ชลน่าน ศรีแก้ว: หมอลูกทุ่งผู้ได้ใจชาวบ้านด้วยการชนแก้ว

“… ก็เป็นหมอแบบลูกทุ่งๆ” (ยิ้ม)

หนึ่งในคำคุณศัพท์ที่เขาคนนั้น ใช้บรรยายลักษณะของตัวเองสมัยยังเป็นหมออยู่ ด้วยท่าทีสบายๆ ทุกคำถามของเรา แม้จะสร้างความหนักใจ แต่เขาไม่ลังเลที่จะตอบกลับในทุกคำถาม ตัวตนแรกเริ่มจากเด็กบ้านนอก สู่การเป็นผู้แทนฯ ของพี่น้องประชาชน และวันเวลาหนึ่งที่ต้องพบกับ ‘ภัยพิบัติ’ ทางการเมือง เขาจะอยู่กับภัยพิบัติที่ว่านี้อย่างไร …

31 ตุลาคม 2562 หลังหลุดจากด่านตรวจเข้มงวดของ ‘สัปปายะสภาสถาน’ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เราเดินตรงไปยังทางที่คดเคี้ยว มีป้ายกระดาษติดตามทางว่า ‘ฝ่ายค้าน’ ก่อนจะผ่านห้องพัก สส. ที่แปะชื่อพรรคต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้ 

‘เพื่อไทย’ คือ ที่หมายของเราในวันนี้ เรามีนัดกับ สส. ชลน่าน ศรีแก้ว หรือ ‘หมอชลน่าน’ ขุนศึกคนสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ตั้งกระทู้ อภิปราย เปิดปิดด้วยวาจาเชือดเฉือนฟากรัฐบาลในหลายๆ ครา บ่ายวันนั้น จึงเป็นวันสบายๆ ที่เหมาะสำหรับการพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ทั้งเบื้องหน้าของลูกผู้ชายที่ชื่อ ชลน่าน และเบื้องหลังของชายวัยกลางคนที่ผ่านสมรภูมิการเมืองมาอย่างโชกโชน 

องก์ที่หนึ่ง: ชลน่าน  

– เปิดม่าน – 

…แม่ผมตายตอนผมอายุ 4 ขวบ ตอนนั้นยังไม่มีถนน จนกระทั่งผมออกมาเรียน ป.5 นอกหมู่บ้าน ถนนก็ยังไม่มี ไฟฟ้าก็ยังไม่มีด้วย ไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านตอนที่ผมอยู่ ป.6 ก่อนหน้านั้นใช้ตะเกียง มันก็ทำให้เราขวนขวาย อีกอย่าง จังหวะก็เป็นของเราด้วย มันก็มีโชคด้วยจนกลายมาเป็นหมอชลน่านในวันนี้…

ความลำบากในอดีตเป็นแรงผลักดันให้กับผู้ชายอย่างชลน่านหรือเปล่า

พูดแบบพุทธก็คงต้องบอกว่ามันเป็นกรรมเป็นเวร แต่เรื่องราวในอดีตก็มีส่วนที่เป็นแรงผลักดันเรา พอมีโอกาส เราก็เติมเต็มให้ตัวเอง ในบ้านผม ผมเป็นคนแรกที่ได้เรียนหนังสือต่อ ป.5 ปกติเด็กบ้านนอกแบบผมพอจบ ป.4 ก็ออกไปทำไร่ทำนา 

กลายเป็นนักศึกษาแพทย์ได้อย่างไร

ส่วนหนึ่งเพราะเห็นภาพที่คุณแม่ป่วย 

บ้านผมนี่ถือว่าอยู่ในป่าเลย ถนนหนทางไม่มี การคมนาคมทางบกต้องเดินทางเท้า ไม่ก็ทางเกวียนอย่างเดียว ส่วนใหญ่เวลาเดินทางไปไหนมาไหนเราจะใช้ทางน้ำ คนที่จะไปตลาดก็ขึ้นเรือหางยาวผ่านลำน้ำว้า เพราะรถยนต์เข้าไม่ได้ ผมเห็นภาพแม่นอนป่วย มีคนล้อมเต็มไปหมด อาศัยเรือหางยาวพาแม่ไปโรงพยาบาล ไปอยู่นั่น 2-3 วัน คุณแม่ผมก็เสีย 

อาการก็คือปวดท้อง ไปถึงที่นั่นหมอบอกลำไส้ทะลุ แล้วก็เกิดการติดเชื้อในช่องท้อง แม่ผมอายุแค่ 20 กว่าๆ ถ้าเราเจออาการแต่แรก หรือถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่แรก ก็คงไม่ถึงกับต้องเสียชีวิต การไปโรงพยาบาลของคนบ้านนอกมันเป็นทางเลือกสุดท้ายเลยนะ ส่วนใหญ่จะอาศัยหมอพื้นบ้าน หรือที่เรียกว่าหมอเมือง เขาก็จะให้กินยาพื้นบ้าน ใช้คาถาอาคมเป่าเสกกันไป 

ภาพตรงนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจ เราไม่ได้ปฏิเสธภูมิปัญญาพื้นบ้าน เราไม่ได้ปฏิเสธการรักษาตามประเพณี แต่เราต้องดูเหตุของโรค ซึ่งถ้าจะรู้เหตุของโรคได้ก็ต้องไปเรียนหมอ

โชคดีที่ผมเรียนดีหน่อย เขามีโครงการส่งเสริมแพทย์ชนบท เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับโครงการส่งเสริมแพทย์ชนบท รุ่นผมเป็นรุ่นที่ 7 ตอนนั้นเขาให้โควตาคัดเลือกคนชนบทโดยการสอบคัดเลือกเฉพาะ คนละอย่างกับการเอนทรานซ์นะ อย่างของผมคือการคัดเลือกเอานักเรียนที่มีคะแนนดีในจังหวัดน่าน แล้วผมได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จาก 5 คน เลยได้เรียนหมอ  

ถามว่าได้เป็นแล้วไปทำตามแรงบันดาลใจไหม ผมก็พยายามเอาบทเรียนไปผสมผสาน อย่างเราฝังใจกับการรักษาผิดๆ ของหมอพื้นบ้าน เราก็ไม่ได้ปฏิเสธ เราก็เอาข้อดีของเขามาผสมผสาน อย่างผมใส่เฝือกให้คนไข้ไป เขาไปเจาะเฝือก ผมถามว่าเจาะทำไม เจาะเพื่อให้หมอเมืองเป่า ถ้าเราไม่เข้าใจวิถีเหล่านี้ เราก็คงโกรธ หาว่าเขามาแทรกแซงการรักษาเรา 

– ปิดม่าน –

องก์ที่สอง: หมอชลน่าน

– เปิดม่าน –

…ผมเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 1 เมื่อปี 2524 มันก็เป็นช่วงหลังจากภาวะวิกฤติทางการเมืองปี 2519 ราว 5 ปี พวกนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเขากลับมาเรียนหนังสือ จากคำสั่งนิรโทรษกรรม 66/23 พอกลับจากป่ามาเป็นนักศึกษาต่อ ผมเองก็มีเพื่อนที่รหัส 18-19 แล้วกลับมาเรียนพร้อมรหัส 24 เยอะมากเลย เราก็ซึมซับได้ฟังเยอะพอสมควร… 

แสดงว่านั่นคือจุดเริ่มต้นที่หมอชลน่านหันมาสนใจการเมือง?

สมัยที่ผมเป็นเด็กวัดอยู่ ผมได้อ่านหนังสือที่เขียนเรื่องราวของ จอห์น เอฟ. เคเนดี (John F. Kenedy) มันอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพนักการเมือง เขาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ ทำให้เราก็มีความสนใจการเมืองบ้าง พอมาเป็นนักศึกษาแพทย์ ปี 2524 ช่วงนั้นก็เป็นช่วงหลังเหตุการณ์การเมืองไทยยุค 14 ตุลา 2516 และ ยุค 6 ตุลา 2519 ไปแล้ว แต่เราก็ได้มีโอกาสซึมซับและเห็นบรรยายกาศผ่านตา 

ผมเริ่มเป็นหมอครั้งแรกคือปี 2530 ตอนนั้นผมประจำอยู่ที่โรงพยาบาลนาหมื่น (อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง อยู่ได้ 3 ปี ย้ายมาอยู่นาน้อยอยู่ 5 ปี ตอนที่ทำงานก็เห็นวิกฤติปี 2535 ที่เข้ามา ทำให้ผมได้เข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น เราก็ทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2538 พรรคประชาธิปัตย์มาจีบผมไปลงเลือกตั้ง ตอนนั้นผมย้ายไปทำงานเป็น ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ทำอยู่ราว 5 ปี เขาก็มาชวนไปลงเลือกตั้ง ตอนนั้นผมปฏิเสธไป เพราะยังไม่มีความพร้อมที่จะลง  

จะว่าไปแล้วหมอชลน่านก็เคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ตอนนั้นมีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษไหม

ไม่มีเป้าหมายอะไรสำคัญ แค่ต้องการมีส่วนร่วมเท่านั้น เพียงแต่ว่า หนึ่ง-ความหมายของการสมัครสมาชิกพรรคมันแสดงให้เห็นถึงความสนใจการเมือง สอง-คือสมัยนั้นประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ดูดีที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง สาม-คือเรื่องของการสื่อสารและโอกาส เพราะประชาธิปัตย์ก็มีโครงการเยอะแยะเลย อย่างเช่น ยุวประชาธิปัตย์ 

การเป็นหมอในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

สมัยก่อนการได้รักษาในโรงพยาบาลถือว่าดีสุดแล้ว อย่างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง จะมีหมออยู่แค่คนเดียวหรือ 2 คนอย่างมาก นอกจากนั้นก็จะเป็นสถานีอนามัย สิทธิการรักษาพยาบาลของชาวบ้านสมัยก่อน ถ้าใครยากจนข้นแค้น เขาก็ให้บัตรสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยสำหรับการรักษาพยาบาล (สปร.) คำว่าสงเคราะห์มันก็คล้ายกับการเป็นคนป่วยอนาถา 

แล้วมันก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีอะไรเลย ไม่ได้เป็นข้าราชการ จนก็ไม่ใช่ รวยก็ไม่ใช่ คนกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิอะไร เวลาเขาไปโรงพยาบาล เขาก็จะต้องควักกระเป๋าของตัวเอง เลยกลายเป็นที่มาของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย คือการให้สิทธิกับคนทุกกลุ่มไปเลย 

เหตุที่บัตรทอง 30 บาท ไม่ถูกเรียกว่าเป็นบัตรอนาถาเพราะอะไรรู้ไหม เพราะทุกคนมี ‘สิทธิ’ เท่าเทียมกัน ถ้าทุกคนเท่าเทียมกันก็ไม่ถือว่าใครอนาถาหรือไม่อนาถา เป็นหลักสิทธิมนุษยชน เราถือว่าเขาได้สิทธิ การได้สิทธิแล้วไม่ถือว่าเป็นการสงเคราะห์ แต่ถือว่าเป็นสิทธิที่เขาจะได้ 

หมอก็เลยสู้เรื่องนี้ตลอดระยะเวลาการเป็นผู้แทนฯ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้อยู่แล้วเรื่องสิทธิ รัฐต้องให้การดูแล จึงต้องเขียนว่า สิทธิที่พึงได้รับ ตรงนี้ก็เป็นมุมหนึ่งที่ภูมิใจว่า พอเป็นนักการเมืองถึงสามารถแก้ไขในระดับนโยบายได้ มันก็ตอบโจทย์สิ่งที่ฝันไว้พอสมควร

แล้วจุดที่คิดว่า การเป็นหมอเพียงอย่างเดียวไม่พอสำหรับการแก้ปัญหา แต่ต้องเป็นนักการเมืองเพื่อทำงานเชิงนโยบายเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาในภาพรวมได้ มาจากอะไร  

มันมีแรงผลักที่ทำให้ตัดสินใจตอนแรก ย้อนกลับไปตอนเป็นนักเรียน ไปสอบเพื่อจะเป็นนักเรียนลำดับ 1-5 เพื่อได้มาเรียนแพทย์ที่มหิดล แล้วก็มีคำถามหนึ่งที่ผมถูกถามว่า ถ้าคุณได้เป็นนักศึกษาแพทย์ แล้วคุณจะแก้ปัญหา ‘โง่ จน เจ็บ’ ยังไง 

เราก็ตอบตามความคิดของเด็ก มศ.5 เราโยงให้เขาเห็นวงจรอุบาทว์ 3 วงนี้มันเป็นผลสืบเนื่องและโยงเข้าหากันหมด วิธีแก้ก็ต้องแก้เชิงระบบทั้งหมด ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง เริ่มจากจนก่อน จนทำให้เกิดความโง่ ความไม่รู้ แล้วก็นำไปสู่ความเจ็บ ดังนั้นทุกจุดมันต้องได้รับการแก้ไข  ถ้าจะแก้ไขเรื่องความโง่ของคนเราก็จะแก้ไขทักษะความรู้ มันไม่จำเป็นต้องเรียนในระบบอย่างเดียว ขอให้คุณมีความรู้มีทักษะที่จะดำเนินชีวิต ถ้าไม่โง่ก็ไม่จน มีอาชีพ มีรายได้ พอไม่จนคุณก็สามารถป้องกันดูแลรักษาตัวเองได้ เจ็บป่วยอะไรก็เข้าโรงพยาบาล 

เหมือนเรื่องของแม่ผม ไม่มีสถานพยาบาลที่รักษาดีๆ ก็ต้องอาศัยวิธีชาวบ้าน เป่ากันอยู่อย่างนั้น หมอยาต้มกรอกลงไป แต่ถ้าคุณมีโอกาสที่ดีเข้าถึงการรักษาคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้น 

ในมุมของเราที่ตอนนั้นจะเข้าโรงเรียนแพทย์ ไปเรียนหมอ แน่นอนว่าหน้าที่หลักมันคือการแก้ไขเรื่องความเจ็บป่วย แต่เรามุ่งแต่รักษาอย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องกลับไปดูเหตุของความเจ็บด้วย ชาวบ้านจำเป็นต้องได้รับความรู้เรื่องสุขภาพ โอเคถ้าเขามีความรู้แล้วจะทำให้เขาไม่จนไปพร้อมๆ กัน มันทำได้ด้วย ผมก็อธิบายให้กรรมการฟัง 

สรุปออกจากห้อง ผมได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 เลย พอเราเป็นหมอ เราแก้ปัญหาเชิงระบบไม่ได้ แก้ได้แค่เรื่องความเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งวงจรอุบาทว์นี้มันเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขกันเชิงระบบ แก้ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ มันเป็นความคิดเชิงตรรกะ สภาพจริงๆ ก็อาจจะมีตัวแปรอีกเยอะมาก ตรงนี้ก็เลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมอยากจะเข้าสู่การเมือง 

แล้วปัจจัยหลักที่ทำให้หมอชลน่านตัดสินใจเป็น สส. ชลน่านคืออะไร

มีอยู่ 3 ข้อ 

หนึ่ง-เรามั่นใจว่าถ้าเราลงสมัครแล้วจะชนะแน่นอน ตอนนั้นผมมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ตอนนั้นกระแสไทยรักไทยมาแรงมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ กระแสนายกฯ คนเหนือลอยลำมาเลย 

สอง-ไทยรักไทยเป็นพรรคใหม่ และเป็นพรรคที่มีนโยบายที่ดี โดยเฉพาะเรื่อง บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

และข้อสุดท้าย ตอนนั้นผมมีฐานเสียงในพื้นที่ที่สนับสนุนจนทำให้มั่นใจ พอปี 2544 ถึงได้ตัดสินใจเด็ดขาดในการเข้าสู่การเมือง 

ในปัจจัย 3 ข้อ มีอยู่ข้อหนึ่งที่บอกว่า ในพื้นที่ให้การสนับสนุน แสดงว่าหมอชลน่านต้องเป็นคนดังสำหรับชาวบ้านมากๆ แล้วหมอชลน่านเป็นคนแบบไหนในเวลานั้น 

เหตุที่มั่นใจ โดยตัวอาชีพหมอในเวลานั้นชาวบ้านเขาก็ให้เกียรติเรา เขายอมรับในตัวเรา เราคิดว่าชาวบ้านเขาไม่เกลียดเราแน่ๆ 

อย่างที่สอง ผมอยู่ที่นาหมื่น 3 ปี เขตเลือกตั้งผมคือ เวียงสา นาน้อย นาหมื่น บ้านหลวง สันติสุข แม่จริม โดยที่ บ้านหลวง สันติสุข แม่จริม นาหมื่น เป็นเขตเลือกตั้งที่ประชากรน้อย ไม่ถึง 20,000 ส่วนอำเภอใหญ่อยู่ที่อำเภอเวียงสา 70,000 นาน้อย 30,000 ข้อตัดสินใจของผมคือ ผมอยู่นาหมื่นมา 3 ปี นาน้อย 5 ปี เวียงสาบ้านเกิดผม ผมเลยคิดว่าแค่ 3 อำเภอ ถ้าหาเสียงอย่างเต็มที่ ก็เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว 

ถามว่าดังขนาดไหน ก็ไม่ได้ถึงกับว่าเป็นเซเลบ แต่ว่าในโรงเรียนที่ผมจบมา ชื่อผมจะขึ้นบอร์ดตลอดในฐานะนักเรียนดีเด่น ในฐานะประธานสภานักเรียน ผมก็เป็นที่รู้จักในหมู่รุ่นน้องรุ่นพี่อยู่แล้ว ก็เลยมั่นใจว่า ในพื้นที่เวียงสาคงไม่ยากที่จะชนะ คิดขนาดนั้นเลยนะ (ยิ้ม) 

นาหมื่นที่เราอยู่มา 3 ปี คนส่วนใหญ่รู้จักเรา ในฐานะที่เป็นหมอ และก็เป็นหมอแบบลูกทุ่งๆ จะอยู่กับชาวบ้านเป็นหลัก ไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เป็นหน้าที่หลัก แต่ถ้ามีเวลาว่าง ผมไม่เคยได้อยู่ที่บ้านเลย ผมไม่มีคลินิกนะ ผมก็จะไปอยู่กับชาวบ้าน เพราะสภาพแวดล้อมที่ผมทำงานนั้นไม่เอื้อกับการเปิดคลินิกเลย  มันเป็นชุมชนเล็กๆ เอง ไปเปิดก็อาจจะได้ แต่มันไม่ใช่ทางผม

ผมเป็นคนชอบเล่นกีฬา พอว่างเมื่อไหร่ก็จะไปเล่นกีฬา เพราะฉะนั้นกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบกีฬาเราก็จะเจอหน้า รู้จักกันทั้งหมด สมัยนั้นยังมีหนังเร่อยู่ มันก็จะมีสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ ผมก็มีโอกาสได้ไปพบกับชาวบ้าน ก็เลยได้สัมผัสกับชาวบ้าน ไปทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขา พวกเขาก็จะมีกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ก็จะมีภาพจำที่ผมไปชนแก้ว (เหล้าขาว) กับชาวบ้านบ่อยหน่อย เขายังพากันเรียกผม หมอชนแก้ว ศรีน่าน เลย (หัวเราะเสียงดัง)

มันเป็นวิถีของชาวบ้านเขาน่ะ เขากินเหล้าขาว เราก็ต้องกินเหล้าขาว เราจะไปปฏิเสธไม่ได้ 

– ปิดม่าน –

องก์ที่สาม: สส. ชลน่าน

– เปิดม่าน –

… ผมเป็น สส. ครั้งแรกผมภูมิใจมาก ตอนเข้ามาปี 2544 จนถึง 2548 ผมได้ทำงานเต็มที่ มีความสุขมากๆ ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์เต็มที่ ภาพการเมืองเป็นอย่างที่เราวางไว้ แทบจะไม่มีการซื้อเสียงเลย เพราะซื้อก็สู้ไม่ได้ มันอยู่ที่ผลงาน วัดกันที่นโยบาย 

แต่การเลือกตั้งรอบนี้ ใครมีเงิน ใครมีอำนาจก็ใส่ไปหมด ขนาดเพื่อไทยผลงานดียังหายไปเป็นร้อย สิ่งที่เราคาดหวัง เราคาดหวังประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มีรัฐธรรมนูญที่อิงตามหลักสากล ไม่ใช่ว่าเป็นเมืองไทยแล้วจะเขียนรัฐธรรมนูญเฉพาะเมืองไทย เราต้องอยู่กับอารยประเทศเขา ทุกอย่างต้องเป็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

พอได้เป็น สส. แล้ว เป้าหมายแรกของการทำงานการเมือง มีแค่เป้าหมายด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไหม

ความเป็นนักการเมืองมันต้องดูทุกมิติ แต่ว่าเวลามาทำงานมันก็อาจจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะ เช่น เราเป็นคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เราก็ใช้ความสามารถที่เข้าใจระบบสาธารณสุขอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ เพราะกรรมาธิการเป็นองค์คณะที่สภาตั้งบุคคลขึ้นมา และไปพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นจริงๆ แล้วให้นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์

จะเกิดประโยชน์ได้ยังไง สมมุติว่าไปศึกษามาแล้ว เรื่องนั้นมันจำเป็นจริงๆ กรรมาธิการก็จะต้องตราเป็นกฎหมาย จะแก้กฎหมายที่อยู่ก็ต้องอาศัยอำนาจสภาฯ ไม่ได้มุ่งเป้าว่าจะต้องอยู่ด้านไหนเป็นพิเศษ แต่ถ้าถนัดด้านไหนก็ทำ มันก็เหมือนฟันเฟือง คนดูสาธารณสุข เศรษฐกิจ มิติเชิงสังคม คนที่ถนัดก็ทำเป็นหลัก

สส. ชลน่านปรับตัวอย่างไร จากการเป็นหมอกลายมาเป็นนักการเมือง 

ช่วงปี 2538-2539 ที่มีคนมาชวน ตอนนั้นเรายังไม่พร้อม ยังไม่มีองค์ความรู้ทางการเมืองมากพอ ก็ตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ที่นิด้า มันก็ทำให้เรามองอะไรได้กว้างขึ้น พอเรียนจบปี 2542 ก็เลยตัดสินใจเล่นการเมืองตอนปี 2544 

จุดเด่นของนักเรียนแพทย์คือไบรท์ เข้าใจอะไรง่าย การรับรู้ การเข้าใจบริบทของสิ่งที่ตนเองสัมผัสมักจะดี อีกอย่าง การเรียนแพทย์มันมีทั้งกว้างทั้งลึก ถ้ามองจากเนื้อหาวิชาการมันเหมือนลึก แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลย คือถ้าเป็นแพทย์ที่มองลึกอย่างเดียว ก็จะเป็นแพทย์ที่ดีไม่ได้ เราต้องแสวงหามุมกว้างๆ มาเติมเต็ม 

ช่วงที่ผมเป็นหมอก็ไม่เคยอยู่เฉยๆ นะ ว่างก็ให้คนรถพาไปดูงานที่บุรีรัมย์บ้าง จังหวัดต่างๆ ที่เขามีโปรเจ็คท์บ้าง ก็เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเรื่องกฎหมาย ผมไม่เคยเรียนมาก่อน แต่พอลองอ่านแล้วจะเข้าใจเร็ว สามารถตีความได้ง่าย ข้อดีของผมคือพยายามเอาทุกอย่างมาผสมกัน เวลาที่เห็นภาพกว้างเราไม่ต้องพายเรือในอ่าง 

สส. ชลน่านตั้งแต่ยุค 2 พรรคใหญ่ในรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบันยุครัฐธรรมนูญ 2560 สส. ชลน่านปรับตัวและเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง

ระบบการเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ เหตุการณ์ก่อนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 มันมีวิกฤติทางการเมือง พรรคการเมืองล้มเหลว สถาบันการเมืองอ่อนแอมาก ถ้าจะทำให้สถาบันการเมืองเข้มแข็งต้องทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งด้วย ในการที่จะปกครองถ้าฝ่ายบริหาร นายกฯ อ่อนแอ มันไปต่อไม่ได้ ฝ่ายตุลาการที่จะมาตัดสินก็ต้องมีกรอบ มีกติกา มีระบบที่เป็นธรรมภายใต้หลักนิติธรรม คือสามฝ่ายต้องถ่วงดุลอำนาจกันอย่างจริงๆ ไม่มีอันหนึ่งอันใดที่อ่อน พอดีไซน์ความต้องการที่ว่า ก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 มันทำให้เกิดภาพพรรคการเมือง 2 พรรค คนก็บอกว่า นายกฯ เข้มแข็งเกินไป พรรคการเมืองเข้มแข็งเกินไป จนท้ายที่สุดคนก็จะไปตีความว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ก็เลยเป็นที่มาของการล้มรัฐธรรมนูญปี 2540 

สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือ จะทำยังไงให้การเมืองอ่อนแอที่สุดสำหรับผู้มีอำนาจ ทำอย่างไรให้ตัวนายกรัฐมนตรีอ่อนแอ ให้ภาคการเมืองอ่อนแอ คำตอบมันออกมาและเปิดเผยในรัฐธรรมนูญ 2560 การเมืองของไทยมันไม่ใช่การเมืองปกติ เหมือนที่นักวิชาการเขาให้คำนิยามว่า ‘รัฐซ้อนรัฐ’ มันมีอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่อำนาจทางการเมืองปกติ เพราะรัฐธรรมนูญมันเขียนรองรับไว้แบบนี้ 

ถ้าถามว่า ตัวผมเองจะหนีจากภัยพิบัติ (ยิ้ม) ครั้งนี้ได้ยังไง ผมก็ยังโชคดีที่สามารถกินบุญเก่าจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จากความนิยมชมชอบของชาวบ้าน ก็เลยไม่ต้องทำอะไรมากนัก แต่อย่างไรเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง เราจะไม่สนใจเขาก็ไม่ได้แล้ว มันเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว หลายคนไม่ปรับตัวก็แพ้นะ

อยากให้ลองยกตัวอย่างให้เห็น นอกจากกระแสในโซเชียลมีเดีย คิดว่าการเป็น ‘ชนแก้ว ศรีน่าน’ ตามงานบุญของชาวบ้าน หรือแม้แต่การไปงานศพ วิธีการเหล่านี้ยังใช้ได้อยู่ไหม สำหรับการเมืองในปัจจุบัน 

สำหรับภาคเหนือภาคอีสานยังคงใช้ได้อยู่ ผมถึงไม่ทิ้งพื้นที่ ความสม่ำเสมอ การมีส่วนร่วมกับเขายังคงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยืนอยู่ เป็นคนดีของชาวบ้าน คือคนทำดีกับเขา คนที่ช่วยเหลือเขาได้ คนที่เป็นที่พึ่งให้กับเขา คนที่เขาปรึกษาได้ 

ความเป็นผู้แทนของคนบ้านนอกค่อนข้างจะแตกต่างกับผู้แทนในเมืองพอสมควร เราเป็นอะไรให้เขาได้ เขาปรึกษาเราได้คุยกับเราได้ เวลาผมกลับบ้าน (น่าน) เขาก็จะเข้ามาถาม ไปไหนมา ไม่เห็นหน้าเห็นตาเลย ทั้งๆ ที่เขาก็จะเห็นตามหน้าทีวีตลอดนะ เขารู้ แต่มันเป็นคำพูดที่ติดปาก แสดงว่าการพบปะ พูดคุย การเป็น ชนแก้ว ศรีน่าน นี่ยังมีความสำคัญอยู่นะ (หัวเราะ)

ส่วนคนรุ่นใหม่ๆ โซเชียลมีเดียเราไม่ทิ้ง ภาพที่เราทำงานการเมืองกับภาพคนที่ไม่เคยทำงานการเมืองมันก็ค่อนข้างชัด ยกตัวอย่างคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน ผมกับเขาอาจจะต่างกันบ้างตรงการทำงานการเมืองมาก่อน มีโอกาสทำให้เขาเห็นผลงานที่จับต้องได้  อันนี้เป็นจุดแข็งเรา ถ้าจะให้สู้กับกระแส เราสู้ไม่ได้

คนรุ่นใหม่ที่ยอมรับผม จุดหนึ่งมาจากกีฬา การศึกษา มันเป็นภาพที่เราไม่เคยทิ้ง คนรุ่นใหม่ในน่านยังจับต้องส่วนนี้ได้

ฟากเพื่อไทยคนอื่นๆ ปรับตัวเหมือน สส. ชลน่านหรือเปล่า

จริงๆ มันเป็นความคิดหลักของพรรคเรา ทีมยุทธศาสตร์ ทีมบริหาร เรานั่งคุยกันตลอด เราต้องสะท้อนตัวเอง ถ้าเราจะต้องสู้กับกระแสบางพรรค มันเป็นยังไง ต้องยอมเลย

ในภาคการเมือง มันต้องมีผลงานเชิงประจักษ์มาเกี่ยวข้องด้วย ถึงแม้ว่า การเมืองจะเป็นเรื่องเชิงอุดมการณ์ เชิงความคิด เป็นเรื่องใหญ่ๆ แต่ของจริงมันเป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างน้อยนักการเมืองต้องมีผลงานให้ชาวบ้านเห็น เพราะมันเป็นผลของการพัฒนา อย่างน้อยเขาไม่จน ก็ต้องมีที่อยู่ ที่ทำมาหากิน นักการเมืองยุคเก่า คิดอย่างง่ายๆ ก็เอาถนนไปลง เอาอะไรไปลง มันง่าย

แต่นักการเมืองรุ่นใหม่ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว หนึ่งเลยคือ ถนนมันเต็มแล้ว เอาถนนไปลงแบบนั้นไม่ได้แล้ว สอง-ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญห้าม ก็ต้องหาอย่างอื่นเข้าไปจัดการ บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องสร้างถนน แต่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เขาก็มีที่อยู่ที่ยืนแล้ว 

พรรคจะจัดเรียงลำดับความสำคัญระหว่าง ผลงานเชิงประจักษ์ กับการชูอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ทุกวันนี้พรรคเองก็ได้รับคำวิจารณ์ว่า ‘อยู่เป็น’ ด้วย

เรื่องพรรคคุยกันเยอะ การกำหนดจุดยืน จังหวะการก้าวของพรรค เราคุยกันเยอะมาก แต่สิ่งที่เพื่อไทยถูกกระทำมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ถูกยุบพรรค เป็นพลังประชาชน ถูกยุบพรรค แล้วก็มาเป็นเพื่อไทย ถ้าคุณอยากอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ คุณก็ต้องเลือกอยู่เป็น ถ้าคุณอยู่ไม่เป็น ถูกฆ่าตายแล้วมันจะเกิดประโยชน์อะไรกับสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะทำ การที่คุณจะอยู่เพื่อสร้างอนาคต ถ้าต้องการจะมีชีวิตรอดเพื่อสู้ต่อ คุณต้องอยู่เป็น

ส่วนที่ว่าจะเรียงลำดับระหว่างผลงานเชิงประจักษ์ หรืออุดมการณ์นำ หรือเลือกที่จะ ‘อยู่เป็น’ ไปเรื่อยๆ 3 ภาพนี้ เพื่อไทยเลือกผลงานเชิงประจักษ์เป็นเรื่องหลัก อุดมการณ์เป็นเรื่องที่สอง อยู่เป็นเป็นเรื่องที่สาม เล็กน้อยมาก เราก็ต้องผสมทั้ง 3 อย่างให้เหมาะสม

การเป็นพรรคการเมืองที่พึ่งที่หวังของพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่งเลย อุดมการณ์มีทุกพรรค แต่ใครจะทำอุดมการณ์เป็นอุดมกินให้ได้นี่แหละสำคัญ เพื่อไทยกำลังเปลี่ยนมาทำตรงนี้ให้ชัดมากยิ่งขึ้น ทำเรื่องที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม การเข้ามาของเพื่อไทยทำให้ประชาธิปไตยกินได้สำหรับพี่น้องประชาชน เพื่อไทยก็อาศัยตรงนี้เป็นจุดนำ อะไรที่ไม่หนักหนาสาหัสก็อยู่ให้เป็น

ในหมู่พวกเราคิดเสมอว่ามันไม่ใช่การปกครองในระบอบปกติ มันพร้อมจะยึดอำนาจได้ตลอด อะไรที่พออยู่ได้ก็ให้อยู่

เราประมวลเอาเหตุในอดีตมาปรับใช้ เพราะเพื่อไทยจะต้องเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน ถ้าไม่มีชีวิตรอดจะเป็นที่พึ่งที่หวังให้ใครได้ยังไง แล้วถึงทำเจตนารมณ์ให้เป็นจริง 

อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ เพื่อไทยจะรับมือกับพรรคพลังประชารัฐอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรให้กลับมาเป็นเพื่อไทยอย่างในอดีตอีกครั้ง

ลองดูผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก่อนนะ จาก 200 กว่าเสียงเหลืออยู่ 136-137 ต้องยอมรับว่ากลไกที่เขาใช้ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงินเชิงนโยบาย เขาใส่ลงไปหมดแล้วมันก็ได้ผลจริงๆ จะรับมือกับเขาอย่างไร เราต้องมองเขาเป็นคู่แข่งทางการเมือง สิ่งที่เพื่อไทยต้องมอง ถ้าเราวิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขัน เดี๋ยวจะใช้ SWOT จับให้ดู เราต้องมองจุดแข็งจุดอ่อนก่อน 

สอง-ตัวคู่แข่งโดยตรง เราต้องรู้เขาพอสมควรว่าเขามีจุดอ่อนอย่างไร ตัวที่สามเรื่องของโอกาส ปัจจัยที่มาเกื้อหนุนให้เรายังไปต่อได้คืออะไร 

ถ้าย่อการเมืองไทยตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน พลังประชารัฐคือพรรคการเมืองหนึ่งที่ตั้งมาในอดีต ที่เป็นตัวแทนของสายอำนาจเก่า กลุ่มอนุรักษนิยม เมื่อก่อนเขาใช้พรรคนี้ มันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เขามองว่า ต้องมีพรรคตัวแทนที่มาแย่งอำนาจ ต่อสู้ในสภาฯ นี่เป็นกุศโลบาย เขาเลิกใช้บริการพรรคเก่าแล้วตั้งพรรคนี้ขึ้นมา พอจะใช้พรรคการเมืองเป็นฐานทางการเมือง เขาต้องใส่ทุกอย่าง แม้แต่ชื่อ เป็นนโยบาย สุดท้ายก็เอามาตั้งเป็นชื่อพรรค

เพื่อไทยจะอยู่รอดได้อยู่ที่ประชาชน ทีนี้จะทำยังไงให้ประชาชนเชื่อมั่นในเรา การแข่งขันตรงนี้มันอยู่ที่กรรมการ ว่ากรรมการจะให้ใคร อาจจะเหนือจาก SWOT ตรงที่มีตัวกลางมาเกี่ยวข้อง สิ่งที่เราเห็นชัดที่สุดคือปัจจัยคุกคามที่เกี่ยวข้อง ที่เราปฏิเสธไม่ได้อย่าง กติกา ฝ่ายเราพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนกติกาให้เป็นธรรมขึ้น นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงกติกาได้ มันก็จะรับมือได้ง่ายขึ้น ปัจจัยคุกคามข้อนี้ต้องเปลี่ยนให้ได้ อำนาจรัฐ อำนาจเงินที่ใช้อย่างเต็มที่ มันก็จะส่งผลต่อกลไกการตรวจสอบ 

จุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยมีอะไรที่ต้องพัฒนาบ้าง

เวลาวิเคราะห์จุดอ่อนพรรคการเมืองจะแตกต่างจากองค์กรธรรมดา องค์กรธรรมดาจะวิเคราะห์แค่เรื่องภายใน เครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรครบไหม ความรู้คนมีไหม คนเก่งไหม แต่พรรคการเมืองต้องมองจากปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในอย่างความรู้ความสามารถของ สส. มันมีความหลากหลายมาก ความหลากหลายมันเป็นได้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ก็ไม่ถือเป็นจุดอ่อนเสียทีเดียว

อีกข้อคือ เราจะถูกมองว่าเป็นพรรคนายทุน เป็นพรรคครอบครัว เป็นเด็กแม้ว เวลามีข่าวผม ก็จะถูกพาดหัวมาเลย เด็กแม้วโต้ (หัวเราะ) เรื่องนี้มันเหมือนเป็นจุดอ่อนจากภายในแต่จริงๆ เป็นเรื่องที่เกิดจากภายนอกนะ ถือว่าเป็น threat แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงเราจะเก่งจะดียังไง ก็เป็นจุดอ่อน  มันก็เป็นสิ่งที่พรรคต้องแก้ต้องสร้างต่อไป ทำยังไงให้พรรคเข้าใกล้ความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด

จุดอ่อนที่เขาใช้ล้มเรา ทุจริต คอร์รัปชัน นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ เป็นภาพที่เราค่อนข้างจะหนักใจ แต่ปัจจัยเรื่องทุน เรื่องความพร้อมการทำงานตรงนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของเรา 

มีความหวังกับอนาคตการเมืองไทยหลังจากนี้มากน้อยแค่ไหน 

(คิด) 

ถ้าถามว่าหวังมากน้อยแค่ไหน ก็ตอบยาก 

เพราะการเมืองไทยมันแปรปรวนอยู่ตลอด อีกทั้งยังเป็นเป้าที่ถูกขึงพืดไว้ตลอด โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าตอนนี้ ผมก็หวังแค่ว่า เราอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ ด้วยคำว่า ใกล้ประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด 

แต่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นี่คงยากมาก ด้วยวัฒนธรรม ประเพณี วิธีคิด ยากมาก ต่อให้เราทำรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด จารีตประเพณีนิยมมันทำให้ไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ขอแค่อำนาจอธิปไตยที่เป็นอำนาจของปวงชนชาวไทยมันเกิดมรรคผล ผ่านการใช้อำนาจทั้งสามอย่าง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ้ามันมีความสมดุลตรงนี้ได้ ผมว่าผมพอใจแล้ว ผมก็อยากจะเห็นก่อนผมตายเหมือนกันนะ 

– ปิดม่าน –


บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือการบันทึกบทสนทนาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ดังนั้น บางส่วนของบทสัมภาษณ์ถึงวลี ‘อยู่เป็น’ จึงไม่ได้เป็นการสร้างกระแสขัดแย้งกับแคมเปญ #อยู่ไม่เป็น ของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งออกมาภายหลังแต่อย่างใด

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า