เนื่องจากความอ้วนและการมีน้ำหนักเกินอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความป่วยไข้นานาประการ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และมีโอกาสจะพัฒนาไปสู่ความผิดปกติของระบบหลอดเลือดหัวใจ ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาทิ ตาบอด โรคไต หรือเกิดแผลเรื้อรังบริเวณแขนขาจนต้องพิจารณาตัดทิ้ง กลุ่มรณรงค์ด้านสุขภาพในอังกฤษจึงมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อกีดกันการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นต้นเหตุดังกล่าว
สถิติน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานผ่านเข้าปากชาวอังกฤษมากกว่า 5,727 ล้านลิตรต่อปี หากสามารถเก็บภาษีปริมาณน้ำตาลได้ในอัตรา 20 เพนซ์ต่อลิตร จะเพิ่มรายรับเข้าประเทศกว่า 1,100 ล้านปอนด์
กลุ่ม Action on Sugar หนึ่งในตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษบังคับใช้ภาษีน้ำตาล (Sugar Tax) เพื่อลดการบริโภคน้ำตาลที่อาจนำไปสู่โรคภัยและภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก โดยนำเสนอแผน 7 ขั้นตอนต่อ เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ซึ่งประกอบไปด้วย
- ลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มลงร้อยละ 40 ภายในปี 2020
- แบนการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่การโฆษณาอาหารขยะต่อเด็กและเยาวชน
- ตัดการเชื่อมโยงระหว่างการออกกำลังกายกับความเสี่ยงน้ำหนักเกิน ด้วยการห้ามไม่ให้บรรษัทอาหารขยะให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬาทุกรายการ
- ลดปริมาณไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวให้ได้ร้อยละ 15 ภายในปี 2020
- จำกัดสถานที่จำหน่ายอาหารผ่านกระบวนการ (Ultra-processed product) และน้ำอัดลมควบคู่กับการปรับลดขนาดบริโภคลง
- สนับสนุนอาหารที่ดีต่อสุขภาพและกีดกันการผลิตน้ำอัดลมด้วยการบังคับใช้ภาษีน้ำตาล
- กระจายความรับผิดชอบและการกำกับดูแลด้านโภชนาการจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์กรอิสระ
อาหาร Ultra-processed คืออาหารแปรรูปหลายๆ อย่างรวมกัน สังเกตง่ายๆ คือ มักอยู่ในแพ็คเกจพร้อมรับประทานได้ทันที หรือเพียงอุ่นร้อนจากไมโครเวฟในร้านสะดวกซื้อ สามารถวางบนชั้นได้นาน หาซื้อสะดวก หน้าตาน่ารับประทาน
นอกจากการเก็บภาษีน้ำตาล ยังมีแผนจำกัดปริมาณน้ำตาลในอาหารแปรรูปและน้ำอัดลม รวมถึงการแบนโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายระหว่างถ่ายทอดการแข่งขันกีฬายอดนิยม ดร.อาซีม มัลโฮทรา แพทย์ด้านหัวใจและผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของ Action on Sugar กล่าวว่า น่าผิดหวังที่บรรษัทอุตสาหกรรมอาหารยังใช้งบโฆษณานับพันล้านปอนด์ต่อปีพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน นอกจากนั้น ยังพยายามเชื่อมโยงเครื่องดื่มที่มีความหวานเข้ากับการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
เกรแฮม แม็คเกรเกอร์ ประธานกลุ่ม Action on Sugar กล่าวว่า การที่เด็กๆ มีน้ำหนักเกินจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ ของการเสียชีวิตและทุพพลภาพในอังกฤษ
ภาวะน้ำหนักเกินป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ในเมื่อนโยบายและกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังมีปัญหา อังกฤษจึงต้องการการปรับกลยุทธ์ ที่เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าจะลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำอัดลมให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม
ที่มา:
theguardian.com
bbc.com