ไต้หวันไม่เอา ‘Sinovac’ ขืนอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่

สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในไต้หวันกำลังเป็นที่น่าเป็นห่วงจากการระบาดระลอกใหม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 พุ่งมาเกือบ 600 คนในวันเดียว ทำสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 100 คน ต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 10 แล้ว จากเดิมที่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อไม่เกิน 30 คน ในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งวัคซีนที่รัฐบาลเคยออกปากสัญญาไว้ว่าจะหามาฉีดให้แก่ประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2020 ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริง ส่งผลให้คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ดิ่งลงมาเหลือเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ (ลดลงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์) คิดเป็นจุดตกต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน ตั้งแต่ช่วงก่อนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2019 

หากพิจารณาจากตัวเลขความคืบหน้าในการระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาลไต้หวันในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ ไช่ อิงเหวิน เพิ่งทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 23 ล้านคน หรือคิดเป็นไม่เกิน 200,000 คนเท่านั้น เพราะวัคซีนที่รัฐบาลได้สั่งเข้ามาทั้ง Pfizer-BioNTech, Moderna และ AstraZeneca รวมแล้วจำนวนมากกว่า 20 ล้านโดสนั้น ถูกส่งมาถึงไต้หวันจริงเพียงแค่ประมาณ 1 ล้านโดส ส่วนอีก 10 ล้านโดส จะตามมาถึงภายในเดือนสิงหาคม 2564 ทำให้เกิดเป็นกระแสด้านลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยในระดับรัฐสภาเองก็เริ่มมี ส.ส. จากพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang) พยายามสร้างกระแสชี้นำให้รัฐบาลไปขอร้องให้จีนแผ่นดินใหญ่ส่งวัคซีน Sinovac และ Sinopharm มาช่วยเหลือ 

ท่าทีเมินเฉยของ ไช่ อิงเหวิน ที่นอกจากจะไม่สนใจข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว ยังหลีกเลี่ยงการที่จะกล่าวถึงวัคซีน Sinovac อีกด้วย ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มแสดงความไม่พอใจ ทั้งจากใน Weibo และใน Facebook ไม่เว้นแม้แต่คนไต้หวันที่เป็นกลุ่มสนับสนุนพรรค DPP ของรัฐบาลเองก็เริ่มที่จะกังขาในความจริงจังต่อการแก้ปัญหาโรคระบาดระลอกใหม่ของรัฐบาลกันแล้ว 

ประเด็นนี้แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นความย้อนแย้งและไร้เหตุผลของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ที่ยึดติดในจุดยืนทางการเมืองต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ (anti-China sentiment) ที่เคยหาเสียงเอาไว้เมื่อปลายปี 2019 มากจนเกินไป จนนำชีวิตประชาชนในประเทศมาเสี่ยงกับไวรัส COVID-19 แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการเล่นการเมืองดังกล่าวนั้น มีบริบทที่ซับซ้อนมากกว่าที่เห็น ประการแรกเลยคือ พรรค DPP ในรัฐบาลไต้หวันนั้น ขาดความไว้วางใจในรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ และมองพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นศัตรูทางการเมืองของตนเองมานานหลายทศวรรษแล้ว ในกลุ่มของผู้มีอิทธิพล ล็อบบี้ยิสต์ และเจ้าหน้าที่ภายในพรรค DPP เองก็ไม่ค่อยไว้ใจประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ด้วยเช่นกัน 

โดยเหตุการณ์ที่ตอกย้ำความไม่ไว้วางใจของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ คือ การที่จีนแผ่นดินใหญ่ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ยืนยันขัดขวางไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งๆ ที่ไต้หวันเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่สามารถควบคุมจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมจะแบ่งปันข้อมูลข่าวสารให้กับประชาคมโลก เมื่อไต้หวันไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกของ WHO ทำให้ไต้หวันตกอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ ทั้งในแง่ข่าวสารและข้อมูลที่ล่าช้ากว่าที่ควร เนื่องจากการติดต่อกับ WHO ต้องดำเนินการผ่านจีนแผ่นดินใหญ่ ซ้ำร้ายจีนยังพยายามกลั่นแกล้งด้วยการปล่อยข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดในไต้หวันให้ประชาคมโลกแตกตื่นอีกด้วย 

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้ไต้หวันภายใต้รัฐบาลของ ไช่ อิงเหวิน มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อวัคซีน Sinovac ของจีนก็คือ ช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ขณะที่รัฐบาลไต้หวันพยายามเจรจาติดต่อขอซื้อวัคซีนจากบริษัท BioNTech ของเยอรมนี จำนวนกว่า 5 ล้านโดสนั้น ก็ถูกรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และกลุ่มทุน Fosun Pharmaceutical (เจ้าของวัคซีน Sinopharm) ที่มีสถานะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท BioNTech เข้ามาแทรกแซงและล้มดีลวัคซีนของไต้หวัน ทำให้การซื้อขายไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จนนำมาซึ่งความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ซึ่งทั้งหมดก็เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการบีบบังคับทางอ้อมให้ไต้หวันต้องซื้อวัคซีนจากจีนไปใช้ เพื่อแสดงความเหนือกว่า และสร้างภาระผูกพันให้ไต้หวันต้องพึ่งพาจีนมากขึ้นในอนาคต

ถ้าหากไต้หวันยอมผ่อนปรนมาตรการ หรือแสดงท่าทีตอบรับต่อเกมการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ในครั้งนี้ ก็จะส่งผลเชิงสัญลักษณ์และยุทธศาสตร์ในระยะยาวต่อทั้งไต้หวันและพรรค DPP ในการดำรงความเป็นอิสระทางนโยบาย (strategic autonomy) ได้ลำบากยิ่งขึ้น เพราะจะเท่ากับเป็นการส่งนัยไปถึงจีนว่าไต้หวันสามารถโอนอ่อนผ่อนปรนได้หากมีสภาวะคับขัน หรือแรงบีบคั้นที่มากเพียงพอ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ต่อไปแนวโน้มที่จีนแผ่นดินใหญ่จะใช้ไม้แข็ง (stick) และเกมข่มขู่ กลั่นแกล้งไต้หวันอีกก็จะมีเพิ่มมากขึ้นและถี่ครั้งขึ้น การตัดสินใจตอบรับต่อสถานการณ์ของ ไช่ อิงเหวิน ในการเมินเฉยต่อข้อเสนอเรื่องวัคซีนจากจีนแผ่นดินใหญ่นี้จึงเป็นหมากและแนวทางที่มีเหตุมีผลมากต่อการอยู่รอดของไต้หวัน ไม่ใช่แค่เกมการเมืองจากพรรค DPP แบบหยาบๆ เพียงอย่างเดียว

การที่รัฐบาลยอมให้ประชาชนในประเทศโจมตีหรือวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงนี้ แลกกับความอยู่รอดของทั้งตัวพรรค และความเป็นอิสระทางด้านนโยบาย (โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข) ในระยะยาวถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ส่วนเรื่องคะแนนความนิยมนั้น เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ลด หรือเพิ่มได้ตลอดทุกช่วงเวลา ดังเช่นช่วงก่อนหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด คะแนนความนิยมของ ไช่ อิงเหวิน ก็เคยดิ่งมาก่อน แต่ก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ในภายหลัง ที่สำคัญคือ ไต้หวันมีโครงการผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศ และได้เตรียมสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไว้รองรับแผนการผลิตที่จะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตสูงถึง 20 ล้านโดสต่อเดือน 

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า