‘ยืนอยู่คนเดียว’ แบบโรงหนัง Stand Alone

IMG_6937

 

 

1

ในตอนที่เขาเดินเครื่องฉายภาพยนตร์ ซึ่งเตาฉายภาพยนตร์ปัจจุบันได้เปลี่ยนจาก ‘เตาอาร์ค’ มาเป็น ‘เตาซีนอน’ และไม่ต้องคอยนั่งเฝ้าเพื่อเปลี่ยนม้วนฟิล์ม เพราะม้วนฟิล์มทั้ง 6 ล้อจะถูกต่อลูปเข้าเป็นม้วนเดียวกัน เขาไม่ต้องคอยเติมแท่งถ่านสำหรับเตาฉายหนัง กระนั้นก็ตาม เขายังคอยเฝ้าดูภาพยนตร์ที่ฉายซ้ำต่อหน้าเขารอบแล้วรอบเล่า

ภาพยนตร์ที่กำลังดำเนินเรื่องราวท่ามกลางความมืดอยู่นี้ อาจเป็นครั้งแรกของคนที่ซื้อตั๋วเข้ามาดู แต่เขาไม่อาจละสายตาไปจากเรื่องราวเดิมๆ บทสนทนาเดิมๆ ของตัวละครหน้าเดิมๆ

เพราะหน้าที่ของ ‘คนฉายหนัง’ คือการเฝ้ามองหาความผิดพลาดที่ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นบนผืนจอตรงหน้า แล้วแก้ไขให้ทันเวลา

“ไม่เบื่อครับ อยู่ห้องฉายต้องดูหนังตลอด ต้องดูความเรียบร้อยในจอภาพยนตร์ ดูทุกวัน ไม่ใช่ว่าหนังเดินแล้วเราออกไปสูบบุหรี่ กินกาแฟ ไม่มีครับ” ปองภพ อินเหี้ยน พนักงานฉายหนังในเครือ APEX บอก เขาเป็น ‘มือฉาย’ มาตั้งแต่อายุ 14 ตอนนั้นเป็นปี 2518

“มันเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสูง” สมาน วัชศิริโรจน์ หัวหน้าแผนกห้องฉายโรงภาพยนตร์ในเครือ  APEX กล่าวย้ำ “พูดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นคนนั่งไม่ติด ชอบเดินไปนั่นไปนี่ ทำงานห้องฉายไม่ได้ ต้องรับผิดชอบสูง พลาดไม่ได้เลย”

42 ปีของการทำงานผลักให้สมานในวันนี้ มีหน้าที่ตรวจดูความเรียบร้อยทางเทคนิค วันที่ฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight Rises มาถึงโรงภาพยนตร์ย่านสยาม เราแทบไม่มีเวลาคุยกัน เพราะหนังที่มาใหม่จะต้องถูกเขาตรวจสอบ เพื่อสกัดกั้นความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น สมานสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นทับในกางเกงสแล็คสีดำ เขาไม่ต้องสวมเครื่องแบบพนักงานฉาย ไม่มีเวรฉายหนังเหมือนพนักงานทั่วไป

หน้าที่อีกอย่างคือถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ให้คนอย่างปองภพ ปองภพ-คือเขาที่เราเล่าว่าต้องคอยดูภาพยนตร์เรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นสัปดาห์ แต่ก็อย่างว่า รอบที่ 12 สำหรับเขาอาจเป็นรอบแรกของใครบางคน

ปองภพสวมเครื่องแบบเหมือนช่างเทคนิคทั่วไป เสื้อและกางเกงสีเทาทั้งชุด เขาเป็นคนยิ้มเก่งกว่าพูด และชอบดูหนังแนวแอ็คชั่นมากกว่าดราม่า

เทคโนโลยีการฉายหนังในสมัยก่อนทำให้อาชีพพนักงานฉายหนังยืนอยู่บนเส้นด้ายของความรับผิดชอบ

“สมัยนี้ยังดี ไม่เหมือนสมัยก่อน รอบหนึ่งคนเต็มโรง สมัยนั้นหนังจะเสริมแทบทุกรอบ มีเก้าอี้เสริมข้างตรงทางเดินน่ะ การฉายสมัยก่อนใช้เตาอาร์ค ใช้ถ่านทีละม้วน แล้วมือต้องคอยปรับแสงตลอด ต้องเนี้ยบตลอด แต่เดี๋ยวนี้ใช้หลอดซีนอนหมดแล้ว พอสตาร์ทก็จบเรื่องเลย”

ในวัย 60 สมานยังคงติดตามเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการฉายหนัง ในยุคที่ดิจิตอลกำลังเข้ามาแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่าง และมันกำลังจะผลักดันให้ฟิล์มไปยืนอยู่บนหิ้งที่มีป้าย ‘คลาสสิก’ กำกับ แต่นโยบายโรงภาพยนตร์ที่เขาทำงานอยู่ยังยืนยันที่จะฉายภาพยนตร์ด้วยระบบฟิล์ม

ในโลกที่เคลื่อนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บางทีการยืนอยู่นิ่งๆ ท่ามกลางการไหวติง ก็อาจเป็นจุดขาย

แม้ว่า ‘พื้นที่’ แห่งนี้กำลังจะถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ขอคืน

 

IMG_7013

 

ใต้ถุนร้านกาแฟ

แน่ละว่าเราต้องให้เครดิตเรื่องนี้แก่ โทมัส อัลวา เอดิสัน ในฐานะผู้คิดค้นนวัตกรรมอย่าง Kinetoscope แต่หากไม่มี 2 พี่น้องตระกูล ลูมิแอร์ หลุยส์ และ ออกุสต์ ผู้พัฒนาเครื่อง Kinetoscope ของเอดิสันมาฉายบนจอใหญ่ เพื่อให้ผู้ชมรับชมพร้อมกันได้หลายๆ คน สองพี่น้องเรียกเครื่องแบบนี้ว่า Cinematograph และใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีสก็น่าจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เสียเลยว่า เป็นโรงภาพยนตร์ที่มีการจัดฉายภาพยนตร์และเก็บเงินจากผู้ชมเป็นแห่งแรก วันนั้นคือ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895

หลังจากนั้น พี่น้องลูมิแอร์ได้จัดส่งหนังเร่ไปยังกรุงลอนดอน ภาพยนตร์จึงได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมการผลิต จำหน่าย ให้บริการจัดฉายภาพยนตร์ และผู้ที่ได้นำเข้าภาพยนตร์มาสู่สยามประเทศก็คือ เอส จี มาร์คอฟสกี ซึ่งได้นำ Cinematograph เข้ามาจัดฉายและเก็บค่าดูจากประชาชนเป็นครั้งแรก โดยใช้สถานที่โรงละครของหม่อมเจ้าอลังการเป็นที่จัดฉาย

แต่สถานที่ถาวรสำหรับฉายภาพยนตร์ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2448 นายวาตานาเบะ ได้จัดตั้งโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกบริเวณเวิ้ง หลังวัดชนะสงคราม ปัจจุบันคือพื้นที่ของเวิ้งนาครเขษม หลังจากที่ได้เคยมาตั้งกระโจมผ้าใบชั่วคราว

ในช่วงเวลาต่อมาก็เกิดโรงภาพยนตร์อีกหลายแห่ง แต่โรงภาพยนตร์เหล่านั้นมีลักษณะทั่วไปเป็นอาคารสี่เหลี่ยมขนาดค่อนข้างใหญ่ โครงสร้างทำจากไม้ หลังคามุงสังกะสี ข้างฝาก็เป็นไม้และสังกะสี เก้าอี้เป็นไม้ยาวมีพนักพิง

หลังจากปล่อยให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์มาระยะหนึ่ง ก็เกิดกิจการของคนไทยขึ้น ทำธุรกิจนำหนังจากต่างประเทศมาฉาย ทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างกิจการโรงภาพยนตร์ รูปแบบหนึ่งคือการใช้กลยุทธ์แจกแถมมาแข่งขัน ทั้งการจับสลากตั๋วที่นั่งเพื่อชิงสร้อยทองฝังเพชร เตียงเหล็กพร้อมมุ้ง ม่านญี่ปุ่น ผ้าไหม เป็นต้น

ในปี 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีโครงการสร้างโรงภาพยนตร์ ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ให้แล้วเสร็จปี 2475 เฉลิมฉลองปีที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 150 ปี เป็นโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นโรงหนังเสียง ทันสมัย การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2476

กิจการโรงภาพยนตร์ในประเทศดำเนินต่อไปก่อนจะสะดุดลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยจึงทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ผลจากการตัดสินใจส่งผลต่อกิจการโรงหนังทั่วประเทศ เนื่องจากหนังที่มาฉายมาจากฮอลลีวูด อเมริกา ซึ่งประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยอยู่ในฐานะคู่สงคราม การนำหนังจากฮอลลีวู้ดเข้ามาไม่สามารถทำได้ โรงหนังจึงเกิดภาวะขาดแคลนหนัง

ในระยะต่อมา โรงหนังต้องฉายหนังโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับญี่ปุ่นและนาซี โดยมีบริษัท เองะ ไฮคิวซะ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาตั้งในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินการจำหน่ายภาพยนตร์ให้กับโรงหนัง ละครเวทีรุ่งเรืองมากในช่วงนี้ หลังสงครามในปี 2488 ภาพยนตร์จึงฟื้นตัวอีกคราIMG_6951

หลังสงครามสิ้นสุด โลกแบ่งเป็น 2 ค่าย ประเทศไทยเลือกอยู่ข้างโลกเสรี และฝากมิตรภาพไว้บนบ่าสหรัฐอเมริกา ความช่วยเหลือและการลงทุนจากอเมริกาจึงเข้ามาเป็นจำนวนมาก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายจากฮอลลีวู้ด ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และอินเดีย

กิจการโรงหนังฟื้นคืนเมื่อควันสงครามมอดจาง โรงหนังใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้น มีขนาดใหญ่โตนับพันที่นั่ง โรงหนังชั้นหนึ่งในยุคนี้จึงมี ศาลาเฉลิมไทย คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ นิวโอเดียน เป็นต้น

ศาลาเฉลิมไทย นำความแปลกใหม่มาให้กิจการโรงภาพยนตร์ ด้านนอกโรงมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่เป็นร้านไอศกรีม รวมถึงวัฒนธรรมข้าวโพดคั่ว ชีวิตผู้คนกำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัย ดำเนินการโดยตระกูลตันสัจจา ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนามเครือ APEX

 

2

“ผมก็ดูข่าวเหมือนทั่วๆ ไปนะ ก็ยังไม่ได้คิดอะไร เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เราเป็นพนักงาน ผมก็ยังไม่ได้คิดอะไร ถ้าคิดผมว่าจะปวดหัวเหมือนกันนะ ถ้าเกิดต้องเลิกไปจริงๆ มันก็เสียดาย เพราะเราอยู่ที่นี่มานาน นานเหลือเกิน”

สมานเดินทางจากอยุธยาเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2513 เริ่มงานด้วยการทำเก้าอี้ในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย “แต่ผมชอบห้องฉาย ตอนนั้นอายุ 20 นิดๆ ผมชอบห้องฉาย ชอบการฉายภาพยนตร์ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไมจึงชอบ ตอนอยู่ต่างจังหวัดผมก็ชอบภาพยนตร์อยู่แล้ว…ชอบดู ถ้ามีงานเกี่ยวกับหนังผมจะชอบไปดูอยู่ใกล้ๆ เห็นเครื่องฉายกลางแปลง เราดูแล้วใจมันชอบ”

จึงร้องขอเจ้านายมาทำงานที่ไหนก็ได้ในเครือ ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังสยาม ลิโด้ หรือโรงหนังใหม่ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จอย่างสกาล่า ก็ได้ทั้งนั้น ขอได้ขึ้นไปในห้องฉาย สมานได้มาเป็นพนักงานเดินตั๋วอยู่ที่โรงหนังสกาล่า แล้วก็ได้เข้าห้องฉายหนังในอีก 2 เดือนต่อมา และทำหน้าที่นี้มากว่า 30 ปี จนเลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกห้องฉาย ดูแลด้านเทคนิคโรงภาพยนตร์ในเครือ

ไม่มีใครเป็นกังวลกับข่าวคราวเรื่องที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงหนังลิโด้ ปองภพก็ทำหน้าที่ของเขาไป สมานบอกคิดไปอาจปวดหัว

สมานทำงานที่ลิโด้มา 42 ปี ปองภพเป็นพนักงานฉายหนังมาตั้งแต่อายุ 14 วันนี้-พวกเขาไม่ใช่คนรุ่นใหม่ พวกเขาเป็นคนอีกรุ่นที่ทำให้ ‘คนอีกเจเนอเรชั่น’ รู้สึกว่า ‘วิหาร’ ของพวกเขากำลังถูกทำลาย

หากโรงภาพยนตร์เปรียบเสมือนโบสถ์ และภาพยนตร์ถือเป็นศาสนาที่สองของชีวิตเหมือนที่ โดม สุขวงศ์ บอก การหายไปของวิหารจะทำให้เกิดวิกฤติทางจิตวิญญาณหรือไม่
“ภาพยนตร์ในฐานะที่สร้างความศรัทธา แรงบันดาลใจและก่อให้เกิดปัญญา เมื่อเข้าไปในนั้นเราได้พลัง ได้ปัญญา แต่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในประเทศนี้ใช้วิธีปูพรมฉาย แต่มีไม่กี่แห่งที่ไม่ปูพรมฉาย”

ความหมายของโดม การปูพรมฉายภาพยนตร์ทำให้ไม่ให้เกิดความหลากหลายของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในแต่ละช่วงเวลา

พูดง่ายๆ หนังที่ฉายจะเป็นเรื่องของ ‘ความจำเจ’ และคนดู ‘ไม่มีทางเลือก’

 

IMG_7043

 

VDO

ปี 2498 เกิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นสถานีแรก แม้ว่าในช่วงก่อเกิด ความสามารถของสถานียังไม่เพียงพอในการส่งสัญญาณภาพไปที่ห่างไกล ปี 2500 – 2516 ประเทศไทยตกอยู่ในยุคเผด็จการทหาร แต่กิจการโรงหนังกลับเฟื่องฟู โดยเฉพาะรัฐบาลทหารมีโครงการพัฒนาชนบท โรงหนังตามหัวเมืองต่างๆ จึงเกิดขึ่นเป็นจำนวนมาก โรงหนังในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ได้แก่ แมคเคนนา เพชรรามา เมโทร สยาม ลิโด้ และสกาล่า

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดกระแสต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐ ทั้งด้านการทหารและภาพยนตร์ เมื่อถึงปี 2520 รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนหนังไทย โดยขึ้นภาษีนำเข้าหนังจากต่างประเทศให้สูงกว่าเดิมหลายเท่า ตัวแทนจำหน่ายจากฮอลลีวู้ดจึงประท้วงด้วยการงดส่งหนังเข้าประเทศไทย หนังไทยจึงได้รับความนิยมขึ้นมาก แต่ปี 2524 สมาคมผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์แห่งฮอลลีวู้ดเลิกประท้วง ส่งหนังกลับมา หนังไทยก็เริ่มซบเซา ความสามารถของการส่งสัญญาณภาพของสถานีโทรทัศน์มีมากขึ้น และสิ่งที่เรียกว่า ‘วิดีโอ’ ก็ถือกำเนิดขึ้นมา ท้าทายอำนาจของโรงภาพยนตร์

 

IMG_6955

 

3

ในวันสุดท้ายที่พ่ออยู่กับสิ่งที่พ่อทำมาตลอด 25 ปี พ่อบอกผมว่า “ถ้าสิ่งที่มันไม่ทำให้ก่อเกิดรายได้ เราก็ไม่ควรไปอาลัยอาวรณ์กับมัน” ผมยังจำความรู้สึกของตัวเองเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้ วันที่พ่อเลิกกิจการหนังเร่ มันเป็นคำตอบที่แห้งแล้งความฝัน ขาดแคลนความทะเยอทะยาน

แต่ตอนนี้ ผมคิดว่าพ่อเป็นเพียงมนุษย์ที่แอนตี้ความโรแมนติก หากพูดให้ตรงกว่า ในชีวิตพ่ออาจไม่รู้จักคำว่า มนุษย์สายพันธุ์โรแมนติก เลยด้วยซ้ำ พ่อเพียงแต่รู้จักวิธีคิดคำนวณบนโลกจริงๆ

กิจการหนังเร่ทยอยลงหลุม เนื่องจากพฤติกรรมของคนดูหนังในชนบทเปลี่ยนไป ปี 2549 พวกเขามีวีซีดีกันแทบทุกบ้านแล้ว ซึ่งหนังเร่ที่กว่าจะปุเลงๆ เข้าไปถึงหมู่บ้าน พวกเขาก็ได้ดูวีซีดีกันก่อนแล้ว วีซีดีก็เหมือนวิดีโอในช่วง 2524-2531 ที่ทำให้โรงหนัง Stand Alone ล้มหายตายจาก และหนังเร่แทบจะสาบสูญ

จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง เหมือนการเกิดและการตาย

เรื่องราวของพ่อทำให้ผมนึกถึงคนในโรงหนังลิโด้ และเรื่องราวของผู้คนในโรงหนังลิโด้ก็ทำให้ย้อนคิดถึงพ่อ

ทุกเช้า ไพรวงศ์ คูบุตรตระ จะนั่งรถเมล์สาย 204 ออกจากบ้านพักย่านดินแดง มาถึงที่ทำงานย่านสยามสแควร์ประมาณ 9 โมงเช้า เขาจะเดินเข้าไปในออฟฟิศ เปิดตู้ล็อกเกอร์ หยิบเสื้อสูทสีเหลืองออกมาสวมใส่ เขาเป็นคนกาฬสินธุ์ เข้ามาเป็นพนักงานเดินตั๋วตั้งแต่ปี 2537

เขาเป็นคนอีสานที่มีบุคลิก ‘มักม่วน’ หรือรักความสนุกสนาน พูดเก่ง และด้วยสำเนียงเสียงสูงๆ ทำให้เขาดูไม่ยี่หระต่อความเครียด

ถามเขา-ไม่อยากเข้าห้องฉายเหมือนพี่สมานหรือพี่ปองภพหรอกหรือ

“ยังไงล่ะ เราไม่คล่อง กลัวพลาด เพราะความรับผิดชอบมันสูง ถ้าหนังเป็นอะไรไปนี่วิ่งตาตั้งเลย มันต้องเก่งนะ ต้องรับผิดชอบสูง”

หน้าที่ของพนักงานเดินตั๋ว จะแบ่งหน้าที่กันคือ พนักงานเดินตั๋ว 4 คน ต่อโรงภาพยนตร์ 1 โรง 2 คนยืนหน้าประตู อีก 2 คนคอยส่องแสงสว่างในความมืด ภาพยนตร์ 1 รอบ จะมีนายเวรคอยเฝ้าประจำจนหนังจบเรื่อง พนักงานที่เหลือก็จะมีเวลาว่าง

“ถ้าหนังดี ผมก็จะนั่งดู แต่ถ้าหนังเรื่องไหนที่ไม่ถูกชะตากับเรา ผมก็เดินเล่น แถวนี้แหละ เดินสยามเล่น ไปไหนไม่ไกลจากนี้หรอก” ไพรวงศ์บอกด้วยสำนวนเปื้อนปลาร้า
ไพรวงศ์มีลูกชายเรียนมหาวิทยาลัย “วัยรุ่นไม่ค่อยมาดูหนังที่นี่หรอกครับ โรงหนังเราเป็นโรงเก่า วัยรุ่นก็ชอบไปห้างสรรพสินค้ามากกว่า”

ตามความคิดของไพรวงศ์ ลูกค้าประจำของโรงหนังลิโด้และสกาล่าเป็นคนวัยทำงาน มีกิจการเป็นของตัวเอง

“สงกรานต์ได้กลับบ้านมั้ย” ผมถาม…ไม่รู้สิ เจอคนอีสาน คำถามนี่มักหลุดจากปาก

“กลับไม่ได้” เขาขึ้นเสียงสูง ไม่ใช่อารมณ์โกรธ “เราเป็นมหรสพ เทศกาลวันหยุดเขามาหาเรา เราจะหนีเขาไปไหน มันก็ไม่ได้”

แม่นบ่ล่ะ?

 

IMG_7018

 

จาก ‘มะขามสแควร์’ สู่ ‘สยามสแควร์’

โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมกรุง เปิดฉายครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2476 ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม 1 ปี โครงสร้างด้านสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในเวลานั้นทำให้ศาลาเฉลิมกรุงได้รับความนิยมจากคนดูหนัง ถือเป็นแหล่งรวมพลของคนบันเทิง ผู้คนในวงการภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ผู้สร้าง ดารา ตัวประกอบ ทีมพากย์ ช่างเขียนโปสเตอร์ จะเดินกันให้ขวักไขว่ จึงอาจเรียกได้ว่า ศาลาเฉลิมกรุงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น ‘ฮอลลีวู้ดเมืองไทย’

ผู้คนในยุคนั้นเรียกย่านที่ตั้งของศาลาเฉลิมกรุงว่า ‘มะขามสแควร์’ เพราะมีต้นมะขามปลูกอยู่โดยรอบ ความนิยมศาลาเฉลิมกรุงทำให้เกิดย่านการค้า ความรุ่งเรืองของแถบถิ่นศาลาเฉลิมกรุงได้ประสานรวมกับการเติบโตของย่านวังบูรพา จนทำให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร

วังบูรพา เป็นย่านการค้าอันเป็นที่ตั้งของ ‘ศูนย์การค้า’ แห่งแรกของเมืองไทย ผู้ซื้อที่ดินย่านนี้ได้พัฒนาเป็นโรงภาพยนตร์และร้านค้าโดยรอบ คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ เป็นโรงหนัง 3 โรงที่เป็นดุจราชาของย่านนี้ และกลายเป็นย่านสำหรับการพบปะสังสรรค์ที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น จนเกิดการเรียกขานว่า ‘โก๋หลังวัง’

ความยิ่งใหญ่ของยุคโก๋หลังวังดำเนินต่อมาจนถึงสมัยที่เกิดย่านการค้าแห่งใหม่ย่านปทุมวัน เมื่อปี 2510 ความนิยมของผู้คนก็ยักย้ายถ่ายเทไปสู่ย่านวัยรุ่นย่านใหม่ พร้อมๆ กับการบอกลาเสื้อผ้าหน้าผมแบบร็อคแอนด์โรลล์

ช่วงเวลายุคปลายของโก๋หลังวัง ที่ดินบริเวณ 4 แยกปทุมวันยังเป็นสวนฝรั่งและที่อยู่อาศัยไม่กี่หลังคาเรือน สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในละแวกนั้นคืออาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น เมื่อปี 2505 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้มอบหมายให้ บริษัทวังใหม่ จำกัด เข้ามาลงทุนสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นในบริเวณนี้ อาคาร 596 คูหาก่อสร้างเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา และเปิดให้ผู้สนใจมาเช่าพื้นที่ทำการค้า ส่วนที่เป็นศูนย์การค้าตั้งตระหง่าน แต่พื้นที่โดยรอบก็ยังเปล่าเปลี่ยว ปี 2509 โรงหนังสยาม ซึ่งเป็นโรงหนังแบบ Stand Alone แห่งแรกของย่านสยามสแควร์ก็ถือกำเนิดขึ้น

คาดคะเนจากบรรยากาศในยุคสมัยนั้นแล้ว โรงหนังสยามก็เป็น Stand Alone ที่ยืนอยู่คนเดียวโดยแท้จริง

 

IMG_6996

 

4

ช่องทางของคนทำหนังอิสระในการพาหนังของตัวเองเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์นั้น จะใช้ช่องทางผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือกิจกรรมที่ทางโรงภาพยนตร์ร่วมกับตัวแทนจำหน่าย อย่างโรงภาพยนตร์ในเครือ SF ร่วมมือกับบริษัท Extra Virgin หรือนิตยสารอย่างไบโอสโคปร่วมกับเครือ SF การเข้าไปคุยกับโรงภาพยนตร์ของคนทำหนังอิสระอาจจะเป็นเรื่องยาก

แต่รูปแบบการนำหนังเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ของคนทำหนังอิสระก็เปลี่ยนไป คนทำหนังอิสระสามารถเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับหนังของตัวเองได้ โดยการหิ้วหนังเข้าไปคุยกับโรงภาพยนตร์ เหมือนเช่าพื้นที่ขายเสื้อผ้า

โรงภาพยนตร์ในเครือ SF หรือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ก็อ้าแขนต้อนรับหนังอิสระในเรตที่เป็นมาตรฐานของแต่ละเครือ

ส่วนโรงภาพยนตร์อย่างลิโด้และ House ก็จะเป็นช่องทางที่ดูเป็นมิตรกับคนทำหนังทุนจำกัดมากกว่า

ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ฉายภาพยนตร์ด้วยระบบฟิล์ม นักทำหนังอิสระจึงต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนเครื่องมือฉายเพิ่ม มีค่าใช้จ่ายในการเช่าโรงฉายต่อรอบประมาณ 5,000 บาท แล้วจึงแบ่งค่าตั๋วกันระหว่างเจ้าของหนังกับเจ้าของโรง ส่วนที่ House เจ้าของหนังจะแบ่งค่าตั๋วกับเจ้าของโรง 50-50

“ผมดูได้นะหนังอาร์ต แต่มันอาจจะไม่ค่อยถูกชะตากับเราเท่าไร” ไพรวงศ์ คนมักม่วนบอก

“หนังในดวงใจของผมคือ อวตาร กับ จูราสสิค พาร์ค ก็แล้วแต่คนชอบเนาะ ฟอร์มหนังก็แล้วแต่คนเหมือนกันนะ บางคนเขาก็ไม่ชอบ บางคนก็ติดตามตลอด ลูกค้ากลุ่มนี้เราก็เยอะ คนจบจากจุฬาฯมากี่รุ่นแล้ว เขาก็ยังติดตามพวกผมอยู่ โรงหนังไม่เลิกเขาก็ไม่หนีเหมือนกัน”

“หนังที่ผมชอบเหรอครับ” ปองภพทวนคำถาม “อวตาร ผมชอบเทคนิคการถ่ายทำ ชอบเนื้อเรื่อง ดูกี่รอบก็ไม่เบื่อ”

“สำหรับผม” สมาน เตรียมพูดถึงหนังในดวงใจ “ขุมทองแมคเคนนา ผมจำได้ว่าหนังเรื่องนี้ยืนโรงอยู่ 7 เดือน ทุกวันนี้ผมยังมีความทรงจำกับเพลงขุมทองแมคเคนนาอยู่เลย”

ผมถามพ่อด้วยคำถามเดียวกันกับที่ถามพนักงานโรงภาพยนตร์ลิโด้ แต่ถามพ่อเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ถามพ่อในวันสุดท้ายที่พ่อจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของกิจการหนังเร่

“สะพานรักสารสิน มันเป็นหนังที่ทำรายได้ให้เรามหาศาล” พ่อบอก

 

IMG_6982

 

ฉายหนังอาร์ต

ปีถัดมา Stand Alone อีกแห่งถือกำเนิดขึ้น ‘ลิโด้’

ในช่วงแรกผู้บริหารตั้งใจใช้ชื่อโรงหนังแห่งนี้ว่า ‘จุฬา’ แต่เปลี่ยนเป็นลิโด้ในที่สุด ปีถัดมา ‘สกาล่า’ ก็ตามมา ทั้งสามโรงเป็นของผู้บริหารในเครือเดียวกัน

Stand Alone ทั้ง 3 ย่านวังบูรพาจึงค่อยๆ กลายเป็นอดีต เมื่อกำเนิด Stand Alone ย่านสยามสแควร์ ทั้งสามโรงยืนหยัดมาจนปัจจุบัน และโรงหนังสยามก็มอดไหม้ไปกับเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553

แต่ Stand Alone ต้องพบความเปลี่ยนแปลง เมื่อวิดีโอแพร่หลายเข้ามา จำนวนผู้ชมในโรงหนังเริ่มน้อยลง ต้นปี 2531 ที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาสูงขึ้น วิดีโอก็เป็นความบันเทิงส่วนตัวที่นอนดูอยู่บ้านได้ โรงภาพยนตร์หลายแห่งต้องปิดกิจการ ทุบทิ้งนำมาสร้างห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการโรงหนังจำนวนมากปรับตัวโดยลดขนาดเป็น ‘มินิเธียร์เตอร์’ โดยอิงแอบอยู่ตามห้างสรรพสินค้า เป็นยุคตกต่ำของโรงหนัง Stand Alone โรงหนัง Stand Alone หลายแห่งต้องปิดตัวลง แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้โรงหนังสยาม ลิโด้ สกาล่า สูญหายไป

โรงหนังแบบมินิเธียร์เตอร์ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบของผู้ประกอบการโรงหนัง เพราะติดตัวบทกฎหมายอย่าง พระราชบัญญัติป้องกันอันตรายอันเกิดแต่การเล่นมหรสพ พ.ศ. 2454 ประกอบกับมินิเธียร์เตอร์ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นโรงภาพยนตร์โดยเฉพาะ และมาตรฐานที่ไม่ได้คุณภาพ มีผู้ศึกษาระบุช่วงชีวิตของมินิเธียร์เตอร์ไว้ประมาณ 2531-2537
จนปี 2537 ได้เกิดรูปแบบใหม่ของโรงภาพยนตร์ มีโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 6 โรงขึ้นไปตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันดึงเอาร้านอาหาร และสิ่งบันเทิงอื่นๆ เข้ามาประกอบโรงภาพยนตร์ มันถูกเรียกว่า โรงหนังแบบ ‘มัลติเพล็กซ์’

หนึ่งปีก่อนที่ตระกูลพูลวรลักษณ์จะสร้างโฉมให้กิจการโรงภาพยนตร์ ด้วยการเปิดตัวโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ปี 2536 เกิดไฟไหม้โรงหนังลิโด้ โรงหนังลิโด้ใช้เวลาปิดปรับปรุง 2 ปี ปลายปี 2537 ลิโด้ก็กลับมาพร้อมชื่อ ‘ลิโด้มัลติเพล็กซ์’ มีโรงภาพยนตร์ 3 โรง พร้อมร้านค้ารายรอบ และเริ่มมีหนังนอกกระแสหมุนเวียนเข้ามาเป็นทางเลือกให้นักดูหนัง ลิโด้จึงเริ่มฉายหนังอาร์ตปี 2543

 

IMG_7032

 

5

หาก ‘ลิโด้’ หายไป สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ของความสูญเสียก็คือ เราจะสูญเสียพื้นที่หนึ่งที่เป็นทางเลือกในการชมภาพยนตร์ไป นั่นคือการสูญเสียที่ ‘ปลายน้ำ’

ผมนึกถึง ‘ต้นน้ำ’ อย่างหนังนอกกระแส คนทำหนังอิสระ

ภาพยนตร์เรื่อง 36 ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังอิสระคนหนึ่ง เขาเลือกพาหนังของตัวเองไปฉายในสมาคมฝรั่งเศส หอศิลป์กรุงเทพฯ แทนโรงภาพยนตร์ทางเลือกอย่างลิโด้

“ลิโด้สูงเกินไปสำหรับหนังผม ส่วนที่ House ก็ไกลคนดูเกินไป เราอยากได้สถานที่ย่านสยาม คนดูเข้าถึงได้ง่าย ก็เลยนึกถึงหอศิลป์กรุงเทพฯ หรือสมาคมฝรั่งเศส เราเชื่อว่าหนังที่โอเคคือคอนเทนต์ คนอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องโรงหนัง” นวพลบอก

จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมคนดู การจัดฉายภาพยนตร์นอกกระแสหาดูยากของมูลนิธิหนังไทย นวพลพบว่าคนดูก็ไม่ได้ยึดติดกับสถานที่ แต่สถานที่นั้นก็จำเป็นต้องเอื้อความสะดวกสบายในการชมภาพยนตร์ คุณภาพของภาพ คุณภาพเสียง ต้องดีในระดับที่รับได้

“ผมรู้สึกว่านี่มันก้าวข้ามความขลังของโรงหนังแล้วนี่ เราก็เลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นโรงหนังก็ได้ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่มีแอร์ เดินทางง่าย ผมเช่าสถานที่ 5,000 บาทได้ใช้สถานที่ทั้งวัน เราก็มาซอยรอบฉาย และไม่ต้องเหนื่อยในการวิ่งหาอุปกรณ์กันเอง

“เราเข้าสู่ยุคดิจิตอลแล้ว ถ้าเรายังยึดติดกับโรงหนัง หนังเรื่อง 36 ก็ไม่ได้ฉาย เพราะหนังในระบบมันมีเงื่อนไขและปัจจัยเยอะ เราใจร้อนด้วย ก็หาวิธีทำให้หนังได้ฉาย หนังอินดี้อเมริกาก็ใช้วิธีแบบนี้ ถ้าไม่ได้ฉายในโรงก็ไปฉายที่อื่น”

สำหรับนวพล โรงหนังมันเริ่มละลายแล้ว “แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำแบบนี้ตลอด ถ้าเราทำหนัง อยากฉายในโรงได้ก็อยากทำ แต่ตอนนี้เงื่อนไขเราเป็นแบบนี้ ก็ใช้วีธีนี้ไปก่อน

“ลิโด้ไม่ใช่ทุกอย่างของคนทำหนังอิสระ แต่มันเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับคนดูหนัง” นวพลบอก

 

****************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ Sub wayกรกฎาคม 2555)

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า