“ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด” คำบอกเล่าจากห้องพิจารณาคดีลับ

วันที่ 16 ธันวาคม 2567 งานเสวนา ‘ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด’ เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำเสนอข้อเท็จจริง เรื่องเล่าจากประสบการณ์ในห้องพิจารณาคดีลับเมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2567 ที่ทั้งทนายและจำเลยถูกสั่งให้หยุดพูด โดยในงานมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกระบวนการพิจารณาคดีลับและความเป็นกลางของผู้พิพากษา ในคดีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะคดีของ อานนท์ นำภา จากกรณี #ชุมนุมแฮรี่พอตเตอร์

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในหลักการทางกฎหมาย ได้แก่ รองศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี จีรนุช เปรมชัยพร เป็นผู้ดำเนินรายการ 

เกิดอะไรขึ้นในห้องพิจารณาคดีลับ

จันทร์จิรา ในฐานะทนายที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งวันที่ 27-28 พฤศจิกายน เล่าว่า วันที่ 27 เป็นวันนัดสืบพยาน โดยให้ทนายจำเลยถามค้าน (โจทก์สืบพยานโดยซักถามไว้ครบถ้วนแล้ว) ในคดีมาตรา 112 ที่อานนท์ นำภา เป็นจำเลยจากการชุมนุมแฮรี่พอตเตอร์

ด้านอานนท์แถลงต่อศาลว่า ทนายความและจำเลยไม่สามารถใช้สิทธิถามค้านได้ เพราะศาลไม่ได้ออกหมายเรียกพยานเอกสารมาให้ประกอบการถามค้าน ซึ่งเป็นการจำกัดการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของจำเลย

ศาลยืนยันว่าไม่สามารถออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ได้ เพราะการออกหมายเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ จะเป็นการขัดมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

อานนท์โต้แย้งว่า มาตรา 6 กับวิธีพิจารณาความอาญาเป็นคนละส่วนกัน การออกหมายเรียกพยานเอกสารเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะทำให้คู่ความเข้าถึงความยุติธรรมได้

เมื่อเกิดการโต้แย้งกันไปมา ศาลอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ไม่ยอมออกหมายให้ อานนท์จึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการถอดเสื้อ เพื่อให้ศาลเห็นว่าตัวเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาไม่มีสิ่งอื่นใดจะทำได้นอกจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาล

“หลังจากอานนท์ถอดเสื้อ ศาลก็สั่งให้พิจารณาคดีลับ สั่งให้ทุกคนออกจากห้องพิจารณาคดีภายใน 5 นาที หากใครยังฝ่าฝืนคำสั่งศาล ก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลมาควบคุมตัวลงไปขัง” จันทร์จิรากล่าว

วันถัดมาคือวันที่ 28 พฤศจิกายน ศาลให้อานนท์นำพยานจำเลยเข้าสืบ จันทร์จิราเล่าว่า อานนท์แถลงต่อศาลว่าไม่สามารถสืบพยานจำเลยได้ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ

  1. ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี
  2. ศาลสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย
  3. คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เนื่องจากมีอคติชัดเจน แต่ศาลไม่ยอมเปลี่ยนให้ จึงไม่สามารถสืบพยานได้ เพราะจะไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เราอยากจะอ่านคำร้องที่อานนท์ยื่นต่อศาลให้ทุกคนได้ฟัง ส่วนหนึ่งของคำร้องบอกว่า ‘การสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจเหตุผลเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นไปเพื่อปกปิดพฤติการณ์ในทางไม่ชอบของศาลเอง’” จันทร์จิรากล่าว

ด้านกฤษฎางค์ เล่าเสริมว่า หลังจากนั้นมีการโต้แย้งกันในเรื่องที่ศาลจะไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลในห้องพิจารณาคดี แต่อานนท์ยืนยันว่าข้อมูลที่ไม่ได้เข้าข่ายข้อห้าม ต้องสามารถเผยแพร่ได้ 

“เมื่อโต้แย้งกันไปมา ศาลจึงสั่งให้เอาตัวอานนท์ออกไปขัง แล้วก็พูดว่า ‘ทนายก็เหมือนกัน ใครพูดก็จะจับขังให้หมด’ แล้วประเทศนี้จะไปสู่ความจริงที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เอาคนผิดมาลงโทษ เอาคนถูกออกจากคุกได้อย่างไร”

ในแง่การให้พิจารณาคดีลับ แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นให้สามารถทำได้ เช่น คดีเยาวชน คดีข่มขืน เพื่อประโยชน์ต่อเหยื่อ หรือเด็กและเยาวชน แต่สำหรับกรณีของทนายอานนท์ ยังไม่สามารถหาเหตุผลอันสมควรได้

กฤษฎางค์ยืนยันว่า การเรียกร้องเรื่องนี้เพื่อหลักการที่ถูกต้อง ศาลต้องออกมาตอบให้ได้ว่าทำไมจึงพิจารณาคดีลับ ประชาชนต้องได้รับคำตอบ เพราะนี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อปกป้องประชาชนทุกๆ คน

การพิจารณาคดีลับย่อมทำได้ หากมีข้อยกเว้นอันสมควร

“ถ้าคุณจะมองว่าการพิจารณาคดีลับคือการคุ้มครองจำเลย ก็ให้จำเลยเขาร้องขอสิ ว่าต้องการให้พิจารณาคดีลับหรือไม่ ศาลไม่มีสิทธิ์มาตัดสินใจเอง และนี่เขาไม่ได้ร้องขอ”

สาวตรี บอกเล่าถึงเหตุผลการพิจารณาคดีลับที่ควรมีความเป็นกลางโดยปราศจากอคติของผู้พิพากษา โดยยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่บอกว่า การพิจารณาคดีและการพิพากษาต้องกระทำโดยเปิดเผย การพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการกักขังก็ต้องให้ศาลกระทำโดยเปิดเผยด้วย และในคดีที่เป็นความผิดทางการเมืองก็ต้องพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเสมอ ไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน ซึ่งเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้จำเลยถูกกักขังอิสรภาพโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ข้อสังเกตในคดี 112 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวพันกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคนที่เกี่ยวโยงก็คือบุคคลสาธารณะที่ควรจะวิจารณ์ได้

ในข้อนี้หากศาลเห็นว่า การพิจารณาโดยเปิดเผยจะส่งผลกระทบต่อจำเลย แต่ท้ายที่สุดควรต้องให้จำเลยร้องขอ แต่เรื่องนี้จำเลยเขาไม่ได้ร้องขอ

“เวลาที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ศาลก็ดี หรือบุคคลผู้บังคับใช้กฎหมายก็ดี เราต้องวิจารณ์โดยใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง เพื่อที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายเขียนแบบนี้ แต่คุณทำไม่ตรงกับกฎหมาย เราต้องยืนหลักตรงนี้ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เขาโดยอาศัยตัวกฎหมายมันจะสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับคนพวกนี้มากที่สุด” 

สาวตรีทิ้งท้ายไว้ถึงการวิพากษ์วิจารณ์ศาล

2+2=5 คุณจะเชื่อไหม

“ภาษาเขา 2+2=5 แต่ภาษาพวกคุณ 2+2=4 แล้วเมื่อไหร่จะคุยกันรู้เรื่อง เขาก็จะทำอย่างนี้จนกว่าคุณจะบอกว่า 2+2=5 นั่นแหละ” ธงชัยกล่าว

ธงชัยเป็นอีกคนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีวันนั้น เขาเล่าว่าขณะที่กำลังเกิดการโต้แย้งกันอยู่ ตนเองตั้งข้อสังเกตตลอดว่า มาตรา 6 เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเรียกพยานเอกสาร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการละเมิด 

นี่คือครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่มาตรา 6 ถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการเรียกพยานเอกสาร ซึ่งธงชัยตั้งขอสังเกตอีกว่า นั่นหมายถึงต่อไปนี้มีเรื่องที่ต้องจับตาดูเพิ่มอีกว่า มาตรา 6 จะถูกตีความขยายต่อไปอีกอย่างไร

ธงชัยพาไปทบทวนวรรณกรรมระดับโลกอย่าง ‘1984’ ที่ ‘พี่เบิ้ม’ บอกกับทุกคนว่า 2+2=5 และเราต่างต้องเชื่อแบบนั้น หากจะยืนยันว่า 2+2=4 นั่นหมายความถึงการสูญสิ้นอิสรภาพ แต่ตัวเอกของเรื่องปฏิเสธสิ่งนั้น 

“การที่ศาลบอกว่า การเรียกพยานเอกสารเป็นการละเมิดมาตรา 6 ตามรัฐธรรมนูญ แต่อานนท์ปฏิเสธว่าไม่ละเมิด เหมือนกับคนที่ไม่ยอมรับว่า 2+2=5 ห้องพิจารณาคดีจึงต้องปิดการพิจารณาให้เป็นความลับ ไม่ให้คนข้างนอกรู้ เพราะคนข้างนอกจำเป็นจะต้องเชื่อว่า 2+2=5 จริงๆ คุณห้ามพูดจนกว่าคุณจะยอมรับว่า 2+2=5 คุณถึงจะได้อิสระ” 

ธงชัยกล่าวต่อว่า เหตุผลที่ศาลอธิบายต่อการกระทำในกระบวนการยุติธรรมนี้ เป็นเหตุผลที่คงเส้นคงวา เขายึดหลักบางอย่างอยู่ อย่าคิดว่าเขาไม่ยึดหลัก เขายึดอย่างเป็นระบบด้วย เพียงแต่มันขัดกับระบบกฎหมายปกติ

หลักทั่วไปบอกว่า กฎหมายมีไว้จำกัดอำนาจรัฐว่าอย่ามาก้าวล้ำปัจเจกบุคคล แต่สำหรับประเทศไทย เข้าใจว่ากฎหมายมีไว้จำกัดอำนาจประชาชน เพราะธรรมเนียมการเข้าใจกฎหมายของไทยเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ระบอบนิติศาสตร์ไทยกำลังสร้างข้ออ้างสารพัด เพื่อให้เป็นระบอบนิติศาสตร์ที่รับใช้ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า