‘แอมเนสตี้’ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโลก 2566 ปีแห่งสงครามและความขัดแย้ง ระเบียบโลกเกือบล่มสลาย เผย AI ภัยคุกคามใหม่ ทำให้คนเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมากขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566/2567 โดยในปีนี้ได้ให้ภาพรวมเรื่องสิทธิมนุษยชน 5 ภูมิภาค และข้อมูล 155 ประเทศ เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่น่าหวั่นกลัวจากความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น และระบบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกือบจะล่มสลาย พร้อมฉายภาพให้เห็นความน่ากังวลของการปราบปรามนักสิทธิมนุษยชน และการละเมิดหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมระดับโลกที่หยั่งรากลึกมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศมหาอำนาจเกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่ จนทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศตกอยู่ในสถานะความรุนแรง

พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในปี 2566 ว่าเป็นปีแห่งความขัดแย้ง และไม่มีท่าทีว่าจะลดทอนความรุนแรงลง แม้หลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าการก่ออาชญากรรมสงครามยังคงเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยพลเรือนเป็นผู้ที่ต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่รัฐต่างๆ ยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ 

“การเพิกเฉยที่เห็นได้ชัดอย่างมากต่อกฎหมายระหว่างประเทศของอิสราเอล ส่งผลเลวร้ายยิ่งขึ้นเนื่องจากพันธมิตรของอิสราเอลไม่สามารถยุติการนองเลือดอย่างทารุณของพลเรือนที่เกิดขึ้นในกาซาได้ ประเทศพันธมิตรหลายแห่งต่างเคยเป็นผู้ออกแบบระบบกฎหมายในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากสงครามของรัสเซียที่ยังคงกระทำต่อยูเครนแล้ว เราได้เห็นความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งในซูดาน เอธิโอเปีย และเมียนมา ระเบียบโลกที่มีอยู่บนพื้นฐานหลักเกณฑ์ตอนนี้เสี่ยงถูกทำลายจนหมดสิ้น” พุทธณี กล่าว 

พุทธณี กางกั้น

สิทธิมนุษยชนไทยน่าเป็นห่วงทุกด้าน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังมีหลายประเด็นน่าห่วงใย สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สิทธิเด็ก สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นส่วนตัว การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และการลอยนวลพ้นผิด 

“ทางการไทยยังปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เด็กหลายร้อยคนยังคงถูกพิจารณาคดีหรือถูกดำเนินคดีอาญา จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น กฎหมายใหม่เอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย แต่ยังไม่ส่งผลให้เกิดการรับผิดรับชอบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกรณีการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อปี 2557 มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยแล้ว แต่หลายคนยังคงถูกกักตัวในสภาพที่เลวร้ายโดยไม่มีกำหนดเวลา ส่งผลให้ชายชาวอุยกูร์ 2 คนเสียชีวิต” ปิยนุช กล่าว 

ปิยนุช โคตรสาร

“ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนปี 2566 พบว่ามีบุคคลอย่างน้อย 1,938 คน ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงตั้งแต่ปี 2563 ในจำนวนนี้มี 1,469 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมสาธารณะ ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนอีกหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ (ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์) หรือข้อหายุยงปลุกปั่น โดยในปีนั้นมีการดำเนินคดีทั้งหมด 295 คดี” 

AI สปายแวร์ เครื่องมือปลุกปั่น สอดแนม ละเมิดสิทธิ

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เช่น AI หรือแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันที่ถูกสร้างโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (big tech) อาจเป็นศัตรูร้ายที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาพบว่า หน่วยงานทหาร หน่วยงานการเมือง บรรษัท หลายประเทศทั่วโลก นำเทคโนโลยี AI มาใช้โดยปราศจากกฎหมายกำกับดูแล หรือมีการใช้สปายแวร์และเครื่องมือสอดแนมโจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ในการควบคุมเรื่องนี้ จนทำให้เกิดการถูกเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ปลุกปั่น เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ สร้างความแตกแยกในสังคม และยังพบว่ารัฐบาลในหลายประเทศใช้เครื่องมือนี้กับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบมากที่สุด 

“เรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงหรือเห็นความสำคัญเท่าไรคือ ‘การคุกคามทางดิจิทัลต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ในรายงานฉบับนี้ระบุว่าเดือนสิงหาคม ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทยให้คุ้มครองดูแล ‘อังคณา นีละไพจิตร’ และ ‘อัญชนา หีมมิหน๊ะ’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ที่ถูกข่มขู่คุกคามในโลกออนไลน์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 2 คน ได้ฟ้องร้องกองทัพและสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากได้รับการรายงานข่าวว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อาจมีส่วนในการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (information operation) หรือ IO เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ผ่านเว็บไซต์ Pulony 

“ในปีเดียวกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเขียนจดหมายถึงรัฐบาลแสดงความกังวลเกี่ยวกับสปายแวร์เพกาซัสของบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ที่ทำธุรกิจสอดแนมทางไซเบอร์ต่อผู้ร่วมชุมนุมประท้วงปี 2563 และ 2564 หนึ่งในนั้น ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ได้รับผลกระทบ จนเกิดการฟ้องร้องต่อบริษัทดังกล่าวฐานละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว” ปิยนุช กล่าว 

8 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนถึงทางการไทย 8 ข้อ ได้แก่ 

1. สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เช่น ยกเลิกการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลที่ชุมนุมประท้วงโดยสงบ งดเว้นการตั้งข้อหาเพิ่ม รวมถึงการใช้หลักเกณฑ์ที่กำกวมและคลุมเครือ สอบสวนและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยมิชอบ

2. สิทธิเด็ก ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก รับประกันว่าเด็กจะได้รับความคุ้มครองแทนการจำกัดสิทธิโดยไม่จำเป็น จัดการเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ

3. สิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐต้องสอบสวนในกรณีการคุกคามทางดิจิทัลและทางกายภาพ รับประกันสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาและความยุติธรรม โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง 

4. สิทธิความเป็นส่วนตัว รัฐต้องตรวจสอบการใช้เครื่องมือดิจิทัลโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการสอดแนมติดตาม อาทิ สปายแวร์เพกาซัส (Pegasus) และเทคโนโลยีอื่นๆ ประกาศห้ามใช้สปายแวร์ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งหมดทุกฉบับ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงและบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน 

5. การทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย รัฐต้องสอบสวนโดยทันที เจ้าหน้าที่ต้องรับประกันว่า ภาระในการพิสูจน์จะไม่ไปจำกัดสิทธิของผู้เสียหายและครอบครัวในการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างไม่เหมาะสม แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อให้สอดคล้อกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

6. สิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้เข้าเมือง ปล่อยตัวผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยที่ถูกควบคุมตัวเนื่องจากสถานะการเข้าเมืองไม่ปกติ รับประกันว่าจะไม่ถูกเนรเทศ ส่งตัวกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดที่อาจเผชิญประหัตประหาร การทรมาน ความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงรูปแบบอื่นๆ โดยคำนึงถึงหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) 

7. สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปบังคับใช้ต่อไป และต้องสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

8. การลอยนวลพ้นผิด รับประกันสิทธิการเข้าถึงการเยียวยาและความยุติธรรมแก่บุคคลทั้ง 85 คน ที่ถูกยิงหรือเสียชีวิตขณะถูกจับกุมในเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 ยุติการบังคับใช้กฎอัยการศึก กฎหมายรักษาความมั่นคงภายใน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า