หลังจากผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่มาได้เกือบ 6 เดือน ปลายปี 2566 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งและเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ถ้าดูจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีมากถึง 12 ล้านคน และจัดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ทุกภูมิภาค เป็นครั้งแรก
การเลือกตั้งดังกล่าวคือการเลือกตั้ง ‘คณะกรรมการประกันสังคม’ ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็คือเหล่าคนทำงาน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานอิสระ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้ประกันตน’ ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน จะเป็นผู้เลือกบอร์ดบริหารจำนวน 7 คน เพื่อเข้าไปบริหารกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท
ทว่า แม้จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ที่มีผลต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนนับสิบล้าน แต่กลับมีผู้ประกันตนที่รู้ข่าวการเลือกตั้งดังกล่าวเพียงหยิบมือ มิหนำซ้ำด้วยกลไกการจัดการเลือกตั้งที่กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนจะต้องเข้าไปยืนยันตัวตนในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และต้องเลือกเขตพื้นที่ที่จะไปใช้สิทธิเสียก่อน จึงจะมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้
ผลก็คือมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเพียงแค่ 900,000 คนเท่านั้น และมีผู้ประกันตนที่จะต้องเสียสิทธิไม่สามารถไปเลือกตั้งได้กว่า 11 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทราบในภายหลังว่าจะต้องเข้าไปยืนยันสิทธิหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกิดเป็นความสงสัยขึ้นมาว่าการเลือกตั้งที่ใหญ่ระดับนี้ และกองทุนประกันสังคมที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้ เหตุใดจึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ผู้ประกันตนบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมมีความสำคัญอย่างไร รวมไปถึงไม่ทราบว่าเม็ดเงินในกองทุนประกันสังคมมีความสำคัญเช่นไร
สถานการณ์การขาดความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงบรรยากาศของการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ถ้าเทียบการเลือกตั้งประเภทต่างๆ สามารถพูดได้ว่าเงียบเหงาและซบเซาได้อย่างเต็มปาก ทำให้ WAY เดินทางไปคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ศึกษาและยืนหยัดรณรงค์ต่อสู้เพื่อแนวคิดรัฐสวัสดิการในไทยอย่างขันแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้เขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม พร้อมกับทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ เพื่อหวังจะสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าเพื่อคนไทยทุกคน และจะทำให้เงินในกองทุนประกันสังคมตั้งแต่บาทแรกจนถึงบาทสุดท้ายเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
WAY ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ครอบคลุมทุกมิติ ก่อนออกไปเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่ที่มาที่ไปของกองทุนประกันสังคม การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทีมประกันสังคมก้าวหน้า จนไปถึงสถานะปัจจุบันของแนวคิดรัฐสวัสดิการในไทย
-1-
กองทุนประกันสังคม & การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 101
กองทุนประกันสังคมคืออะไร มีแนวคิดและที่มาที่ไปอย่างไร
ก่อนการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ประกันสังคม เวลาพูดถึงเรื่องสวัสดิการ เราจะนึกถึงสวัสดิการข้าราชการ คนที่เป็นหมอ เป็นครู เป็นตำรวจ ถึงจะสามารถคิดฝันถึงสวัสดิการในการทำงานได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นคนที่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ
แต่การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นการยืนยันว่าแม้คุณจะเป็นคนทำงานในโรงงานเย็บผ้า เป็นคนที่ไขน็อตอยู่ในโรงงาน หรือแม้กระทั่งคนที่ทิ้งไร่นาจากต่างจังหวัดมาทำงานในโรงงาน คุณก็สามารถคิดฝันถึงการมีสวัสดิการได้ พูดง่ายๆ มันคือสวัสดิการสำหรับคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ในสังคมนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันการเกิดขึ้นของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นฐานความคิดเรื่องสวัสดิการสำหรับคนธรรมดา
แน่นอนที่สุดว่าในประเทศไทย ประกันสังคมเกิดขึ้นล่าช้ามากคือในปี 2533 ซึ่งที่จริงควรจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เป็นการเบรก พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำลังจะมีการประกาศใช้ และทำให้ต้องรอคอยมาเกือบ 40 ปี ถึงจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ในปี 2533
สิ่งหนึ่งที่เราต้องมาร์กไว้ก็คือ จากปี 2533 จนกระทั่งถึงปี 2566 ประเทศไทยผ่านการรัฐประหาร 3 ครั้ง ถือว่าเยอะมากในรอบ 33 ปี สิ่งเหล่านี้ทำให้ประกันสังคมก็ด้อยพัฒนาไปพร้อมกับประชาธิปไตยในประเทศไทย ทั้งที่กองทุนนี้น่าจะเป็นหลังพิงให้กับคนธรรมดาในสังคม เป็นกองทุนที่เราคาดหมายว่าจะเป็นสวัสดิการสำหรับคนธรรมดา ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมแม้จะเป็นกองทุนสวัสดิการที่ใหญ่โต แต่กลับมีสิทธิประโยชน์น่าจะล้าหลังที่สุด ถ้าเทียบกับขนาดของกองทุน
ในเบื้องต้นสิ่งที่เราต้องย้ำสำหรับคนไทยคือ ประกันสังคมเป็นเครื่องหมายที่ย้ำให้เห็นว่าคนธรรมดาสามารถคิดฝันเรื่องการมีสวัสดิการได้
ผู้ประกันตนได้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมอย่างไรบ้าง
ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม จะมี 3 มาตราใหญ่ที่เราคุ้นชินกัน คือมาตรา 33 เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับ เริ่มต้นจากการรักษาพยาบาล การเลี้ยงดูบุตร การรักษาเด็ก เงินประกันตอนว่างงาน เงินบำนาญ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านทุพพลภาพก็ดี เสียชีวิตก็ดี นี่คือสิ่งที่คนจะได้รับ เมื่อคุณทำงาน คุณต้องถูกหักค่าประกันสังคม ทั้งในสัดส่วนของลูกจ้างและนายจ้างที่ต้องหักมาสมทบตรงนี้
ถ้าให้ผมพูดตามตรง สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ถึงเราจะบอกว่ามันน้อย แต่ก็ยังไม่มีประกันสุขภาพเอกชนใดในตลาดที่ให้สิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับประกันสังคม หลายคนบอกว่าจ่ายไปขนาดนี้ไม่ได้อะไรเลย แต่พอไปดูตลาดประกันสุขภาพเอกชนที่คุณต้องจ่ายปีละ 9,000 บาท แล้วมีเงินบำนาญให้คุณ มีเงินเลี้ยงดูบุตรให้คุณ มีการรักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งประกันการว่างงาน สวัสดิการแบบนี้ยังไม่มีนะครับ
ดังนั้น ตามหลักการแล้วก็ยังถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่มากกว่ากลไกตลาดที่จะจัดให้แต่ละคนได้ เพราะว่ารัฐเข้ามาวางเงื่อนไข วางกฎเกณฑ์ วางกติกา สิ่งนี้เป็นดอกผลของการต่อสู้เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน แต่ว่ามันถูกแช่แข็งจนทำให้พัฒนาการล่าช้าไปอย่างมาก
ต่อมามาตรา 39 คือแรงงานอิสระที่เคยอยู่ในมาตรา 33 มาก่อน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออก สามารถจ่ายเงินสมทบเองได้ เดือนละ 432 บาท ได้สิทธิเหมือนเดิมเลย ยกเว้นประกันการว่างงาน แต่ปัญหาของมาตรานี้คือ การคำนวณเงินบำนาญ จากเดิมมาตรา 33 กำหนดฐานเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท แต่พอเขามาจ่ายเงินสมทบเองตามมาตรา 39 กลับถูกปรับลดฐานเงินเดือนอยู่ที่ 4,800 บาท ส่งผลต่อการคำนวนเงินบำนาญตอนเกษียณที่เขาจะได้น้อยลง นี่เป็นเรื่องที่ผู้ประกันตนเจ็บปวดมาก บางคนลาออกหรือถูกเลิกจ้างตอนอายุ 50 แล้วอยากส่งเงินสมทบต่อ แต่ทำให้เขาเสียประโยชน์เมื่อเป็นผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบด้วยตนเอง
อีกมาตราคือ มาตรา 40 ทุกคนสามารถจ่ายสมทบกองทุนได้ เริ่มต้นที่ 70 บาท แต่จะไม่ได้ค่ารักษาพยาบาล เป็นเพียงการประกันชดเชยรายได้ กรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต แล้วก็เป็นเงินออม คนที่เป็นแรงงานอิสระสามารถจ่ายสมทบได้โดยสมัครใจ แต่มาตรา 40 สิทธิประโยชน์ค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้คนมาจ่ายเงินสมทบ แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะตอนนั้นรัฐบาลเอาไปผูกกับเงินเยียวยาโควิด-19
อันนี้คือลักษณะของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 3 มาตรา ซึ่งมีปัญหาทั้ง 3 มาตรา
อุปสรรคหรือความยากลำบากที่ผู้ประกันตนต้องเจอในการเข้าถึงสิทธิเป็นอย่างไร
สิทธิพื้นฐานที่คนทั่วไปน่าจะเข้าถึงได้ง่ายคือการรักษาพยาบาล ซึ่งสำนักงานประกันสังคมก็จ่ายเป็นงบเหมาจ่ายให้กับสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือก มันเป็นกองทุนเดียวในประเทศที่เราเป็นคนจ่ายเงินเอง แต่พอไปไล่ดูตามสิทธิประโยชน์ ณ ตอนนี้ สิทธิประโยชน์ของประกันสังคม มาตรา 33 เริ่มแย่กว่าบัตรทองแล้ว
ถ้าเทียบกับบัตรทองที่คุณเกิดมา คุณได้สิทธิเลย หรือถ้าคุณเป็นข้าราชการ คุณได้สิทธิเลย ไม่ต้องสมทบเพิ่ม อย่างบัตรทองรักษามะเร็งได้ทุกที่ รักษาทันตกรรมได้ทุกอาการ ส่วนประกันสังคมรักษามะเร็งได้ 20 ชนิด แต่ถ้าไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ ก็จะได้แค่ 50,000 บาทต่อปี ฉายแสงครั้งหนึ่งต้นทุนประมาณ 80,000 บาท ก็เกินแล้ว ไม่ครอบคลุม ส่วนเรื่องทันตกรรมก็อย่างที่ทุกคนทราบ ได้แค่ 900 บาทต่อปี
นี่เป็นตัวอย่างของสิทธิในการรักษาพยาบาลที่เริ่มมีช่องว่าง ยังไม่นับรวมถึงประกันว่างงาน หรือสิทธิบำนาญ มันเลยทำให้คนรู้สึกเป็นอื่นกับประกันสังคม แล้ววันดีคืนดีเราก็ได้ยินว่า การลงทุนของประกันสังคมขาดทุนเป็นพันล้าน ซึ่งอาจเป็นเพียงทศนิยมของกองทุนใหญ่ระดับ 2.4 ล้านล้านบาท แต่ในความรู้สึกของคนทั่วไปก็เกิดคำถามว่า เงินเราหายไปไหน ทำไมการปรับเงินเลี้ยงดูเด็กมันปรับช้า สิทธิประโยชน์เรื่องการคลอดบุตรทำไมปรับขึ้นทีละนิดทีละหน่อย แต่การใช้จ่ายของสำนักงานกองทุนประกันสังคมกลับหมดไปกับอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน เกิดเป็นวิกฤตศรัทธาขึ้น
ที่ผ่านมากองทุนประกันสังคมมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาท ถูกบริหารจัดการอย่างไร
กองทุนนี้คือกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ปัจจุบันมีมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท มีเงินเข้าเป็น passive income ปีละประมาณ 140,000 ล้านบาท แล้วก็มีกำไรจากดอกผลประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท ถือว่าเยอะมาก แต่ว่าใน 140,000 ล้านบาทที่เข้ามา ตามกฎหมายสำนักงานกองทุนประกันสังคมสามารถหักไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการบริหารกองทุน บริการสำนักงาน หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานกองทุนประกันสังคมใช้ไม่ถึงหรอก แต่ก็ถือว่าเยอะ
ปัญหาใหญ่ตอนนี้ก็คือ เราแทบมองไม่เห็นว่าการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม เข้าไปสู่สินทรัพย์ตัวใดบ้าง บางครั้งเราจะเห็นในข่าวว่าไปลงในกองทรัสต์อะไรต่างๆ ที่ดูไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือไปลงทุนในกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ที่บางครั้งก็ไมได้เป็นมิตรต่อผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่คือปัญหาใหญ่ที่แทบไม่มีการตรวจสอบ ทั้งๆ ที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่เอาเงินมาจากคนทำงานหนัก พนักงานออฟฟิศที่มีความฝัน แต่การลงทุนทั้งหลายแทบจะไม่ยึดโยงกับคนธรรมดาเลย
หากบริหารจัดการกองทุนนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพจะถึงขั้นทำให้กองทุนล้มละลายได้หรือไม่
มันคงไม่ถึงขั้นทำให้กองทุนล้มละลายหรือว่าทำให้เงินกองทุนหมดไป แต่มันเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่น สำหรับการบริหารความเสี่ยงของกองทุน เรื่องนี้สำคัญมาก ถึงแม้กองทุน 2.4 ล้านล้านบาท ขาดทุนหลักพันล้านบาท มันก็ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย คุณได้กำไรส่วนอื่นเยอะ แต่ถ้าคนไม่เชื่อมั่น การผลักดันเรื่องต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมก็จะยากขึ้น
สุดท้ายแล้ว กองทุนนี้ก็เหมือนแดนสนธยา เราไม่รู้ว่าเงินตรงนี้ไปไหน ไปลงทุนในกลุ่มทุนประเภทไหน ก็ไม่มีการเปิดเผยสู่ประชาชน วิกฤตศรัทธาแบบนี้แหละเป็นปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือปัญหาคนสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น เคยมีข่าวว่ากองทุนอาจเงินหมด ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้แก้ไขได้ แต่ปัญหาความไม่โปร่งใสนี่แหละที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่น
สถานการณ์สังคมสูงวัยจะส่งผลต่อเงินกองทุนอย่างไรบ้าง
มันจะมีค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้นแน่นอน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก แต่ตอนนี้ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถจัดการได้ เพราะยังมีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ระบบต่างๆ เยอะขึ้น อย่างตอนนี้กำหนดเพดานฐานเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เมื่อก่อนนี้เวลาพูดถึงคนที่มีเงินเดือน 15,000 เรากำลังพูดถึงคนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงาน แต่ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 60-80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่จะไปแตะเพดานสูงสุดของเพดานประกันสังคม
เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถจูงใจเรื่องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ ก็จะทำให้คนยินยอมที่จะปรับเพดานตรงนี้เพิ่มขึ้น หรือทำให้คนอยู่ในเงื่อนไขของประกันสังคมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำเงินของโครงการต่างๆ ที่รัฐเคยยืมเงินกองทุนประกันสังคมหรือค้างจ่าย เอากลับคืนมา ถ้าคนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคม เขาก็จะส่งเสียงเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
บอร์ดประกันสังคมทำหน้าที่อะไร ที่ผ่านมามีกระบวนการคัดเลือกอย่างไร
ในระยะสั้นที่ผ่านมา 9 ปี ผมเรียกว่าเป็นยุคมืดของประกันสังคม เพราะบอร์ดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. 9 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งวินาทีนี้ บอร์ดที่มาจากการแต่งตั้งผ่านการรัฐประหารของ คสช. ก็ยังทำงานอยู่ ส่วนหนึ่งมาลงเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้มีกฎหมายอะไรมาเบรกเหมือนตอนยุบสภา ยังเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายอยู่ นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าตั้งคำถามมากว่า 9 ปีที่ผ่านมา บอร์ดไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย
ที่ผ่านมาการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม จะเป็นระบบ 1 สหภาพ 1 โหวต เป็นการเลือกผ่านทางสหภาพแรงงานต่างๆ สมมติว่าในประเทศไทยมีสัก 2,000 สหภาพ นั่นหมายความว่าเป็นการต่อรองของสหภาพ 2,000 เสียง ซึ่งถ้าเราลองไปเจาะดูก็จะพบว่ามีบางสหภาพเป็น ‘สหภาพผี’ คือไม่ได้มีคนทำงาน ไม่ได้แอ็กทีฟ ไม่ได้คุ้มครองผลประโยชน์ของลูกจ้างอีกต่อไป เป็นสหภาพที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเอามาเป็นเสียงต่อรองในการโหวตบอร์ดประกันสังคม
คราวนี้ในปี 2566 ซึ่งที่จริงควรจะเกิดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมขึ้นตั้งแต่ปี 2557 แล้ว แต่มีการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อน มันเลยเป็นการเบรกความก้าวหน้า แต่ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ผู้ประกันตนจะได้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แบบ 1 คน 1 เสียงเท่ากัน
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ ใครเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้บ้าง
คนที่จ่ายสมทบประกันสังคมทั้ง 3 มาตรา โดยมีเงื่อนไขว่าตั้งแต่มีนาคมถึงกันยายน ปี 2566 สมทบมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และต้องลงทะเบียนยืนยันก่อนวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 จึงจะมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 12 ล้านคน แต่คนมาลงทะเบียนประมาณ 900,000 คน และผ่านเงื่อนไขการคัดกรองเหลือประมาณ 850,000 คนที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง
จริงๆ แล้วโดยหลักการมันคือการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ จำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นรองแค่การเลือกตั้งใหญ่เท่านั้นเอง
ทำไมผู้ประกันตนจึงต้องไปลงทะเบียนยืนยันสิทธิเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มีชื่อในระบบอยู่แล้ว
เท่าที่เคยสอบถามสำนักงานประกันสังคม เขากังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ถ้าทุกคนมาใช้สิทธิ เขาต้องเตรียมคูหา เตรียมหน่วยเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งก็จะปาเข้าไปหลักพันล้าน การให้ลงทะเบียนจึงเป็นการกรองคนให้เหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งก็จะเหลือสักประมาณหลักร้อยล้าน
ฟังดูก็ตลกนะ เพราะมันเป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การลงทุนของประกันสังคมก็ไปขาดทุนกับกองทรัสต์ต่างๆ ทีละร้อยล้าน ทีละพันล้าน แต่นี่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ กลับเสียดายงบประมาณในการจัด นี่เป็นปัญหาที่เราพยายามสะท้อนกันมามาก เพราะการลงทะเบียนเหล่านี้ คูหาที่ไม่เพียงพอ เขตเลือกตั้งที่ไม่ตอบสนองต่อชีวิตจริงของคน บางจังหวัดนี่คนต้องเดินทาง 70-80 กม. เพราะในจังหวัดมีสำนักงานประกันสังคมอยู่แค่ 2 แห่ง
โดยหลักพื้นฐาน ผู้ประกันตนทุกคนก็ควรจะมีสิทธิเลือกตั้งโดยอัตโนมัติหรือเปล่า
ใช่ครับ โดยหลักพื้นฐานควรจะให้สิทธิในการเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ มันไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง primary vote หรือการโหวตผู้สมัครภายในพรรคที่คุณต้องมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก่อนถึงจะมีสิทธิ มันคนละอย่างกัน เพราะนี่เป็นสิทธิ by default ของคน ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าในแง่หลักการความเป็นประชาธิปไตยมันมีปัญหาเหมือนกัน
ทำไมแรงงานข้ามชาติที่จ่ายเงินประกันตนกับกองทุนฯ ถึงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
อันนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ มีแรงงานข้ามชาติเกือบ 900,000 คน หรือเกือบถึงล้านคนนะครับที่เป็นผู้ประกันตน แต่ว่าไม่มีสิทธิแม้แต่จะไปเลือกตั้ง รวมถึงสิทธิลงสมัครก็ไม่มี
ผมพยายามสอบถาม ก็มีตัวแทนที่เกี่ยวข้องอธิบายว่าเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง คือกลัวว่าจะมีตัวแทนจากแรงงานข้ามชาติเข้ามามีบทบาทในกองทุนนี้มากเกินไป ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นทัศนคติที่มีปัญหา
ถ้ามีโอกาสในอีก 2 ปีต่อจากนี้ไป เราต้องผลักดันการเลือกตั้งให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ และทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนตามเงื่อนไขต้องมีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีสิทธิส่งตัวแทนของตัวเองเข้าไป
ทำไมอาจารย์ถึงเคยเปรียบว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ เปรียบเสมือน ‘มวยวัด’
ด้านหนึ่งมันไม่ได้ถูกจัดการโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมันไม่ได้มีกฎหมายอะไรมาห้าม ถ้าผมเปรียบเทียบมันเหมือนการเลือกตั้งสหกรณ์ พูดง่ายๆ ก็คือการจัดตั้ง การขนคนไปแจกของ ก็จะเกิดทั่วไปเลย
แต่ข้อที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นข้อดีนะ คือมันจะเป็นการเลือกตั้งที่โอเพนมากเลย ในการที่คุณจะหาเสียง ชูนโยบายอะไรต่างๆ ที่ปะทะกันโดยตรง ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามอะไรมากมาย ก็อาจเป็นสนามให้เราเห็นได้ว่านี่คือการแข่งขันในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่น่าจะดูเข้มข้นที่สุดในรอบหลายปี
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีคณะกรรมการหรือคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยโปร่งใสและเที่ยงธรรมไหม
ก็มีนะ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินการผ่านกฎกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ซึ่งถ้าพูดตามตรง สำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้มีความสามารถด้านนี้หรือทรัพยากรบุคคลที่จะมาทำเรื่องนี้ การทำงานของเขาค่อนข้างจะ passive คือเป็นการตั้งรับค่อนข้างมากเลย เวลามีปัญหาอะไรก็แก้เป็นกรณีไป เพราะไม่ได้มีทรัพยากรที่จะมาจัดการเลือกตั้งในสเกลใหญ่ขนาดนี้
มองเห็นปัญหาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้มากแค่ไหน
ด้านแรก ผมรู้สึกว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนขอไปที มีคนลงทะเบียนเลือกตั้งตอนแรกแค่ 200,000 คน แต่พอฝั่งประชาธิปไตยออกมารณรงค์ ทำให้ตัวเลขคนมาลงทะเบียนเลือกตั้งขยับไปถึง 900,000 กว่า พูดง่ายๆ คือประชาชนแอ็กทีฟมากกว่าสำนักงานประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคมใช้วิธีการรณรงค์ด้วยการส่ง SMS แล้วก็ส่งใบปลิวไปที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ผมคุยกับน้องๆ ที่ทำงานอยู่ฝ่าย HR เขาบอกว่าเกือบเอาไปรีไซเคิลหมดแล้ว มีงบในการประชาสัมพันธ์กว่า 10 ล้านบาท จากงบจัดการเลือกตั้ง 200 ล้าน แต่มันมีกระบวนการอะไรต่างๆ น้อยมาก ไม่พอ
ผมตั้งข้อสังเกตอยู่ตลอดเวลานะว่า ถ้าคนลงทะเบียนน้อย ฝั่งสืบทอดอำนาจ ฝั่งอำนาจนิยมจะได้เปรียบกับเรื่องนี้ แต่ว่าถ้าคนลงทะเบียนเยอะ มีการควบคุมเข้มแข็ง ฝั่งนั้นก็จะทำอะไรได้ยาก และจะมีการแข็งขันเชิงนโยบายกันมากขึ้น
ทำไมการที่คนลงทะเบียนน้อย จึงเป็นการสร้างความได้เปรียบให้แก่ฝั่งอำนาจนิยม
สมมติว่าคนลงทะเบียนสัก 100,000 คน และคุณสามารถคุยกับโรงงานที่คุณรู้จักสัก 5-6 โรง คุณก็สามารถล็อบบี้ได้สัก 20,000 คนแล้ว และคุณก็สามารถที่จะควบคุมผลโหวตได้ค่อนข้างแน่ แต่ตอนนี้คนขยายไปถึง 900,000 คน ก็กลายเป็นเงื่อนไขที่ไม่ง่ายเหมือนกันในการควบคุมเรื่องพวกนี้
ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งผลต่อการเมืองไทยในภาพใหญ่มากน้อยแค่ไหน
ผมว่ามันเป็นสัญญาณที่เราคุยกันมาตลอดว่า เราอยากให้ฝั่งประชาธิปไตยของเราชนะทุกสนามเลือกตั้ง สามารถที่จะส่งเสียง สามารถที่จะยืนยันว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 จริงๆ ฝั่งประชาธิปไตยชนะแล้ว แต่เราไม่ได้อำนาจในการบริหาร แต่ครั้งนี้ผมคาดหวังว่าเราในฐานะตัวแทนของฝั่งประชาธิปไตย เราต้องการจะชูให้เห็นว่า ก้าวแรกของการสร้างรัฐสวัสดิการสามารถเริ่มได้ พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่ามันเป็นไปได้
-2-
‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ ทีมทำงานเพื่อประกันสังคมของทุกคน
อะไรทำให้อาจารย์ตัดสินใจลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในครั้งนี้
ด้วยเหตุผลที่ผมบอกไปว่า นี่เป็นสนามการเลือกตั้งอีกสนามหนึ่งที่สำคัญของทั้งฝั่งประชาธิปไตยและอำนาจนิยม ในเหตุผลส่วนตัว ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสพิสูจน์สิ่งที่ผมรณรงค์และทำแคมเปญมาตลอดทั้งชีวิต ก็คือการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งถ้าเราสามารถบริหารเงินกองทุนประกันสังคมตั้งแต่เงินบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนได้ มันจะทำให้เรื่องสวัสดิการอื่นๆ ในประเทศนี้เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วง่าย และเป็นไปได้มากขึ้น
ในฐานะนักวิชาการที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันรัฐสวัสดิการ กับบทบาทการลงสมัครรับเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทั้งสองบทบาทนี้แตกต่างกันอย่างไร
จริงๆ แล้วผมก็มีโอกาสไปพูดให้ สส. ในการหาเสียงหลายครั้ง เราก็เป็นส่วนที่สนับสนุนเขา แต่ครั้งนี้มีความแตกต่าง การต้องลงมาจัดการเงื่อนไขอะไรต่างๆ ด้วยตัวเอง การบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผม
ในอีกด้านหนึ่ง ผมสัมผัสได้ว่าคนในสังคมปรารถนาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าการข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกอาชีพ แค่เราปรารถนาที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การที่เราจะเป็นตัวแทนอุดมการณ์ของชนชั้นพวกเราเอง ก็เป็นโอกาสที่เหมาะสำหรับผมที่จะผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ
ทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
จริงๆ แล้วเราก็เป็นทีมที่รู้จักกันมาสักพักหนึ่งแล้ว เราคือ People of 2020 เป็นคนที่ร่วมประท้วงกับคนรุ่นใหม่ในเวลานั้น หลายคนถูกดำเนินคดี อยู่ในขบวนการแรงงาน รู้จักกัน พูดง่ายๆ เราคือแรงงานฝั่งประชาธิปไตยนี่เอง เป็นกลุ่มของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ทำให้ขบวนการแรงงานตกต่ำด้วยการไปรับใช้เผด็จการ
ส่วนการมารณรงค์ ฟอร์มทีมกัน เริ่มต้นจากคุณไหม-ธนพร วิจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานย่านสระบุรี โดนเลิกจ้าง และต่อสู้มาตลอด ก็ชวนผมมาฟอร์มทีม มาผลักดันอะไรต่างๆ ตรงนี้ โดยมีหมุดหมายว่าเราต้องการให้ฝั่งประชาธิปไตยชนะทุกสนาม
เราจึงร่วมมือกับคณะก้าวหน้า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความสัมพันธ์แบบใหม่เหมือนกัน คือเราเป็นพันธมิตรกัน จะไม่เหมือนการเลือกตั้งท้องถิ่นที่คณะก้าวหน้าส่งตัวแทนลงในนามคณะก้าวหน้า แต่อันนี้คือเราเป็นพาร์ทเนอร์กันเพื่อผลักดันประเด็นต่างๆ ถ้าเรามีประเด็นต่างๆ ที่ก้าวหน้า เราสามารถผลักดันไปได้เลยโดยไม่ต้องรอคณะก้าวหน้า คณะก้าวหน้าก็คอยสนับสนุนเรา เป็นพันธมิตร เหมือนสหภาพแรงงานอื่นๆ
ในคราวนี้ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า เราเป็นคนทำงานที่อยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของประชาชน เป็นฝั่งประชาธิปไตยที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนมาตั้งแต่ปี 2563 ที่คนถูกเลิกจ้าง คนถูกดำเนินคดี เราต้องการสปิริตแบบนั้นกลับมา สปิริตของช่วง 2563-2564 ของคนที่กล้าต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจกลุ่มทุนผูกขาด
มีเกณฑ์การคัดเลือกหรือชักชวนคนเข้าร่วมทีมอย่างไร
แน่นอนที่สุดคือต้องเป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นคนที่ต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยม และก็เป็นผู้ที่ไม่เคยมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับความฉ้อฉลของกระทรวงแรงงานและกองทุนประกันสังคมที่ผ่านมา
เราคุยกันหลายอย่างถึงเรื่อง MOU ที่เราจะมีต่อไปในอนาคต ว่าเราจะไม่เป็นพวกที่อยู่ในตำแหน่งจนตายแบบที่เคยมีมาในสำนักงานประกันสังคม เราจะต้องมีคณะกรรมการที่มาตรวจสอบทีหลังได้ หลังการเลือกตั้งจะมีการตั้งคณะกรรมการเป็นบุคคลภายนอก เป็นตัวแทนจากสหภาพ เป็นตัวแทนจากพันธมิตรของเราที่จะคอยควบคุมแนวทางการผลักดันนโยบายของบอร์ดที่ชนะการเลือกตั้ง
กระบวนการทำงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันเลือกตั้งเป็นอย่างไร
มันเป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างแปลกเหมือนกัน เพราะมี 2 ขยัก ขยักแรก คือการรณรงค์ให้มีการลงทะเบียน อันนี้ก็ต้องให้มีการลงทะเบียนให้ได้มากที่สุด มันก็ค่อนข้างซับซ้อน เวลาไปอธิบายให้คนที่เขาจะลงทะเบียนก็ต้องอธิบายประมาณ 3 ขยัก ประกันสังคมคือะไร ลงทะเบียนยังไง พอลงเสร็จแล้วคุณจะต้องเลือกตั้งยังไง อธิบายค่อนข้างซับซ้อน
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้ามีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ผมคิดว่าทีมผมได้เปรียบ คือลงทะเบียนเสร็จปุ๊บ เลือกตั้งวันรุ่งขึ้นเลยนะ ผมว่าทีมผมได้เปรียบ แต่พอมันเว้นช่วง สิ่งหนึ่งที่เราต้องคิดกันว่าจะทำยังไงให้คนที่ตั้งใจลงทะเบียนและจะเลือกเราเนี่ย วันที่ 24 ธันวาคม เขายังเลือกเราอีก ก็เป็นสมรภูมิทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ต้องทำงานเข้มข้นมาก
หากตัวแทนของประกันสังคมก้าวหน้าไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ครบทุกคน หรืออาจชนะแค่บางคน จะสามารถทำงานร่วมกับตัวแทนคนอื่นๆ ได้ไหม
ผมคิดว่าแนวโน้มน่าจะเป็นการเลือกยกทีมนะ คะแนนมันจะไม่เหลื่อมกันมากมายขนาดนั้น แต่ผมคิดว่าด้านหนึ่ง เราก็ต้องพยายามผลักดันและปักธงให้ก้าวหน้าที่สุด เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่บอร์ดที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนกังหันลม ลมพัดมาก็หมุนติ้วๆ ไป แต่เราไม่มีบอร์ดที่สามารถเป็นป้ายบอกทางแก่สังคม เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามปักธงให้ก้าวหน้าที่สุด อันนี้คือเรื่องใหญ่
ในการเลือกตั้งใหญ่ 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลต่างก็ถูกขัดขวางจากฝ่ายอำนาจเก่าอยู่เสมอ คิดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะเจออะไรแบบเดียวกันไหม
ผมยังมองในแง่ดีนะว่า จริงๆ แล้วเวทีนี้เป็นเวทีที่ควรจะบริสุทธิ์ พยายามคุยกันให้ได้มากที่สุด และก็ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา แล้วผมก็รู้สึกว่าตัวแทนของพรรคต่างๆ ทีมต่างๆ ที่ลงสมัคร ก็อยู่ในขบวนการแรงงานด้วยกัน มีโอกาสคุยกัน ก็ว่ากันไปตามกติกา ว่าไปตามเกม ก็อาจเป็นข้อดีด้านหนึ่งที่แสดงให้การเลือกตั้งใหญ่เห็นได้ว่าประชาธิปไตยมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น
อะไรคือนโยบายหลักๆ ของทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่อยากผลักดัน
ผมคิดว่ามี 2 ส่วน คือเรื่องสิทธิประโยชน์ กับเรื่องความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย เรื่องสิทธิประโยชน์นี้เราพยายามเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิค่าคลอดบุตร เงินเลี้ยงดูบุตรที่ขยายไปจนถึงอายุ 12 ปี เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อบ้านที่เราจะเพิ่มวงเงินและดอกเบี้ยไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมไปถึงเรื่องใหญ่อย่างการลางานไปดูแลคนในครอบครัว บริษัทที่ยึดโยงกับประชาชน บริษัทที่ไม่ละเมิดกฎหมายแรงงาน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดัน
100 วันแรก หากได้รับการเลือกตั้ง สิ่งที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าจะทำอย่างเร่งด่วนคืออะไร
จริงๆ ทุกเรื่องเป็นนโยบายเร่งด่วนหมดเลย และเป็นเรื่องเร่งด่วนแบบ quick win ที่เราสามารถทำได้ ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ก็คือเรื่องสิทธิประโยชน์ของเด็กตั้งแต่แรกเกิด ตอนนี้เราสามารถปรับได้ทันที รวมถึงเรื่องการวางหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนประกันสังคมที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำให้ประชาชนรับรู้ รวมถึงเรื่องฐานคำนวณเงินบำนาญที่เราต้องปรับให้เป็นธรรมมากขึ้น
-3-
อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของรัฐสวัสดิการไทย
ปัจจุบันแนวคิดและอุดมการณ์แบบรัฐสวัสดิการในสังคมไทยมีสถานะอย่างไร
ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์และความคิด เราชนะแล้วนะ เพียงแค่เรายังไม่มีอำนาจรัฐแค่นั้น นึกถึงภาพเมื่อ 10 ปีก่อน เวลาเราพูดเรื่องนี้ เราพูดถึงคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเล็กมากๆ ไม่มีบทบาท แต่ทุกวันนี้เด็กมัธยมสามารถพูดเรื่องนี้ได้ ก่อนหน้านี้คุณจะรู้เรื่องนี้ได้คุณต้องเรียนจบมหาวิทยาลัย และเป็นแค่บางหลักสูตร แต่ตอนนี้เด็กมหาวิทยาลัยแทบทุกคนสามารถพูดเรื่องนี้ เหมือนเขารู้มาตั้งแต่สมัย ม.ต้น แล้ว ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นแล้ว คนไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ากลัวหรือรู้สึกเป็นอื่น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น สถานะในทางอุดมการณ์เรายึดฐานที่มั่นได้อย่างค่อนข้างมั่นคง ทำให้บางครั้งฝั่งชนชั้นนำก็จัดตั้งทางความคิดมาต่อสู้บ้าง แต่ในการต่อสู้ทางความคิด เขาล้มเหลว เราชนะ แต่เรายังขาดอำนาจรัฐในการผลักดันเรื่องเหล่านี้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้ เวทีนี้จึงเป็นเวทีสำคัญ
อะไรทำให้คนรุ่นใหม่ดูมีแนวโน้มโหยหารัฐสวัสดิการมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ
ง่ายๆ เลย พวกเขาปรารถนาสังคมที่ยุติธรรม ปัจจัย 5 ในชีวิตคือเรื่องความยุติธรรมที่ทุกคนควรจะได้รับ ซึ่งความยุติธรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่ความยุติธรรมต่อหน้าศาล แต่เป็นความยุติธรรมในแง่ที่ถ้าคุณอยากเรียนหนังสือ คุณควรจะได้เรียน แม่คุณไม่ควรต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อจ่ายเงินค่านมให้คุณ คุณไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ที่ป่วยติดเตียง คุณควรฝันถึงเรื่องการมีขนส่งสาธารณะที่ดี ราคาถูก มากกว่าการที่คุณอยากได้รถเก๋งดีๆ สักคัน
เพราะความยุติธรรมเป็นปัจจัย 5 ของคนรุ่นใหม่ และรัฐสวัสดิการคือรูปธรรมของคำว่าความยุติธรรม เด็กทุกคนสามารถมีความฝันได้ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร พวกเขาสามารถไปถึงได้ เขารู้ว่ามันไม่ได้เป็นความผิดจากความโง่หรือความขี้เกียจของเขา แต่มันเกิดจากโครงสร้างของประเทศนี้ นี่คือจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้น
ถ้าเทียบกับในอดีตแล้ว ตลอดประวัติศาสตร์ของไทย นี่ถือเป็นยุคที่อุดมการณ์แบบรัฐสวัสดิการเบ่งบานมากที่สุดหรือเปล่า
ผมไม่สามารถกล่าวแบบนั้นได้ เราอย่าลืมนะว่า ปี 2475-2476 ก็เป็นขวบปีแรกที่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการเยอะมากผ่านเค้าโครงเศรษฐกิจ (หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ของปรีดี พนมยงค์) ช่วง 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา รัฐสวัสดิการก็เป็นกระแสหลักมากๆ เป็นแนวคิดสังคมนิยมที่มีหน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการอยู่ แต่ตอนนี้ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เลยทำให้แนวคิดนี้ถูกกระจายไปในวงกว้างในระดับไมโครมากๆ
ท่ามกลางความหลากหลายของอุดมการณ์ทางการเมืองบนโลกนี้ ทำไมเราถึงต้องให้คุณค่ากับอุดมการณ์แบบรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการคือรูปธรรมของความเป็นประชาธิปไตย ถ้าเราเกิดมาในสังคมที่มีความยุติธรรม ทุกคนได้เรียนหนังสือฟรี ได้รับการศึกษาฟรี ได้เงินเลี้ยงดูเด็กฟรี ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี ถ้าเราได้สังคมที่ยุติธรรมแบบนี้ เสรีภาพก็จะตามมา การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นก็จะเปิดกว้าง และสังคมก็จะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในเงื่อนไขตรงนี้มันก็ทำให้สังคมประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้คนไม่ว่าจะเกิดชนชั้นไหน สามารถวิ่งตามความฝันได้อย่างเต็มที่
ในอนาคตกองทุนประกันสังคมควรพัฒนาไปถึงจุดไหนจึงจะเรียกว่าเป็นสวัสดิการโดยถ้วนหน้า
ในแง่รูปธรรม ในทางปฏิบัติและในทางนโยบาย ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องประกันสังคมถ้วนหน้าที่เราผลักดัน ซึ่งก็มีอยู่ในนโยบายของพรรคก้าวไกลด้วยนั้น คือหลักการที่ว่าทุกคนต้องมีประกันสังคม ไม่ใช่ภาคสมัครใจนะ แต่รัฐต้องเป็นผู้ซื้อประกันให้ เพื่อทำให้ชีวิตของคนมีความมั่นคงโดยพื้นฐาน ในช่วงระยะเวลาของการเป็นคนวัยทำงาน ผมคิดว่าอันนี้เป็นสเต็ปแรกที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า คนธรรมดาก็สามารถมีสวัสดิการที่ดีได้