วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่ม Beach for Life ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์หาดทรายได้เคลื่อนขบวนจากทะเลปักษ์ใต้มายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโครงการก่อสร้าง ‘กำแพงกันคลื่น’ (seawall) กลับเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ถอดถอนอำนาจการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง และผลักดันมาตรการฟื้นฟูหาดทรายให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติแบบที่ควรจะเป็น
หลายคนคงทราบแล้วว่า การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของกำแพงกันคลื่นได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 ผลลัพธ์ดังกล่าวนำไปสู่ ‘การระบาด’ ของกำแพงกันคลื่นบนหาดทรายเกือบทั่วประเทศไทย พร้อมกับ ‘งบประมาณการก่อสร้าง’ ที่เพิ่มเป็นทวีคูณอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการแบ่งเซลล์ของไวรัส โดยหน่วยงานรัฐอ้างว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจำเป็นต้องทำเพื่อบรรเทาปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) ซึ่งเกิดจากคลื่นลมของพายุที่รุนแรง รับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (sea level rise) เพราะภาวะโลกร้อน (global warming) ไปจนถึงการป้องกันสึนามิ (Tsunami) ทั้งที่ความจริงแล้วโอกาสเกิดสึนามิทางฝั่งอ่าวไทยแทบจะเป็นศูนย์
หลายคนอาจรู้สึก ‘เอ๊ะ’ เหมือนกับผม เพราะหน้าที่ของกำแพงกันคลื่นคือ ‘การกันคลื่น’ ไม่ใช่การรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการป้องกันสึนามิ เพราะ ‘กำแพงป้องกันน้ำทะเลเข้าเมือง’ กับ ‘กำแพงป้องกันสึนามิ’ มีวิธีการออกแบบ รูปร่างหน้าตา และรายละเอียดทางวิศวกรรมที่แตกต่างจากกำแพงกันคลื่น แต่ผมจะยังไม่ลงรายละเอียดดังกล่าวในบทความนี้
เมื่อคลื่นเข้ามากัดกินแผ่นดิน เราก็ต้องหากำแพงที่แข็งแกร่งไปวางขวาง คลื่นจะได้กัดไม่เข้า ดูเผินๆ อาจเข้าที แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านั้น เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า กำแพงกันคลื่นและสิ่งก่อสร้างบนหาดทรายต่างหากที่กำลังทำให้ตะกอนทรายหายไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าผลกระทบจากพายุและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากกำแพงกันคลื่นที่แข็ง ทึบ ชัน และตั้งอยู่อย่างถาวร ทำให้คลื่นกระทบหาดทรายแรงขึ้น แล้วกวาดต้อนตะกอนทรายบริเวณฐานด้านหน้าของกำแพงกันคลื่นออกไป หาดทรายจึงหดหายไปเรื่อยๆ จนสัตว์ไม่มีที่อาศัย พืชชายหาดไม่สามารถเติบโตได้ และชาวเลไม่มีที่จอดเรือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง กำแพงกันคลื่นจะเริ่มเสียการทรงตัวแล้วทรุดลงมา กลายเป็นซากปรักหักพังที่ตอกย้ำถึงความเขลาและความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ
ขณะเดียวกัน เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) ที่ยื่นยาวจากบริเวณปากแม่น้ำออกไปสู่ทะเลก็ทำให้ตะกอนจากแม่น้ำไหลไปตกในทะเลไกลจากหาดและดักตะกอนที่ไหลเลียบมาตามหาด เมื่อเวลาผ่านไป หาดด้านหนึ่งจึงงอก แต่หาดอีกด้านถูกกัดเซาะเป็นแผลลึก
ความจริงแล้ว สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งยังมีอีกหลายอย่าง อาทิ การดักตะกอนของฝายกับเขื่อนบนแผ่นดิน การเปลี่ยนแม่น้ำลำคลองธรรมชาติเป็นทางน้ำหิน-คอนกรีต การปลูกพืชต่างถิ่น การทำลายป่าชายเลน การทำลายสังคมพืชทะเล การทำลายปะการัง การทำนากุ้ง-นาเกลือ การสูบน้ำบาดาล การก่อสร้างท่าเรือ การทรุดตัวของชายฝั่ง แผ่นดินไหว สึนามิ การเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำ และความแปรปรวนของภูมิอากาศ โดยสาเหตุแต่ละอย่างจะมีน้ำหนักของผลกระทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เรากำลังพิจารณา
สมัยก่อน ต่างประเทศก็เคยมีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตแดนของหาด (beach) กับฝั่ง (coast) เหมือนกับเรา แต่พอเขาศึกษาจนแตกฉานแล้วพบว่า ‘หาด’ คือบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาเพราะอยู่ในอิทธิพลของคลื่น ส่วน ‘ฝั่ง’ คือบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยเพราะอยู่นอกอิทธิพลของคลื่น เขาก็เลิกบุกรุกหาด ฟื้นฟูหาดที่ถูกทำลาย และรักษาหาดที่เหลืออยู่
แต่เนื่องจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับการวิจัยและการสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หาดที่เคยสวยงามจึงถูกบุกรุก ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสนทะเล หรือกรณีที่แย่ที่สุดคือถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้าง การปรับเปลี่ยนหาดแบบผิดธรรมชาติคือสาเหตุที่ทำให้สมดุลตะกอนบนหาดสูญสิ้นไป พอคลื่นทะเลรุกล้ำเข้ามา ภาษีของพวกเราก็ถูกเปลี่ยนเป็นแนวกองหินและกำแพงคอนกรีตราคาแพงที่ต่างประเทศถือว่า ‘ล้าหลัง’ และ ‘ไร้นิยม’ จนมนต์เสน่ห์ของหาดทรายเลือนหายไป
‘เขื่อนกั้นอ่าวไทย’ มหันตภัยทำลายอ่าวตัว ก.
นอกจากกำแพงกันคลื่น ก่อนหน้านี้ก็มีพรรคการเมืองและนักวิชาการบางกลุ่มเสนอให้นำ ‘โครงการเขื่อนกั้นอ่าวไทย’ ขึ้นมาปัดฝุ่น โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันไม่ให้กรุงเทพฯ จมบาดาล ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สร้างอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ พร้อมกับการถมที่ดิน (land reclamation) เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่
ความจริงแล้ว โครงการสร้างเขื่อนยักษ์ปิดอ่าวรูปตัว ก.ไก่ ไม่ใช่แนวคิดใหม่หรอกครับ เพราะหลายสิบปีก่อนเคยมีนักจินตนาการคิดจะทำมาแล้ว โดยเลียนแบบมาจากโครงการเดลตาเวิร์กส์ (Delta Works) ของประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ผมมีความเห็นว่าการสร้างเขื่อนยักษ์ปิดปากอ่าวไทยอาจได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยเหตุผลดังนี้
- ลักษณะทางธรณีสัณฐานวิทยา (geomorphology) ของประเทศเนเธอร์แลนด์กับประเทศไทยแตกต่างกัน สมัยก่อนพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์เคยจมอยู่ใต้น้ำ มีระดับน้ำขึ้น-น้ำลงสูง และมีปรากฏการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ที่รุนแรง หลังจากนั้นจึงมีการสร้างเขื่อนยักษ์ สูบน้ำออก แล้วถมที่ดินริมทะเล ส่วนพื้นที่ริมทะเลของประเทศไทยมีแผ่นดินสูงกว่าทะเล มีระดับน้ำขึ้น-น้ำลงต่ำ ไม่ค่อยมีคลื่นพายุซัดฝั่ง
- โครงการเดลตาเวิร์กส์มีทั้งส่วนที่เป็นเขื่อน (dam) ที่ปิดสนิท และประตูป้องกันน้ำท่วมจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge barrier) ที่สามารถเปิด-ปิดได้ การออกแบบที่ผสมผสานอย่างเหมาะสมทำให้วิถีชีวิต การทำประมง และระบบนิเวศริมทะเล ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่เขื่อนกั้นอ่าวไทยถูกตั้งเป้าให้เป็นอ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของน้ำ วิถีชีวิตของชาวบ้าน ธุรกิจท่องเที่ยว และระบบนิเวศ
- โครงการเดลตาเวิร์กส์ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนานราวครึ่งศตวรรษ ปัญหาที่พบคือมีการรั่วซึม ทรุดตัว และแตกร้าวในหลายจุดตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมตลอดเวลาเพื่อไม่ให้น้ำทะเลทะลักเข้ามา ส่วนในประเทศไทย แม้ระดับน้ำในอ่าวไทยจะตื้น แต่พื้นทะเลมีลักษณะเป็นตะกอนเลน โครงสร้างขนาดใหญ่จึงอาจจมหรือทรุดตัวลงมาได้
- การพัฒนาเขื่อนกั้นอ่าวไทยเป็นอ่างเก็บน้ำจืด สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่อ่างเก็บน้ำจืด แต่เป็นอ่างเก็บน้ำกร่อย เพราะตะกอนที่พื้นทะเลมีเกลือและแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก
- สมดุลของระบบนิเวศปากแม่น้ำถูกควบคุมด้วยปริมาณน้ำจืดจากแม่น้ำและน้ำเค็มจากทะเล เมื่อมีเขื่อนมาปิดกั้นอ่าวไทย น้ำเค็มจะไม่เกิดการหมุนเวียน เหลือเพียงน้ำจืดจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง เมื่อเวลาผ่านไป สารอินทรีย์ สารเคมี และสิ่งสกปรกจะสะสมอยู่ภายในอ่าง เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน (eutrophication) เนื่องจากแพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว หลังจากแพลงก์ตอนพืชตายลงก็จะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย ออกซิเจนในน้ำจึงลดลง ทำให้น้ำเน่าเสีย
- อ่าวไทยมีระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) และนิเวศบริการ (ecosystem service) ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่น รวมถึงมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกอยู่บ่อยครั้ง
- การย้ายเมืองหลวงในเชิงนโยบายและเชิงกายภาพเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์และยั่งยืนกว่าการทุ่มงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อต่อสู้กับธรรมชาติในระยะยาว เพราะหินและปูนที่นำมาสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทยมาจากการระเบิดภูเขาซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศบนบก เกิดมลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ และมีผลกระทบอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล
หลายคนคงมีคำถามในใจว่า ถ้ากำแพงกันคลื่นกับเขื่อนกั้นอ่าวไทยเป็นโครงการที่มีผลกระทบทางลบเยอะ มีราคาสูงลิบลิ่ว เมื่อพังแล้วก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แล้วต่างประเทศรับมือกับการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีไหน?
คำตอบมีหลากหลายครับ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดระยะถอยร่น (setback) การฟื้นฟูสังคมพืชชายหาด (beach plant community restoration) การถ่ายเททราย (sand bypassing) การเติมทรายบนหาด (beach nourishment) การจัดวางแนวรั้วไม้ดักทราย (sand fence) การจัดวางตัวสลายคลื่นแบบโมดูล (modular wave breaker) และการยกบ้านให้สูงจากพื้น (lifted house)
อย่างไรก็ตาม แนวทางการรับมือเหล่านี้เป็นเพียง ‘มาตรการระยะสั้น’ กับ ‘มาตรการระยะกลาง’ เท่านั้น เพราะถึงแม้มนุษย์จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทันทีทันใดในวันพรุ่งนี้ โลกของเราจะยังคงร้อนขึ้น พายุจะยังคงรุนแรงขึ้น และระดับน้ำทะเลจะยังคงสูงขึ้นไปอีกหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี ผลที่ตามมาคือการเกิดน้ำท่วมชายฝั่ง (coastal flood) โดยการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกับพื้นที่ริมทะเลที่ลดลงสามารถคำนวณอย่างง่ายจากกฎของบรูน (Bruun rule) ซึ่งแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หาดทรายครึ่งหนึ่งจะหายไปภายในสิ้นศตวรรษนี้ และกำแพงกันคลื่นที่สร้างในยุคนี้คงไม่อยู่ยืนยงจนถึงตอนนั้นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมี ‘มาตรการระยะยาว’ ที่ต้องเริ่มวางแผนและปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้นตอน
เปลี่ยนทัศนคติรัฐไทย ก่อนหาดทรายพังพินาศ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาและจำเป็นต้องบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกันเพื่อรับมือกับผลกระทบ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ ชุมชนริมทะเลจำเป็นจะต้องปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่กับน้ำ ดังนั้น สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทก็คือ เมืองชายฝั่งที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง (resilient coastal city)
ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเมือง (urban resilience) คือการออกแบบเมืองยุคใหม่ให้สอดคล้องและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เพื่อให้ชาวเมืองได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และยั่งยืน
สำหรับชุมชนชายฝั่งในบ้านเราอาจเริ่มจากการหยุดรุกล้ำหาด ฟื้นฟูหาด ย้ายคันกั้นน้ำ ถนน และสิ่งก่อสร้างขึ้นมาบนฝั่ง จากนั้นจึงออกแบบและพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล เส้นทางคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยอาศัยแนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรมลอยน้ำ (floating architecture) ไม่แน่ว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เราอาจจะเห็นบ้านลอยน้ำ การเดินทางด้วยเรือ และเมืองลอยน้ำ (floating city) ปรากฏอยู่ทั่วไปตามแนวชายฝั่งจนเป็นปกติ เพราะประเทศเกาหลีใต้กับประเทศมัลดีฟส์ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเราก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว
ตัดกลับมาที่เหตุการณ์ในบ้านเรา หลังจากกลุ่ม Beach for Life เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับหาดทรายอย่างแข็งขันอยู่ 2 วันเต็มๆ รัฐบาลก็ยอมรับข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
ตามความเห็นของผม คนที่จะเข้ามาดูแลหาดทรายจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย อาทิ วิทยาศาสตร์ทางทะเล ธรณีวิทยา นิเวศวิทยา ภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกร และประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือกระบวนการทำงานจะต้องตั้งอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชน ความเท่าทันโลก ความเป็นธรรมต่อธรรมชาติ และสามารถตรวจสอบได้ แต่ผมยังคงมีคำถามว่า หาดทรายที่พังพินาศไปแล้วเพราะกำแพงกันคลื่น ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ? การฟื้นฟูจะทำอย่างไร? และประชาชนอย่างพวกเราจะต้องจ่ายภาษีให้กับกลุ่มคนที่ขยันทำเรื่องไร้ประโยชน์ แถมยังเป็นโทษไปอีกนานเท่าไร?
อ้างอิง
- https://beachforlifeorg.wordpress.com/
- https://waymagazine.org/seawall-physics/
- http://www.thaiphysoc.org/article/308/
- http://www.thaiphysoc.org/article/193/
- https://thebulletin.org/2022/05/why-cities-should-ditch-seawalls-and-let-the-water-in/?fbclid=IwAR1B_SP44usWaabgp33fnNlHaT7jc8SgDL3B9z7QCbfDtToJk40eiEZZDEc
- https://www.climatechangenews.com/2022/03/03/scientists-warn-seawalls-can-make-rising-waters-worse-in-the-long-run/
- https://mitsloan.mit.edu/ideas-made-to-matter/how-coastal-cities-can-build-climate-resilience-clock-ticks
- https://www.archdaily.com/tag/floating-architecture
- https://www.archdaily.com/980892/un-habitat-reveals-prototype-for-the-worlds-first-sustainable-floating-city