Spencer: ผิดที่ ไม่ถูกทาง ความเป็นไดอานาและราชวงศ์ที่ไม่อาจไปด้วยกันได้

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

‘a fable from a true tragedy’ เรื่องแต่งจากโศกนาฏกรรมจริง

ประโยคที่ปรากฏให้เห็นก่อนเริ่มภาพยนตร์ Spencer (2021) ภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉายชีวประวัติ แต่เป็นการแต่งเรื่องราวเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกจริงของ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (แสดงโดย Kristen Stewart) ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 1991 กับระยะเวลา 3 วัน ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ณ พระตำหนักซานดริงแฮม เมืองนอร์ฟอล์ค 

เรื่องราวในภาพยนตร์คือ ช่วงเวลา 1 ปีก่อนการหย่าร้างอย่างเป็นทางการกับ ชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์ (แสดงโดย Jack Farthing) หลังพบว่าสามีแอบกลับไปคบกับคนรักเก่า อย่าง คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวล์ส หรือ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ในปัจจุบัน

การนำนามสกุลเดิมของเจ้าหญิงไดอานาอย่าง ‘Spencer’ มาตั้งเป็นชื่อภาพยนตร์ เป็นการแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นและเข้าใจมาก่อน ความรู้สึกที่ทั้งเจ็บปวด อึดอัด มีความต้องการ และความปรารถนาที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง เพราะรู้สึกเหมือนอยู่ผิดที่ หลังเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์ และต้องพบกับความรักที่ไม่สมหวัง จนบั่นทอนความเป็นไดอานาให้ลดลงทุกชั่วขณะ

Spencer จึงเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความต้องการของเจ้าหญิงที่อยากเป็น ‘ไดอานา สเปนเซอร์’ โดยมีหนังสือชีวประวัติของ แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) อดีตราชินีที่ถูกบั่นศีรษะตามคำสั่งของ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (King Henry VIII) เพราะถูกกล่าวหาว่าคบชู้ ทั้งๆ ที่ผู้ที่มีชู้คือตัวกษัตริย์เอง หนังสือเล่มนี้เชื่อมโยงให้เห็นความรู้สึกของไดอานากับอดีตราชินี ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อตัวเองได้ การกลับไปหาความเป็นตัวตนและความต้องการที่แท้จริง อย่างการไม่ต้องถูกบีบรัดด้วย ‘สร้อยไข่มุก’ (เครื่องประดับที่ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์แทนความรักร้าว แต่ยังรวมถึงขนบธรรมเนียมโบราณที่พันธนาการเธอไว้ด้วย) หรือไม่ต้องการถูกจัดวางและจัดแจงให้เป็นเพียงดั่ง ‘หุ่นไล่กา’ ที่แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่สามารถเลือกสวมใส่เองได้ อาจเป็นสิ่งที่ไดอานากำลังโหยหา

ความเป็นไดอานาและความเป็นราชวงศ์

“Is she here yet?”

“Not yet, ma’am, no”

“Then she is late”

บทสนทนาระหว่าง ควีนเอลิซาเบธที่ 2 (แสดงโดย Stella Gonet) และ ผู้พันเอลิสแตร์ เกรกอรี (แสดงโดย Timothy Spall) เริ่มขึ้นขณะที่บรรดาราชวงศ์ต่างเดินทางมาถึงพระตำหนักซานดริงแฮม โดยขาดเพียงเจ้าหญิงไดอานาที่ประสงค์จะเดินทางทางรถยนต์ด้วยตัวเธอเอง 

“She is late” หรือ การมาสายของไดอานาไม่ได้แสดงให้เห็นเพียงต้นเรื่องเท่านั้น ทว่าตลอดทั้งเรื่องการมาสาย (มาทีหลังควีน) ของเธอกลายเป็นเรื่องที่คนในวังต่างชินชาและรับรู้กันเป็นอย่างดี แต่ก็มิอาจรับได้ 

นอกเหนือการมาสาย ยังมีลักษณะนิสัยอื่นๆ ของเจ้าหญิงที่หนังแสดงให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความเป็นไดอานาและความเป็นราชวงศ์ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ขนบธรรมเนียม และประเพณีนั้น ไม่อาจไปด้วยกันได้ 

ตัวอย่างเช่น ฉากที่เจ้าชายแฮร์รี (แสดงโดย Freddie Spry) พระโอรสองค์เล็กบ่นว่า “หนาว” แต่ทุกคนในพระตำหนักกลับให้เจ้าชายสวมเสื้อโค้ทตัวหนาแทนการเปิดเครื่องทำความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไดอานาพูดทุกปี ทว่าก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นฉากลองชุดเดรสผ้าซาตินสีเขียวน้ำทะเล (sea-green) ในงานเลี้ยงมื้อค่ำวันคริสต์มาสอีฟ ที่ชุดถูกตระเตรียมไว้ให้ แต่เจ้าหญิงคิดว่ามันไม่เข้ากับเธอแม้แต่น้อย กระนั้นก็ไม่อาจขัดกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ และจำใจต้องปฏิบัติในที่สุด (แม้ในหนังเจ้าหญิงไดอานาจะแอบไม่ใส่ชุดที่เตรียมไว้ให้บ้าง ทว่าก็ถูกเจ้าชายชาร์ลสตำหนิ)

ความไม่เข้ากันของเจ้าหญิงและราชวงศ์ ในมุมมองของไดอานาที่มีต่อราชวงศ์นั้น ปรากฏผ่านบทสนทนาระหว่างเธอกับพระโอรสทั้งสอง เจ้าชายวิลเลียม (แสดงโดย Jack Nielen) และเจ้าชายแฮร์รี ที่ว่า “Well here, there is only one tense. There is no future. The past and the present are the same thing” ซึ่งนั่นหมายความว่า ราชวงศ์ในความเห็นของเธอ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม การกระทำในอดีตจึงเหมือนกับการกระทำในปัจจุบันที่จะผิดแผกไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้วตามครรลองของกฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียม และประเพณี 

ความไปด้วยกันไม่ได้เป็นสิ่งที่เจ้าหญิงเองรับรู้มาโดยตลอด หากกล่าวจากเหตุการณ์จริง พระองค์เคยให้สัมภาษณ์กับ มาร์ติน แบเชียร์ (Martin Bashir) นักข่าวชาวอังกฤษ ผ่านสารคดีชุด Panorama ของ BBC เมื่อปี 1995 ไว้ว่า

“I’d like to be a queen of people’s hearts, in people’s hearts, but I don’t see myself being queen of this country. I don’t think many people will want me to be queen.

“Actually, when I say many people, I mean the establishment that I married into, because they have decided that I’m a non-starter.”

ก่อนกล่าวต่ออีกว่า

“Because I do things differently, because I don’t go by a rulebook, because I lead from the heart, not the head, and albeit that’s got me into trouble in my work, I understand that. But someone’s got to go out there and love people and show it.” 

หากสรุปคือ เธออยากเป็นราชินีที่อยู่ในใจประชาชน แต่เธอเองก็มองไม่เห็นภาพว่าจะเป็นราชินีของประเทศนี้ได้ เพราะหลายคนไม่อยากให้เธอเป็น และหลายคนที่ว่าคือคนในวัง เนื่องจากเธอทำอะไรที่แตกต่าง ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และทำอะไรด้วยการใช้หัวใจนำ ไม่ใช่หัวนำ แม้จะทำให้เธอต้องเจอกับปัญหาในการทำงาน (การกุศล) ก็ตาม

ในประโยคท้ายนี้เองได้สะท้อนตัวตนของเจ้าหญิงเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อย้อนไปในช่วงวัยเยาว์ เธอไม่ได้สดใสเหมือนเด็กทั่วไป ทว่าเติบโตมาในครอบครัวที่แตกร้าว ต้องเห็นภาพพ่อแม่ทะเลาะ หย่าร้าง และแย่งชิงสิทธิ์การเลี้ยงดูมาตลอด จนทำให้ในวัยเด็กของพระองค์ต้องเจ็บปวด ตามที่ได้เปิดเผยเรื่องราวชีวิตที่มีการบันทึกเทปกับ แอนดรูว์ มอร์ตัน (Andrew David Morton) นักเขียนชีวประวัติสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ ช่วงต้นทศวรรษ 90 

“นับว่าชีวิตวัยเด็กของฉัน เป็นชีวิตที่ปราศจากความสุขจริงๆ” 

“ปิดเทอมแต่ละปีมันช่างทุกข์ทรมาน วันหยุด 4 สัปดาห์ ฉันต้องไปอยู่กับแม่ 2 สัปดาห์ อีก 2 สัปดาห์ต้องอยู่กับพ่อ มันเหมือนภาพหลอนที่ต้องปรับความรู้สึกเวลาย้ายจากบ้านหนึ่งไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง ทั้งพ่อและแม่ต่างก็พยายามทำดีด้วยการให้สิ่งของปลอบใจ แต่ไม่เคยให้ความรู้สึกอย่างที่เราต้องการ”

เพราะเข้าใจความเจ็บปวดทางจิตใจ การทำงานการกุศลกับคน เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อน ผู้ทุพพลภาพ หรือเหยื่อโรคเอดส์ คือสิ่งที่ไดอานาเลือกแทนการทำการกุศลกับสัตว์อย่างที่สมาชิกราชวงศ์ หรือแม้แต่พระราชินีทำ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นประกอบกับรูปลักษณ์สิริโฉมงดงาม ขึ้นกล้อง และมีความโดดเด่นด้านแฟชั่น ยิ่งส่งผลให้เจ้าหญิงแห่งเวลส์ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อต่างให้ความสนใจและจับตามองทุกอากัปกิริยาในฐานะสมาชิกราชวงศ์

“They don’t want us to be people. That’s how it is” – ประชาชนไม่ได้ต้องการให้เราเป็นคนธรรมดา คือถ้อยคำจากเจ้าชายชาร์ลสในหนัง เป็นการบอกพระชายาของพระองค์ให้หยุดเป็นตัวเองท่ามกลางสื่อ เพราะยิ่งแสดงความเป็นตัวเองมากเท่าไหร่ ความเป็น ‘มนุษย์’ ยิ่งเผยออกมามากเท่านั้น 

“The thing is, Diana, there has to be two of you. You… There’s, there’s two of me, there’s two of Father, two of everyone. There’s the real one and the one they take pictures of” – การสร้างภาพลักษณ์สองตัวตน คือคนที่เป็นตัวตนจริง กับอีกคนที่พวกเขา (สื่อ) ถ่ายรูป แม้จะเป็นสิ่งที่เราเกลียด แต่ก็จำเป็นต้องทำ นั่นคือสิ่งที่เจ้าชายแห่งเวลส์แนะนำเจ้าหญิงแห่งเวลส์ (เจ้าหญิงไดอานาเป็นโรคบูลิเมีย [Bulimia] หรือโรคล้วงคอ ซึ่งเป็นโรคการกินผิดปกติ และเจ้าชายชาร์ลสก็รับรู้ แต่กลับบอกให้เธอรับประทานอาหารซะ เพราะมันถูกเตรียมมาให้แล้ว) 

หนังยังได้ใช้ผ้าม่านในการสื่อสารอย่างมีนัย กล่าวคือ เจ้าหญิงไดอานามักไม่ปิดผ้าม่านในห้องนอนของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ราชวงศ์ทุกคนทำเพื่อหลบชีวิตส่วนตัวจากสื่อที่คอยจับจ้อง แต่เมื่อเจ้าหญิงไม่อาจสร้างตัวตนที่สองได้เหมือนใครๆ การตัดเส้นด้ายของม่านที่ถูกเย็บติดกันไว้ออก จึงเป็นการบอกทุกคนว่า เธอไม่กลัวที่จะเป็นตัวเอง และพร้อมให้ทุกคนได้รับรู้

การเป็นคนดังที่มีสื่อตามติดไม่ใช่สิ่งที่ราชวงศ์ปรารถนา เพราะนั่นอาจนำมาสู่ความไม่มั่นคงของสถาบัน และการเป็นคนดังที่ย่อมมีขึ้นและมีลง ก็ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยเช่นกัน เพราะ “หากพวกพระองค์เอาตัวขึ้นมาอยู่ในฐานะคนดัง เท่ากับว่าพวกพระองค์ต้องยอมรับความตกต่ำ ซึ่งราชวงศ์จะทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะความโด่งดังของราชวงศ์ต้องคงอยู่ยาวนานไปตลอดพระชนม์ชีพ” เพนนี จูเนอร์ (Penny Junor) นักเขียนชาวอังกฤษ กล่าวผ่านสารคดี ราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ฉายทาง Netflix 

“ตัวพระองค์เองทรงเป็นอาวุธ” คือสิ่งที่ แมกกี (แสดงโดย Sally Hawkins) สาวใช้คนสนิทของเจ้าหญิงไดอานา (ตัวละครที่สมมุติขึ้น) บอกกับเธอ และนั่นดูไม่เกินจริง เพราะความเป็นไดอานา คืออาวุธที่คอยทิ่มแทงวินด์เซอร์เสมอมา และแม้หนังจะไม่ได้เล่าถึงเรื่องราวความรักที่อื้อฉาวช่วงหลังการหย่าร้าง ทว่าในเรื่องจริงเจ้าหญิงไดอานาก็ยังเขย่าบัลลังก์ให้สั่นคลอนด้วยการออกสื่อสัมภาษณ์กับ BBC เพื่อพูดถึงเรื่องราวในราชวงศ์ และอธิบายว่าทำไมชีวิตรักของเธอจึงมีปัญหา จนเป็นชนวนให้เกิด ‘War of Wales’ หรือ สงครามรักร้าวที่โต้กันผ่านสื่อระหว่างเจ้าหญิงไดอานากับเจ้าชายชาร์ลส ซึ่งหากเป็นสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นคงเลือกที่จะเงียบ แต่สำหรับเจ้าหญิงแห่งเวลส์แล้ว นี่คือนิสัยพื้นฐานโดยธรรมชาติของเธอ

ตั้งแต่ต้นจนจบ หนังไล่เลียงเหตุการณ์ไปพร้อมกับความรู้สึกที่ถูกบีบรัดให้ค่อยๆ คลายลง เมื่อไดอานาได้กลับไป Park House หรือ บ้านในวัยเด็กของเธอที่ถูกปิดตาย เพื่อกลับไปค้นหาความเป็น ‘สเปนเซอร์’ ที่หลงเหลืออยู่ ความอิสระช่วงวัยเด็ก รวมไปถึงภาพหญิงสาวเต้นบัลเล่ต์อย่างสง่างามที่เป็นความฝันของไดอานา ให้หวนกลับคืนมาสร้างความอบอุ่นในใจเธออีกครั้ง ทำให้เธอได้ค้นพบว่าตัวเองคือใคร เป็นใคร และต้องการอะไรในที่สุด

ฉากจบหนังปิดท้ายด้วยเพลง ‘All I Need is a Miracle’ ของ Mike & The Mechanics ถือเป็นการสรุปความรู้สึกภายในของไดอานาไว้ในบทเพลงเดียวได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอารมณ์ของหนังที่เบียดบดคนดูจนแทบหายใจไม่ออก ทำให้รับรู้ได้ว่าเธอต้องการปาฏิหาริย์ขนาดไหน ซึ่งปาฏิหาริย์ของไดอานาในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการหลุดพ้นกฎเกณฑ์รอบตัวเธอ ด้วยการกระชากสร้อยไข่มุกที่เป็นตัวแทนของมันออกซะ แล้วเลือกใช้ชีวิตอย่างที่เธออยากเป็น และนั่นอาจเป็นเพียงการได้กินอาหารฟาสต์ฟู้ดง่ายๆ ริมแม่น้ำเทมส์กับลูกทั้งสองเพียงเท่านั้น

อ้างอิง
  • ภาพยนตร์เรื่อง Spencer (2021)
  • สารคดี ราชวงศ์วินด์เซอร์ ทาง Netflix
  • newsweek.com
  • themomentum.co

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า