เป็นเวลาราว 1 ปี 3 เดือนแล้ว ที่ ตังค์-มรรคพร ขัติยะทองคำ แพทย์หนุ่มวัย 27 ปี ได้สร้างแชนเนลยูทูบชื่อว่า ‘เวรชันสูตร’ เขาตั้งกล้องไว้ตรงหน้า แนะนำตัวสั้นๆ แล้วเปิดฉากเล่าเรื่องราวคดีฆาตกรรมด้วยลีลาที่ลื่นไหลและน้ำเสียงที่รื่นหู บนข้อมูลที่ถูกค้นคว้ามาอย่างรัดกุมและเรื่องราวที่ลงลึก ลึกชนิดที่ว่า เราสามารถจินตนาการชีวิตของคนคนหนึ่ง ที่เติบโต มีความรัก เผชิญบาดแผล สิ้นไร้ และพ่ายแพ้ต่อปีศาจ
ฉาก ชีวิต บ้าน ความเศร้าโศก และการสูญเสีย ถูกโอบอุ้มไว้ในการเล่าของมรรคพรอย่างมีนัยยะสำคัญ หนึ่ง เขาเชื่อว่าไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นฆาตกร และสอง คดีฆาตกรรมที่เขานำมาเล่า ใกล้ตัวเราๆ จนแทบหายใจรดต้นคอ
เขาบอกกับเราว่า มันเริ่มจากความชอบในวัยเด็ก ไล่เลียงตั้งแต่การ์ตูนไขคดีปริศนา ภาพยนตร์ ซีรีส์สืบสวนสอบสวน สารคดีอาชญากรรมไปจนถึงคดีฆาตกรรม การศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวเหล่านี้เริ่มจริงจังลึกซึ้งเมื่อเข้าเรียนวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เขาพบว่า คดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับความรู้ทางการแพทย์ได้ทั้งสิ้น
การสนทนาในวันนี้จึงชวนขุดค้นไปในวิธีคิดของหมอหนุ่ม ที่เชื่อมโยงความจริงขององค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อสะกิดสังคมให้มองเห็นความสูญเสียในมิติของ บทเรียนที่ไม่ควรผลิตซ้ำ หรือชำเราปัญหาจนเรื่องเศร้ากลายเป็นความปกติ
การเล่าเรื่องราวของผม เป็นการเล่าเชิงสารคดี เป็นกรณีศึกษา ไม่มีเจตนาในการใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหา ด่าทอใครๆ ช่องเราไม่สนับสนุนความรุนแรง การใช้คำหยาบคาย หรือพฤติกรรมอันผิดมนุษมนา ถ้าน้องๆ อายุต่ำกว่า 15 ปีมาดูช่องนี้ อันที่จริงผมไม่แนะนำนะครับ แต่ถ้าน้องๆ อยากดูเป็นความรู้ทางการแพทย์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ยังไงก็ต้องมีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำนะครับ
‘ถ้าเพื่อนๆ พร้อมแล้ว เชิญไปรับชมเรื่องราวของการชันสูตรวันนี้ได้เลยครับ’
ในฐานะที่มีอาชีพเป็นหมอ ทำไมจึงเลือกเป็นนักเล่าเรื่องคดีฆาตกรรม
ผมเป็นคนที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรมมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งเรามาเรียนหมอ ยิ่งรู้สึกอิน เพราะแต่ละคดีที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มันมีสิ่งที่การแพทย์ไปเชื่อมโยงได้หมดเลย หรือว่าตัวของ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) ที่มักมีโรคทางการแพทย์ป่วยร่วมด้วย พอยิ่งหาข้อมูล เราก็ยิ่งอยากที่จะรู้ มันต่อยอดกับความรู้ที่เรามีได้ด้วย
ที่จริงพวกเราทุกคนอยู่กับคดีฆาตกรรมมานานมาก ไม่เชื่อก็ลองเปิดดูข่าวได้ครับ มันคือการรายงานคดีฆาตกรรมแทบจะรายวันเลย เราใกล้ชิดกับมันมาตลอด แต่คนเราเลือกจะเสพมากกว่า การที่ผมเอามาถ่ายทอด สิ่งแรกเราไม่ได้สื่อสารความน่ากลัว เราไม่ใส่ซาวด์ประกอบที่น่ากลัวเพื่อบิวด์อารมณ์คน เพราะผมอยากให้การเล่ามันดูจริง เหมือนเราอยู่กับครอบครัวเขา ฟังเขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ฟังเขาให้บทเรียนจากสิ่งที่เขาประสบพบเจอ
การทำช่อง ‘เวรชันสูตร’ เริ่มจากความรู้สึกแบบไหน
ก่อนทำช่องเวรชันสูตร ผมเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนั้นมันเหงามากครับไม่รู้จักใครเลย จะมีก็แค่นัดเล่นเกมกับเพื่อนสนิทในกลุ่ม เพราะเราติดเกมมาก จนวันหนึ่งเพื่อนๆ ในกลุ่มก็เริ่มไม่ว่างมาเล่นเกมด้วยเพราะโรงพยาบาลของพวกเขามีงานเยอะขึ้น ประกอบกับผมเป็นคนชอบพูด ชอบคุย ชอบเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง ผมเลยคิดว่า ‘งั้นเราทำช่องยูทูบดีไหม แล้วถ้าจะทำ ทำเรื่องอะไรดี’
ความที่ผมเป็นหมอ เราก็คิดว่าควรทำสิ่งที่เราถนัดดีกว่า แต่ก็ไม่อยากทำช่องในแบบให้ความรู้ธรรมดา… โรคความดันคืออันนี้นะ ห้ามกินอันนี้นะ ผมว่ามันน่าเบื่อ คนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ผมเลยเริ่มหาคอนเทนต์ที่เอนเตอร์เทนคน แล้วย่อยความรู้เข้าไปในเรื่องราวนั้น คนดูจะได้ความรู้ร่วมด้วย
คดีแรกที่เลือกมาเล่า คือคดีของครอบครัว Watts ทำไมถึงเลือกคดีนี้
ผมติดตามคดีของ ครอบครัว Watts มาก่อนที่จะทำช่องแล้ว เพราะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในปี 2018 พอเรามาทำช่องยูทูบ เราอยากให้เพื่อนๆ ได้รู้จักคดีนี้ ผมเลยพยายามรวบรวมข้อมูลแล้วทำเป็นคลิปแรกเลย รีเสิร์ชนานมากครับ นานจนเรารู้สึกว่า เรากลายไปเป็นครอบครัวเดียวกับเขาเลย สะเทือนใจกับเหยื่อในคดีมากๆ ดิ่งไปในคดีจนเศร้ามากๆ
ซึ่ง… คนรอบตัวผมไม่มีใครชอบเลย เพื่อนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เฮ้ย คลิปแรกทำไมทำตั้ง 1 ชั่วโมง ใครจะมาฟังมึงวะ’ แต่ผมชอบนะ อยากเล่าออกมาให้ครบและลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากนำเสนอทุกประเด็นเท่าที่จะรีเสิร์ชได้จริงๆ
ขณะที่ดำดิ่งไปในเรื่องราวของคดีครอบครัววัตส์ มันเกิดความรู้สึกแบบไหนบ้าง จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรจากการที่อินมากๆ
คดีนี้เป็นคดีแรกที่เราลงไปลึกจริงๆ ทำให้เรารู้สึกเศร้าลึกในเรื่องราวมากๆ รู้สึกว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นเลย มันไม่ใช่ความเศร้าแบบ sad แต่เป็นเศร้าแบบ sorrow เราดิ่งไปจนทุกข์ใจ
พอคดีต่อๆ มา ผมจะไม่เอาตัวเองลงไปลึกมาก เพราะถ้าเอาตัวลงไปลึกมากๆ เราจะสื่อสารออกมาโดยมีอคติ (bias) เข้าข้างเหยื่อ ดังนั้น ผมจึงต้องรู้ตัวแล้ววางตัวกลางๆ เพื่อเข้าไปถึงข้อมูล ไม่เช่นนั้นจะเหมือนคดีครอบครัว Watts คดีแรกที่ผมศึกษาแล้วอินมาก อินมากจนสื่อสารออกมาเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากๆ เข้าข้างเหยื่อมากๆ จนชี้นำคนดูเกินไป
เพราะจริงๆ แล้ว คงไม่มีใครเกิดมาเพื่อนเป็นฆาตกร เขาไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว แต่มันมีปัจจัยของสังคมที่แวดล้อมแล้วผลักเขา โอเคล่ะ มีบางกรณีที่ก่อคดีโดยไม่มีแรงจูงใจ (motivation) เลยก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วเราล้วนเป็นมนุษย์ที่มีดีชั่ว ถ้าระหว่างที่ผมไปหาข้อมูลแล้วเริ่มที่จะมีอคติ จบเลยครับ การสื่อสารของผมจะกลายเป็นการไปประณามความชั่วของคนร้ายอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเขาเลย
การเล่าของคุณไม่ใช่การบอกว่า ฆาตกรคือใคร ฆ่าอย่างไร เพราะอะไร แต่คุณจะให้เวลาในการอธิบายมิติความเป็นมนุษย์ของตัวละครในคดีนั้นๆ เพราะอะไร
เพราะผมรู้สึกว่า การที่เราทำช่องขึ้นมา ไม่ใช่เพราะอยากให้ทุกคนสะใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะสังเกตแต่ละคดีในช่องผมได้เลยว่า บางคนเข้ามาขอเคสโหดๆ เช่นคดีน้องจุนโกะ ขอมาเยอะมาก ผมรู้สึกว่า ถ้าเราเล่าคดีโหดๆ ทำให้มันออกมาโหดๆ แล้วได้อะไร คำตอบคือ เราแทบไม่ได้อะไรเลย นอกจากความสงสารเหยื่อ การประณามฆาตกร และความบันเทิง ผมจึงตั้งใจเลือกคดีที่สะท้อนประเด็นทางสังคมบางอย่างที่เราสามารถศึกษาบุคคลที่ก่อคดี ศึกษาเหยื่อ ศึกษาสถานการณ์ได้
คดีเหล่านี้มันใกล้ตัวเรามากๆ ใกล้เกินกว่าที่จะเป็นแค่เรื่องๆ หนึ่งที่ฟัง สนุก และผ่านไป ดังนั้น ถ้าผมเล่าแค่ว่า เขาชื่ออะไร เกิดวันที่เท่าไหร่ ก่อคดียังไง เราจะแทบไม่รู้แรงจูงใจเชิงลึก ไม่รู้นิสัยใจคอของคนทำและคนถูกกระทำเลย
ความน่าสนใจหนึ่งที่เราพบ คือการสืบค้นข้อมูลของคุณนั้นค่อนข้างลึกและหลากหลายแหล่งมากๆ ทั้งวิดีโอการพิจารณาคดีบางส่วน การสอบปากคำ หลักฐานเชิงนิติเวช ข้อมูลทางการแพทย์ สารคดี และงานวิจัย คุณไปเจอฐานข้อมูลแบบไหนจากการค้นคว้าคดีในต่างประเทศ
ต้องบอกก่อนว่า ถ้าสมมุติเราจะหาข้อมูลเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพจข่าว เว็บไซต์ข่าวเสียส่วนใหญ่ แต่ในต่างประเทศ นอกจากเว็บข่าวแล้ว เขามีฐานข้อมูลชั้นต้นๆ ที่สามารถเชื่อถือข้อมูลได้ หรือมีอีกเว็บที่เก็บรวบรวมหลักฐานไว้ ซึ่งก็ถือเป็นข้อมูลชั้น 2 ชั้น 3 ที่พอใช้ได้ เช่น เว็บไซต์ที่ชื่อว่า Murderpedia เว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อของฆาตกรรอบโลกเลย พอเราคลิกเข้าไปชื่อหนึ่ง ก็จะพบบทความที่อ้างอิงมาในแต่ละเว็บไซต์ มันสะดวกมากๆ ครับ ทำให้เราสามารถตามหาแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ได้ แล้วก็จะมี killer.cloud ที่รวบรวมข้อมูลของคดีฆาตกรรมไว้เหมือนกัน หรือแม้แต่คนทั่วไปที่สร้างเว็บไซต์เพื่อรวบรวมคดีฆาตกรรมไว้ เขาก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยเรายังไม่มีแบบนั้น
ข้อดีคืออะไร ในการที่ปุถุชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหลักฐานและข้อเท็จจริงของคดีต่างๆ นอกเหนือจากการเสพข่าวอย่างเดียว
เราจะได้ไม่ตัดสินอะไรไปตามสื่อเพียงอย่างเดียว ต่างประเทศเขามีตัวเลือกเยอะมากๆ ในการเข้าถึงข้อมูล ข้อดีคือมันไม่ผูกมัดเราว่าต้องฟังเว็บนี้ สำนักข่าวนี้อย่างเดียว แล้วมันพาเราไปถึงหลักฐานต่างๆ ที่เป็น fact ของคดีนั้นๆ
หลายๆ คดีที่คุณนำมาเล่า สามารถจุดประเด็นทางสังคม เกิดแคมเปญรณรงค์ เรียกร้องของประชาชน จนสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ หรือแก้ไขกฏหมายได้ด้วย นี่คือพลังของสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลด้วยหรือไม่
เท่าที่ผมได้ศึกษาและนำกรณีมาเล่า ไม่ว่าจะเป็นคดีของ วาเนซซา กิลเลน (Vanessa Guillen) สิบตรีหญิงที่หายตัวไปในค่ายทหาร Fort Hood Military Base คดีนี้แม้เกิดในค่ายทหาร แต่เรื่องราวนี้ก็ได้จุดประเด็นให้สังคมมารณรงค์ในเรื่องของการคุกคามทางเพศในค่ายทหาร เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเหยื่อ และเป็นคดีที่จุดประเด็นคดีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับทหารหญิงและหญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่ได้รับความใส่ใจในการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง
หรือคดีของ แมทธิว เชพาร์ด (Matthew Shepard) เด็กหนุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย จากคนในสังคมในยุคสมัยที่ยังไม่เปิดกว้าง และยังไม่เปิดใจในเพศทางเลือก จนสุดท้ายชีวิตของแมทธิวต้องพบกับโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า และต้องบอกเลยครับว่า คดีของแมทธิวนี่แหละ ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่อมุมมอง ทัศนคติ ต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ในสังคมอเมริกา หลายคนเปิดใจ เข้าใจมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายพระราช บัญญัติคุ้มครองเพศทางเลือก และการรณรงค์ถึงสิทธิเสรีภาพต่างๆ มากมาย
ยังมีอีกหลายคดีที่เป็นกรณีสำคัญในการเรียกร้อง จนนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อไม่ให้ความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นซ้ำ เราจึงรู้สึกว่า โดยรวมแล้วประเทศเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และเสียงของผู้คน และสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริง
เราแทบไม่เห็นคุณเล่าคดีในประเทศไทยเลย เพราะอะไร
มีหลายเหตุผลมากๆ หนึ่งคือ ผมเห็นใจครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพราะถ้าผมจะทำ ผมตั้งใจจะทำให้ดี ทำให้ลึกและครบถ้วน ทำตั้งแต่ประวัติการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมหรือเป็นเหยื่อ แต่เพราะเป็นเคสในไทย ผมไม่อยากให้ครอบครัวข้างหลังของเขาต้องกลับมาเห็นสิ่งนี้ เพราะเขาอาจต้องการให้ผู้เสียชีวิตพักผ่อนอย่างสงบ แต่เรากลับไปนำเขากลับมาเล่าซ้ำอีกครั้ง ฉากเดิมอีกครั้ง มัน trauma ต่อจิตใจของครอบครัว
มักมีคำพูดว่า ‘คนไม่ชอบฟังอะไรยาวๆ’ เห็นด้วยกับคำพูดนี้ไหม
สำหรับผม ช่วงอีพีแรกๆ ผมยังสะเปะสะปะอยู่เลย เรื่องแรกคือครอบครัว Watts ผมทำเพราะอยากทำ อยากสื่อสารจริงๆ แต่ผลตอบรับตอนนั้นไม่ดีเลย เพื่อนเราเลยบอกว่า ‘ลองทำคลิปสั้นๆ ดูบ้างไหม’
คดีต่อมาเราจึงทำเรื่อง ‘การฆาตกรรมโสเภณีในประเทศฮ่องกง’ คลิปนี้เราอยากวัดเลยว่า ระหว่างคดีดังในกระแสกับคดีที่คนไม่ค่อยรู้จัก แบบไหนจะเวิร์คกว่ากัน เพราะคดีฆาตกรรมโสเภณีแล้วตัดหัวยัดในตุ๊กตาคิตตี้ มันดังมากๆ อยู่แล้ว แล้วผมลองเอาคดีมาสรุปแค่ 16-17 นาทีเอง เพื่อลองโยนหินถามทางดู
พอผมทำไปแล้วรู้สึกเลยว่า ผมทำได้ไม่ดีเลย เป็นคลิปที่ผมไม่เคยกลับไปดูอีกเลยเพราะว่ามันเล่าสรุปจนเกินไป ไม่ใช่เอกลักษณ์ของเราเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วผมมีข้อมูลเชิงลึกกว่านั้นมาก
คดีที่สาม เราจึงเลือกทำคดีของ เอช.เอช. โฮล์มส์ (H.H. Holmes) ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของสหรัฐอเมริกา ผมรีเสิร์ชแล้วทำคลิปเล่าออกมาชั่วโมงกว่า (หัวเราะ)
ส่วนตัวแล้ว คุณสนใจคดีแนวไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า
ผมเน้นเรื่องของฆาตกรต่อเนื่อง เราชอบศึกษาเรื่องนี้ ผมอยากรู้ว่าคนคนหนึ่งเติบโตมาอย่างไรถึงทำให้บั้นปลายกลายเป็นคนที่สามารถฆ่าคนอื่นได้ สามารถวางแผนฆาตกรรมขนาดนี้ได้ เราพบว่า มันมีหลายปัจจัยมากที่จะหล่อหลอมคนคนหนึ่งให้กลายเป็นฆาตกร หนึ่งคือ คนที่เป็นโรคโดยกำเนิด เพราะจากการได้ศึกษาสมองของฆาตกรพบว่า สมองส่วน limbic system ที่ตอบสนองต่อ สัญชาตญาณดิบ พฤติกรรม อารมณ์ ศีลธรรมจะไม่ค่อยมี หรือน้อยกว่าคนปกติ
อีกส่วนที่ผมมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดคือ สิ่งที่แวดล้อมการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง การเลี้ยงดูจากพ่อแม่และการเติบโตในวัยเด็กมีผลมากๆ ที่อาจทำให้เด็กคนหนึ่งโตมากลายเป็นฆาตกรได้
ยกตัวอย่างคดีให้ฟังได้ไหม สถาบันครอบครัวแบบไหนที่ทำให้มนุษย์ธรรมดาสามารถคร่าชีวิตผู้อื่นได้
มีฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่งเขาชื่อว่า อาร์เธอร์ ชอว์ครอส (Arthur Shawcross) เขาฆ่าโสเภณีไปประมาณ 11 คน เขามีฉายาว่า The Genesee River Killer วัยเด็ก เขาเติบโตมาพร้อมกับโครโมโซมที่ผิดปกติ ทำให้เขามีไอคิวต่ำ บวกกับสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอกับสังคมเพื่อนที่ล้อเลียนเขา รังแกเขา ด่าเขา และครอบครัวที่ทารุณกรรมทางเพศอาร์เธอร์ตั้งแต่เด็ก โดนครอบครัวบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับน้องสาว โดนเยอะมากครับ เขาเติบโตมากับอะไรแบบนี้ จนวันหนึ่ง เขารู้สึกว่าความรุนแรงเหล่านี้มันเป็นเรื่องปกติและสามารถกระทำกับผู้อื่นได้
ซึ่งฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่มักมีวัยเด็กที่เลวร้ายและรุนแรงจากคนในครอบครัว หรือบางกรณี ครอบครัวเลี้ยงดูมาดีมากๆ แต่ก็โยนความกดดันให้เด็ก เช่น คดี True Crime in Kobe ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาเติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งครัดและมีระเบียบมากๆ แล้วกดดันลูกชายให้เขาต้องเรียนดี ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ จนทำให้เขาไปหาพื้นที่ความสุขอย่างอื่นที่ไม่เคยได้รับจากพ่อแม่ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่แม้เขาอาจไม่ได้โดน sexual assault (การทำร้ายทางเพศ) เหมือนเคสอื่นๆ แต่ก็โดนความกดดันแทนที่ผลักให้เขาก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงได้
นอกจากเนื้อหาที่ลึก เราพบว่า ‘เวรชันสูตร’ เลือกที่จะเล่าคดีที่หลากหลายประเด็น ทั้งประเด็น ความหลากหลายทางเพศ, Cyberbullying, ความรุนแรงในครอบครัว คุณตั้งใจใช่ไหม
ผมตั้งใจให้หลากหลายนะ เพราะเรื่องที่เอามาเล่า เราอยากให้คนได้รับรู้ว่าสิ่งนี้มันใกล้ตัวมากๆ เขาจะได้ระวังมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้น เช่นเรื่องของน้อง อแมนดา ทอดด์ (Amanda Todd) เด็กสาวที่ชอบท่องโลกโซเชียลจนกระทั่งตกเป็นเหยื่อของสต็อกเกอร์ น้องอแมนดาถูก cyberbullying ถูกคุกคามข่มขู่ และส่งผลให้น้องเลือกที่จะฆ่าตัวตาย ปัญหานี้เราพบในประเทศไทยไม่น้อย เราเลือกหยิบเคสนี้มาถ่ายทอดเพื่อสะท้อนว่า คำพูดของเราต่างมีผลกับมนุษย์คนหนึ่งมากๆ ไม่ว่าจะพูดหรือจะพิมพ์อะไรก็ตาม
เราอยากให้เคสเหล่านี้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้สังคมมันพัฒนาออกจากจุดนี้ได้ในวันหนึ่ง แต่ปัจจุบัน สังคมเราเองก็ยังถูกปิดกั้นการแสดงออกความคิดเห็น ไม่ว่าจะห้องเรียน ครอบครัว กระทั่งห้องประชุม คนที่เป็นเด็กมักต้องฟังผู้ใหญ่เท่านั้น เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เราเติบโตมากับการถูกกดขี่ทางด้านการแสดงออกมาตลอด กลายเป็นว่า ‘คุณต้องประสบความสำเร็จก่อนนะ คุณถึงจะมีสิทธิแสดงความคิดออกมาได้’ ทีนี้พอมันมีเครื่องมืออย่างโซเชียลมีเดียเข้ามา ‘เอ้า ไม่มีใครมาบล็อกเราแล้วนี่หว่า’ เราเป็นแอคเคาท์อวตารก็ได้ ไม่มีใครรู้จักเรา เราก็เลยแสดงความเห็นโบ๊ะบ๊ะรุนแรงได้เต็มที่ สิ่งนี้แหละคือผลพวงจากการที่เราไม่ถูกปลูกฝังให้มีพื้นที่ในการแสดงคิดเห็นมาตั้งแต่เด็ก และทำให้เราเห็นเคสของการ cyberbullying มากมาย
พอมองให้ไกลกว่าความผิดของบุคคล มันคือความผิดของรากฐานสังคมที่ทำให้เราต้องเติบโตกันมาแบบนี้
จากการศึกษาคดีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันเกี่ยวโยงกับความรู้ทางการแพทย์ไม่มากก็น้อย คุณได้ตกผลึกสิ่งใดมาใช้กับอาชีพของตัวเองบ้าง
ผมให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากๆ และเชื่อว่ามันมีพลัง เราจึงเลือกเรียนด้านศาสตร์การให้คำปรึกษา เพราะต้องเข้าใจว่า การที่หมอได้พูดกับคนไข้เพียงไม่กี่นาที ทั้งที่หมอไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับการเจ็บไข้ของเขา หมายถึงว่า เราไม่ได้ป่วย หรือเจ็บไปกับเขา แต่การที่เราคุยกับเขาแค่ 1 นาที มันอาจเปลี่ยนชีวิตคนไข้ไปอีกแบบเลยก็ได้ ด้วยความที่คนไข้ทุกคนกำลังเผชิญกับสภาวะที่อ่อนแอ กังวล ทุกข์ใจ ถ้าเพียงเราพูดส่งๆ ไป สุดท้ายเขาก็ยังคงทุกข์อยู่ การรักษาในปัจจุบันเราจึงไม่ได้รักษาเพียงกายภาพ (physical) เราเน้นการรักษาทางใจ (mental) ไปจนถึงจิตวิญญาณ (spiritual) ของคนไข้ด้วย
ประเด็นไหนที่นำมาเล่าแล้วอินมากๆ
หลายเรื่องครับ ทั้งประเด็นของความหลากหลายทางเพศในเคสของ แมทธิว เชพาร์ด เพราะผมจบ sexual medicine (เวชศาสตร์ทางเพศ) มา แล้วเราได้เขียนบทความวิจัยเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมที่มองต่อคนข้ามเพศ ผมได้ไปศึกษาปัญหาของพวกเขาแล้วเราก็รู้สึกว่า พวกเขาต้องใช้ชีวิตลำบากมากๆ เช่นเรื่องสิทธิการรักษาที่หากคนหลากหลายทางเพศแต่งงานกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับราชการ เขาไม่ได้รับสิทธิการรักษานั้น มันไม่มีกฎหมายรองรับเลย
ตอนที่เรียนด้านเวชศาสตร์ทางเพศ ผมได้ศึกษากลุ่มคนหลากหลายเพศอยู่ไม่น้อย ผมได้เห็นชีวิตพวกเขาในหลายแง่มุม รวมถึงปัญหาที่เขาต้องเผชิญ เลยสนใจเรื่องนี้มากๆ แล้วด้วยประเทศไทย ถึงแม้เราจะเริ่มเปิดกว้างและให้ความเคารพกันในระดับหนึ่ง แต่ถ้าสังเกตดีๆ บริบทในเมืองไทยยังมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นคนสร้างความบันเทิง คุณต้องตลกนะ หรือกระทั่งในสื่อ คนหลากหลายทางเพศก็จะถูกทำให้ต้องตลกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงไม่ใช่
มีอีกหลายๆ เรื่องที่ผมอยากจะสื่อประเด็น ทั้งครอบครัว เพศ การบูลลี่ รักสามเส้า ทุกเรื่องที่ผมคัดมาเล่า ทุกคนที่มาดูจะรู้สึกอิน แล้วที่เขาอิน เป็นเพราะปัญหาเหล่านี้มันอยู่ใกล้ตัวพวกเขาเหลือเกิน
หลายๆ ความสูญเสียที่เป็นกระแสขึ้นมา ทำให้สังคมตื่นตัวและมองหาแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ มองกลับมาที่บ้านเรา เราเรียนรู้จากความสูญเสียมากน้อยขนาดไหน
ผมรู้สึกว่า บ้านเรายังไม่ได้เรียนรู้บทเรียนในอดีตให้ดีเท่าที่ควร เราจะเห็นคดีที่เกิดแล้วเกิดอีก เกิดซ้ำเกิดซาก เกิดเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด ปัญหาครอบครัว ฉ้อโกง เกิดแล้วเกิดอีกเป็นเหมือนวัฏจักร มันฝังอยู่ลึกมากๆ จนกลายเป็นความปกติว่า เดี๋ยวมันก็ต้องเกิดอีกเป็นธรรมดา เราอาจต้องใส่ใจ สร้างมาตรฐานใหม่ให้ชัดเจน
เราจะเห็นหลายๆ คดีในประเทศไทยที่สื่อไปเกี่ยวข้องจนคดีอาชญากรรมกลายเป็นรายการเรียลลิตี้เพื่อความบันเทิง คุณมองเห็นอะไรในปรากฏการณ์นี้
ผมเคยทำคลิปโรคโรคหนึ่งชื่อว่า ‘โรคหลงรักฆาตกร Hybristophilia’ ที่ต่างประเทศเขาได้ศึกษาแล้วพบว่า สิ่งที่ทำให้คนหลงรักฆาตกรก็เพราะว่าสื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยนั้น สื่อเสนอแง่มุมตัวฆาตกรจนเกินไป ดังนั้น ประเทศใดก็ตามที่มีสื่อ มันจะมีกรณีแบบนี้อยู่เสมอ อย่างฝั่งอเมริกานี้ก็จะมีเรียลลิตี้ตามติดชีวิตฆาตกรคนนั้นในคุกต่อ ซึ่งพอเขาถ่ายทอดออกมาแล้ว คนเสพสื่อไปตีความอย่างไร มันขึ้นอยู่กับศักยภาพของคนแต่ละประเทศนั้นๆ ด้วย ปัจจัยทางสังคมจึงสำคัญที่จะปลูกฝังการเสพสื่อด้วย
อีกอย่างคือ กระบวนการสืบสวนสอบสวนของฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย สิ่งที่ผมเห็นชัดในฝั่งอเมริกาคือ ถ้าหน่วยงานรัฐทำผิด สืบสวนผิด จับแพะ เขาจะมีการฟ้องร้องกันใหม่แล้วรัฐจะชดใช้ให้เยอะมากๆ เหมือนคดีของ แอนดรูว์ เบิร์ด (Andrew Burd) ที่ศาลตัดสินว่า แม่ฆ่าลูกด้วยการวางยาโดยเกลือ เอาเกลือโรยใส่อาหารให้ลูกกิน แม่ก็สู้นานมากๆ จนสุดท้าย ศาลรู้ว่าเขาตัดสินผิดจริงๆ เขาออกมายอมรับผิด จ่ายเงินชดเชยให้เป็นเงิน 573,000 เหรียญสหรัฐ แล้วยังจ่ายเงินเยียวยาเป็นเงิน 26,000 เหรียญสหรัฐให้ทุกเดือนตลอดชีวิต
อย่างน้อยกระบวนการยุติธรรมเขายังมีที่ยืนให้กับแพะ มีการชดเชย มีการออกมายอมรับ นี่คือจุดที่ทุกประเทศควรจะมี เพราะถ้าถามว่าศาลคือใคร ศาลก็คือคน ตำรวจก็คือคนที่ผิดพลาดได้ แล้วแต่ว่าคุณจะรับผิดชอบอย่างไรในกระบวนการที่ผิดพลาด ซึ่งทางอเมริกา เขาค่อนข้างรับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน สื่อก็ต้องตระหนักถึงการสื่อสารที่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงมากขึ้น เพราะเราก็เห็นแล้วว่ามันสร้างผลกระทบอะไรบ้าง