วิถีแห่งเต๋า: คัมภีร์ในดงหนังสือเก่า และเต๋าที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง

ในดงหนังสือเก่า

ผมเดินตรงดิ่งไปยังบูธหนังสือเก่าแทบจะทันที หลังจาก ‘อากร ภูวสุนธร’ ชายหนุ่มตอนปลายผู้หลงใหลสิ่งพิมพ์มีอายุหยิบหนังสือเก่าเล่มหนึ่งมาอวด มันเป็นหนังสือหายาก อายุน่าจะมากกว่าผมพอสมควร ทว่าสภาพของมันกลับอยู่ในเกณฑ์ที่ยอดเยี่ยม แม้ผมเองไม่ใช่คนที่ปลื้มปริ่มอะไรกับสิ่งพิมพ์เก่าเก็บ แต่พอเห็นหนังสือเล่มนั้นก็ต้องยอมรับว่ามันช่างเย้ายวนให้ไปแหวกว่ายในดงหนังสือเสียจริงๆ

“ยังมีอีกเยอะ ไปค้นดูได้เลย”

ได้ยินลุงอากรชี้แนะเช่นนั้นผมจึงปลีกตัวแหวกผู้คนที่มาเดินในมหกรรมหนังสือระดับชาติกระทั่งถึงบูธหนังสือเก่าอันเป็นเป้าหมาย

หากหนังสือใหม่ที่เพิ่งออกจากโรงพิมพ์มักมีกลิ่นแสบจมูก หนังสือเก่าคือกลิ่นเกือบๆ จะตรงข้าม แม้จะมีความอับชื้นเจือปนมาบ้างแต่โดยรวมแล้วกระดาษซีดเหลืองมีความหอมมากกว่า และเมื่อมันมาอยู่รวมกันนับพันๆ เล่ม การเดินเข้าไปอยู่ใจกลางที่แห่งนั้นจึงมีความหอมตลบอบอวลราวกับกำลังอยู่ในดงดอกไม้ชรา

ผมใช้เวลาอยู่ตรงนั้นร่วมชั่วโมง หยิบเล่มนั้น วางเล่มนี้ อันนั้นก็น่าอ่าน อันนี้ก็น่าครอบครอง แต่เล่มที่สะดุดตาทันทีกรีดดูแล้ววางไม่ลงคือหนังสือเล่มนี้

ปกของมันเคยเป็นสีขาว บัดนี้เป็นสีเหลืองซีดตามอายุ แต่สภาพยังแข็งแรง แม้กาวจะแห้งบ้างแล้วก็ถือว่ายอมรับได้ บนหน้าปกนั้นไม่มีอักษรใดๆ ปรากฏ ทั้งปกหน้า ปกหลัง รวมทั้งสันปก ต่อเมื่อกรีดเข้าไปด้านในจึงเข้าใจได้ว่า หนังสือเล่มนี้เคยมีปกนอกคลุมอยู่ เพียงแต่ด้วยอายุอานามของมันเลยทำให้ปกซึ่งควรจะเป็นภาพ ‘คนตกปลาในวันวารแห่งหิมะ’ นั้นหายไป คงเหลือแต่เพียงปกสีซีดอย่างที่เห็น กระนั้นก็ถือว่ามีข้อดีตรงที่ทำให้สะดุดตาทันทีแม้มันจะนอนนิ่งๆ ท่ามกลางดงหนังสือนับพันก็ตาม

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มกราคม 2521 ฉบับที่ผมได้มาเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อมีนาคม 2525 ขณะที่เจ้าของแรกเริ่มเดิมทีของมันได้มาครอบครองเมื่อปี 2528 ข้อนี้สืบทราบได้ไม่ยากเย็นอะไรเพราะที่คั่นปกนอกซึ่งเป็นภาพ ‘ซิเตยืนหัวร่อกับดวงจันทร์’ ฝีมือของ ‘จางลู่’ นั้น มีข้อความกำกับอยู่มุมซ้ายบนว่า

“จุฑามาศ
10 กย 28″

วันเดือนปีเหล่านี้บอกว่า หนังสือเล่มนี้คลอดออกมาจากโรงพิมพ์ก่อนข้าพเจ้าเกิดมา 3 ปี และมันถูกซื้อหลังจากข้าพเจ้าคลอดออกมาราว 6 เดือน แต่ข้อความที่อยู่ในนั้นกลับไม่เก่าเลย

หนังสือที่กำลังพูดถึงคือ วิถีแห่งเต๋า หรือคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของปราชญ์เหลาจื๊อ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดย พจนา จันทรสันติ

เต๋า คืออะไร

หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ

หนึ่ง ว่าด้วยข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับปราชญ์เหล่าจื๊อ ข้อควรรู้เกี่ยวกับหนังสือเต๋าเต็กเก็ง และบทนำ ส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ ความหมาย และองค์ประกอบต่างๆ ที่ควรรู้เกี่ยวกับเต๋าและปราชญ์เหลาจื๊อ

สอง คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง 81 บท ซึ่งมีลักษณะเป็นบทกวี บทละไม่กี่ย่อหน้า หน้าละไม่กี่บรรทัด ทว่าความน้อยตัวอักษรนี้กลับยิ่งใหญ่ในความหมาย และเมื่อเข้าใจความหมาย ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าความยิ่งใหญ่แห่งเต๋านั้นล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด และเรียบง่ายที่สุดในเวลาเดียวกัน

สาม ภาคผนวกของหนังสือที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเต๋ากับขงจื๊อ เต๋ากับเซน เต๋ากับการสร้างสรรค์ เต๋ากับศิลปะการวาดภาพ เต๋ากับกวีนิพนธ์ และเต๋ากับความงาม ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าเต๋าไม่ได้เป็นคำสอนที่วางตัวเองสูงส่งเข้าถึงยาก ทว่าเต๋าอยู่ใกล้ตัว อีกทั้งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราแทบทุกย่างก้าว และแทบทุกขณะจิต

หากอ่านไล่เรียงตั้งแต่ส่วนแรกถึงส่วนสุดท้ายจะพบว่าความสนุกของการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการวางท่าที ตีความ และวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์รายรอบตัวเรา ตั้งแต่วิธีการใช้ชีวิตของคนธรรมดาสามัญชน รวมทั้งหลักการปกครองชาติบ้านเมืองของขุนนางและกษัตริย์ ที่สำคัญจะพบอีกว่า แม้หนังสือนี้จะเป็นคัมภีร์เก่าเก็บทว่าเนื้อหากลับทันสมัยตลอดเวลา บางบทในตำราหากเทียบเคียงกับสถานการณ์การเมืองไทยยิ่งอาจทำให้เห็นแง่มุมอีกนานัปการ โดยเฉพาะหลักการปกครอง การมีอำนาจ การใช้อำนาจ และภาวะเสื่อมอำนาจ อันเนื่องมาจากการบริหารบ้านเมืองโดยวางตนเองอยู่ห่างจากเต๋า

เต๋าสำคัญถึงเพียงนั้น แต่ว่า เต๋า คืออะไรหรือ

‘เต๋าเต็กเก็ง’ เชื่อกันว่าถูกนิพนธ์โดย ‘เหลาจื๊อ’ เหตุที่ต้องยกว่าเป็นข้อสันนิษฐานเพราะคัมภีร์นี้มีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปีมาแล้ว หลักฐานใดๆ ที่แน่ชัดจึงมีไม่มากพอ กระนั้นเท่าที่สืบค้นก็เชื่อได้ว่าหากข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น

ส่วนนิยามความหมายว่า เต๋าคืออะไร ข้อสงสัยนี้อาจยากกว่าการสืบเสาะที่มาของตำราอมตะเล่มนี้เสียอีก เพราะแม้แต่เหลาจื๊อเองก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ข้อความของเต๋าบทแรกถึงกับต้องออกตัวว่า

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ
ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง
เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ
เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้
ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า “เต๋า” ไปพลางๆ

อธิบายด้วยการไม่อธิบายไม่ใช่เรื่องเกินเลยนัก หากได้อ่านเต๋าทีละบท ก็อาจพอรับรู้ได้ว่า เต๋าเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยคำพูด ถ้อยคำ หรือเหตุผล ดังที่ พจนา จันทรสันติ อธิบาย ‘เต๋า’ ในภาษาจีนแปลว่า ‘หนทาง’ หรือ ‘วิถี’ เต๋าคือทาง หากเป็นทางที่ไร้หนทาง เป็นวิถีที่ปราศจากวิถี เป็นหนทางที่ยิ่งใหญ่ทว่าไม่อาจแลเห็น ไปไม่ได้ด้วยการเดิน และไม่อาจนำไปสู่จุดหมายใดๆ เพราะโดยแท้จริงแล้ว ตัวหนทางนั้นเองคือจุดหมาย

เต๋า จึงเป็นสภาวะหนึ่งซึ่งถูกสมมุติขึ้นมาเท่านั้น

เต๋ากับการเมืองการปกครอง

ดังที่บอกกล่าวกันก่อนหน้าว่า คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง 81 บท ซึ่งอยู่ในส่วนที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้มีข้อความไม่มาก กระนั้นความน้อยกลับมีพละกำลังของถ้อยคำอย่างลึกซึ้ง และสดใหม่อยู่เสมอ นี่กระมังที่ทำให้เต๋ายังคงเป็นคัมภีร์อัมตะที่เดินผ่านกาลเวลามากว่า 25 ศตวรรษแล้ว

ยกยอถึงเพียงนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกตัวอย่างบางวรรคตอนมาชวนขบคิด กระนั้นด้วยความที่เต๋ากล่าวถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และสรรพสิ่งในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ผืนน้ำถึงขุนเขา ตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยบนผืนดินจนถึงจักรวาล ครั้นจะหยิบยกตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้างมากางให้ดูก็คงสนุกน้อยลง จึงขอนำบางถ้อยคำ จากบางย่อหน้า ของบางบท จากหนังสือ วิถีแห่งเต๋า หรือคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของปราชญ์เหลาจื๊อ คัดเฉพาะวรรคตอนที่ว่าด้วยการเมืองและการปกครองมาเล่าสู่กันฟัง น่าจะได้อรรถรสมากกว่า

บทที่ 17 ผู้ปกครองประเทศที่ดี

ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้น
ราษฎรเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่
ที่ดีรองลงมา
ราษฎรรักและยกย่อง
ที่ดีรองลงมา
ราษฎรกลัวเกรง
รองลงมาเป็นอันดับสุดท้าย
ราษฎรชิงชัง

เมื่อนักปกครองขาดศรัทธาในเต๋า
ก็มักต้องการให้ประชาชนมาศรัทธาในตน

บทที่ 24 กากเดนของคุณความดี

ผู้ที่ยืนเขย่งบนปลายเท้าจะยืนได้ไม่มั่นคง
ผู้ที่เดินเร็วเกินไปจะเดินไม่ได้ดี
ผู้ที่แสดงตนให้ปรากฏจะไม่เป็นที่รู้จัก
ผู้ที่ยกย่องตนเองจะไม่มีใครเชื่อถือ
ผู้ที่ลำพองจะไม่ได้เป็นหัวหน้าในหมู่คน

บทที่ 30 สงคราม

ผู้ที่รู้เต๋าและประสงค์จะมาช่วยเหลือกิจการบ้านเมือง
จะต้องคัดค้านการพิชิตด้วยกำลังทหาร
เพราะสิ่งนี้จะได้รับการตอบแทน
ยกทัพไปรุกรานผู้อื่นก็จะถูกผู้อื่นยกทัพมากระทำตอบ
เมื่อกองทัพยกไปถึงที่ใด
ดินแดนนั้นก็จะเต็มไปด้วยหญ้าและพงหนาม
เมื่อยกทัพใหญ่ไป
สิ่งที่จะตามมาก็คือช่วงเลาแห่งความขาดแคลน
ความยากแค้น
และความอดอยาก

ดังนั้นเมื่อขุนพลทำการรบสำเร็จผลก็หยุดยั้ง
มิกล้าที่จะพึ่งพาความเข้มแข็งของกำลังทัพ
สำเร็จผลแล้วไม่ถือว่ารุ่งโรจน์
สำเร็จผลแล้วไม่โอ้อวด
สำเร็จผลแล้วไม่ลำพอง

ความสำเร็จนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอันน่าโศกเศร้า
ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นมิใช่ด้วยนิยมในความรุนแรง

เมื่อมีเวลารุ่งโรจน์ก็มีเวลาตกต่ำ
ด้วยความรุนแรงนี้ขัดกับเต๋า
ผู้ที่ขัดกับเต๋าจะจบสิ้นไปโดยเร็ว

บทที่ 53 ทางใหญ่

เหล่าผู้ปกครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี
ในขณะที่ไร่นารกร้าง
ยุ้งฉางว่างเปล่า
เขาสวมเสื้อผ้ามีลวดลายปัก
สะพายดาบงดงาม
ดื่มกินอย่างฟุ่มเฟือย
มีความมั่งคั่งและทรัพย์สมบัติมากจนเกินการ

เราอาจเรียกเหล่าผู้ปกครองนั้นได้ว่ามหาโจร
สิ่งเหล่านี้ล้วนนำโลกไปสู่ความฉ้อฉล
นี่มิใช่การละทิ้งเต๋าอันเป็นทางใหญ่หรอกหรือ

บทที่ 75 ไม่เข้ายุ่งเกี่ยว

เมื่อราษฎรอดอยากยากแค้น
เพราะผู้ปกครองเก็บภาษีมากเกินไป
ราษฏรที่หิวโหยย่อมไม่อาจปกครองได้
นี่เกิดจากผู้ปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไป
ทำให้ปกครองพลเมืองไม่ได้

พลเมืองต่างไม่กลัวความตาย
เพราะความกระวนกระวายที่จะหาเลี้ยงชีวิต
นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาไม่กลัวตาย

บทที่ 76 ของสูง

เมื่อคนเกิดมาใหม่ๆ นั้นร่างกายมักอ่อนนุ่ม
เมื่อตายกลับแข็งกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชมีชีวิตอยู่มันจะอ่อนหยุ่น
เมื่อตายมันกลับแข็งและแห้ง
ความแข็งกระด้างเป็นคุณลักษณะของความตาย
ความอ่อนนุ่มเป็นคุณลักษณะของความมีชีวิต

ดังนั้นเมื่อกองทัพแข็งแกร่งเกินไป
ก็จะพ่ายแพ้ในสมรภูมิ
ถ้าต้นไม้แข็งแกร่งเกินไป
ก็จะถูกตัดโค่นลง
ความแข็งกระด้างเป็นของต่ำ
ความอ่อนความนุ่มเป็นของสูง

อ่านวิถีแห่งเต๋าไปสักพักผมไพล่นึกถึงอะไรบางอย่างสัก 2-3 ประการ

ประการที่หนึ่ง คือนึกถึงบทความที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยเขียนเอาไว้ มันชื่อว่า เต๋าแห่งอำนาจ ซึ่งเคยตีพิมพ์ใน WAY ฉบับนิตยสารตั้งแต่ปี 2550 เนื้อหาเป็นเช่นไรคงไม่ต้องกล่าวเกริ่นตรงนี้ให้ยืดยาว เพราะท่านสามารถคลิกที่ลิงค์เพื่อไปอ่านต้นฉบับได้ทันที แต่สิ่งที่อยากชี้ชวนให้นึกถึงก็คือ การนำเต๋ามากางแล้ววางทาบกับหลักการทางรัฐศาสตร์ผ่านบทความที่อาจารย์เสกสรรค์เขียนนั้น ทำให้เราเห็นหลักคิดใหญ่ของการบริหารบ้านเมืองที่เรียบง่าย ดังจะเห็นได้จากบางบทตอนที่คัดมาแล้วข้างต้น

แน่นอนว่าความเรียบง่ายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิบัติได้โดยง่าย บ่อยครั้งเราจึงพบว่า ความเรียบง่ายในวิถีแห่งเต๋ามักถูกยกเทียบกับวิถีแห่งนักปราชญ์ไปพร้อมๆ กันเสมอ

ประการที่สอง นอกจากการอ่านเพื่อศึกษาตีความเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง วิถีแห่งเต๋ายังเทียบเคียงได้แทบทุกเรื่อง แม้จะไม่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยตรง แต่รหัสความคิดที่ซ่อนอยู่ในเต๋าผ่านการเปรียบเปรยสรรพสิ่งกับหลักการทางธรรมชาติก็เป็นสิ่งน่าค้นหาความหมาย เป็นความเรียบง่ายที่ซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สาม ผมนึกถึงกองหนังสือเก่าเหล่านั้น หากใช้เวลากับมันมากขึ้นก็น่าสงสัยว่าจะมีคัมภีร์อื่นใดซ่อนอยู่บ้าง

 

วิถีแห่งเต๋า
พจนา จันทรสันติ แปลและเรียบเรียง
สำนักพิมพ์ เคล็ดไทย

 

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า