คุณคิดว่า การตั้งคำถามเป็นอาชญากรรมหรือไม่? ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กับ 28 วันแห่งการอดอาหาร

หลังจากความพยายามในการขอประกัน ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่านพ้นไป ตะวันยังคงอดอาหารประท้วงเป็นเวลาทั้งสิ้น 28 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2565 

จุดเริ่มต้นของกระบวนการต่อสู้ทั้งหมด เกิดจากการจับกุมตัวกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ ทั้งสิ้น 6 คน จากการจัดกิจกรรมสอบถามความคิดเห็น “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ข้อกล่าวหาประกอบด้วยกฎหมายมาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 138 และมาตรา 368

หลังจากนั้นอีก 2 วัน (10 กุมภาพันธ์ 2565) ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ให้ประกันตัวนักกิจกรรม 5 คน ด้วยหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมในลักษณะเดิมอีก ห้ามหลบหนี และต้องติดกำไลติดตามตัว (EM) ตลอดเวลา ส่วนเยาวชนอายุ 14 ปี อีกหนึ่งรายได้รับประกันด้วยหลักทรัพย์ 20,000 บาท แบบไร้เงื่อนไข

ถัดมา 5 มีนาคม 2565 ตะวันได้เข้าร่วมรับขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนิน พร้อมไลฟ์สดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ถูกจับกุมตัวอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าการไลฟ์สดของตะวันมุ่งร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 จากการวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ยื่นขอถอนการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า ตะวันละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวด้วยการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว และอ้างว่าตะวันพยายามขับรถเข้าใกล้พื้นที่ที่มีขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 

20 เมษายน 2565 ตะวันจึงถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันและควบคุมตัวอีกครั้ง และทำให้ตะวันประกาศอดอาหารประท้วงความอยุติธรรม โดยดื่มเพียงน้ำและนมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ณ ปัจจุบัน (17 พฤษภาคม 2565) มีการยื่นคัดค้านการฝากขังตะวันเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ขณะที่ตำรวจยื่นขอฝากขังต่ออีก 12 วัน โดยอ้างว่ารอส่งสำนวนต่อผู้บังคับบัญชา แต่ศาลตัดสินให้ฝากขังต่ออีก 5 วันเท่านั้น และศาลยังยกคำร้องขอประกันตัวของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เนื่องจากศาลระบุว่าไม่ปรากฏหลักฐานเงินเดือน (สลิปเงินเดือน) ของผู้ร้อง รวมถึงไม่มีพฤติการณ์พิเศษอื่นที่จะพิจารณาคำร้องได้ แม้ว่าพิธาจะยื่นขอประกันโดยแนบหนังสือรับรองจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ที่ระบุอัตราเงินเดือนไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน ตะวันไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะหลบหนี แต่ศาลก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งแต่อย่างใดแม้ว่าตะวันจะยังคงเป็นเพียงผู้ต้องหา มิใช่จำเลย และสุขภาพของตะวันยังคงทรุดลงอย่างต่อเนื่อง 

ที่มา

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า