ความ ‘ไม่’ มั่นคงทางอาหาร ภัยคุกคามจากรัฐแด่ประชาชน

น่ากังวลว่า ชุมชน ชาวบ้าน หรือเกษตรกรรายย่อย อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของบรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากหน้าหลายตาตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ที่ยิ่งสร้างบาดแผลความเหลื่อมล้ำและความไม่มั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าการเกษตรของ ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา (2556-2557) นโยบายลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ (2558-2560) จนถึงนโยบายตลาดนำการผลิตของ กฤษฎา บุญราช ที่เริ่มขึ้นในปี 2560 

วงเสวนาในหัวข้อ ‘นโยบายเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและความเหลื่อมล้ำและความมั่นคงทางอาหารหลังวิกฤตโควิด มุมมองจากนโยบายแปลงใหญ่ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการคุ้มครองพันธุ์พืช’ จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางการปฏิรูปภาคเกษตรตามนโยบายของ คสช. อาจเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้บอบช้ำยิ่งกว่าเดิม

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า นโยบายเหล่านี้ล้วนมุ่งเน้นให้ลดพื้นที่การทำนาลงให้ได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่เห็นว่ามีรายได้ดีกว่า อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย (เขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคเกษตร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ระบุว่า การสนับสนุนให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลต่อพื้นที่และวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนและชาวบ้าน โดยไม่ได้มองว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมาะสมกับพื้นที่ของชาวบ้านหรือไม่ รวมไปถึงนโยบายข้างต้นยังเอื้อให้บริษัทเอกชนหรือนายทุนขนาดใหญ่เพิ่มการผลิตให้ได้ปริมาณมากอีกด้วย

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ได้กล่าวประเด็นที่น่าสนใจว่า วิกฤตการณ์โรคระบาดอย่าง COVID-19 ได้สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ และหากกล่าวเช่นนั้นก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า ยังมีกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนบางส่วนที่ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน แต่กลับไม่ถูกมองหรือให้ความสำคัญเท่ากับผู้ที่อยู่ในเมือง อาทิ ชาวบ้านบางกลอย ที่คนส่วนใหญ่มองพวกเขาเป็นคนอื่น และลืมคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารว่าพวกเขาจะมีความเป็นอยู่อย่างไร

“ความร่วมทุกข์กันในสังคม ร่วมทุกข์กันในโลก ไม่ว่าจะมีความเห็นต่างอย่างไร เราก็ไม่สามารถมองว่าคนที่คิดไม่เหมือนเรานั้นต้องถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร วิธีปฏิบัติทุกวันนี้ของผู้มีอำนาจ สะท้อนถึงข้อกังวลเรื่องการดูแลความมั่นคง กรณีเช่นนี้ทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาคือการเพิ่มระยะห่างทางสังคม เพิ่มระยะห่างความร่วมทุกข์ต่อกัน และทำให้เกิดระยะห่างของความหวังในการเดินไปข้างหน้าร่วมกัน” 

ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว

พื้นที่ทำกิน คือรากฐานความมั่นคงทางอาหาร

ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมด้านความมั่นคงทางอาหาร มีผลกระทบจากปัจจัยสำคัญหลัก อย่างปัญหาที่ดินหรือพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ชุมชน หรือเกษตรกรรายย่อย 

มานพ คีรีภูวดล สส.พรรคก้าวไกล ในนามของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กล่าวถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่า ชาวบ้านหรือชุมชนต่างๆ จำเป็นต้องมีที่ดินหรือพื้นที่การผลิต รูปแบบการผลิต และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต

มานพกล่าวว่า ปัญหาที่ดินเชื่อมโยงถึงเรื่องระบบกรรมสิทธิ์และสิทธิทางกฎหมาย ช่วงวิกฤติโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อไม่มีฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ในเมืองกรุงหรือเมืองใหญ่ คนในเมืองตกงาน ไม่สามารถอยู่ได้ แต่บางชุมชนหรือบางพื้นที่ที่ยังมีฐานการผลิตและรูปแบบการผลิตอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบต่อความเป็นอยู่มากนัก แม้อาจไม่มีเงินใช้ แต่ถ้าพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ พวกเขาก็สามารถอยู่ได้ 

“ความมั่นคงทางอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงในที่ดิน หากไม่มีที่ดินทำกินก็ไม่สามารถที่จะออกแบบระบบความมั่นคงทางอาหารได้ เพราะที่ดินคือทุกอย่างของชีวิต เช่น ชาวบางกลอยถูกอพยพในปี 2539 มาอยู่บางกลอยด้านล่าง ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่สามารถทำกินได้ จนถึงปัจจุบันนี้ชาวบ้านบางกลอยก็ยังไม่ได้รับการดูแลเรื่องที่ดินและชีวิตความเป็นอยู่จากภาครัฐ”

มานพ คีรีภูวดล

CPTPP ผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกรรายย่อย

CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวว่า

การคุ้มครองพันธ์ุพืชมีนัยยะสำคัญคือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้สิทธิผูกขาดแก่นักปรับปรุงพันธ์ุหรือบริษัทเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านั้นพัฒนาพันธ์ุพืชพันธุ์ใหม่เข้าสู่ตลาดเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ซึ่งกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชนี้ คือกฎหมายที่เอื้อสิทธิผูกขาดของบริษัทเอกชน

วิฑูรย์กล่าวอีกว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะต้องเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืชทันที ซึ่งการเข้าร่วมอาจขัดต่อหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ว่า หากใช้พันธุ์พืชจากชาวบ้านหรือจากธรรมชาติ ต้องรับรองสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชด้วย ทั้งยังต้องแก้พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา คือ การขยายเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชจากเอกชน เดิมมีระยะเวลา 15 ปี ขยายเป็น 20 ปี อีกทั้งจำนวนพันธุ์พืชที่ให้เอกชนรับรองการครอบครองนั้นต้องขยายสู่พืชทุกชนิด 

“หมายความว่า เอกชนมีสิทธิครอบครองการขยายสายพันธุ์ย่อยของพืชสายพันธุ์ใหม่ด้วย และการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เกษตรกรจะไม่สามารถทำได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เท่านั้น นี่จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่อาจทำให้มีต้นทุนทางการเกษตรที่สูงขึ้น”

ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นนักบำรุงพันธุ์ และมีกฎหมายสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นนักควบคุมพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความอยู่รอดของเกษตรกร 

สารเคมีต่อปัญหาสุขภาพที่อาจไม่ได้รับการรักษา

หนึ่งในปัญหาสำคัญของภาคเกษตรกรรมไทย คือ การมีสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้เป็นจำนวนมาก ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า

ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต แต่ยังสั่งผักผลไม้จากจีนจำนวนมาก แถมยังมีสารเคมีมาก ทั้งที่เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติคือเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้บริโภคเองก็ควรเสนอความเห็นมากขึ้น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนในทิศทางที่ถูกต้อง

ชวลิต วิชยสุทธิ์

จากปี 2544-2557 การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เช่น พาราควอต มีประมาณการใช้ที่มากขึ้น แต่ผลผลิตการเกษตรกลับเพิ่มขึ้นน้อยมาก อีกทั้งการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้วัชพืชระบาด และนำไปสู่ปัญหาสารเคมีตกค้าง 

วิฑูรย์เสนอผลการสำรวจพบว่า มีสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ในปริมาณมาก ข้อมูลการสุ่มตรวจประมาณ 500 ชนิด ในปี 2563 พบว่าผักผลไม้ในประเทศมีสารตกค้างถึง 54 เปอร์เซ็นต์ นำเข้าพบ 56 เปอร์เซ็นต์ และไม่รู้ที่มาทั้งในและนอกประเทศตกค้างเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การยกเลิกและห้ามใช้สารเคมีร้ายแรงนี้เพื่อลดการตกค้างที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพของผู้บริโภค

ข้อโต้แย้งสำคัญของผู้ยับยั้งการยกเลิก มาจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ รวมถึงบริษัทท้องถิ่นที่ผลิตสารเคมีและเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพราะการยกเลิกสารเคมีเหล่านี้จะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ปลูกอ้อย ข้าวโพด มัน ปาล์ม รายใหญ่ได้

“คนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีส่วนใหญ่คือคนยากจน โดยที่คนรวยให้คนจนรับความเสี่ยงแทน”

ตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอฝาง เป็นพื้นที่ที่ใช้สารเคมีมากที่สุดในประเทศ ชุมชนและชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นสารเคมีในไร่ส้ม 

ธีรพันธ์ สาตราคม นักวิจัยชุมชนชาติพันธุ์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่สวนส้ม อำเภอฝาง ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการเอกชนที่มีฐานะร่ำรวย

ขณะที่แรงงานหรือคนสวนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนเผ่าดาราอั้งที่เข้ามารับจ้างฉีดพ่นสารเคมี 

“งานรับจ้างฉีดสารเคมี คนไทยไม่ทำ จึงถือเป็นโอกาสของกลุ่มชนเผ่า หากถามว่าพวกเขาเสี่ยงและกลัวต่ออันตรายจากสารเคมีหรือไม่ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ แต่พวกเขามีชีวิตที่เลือกไม่ได้ ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าใครอยากได้คนฉีดสารเคมีก็จะมาจ้างคนเหล่านี้”

ธีรพันธ์เล่าอีกว่า เมื่อคนชาติพันธุ์เหล่านี้มาอยู่ในไทย พวกเขาไม่มีสิทธิเลือก งานหลักที่พวกเขาพอจะทำได้คือ ฉีดพ่นสารเคมี รายได้ประมาณ 150-200 บาท พวกเขาอยู่ในภาวะที่เลือกไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จึงตามมาจนกลายเป็นเรื่องปกติ

“ในแง่การดูแลของรัฐก็เป็นไปได้ยาก เพราะการเข้าถึงลำบาก ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าถึงพื้นที่ได้และไม่มีการดูแลอย่างจริงจัง ปัญหาจึงเป็นอยู่ไม่จบสิ้น”

กล่าวได้ว่าปัญหาของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยหรือเกษตรกรรายย่อยยังคงถูกมองข้ามจากรัฐ รวมถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่ส่งทอดปัญหาจากบนลงล่าง ส่งผลให้คนตัวเล็กตัวน้อยต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตนเอง และนโยบายรัฐที่เอื้อให้เอกชนหรือบริษัทขนาดใหญ่ผูกขาดการผลิตก็เป็นปัญหาสำคัญ จนมองไม่เห็นและหลงลืมชาวบ้านหรือเกษตรรายย่อยที่มีอาชีพเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน

สนับสนุนโดย

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า