สุชาติ สวัสดิ์ศรี: บรรณาธิการแห่งสายธารเดือนตุลา ผู้สิ้นสถานะศิลปินแห่งทาส

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบัณฑิต (เกียรตินิยมเรียนดี) รุ่นแรกของคณะศิลปศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบในปี 2508 และรับปริญญาปี 2509 ความตั้งใจแรกของสุชาติคือการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ขณะนั้นเปิดรับอยู่เพียงตำแหน่งเดียว สุชาติชวดตำแหน่งอาจารย์ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะคณะเลือกเพื่อนร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งให้เข้ารับตำแหน่งแทน เขาถูกปฏิเสธด้วยเหตุว่าไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์

การพลาดไม่ได้เป็นอาจารย์ทำให้เป้าหมายที่จะได้ทุนไปเรียนต่างประเทศของสุชาติต้องสะดุดลง และด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมาก เขาจึงไปสมัครเป็นครูโรงเรียนอินทราชัย (โรงเรียนราษฎร์) จากการพูดคุยครั้งนี้ สุชาติเล่าว่าตอนที่เป็นครูโรงเรียนอยู่ ยังได้ไปสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่หนึ่งตำแหน่ง ปรากฏว่าขณะที่สุชาติยื่นไปด้วยวุฒิปริญญาตรี ผู้สมัครอีกคนหนึ่งกลับยื่นด้วยวุฒิปริญญาโท ทำให้มหาวิทยาลัยเลือกรับคนหลังไป โดยคนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลือกรับไปนั้น สุชาติเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ “ถูกต้องที่สุด” เพราะเขาคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ผมก็เลยมาเป็นครูโรงเรียนราษฎร์ ประจำชั้น ม.7 เป็นโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าอายุครูกับนักเรียนไม่ต่างกันเท่าไร ตอนนั้นผมจบก็อายุ 20 ปี ฉะนั้นเป็นครูอายุ 21 ปี ก็พยายามที่จะเป็นครูให้ได้ครบปี แต่พอถึงปลายปี ถ้าใครมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรงเรียนราษฎร์ก็จะรู้ว่าเวลาปลายปี เขาจะหาเรื่องไล่ออก เพราะถ้าไม่ไล่ออกเขาต้องจ่ายเงินตอนปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน ก็จะหาเรื่องอะไรก็ได้ เป็นต้นว่าผมไม่มีมนุษยสัมพันธ์ เขาก็หาเรื่องไล่ผมออก เป็นซองขาวซองแรกในชีวิต ไล่ออกเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินตอนปิดเทอมใหญ่ ตรงนี้ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวสำคัญ”

ชีวิตหลังถูกไล่ออกจากการเป็นครูโรงเรียนนี้เอง คือส่วนที่เราใช้เวลาพูดคุยไปมาก เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการเป็นคนทำหนังสือของสุชาติ ไม่ว่าจะการเป็นบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ต่อจาก สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ หรือการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร โลกหนังสือ อันโด่งดัง นอกจากนั้น มันยังเผยให้เห็นทั้งการไม่ลงรอยและการประสานกันทางความคิด ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวทั้ง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ

เรานัดคุยกันที่บ้านพักย่านรังสิตของสุชาติ หากจะต้องอธิบายการเดินทางครั้งนี้ก็อาจพูดได้ว่า ถนนหนทางที่ใช้สัญจรไปบ้านของเขาจะค่อยๆ เปลี่ยนจากความวุ่นวายกว้างหลายเลน กลายเป็นความวุ่นวายที่เกือบจะกว้างไม่ถึงเลน แต่เมื่อผ่านความกว้างไม่กี่เลนไปได้โดยตลอดแล้ว จะพบกับบ้านที่มีพื้นที่กว้างจนไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่บนถนนเส้นที่ได้ผ่านมา บ้านของสุชาติมีองค์ประกอบอะไรมากมายที่ทำให้นึกถึงความเป็นป่ามากกว่าความเป็นเมือง จนทำให้พานนึกถึงคำพูดของเขาที่บอกว่า ศิลปะจะวางตัวอยู่ในที่ซ่อน หมายความว่า ศิลปะต้องเกิดมีชีวิตขึ้นก่อน จึงจะบอกได้ว่ามันจะมีทิศทางไปอย่างไร เพื่ออะไร ในทำนองเดียวกัน จะไปบ้านของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้ ก็ต้องรู้ให้แน่ๆ ก่อนว่าบ้านเขาตั้งอยู่ตรงไหน ส่วนจะตรากตรำไปอย่างไรค่อยว่ากันอีกที

“โดนเขาไล่มา แต่ก่อนนี้อยู่ดอนเมือง ทุ่งสีกัน แล้วมีปัญหากันเพราะว่าเช่าที่เขาอยู่ เขาจะเอาไปทำคอนโด เขาก็ฟ้องขับไล่ สู้กัน 3 ศาล จนกระทั่งเราก็ฟ้องกลับ ปรากฏว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์แพ้ แต่มาชนะที่ศาลฎีกา ตอนนั้นผมตระเวนเพื่อที่จะหาที่อยู่ใหม่ ก็มาได้ตรงนี้เพราะว่ามันใกล้ทางรถไฟ เวลาจะเข้าไปทำงานในเมืองจะได้ขึ้นรถไฟ เพราะชีวิตก็ผูกพันกับตรงนี้มาเลยเลือกตรงนี้” สุชาติเล่าที่มาของบ้านให้ฟังคร่าวๆ

แต่บทสนทนาหลักของเราไม่ใช่เรื่องบ้าน หากเป็นบทบาทของสุชาติในฐานะคนทำหนังสือที่ไม่มากก็น้อยได้ส่งผลต่อขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ตุลาฯ ทั้ง 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ไปจนถึงมุมมองต่อเรื่องศิลปะและศิลปิน (แห่งชาติ) เมื่อคุยแล้วกลับเป็นไปในทิศทางว่า การงานและเหตุการณ์เหล่านี้มีผลอย่างไรต่อสุชาติ มากกว่าสุชาติมีผลอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านี้

นี่คงจะสะท้อนคุณสมบัติที่เรียกกันว่า ‘ความถ่อมตัว’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับภาพลักษณ์ของศิลปิน (แห่งชาติ) ในไทย ที่มักจะแสดงตัวตนผ่านวีรกรรมและคำพูดอันยิ่งใหญ่

คุณสุชาติเข้าไปข้องแวะกับหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้อย่างไร

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นหนังสือที่ออกในนามของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้ก่อตั้งคือ อาจารย์สุลักษณ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ท่านสร้างสังคมศาสตร์ปริทัศน์มาตั้งแต่ปี 2506 ทำมาประมาณสัก 6 ปี กระทั่งมาถึงช่วงที่ผมเข้าไป ก็ไม่ได้ตั้งใจเลย หลังจากที่ได้ซองขาวจากโรงเรียนราษฎร์ผมก็ว่างอยู่ระยะหนึ่ง กลับมาอ่านหนังสือที่หอสมุดกลางของธรรมศาสตร์ ก็พบกับเพื่อนรุ่นหลังๆ ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว เรียกกันว่า ‘ชมรมพระจันทร์เสี้ยว’ ปรากฏว่าตอนช่วงที่มาก็พบกับอาจารย์นิอร ศิริวงศ์ เป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ ท่านถามผมว่าตอนนี้ทำอะไร ผมก็บอกว่าว่างงาน อาจารย์ทราบว่าผมชอบเรื่องทำหนังสือ เขียนหนังสือ ก็เลยแนะนำมาที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) เขียนจดหมายข้อความสั้นๆ ว่าผมเขียนหนังสือได้ ทำหนังสือเป็น อาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้เรียกดูว่าผมจบเกียรตินิยมอะไร บอกแต่ว่าผมเคยเขียน เคยทำอะไร ให้เอาผลงานมาดู 

ตอนนั้นผมทำหนังสือเล่มละบาท หนังสืออนุสรณ์ของมหาวิทยาลัย ผมก็เอาตัวอย่างมาให้ดู เขาก็รับไว้ แต่ตอนนั้นยังไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ งานแรกก็ให้ตรวจปรูฟงานของอาจารย์ จนกระทั่งระยะต่อมามีตำแหน่งว่าง เลยได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย รายได้เขาให้ผมเป็นส่วนตัวในฐานะ proofreader ก็ 700 บาท เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการก็ประมาณ 1,100 บาท เงินเดือนพอๆ กับตอนเป็นครูโรงเรียน

อาจารย์สุลักษณ์เคยเล่าในงาน 50 ปี สังคมศาสตร์ปริทัศน์ว่า ในวงการให้ค่าเรื่องประมาณ 50 หรือ 100 บาท แกให้นักเขียน 500 บาท และเล่าว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ พอรู้ว่าได้ 500 บาทถึงกับตกเก้าอี้เลย เพราะว่าได้เยอะ 

ผมคิดว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์สุลักษณ์นะ ตอนนั้นสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันแหวกแนวตรงที่ว่า อาจารย์สุลักษณ์เขียนบทนำในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมืองแบบแหลมคม การเขียนบทนำของอาจารย์สุลักษณ์มันก็กระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกว่า มีหนังสือชื่อ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่พูดถึงการวิจารณ์สังคมและวิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศ วิจารณ์รัฐบาลทั้งทางตรงทางอ้อมในลักษณะที่เป็นของอาจารย์สุลักษณ์ เพราะฉะนั้นสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันคือตัวตนของอาจารย์สุลักษณ์ เป็นสิ่งที่อาจารย์สร้างขึ้นมา ตอนที่ผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ 1 ปี ถือว่าได้เรียนรู้ในเรื่องสังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่มีลักษณะเป็นวารสารทางวิชาการ ออกราย 3 เดือน 

ลักษณะของบทความที่ปรากฏเป็นบทความทางวิชาการ แต่ก็มีบทกวี มีวิจารณ์หนังสือ แต่จุดเด่นคือบทนำของอาจารย์สุลักษณ์ ตอนนั้นความคิดของแกก็ยังเป็นไปทางจารีตนิยม แกก็มีปัญหากับ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์, อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คือเขียนวิพากษ์วิจารณ์ 

พอเมื่ออยู่กับอาจารย์สุลักษณ์ในฐานะผู้ช่วยก็เหมือนเรียนรู้ทางอ้อม สิ่งที่เรียนรู้เรื่องแรกๆ คือหัดพูดราชาศัพท์ เวลาอาจารย์บอกให้ผมโทรศัพท์หาหม่อมราชวงศ์ หาหม่อมเจ้าอะไรแบบนี้ ก็กระหม่อมๆ ตลอด เป็นเรื่องที่นึกย้อนไปแล้วก็ประหลาด เพราะก่อนผมทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่เคยมารับรู้เรื่องอะไรแบบนี้เลย พื้นฐานของผมเรียกได้ว่ามาจากชนชั้นกลางระดับล่าง เป็นไพร่นั่นแหละ ฉะนั้นมาอยู่กับอาจารย์สุลักษณ์ ก็ได้เรียนรู้และพบคนอยู่ 3 ประเภท

ประเภทแรกคือ ชนชั้นนำของสังคม บรรดาหม่อมอะไรต่างๆ หลายคนผมก็ได้รู้จักกันในลักษณะที่เรียกว่าเหมือนเป็นคนธรรมดา ถ้าเอ่ยชื่อก็อย่างเช่น หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ที่เขียนบทความกับบทกวี และก็มีอีกหลายคน 

ประเภทที่สองคือ พวกปัญญาชน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย พวกนี้อาจารย์สุลักษณ์ก็พยายามที่จะกระตุ้นให้เขียนหนังสือ ขอบทความมาลง

ประเภทที่สามคือ พวกนักคิด นักเขียนในลักษณะกวี ซึ่งเป็นประเถทที่ผมก็ชื่นชอบอยู่แล้ว พวกหน้าของวรรณกรรม เรื่องสั้น บทกวี ก็มารู้จักคนอย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ นอกจากนั้นก็ยังได้รู้จักบรรดาคนในวงการศิลปะด้วย 

สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันมีเอกลักษณ์ก็คือว่าเป็นลักษณะทางวิชาการ แต่ปกของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ อันนี้เป็นความคิดของอาจารย์สุลักษณ์ ซึ่งผมก็คิดว่ามีส่วนที่ทำให้ผมรู้จักกับบรรดาศิลปินหลายคน คือเป็นปกศิลปิน เฟื้อ หริพิทักษ์, อังคาร กัลยาณพงศ์, น. ณ ปากน้ำ กลายเป็นว่าส่วนที่สามเหมือนเป็นการหล่อหลอมให้ผมปรารถนาที่จะทำงานด้านหนังสือกับอาจารย์สุลักษณ์

ระหว่างที่ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาก็ติดต่อมาว่ามีตำแหน่งพร้อมแล้ว ถ้าหากว่าผมอยากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมจบทางด้านประวัติศาสตร์ก็สมัครไป ถ้าได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คณะมนุษยศาสตร์ คณะเดียวกับอาจารย์นิธินี่แหละ

แล้วตัดสินใจอย่างไร

ตัดสินใจไม่ไป เพราะคล้ายกับว่ามันมีความติดเนื้อต้องใจอะไรบางอย่างกับแวดวงที่เรียกว่านักเขียน แวดวงศิลปะ พวกแวดวงคนอีลีท (elite) อาจารย์สุลักษณ์ก็แนะนำ แต่ว่าผมไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ได้รู้จักบางท่าน กลุ่มที่สองก็พวกปัญญาชน นักวิชาการ กลุ่มที่สามก็พวกศิลปะ นักคิด นักเขียนในฐานะกวี ศิลปิน มันเลยทำให้พบนักเขียนอีกหลายคน ตอนเป็นผู้ช่วยก็พบ ลาว คำหอม, สมบูรณ์ วรพงษ์, สุภา ศิริมานนท์ คนที่เราเคยอ่านหนังสือมาแล้วพบตัวจริง ช่วงที่ผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ กลางวันก็อยู่กับพวกเจ้า พวกปัญญาชน พอตกค่ำก็ไปร่ำสุรากับพวกหน้าพระลาน เจอ สุจิตต์ วงษ์เทศ เจอ ขรรค์ชัย บุนปาน เจอพวกพระจันทร์เสี้ยว หลังจากแดดร่มลมตกก็จะไปเจอพวกนี้ บรรยากาศอย่างนี้ทำให้ตอนที่ มช. เรียกตัวมา ก็ตัดสินใจไม่ไป 

เป็นผู้ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ต่อไปปีกว่าๆ กระทั่งอาจารย์สุลักษณ์มาบอกว่าจะให้ผมเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ผมค่อนข้างตกใจ เพราะคนที่ควรจะได้เป็น บ.ก. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมที่เรียนศิลปศาสตร์ คือ คุณชวลิต ปัญญาลักษณ์ แกอาวุโสกว่าผมด้วย แล้วก็ทำงานด้านธุรการได้หลายเรื่องกว่า คนนี้ต่างหากที่ควรจะได้เป็น บ.ก. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 

ก็รู้อยู่ว่ามันมีการเมืองภายในของระดับปัญญาชน ระดับนักวิชาการนี่ตัวดีนักล่ะ พวกนี้ก็มีปัญหากับอาจารย์สุลักษณ์ อาจเพราะว่าอาจารย์เป็นตัวของตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์สภาพการศึกษา อาจารย์สุลักษณ์เองคงจะมีเป้าหมายอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ 

อาจารย์มีเป้าจะไปทำงานกับไทยวัฒนาพานิช แต่อาจารย์ไม่พูดให้ผมฟังในระยะแรก อาจารย์ทิ้งหนังสืออีกเล่มหนึ่งไปหาหนังสืออีกเล่มหนึ่ง แทนที่จะเอาคุณชวลิตเป็น บ.ก. ก็บอกว่าชวลิตจะไปเป็นมือขวาแกที่ไทยวัฒนาพานิช ฉะนั้นเหลือผมอยู่คนเดียว ก็ให้ผมรับหน้าเสื่อกับพวกบรรดานักวิชาการทั้งหลาย บอกว่าสุชาติเป็น บ.ก.

ผมก็ไม่ค่อยมั่นใจ มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่หนังสือที่ผมอยากทำ เนื่องจากว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์คือสุลักษณ์ สุลักษณ์คือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ชัดเจนว่า identity มันคือสุลักษณ์ ผมก็รู้สึกเหมือนตกใจกลายๆ นะ อาจารย์สุลักษณ์ก็พูดโดยอ้างคำของ พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) ที่อาจารย์นับถือ บอกว่า “ไม่มีใครทำอะไรได้เท่ากันหรอก ถ้าเขาไม่ดีกว่าก็แย่กว่า” ก็พูดคล้ายๆ เป็นการให้กำลังใจผม แต่ในความเป็นจริงคือ ผมจะต้องโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวแล้วนะ ผมต้องพิสูจน์ตัวเอง

การที่ผมมานั่งในฐานะของอาจารย์สุลักษณ์ ผมก็มีความเห็นบอกกับตัวเองว่าจะลองดู เพราะผมก็ทำหนังสือเป็น เขียนหนังสือได้ พื้นฐานก่อนหน้านี้ผมก็เคยทำหนังสือมาก่อน พวกหนังสือเล่มละบาทในยุคที่เป็นนักศึกษา อาจารย์ก็ให้ผมเขียนจดหมายถึงพระองค์วรรณฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์)นายกสมาคมสังคมศาสตร์ฯ เพื่อบอกว่าผมเป็นบรรณาธิการคนใหม่ อาจารย์สุลักษณ์ก็มีจดหมายแนะนำตัว ท่านก็ตอบมาตามฟอร์มทางการว่า ผมจะเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์แทนอาจารย์สุลักษณ์ ปี 2512

ผมอายุ 24 ปี มันเป็นเรื่องที่เกินตัวผม เหมือนสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันพ้นตัวผมไป เด็กหนุ่มอายุ 24 ปีมาแบกรับ identity ของอาจารย์สุลักษณ์ ตัวผมเองก็มีความรู้สึกลำบากใจที่มารับสถานะนี้แทน แต่อาจารย์ให้กำลังใจก็ลองดู สรุปคือผมไม่กล้าเขียนบทนำแบบที่อาจารย์สุลักษณ์เคยเขียนมาตลอด เพราะถ้าเขียนแล้วมันจะเป็นการเลียนแบบอาจารย์สุลักษณ์ แต่สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันต้องมีบทนำ มันต้องมีลีลาการเขียนในลักษณะเผ็ดมัน ผมใช้เวลาอยู่สองปีที่จะเริ่มเขียนบทนำบทแรก เขียนบทนำบทแรกช่วงฉบับคนหนุ่ม แล้วก็เขียนบทนำชื่อว่า ‘คำประกาศความรู้สึกใหม่’ เขียนในลักษณะดุเดือด วิจารณ์สังคม วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการ คือเล่นแบบศิวรักษ์นั่นแหละ คล้ายๆ ตามรอยอาจารย์สุลักษณ์ แต่เป็นบทนำที่ผมกล้าเป็นครั้งแรก

ผมคิดว่าผมกับอาจารย์สุลักษณ์คนละ identity อาจารย์สุลักษณ์ก็คงรู้นะ อาจารย์สุลักษณ์จึงพูดว่าถ้าทำไม่ได้ดีกว่าแกก็ต้องแย่กว่าแก แกก็พูดว่าวิธีที่จะทำให้ดีกว่าแกก็ต้องทำให้แตกต่างจากแก ก็ทำในช่วงสังคมศาสตร์ปริทัศน์ช่วงที่ผมเป็น บ.ก. นี่แหละ ช่วงปีแรกๆ หัวโลโก้ยังใช้ตัวอักษรแบบ อังคาร กัลยาณพงศ์ คืออ่อนไหวลายกนก แต่พอผมมาเป็นบรรณาธิการช่วงแรกยังใช้ตัวอักษรย้วยๆ พอเริ่มเขียนบทนำเอง ก็เริ่มที่จะจับทางได้ว่าผมควรจะแตกต่างจากอาจารย์สุลักษณ์ได้ทางไหนบ้าง ผมก็จับทางได้ว่า 

หนึ่ง ผมจะต้องไม่เล่นเรื่องที่ไกลตัว อาจารย์สุลักษณ์จะให้นักวิชาการ ปัญญาชน เขียนเรื่องตามที่เขาต้องการเรื่องทางวิชาการ ผมเลยคิดว่าน่าจะใช้ลักษณะที่มันเป็นกึ่งวิชาการ แต่ยังใช้พวกนักวิชาการและปัญญาชนอยู่ เนื่องจากฐานสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันมาจากตรงนี้ ผมก็เพิ่มเรื่องงานสร้างสรรค์ พวกบทกวี เรื่องสั้น บทวิจารณ์วรรณกรรมเข้ามา เพราะฐานความคิดของผมที่มีมันค่อนข้างไปทางนี้ และผมก็คลุกคลีกับพวกนี้ในช่วงที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ ด้วยเหตุผลนี้สังคมศาสตร์ปริทัศน์ในลักษณะที่ผ่านมามันจึงเล่นเรื่องที่คนกำลังสนใจ (topical issues) มากขึ้น หมายความว่าแทนที่จะเป็นปกของศิลปินโดยที่ไม่มีพาดหัว ผมก็เริ่มเล่นในลักษณะยังเป็นปกศิลปินอยู่ แต่ใส่ว่าฉบับนี้เป็นฉบับการวิจัยและการจารกรรม ฉบับนี้เป็นฉบับคนหนุ่ม ฉบับนี้เป็นทำนายอนาคตของกรุงเทพฯ เมื่อเข้าอายุ 200 ปี

ตอนที่ผมเปลี่ยนสังคมศาสตร์ปริทัศน์มาในลักษณะที่เรียกว่ามีความแตกต่างกับสุลักษณ์ในทางความคิดอยู่บ้าง อย่างเช่นสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับที่ผมเป็น บ.ก. แล้ว มันเป็นฉบับที่จะทำยังไงให้มีความเห็นที่แตกต่างไปจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับสุลักษณ์ 

อยากรู้ว่าอาจารย์สุลักษณ์คิดยังไง ประการแรก เพราะอาจารย์สุลักษณ์มีปัญหากับอาจารย์ปรีดีหลายเรื่อง แกเป็นคนวิจารณ์เรื่อง กงจักรปีศาจ ลงสังคมศาสตร์ปริทัศน์ แกวิจารณ์ปรีดีในลักษณะเสียหายมาก และผมก็ตั้งคำถามแต่ไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมอาจารย์สุลักษณ์ถึงด่าอาจารย์ปรีดีและยังด่าคึกฤทธิ์ด้วย ตอนที่ผมเรียนศิลปศาสตร์ผมก็เรียนกับคึกฤทธิ์นะ ค่ำๆ ยังไปพบกับพวกลูกน้องคึกฤทธิ์ที่สยามรัฐด้วย พวก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ อะไรแบบนี้ ผมก็เหมือนท้าทายอาจารย์สุลักษณ์ด้วย ตอนนั้นผมก็รู้จักกับคนที่ส่วนหนึ่งก็รู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์นะ แต่ก็มีความคิดของเขาที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นต้นว่า พันศักดิ์ วิญญรัตน์, วรพุทธิ์ ชัยนาม, นิธิ เอียวศรีวงศ์

ลักษณะนี้มันเป็นลักษณะของแมกาซีนมากกว่าที่จะเป็นวารสารทางวิชาการ มันมีเรื่องของการเพิ่มลักษณะที่เป็นแมกาซีนมากขึ้น มีคอลัมน์ ผมก็เอานักวิชาการนี่แหละมาเขียน หลายคนก็คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ เพราะผมก็ทำงานกับอาจารย์ในหลายส่วนด้วย เป็นคนดูแลเรื่องปริทัศน์เสวนาอะไรต่างๆ หรือประสานงานกับนักศึกษาที่เป็นบรรณกรทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนักศึกษา ฉะนั้นผมก็จะรู้จักคนพวกนี้ พิภพ ธงไชย, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, โกมล คีมทอง คนพวกนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์กับสังคมศาสตร์ปริทัศน์อยู่ ช่วงที่ผมเริ่มเปลี่ยนจาก journal มาเป็นแมกาซีนโดยการมีคอลัมน์ประจำ 

ยิ่งเปลี่ยนจากราย 3 เดือนมาเป็นรายเดือน มันก็ยิ่งแตกต่างมากขึ้น ยิ่งมีคอลัมน์ประจำ ผมมีความเห็นที่ได้รับจากคนที่ทำหนังสือพิมพ์รุ่นพ่ออย่าง อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ แกพูดว่าจะทำหนังสืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีคอลัมน์สักคอลัมน์หนึ่งที่คนเขาติด เขาซื้อหนังสือเพราะคอลัมน์นี้คอลัมน์เดียว เท่ากับว่าคุณขายหนังสือได้ทั้งเล่ม เขาซื้อเฉพาะคอลัมน์ไม่ได้ ความคิดแบบนี้มันก็แวบเข้ามา เราก็คุ้นเคยกับคนพวกนี้ในระดับหนึ่ง คุ้นเคยกับการเปิดนิตยสารต่างๆ ผมก็เลยมีความคิดเปลี่ยนสังคมศาสตร์ปริทัศน์ให้มันเป็นแมกาซีนรายเดือนที่มีคอลัมน์ประจำ แล้วก็เพิ่มกึ่งวิชาการ คือลักษณะทางวิชาการยังมีอยู่ แต่ก็มีลักษณะความเป็นผมเอง จากหัวโลโก้ที่มันอ่อนๆ ก็จัดให้มันตรงซะ ผมคิดว่าให้ออกแบบโลโก้ใหม่ อาจารย์สุลักษณ์ก็คงไม่ชอบใจที่ไปเปลี่ยนโลโก้ของอาจารย์ ที่เป็นลายมือของ อังคาร กัลยาณพงศ์ด้วย แต่ผมก็เหมือนหักดิบ เปลี่ยนโลโก้สังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นแบบแข็งๆ เลย คิดว่าอาจารย์สุลักษณ์ต้องไม่พอใจแน่ๆ

แต่กลายเป็นว่าตรงกันข้าม สังคมศาสตร์ปริทัศน์เล่มหนึ่งซึ่งผมคิดว่าอาจารย์สุลักษณ์ต้องด่าผมแน่ๆ ก็คือ ผมให้ วรพุทธิ์ ชัยนาม (ใช้นามปากกาว่า ปรีชา อารยะ) วิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี ซึ่งผมรู้และคุ้นเคยกับอาจารย์วรพุทธิ์ว่าเขามีลักษณะชื่นชมอาจารย์ปรีดี ฉะนั้นเขาจึงวิจารณ์เค้าโครงปรีดีในลักษณะที่ชื่นชมคณะราษฎร ชื่นชมปรีดี ชื่นชมแผนเศรษฐกิจ ลงในสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ 6 ปีในสมัยของอาจารย์สุลักษณ์ไม่เคยให้ความสำคัญตรงนี้ 

พอวิจารณ์ตรงนี้ไป ผมก็ใช้ลักษณะของอาจารย์สุลักษณ์นั่นแหละ เล่มต่อไปถ้าใครจะมีปฏิกิริยาเรื่องนี้ พยายามรักษาสถานะให้มันดูมีหลายแง่มุม เล่มต่อไปผมก็ยินดีลงบทความที่มีความเห็นโต้แย้งกับ วรพุทธิ์ ชัยนาม ก็คือ ชัยอนันต์ สมุทวณิช 

นอกจาก วรพุทธิ์ ชัยนาม เขียน ต่อมาผมยังท้าทายอาจารย์สุลักษณ์โดยคุยกับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพราะนิธิคุ้นเคยกับผมในช่วงที่เขารู้ว่าผมสมัครไปเป็นอาจารย์พร้อมกับเขา ทุกครั้งที่นิธิลงมาจากเชียงใหม่ก็ต้องไปนั่งดื่มเบียร์กัน ฉะนั้นผมก็บอกอาจารย์นิธิว่าเอาอย่างนี้ ให้อาจารย์นิธิเขียนเรื่องเปรียบเทียบ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold Toynbee) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ลองเปรียบเทียบดูซิ นิธิจะรับไหม ปรากฏว่านิธิก็รับ 

มันเหมือนกับผม นอกจากไปตีอาจารย์ปรีดีแล้ว ยังไปเอากล่องดวงใจของอาจารย์สุลักษณ์ด้วย คือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาเปรียบเทียบกับนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ การลองอันนี้ เพื่ออยากรู้ว่าอาจารย์สุลักษณ์คิดยังไงกับผม 

การหานักเขียนมาเขียนในลักษณะตรงกันข้ามกับอาจารย์สุลักษณ์ ผมคิดว่าอาจารย์คงมีปัญหา เพราะตอนนั้นแกก็ยังเกี่ยวข้องกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์อยู่ในฐานะที่ปรึกษา

แต่อาจารย์สุลักษณ์ไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายเลย นี่เป็นข้อดีของอาจารย์สุลักษณ์ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น คือให้เสรีภาพ ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับอาจารย์สุลักษณ์ แกก็พูดทำนองว่าแกก็ไม่เห็นด้วยกับผมหรอก ผมก็บอกกับแกว่าผมก็ไม่เห็นด้วยกับแกตั้งแต่สมัยที่อาจารย์ให้ผมเป็น บ.ก. แล้ว แต่ก็ใช้วิธีแสดงออกทางหนังสือ อาจารย์ก็ให้เสรีภาพ อันนี้คือข้อดีที่ผมยังนับถืออาจารย์

งานเสวนาครบรอบ 50 ปี ของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประจักษ์ ก้องกีรติ พูดว่างานวิชาการบางชิ้นกล่าวยกย่องสังคมศาสตร์ปริทัศน์ว่า ถ้าไม่มีสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็ไม่มีกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ก็คือเดือนตุลาคม 2516 อยากรู้ว่าพอได้ยินอย่างนี้ คุณสุชาติคิดเห็นอย่างไร

มันมีรายละเอียดเยอะนะ แต่ก็ต้องให้เครดิตอาจารย์สุลักษณ์ เริ่มต้นหนังสือในช่วงที่เป็นการปกครองของเผด็จการ ช่วงที่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตายไป เข้าสู่ถนอม-ประภาส อาจารย์สุลักษณ์สร้างปริทัศน์เสวนามันทำให้สังคมได้รู้จักคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ผมก็พลอยรู้จักไปด้วย คนพวกนี้มีบทบาทและการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงสมัยอาจารย์สุลักษณ์แล้ว อย่างน้อยสังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็สร้างฉบับนักศึกษา เหมือนเป็นศูนย์กลางของคนที่อยากคิดอยากเขียน วิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมือง พอผมรับช่วงต่อ คนพวกนี้ก็ยังมาช่วยผม อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็มาเขียนคอลัมน์ประจำ ‘เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ’, พันศักดิ์ วิญญรัตน์, ยงยุทธ ยุทธวงศ์, ไมตรี อึ๊งภากรณ์ หลายคนด้วยกันที่มามีบทบาทในฐานะคอลัมนิสต์ให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่เป็นรายเดือน 

ผมคิดว่าในช่วงเริ่มก่อกระบวนความคิดที่จะเป็นขบถกับสถานะของถนอม-ประภาสมันเริ่มตั้งแต่หลังสฤษดิ์ตายแล้ว ขบถๆ ทั้งหลาย ผมก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายส่วน ทั้งพวก หนุ่มเหน้าสาวสวย, พระจันทร์เสี้ยว, 7 สถาบัน อย่าง 7 สถาบัน  ก็ออกมาตั้งแต่ปี 2507 คือสฤษดิ์ตาย ก็มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์การบ้านการเมือง มันก็สั่งสมมาตั้งแต่ช่วงนั้น แต่มาเห็นชัดเพราะสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นศูนย์กลางของอะไรบางสิ่งบางอย่าง ประการแรก สมัยอาจารย์สุลักษณ์ก็มีเจ้าเป็นนายกสมาคม มายุคผมก็มี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนายกสมาคม ตอนที่ผมเป็น บ.ก. ผมก็ติดต่อสัมพันธ์กับอาจารย์ป๋วย ทำให้สัมพันธ์กับอาจารย์ปรีดีด้วย 

ฉะนั้นพอมีขบวนการนิสิตนักศึกษาขึ้นมาในปี 2514 ที่ประจักษ์เขาบอกว่าการเคลื่อนไหวมันเกิดขึ้น มีมาก่อนปี 2514 แล้ว องค์กรนิสิตนักศึกษามันเริ่มในช่วงปี 2514 แต่มีกลุ่มอิสระที่ไม่ใช่องค์กรนิสิตนักศึกษา สมาพันธ์อะไรแบบนี้ มันเริ่มมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ตายปี 2506 พอปี 2507 มี 7 สถาบันและก็หนังสือเล่มละบาทตามมหาวิทยาลัย เป็นจุดก่อเกิดของการสั่งสมคุณภาพทางความคิดที่ง่าย พอมีกระบวนการทางวิชาการขึ้นมามันสามารถที่จะประสานได้ มันไม่ได้อยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่หัวเมืองเชียงใหม่ก็มี ขอนแก่นก็มี อาจารย์สุลักษณ์และผมก็สัมพันธ์กับคนพวกนี้ การทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนักศึกษา คนพวกนี้ก็เข้ามาเป็นบรรณกรเล่ม ทั้ง วิชัย โชควิวัฒน, โกมล คีมทอง, ไพฑูรย์ สินลารัตน์ มันเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกันทางความคิด 

อย่างไรก็ตาม สังคมศาสตร์ปริทัศน์คล้ายๆ มันเป็น formal ซึ่งออกในฐานะสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมัยผม อาจารย์ป๋วยเป็นนายก แต่กลุ่มอิสระต่างๆ มันเกาะกลุ่มทางความคิดทำให้เกิดขบถขึ้นมา หนังสือเล่มละบาทมีมุมมองในลักษณะไม่ขึ้นต่อกัน แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีอิสระของตัวเอง เวลาทำหนังสือเล่มละบาทจะเกาะกลุ่มกันหลวมๆ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ว่าพอมีการเกาะกลุ่มเพื่อจะเรียกร้องอะไรบางสิ่งบางอย่าง มันทำกันได้เพราะรู้จักกันแล้ว คุณทำหนังสือผมก็ไปเขียนให้คุณ 

ฉะนั้นถือว่าสิ่งที่ประจักษ์บอกว่าความเคลื่อนไหวปรากฏ มันมีมาก่อนสิ่งที่เรียกว่าคนรุ่น 14 ตุลาฯ ผมเป็นรุ่นก่อน 14 ตุลาฯ ผมมาตั้งแต่ปี 2511 พอปี 2512 มาเป็น บ.ก. สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก่อนจะถึงปี 2516 ฉะนั้นหนังสือเล่มละบาทตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมาจนกระทั่ง 2514 ปีที่ถนอมยึดอำนาจตัวเอง และผมใช้วิธีไม่เขียนบทนำ ผมจะประท้วงด้วยการล้อมกรอบดำแล้วจั่วหัวด้วยว่าจดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะปฏิวัติ แล้วก็ทิ้งหน้าว่างไว้เพื่อบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารตัวเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร แต่หนังสือเล่มละบาทผมเข้าใจว่ามันก่อขบถในลักษณะที่ว่าแทนที่จะเกาะกลุ่มอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันหลากหลาย โฉมหน้ามันเลยมีความคิดที่หลากหลาย 

เหตุที่เรียกหนังสือเล่มละบาทเพราะมันมีมาตรา 17 เป็นมาตราเผด็จการ คุณจะออกหนังสือในชื่อหัวใหม่ไม่ได้ ถ้าคุณจะออกหนังสือต้องไปขออนุญาตจากสันติบาลและตำรวจ ด้วยเหตุผลนี้พวกความคิดอิสระก็เลยใช้วิธีบอกว่าเล่มละบาท จริงๆ มันก็มากกว่าเล่มละบาท แต่มันเริ่มต้นจากการที่ขาย 1 บาท ชมรมวรรณศิลป์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มันเริ่มต้นที่ 1 บาท ก็เลยเรียกว่าหนังสือเล่มละบาท แต่ความจริง 2 บาทบ้าง 3 บาทบ้าง

วัฒนธรรมเล่มละบาทของหนังสือเล่มละบาทเป็นจุดก่อเกิดของความคิดอิสระ ความคิดอิสระทำให้ตอนมีองค์กรนิสิตนักศึกษาและกลุ่มอิสระไปร่วมมือด้วย มันจึงมีความหลากหลายและเป็นอิสระต่อกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านถนอม-ประภาส เป็นการก่อเกิดนักคิด นักเขียนประเภทใหม่ ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของคนรุ่น 14 ตุลาฯ อย่างเช่น ‘สำนักพิมพ์หนังสือ’ เขาก็ไปเอาเรื่อง ศิลปะเพื่อชีวิต ของ ทีปกร ที่เคยพิมพ์ในสมัย 2500 กลับมาพิมพ์ใหม่ ใช้เวลา 14 ปีกว่าที่หนังสือเล่มนี้จะเดินทางมาถึงสำนักพิมพ์ของ คุณกมล กมลตระกูล เขาก็มีหุ้นส่วนกันหลายคน แต่กมลเขาเป็นหัวหอกสำคัญ ก็ออก ศิลปะเพื่อชีวิต เป็นเล่มแรกปี 2514 หลังจากนั้นเขาก็รวบรวมงานของ วิทยากร เชียงกูล ฉันจึงมาหาความหมาย และ ความเงียบ ของผม 

ความคิดอิสระมันเป็นความคิดที่ไปต่อกับความคิดของกลุ่มซ้ายก่อนปี 2500 ที่เรียกว่าเป็นความคิดก้าวหน้าในช่วงทศวรรษ 2490 และถูกสฤษดิ์กวาดไปตอนปี 2500 พอมาช่วง 2506-2510 ความคิดก้าวหน้าที่หายไปในช่วง 2490 มันกลับมาใหม่ ก็เลยเอางานของทีปกร ของจิตร ภูมิศักดิ์ มาพิมพ์ใหม่ งาน ศิลปะเพื่อชีวิต เป็นงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์เมื่อปี 2500 เป็นเล่มเดียวที่พิมพ์เป็นเล่มในช่วงสมัย 2500 งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในสมัยต่อๆ มา ต่างเป็นการรวบรวมงานที่กระจัดกระจายอยู่มาพิมพ์ แต่พอสำนักพิมพ์โลกหนังสือเอามาพิมพ์ เขาก็เพิ่ม ศิลปะเพื่อประชาชนเข้าไป เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2514 มันก็คล้ายเป็นจุดก่อเกิดอะไรบางอย่างที่มีคุณภาพมากขึ้น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็ยังเล่นบทบาทในลักษณะของแมกาซีนที่พูดถึงปัญหาที่เป็นประเด็นสาธารณะ (public issues) หรือประเด็นปัจจุบัน (current issues) ประเภทที่ใกล้ตัว พูดถึงปัญหาชาวนา กรรมกร 

มันเลยคล้ายๆ กับว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นจุดบ่อเกิดของการเคลื่อนไหว คือมันมาก่อนที่จะเกิดขบวนการนิสิตนักศึกษา แต่ผมให้ข้อมูลไปเพิ่มก็คือความคิดอิสระมันกระจายก่อนที่จะมีสังคมศาสตร์ปริทัศน์แล้ว

บทบาทของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ช่วงที่ขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้นแล้วล่ะ?

หลังจาก 14 ตุลาฯ สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันก็ไม่ใช่ไข่แดงอยู่แห่งเดียวแล้ว มันอาจจะมีบทบาทในช่วงเริ่มต้น แต่พอมาในช่วงปี 2515 แล้วยิ่งหลัง 14 ตุลาฯ ความแหลมคมในเรื่องการออกหนังสือ การต่อสู้ทางความคิด แม้แต่ในพวกเดียวกัน มันก็มีลักษณะการขัดแย้งทางความคิด และหนังสือที่ออกมามันก็เลยพ้นไปจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เพราะสังคมศาสตร์ปริทัศน์โดย ‘ตรา’ ของมัน ช่วงอาจารย์สุลักษณ์อาจจะเป็นจารีตกึ่งเสรีนิยม พอมาเป็นช่วงผมก็เป็นเสรีนิยมที่ progressive (ความคิดก้าวหน้า) มากขึ้น 

แต่พอในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ แล้ว ความคิดเรื่องสังคมนิยมในลักษณะที่เป็นความแหลมคมมันมีมากขึ้น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ในระยะหลัง 14 ตุลาฯ ยอดการขายก็ตกลง จากรายเดือนก็กลายเป็นราย 3 เดือน แล้วก็เปลี่ยนแนวหนังสือไปเป็นในลักษณะวิชาการ

พอจะอธิบายเรื่องยอดขายตกได้ไหม

มันมีจุดสนใจในที่อื่นๆ ไม่ใช่อยู่ที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์เหมือนเมื่อสมัยก่อน คือหลัง 14 ตุลาฯ มีหนังสือออกมากมาย และเป็นหนังสือในแนวที่มันสอดคล้องไปกับความต้องการของนักศึกษาในช่วงรุ่นหลัง 14 ตุลาฯ ด้วย ก็คือเป็นความคิดในเรื่องคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ตัวผมมีความคิดในเรื่องก้าวหน้าสังคมนิยมประชาธิปไตย ออกหนังสือหลายเล่มก็เพื่อให้ข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ก็มีการถกเถียงกัน มีความคิดที่เห็นว่าสังคมนิยมควรจะเป็นในลักษณะเข้มข้นมากขึ้น พูดง่ายๆ คือมันก็มีการจัดตั้งในระดับหนึ่ง สังคมศาสตร์ปริทัศน์ในมุมมองของคนที่เขาคิดว่าเขาก้าวหน้ากว่าเขาก็มองในลักษณะที่ว่า “เออ เอ็งก้าวช้ากว่าข้า” 

ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2515 แล้ว หลัง 14 ตุลาฯ ยิ่งเห็นชัดมากขึ้น ยอดขายสังคมศาสตร์ปริทัศน์ค่อยๆ ตกลงเพราะมันถูกแย่งความสนใจไป มีนิตยสารเกิดขึ้นมากมาย แล้วก็เป็นในลักษณะไม่ใช่รายเดือนด้วย เป็นรายสัปดาห์ อย่างเช่น จตุรัส, ประชาชาติ เพราะฉะนั้น สังคมศาสตร์ปริทัศน์เลยไม่ใช่ไข่แดงอยู่ใบเดียวแล้ว 

ถ้าหากว่าไม่เกิด 6 ตุลาฯ ผมคิดว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์อาจจะต้องหยุดทำ คือต่อให้ไม่หยุดทำ มันก็อาจจำกัดอยู่ในวงของนักวิชาการ

6 ตุลาฯ มีผลอย่างไรกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์

อย่างน้อยที่สุดมันทำให้เห็นธาตุแท้ของพวกนักวิชาการปัญญาชนที่หลายคนมองว่าเป็นคนก้าวหน้า คือปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ผมไม่คิดว่ามันมีเฉพาะในส่วนของหน่วยงานเคลื่อนไหวในระดับที่มีการจัดตั้งอย่างเดียว แม้แต่ในบรรดาปัญญาชนนักวิชาการมันก็มี คือช่วง 14 ตุลาฯ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ถูกมองในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง ก็มีพวกนักวิชาการบางกลุ่มที่เห็นว่าควรจะใช้ประโยชน์จากสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลนี้เลยมีการใช้วิธีการที่คล้ายๆ กับที่สมัยนี้เรียกว่า รัฐซ้อนรัฐ คือเขาก็ตั้งองค์กรขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง เพื่อบริหารให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันอยู่รอด มีนักวิชาการที่เป็นดอกเตอร์เข้ามาเป็นเลขาธิการ มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ แต่เป้าหมายของเขา คือใช้องค์กรสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ขอเงินทุนจากมูลนิธิต่างประเทศ มาทำเรื่องงานวิจัย ก็คล้าย ๆ ว่าสมาคมสังคมศาสตร์ฯ มีลักษณะของการที่มีปัญญาชนนักวิชาการบางส่วนเข้ามาใช้ประโยชน์ พอเกิด 6 ตุลาฯ ก็มีผลมาถึงผม เพราะตอน 6 ตุลาฯ ผมก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้ถูกจับเท่านั้นเอง โชคดี วันที่ 5 ตุลาฯ ผมกับแฟนออกมาจากธรรมศาสตร์ก่อนเพราะบ้านไกล พอกลับมาก็เกิดเหตุการณ์ในคืนนั้น วันรุ่งขึ้นเขาก็ฆ่ากัน

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็มีผลกับผมโดยตรง ผมต้องหลบอยู่พักใหญ่ มีปัญหาทางความคิดหลายเรื่องเกิดขึ้น ปัญหาทางความคิดที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งคือ ปัญหาทางความคิดที่เกิดกับบรรดาคนที่เรียกว่าหัวก้าวหน้า ปัญญาชน นักวิชาการ ที่เข้ามาอยู่ในสมาคมสังคมศาสตร์ฯ คุณต้องคิดว่าสมาคมสังคมศาสตร์ฯ มันเป็นที่รวมของนักวิชาการหลายประเภท ทั้งฝ่ายจารีตนิยม ฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่แตกต่างไปจากองค์กรอื่นๆ ด้วยเหตุผลนี้ พอเกิด 6 ตุลาฯ เขาก็เอาตัวรอด อันที่จริงก็เห็นมาหลายครั้งแล้ว เป็นต้นว่า บางคนที่เคยเขียนอะไรก้าวหน้า พอเกิดการรัฐประหาร ช่วงถนอม-ประภาสยึดอำนาจตัวเอง เขาก็ขอถอนบทความ ลักษณะนี้มันคือลักษณะของนักวิชาการบ้านเรา คือเอาตัวรอดในระดับหนึ่ง ผมคิดว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมี มันต่อเนื่องมาตลอด 

ตอนเกิด 6 ตุลาฯ ผมก็เกิดปัญหาทางความคิดกับเขา เนื่องจากว่าหลังจากที่ผมขอลาในฐานะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และผมก็มีฐานะเป็นกรรมการสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยด้วย หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมก็หลบอยู่ ตัดสินใจอยู่ว่าจะเข้าป่าหรือเปล่า แต่ว่าด้วยความไม่พร้อมอะไรบางอย่าง อีกอย่างหนึ่งคือผมคิดว่าเนื่องจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์มันไม่ได้ถูกสั่งห้าม ในฐานะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ผมควรจะได้รับการปกป้องจากบรรดากรรมการของสมาคมสังคมศาสตร์ ผมก็ขอลาป่วย 3 เดือนเพื่อหลบซ่อนระยะหนึ่ง เมื่อครบวาระผมก็รายงานตัวในฐานะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำและยังเป็นกรรมการของสมาคมสังคมศาสตร์ฯ อยู่ด้วย ขอกลับเข้ามาทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ของสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ตามเดิม เพราะต้องการรักษาสถานะที่ถูกกฎหมายเพราะว่าผมไม่ได้เข้าป่า ถ้าหากว่าผมมาปรากฏตัวในลักษณะที่ผมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ซึ่งสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ในช่วงนั้นก็ไม่มีอาจารย์ป๋วยเป็นนายกสมาคมแล้ว อาจารย์ป๋วยลี้ภัยไปแล้ว เกือบเอาชีวิตไม่รอด

ตอนนั้นใครเป็นนายกสมาคม

ตอนนั้นก็ยังไม่มีการระบุชัดเจน แต่ว่าคนที่เข้ามาดูแลตอนนั้นก็มีหลายคน เช่น สมศักดิ์ ชูโต, สมบัติ จันทรวงศ์, ชัยอนันต์ สมุทวณิช คนพวกนี้หลังจากรับจดหมายช่วงหลังผมลาป่วย 3 เดือน เขาก็น่าจะรู้ว่าผมอยู่ในสถานะที่อยากจะกลับมาทำงานตามเดิม เขากลับปฏิเสธด้วยการบอกว่า สังคมศาสตร์ปริทัศน์มันไม่ได้ทำแล้ว เขาไม่ให้ทำ ซึ่งไม่จริง 

จากนั้นก็มีจดหมายมาบอกผมว่าให้ผมออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมสังคมศาสตร์ฯ ให้ซองขาวซองที่สองกับผม ผมก็ตกอยู่ในฐานะค่อนข้างลำบาก เพราะว่าตอนนั้นไม่มีสตางค์ ขอกลับมารายงานตัวทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ของสมาคมสังคมศาสตร์ฯ เขาก็ให้ซองขาว

พูดง่ายๆ คือต้องการเอาผมออกไป เพราะผมในฐานะที่เป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นสถานะที่ทำให้เขาไม่ปลอดภัย อันนี้ผมคิดเอาเอง เขาเอาตัวรอดว่างั้นเถอะ ด้วยเหตุผลนี้ก็ทำให้ผมคิดอยู่พอสมควรว่าผมจะทำอะไรต่อ จะเข้าป่าไหม หรือจะไปต่างประเทศ แล้วตอนนั้นก็ไม่มีสตางค์ติดตัวเลย นัดพบกับอาจารย์รังสรรค์ครั้งหนึ่งโดยบังเอิญ ก็ตั้งใจมาพบกันเพื่อจะถามว่าอะไรเป็นอะไร อาจารย์รังสรรค์ก็จะให้ผมยืมสตางค์ มอบสตางค์ให้ผมจำนวนหนึ่ง ผมก็บอกว่ายังไม่เดือดร้อนอะไร 

อันที่จริงมันเดือดร้อนแล้ว แต่ผมคิดว่าคงไม่ล่ะ ก็ใช้วิธีแก้ปัญหาคือ ก่อนหน้านี้ผมรับจ๊อบเป็นบรรณาธิการให้ คุณสุข สูงสว่าง เจ้าของร้านหนังสือดวงกมล ตั้งแต่ช่วงที่ผมเป็นบรรณาธิการให้สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็คุ้นเคยกับคุณสุข ก็กลายเป็นว่า เอาล่ะ ไหนๆ ก็รู้จักกับคุณสุข ผมหลบซ่อนอยู่นะ ตอนนั้นก็หลบซ่อนอยู่ใกล้ๆ ใช้สำนวนสามก๊กผมมักจะอ้างถึงอยู่เสมอ ผมหลบอยู่ใต้ขนตาศัตรู คือมันมองไม่เห็นว่าหลบอยู่ใต้ขนตามัน ไปอยู่ตามเซฟเฮาส์ของเพื่อน ก็เขียนจดหมายด้วยลายมือ ไม่ลงลายเซ็นอะไรทั้งนั้น เขียนว่า “ผมขอยืมเงิน 6,000 บาท” เขียนแค่ 2 บรรทัดเท่านั้นล่ะ แล้วก็ให้คุณศรีดาวเรืองมาหาคุณสุขที่ไม่เคยพบกัน แต่คุณสุขก็เชื่อตามที่ผมเขียน 

เงิน 6,000 บาท สำหรับผมในตอนนั้นมันเหมือนเงิน 60,000 บาท มันต่อช่วงชีวิตผมในตอนนั้นให้ดีขึ้น แต่ว่าสิ่งที่ดียิ่งกว่านั้นคือ คุณสุขบอกกับคุณศรีดาวเรืองว่า “บอกคุณสุชาติว่าถ้าหากพร้อมเมื่อไหร่มาทำหนังสือกับผม” นี่คือจุดก่อเกิดของ โลกหนังสือ คือช่วงประมาณ 5 เดือนหลังตุลา 2519 เท่านั้นเอง ที่เขียนจดหมายด้วยลายมือมาหาคุณสุข แล้วคุณสุขชวน หลังจากนั้นเดือนที่ 6 ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผมก็นัดคุยกับแก เป็นจุดเริ่มต้นของ โลกหนังสือ

ขอบเขตเนื้อหา โลกหนังสือ เปลี่ยนไปจาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ค่อนข้างมาก?

เปลี่ยนไปเลย ผมให้ความสนใจกับเรื่องวรรณกรรมเต็มที่ ทั้งในฐานะที่เป็นงานสร้างสรรค์และวรรณกรรมวิจารณ์ มันไม่ใช่แบบสังคมศาสตร์ป ริทัศน์ที่จะเป็นในลักษณะที่อิงทางเรื่องสังคมการเมือง แต่ โลกหนังสือ ตรงกับสิ่งที่ผมต้องการอยากจะทำด้วย แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ผมเริ่มต้นเอง ไม่ได้เริ่มต้นซ้ำรอยจากอาจารย์สุลักษณ์ เพราะสังคมศาสตร์ปริทัศน์ไม่ว่าจะถูกมองยังไง ผมก็ยกเครดิตให้อาจารย์สุลักษณ์ทั้งหมด แต่สำหรับโลกหนังสือผมเริ่มต้นกับมือ เครดิตก็ต้องให้กับคุณสุข คุณสุขที่พูดกับผมว่ามาทำหนังสือกับผมเถอะถ้าพร้อม แล้วผมก็ตัดสินใจไม่เข้าป่า

กลุ่มไหนเป็นคนอ่าน โลกหนังสือ 

ส่วนใหญ่เป็นพวกครูหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย พวกที่ส่วนหนึ่งเป็นพวกที่สนใจเรื่องวรรณกรรม สนใจเรื่องความคิด สนใจเรื่องการวิจารณ์อะไรต่างๆ คือสนใจเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเป็นหลัก ครั้งแรกคุณสุขอยากจะให้ตั้งชื่อ ข่าวหนังสือ อยากให้พูดถึงในลักษณะที่เป็น book review เพราะแกเป็นร้านหนังสือและทำสำนักพิมพ์ด้วย ผมก็บอกว่า ขอเปลี่ยนจาก ‘ข่าว’ เป็น ‘โลก’ มันเลยกลายเป็น โลกหนังสือ (book world) แทนที่จะเป็นข่าว ก็คือให้ความสนใจหนังสือทั่วโลก หนังสือทุกประเภท ให้ความสนใจทั้งเรื่องงานสร้างสรรค์และวรรณกรรมวิจารณ์

โลกหนังสือ มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับนักศึกษาในป่าไหม 

มี มากมายเลย คือหลายคนพอรู้ว่าผมไม่ได้เข้าป่าก็แปลกใจ เขาคิดว่าผมอยู่ในจัดตั้ง หลายคนมองว่าสังคมศาสตร์ปริทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งไม่ใช่ คนละเรื่องเลย แต่ว่าคนที่ห้อมล้อมเนี่ยใช่ ผมก็เข้าใจว่าเขาอยู่ในจัดตั้ง แต่เราก็ไม่คุยกันในเรื่องนี้นะครับ คนที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยผมอย่าง จรัล ดิษฐาอภิชัย ก็อยู่ในจัดตั้ง แล้วคนที่มาทำ ปาจารยสาร อย่าง พิภพ ธงไชย ก็อยู่ในจัดตั้ง ก็ใกล้ชิดกัน แต่ผมเป็นคนเดียวที่ ‘เด่นแดง’ ซึ่งเป็นภาษาฝ่ายซ้าย ก็คือพวกเด่นแดงให้มันถูกจับไป อย่าไปเปิดเผย ถ้ามันถูกจับมันจะได้ไม่สาวไปถึงส่วนอื่น คือเขาใช้วิธีการปิดลับ ฉะนั้นใครที่อยู่ในสถานะเด่นแดงก็ติดต่อห่างๆ ติดต่อข้ามๆ เขาจะไม่จัดตั้ง หลายคนเข้าใจว่าจัดตั้ง หลายคนยังเขียนจดหมายตอนหลัง 14 ตุลาฯ ที่ถูกขวาพิฆาตซ้ายให้ผมช่วยติดต่อจัดตั้ง อยากเข้าป่าอะไรแบบนี้

รูปแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่าง โลกหนังสือ กับนักศึกษาในป่าเป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนหนึ่งพอเขารู้ว่าผมทำโลกหนังสือ การติดต่อของเขาก็ผ่านทางสายจัดตั้ง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครหรอก เป็นต้นว่า พอผมเข้ามาถึงสำนักงานก็เห็นว่ามีซองวางอยู่บนโต๊ะ พอเปิดออกมาก็จะเป็นความต้องการของเพื่อนเรา เพราะว่าผมก็ยังรู้สึกโหยหาอดีตน่ะ รู้สึกคิดถึงเพื่อนที่เข้าป่า ทั้งๆ ที่ผมตัดสินใจตั้งแต่ปี 2515 แล้วว่าผมมีปัญหาขัดแย้งทางความคิดกับ พคท. ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องวิธีการมองคำว่า ‘ศิลปะ’ พอมาเกิดเรื่องหลัง 6 ตุลาฯ ผมเลยตัดสินใจจะไม่เข้าป่า พอเขารู้ว่าผมไม่เข้าป่าแล้วมาทำโลกหนังสือ ก็มีการติดต่อหลายสาย บางสายก็เป็นสายที่พอรู้จักกันอยู่ 

จดหมายบางส่วนก็สอนผมว่าทำไมไม่เข้าป่า ผมเป็นพวกลัทธิแก้ เป็นพวกทรอตสกี (Trotskyism) ไม่รู้จักวิพากษ์วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ วิภาษวิธี ไม่เชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง สั่งสอนว่าทำไมผมยังติดกับชนชั้นปัญญาชน เป็นนายทุนน้อย เพราะมันมีเอกสารจัดตั้งที่ผมเคยอ่านเคยเห็นอยู่ ฉะนั้นก็มีหลายคนที่ผมก็รู้ เอ่ยชื่อไปคนก็รู้จัก ก็เป็นนักคิดนักเขียนนักวิชาการมีชื่อเสียงนี่แหละ เขาสงสัยว่าทำไมผมไม่เข้าป่า เขาก็เป็นห่วงผมว่างั้นเหอะ อยากให้ผมไปเข้าป่า อย่างน้อยก็ไป ‘ทัวร์’ หมายความว่าไปเข้าป่า ไปดูชีวิตตามสายจัดตั้ง อันนี้ในช่วงปี 2520-2521 ซึ่งผมทำโลกหนังสือแล้ว 

ผมก็บอกว่าผมน่าจะทำประโยชน์ให้กับพวกในป่าถ้าอยู่ตรงนี้ แล้วผมก็รับแรงเสียดสีรับความกดดันอยู่พอสมควร เป็นต้นว่า ปีแรกที่ผมมาเป็น บ.ก. ให้โลกหนังสือ ก็มีสายตำรวจเข้ามาพูดกับคุณสุขเลย สันติบาลมาพูดกับคุณสุขเลยว่า ไอ้ บ.ก. คนนี้มันเป็นพวกในป่ามาทำงานในเมืองเพื่อที่จะประสานงานกับพวกในป่า คุณสุขเขาก็บอกว่า “ไม่หรอก คุณสุชาติเขาเป็น บ.ก. เขาทำหนังสือกับผมมานานแล้ว เขาเป็นบรรณาธิการฝีมือดี” อันนี้คือบุญคุณของคุณสุข  

ตอนปี 2520 หนังสือที่ผมทำหลายเล่มเป็นหนังสือต้องห้าม ชื่อผมเป็นชื่อต้องห้าม  ตอนที่ไปขออนุญาตพิมพ์หนังสือ ก็ต้องใส่ชื่อหลานคุณสุขคือ คุณกันยารัตน์ คีรี เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ชื่อกองบรรณาธิการอย่าง อรุณ วัชระสวัสดิ์, รัศมี เผ่าเหลืองทอง ก็อย่าเอ่ย ให้ใช้นามแฝงเป็นชื่อที่ไม่มีตัวตน อาทิ ‘วัลยา ณ นคร’ ที่ผมตั้งโดยเอามาจากนวนิยาย ความรักของวัลยา ส่วนนามสกุล ณ นคร มาจากเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกช่วง 6 ตุลาฯ นี่คือฉบับแนะนำตัวที่ยังไม่ปรากฏชื่อใคร

แต่พอมาเป็นฉบับจริงปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ถึงจะใส่ชื่อผม พอพวกในป่ามันรู้ว่าผมทำหนังสือ มันก็เลยขอ นอกจากสั่งสอนแล้วมันก็ขอ ขอหนังสือจากร้านดวงกมลที่ผมทำงานอยู่ ส่งเข้าไปในป่า ขอให้ช่วยตัดแว่นให้ ทั้งหมดที่ขอมาก็ได้รับการตอบสนอง ยกเว้นเรื่องตัดแว่น พูดไปแล้วก็จะตลกว่าใครเป็นคนขอให้ช่วยตัดแว่นให้ 

ฟังดูเหมือนคุณสุชาติก็ไม่ได้กลมกลืนกับแนวทางของ พคท. มาตั้งแต่ต้น?

ผมชัดเจนมาตั้งแต่ตอนก่อน 6 ตุลาฯ แล้วว่าเป็นพวกความคิดขบถที่ไม่อยู่ในสายของพรรค แม้ว่าจะมีความคิดในเรื่องวรรณกรรมที่มีลักษณะเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่ได้ยึดตามหลักของพรรคที่ต้องการลักษณะแบบเพื่อชีวิต ผมถูกวิจารณ์ว่าเป็นโรคประจำศตวรรษ งานเขียน บทกวี เรื่องสั้น ที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ แม้จะไม่ใช่งานประเภทน้ำเน่าก็จริง แต่เป็นงานประเภทน้ำค้าง หมายความว่าใช้ดื่มกินไม่ได้ มันต้องเป็นน้ำฝนถึงจะใช้ดื่มกินได้อย่างพวกเขา ถ้าหากเป็นน้ำฝนมันจะต้องชัดเจน มันจะต้องหนึ่ง สอง สาม เป็นต้น จะต้องนับถือจิตวิญญาณของพรรค (party spirit) มีลักษณะปฏิวัติ 

แต่ผมมองว่าศิลปะมัน ‘วางตัวเองอยู่ในที่ซ่อน’ ศิลปะจะต้องมีชีวิตเสียก่อน แล้วมันจะเพื่ออะไร นั่นคือผลที่ตามมา แต่ลักษณะศิลปะเพื่อชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ มันเป็นลักษณะชั่วคราว เป็นลักษณะสู้รบที่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าคนแต่ละคนจะใช้เรื่องนี้ออกมาแบบไหน 

ตรงนี้ทำให้ผมเกิดปัญหาทางความคิดกับคนในพรรค ถูกวิจารณ์ว่าเป็นโรคประจำศตวรรษ ถูกวิจารณ์ว่าถ้าผมเข้าป่าผมจะมีปัญหาทางความคิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะผมเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยมันเดินตามสายจีน ด้วยเหตุผลอันนี้ผมจึงตัดสินใจลังเลในตอนช่วงหลัง 6 ตุลาฯ ว่าจะเข้าป่าหรือไม่

โรคประจำศตวรรษคืออะไร

เป็นคำของ สมชาย ปรีชาเจริญ (นามปากกาหนึ่งของ จิตร ภูมิศักดิ์) ถอดความมาจากคำว่า ‘the malady of the century’ เพื่อวิจารณ์พวกกวีเหนือจริง กวีสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส 

ผมเป็นคนแรกๆ ที่แนะนำให้คนทั่วไปรู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ผมใช้คำว่า ‘นักรบของคนรุ่นใหม่’ เพราะจิตรเขาเสียสละในป่า เป็นครั้งแรกที่ผมเอานักวิชาการมาสัมมนากัน แล้วถอดเทปมาเพื่อจะเป็นหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือต้องห้ามหลัง 6 ตุลาฯ 

แม้นว่าผมจะชื่นชม จิตร ภูมิศักดิ์ ในลักษณะที่เขามีความก้าวหน้าทางความคิด ที่สะท้อนผ่านงานอย่าง โฉมหน้าศักดินาไทย, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ แต่กรณี ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ผมขอสงวน (reserve) ไว้ ผมเคยวิจารณ์ และการวิจารณ์ของผมทำให้คนหลายคนมีความเห็นว่า วิธีคิดของผมเป็นวิธีคิดแบบคนโลเล ไม่เห็นชัยชนะของประชาชน หดหู่ หมดหวัง เป็นโรคประจำศตวรรษ 

ดูเหมือนว่าคุณสุชาติจะมีปัญหากับเรื่องศิลปะมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ล่าสุดก็มีปัญหาเรื่องการถอดถอนการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ได้ยินมาว่าคุณสุชาติมีส่วนก่อตั้งผลักดันการเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ

ครับ ตอนนั้นคำว่า ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ยังไม่ปรากฏ ก็มีความคิดหลายส่วนหลายสาย ช่วงนั้น ชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความคิดในเรื่องนี้จากหลายส่วน อย่าง คุณโดม สุขวงศ์ เขาก็สนใจเรื่องภาพยนตร์ คุณเอนก นาวิกมูล ตอนนั้นทำงานอยู่ที่ศูนย์สังคีต ซึ่งคุณเนาวรัตน์เป็น ผอ. อยู่ ก็สนใจเรื่องพ่อเพลงแม่เพลง ศิลปินพื้นฐานอะไรแบบนี้ ผมเองก็รู้จักกับคนพวกนี้ เนาวรัตน์กับผมตอนนั้นก็นั่งดื่มๆ กัน เนาวรัตน์ก็ชวนให้ผมเจอกับคุณชวน คุณชวนก็ชวนว่ากำลังคิดถึงเรื่องนี้ สุชาติมาช่วยระดมความคิดหน่อย 

การระดมความคิดมาลงตัวว่าจะแยกเป็น 4 สาขา ของผมอยู่ในสายวรรณศิลป์ คุณดำรง วงศ์อุปราช อยู่ในสายทัศนศิลป์, สุเมธ ชุมสาย อยู่ในสายสถาปัตย์, พวกคุณเอนก นาวิกมูล อยู่ในสายพวกศิลปะการแสดง ระดมความเห็นมาจนถึงขั้นนี้ ตอนแรกที่บอกว่าจะให้เกียรติ ยกย่อง เชิดชูศิลปิน ผมก็คุยกันในกลุ่มที่ระดมความเห็นว่า เราต้องชัดเจนว่าศิลปินคือใคร คือตอนนั้นยังไม่มีคำว่าแห่งชาติ ยังไม่มีผลประโยชน์ใดๆ อย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ ก็มีความคิดว่าเราควรจะยกย่องให้เกียรติคนที่เป็นศิลปินแบบไหน ระดับไหน ผมก็เสนอว่า หนึ่งควรจะให้คนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ให้เขาในลักษณะที่เป็นรางวัลช่วยชีวิตของคนทำงานศิลปะ จะสาขาไหนก็ได้ ก็ควรจะเลือกสรรคนที่คิดว่าใช่ และต้องเป็นคนที่คิดว่าใช่จริงๆ เป็น the best of the best ไม่ใช่ second best หรือใครก็ได้ แล้วก็ให้เกียรติเขาในฐานะว่าให้เขาทั้งหมดเลย ไม่ใช่ว่าปีหนึ่งสาขานี้ให้สองคนสามคน ให้เขาคนเดียวเลย 

เริ่มต้นมันจึงเป็นลักษณะที่ผมให้เขาถกเถียงกันว่าศิลปินคือใคร และที่จำได้มันควรจะเป็นศิลปินที่อยู่วงนอก ไม่ใช่วงใน คือเป็น outsider ศิลปินอิสระ ไม่ใช่ศิลปินที่เป็นข้าราชการ มีเงินเดือน มีบำเหน็จบำนาญ คนพวกนี้ก็ควรจะได้รับการยกย่องด้วย แต่ว่าโดยคำว่า ‘ศิลปิน’ แล้ว ควรมีความเป็นอิสระที่จะใช้เสรีภาพในการทำงานของตัวเองอย่างชัดเจน ผมก็ให้รายชื่อไว้หลายคน อาทิ ฮิวเมอริสต์ (นามปากกาของ อบ ไชยวสุ), ก.สุรางคนางค์ (นามปากกาของ กัณหา เคียงศิริ), วิตต์ สุทธเสถียร, อิงอร (นามปากกาของ ศักดิ์เกษม หุตาคม), ประมูล อุณหธูป และคึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนนั้นผมลืมเสนอ ส. บุญเสนอ กับ วิลาศ มณีวัต คือคนพวกนี้เป็นหมุดหมายทั้งสิ้น ผมเสนอชื่อว่าควรจะให้คนพวกนี้ในฐานะที่เป็น lifetime achievement เพราะว่าเขาบั้นปลายชีวิตแล้ว ควรจะให้เกียรติเขา และเราก็พูดถึงว่าศิลปินควรจะเป็นศิลปินที่มีชีวิตอยู่หรือศิลปินที่ตายไปแล้ว ผมก็เสนอว่าศิลปินที่ตายไปแล้วก็ควรจะให้เกียรติเขาด้วย แต่ประเด็นนี้เหมือนถูกตัดออกไปเลย ไม่มียกย่องศิลปินที่ตายไปแล้ว 

พอเริ่มต้นปี 2528 เขาก็ไปเอา คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นศิลปินแห่งชาติคนแรก มีคำว่าแห่งชาติเข้ามาเป็นคนแรก เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช่ในความเห็นที่ผมเสนอไว้ 

คึกฤทธิ์ไม่ใช่คนนอกหรือครับ 

คึกฤทธิ์เป็นคนนอกก็จริง แต่เขามาทีหลัง ฮิวเมอริสต์เขามีความชัดเจนตั้งแต่ 2472 แต่ คึกฤทธิ์ ปราโมช มาช่วง 2490 แล้ว ในแง่ของหมุดหมาย คนอย่าง ฮิวเมอริสต์, ก.สุรางคนางค์, ส. บุญเสนอ ควรจะมาก่อน แต่ว่าเขาเอาคึกฤทธิ์ ก็ไม่เป็นไร 

พอปีที่สอง เขาก็เอาสองคนเลย คือ ฮิวเมอริสต์ กับ ก.สุรางคนางค์ แต่ก็ลืมคนอื่นๆ  เช่น อิงอร, วิตต์ สุทธสเถียร, ประมูล อุณหธูป ไปเอาใครก็ไม่รู้ที่ผมไม่ได้เสนอ แต่ว่าเขาชอบน่ะ เช่น ปิ่น มาลากุล, กฤษณา อโศกสิน ผมไม่เคยเสนอพวกนี้ คือเขาก็ควรจะได้ แต่ว่ารอหน่อยได้ไหม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ผมก็เลยเลิกยุ่ง ทั้งๆ ที่มีส่วนระดมความเห็นมาร่วมกับคนอื่นๆ แล้วมันมีผลประโยชน์เข้ามาตอบแทนในช่วงหลัง คือในช่วงที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เลื่อนสถานะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ก็มีงบประมาณจึงมีความคิดที่จะให้เป็นค่าตอบแทน เรียกว่าเงินเดือนแล้วกัน เริ่มต้นปีแรกประมาณ 6,000-7,000 บาท แล้วก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ เป็น 15,000-20,000 บาท แล้วมาเป็น 25,000 บาทในปัจจุบัน 

ช่วงที่ขยับจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท คือช่วงพรรคไทยรักไทย คือมันมีลักษณะที่เป็นระบบอุปถัมภ์ คนที่ได้รับเกียรติยกย่องกลายเป็นเหมือนศิลปินข้าราชการ อยู่ในระบบอุปถัมภ์ของเขา ยิ่งคำว่า ‘แห่งชาติ’ ถูกตีความว่าเป็นแห่งราชการด้วย ความหมายมันก็เปลี่ยนจากที่ผมต้องการ เพราะตอนแรกเราก็ยังไม่ได้พูดคำว่าแห่งชาติ เรายังไม่ได้พูดกันเรื่องนี้ แต่ถ้าจะใช้คำว่าแห่งชาติก็ใช้ได้ ถ้า ‘ชาติ’ นั้นหมายถึง ‘ราษฎร’ หรือ ‘ประชาชน’ แล้วมันชัดเจนหากจะต้องมีเงินเดือนด้วย เพราะมันเป็นภาษีของประชาชน 

แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามันต่างจากที่ผมเคยคิดไว้ช่วงแรกเมื่อปี 2527 มันบิดเบนไปจากที่ศิลปินควรจะเป็นเสรีชน ควรจะเป็นคนที่มีเสรีภาพที่จะต้องแสดงออก ได้รับการอนุญาตที่จะก้าวไปก่อนข้างหน้าหนึ่งก้าว เป็นศิลปินที่ไม่ได้อยู่ในเบ้าหลอมของกระทรวงวัฒนธรรม ของสิ่งที่คุณเรียกว่า ‘วัฒนธรรมอันดีงาม’ หรือ ‘ความเป็นไทย’ 

ถึงวันนี้เขาได้ให้เหตุผลหรือแสดงหลักฐานในการปลดหรือยัง

ไม่ได้บอก ผมชอบที่ คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ ใช้คำว่า ‘อำนาจเบื้องบน’ อำนาจเบื้องบนหรือเปล่าที่เปลี่ยนกฎกระทรวงเพื่อจะปลดผม แล้วเขาก็ทำอย่างที่เป็นข่าว คือประชุมกันเป็นวาระลับมาก จากนั้นจึงมีจดหมายมาถึงผมหลังจากเป็นข่าวสร้างความเสียหายอับอายแก่ผมไปแล้ว 2 อาทิตย์ ผู้ลงนามจดหมายก็ไม่ใช่ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรม ไม่ใช่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ใช่ปลัดกระทรวงด้วย ให้เจ้าหน้าที่ชั้นรองอธิบดีเซ็นมา คล้ายๆ ว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ให้ข้าราชการรับเคราะห์ แต่ว่าตัวใหญ่ลอยตัว 

เนื้อหาจดหมายก็เป็นข้อกล่าวหา 2 ข้อ เป็นข้อสั่งสอน 3 ข้อ จะกล่าวหาหรือจะสั่งสอนยังไงผมไม่ว่า เพียงแต่ว่าผมไม่ได้รับการแจ้งเหตุผลอย่างเป็นทางการ แต่ในจดหมายกลับบอกว่าให้ผมไปชี้แจง ให้ไปอุทธรณ์ คือหมายความว่ายิงก่อนถามทีหลังใช่ไหม ข้อกล่าวหาอะไรไม่ทราบเลยในแง่รายละเอียด เพราะฉะนั้นมันก็ไม่เป็นธรรม 

ครั้งแรกผมคิดว่าผมจะไม่สนใจ ไม่ตอแย ปล่อยไป ไม่อุทธรณ์ด้วย แต่ต่อมาก็มีคนบอกว่ามันต้องทำให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว มันเป็นเรื่องของศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ ด้วย และเป็นเรื่องของการที่จะบอกกับคนที่อยู่ในแวดวงนี้ด้วยว่าสิ่งที่ผมได้รับมันไม่เป็นธรรม ผมก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เลยตัวผมไปแล้ว ก็เลยให้เป็นเรื่องของภาคีนักกฎหมาย ของเพื่อนๆ ที่เขาจะมาช่วยดูแลตรงนี้ ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นประเด็นสาธารณะ 

บรรทัดฐานที่ว่าหมายถึงอะไร

หมายความว่า อย่างน้อยที่สุด คุณจะต้องมีความชัดเจนว่า ที่คุณเรียกว่า ‘ศิลปินแห่งชาติ’ มันเป็นแบบไหน ศิลปินคือใคร อย่างที่ผมพยายามจะถามตอนไประดมความเห็น และคำว่า ‘แห่งชาติ’ มันคืออะไร มันคือ ‘แห่งราชการ’ หรือ ‘แห่งราษฎร’ ต้องชัดเจนตรงนี้ ถ้าหากว่าเป็นแห่งราชการ เขาชัดเจนตรงนี้นะ อันนั้นก็ไม่ว่ากัน ก็หมายความว่าจะต้องตกอยู่ในสิ่งที่เขากำหนดไว้ ทางที่เขาบอกให้เดิน แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ และผมก็อยากต่อสู้ให้ชัดเจนว่า ข้อกล่าวหาที่เขากล่าวหาเพื่อปลดผมออก ยกเลิกการยกย่องการเชิดชูเกียรติ ทั้งๆ ที่ตอนปี 2554 เขาเขียนถึงผม ยกย่องเชิดชูผม มีความชัดเจนด้วย คือ เชิดชูว่าผมเป็นเสรีชน พูดถึงเรื่องต่อสู้กับเผด็จการ คือประกาศเกียรติผมในทำนองนี้ไปแล้ว แต่พอมาตอนนี้ที่ประกาศไปเขาก็ไม่ได้ไปดูตรงปีที่เขาพูดถึงผมตรงแง่ที่ผมได้รับเกียรติ มันตรงกันข้ามเลย แล้วมันหมายความว่าอย่างไร

ด้วยเหตุผลอันนี้ ถ้าผมไม่ต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้ ถ้าผมปล่อยไปเลย กฎกระทรวงที่มีลักษณะคลุมเครือมันก็ยังปรากฏอยู่ พวกกรรมการวัฒนธรรมที่มีการเลือกตั้งกันเข้ามาทุก 3 ปี เขาก็จะมีวาระประชุมลับมาก เพื่อจะปลดใครด้วยเหตุผลที่คลุมเครือแบบนี้อีก ฉะนั้น ก็อยากให้มันเป็นตัวอย่าง ในเมื่อมันเป็นสาธารณะไปแล้ว ผมก็อยากให้คนที่เป็นศิลปินแห่งชาติทั้งหลายเข้าใจตรงนี้ เพราะว่ากฎกระทรวงที่เขาขีดเส้นไว้ มันเกี่ยวข้องกับตัวเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวผมอย่างเดียว

จากที่คุณสุชาติเล่ามาก็ชัดมากว่ากฎกระทรวงที่เพิ่งแก้นี้จะกระทบกับคนที่เป็นศิลปินแห่งชาติโดยตรง ไม่ใช่แค่คุณสุชาติคนเดียว แต่เท่าที่ทราบ ผู้ที่ลงชื่อให้กำลังใจคุณสุชาติผ่านเว็บไซต์ change.org ยังไม่ปรากฏชื่อศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ เลย คุณสุชาติพอจะเข้าใจได้ไหมว่าทำไมถึงเป็นในลักษณะนี้

เข้าใจครับ จริงๆ มีอยู่หนึ่งคนครับ แต่เขาบอกเขาไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติ ชื่อสุจิตต์ วงษ์เทศ เขามีชื่อนะ เขาไปลงชื่อ แต่คนอื่นๆ ที่เขาไม่มา ผมก็พยายามมองในแง่ดีว่า เขาคงมีเหตุผล แต่คิดได้อยู่ข้อเดียวนะ คือเขากลัว เนื่องจากวาระลับมากของผมมันเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ บอกว่าผมโพสต์เฟซบุ๊คหมิ่นเหม่สถาบันกษัตริย์ ประเด็นก็คือว่าเขาก็กลัวว่าเขาจะถูกมองในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่เรียกว่า ‘แห่งราชการ’ เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบอุปถัมภ์’ แต่เขาลืมไปว่าเงินเดือนและผลประโยชน์ต่างๆ ที่เขาได้รับมากมาย มันคือเงินภาษีของราษฎร

อีกอย่างหนึ่งศิลปินแห่งชาติที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ มันเลยจากสิ่งที่ผมเคยคิดตอนระดมความเห็น ก็คือว่า ผมคิดว่าคนที่ทำงานศิลปะพอล่วงวัยมาถึง 50-60 บางคนยังทำงานศิลปะอยู่ บางคนก็เข้าวัยบั้นปลายแล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ผมก็เคยหวังไว้ว่ามันควรจะให้ในฐานะที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า หากคุณมีความชัดเจนว่าคุณทำงานศิลปะมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณควรจะได้สวัสดิการตรงนี้ เป็นต้นว่า เมื่อคุณอยู่ถึงอายุ 60 ปี คุณสามารถที่จะเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ ถ้าหากคุณเจ็บป่วย กระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ อันนี้คือสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งผมหวังว่าถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปก็อยากจะให้เขาคิดถึงประเด็นนี้ 

การให้เกียรติกับศิลปินก็ทำไป จะใช้คำว่า ‘แห่งชาติ’ หรือ ‘แห่งราษฎร’ ก็แล้วแต่ เพียงแต่ว่าให้เกียรติก็คือการให้เกียรติ สวัสดิการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ให้เกียรติก็คือประกาศเกียรติเขา แล้วก็ต้องประกาศเกียรติแบบ the best of the best แต่คนที่จะได้สวัสดิการในลักษณะถ้วนหน้าก็คือคนที่ทำงานศิลปะในแบบที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะถ้าหากทิ้งไว้ข้างหลังมันก่อให้เกิดความแปลกแยกกับคำว่าแห่งชาติ ผมอายทุกครั้งเวลาใครเรียกผมว่าศิลปินแห่งชาติ เพราะผมไปทิ้งคนอื่นเขาไว้ข้างหลัง

สิ่งหนึ่งที่คนรุ่นคุณสุชาติจะต้องเจอแน่ๆ คือการที่เพื่อนฝูงเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง โดยเฉพาะเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อยากถามเป็นความรู้ว่าคุณสุชาติมีวิธีจัดการกับภาวะนี้อย่างไร

7-8 ปีที่ผมเล่นเฟซบุ๊คแล้วผมก็ไปเกรียนเขา มันก็ชัดเจนว่าผมมีความเห็นต่อเขายังไง เริ่มต้นก็อาจไปเอ่ยชื่อเขา เสียมารยาทอะไรยังไง ยังไม่รู้น่ะ ลูกชายก็มาสอนว่าพ่อทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นต่อมาก็เลยต้องใช้สัญลักษณ์ เป็นกวีเป่าขลุ่ยบ้าง เป็นอะไรแบบนี้นะ ผมชัดเจนตรงที่ว่าเฟซบุ๊คมันเป็นเครื่องมือที่ผมจะใช้แสดงเสรีภาพของผม แสดงความคิดของผมในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องศิลปิน เรื่องสังคม เรื่องการเมือง แล้วสิ่งที่ผมชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าสิ่งที่ผมเสนอออกไปนั้น มันเป็นเรื่องที่เราต้องคุยกันในหมู่คนที่ทำงานศิลปะ ที่เรียกว่า กวี นักเขียน หรือศิลปินทั้งหลาย เพราะก่อนหน้านี้เขาก็สนใจเรื่องสังคม เรื่องการเมือง ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 มา จนเกิดเหตุการณ์ปี 2553 แล้วก็มาถึงรัฐประหารปี 2557 คนพวกนี้ก็อยู่ในกลุ่มของพันธมิตรฯ คนพวกนี้ก็อยู่ในกลุ่มของ กปปส. แสดงว่าเขาก็สนใจเรื่องความเห็นทางการเมือง แต่พอมาช่วงรัฐประหาร 2557 เขาหายไป ผมก็เพียงเรียกร้องว่าเขาหายไปไหน ไอ้สิ่งที่เขาเคยทำไว้ เช่น เขียนบทกวีรวมเล่มเพื่อหาเงินให้ลุงกำนัน สำนึกพลาดได้ไหม 

การสำนึกพลาดไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะผมเองก็เคยพลาด ครั้งหนึ่งผมก็เคยขึ้นเวทีเสื้อเหลือง แล้วผมก็เสนอว่า “เออ มันพลาดไปแล้ว” ผมก็เรียกร้องเท่านี้ แต่ว่าเขาคงมีความเห็นของเขา และความเห็นอันนี้ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่พอมาช่วงหลังผมก็คิดว่าความเห็นบางความเห็น มันเสนอความเห็นในลักษณะที่เขาเป็นปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย เป็นต้นว่า เขาก็มีความรู้สึกว่าพวกเยาวรุ่น พวกคนหนุ่มสาวที่ชูสามนิ้วมันไม่ถูก คือเขาก็มีวิธีแสดงออกโดยการใช้ศิลปะทางวรรณศิลป์ของเขาแหละ อารมณ์ขัน เสียดสีบ้างอะไรบ้าง ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ว่าผมก็พยายามตามว่าระยะแรกๆ ก็พยายามเรียกร้อง แต่หลายคนเขาก็บอกเขาข้ามฝั่งไปแล้ว ไปตะโกนเรียกหาเขาทำไม ตอนช่วงหลังก็พยายามมองในแง่นี้ เขาข้ามฝั่งไปแล้ว

เราสามารถแยกศิลปะกับศิลปินออกจากกันได้ไหม

มันขึ้นอยู่กับพื้นที่ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในขณะที่กำลังต่อสู้แหลมคมแบบนี้ ผมคิดว่าจะต้องชัดเจนระดับหนึ่ง สิ่งที่เขาเคยทำไว้ในอดีตก็เป็นเรื่องอดีต ปัจจุบันก็ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องของอนาคตของคนรุ่นต่อไปว่าเขาจะมองกลับมาอย่างไร อย่างผมเองผมก็เคยบอกไปหลายครั้งแล้วเวลาผมเขียนเรื่องสั้น บทกวี ผมไม่สามารถจะไปชูกำปั้นแบบที่เขาเขียนเป็นคำคล้องจอง ลักษณะเพื่อชีวิตแบบที่ผ่านมา คือผมมีปัญหาในการแสดงออกทำนองนี้ในตอนที่ผมทำงานศิลปะ คือเขียนอะไรไม่รู้เรื่อง วาดอะไรไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ลักษณะชูกำปั้น แต่ว่าผมชัดเจนเวลาผมเขียนบทความ เขียนบทนำ มันเป็นรูปแบบเท่านั้น รูปแบบของการเขียนบทความ รูปแบบของการเขียนบทนำมันจึงเป็นการทำงานทางศิลปะเหมือนกัน แต่มาเขียนเรื่องสั้น เขียนบทกวี 

คือคนทำงานศิลปะต้องพยายามแสวงหาสิ่งที่เป็น identity ของตัวเองแล้วก็ไปกับขบวนการต่อสู้ได้ หมายความว่าสามารถที่จะชัดเจนในประเด็นความคิดทางการเมือง อย่างน้อยที่สุดถ้าเป็นประเด็นความคิดของการทำการเมืองให้ดีก็คือเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเห็นคนเท่าเทียมกัน เสรีภาพ ภราดรภาพ มันเป็นเรื่องถูกต้องใช่ไหม เพราะถ้าหากมันถูกต้องแล้ว ทำไมคุณไม่สนับสนุน หรืออย่างน้อยคุณก็อยู่เฉยๆ แต่คุณไม่อยู่เฉยน่ะ บางทีคุณก็แซะบ้าง พอผมเห็น ผมก็เกรียนกลับไปบ้าง  

อย่างน้อยที่สุดผมก็แยกออกนะ สิ่งที่ คุณหงา คาราวาน เคยทำไว้กับเพลงต่างๆ ที่เคยแต่งไว้ให้ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สถานะเปลี่ยนไป และเขาเปลี่ยนสถานะไปด้วย แต่ผลงานยังอยู่หรือเปล่า ผมคิดว่ามันยังอยู่ บทเพลงมันยังอยู่ ด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงคิดว่า… คือช่วงนี้ผมเห็นพวกนักศึกษาที่เขาทำ 45 ปี 6 ตุลาฯ มีวงเพื่อชีวิตหลายวง ยกเว้นวงคาราวาน ซึ่งในความเห็นของผมมันไม่ค่อยถูก ต่อให้ผมจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่ในทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เขาทำไว้ในอดีต มันก็เป็นประวัติศาสตร์ เราควรมองตรงจุดนั้นของเขาในเวลานั้นของเขา แต่ในเวลานี้ของเขาเมื่อเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ด่ามันได้

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า