เราจะสู้ด้วยประชาธิปไตย: ความขัดแย้งสีเทาของสเปนและประเทศกาตาลูญญา

ชวนอ่าน: ประชามติเพื่ออิสรภาพของคาตาโลเนีย 101

สเปนมีความหลากหลายสูงมาก เราแบ่งออกเป็น 17 แคว้น แต่ละแคว้นก็มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง เราไม่ค่อย interact กันแม้จะอยู่บนแผ่นดินเดียวกันด้วยซ้ำ ตอนนี้ชาวสเปนบางคนก็ยังไม่รู้เลยว่าทำไมกาตาลูญญาถึงอยากแยกเป็นเอกราช ทั้งๆ ที่เราก็อยู่ด้วยกันมาตั้งนาน แต่เราไม่ค่อยเข้าใจกันสักเท่าไร

คือคำบอกเล่าจาก ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ ‘มากกว่าเรื่องการเมืองสมัยใหม่?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา’ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

หลังจากไม่นานมานี้กระแสความรุนแรง (แต่ไม่เลือดโชก) ของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสเปนและแคว้นกาตาลูญญา หรือคาตาโลเนีย (Catalonia) เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่หัวหน้าคณะรัฐบาลท้องถิ่นของคาตาลันนำโดย คาร์ลส ปุยเดอมองต์ (Carles Puidgemont) ประกาศก้องว่า จะประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดี่ยวในวันที่ 10 ตุลาคม

นายกรัฐมนตรีสเปน มาริโอ ราฮอย (Mario Rajoy) ก็โต้กลับทันทีว่าจะดำเนินการใช้มาตรา 155 เพื่อถอดถอนคณะรัฐบาลผู้บริหารท้องถิ่นคาตาลันออกทั้งชุด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลของประชาคมโลกว่า อนาคตต่อจากนี้สเปนและกาตาลูญญาจะเป็นอย่างไรแต่แน่นอนว่า

“จากนี้ คนกาตาลูญญาจะมองคนสเปนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

แรงประทุของความแตกแยกรอบใหม่

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพยุโรป เกริ่นถึงเชื้อเพลิงความต้องการแยกเป็นเอกราชของชาวคาตาลันนั้นมีมายาวนานแล้ว ตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมื่อปี 1939 นำโดย นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ที่แม้จะสามารถรวบรวมให้สเปนเป็นหนึ่งเดียวได้ แต่ก็ได้เพิกถอนสิทธิในการปกครองตนเองของกาตาลูญญา ห้ามกระทั่งใช้ภาษาและชื่อแบบคาตาลัน กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่กดทับความอึดอัดใจของชาวคาตาลันจนทุกวันนี้

แต่สถานการณ์ที่ทำให้เชื้อเพลิงประทุกลับไม่ใช่การย้อนมิติทางประวัติศาสตร์ไปไกลขนาดนั้น หลังจากนายพลฟรังโกเสียชีวิต กาตาลูญญาก็กลับมาเป็นอิสระอีกครั้ง กล่าวคือ มีรัฐสภาและรัฐบาลของตัวเอง

“ตอนช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่นั่นตรงกับยุคของฟรังโก ไม่มีภาพความแตกแยกแบบนั้นให้เห็นเลย”

ความแตกแยกที่กลับมาในครั้งนี้ สมชายเล่าว่า แท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2006 รัฐสภาสเปนรับรองให้กาตาลูญญามีอำนาจทางการเงินและศาลยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น แต่กลับลำเปลี่ยนใจในปี 2010 ตามคำอุทธรณ์ของพรรค People’s Party (PP) ของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มาริโอ ราฮอย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวคาตาลันอย่างยิ่ง ประกอบกับยุโรปเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ Greece Crisis ปี 2007-2008 ชาวคาตาลันมองว่า แคว้นของตนเสียภาษีจำนวนมากเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ชาวสเปนทั้งประเทศ แต่ชาวคาตาลันกลับได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่าและน้อยกว่าที่ควร

ท่ามกลางความรู้สึกไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว แนวคิดต้องการแยกเป็นเอกราชยิ่งเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่การจัดทำประชามติเมื่อปี 2014 โดยผลออกมาว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการแยกประเทศ แต่รัฐบาลยังยืนยันเหมือนครั้งนี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ กาตาลูญญาไม่มีสิทธิแยกเป็นเอกราช และล่าสุด รัฐบาลคาตาลันได้จัดทำประชามติอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลออกมาไม่ต่างกับรอบที่แล้ว

ณภัทร พุ่มศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัคราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย ผู้ใช้ชีวิตเรียน กินและนอนอยู่ในบาร์เซโลนามาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยมัธยม มองว่า สาเหตุอีกประการอาจมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 1978 ที่เป็นทั้งข้อจำกัดและช่องว่าง กล่าวคือ รัฐบาลกลางได้มอบอิสระให้กับกาตาลูญญา จึงทำให้เกิดภาพความย้อนแย้ง ส่วนสาเหตุอีกประการ อาจมาจากที่สเปนมีรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยว แต่กลับให้แต่ละแคว้นมีรัฐสภาท้องถิ่น

แน่นอน Article 2 บอกว่าสเปนไม่สามารถแบ่งแยกได้ แต่การที่รัฐบาลกลางมอบอิสระให้แต่ละแคว้นสูงก็ทำให้เกิดช่องว่าง ชัดๆ เลยคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้อนุญาตให้แคว้นกาตาลูญญาสามารถกำหนดนโยบายการศึกษาของตัวเองได้ ส่งผลให้เขานำอัตลักษณ์เข้ามาใส่ในห้องเรียนสูงมาก อย่างใครที่เชียร์มาดริดนี่กลายเป็นแกะดำไปเลย หรือการที่กาตาลูญญาสามารถมีกองกำลังหรือตำรวจเป็นของตัวเอง มีสถานทูตขนาดเล็กในประเทศต่างๆ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่รัฐธรรมนูญก็ปล่อยให้คาตาลันทำอะไรได้มากพอควร

ความชอบธรรมที่ไม่ชอบธรรม

เมื่อรัฐบาลสเปนปล่อยให้รัฐบาลคาตาลันมีอิสระทางการเมืองและกฎหมายสูงขนาดนั้น ณภัทรมองว่า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐสภาท้องถิ่นมองว่าผลการจัดทำประชามติที่ออกมาว่าชาวคาตาลัน ‘เห็นด้วย’ ให้แยกเป็นเอกราชจากสเปนสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรมมากพอ

“การสรุปว่าคนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ในกาตาลูญญาอยากแยกเป็นเอกราช คงตอบยาก แต่ดูจากกระบวนการทางการเมืองของสภา เรื่องของคนที่นั่งอยู่ในนั้น มันทำให้ค่อนข้างมีความชอบธรรม คือชาวคาตาลันเขาถือว่าต้องสู้ด้วยพลังประชาชน พลังของประชาธิปไตย”

หากถามเปรียบเทียบว่า กรณีของกาตาลูญญาที่ต้องการแยกเป็นเอกราช เหมือนกับกรณีไอร์แลนด์หรือสก็อตแลนด์ที่ต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ สมชายตอบชัดเจนว่า มันไม่เหมือนกัน แม้จะมีรูปแบบการปกครองเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกันก็ตาม

ชวนอ่าน: What We Need to Know: #Indyref2 เมื่อสก็อตแลนด์ขอแยกตัวจากอังกฤษอีกครั้ง

“อังกฤษ เขามีรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าสามารถจัดการลงประชามติได้ หากได้รับการยอมรับจากรัฐสภากลาง ซึ่งการจัดทำประชามติของสก็อตแลนด์หรือไอร์แลนด์ถือว่าถูกต้อง แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับสเปน รัฐธรรมนูญสเปนไม่อนุญาตให้ทำประชามติ”

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ประชามติของกาตาลูญญาไม่ได้รับความชอบธรรมในระดับนานาชาติ

“เราไม่สามารถเอาสภาท้องถิ่นมาเป็นเสียงที่ชอบธรรมได้ เราไม่สามารถล้างกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญของประเทศได้ ไม่อย่างนั้นกฎกติกาทั่วโลกจะผิดหมดเลย”

การจะแยกเป็นเอกราชจากประเทศใดประเทศหนึ่งได้นั้น กฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐที่ต้องการจะแยกเป็นเอกราชจะต้องถูกรังแกจากประเทศที่ตนอยู่ภายใต้การปกครอง จนอาจถึงกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เท่านั้น จึงสามารถแยกเป็นเอกราชได้ แต่ใช่ว่าแยกออกมาแล้วจะได้รับความชอบธรรมจากนานาชาติ อย่างเช่น โคโซโว ที่ประกาศเป็นเอกราชจากเซอร์เบียเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ปี 2008 โดยเหตุผลจากที่ชาวเซิร์บเข้าไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอัลแบเนีย แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก

“หรือไม่ก็อาจเหมือนกับไครเมีย แยกเป็นเอกราชได้ แต่ไม่มีประเทศไหนยอมรับ ทุกวันนี้ก็ยังคงโดนรัสเซียคว่ำบาตรอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศจึงสำคัญ ถ้าไม่มีชาติไหนยอมรับก็ลำบาก”

แคว้นบาสก์ (Basque): อีกความสุ่มเสี่ยงของรัฐบาลสเปน

ดาบิด กูเตียร์เรซ อธิบายว่า แคว้นที่ต้องการเอกราชจากสเปนไม่ได้มีเพียงแคว้นกาตาลูญญาเท่านั้น อีกหนึ่งแคว้นที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ แคว้นบาสก์ ซึ่งอาจมีความรุนแรงกว่า

“กาตาลูญญาเขายืนยันชัดเจนว่า เขาต้องการทำประชามติต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย แต่ที่นี่ไม่ใช่ มีการใช้ความรุนแรง”

บาสก์เป็นเขตปกครองตนเอง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสเปนติดกับภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส มีภาษาเป็นของตัวเองที่เรียกว่า Euskara อีกทั้งไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นชาวสเปน และมีความเป็นชาตินิยมที่เข้มข้นไม่แพ้กาตาลูญญา โดยสมชายเสริมต่อว่า

“กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของบาสก์เรียกว่า Euskadi Ta Askatasuna หรือ ETA ไม่เหมือนกับกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวในกาตาลูญญา แม้แต่วิธีการเข้าร่วม คนที่จะเข้าร่วมขบวนการดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายบาสก์บริสุทธิ์เท่านั้น ต่างจากกาตาลูญญาที่เปิดกว้างมากกว่า”

บาสก์จึงกลายเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะท่าทีของรัฐบาลต่อจากกาตาลูญญาหลังจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อบาสก์หรือแคว้นอื่นในสเปนที่ต้องการแยกเป็นเอกราชเช่นกัน

ทางออกของสเปนและกาตาลูญญา

ในเวลานี้ การวิเคราะห์ว่าสเปนและกาตาลูญญาจะมีทางออกร่วมกันอย่างไรนั้นคงเป็นเรื่องยากและเป็นไปได้หลายทางแต่สมชายก็ได้วิเคราะห์ไว้อย่างเป็นระบบและน่าสนใจไว้สี่ประการดังต่อไปนี้

  1. ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม ถ้ารัฐบาลกลางใช้ไม้แข็ง ปลดรัฐสภาท้องถิ่นออกทั้งหมดและเอาคณะตัวแทนจากรัฐบาลกลางเข้าไปแทน นำมาสู่ปัญหาแน่นอน
  2. เจรจากันโดยมีสหภาพยุโรปเป็นตัวกลาง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลสเปนไม่ยอม โดยมองว่าเรื่องทั้งหมดถือเป็นกิจการภายในของสเปน
  3. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 1978 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในการปกครองตัวเองกับกาตาลูญญามากขึ้น ซึ่งนั่นอาจมีผลกระทบตามมาต่อแคว้นอื่นๆ ที่ต้องการแยกเป็นเอกราชเช่นกัน โดยเฉพาะแคว้นบาสก์
  4. จัดตั้งสเปนเป็นสหพันธรัฐสเปน

ความท้าทายของประเทศกาตาลูญญา

หากกาตาลูญญาสามารถแยกเป็นเอกราชได้ดั่งฝันจริงๆ สมชายมองอย่างเป็นระบบว่า รัฐบาลคาตาลันคงพยายามหาทางสร้างความชอบธรรมให้กับผลประชามติ และหาแนวร่วมชาติที่จะรับรองประเทศตนเอง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องยาก

ส่วนอิสระทางด้านแรงงานของชาวคาตาลันและสเปนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จากการเดินทางข้ามแคว้นจะเปลี่ยนเป็นลักษณะการเดินทางข้ามประเทศทันที และนั่นหมายถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของกาตาลูญญาด้วย

เขาอธิบายต่อว่า แม้เศรษฐกิจของกาตาลูญญาจะสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP มวลรวมทั้งหมดของสเปน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เมื่อแยกเป็นประเทศใหม่แล้วจะไม่เจอผลกระทบทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะสหภาพยุโรป เพราะหากออกจากสเปน จะเท่ากับออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงข้อตกลง FTA ต่างๆ ที่รัฐบาลสเปนเซ็นสัญญาตกลงร่วมกันไว้ด้วยจะหายไปทันที นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลสเปนจะไม่ยอมให้กาตาลูญญาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกด้วย

ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า รัฐบาลกาตาลูญญาจะยอมรับความท้าทายเหล่านั้นเพื่อแลกกับอิสรภาพหรือเปล่า

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า