วทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ล่ะ แล้วทำไมถึงเกิดอย่างนี้ขึ้นมาอีก มันสร้างความสงสัยไปได้เรื่อยๆ เหมือนแรงโน้มถ่วงคืออะไร ทำงานอย่างไร แล้วทำไมถึงเกิดแรงโน้มถ่วง สุดท้ายมันก็จะมีเรื่องให้สงสัยไปได้เรื่อยๆ ครับ

เติ้ล: มองว่าวิทยาศาสตร์คือศาสตร์ที่ใช้ในการอธิบายทุกอย่าง ตัวเรา ธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเรื่องใกล้ๆ ตัวอย่างเรื่องชีวิตเรา เติ้ลพบว่ามันมีความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเอกภพ หรือว่าจักรวาล อย่างธาตุต่างๆ ในร่างกายของเรา มันไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับช่วงที่เกิดเอกภพนะครับแต่มันเกิดขึ้นจากการฟอร์มตัวกันของแก่นกลางของดาวฤกษ์ ที่พอสุดท้ายแล้ว ดาวดวงนั้นมันระเบิดออก ธาตุหรือว่าสสารพวกนี้ก็ฟุ้งกระจายไปทั่วจักรวาล แล้วก็เกิดมาเป็นดาวเคราะห์ เป็นธาตุสารประกอบต่างๆ แล้วสุดท้ายมันก็กลายมาเป็นตัวเรา เกิดมาเป็นกลไกของชีวิต

เลยมองว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์มันคือการมองย้อนกระบวนการเหล่านี้กลับเข้าไป ว่าเราพยายามจะอธิบายว่าชีวิตคืออะไร ทำไมเราถึงมีความรู้สึก สารสื่อประสาทต่างๆ พอเรามองย้อนกลับไป เราก็จะพบว่า ธรรมชาติสร้างตัวเราขึ้นมา สิ่งที่สร้างธรรมชาติขึ้นมามันก็คือธรรมชาติ แล้วพอเราแบบศึกษากระบวนการย้อนกลับไปมันทำให้เราทึ่งว่า ที่เรามาอยู่ตรงนี้ มันไม่ได้เป็นเรื่องง่าย มันเป็นความบังเอิญหนึ่งในแสนล้าน พันล้าน หมื่นล้าน

เรากำลังศึกษาที่มาของตัวเรา อันนี้คือคอนเซ็ปต์หลักของวิทยาศาสตร์

ความคิดที่ว่า เรียนไม่เก่ง จบ ม.3 ไปสายศิลป์ เก่งถึงไปสายวิทย์ ทั้งๆ ที่คนไม่เก่งก็อาจจะชอบวิทยาศาสตร์ อาจจะชอบคณิตศาสตร์ ก็ได้ เลยอยากถามว่า แล้วคนเรียนไม่เก่งเรียนวิทยาศาสตร์ได้ไหม สนใจวิทยาศาสตร์ได้ไหม

อิงค์: ได้สิ ทำไมจะไม่ได้ มันมีกฎข้อไหนบนโลกใบนี้ห้ามเรียนวิทยาศาสตร์เหรอ

ทุกวันนี้สังคมเราตีกรอบให้ว่าเด็กเก่งต้องเรียนวิทยาศาสตร์ เด็กห่วย เด็กเรียนไม่เก่งก็ไปเรียนสายศิลป์สิ มันก็เลยทำให้เด็กเกลียดวิทยาศาสตร์ไป เพื่อนผมบางคนเขาก็ชอบวิทยาศาสตร์นะ แต่เขาถูกตีกรอบว่าคุณเรียนไม่เก่ง คุณไม่ต้องเรียนวิทยาศาสตร์หรอก คุณไปเรียนสายศิลป์สิ

การถูกตีกรอบมันไปทำลายความชอบของเขา จนสุดท้ายแล้วผมให้เขาดูคลิป Spacex จรวดลงมาจอด เขาตื่นเต้นมากเลย เขาบอกว่าทำไมเราไม่รู้เร็วกว่านี้เราจะได้เรียนสายวิทย์ เราจะได้ไปศึกษาเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้น

เติ้ล: การเรียนรู้ของเราใน ทุกวันนี้กับ 50 ปีที่แล้ว มันต่างกัน ทุกวันนี้มันเป็นโลกของข้อมูล วันหนึ่งเราเสพข้อมูลกันไม่รู้เท่าไหร่ แค่เราเดินมาเจอกัน ก็เกิดขึ้นมาหนึ่งบทสนทนาแล้ว ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วนะ

แต่ทุกวันนี้เรามีโซเชียลเน็ตเวิร์ค เราดูคลิปบนยูทูบเราอยู่บนรถไฟฟ้า เราได้ยินเสียงเพลงหรือได้ฟังคนพูดเรื่องนู้นเรื่องนี้กัน นี่ก็ถือว่าเป็นการสร้างข้อมูลใหม่ๆ เข้ามาในหัวเราแล้ว

แต่สมัยก่อน การรับรู้ต่อหนึ่งข่าวสารมันน้อยมาก ดังนั้นพอมาย้อนมองถึงระบบการศึกษาหรือการตั้งคำถามว่า ควรจะเลือกเรียนอะไรหรือควรจะเรียนสายวิทย์ไหม มันก็ทำให้คิดได้อย่างหนึ่งว่า จริงๆ แล้วเราไม่ต้องสนใจก็ได้ เพราะสามปีที่เราจะมาเลือกเรียนตามสาย วิธีนี้มันอาจจะไม่เวิร์คแล้วก็ได้ เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้เอง

ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณทำเรื่องนี้ได้ดี แล้วคุณมองว่า การไปเรียนในโรงเรียนหรือการเลือกเรียนสายนี้มันทำให้เสียเวลา หรือมันจะทำให้ slow process หลายอย่างมากขึ้น ฉะนั้นมันไม่จำเป็นอยู่แล้วว่าเราจะต้องเลือกเรียนให้ตรงกับความชอบหรือความสนใจ เพราะต่อให้เราเลือกเรียนกับสิ่งที่มันตรงแต่เราไม่ได้ต้องการสิ่งที่เขาอยากจะให้ เราชอบวิทยาศาสตร์แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้อยากเรียนชีววิทยา เราอาจจะไม่ได้อยากท่องตารางธาตุ ไม่ได้อยากจะมาท่องสปีชีส์ของสัตว์

เรามองว่าขั้นตอนนี้ไม่ได้ทำให้ความสนใจของเรางอกเงยขึ้น หรือทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราอยากรู้ นี่ก็เป็นชอยส์ของเราเหมือนกันว่า โอเคเราอาจจะชอบวิทย์ แล้วไปเรียนอย่างอื่น อย่างที่เราอาจจะสนุกกับมันได้เรียนรู้กับมันก็ได้

มันคือแนวคิดของเติ้ลเลยว่าทุกวันนี้ เราไม่จำเป็นต้องเลือกเรียนตามหลักสูตรหรือตามตารางเวลา เพราะกว่าจะเรียนจบสี่ปี มันมีศาสตร์ใหม่ๆ งอกเงยเพิ่มขึ้นมา

การที่เราเอาตัวเองเข้าไปอยู่กับหลักสูตรที่มันเกิดขึ้นมาแล้วประมาณสี่ปี หรือบางหลักสูตรเป็น 10 ปี 20 ปี มันอาจจะทำให้เราเสียเวลาและเสียโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นมันอยู่กับตัวเราเองแล้วว่าจะเลือกอะไร

คนที่ติดตามคอนเทนต์ของเรา เขาจะได้อะไรจากมัน

อิงค์: เขาได้ความรู้อย่างแรกเลย แล้วเขาก็ได้ความสนุกจากการที่ได้เสพเรื่องราวพวกนี้ มันไม่สามารถพูดได้ว่ามันไม่สนุกนะ เพราะว่าบางคนเขาก็ลุ่มหลง หลงใหล มันก็สนุก บางคนถ้าเกิดอ่านแล้วเกิดความสงสัยอีกเขาก็ไปศึกษาต่อได้อีก ได้เรื่อยๆ

มีเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เรื่องหนึ่งครับ เป็นเรื่องที่แมสมาก เราเลือกที่จะไม่เขียนเพราะว่ามันแมสอยู่แล้วเนอะ โห คนเขียนกันไปเยอะแล้ว แต่มีคนหนึ่งทักเข้าในมากล่องข้อความเลย บอกว่า ‘นี่ๆ SPACETH.CO จะไม่เขียนเรื่องนี้เหรอ’ เราถามไปว่า เอ้ย ทำไมล่ะ มีคนเขียนเยอะแล้ว

ณ วันนั้น เขาตอบมาว่า “เราอยากฟังวิธีการเล่าของ SPACETH.CO” อันนี้คือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเลยว่า ที่เขาเข้ามา เขาอาจไม่ได้อยากจะหยิบจับประเด็น A B C 1 2 3 หรือว่าเนื้อความของมันเลยก็ได้ เขาแค่อยากจะเข้ามารับความรู้สึกที่เราอยากถ่ายทอดไปให้ในฐานะที่เขารู้จักเราว่า เราเป็นกลุ่มผู้ชื่นชอบ เราเป็นกลุ่มที่มีความสนใจ มัน define ความเป็นตัวตนของเราใหม่

SPACETH.CO

เรื่องการทำเว็บ/เพจ เคยพลาดบ้างไหม

อิงค์: มีครับ มีอยู่แล้ว

แล้วจัดการกับมันยังไง

อิงค์: แก้ครับ แก้ทันที ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคำผิดนะ แต่ก็มีเรื่องที่เขียนผิดเหมือนกัน

เติ้ล: เป็นเรื่องของการวาง position ตัวเองด้วย ถ้าเราวาง position ของตัวเองว่าเราเป็นกลุ่มของคนที่ชื่นชอบและสนใจ เวลาเราผิดเราก็แก้ไขตามนั้น เพราะเวลาเกิดการค้นพบอะไรใหม่ๆ เราไม่ได้ไปค้นพบกับเขา เราแค่ฟังแล้วก็เรามาบอกเล่าสื่อสารต่อ

ทีนี้พอมีคนที่รู้เรื่องนี้จริงๆ เขาอาจจะชอบหรือสนใจเหมือนกับเรามาช่วยกันดู และบอกว่า ตรงนี้คุณเขียนผิดนะ ที่จริงแล้วมันต้องแบบนี้ๆ เราก็แก้ไขไป

แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่อยากจะคงเอาไว้และเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ คือเราต้องมีความซื่อสัตย์ ถ้าเราผิดก็บอกว่าผิด เรายอมรับผิด แล้วปัญหามันจะจบทุกอย่างเลยจริงๆ แต่ถ้าเราผิดแล้วเราไปแถว่า แต่เรามองในมุมนี้ว่า…อะไรอย่างนี้ ไม่ควรทำครับ ถ้าผิดก็บอกว่าผิดแล้วมันจะสร้างสังคมการเรียนรู้จริงๆ

นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เคยผิดพลาดเสนอทฤษฎีที่สุดท้ายกลายเป็นว่าถูกพิสูจน์แล้วว่าผิด หรือว่าแม้กระทั่งอาจารย์ หน่วยงานต่างๆ นาซ่าเองยังเคยผิด เราเป็นแค่กลุ่มเด็กมัธยมกลุ่มเด็กมหา’ลัย ปี 1 ปี 2 การที่เราจะผิดบ้างมองว่ามันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเวลาที่เราทำอะไรผิดพลาดแล้วเรายอมรับมันหรือเปล่า ถ้าเรายอมรับ ครั้งหน้าเราก็จะไม่ผิดอีก

คนวัยใกล้ๆ กันมารวมกลุ่มกันทำอะไรสักอย่าง อยากรู้ว่าคุยเรื่องอะไรกันบ้างนอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์

อิงค์: (ขำ) การ์ตูน เกม ผมติดเกมก็คุยเรื่องเกมกับกร แล้วก็…เรื่องเพศครับ (ขำ) นั่นแหละครับ

เติ้ล: วัยรุ่น อยากศึกษาอะไรอย่างนี้ครับ ก็คุยกันได้เป็นเรื่องปกติ จริงๆ เราสนิทกันมาก พอรู้ว่าชอบเรื่องเดียวกัน ได้มาทำงานด้วยกัน มันเป็นการละลายพฤติกรรมอย่างหนึ่งนะ กำแพงมันก็ลดลงแล้ว

เราคุยกันได้ทุกเรื่องไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องงาน หรือที่บ้านไม่เข้าใจ จะเรียนต่ออะไรดี เพราะยิ่งได้ทำงานร่วมกันมันได้เห็นมุมมองที่แต่ละคนมองโลก และไม่ได้แปลว่าแต่ละคนจะเพอร์เฟ็คท์เราเห็นมุมด้อยของแต่ละคนเราคุยกันได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้ววัตถุประสงค์ของเราเหมือนกัน หนึ่งเลยคือเพื่อเล่าเรื่องอวกาศ สื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ และสอง-เราอยากได้เพื่อน เราอยากได้กลุ่มคนที่ชื่นชอบเรื่องเดียวกับเรา

มีปัญหาอะไรบ้างในการทำงานของทีมวัย 10 กว่าถึง 20 ปี

อิงค์: ปัญหาคือวัยนี้มันเป็นวัยที่ร่างกายมันขี้เกียจ (ขำ) เรา…ขี้เกียจจริงๆ นะ ตอนเราเป็นเด็กเราไม่อยากตื่นไปเรียนตอนเช้า ไม่อยากทำการบ้าน อยากนอนอยู่บนเตียง มันเป็นวัยที่ร่างกายมันปรับตัว ตามวิวัฒนาการแล้วมันเป็นช่วงที่ขี้เกียจ เพราะเราต้องเรียนรู้โลกร่างกายเลยปรับให้เราขี้เกียจ

เติ้ล: เอาตามตรงไหมว่าทำไมเราขี้เกียจ เพราะว่าวัยนี้มันเป็นวัยที่เรียกว่าวัยเจริญพันธุ์ (ใช่ อิงค์บอก) แล้วเราต้องเก็บพลังงานเอาไว้ใช้ในการสืบพันธุ์

แล้วจัดการความขี้เกียจยังไง

อิงค์: จัดการยากนะ

แต่เวลาทำงานงานจะขี้เกียจพร้อมกันทุกคนไม่ได้

เติ้ล: เรามีเป้าหมาย พอเรามีเป้าหมายชัดเจน คือเราอยากให้คนอ่านรู้เรื่องนี้ ดังนั้นวิธีการประมวลผล KPI ก็คือ ทำสิ่งนั้นให้ได้ ถ้ารู้สึกว่าทำไม่ได้ก็เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ ก็ต้องทำต่อให้จบ แต่ว่าวิธีการอาจไม่ถึงขั้นกระตุ้น เชื่อว่าคนที่เรียนหนัก การบ้านก็ต้องทำ หนังสือก็ต้องอ่าน งานบ้านก็ต้องดูแลรับผิดชอบ แล้วยังต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาทำอะไรแบบนี้อีกซึ่งรายได้มันก็ไม่ได้เยอะมาก บางทีทำไปขาดทุนอีก เลยมองว่าทุกคนที่มาทำมันมีสิ่งนึงร่วมกันเลยคือจิตใจที่เราอยากจะบอกเล่าสื่อสารความเป็นวิทยาศาสตร์

พอเรากระตุ้นสิ่งนี้ออกมาได้แล้ว ก็จะแบบ เฮ้ย เอาว่ะ ทำๆๆ เราอยากทำเราอยากบอกเล่าเรื่องนี้ จะรู้สึกดีใจมากเลยเวลามีเพื่อนๆ ในทีมทักมาบอก “พี่ข่าวนี้ข่าวใหญ่ อยากทำ ต้องเขียนเลยนะ อันนี้ขอจองเลยว่าคืนนี้จะต้องลง มีตารางอะไรจะลงไหม ขอลงผังไว้ก่อน”

เวลามีความรุ้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในใจหรือว่าพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้น เราจำเป็นไหมที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์หาคำตอบมันทั้งหมด

อิงค์: ไม่จำเป็นนะ

เช่น เวลามีความรัก?

อิงค์: คือถ้าจะใช้มันก็ได้ แต่ถ้าจะไม่ใช้มันก็ได้นะ

ใช้ยังไง กับไม่ใช้ยังไง

อิงค์: เราก็ได้รู้ว่าพฤติกรรมมันเกิดจากอะไร เช่น เกิดจากฮอร์โมนตัวนี้นะ เกิดจาก…ชื่ออะไรนะจำไม่ได้ (ออกซิโทซิน เติ้ลตอบ) ใช่ เกิดจากออกซิโทซิน ทำให้รู้สึกว่าเราอยากมีความสัมพันธ์กับคนคนนี้ รู้สึกรักคนนี้ขึ้นมาก็จะเป็นพฤติกรรม แล้วก็จะรู้ว่าเขาจะหมดช่วงนี้ ช่วงโปรโมชั่นตรงนี้จากฮอร์โมนตัวนี้เเมื่อไหร่ด้วย แบบอีกหกเดือนมันก็หมดแล้วอะไรอย่างนี้ครับ จะรู้ว่าควรปรับพฤติกรรมอย่างไร แต่จะไม่ใช้ก็ได้นะ

ไม่ใช้ตอนไหน?

อิงค์: ก็เมื่อรู้สึกไม่อยากใช้ รู้สึกอยากให้มันเป็น feeling ของเขาไป

เติ้ล: จริงๆ เป็นคนขี้อ้อนแล้วชอบอ้อนคน ชอบแบบให้มีคนลูบหัว

อาการนี้เป็นวิทยาศาสตร์ไหม

เติ้ล: อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์เลย ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างนี้ แต่คือพอเรามารู้ว่า เวลาที่เราอยากได้รับสิ่งนี้ มันเกิดจากในวัยเด็กที่เราเคยได้รับมาจากแม่แล้วเรารู้สึกว่าเราอบอุ่นเราปลอดภัย ก็เลยเรียกร้อง ถามหาสิ่งนี้

แล้วพอได้มาศึกษาก็ได้รู้ว่า มันเกิดจากการหลั่งของสารเคมีในสมองชื่อนี้ แล้วมันจะหลั่งออกมาเมื่อไหร่ แล้วทำให้เรารู้สึกยังไง

ก็เป็นการมองเรื่องของชีวิตในอีกมุมหนึ่ง ดังนั้นถามว่าเอาเรื่องของวิทยาศาสตร์มาใช้ในชีวิตหรือว่าในความรู้สึกได้ไหม จริงๆ ไม่ต้องแบ่งก็ได้นะ เพราะว่ามันมีแค่ว่าเรารู้กับไม่รู้ อธิบายได้กับอธิบายไม่ได้ ถ้าเราอยากจะอธิบายได้เราก็แค่ไปศึกษามาแล้วเราก็จะรู้ว่า เอ้ย ทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ครับ

ปุณ: สมมุติเวลาเรารู้สึกเศร้าหรือกลัวอะไรขึ้นมาสักอย่าง บางทีมันก็เกี่ยวข้องกับแบบสารเคมีในสมองต่างๆ ถึงจะไม่ได้ศึกษาวิทยาศาสตร์ขนาดนั้นแต่ก็ค่อนข้างจะสนใจพวกจิตวิทยาค่ะ จะพยายามหาข้อมูลพวกทฤษฎีต่างๆ ที่มันจะมาตอบโจทย์เราว่า ทำไมเรากำลังรู้สึกแบบนี้

ส่วนใหญ่จะใช้เวลารู้สึกไม่ค่อยดี รู้สึกเศร้าๆ จะพยายามเข้าใจว่า เออ มันเป็นเพราะว่ามีสารตัวนี้ขึ้นมานะ ก็แค่ต้องพยายามรู้ตัวไป ก็พยายามบอกตัวเองให้ได้ว่าเราเศร้าเพราะว่ามันมีสารเคมีตัวนี้ขึ้นมาเพราะงั้นไม่ต้องโทษตัวเองว่าฉันรู้สึกเศร้าแล้วฉันมันแย่ที่ฉันรู้สึกเศร้า ไม่งั้นมันจะเป็นวงจรที่แบบว่า รู้สึกเศร้าไปเรื่อยๆๆ แล้วก็โทษตัวเองไปเรื่อยๆ ค่ะ พราะงั้นก็จงหยุดวงจรของการโทษตัวเองดีกว่าค่ะ

SPACETH.CO

ในอนาคตอยากทำอะไรกัน

อิงค์: อยากทำอะไรก็ได้ทำให้คนชอบวิทยาศาสตร์

เติ้ล: อยากเปลี่ยนวิธีการมองวิทยาศาสตร์ของคนว่าวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่แค่วิชาแต่มันคือมุมมองของการมองโลกครับ เพราะว่าเรามีช่วงชีวิตอยู่ไม่ถึง 100 ปี เราอยากใช้เวลาที่เราเหลืออยู่ในการบอกเล่าเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ เพราะว่าความเท่ของวิทยาศาสตร์ก็คือการส่งต่อกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น

นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนเขาไม่รู้หรอกว่าสมการที่เขาคิด ทุกวันนี้มันจะเอามาใช้มันการขับเคลื่อน มาใช้ในการส่งยานอวกาศ เหมือนกับการสร้างองค์ความรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นพีระมิดครับ

ไอแซ็ก นิวตัน เขาบอกเลยว่า ที่เขามองเห็นได้ทุกวันนี้ เพราะว่ามันเหมือนกับเขายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ แล้วก็ไอ้ยักษ์ตนนั้นก็คือความรู้ต่างๆ คือนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนหน้าที่เขามาช่วยกันพัฒนาให้ความรู้ของเรามาอยู่ถึงจุดๆ นี้

แม้ว่าเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนยกย่องมากมายแต่ที่เขายิ่งใหญ่ได้ เพราะเขากำลังยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ตนหนึ่ง ดังนั้นชีวิตหลังจากนี้ อยากจะอุทิศให้กับวิทยาศาสตร์ อยากจะทำยังไงก็ได้ให้ศาสตร์ที่เรียกว่าวิทยาสาสตร์มันยังคงอยู่ต่อไป เพื่อที่จะส่งต่อความรู้เหล่านี้ ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานไปเรื่อยๆ ให้เราได้ค้นหาความลับของจักรวาล

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า