เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์, ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: กิตติศักดิ์ ทวีกิจภิญโญ
ภาพประกอบ: antizeptic
การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีครั้งที่ 28 ประจำปี 2560 ของสี่โรงเรียนชายล้วน สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ และกรุงเทพคริสเตียน ไม่ได้มีแค่เรื่องราวบนสนามหญ้า แต่บนอัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกของศุภชลาศัยยังมีกิจกรรมแปรอักษร เป็นรูป เรื่อง และข้อความที่พวกเขาอยากส่งผ่านสื่อต่างๆ
ดราม่าดาบแรกในจตุรมิตรมาจากป้ายผ้าของเด็กสวนกุหลาบวิทยาลัย ‘ไทยแลนด์แดนกะลา’ ในขบวนพาเหรดไทยแลนด์ 4.0 ก่อกระแสในสังคมออนไลน์และออฟไลน์ สิ่งที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นก้อนหิน เป็น ‘เด็กเกรียน’ พ่อแม่จ่ายเงินส่งเสียให้เรียนแต่มาทำเรื่องไร้สาระ ไม่เข้าท่า
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ไม่มีขบวนป้ายแดนกะลา แต่สารบนผ้าผืนนั้นถูกย่อยลงในเพลทสี 1:20 บนตักนักเรียนหลายร้อย ปรากฏเป็นภาพแปรอักษรล้อเลียน ขบขัน เสียดสี การเมืองไทยร่วมสมัย โดยทีมออกแบบคือชุมนุมเชียร์และแปรอักษร เด็กมัธยมปลายวัย 15-17 ปี
ตัวอย่างภาพที่นำขึ้นแสตนด์แปรอักษร เช่น ตูน บอดี้สแลม, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สมชัย ศรีสุทธิยากร หรือการใช้รูป พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา มา ‘คืนความสุข’ สลับกับ BNK48 ‘ส่งความสุข’ ตามคอนเซ็ปท์ Protest Art ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ‘ด่าไม่ได้ก็ประชดให้ขำ ทำให้เป็นตัวตลก’ ในสังคมที่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทำได้จำกัดจำเขี่ย
รวมถึงคลื่นระลอกสองต่อจากขบวนกะลา ‘ฝูงไดโนเสาร์หลุด แห่วิจารณ์เต็มโซเชียล หลังที่อยู่แตก’
“ไม่อยากให้มันโฉ่งฉ่าง” คือคำตอบจากกลุ่มเด็ก ม.ปลาย
เพื่อไม่ให้โฉ่งฉ่าง นี่คือชีวิตแสนธรรมดาเบื้องหน้าของเด็ก 17 ที่กำลังใช้ช่วงเวลาวัยรุ่น เรียนพิเศษ และเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย กับเมล็ดพันธุ์ภายในบางอย่าง ที่พร้อมจะไปไกลมากกว่าแค่คำว่า ‘กะลา’
โค้ด ‘ฝูงไดโนเสาร์หลุด แห่วิจารณ์เต็มโซเชียลหลังที่อยู่แตก’ ที่ล้อเลียนเรื่อง ‘กะลา’ อีกทอดหนึ่ง ได้ไอเดียมาจากไหน
เอม: เริ่มมาจากเป็นโค้ดรวม คือโค้ดที่ทั้งสี่โรงเรียนได้รับธีมเดียวกันมาคือ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ คือทั้งสามโรงเรียนที่ทำจะไปในทางเดียวกัน คือเกี่ยวกับโลกออนไลน์ เราเลยอยากทำฉีก อยากให้คนรู้ว่าความหมายของ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ จริงๆ คืออะไร ก็ช่วยๆ กันคิดมา ลองทำเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็นข่าวหลอกหมดเลย ให้คนอ่านรู้เอง เราก็เอาข่าวอะไรมาก็ได้ให้รู้ว่าเป็นข่าวปลอมจริงๆ เนื่องจากที่เป็นโค้ดวันปิด ประกอบกับวันเปิดงานมีดราม่าเรื่องป้าย ผมเลยลองเล่นกับประเด็นนี้ดู แต่ก็ไม่อยากให้มันโฉ่งฉ่าง
ตอนแรกผมใส่เลย ให้เป็นพาเหรดแน่นอน อาจารย์เขาเบรกไว้ก่อน ก็เลยลองเปลี่ยนคำบ้าง ผลที่ออกมาคนก็ตีความนู่นนี่ อย่างคำว่า ‘กะลา’ หรือ ‘ไทยแลนด์’ ก็ไม่มีในโค้ด แต่ก็เอาไปด่ากันเอง ก็โอเคอยู่ครับ ทำให้เห็นว่า คนไทยยังไม่รู้เท่าทันสื่อ (ยิ้ม)
ผลของโค้ด ‘ฝูงไดโนเสาร์หลุด’ ออกมาเป็นแบบที่คิดไหม
เอม: ครับ ผมก็แค่โชว์รูปไดโนเสาร์หลุด จริงๆ ไดโนเสาร์นั้นอาจมาจากผมดู จูราสสิคพาร์ค แล้วชอบก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเสียดสีพาเหรด แต่คนก็เอาไปตีความกันเอง แล้วในโค้ดก็มีคำว่า ‘ข่าวปด’ ด้วย ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามันไม่จริง
ทำไมถึงเลือกแปรรูป สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วีระ สมความคิด, เนวิน ชิดชอบ และ สมชัย ศรีสุทธิยากร
เบนซ์: ก็ช่วยกันคิดหลายๆ คน จริงๆ เริ่มจากกานต์ก่อน ที่เสนอว่าสี่คนนั้นมีจุดเชื่อมโยงตรงกัน คือเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบเหมือนกัน แล้วก็มีชื่อเสียงในวงการเมืองเหมือนกัน คือแสตนด์เป็นหน้าบุคคลโรงเรียนเราทำมาตั้งนานแล้ว ปีนี้ไม่อยากธรรมดา เลยดึงประเด็นการเมืองมานิดหนึ่ง
กานต์: เขาเป็นเพื่อนในรุ่น 90 ครับ รุ่นเขามีตัวท็อปทางการเมือง เลยหยิบยกขึ้นมา
ตอนทำแอบกลัวไหมว่าจะโดนสังคมรุมโจมตีเหมือนป้ายผ้ากะลา
เบนซ์: ไม่ครับ
กานต์: ไม่ครับ เพราะโรงเรียนก็เป็นสวนกุหลาบดินแดนอุดมดราม่า
กลุ่มทำโค้ดมีกันทั้งหมดกี่คน
เบนซ์: 11 คน ตั้งแต่ ม.4-6 ครับ โรงเรียนอื่นเขาจะมีอาจารย์เข้ามาดูทุกโค้ดว่าออกมายังไง สแกนทุกโค้ดที่จะขึ้น ของเราจะมีอิสระมากกว่า นักเรียนคิดเองทำเองได้หมด
รุ่นพี่ชุมนุมเชียร์ได้ส่งต่อความหัวแข็งมาบ้างไหม
เบนซ์: ไม่ขนาดนั้น
เอม: แล้วแต่คนมากกว่า (หัวเราะ)
มองว่าสวนกุหลาบหัวแข็งไหม
เบนซ์: หัวแข็ง
ดื้อกว่าโรงเรียนอื่นหรือเปล่า
เบนซ์: ครับ ผมว่าใช่
คิดว่ากลุ่มตัวเองอินการเมืองไหม
เบนซ์: ไม่ครับ
กานต์: ไม่ได้แสดงออกขนาดนั้น
สังคมในโรงเรียนเป็นอย่างไร อินการเมืองบ้างไหม
กานต์: ด้วยความเป็นสวนกุหลาบ มีความหลากหลาย ก็อาจมีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจเลย ก็มีเพื่อนบางคนที่เสพข่าวการเมืองอยู่บ้าง ชอบมาชวนคุย แต่ด้วยข่าวสมัยนี้มันเข้าถึงง่ายและเร็ว จากคนที่ไม่สนใจก็หันมาสนใจในประมาณหนึ่ง
ต่อให้เขาคิดต่างแง่ต่างมุมกับเรา แต่ก็ถูกจำกัดด้วยคำว่าเพื่อน อยู่ภายใต้สังคมเดียวกัน ต่อให้ด่ากันแทบตาย สุดท้ายก็เพื่อนกันอยู่ดี
ความสนใจด้านการเมืองซึมซับเข้ามาสู่เราได้อย่างไร
กานต์: ผมสนใจการเมืองเพราะว่ามันเป็นเรื่องรอบตัว ทุกวันมันมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในประเทศอยู่ตลอดเวลา หรือระดับระหว่างประเทศก็ตาม
คิดว่าตัวเองแปลกกว่าคนอื่นที่ไม่สนใจเรื่องพวกนี้ไหม
เบนซ์: ไม่ครับ
กานต์: ไม่ต่างครับ ก็มีเพื่อนบางคนก็เสพอยู่ ชอบมาชวนคุย แต่ผมว่าคนทั่วไป ด้วยข่าวหรืออะไรสมัยนี้ มันทำให้บางคนที่อาจจะไม่อยากสนใจ อยู่ๆ เขาก็กลายเป็นคนที่รู้ข่าวประมาณหนึ่ง สามารถพูดคุยกับคนทั่วไปได้
เสพข้อมูลต่างๆ จากแหล่งไหน
กานต์: ส่วนใหญ่ก็ตามอ่านเอาจากเฟซบุ๊ค ไม่ค่อยตามเป็นสำนักข่าว
เอม: ไข่แมว (หัวเราะ)
กานต์: คือไข่แมวปกติภาพเขาจะเป็นภาพหลายช็อต แต่บนสแตนด์เราต้องเป็นภาพช็อตเดียว ไข่แมวเขาให้ไอเดียแบบแซะๆ แต่ไม่ได้สื่อตรงๆ ก็เข้ากับแสตนด์ของสวนกุหลาบ ที่พยายามจะสื่ออ้อมๆ หน่อยแต่ดูแล้วก็เข้าใจ คือเราทำให้ซอฟต์ลง
ถ้าไม่ซอฟต์ก็คือเป็นเหมือนที่ทำป้ายผ้า?
เบนซ์: ผมว่าอันนั้นมันตรงไป
ยังคงเคลมว่าตัวเองก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ไม่ได้อินอะไรขนาดนั้น?
ทั้งหมด: (พยักหน้า)
แต่ก็เสพข่าวเยอะมากนะ?
กานต์: มันบังเอิญไปเจอครับ (หัวเราะทั้งกลุ่ม) ก็เลื่อนนิ้วขึ้นๆ ลงๆ
งานอดิเรกของวัยรุ่น ม.ปลาย ธรรมดาๆ แบบนี้คืออะไร
กานต์: ผมชอบเรื่องต้นไม้ใบหญ้า อีกอย่างคือผมชอบนั่งรถเมล์ สำรวจเส้นทาง กรุงเทพฯ มันมีหลายมุมมอง แต่ละที่ก็ ไม่เหมือนกัน แถวบ้านก็อย่างหนึ่ง เปลี่ยนที่ก็อีกแบบ ถ้าว่างก็ทำ คนอื่นดู BNK48 (หัวเราะ)
ผมว่าบางทีผมก็เบื่อๆ บางคนก็หนุงหนิง มีแฟน ผมชอบความสงบของผม อยากจะอยู่แบบปลีกวิเวก ใช้ชีวิตแบบนั่งรถเมล์เล่นคนเดียวแบบนี้แหละครับ
เบนซ์: ว่างก็เรียน
เอม: เตะบอล เล่นดนตรี เล่นเกม
พอพูดถึงเรื่องแฟน เด็กโรงเรียนชายล้วนเขาหาแฟนที่ไหน
กานต์: มันก็ไม่ยากครับ มีพวกโซเชียล
เอม: เจอกันตามที่เรียนพิเศษครับ เพื่อนของเพื่อน ของเพื่อนๆๆ
กานต์: แต่กูไม่ได้เรียนพิเศษ กูก็ไม่เจอไง
เอม: เจอตามบนรถเมล์
กานต์: อะไรของมึง
แบ่งเวลาระหว่างกิจกรรมกับงานอย่างไร
เบนซ์: ช่วงตั้งแต่ปิดเทอมจนถึงเปิดงาน (จตุรมิตร) ก็ไม่ได้ขึ้นเรียนกันเลย นอนโรงเรียนแทบทุกวัน
ซึ่งที่บ้านโอเค?
เบนซ์: ก็โอเคนะครับ
อะไรเป็น passion ให้ทุ่มเทขนาดนี้
เอม: สำหรับผมเข้ามาตั้งแต่ ม.1 ที่โรงเรียนเด่นๆ นอกจากฟุตบอลก็เชียร์กับแปรอักษร พอขึ้น ม.2 ได้ขึ้นแสตนด์แปรจริงๆ เห็นโค้ดออกมา ‘จตุฯ 27’ รู้สึกว่าอยากทำโค้ด อยากมีส่วนร่วม ตั้งแต่ตอนนั้นก็เลยเริ่มที่จะเข้าชุมนุมเชียร์ การที่จะออกมาได้สักโค้ดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผ่านการคิด การไตร่ตรองใช้ระยะเวลานานในการสร้างโค้ดดีมีคุณภาพ ถ้าโค้ดที่เราทำเองได้ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ก็รู้สึกภูมิใจ
นอกจาก passion ส่วนตัว ถือว่าอยากเอาชนะโรงเรียนคู่แข่งด้วยไหม
เอม: ก็ด้วย ทั้งสี่โรงเรียนมีชื่อด้านการแปรอักษรอยู่แล้ว ต่างก็มีการพัฒนาตรงนี้กันทั้งนั้น เราก็หยุดไม่ได้
เด็กเนิร์ด เด็กกิจกรรม นักกีฬา คิดว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหน
ทั้งหมด: เด็กกิจกรรมครับ
นั่นเลยเป็นเหตุผลทำให้เราต้องตั้งใจเรียนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า
เบนซ์: เรียนก็สำคัญ เป้าหมายและความฝันเราก็มี ก็อยากทำให้ได้
กานต์: ต้องตามเพื่อนให้ทัน
เรียนหนักไหม แบบต้องเรียนพิเศษถึงสองสามทุ่ม?
เบนซ์: ตอนช่วงเตรียมงานไม่ได้เรียนเลย ตอนนี้ก็เลยต้องเร่งเรียนให้ทันเพื่อน ก็ต้องเรียนหนัก เตรียมสอบ ส่วนใหญ่ก็เรียนพิเศษกันทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ก็เรียน
กานต์: ด้วยความที่ ม.5 ถือว่าเป็นชั้นที่เนื้อหาหนักสุด ก็เลยยากสุด เรียนหนักสุด เพื่อนๆ ก็เรียนพิเศษกันบ้าง แต่ผมไม่ค่อย (ยิ้ม)
จบ ม.ปลาย แล้วอยากเรียนต่ออะไร
เบนซ์: สถาปัตย์ จุฬาฯ
เอม: ตอนนี้อยู่ ม.5 แต่อยากเข้า BBA ธรรมศาสตร์ มันเข้าไปแล้วมันมีหลายแผนก มีพวกไฟแนนซ์อะไรแบบนี้ด้วย ซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลาย ได้ภาษาด้วย
กานต์: ก็มองบัญชีไว้เหมือนกันแต่ยังไม่ชัดเจน
มองอนาคตตัวเองไว้ไกลแค่ไหน เช่น ทำงานอะไร
กานต์: เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ (ทุกคนหัวเราะ) อันนี้ผมพูดขำๆ แต่เพื่อนๆ ก็เชียร์ บอกว่าให้ไปเป็นนักการเมือง ไปเรียนรัฐศาสตร์ กลายเป็นผมสนใจที่สุดในห้อง เขาก็มองมาที่ผม
ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยยังอยากทำกิจกรรมแบบนี้อีกไหม
เอม: ไม่แล้วครับ เลยจุดอิ่มตัวมาแล้ว
เบนซ์: ผมว่าที่อื่นไม่เหมือนที่นี่
กานต์: ผมว่าด้วยการสื่อสารของเขา โตแล้วยังสื่อแบบเด็กๆ อยู่ เขาจะเล่นกันตรงๆ ซึ่งถ้าดูโค้ดที่เพื่อนผมทำจะเป็นแบบอ้อมๆ มีกึ๋นขึ้นมาหน่อย ไม่ด่าตรงๆ เราใช้ศิลปะไปเรื่อยๆ ครับ (หันไปจับมือกับเอม)
คิดอย่างไรกับระบบ ‘โซตัส’
เบนซ์: อย่างที่ผมทำเชียร์ เราจะดูจุดประสงค์ว่าทำแบบนั้นกับน้องเพราะอะไร ถ้าเกิดทำแล้วมันไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ก็ไม่ควรทำ อย่างการว้ากน้อง ว้ากแล้วน้องจะรักเพื่อน น้องจะเคารพพี่เหรอ ผมว่ามันขึ้นอยู่กับพี่มากกว่าว่าทำตัวอย่างไร
เวลาผู้ใหญ่บอกว่าเด็กสมัยนี้เข้าใจยาก ถามอย่างยอกย้อน คิดว่าผู้ใหญ่เข้าใจยากไหม
กานต์: ผมว่ามันเป็นทัศนคติส่วนบุคคลมากกว่า คือถ้าเขาชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งเขาก็เลือกที่จะไม่เสพอีกสิ่งหนึ่งที่เขาไม่ชอบ ต้องบอกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็กมากกว่า
แล้วต้องทำอย่างไร
กานต์: มันน่าจะแก้ไขด้วยการพูดคุยเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น
เบนซ์: ผมว่าผู้ใหญ่จะมั่นใจความคิดตัวเอง เหมือนว่าความคิดคนอื่นจะผิดหมด ก็เลยเข้าใจยากเวลาจะนำเสนออะไร คงต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผลถึงจะเข้าใจกัน
สำหรับเรามองว่าวัยรุ่นคืออะไร
เบนซ์: กลุ่มคนที่มีความฝัน อยากจะทำอะไรหลายๆ อย่าง อยากไปให้ไกลกว่านั้น มีเป้าหมายที่อยากทำ
กานต์: วัยรุ่นชิลด์ๆ ครับ ชีวิตไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ (หัวเราะ)
ผู้ใหญ่แบบไหนที่โตไปไม่อยากเป็น
กานต์: น่าจะเป็นพวกที่ใช้ชีวิตแบบไม่รู้คุณค่า ใช้ชีวิตให้มันหมดๆ วันไป เที่ยวเล่น กินเหล้า เมายา เล่นการพนัน ที่มองว่าเป็นการทำลายชีวิต คิดว่าเป็นความสุขของเราแต่เป็นความสุขที่ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
ผมไม่ชอบคนที่ไม่เคารพกฎกติกาหรือไม่เคารพผู้อื่น การที่คุณทำแบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่เคารพตัวเอง
แล้วคนอื่นล่ะ
เบนซ์: ให้มันจบดีๆ อย่างนี้แหละครับ ดีแล้ว (หัวเราะ)