การเลือกตั้ง 2566 กำลังจะเกิดขึ้น หลายคนเกาหัวแกรกๆ ว่าจะกาบัตรเลือกตั้งอย่างไรดี เพราะไม่เพียงแต่การเลือกคนที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ แต่มีปัจจัยทางอ้อมหลายประการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องขบคิด เช่น นโยบายพรรค อุดมการณ์พรรค มติพรรค แนวโน้มการจับมือพรรคร่วมรัฐบาล ฯลฯ ซึ่งล้วนทำให้ปากกาในมือท้วมหนักไม่น้อย
จาก ‘คู่มือเลือกตั้ง66’ ของ iLaw ระบุว่า การเลือกตั้ง 2566 ใช้ระบบคู่ขนาน คือมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ ใบที่ 1 บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต คือ เลือกตัวแทนเขตจำนวน 400 คน ใบที่ 2 บัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คือ เลือกพรรคที่อยากให้เป็นรัฐบาล
ฉะนั้น สมรภูมิหลักที่ทุกพรรคต้องการกำชัยชนะ จึงอยู่ที่จำนวน ส.ส.เขต ทั้ง 400 เขต ในคู่มือข้างต้นแนะนำว่า ถ้าเราไม่มีคนที่รักในเขตของตน ก็ให้เลือกพรรคที่ชอบ ซึ่งหากเราต้องการให้พรรคในดวงใจจัดตั้งรัฐบาล พวกเขาต้องการ ส.ส. ถึง 376 เสียง เพื่อที่ไม่ต้องพึ่ง ส.ว. 250 เสียง โจทย์ท้าทายของพรรคการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องใช้พยายามมากกว่าการเลือกตั้งปกติเพื่อกดดันฝ่าย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร
ในช่วงโค้งสุดท้าย วิธีคิดเกี่ยวกับการโหวตเชิงยุทธศาสตร์เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงบนโลกออนไลน์ เพื่อให้เสียงของผู้ใช้สิทธิสะท้อนออกมาในผลการเลือกตั้งโดยที่คะแนนไม่ตกน้ำ
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (tactical/strategic voting) คือ การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคที่มีโอกาสชนะ แทนการเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ตนชอบ เพราะไม่ต้องการให้เสียงตัวเองเสียเปล่า การลงคะแนนประเภทนี้ จึงไม่ใช่การเลือกพรรคที่ตนชื่นชอบมากที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด โจ ไบเดน (Joe Biden) กลายเป็นผู้ชนะ เพียงเพราะคนไม่ต้องการ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
ข้อถกเถียงสำคัญคือ การตัดสินใจที่ดูเป็นเหตุเป็นผลนี้ มีอีกด้านหนึ่งคือความรู้สึกที่ว่า คะแนนเสียงของตนไม่ส่งผลกับผลการเลือกตั้ง จึงต้องลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้เสียงของตนสัมฤทธิ์ผล สิ่งนี้เรียกว่า ความย้อนแย้งของการลงคะแนนเสียง หรือ non-voting paradox ซึ่งนำมาสู่การโหวตให้พรรคที่เราอาจไม่เห็นพ้องกับนโยบายเสียทีเดียว หรือกระทั่งอาจทำให้ไม่อยากออกไปใช้สิทธิก็ได้
อย่างไรก็ดี แม้การลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์จะยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย แต่การเลือกตั้ง 2566 สะท้อนการขับเคี่ยวทางนโยบายอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งกติกาการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยังทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องใช้วิจารณญาณมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวทางการเมือง
ในงานศึกษา The Many Faces of Strategic Voting: Tactical Behavior in Electoral Systems Around the World (2018) ระบุว่า การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยแคนดิเดตผู้นำหรือพรรค ซึ่งพิจารณาจากนโยบายหรือความชื่นชอบ และปัจจัยของความคาดหวังผลลัพธ์ ในแง่นี้ เหล่าโหวตเตอร์จึงแบ่งออกได้ 4 ประเภท ซึ่งหากพิจารณาถึงเหตุผลในการตัดสินใจอาจทำให้เราเข้าใจมุมมองของเหล่าโหวตเตอร์มากขึ้น
1) โหวตแบบมียุทธศาสตร์ (Strategic, also Instrumental) ใช้กับกรณีที่โหวตเตอร์พิจารณาทั้งจากความชอบเกี่ยวกับตัวผู้สมัครและความคาดหวังต่อผลการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ และเป็นการลงคะแนนเสียงบนพื้นฐานที่คำนึงถึงผลลัพธ์มากกว่าความชอบส่วนตัวต่อผู้สมัครหรือพรรค
2) โหวตแบบจริงใจ (Sincere, also Expressive) ผู้ลงคะแนนประเภทนี้อาจสนใจว่าใครจะชนะในเขตของตน แต่พวกเขาจะใช้หลักการลงคะแนนเสียงโดยพิจารณาเฉพาะในแง่ของความชอบเป็นที่ตั้ง แม้ผู้สมัครรายนั้นจะไม่มีโอกาสชนะ แต่ก็เลือกที่จะสนับสนุนผู้สมัครคนนั้นอย่างจริงใจ เพราะเชื่อมั่นในคำสัญญา และหนักแน่นในอุดมการณ์สุดฤทธิ์
3) โหวตแบบแห่ตามกัน (Bandwagon, also Underdog) หากผู้ลงคะแนนพิจารณาเฉพาะผลการเลือกตั้งที่เป็นไปได้ โดยไม่สนใจความชอบส่วนบุคคลเกี่ยวกับผู้สมัครหรือพรรค อาจเป็นคนที่เลือกฝ่ายที่ตนประเมินว่าจะชนะหรือฝ่ายที่ได้รับกระแสเชิงบวก แต่ด้านหนึ่งก็อาจเป็นคนที่สนับสนุนผู้สมัครที่คะแนนนิยมไม่ดี เพียงเพื่อไม่ให้เขา ‘รู้สึกแย่’ จนเกินไป
4) …? คือกลุ่มคนที่ยากจะอธิบายได้ เพราะคุณสมบัติสำคัญของคนเหล่านี้คือ พวกเขากาบัตรเลือกตั้งโดยไม่พิจารณาทั้ง 2 องค์ประกอบ (ความชอบเกี่ยวกับผู้สมัคร/พรรค และความคาดหวังต่อผลลัพธ์) คนกลุ่มนี้อาจเป็นคนที่ขายเสียง ผู้ที่ไม่สนใจการเมือง หรืออาจตัดสินใจลงคะแนนเสียงแบบสุ่มๆ เป็นคนที่เชื่อว่าการเมืองคือสิ่งเลวร้าย หรือกลุ่ม No Vote ก็ได้
ท้ายสุด หมุดหมายที่จะชี้ชะตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ในบริบทสังคมไทย คือ ส.ส.เขตทั้ง 400 เขต ที่เพิ่มขึ้นจากคราวก่อนถึง 50 ที่นั่ง ดังนั้น พรรคการเมืองจึงต้องอาศัยยุทธวิธีดึงนักการเมืองท้องถิ่นหรือ ‘บ้านใหญ่’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน รวมถึงเน้นย้ำจุดยืนประเภทที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” หรือ “รับเงินหมา กาพรรคเรา”
น่าสนใจว่า เหล่าโหวตเตอร์จะพิจารณาอย่างไร บนสถานการณ์การเมืองที่กำลังจะกำหนดชะตาชีวิตพวกเขาอีกครั้ง
ที่มา
- คู่มือเลือกตั้ง 66 “เรียนรู้จากอดีต กาเพื่ออนาคต”
- การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ : ประสบการณ์ของสหราชอาณาจักร
- Stephenson, Laura B., John H. Aldrich, and André Blais, eds. The Many Faces of Strategic Voting: Tactical Behavior in Electoral Systems Around the World. University of Michigan Press, 2018. http://www.jstor.org/stable/j.ctvh4zhzr.