หยุด CPTPP พ่วงขยะข้ามแดน ก่อนไทยแลนด์จะเป็นถังขยะโลก

โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

ประเทศอุตสาหกรรม เช่น ประเทศญี่ปุ่น แสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากปัญหาวิกฤตการณ์ขยะภายในประเทศด้วยการหาช่องทางระบายขยะไปกำจัดทิ้งยังต่างประเทศ และในช่วงต้น ค.ศ. 1990 ช่องทางที่สมเหตุสมผลและไม่ขัดต่อข้อกำหนดของ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามให้มีการเคลื่อนย้ายขยะข้ามพรมแดน จากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา ก็คือ การทำให้ ‘ขยะ’ ทุกชนิด และ ‘สิ่งของใช้แล้ว’ ทุกประเภท ไม่ว่าจะเสื่อมสภาพแล้วหรือไม่ก็ตาม เป็น ‘สินค้า’ ที่ผนวกรวมเข้าไปในรายการสินค้าของข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ’ (Economic Partnership Agreement: EPA) ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมก็ได้สร้างยุทธศาสตร์รองรับอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้การส่งออกขยะประเภทต่างๆ ด้วยการส่งเสริมแนวความคิดเรื่อง 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ขยะ’ หรือ ‘ของเสีย’ เป็นการเรียกว่า ‘วัสดุหรือสิ่งของใช้แล้ว’ หรือ ‘เศษวัสดุจากกระบวนการผลิต’ เป็นต้น เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับการนำเข้า ‘วัสดุหรือสิ่งของใช้แล้ว’ และ ‘เศษวัสดุจากกระบวนการผลิต’ จากประเทศพัฒนาเข้ามาใช้เป็นวัตถุดิบหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์นี้ยังรวมถึงการขายหรือส่งออกเทคโนโลยีเตาเผาของเสียและการรีไซเคิลให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วย 

แนวความคิดนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมสามารถรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วยการกำจัดขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ภายในประเทศของตนแล้ว ยังได้ภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะกลุ่มประเทศที่มีการจัดการขยะได้ดี มีประสิทธิภาพ และมีการหมุนเวียนขยะกลับมาเป็นทรัพยากรอันมีคุณค่าสูงในทางเศรษฐกิจด้วย

สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ขยะที่ส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงขยะอันตราย ขยะปนเปื้อนสารอันตราย และขยะติดเชื้อ ซึ่งการจัดการและกระบวนการรีไซเคิลของเสียเหล่านี้จัดเป็นกิจการอันตรายที่จำเป็นจะต้องมีการลงทุนสูงในการจัดการสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่เข้มงวดสูง ในทางกลับกัน ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นแหล่งรองรับการถ่ายโอนขยะหรือของเสีย ส่วนใหญ่คือประเทศที่มีนโยบายและกฎหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ และมีปัญหาสำคัญคือ ความโปร่งใสและระบบพรรคพวกในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประเทศไทย

ประเทศไทย นอกจากมีปัญหานโยบายและกฎหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ และความไม่โปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงงานแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการอนุมัติให้มีการนำเข้าขยะหรือของเสียจากต่างประเทศ ได้ทยอยออกกฎหมายภายในประเทศที่นำไปสู่การเปิดเสรีให้มีการนำเข้าขยะหรือวัสดุใช้แล้ว ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริโภคเข้ามารีไซเคิลและส่งเสริมการตั้งโรงงานให้บริการกิจการเหล่านี้ภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ 

ตั้งแต่ช่วงปี 2545 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ลงนามทำความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ โดยเฉพาะการลงนามทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทย หรือ JTEPA เมื่อปี 2551 ความตกลงการค้าฉบับนี้เป็นความตกลงฯ ฉบับแรกที่แสดงชัดเจนถึงการเปิดเสรีให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามแดนสำหรับของเสียอันตรายทุกประเภทอย่างชัดแจ้ง

ในช่วงก่อนการลงนามข้อตกลงฉบับนี้ กระทรวงต่างประเทศเคยปฏิเสธแข็งขันในเรื่องนี้ว่า ข้อตกลง JTEPA ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าของเสียอันตราย แต่เมื่อกลุ่ม FTA Watch ตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จึงมีการยอมรับถึงข้อผิดพลาดในการเจรจาเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่ม FTA Watch ยังพบว่า ในการแต่งตั้งคณะบุคคลจากหน่วยงานราชการไทยในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้แทนระดับนำจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ให้น้ำหนักกับบุคคลระดับนำจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนั้นในการเจรจาความตกลงต่างประเทศที่ผ่านมา จึงไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การนำเข้าขยะจากต่างประเทศจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไทยอย่างรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน

ในเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาลไทยมีท่าทีเข้มแข็งในการกำหนดนโยบายที่จะห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2563 เนื่องจากมีการตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้าขยะต่างประเทศจำนวนมากอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาคัดแยกและรีไซเคิลในประเทศตามโควตาที่ถูกต้องก็จริง แต่กระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย มลพิษอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก และการลักลอบทิ้งหรือฝังกลบกากที่เหลือตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ทำให้แหล่งน้ำและผืนดินเสียหายปนเปื้อนมลพิษเป็นบริเวณกว้างขวางและเยียวยาฟื้นฟูไม่ได้

ปัญหาการนำเข้าขยะของไทยยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าขณะนี้ได้ผ่านเวลาที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะแก้ปัญหาการนำเข้าขยะต่างประเทศและจะห้ามการนำเข้าหลังจากปี 2563 เป็นต้นมา แต่จากการติดตามของสมาชิกกลุ่ม FTA Watch ยังคงพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยังอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้อีกถึงปี 2567 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดศุลกากรทั้งหมด 428 รายการ ยังเปิดช่องให้มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นของเสียอันตรายบางรายการเข้ามายังประเทศของเราได้ตามปกติ นอกจากนี้ กลุ่ม FTA Watch ยังสำรวจพบว่า หลังจากที่ประเทศจีนให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลฯ (Basel Ban Amendment) และห้ามการนำเข้าขยะจากชาติอุตสาหกรรมและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยมีการนำเข้าขยะมากขึ้นและมีจำนวนโรงงานคัดแยก โรงงานหล่อหลอม โรงงานรีไซเคิลของเสียต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการย้ายฐานของโรงงานจากจีนเข้ามาตั้งในประเทศไทยหลายแห่ง

กลุ่ม FTA Watch พบว่า กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนจึงได้ทำหนังสือถึงองค์การการค้าโลกและประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เพื่อแจ้งว่า จากการตรวจสอบ ติดตาม ปราบปราม และการดำเนินมาตรการร่วมกันของหลายหน่วยงานภายในประเทศจีน พบว่า “…การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีการส่งขยะสกปรก รวมถึงขยะอันตรายจำนวนมากปะปนมาในการนำเข้าขยะมูลฝอยและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (solid wastes) ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเป็นวัตถุดิบ ขยะเหล่านี้ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมของประเทศจีนอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจึงต้องคุ้มครองประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วยการทบทวนบัญชีรายการขยะมูลฝอยและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (solid wastes) ที่เคยให้นำเข้าประเทศอย่างเร่งด่วน และห้ามการนำเข้าขยะมูลฝอยและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (solid wastes) ที่จะก่อมลพิษสูง เพื่อการคุ้มครองสุขภาพของคน การคุ้มครองสัตว์หรือพืชหรือสุขภาพ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม”

ขยะหรือของเสียที่กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจีนได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลกว่าจะห้ามนำเข้าไปสู่ประเทศจีนอีก คือ รายการขยะและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (solid wastes) รวม 56 รายการ เช่น (1) กลุ่มพลาสติกกลุ่มโพลีเมอร์คือ PE, PS, PVC (2) กลุ่มกระดาษที่ไม่จัดประเภท (3) เศษสิ่งทอบางประเภท (4) ตะกรันวาเนเลียม (5) กลุ่มขี้แร่ เศษเหล็ก เศษโลหะที่มีสารปนเปื้อนสูง และเรือเก่าและยานลอยน้ำต่างๆ (6) กลุ่มขี้เลื่อย เศษไม้ เศษโลหะ/อโลหะอื่น รัฐบาลจีนยังออกมาตรการควบคุมการนำเข้าขยะและการกำกับดูแลอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น มาตรการเหล่านี้อาจจะกระทบข้อตกลงการค้าเสรีและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในประเทศมากกว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าที่จะก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชี้แจงได้ อธิบายได้ และสมเหตุสมผลที่จะดำเนินการ เพียงแต่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของรัฐบาลไทยผ่านการทำงานของคณะผู้เจรจา

คำถามจึงอยู่ที่ว่า กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้แทนเจรจาการค้าหลักของประเทศ ตระหนักถึงผลของการเจรจาที่จะเกิดตามมาต่อประชาชนคนไทยมากขึ้นหรือไม่ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนไทยให้มากกว่าที่ผ่านๆ มาบ้างหรือยัง ในความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ในขณะนี้

ตาราง 1: ปริมาณเศษพลาสติกที่นำเข้ามาในประเทศไทย (2558-2563)

เฉพาะพิกัดศุลกากร HS3915 (คือ เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติก)

ปีปริมาณ (กก.)
255856,212,660
255969,506,145
2560152,737,452
2561552,721,267
2562323,167,065
2563150,807,312
2564 (มกราคม-เมษายน)44,307,376
ที่มา: กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สืบค้นและเรียบเรียงจากฐานข้อมูลการนำเข้าสินค้า ใน “พิกัดอัตราศุลกากร 2017” เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์. ที่เว็บไซต์ tradereport.moc.go.th
ตาราง 2: 20 อันดับประเทศที่ส่งออกเศษพลาสติก (HS3915) มายังประเทศไทยมากที่สุด (เดือนมกราคม-เมษายน 2564)

เฉพาะพิกัดศุลกากร HS3915 (คือ เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ซึ่งเป็นพลาสติก)

ลำดับประเทศส่งออกปริมาณเศษพลาสติก
(HS3915) (กก.)
สถานภาพ
การให้สัตยาบัน
อนุสัญญาบาเซลฯ
สถานภาพ
การให้สัตยาบัน
ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ
1ญี่ปุ่น13,119,390✔︎
2สหรัฐอเมริกา10,379,114
3จีน5,177,360✔︎✔︎
4ฮ่องกง2,781,179✔︎✔︎
5แคนาดา2,312,434✔︎
6ออสเตรเลีย1,619,169✔︎
7เยอรมนี1,285,481✔︎✔︎
8เม็กซิโก1,118,406✔︎
9เนเธอร์แลนด์1,052,057✔︎✔︎
10สเปน863,117✔︎✔︎
11มาเลเซีย793,785✔︎✔︎
12โปแลนด์735,008✔︎✔︎
13ไต้หวัน561,796
14เกาหลีใต้503,652✔︎
15อินโดนีเซีย276,284✔︎✔︎
16เบลเยียม251,091✔︎✔︎
17สหราชอาณาจักร242,100✔︎✔︎
18สิงคโปร์239,788✔︎
19ลิทัวเนีย132,229✔︎✔︎
20เมียนมา103,357✔︎
อื่นๆ (รวม 17 ประเทศ)760,579
รวมทุกประเทศ (37)44,307,376
ที่มา: กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สืบค้นและเรียบเรียงจากฐานข้อมูลการนำเข้าสินค้า ใน “พิกัดอัตราศุลกากร 2017” เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์. ที่เว็บไซต์ http://tradereport.moc.go.th
ตาราง 3: 20 อันดับประเทศส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทยมากที่สุด (มกราคม-เมษายน 2564)

เฉพาะพิกัดศุลกากร HS8548 (คือ เศษและของที่ใช้ไม่ได้ของเซลปฐมภูมิ แบตเตอรี่ปฐมภูมิ และหม้อสะสมไฟฟ้า เซลปฐมภูมิที่ใช้แล้ว แบตเตอรี่ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว และหม้อสะสมไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งส่วนประกอบทางไฟฟ้าของเครื่องจักรหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้ระบุ หรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้)

ลำดับประเทศส่งออกปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์
(HS8548) (กก.)
สถานภาพ
การให้สัตยาบัน
อนุสัญญาบาเซลฯ
สถานภาพ
การให้สัตยาบัน
ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ
1สหรัฐอเมริกา10,855,517
2จีน948,999✔︎✔︎
3ญี่ปุ่น897,800✔︎
4เบลเยียม275,652✔︎✔︎
5ฝรั่งเศส213,595✔︎✔︎
6สหราชอาณาจักร100,132✔︎✔︎
7แคนาดา85,016✔︎
8เกาหลีใต้74,521✔︎
9เมียนมา33,695✔︎
10อิตาลี26,961✔︎✔︎
11ฮ่องกง11,480✔︎✔︎
12เวียดนาม10,288✔︎
13ไต้หวัน5,884
14อินเดีย5,133✔︎
15โปแลนด์4,546✔︎✔︎
16มาเลเซีย2,908✔︎✔︎
17สาธารณรัฐเช็ก2,904✔︎✔︎
18อินโดนีเซีย1,280✔︎✔︎
19นิวซีแลนด์ 1,064✔︎
20สาธารณรัฐสโลวัก891✔︎✔︎
อื่นๆ (รวม 19 ประเทศ)3,278
รวมทุกประเทศ (39)13,561,544
ที่มา: กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) สืบค้นและเรียบเรียงจากฐานข้อมูลการนำเข้าสินค้า ใน “พิกัดอัตราศุลกากร 2017” เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์. ที่เว็บไซต์ tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า