ปี 2011 เอกาเลีย (Egalia) อนุบาลแห่งหนึ่งในสวีเดนยกเลิกการใช้คำนำหน้า เด็กชาย (han) เด็กหญิง (hon) โดยใช้สรรพนามเหมือนกัน ‘hen’ ซึ่งไม่ยึดติดกับบทบาทด้านเพศสภาพ เป็น ‘อนุบาลเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ’ มากกว่านั้นคือเด็กจะได้เรียนรู้รูปแบบชีวิตที่ไม่ใช่เจ้าชาย-เจ้าหญิง แต่จะมีเรื่องรักเพศเดียวกันและเพศที่สามรวมอยู่ด้วย
กรณีข้างต้นดูเป็นตัวอย่างความก้าวหน้าทางสังคมรูปแบบหนึ่งของสวีเดน แต่มกราคมปีนี้ โรงเรียนแห่งหนึ่งกำลังนำรูปแยกเพศชาย-หญิง มาใช้อีกครั้ง
การเปิดเรียนวันแรกหลังช่วงปิดภาคฤดูหนาวของโรงเรียนอดอล์ฟสเบิร์ก (Adolfsberg) ในเมืองเออเรบรู (Örebro) นักเรียนเกรด 9 (อายุ 15-16 ปี) ในห้อง 9C และ 9D จะพบว่า พวกเขาและเธอถูกแยกเป็นห้องชายล้วน – ห้องหญิงล้วน ยกเว้นในวิชาวิทยาศาสตร์
ก่อนหน้านั้น โรงเรียนได้ทำจดหมายแจ้งผู้ปกครอง พร้อมบอกว่า นี่เป็นการทดลองที่ใช้เวลาแค่หกสักปดาห์ เหตุผลคือ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เข้มข้นขึ้น และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักเรียนหญิงที่มักมีปัญหาเขินอาย เพราะเด็กหญิงบางคนไม่เคยพูดในชั้นเรียน หรือไม่ก็ถูกขัดโดยกลุ่มนักเรียนชาย
นั่นคือเหตุผลของโรงเรียน ขณะที่เสียงตอบรับอัน ‘อื้ออึง’ ของกลุ่มนักเรียนเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะสวีเดนใช้ระบบสหศึกษามานานกว่า 40 ปี และโรงเรียนหญิงล้วนแห่งสุดท้ายก็ปิดตัวไปแต่ปี 1974
“ถ้าฉันต้องไปโรงเรียนหญิงล้วน ฉันก็ทำได้นะ แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะโรงเรียนหญิงล้วนมันปิดไปตั้งแต่ปี 1974” เบอาตา เอเดอโฮลต์ (Beata Ejdeholt) นักเรียนหญิงคนหนึ่งว่าไว้ “พวกเขาบอกแค่ว่า เด็กผู้หญิงบางคนคิดว่ามันยากที่พูดต่อหน้าพวกผู้ชาย…”
“ไม่มีใครแฮปปี้เลย ยังไม่เห็นใครชอบระบบนี้สักคน เท่าที่ฉันเห็นมีแต่เสียงตอบกลับมาว่าแย่ทั้งนั้น”
พ่อของเบอาตาก็เช่นกัน แอนเดอร์ส เอเดโฮลต์ วิจารณ์ว่า นี่เป็นค่านิยมโบร่ำโบราณมาก “ถ้ามีใครสักคนในห้องเรียนผ่านการแปลงเพศแล้ว หรือไม่ใช่ทั้งชาย-หญิงล่ะ พวกเขาต้องมีปัญหาแน่ๆ เพราะเขาจะรู้ว่า นั่น (ห้องเรียนแยกเพศ) ไม่ใช่ที่ของเขา…”
ที่ผ่านมา รัฐบาลสวีเดนพยายามป้องกันไม่ให้ประเด็นเพศและเชื้อชาติเป็นเกณฑ์แบ่งแยกการศึกษา แต่ก็เกิดความย้อนแย้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โรงเรียนอิสลามแห่งหนึ่งในสตอล์คโฮม สามารถแยกคลาสเรียนชาย-หญิงได้ในวิชาปฏิบัติ เช่น พลศึกษา
อย่างไรก็ตาม แม้ระบบสหศึกษาจะเป็นสิ่งที่ชาวสวีเดนต้องการ มีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2016 โดย SchoolDash จากอังกฤษ พบว่า เด็กจากโรงเรียนชายล้วนหรือหญิงล้วนมีผลการเรียนดีกว่า โดยทำคะแนน General Certificate of Secondary Education (GCSEs) ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เด็กจากโรงเรียนสหฯทำได้ 55 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิงข้อมูลจาก: thelocal.se
europe.newsweek.com
newstalk.com
thelocal.se