10 ธันวาคม นอกจากจะตรงกับวันรัฐธรรมนูญของไทย ยังเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลของชาวโลก ซึ่งดูคล้ายเป็นความบังเอิญที่เหมาะเจาะของความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของรัฐธรรมนูญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจแยกออกจากกัน
แดดบ่ายวันเสาร์ถือว่าไม่ใจร้ายกับกิจกรรมกลางแจ้งมากนัก ผมเดินทางไปถึง The Jam Factory ราวบ่ายสองโมง พาตัวเองเข้าไปภายในงาน “Taste of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ”:ซึ่งทักทายกันด้วยความคึกคักของผู้คน และบูธขายสินค้าเรียงราย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม งานศิลปะ หนังสือ ดูดวง เสื้อและข้าวของจากกลุ่มประชาธิปไตย และการเปิดให้ร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงวงวงสนทนา ‘รสชาติ’ กับชีวิตของผู้คน’ (รับฟังย้อนหลังได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Amnesty International Thailand)
ที่เห็นจะคึกคักอยู่ตลอดเวลาคงหนีไม่พ้นบูธเครื่องดื่ม มีผู้คนบ้างยืนบ้างนั่งลิ้มรสและรินเติมกันไม่ขาดพร่อง แน่นอนว่าผมย่อมอยากนำสินค้าและเครื่องดื่มภายในงานมาฝากผู้อ่าน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความเป็นไปได้ จึงขอเปลี่ยนเป็นนำภาพ และความคิดเห็นของผู้ออกบูธบางส่วนมาเสิร์ฟทุกท่านผ่านทางหน้าจอ
ธนากร ท้วมเสงี่ยม
ผู้ก่อตั้งกลุ่มประชาชนเบียร์
มีความคิดเห็นอย่างไร กับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ไม่ผ่านสภา
“ผมมองว่าร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นเรื่องที่ดี นี่คือการยกมาตรฐานของวงการเหล้าเบียร์ในประเทศไทย ซึ่งมันควรจะผ่าน แต่พอไม่ผ่าน สำหรับผมมันแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนยังไม่แข็งแรงพอ เราไม่สามารถพูดว่าเราต้องการอะไรแล้วคนที่มีอำนาจหันมารับฟัง และยอมโหวต ทั้งที่เขายังต้องใช้เสียงของเราในการที่จะเข้ามาเป็น ส.ส. แต่กลายเป็นว่าเขายอมบิดโดยการอ้างว่าที่ไม่โหวตให้เพราะจะเอากฎกระทรวงมาใช้ ซึ่งผมมองว่ากฎกระทรวงนั้นไม่ได้ซัพพอร์ตลงไปถึงรากถึงโคนของปัญหา มันแค่แก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งผมมองว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องรณรงค์ต่อไป เพื่อให้มีมวลชนและคนที่เข้าใจมากขึ้น ถ้าเกิดเรามีมวลชนที่แข็งแรงมากพอ ผมคิดว่าคนในสภาจะยอมโหวตเองโดยธรรมชาติ”
ถ้าไม่ใช่รัฐบาลนี้คิดว่าจะง่ายขึ้นไหม
“ก็ใช่ ชัดเจนอยู่แล้ว เราไม่ได้มองว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากประชาชนอยู่แล้ว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นคือผิดมาตั้งแต่แรก ถ้าเกิดเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนจริงๆ ต่อให้เราทำอะไรที่อาจดูรุนแรงเกินไป ภาครัฐจะเข้ามาคุย เจรจาเพื่อรับฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ ตอนนี้พอภาคประชาชนทำอะไรสักอย่างที่กระทบกับภาครัฐ กลับกลายเป็นว่าโดนปราบปราม โดนใช้ความรุนแรง สิ่งเหล่านี้เราเห็นชัดอยู่แล้ว”
การที่ประชาชนทำเบียร์เอง เกี่ยวข้องอะไรกับสิทธิมนุษยชน
“ผมว่าสำคัญมากๆ เราอาจจะไม่เคยมองว่าเราถูกควบคุมโดยรัฐกระทั่งการกินดื่ม ถูกควบคุมกระทั่งรสชาติในการกิน มันดูเหมือนเราเป็นสัตว์ที่อยู่ในคอกแล้วโยนอาหารเม็ดให้กิน เราไม่ใช่สัตว์ เราหากินได้ตามธรรมชาติ แต่กฎหมายทุกวันนี้มันไม่ธรรมชาติ มันกีดกันคนเล็กคนน้อย รสชาติที่มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันเราไม่สามารถกินได้ เพราะกฎหมายที่ไม่แฟร์กับเรา การต่อสู้ของเราคือการต่อสู้โดยธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะหาและเลือกกินดื่มได้เอง ผมมองว่ายังไงเราก็ชนะอยู่แล้ว แค่วันนี้เราอาจจะอยู่ภายใต้กฎที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่สามารถขับเคลื่อนได้มาก การต่อสู้ของเราต่อไปก็คือการทำให้ทุกคนรู้ว่าประเทศของเราเป็นอย่างไร เริ่มจากการกินดื่ม เริ่มจากการบอกให้รู้ว่านอกจากเบียร์ 3-4 ยี่ห้อที่มีรสชาติเดิมๆ ยังมีเบียร์อีกหลายรสชาติ อีกเยอะมากๆ ให้กินดื่ม ถ้ากฎหมายไม่กีดกัน”
“เราอยากจะสื่อสารถึงกลุ่มคนอื่นๆ บางกลุ่มมองว่าเราทำเรื่องนี้เพื่อมอมเมาผู้คน กินจนประเทศพังฉิบหายไปหมด ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลย เราต้องการกระจายทรัพยากร ให้เงินถูกกระจายออกไปสู่ประชาชนตัวเล็กๆ เพื่อให้ประเทศนั้นดีขึ้น
“อีกส่วนก็คืออยากให้ฉุกคิดว่า ทำไมแค่เรื่องการกินดื่ม เราถึงยังไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกเองได้ เราถูกตีกรอบโดยกฎหมายและความคิดเดิมๆ วัฒนธรรมที่มองว่าการกินดื่มเพื่อเมา ซึ่งความจริงมันมากกว่านั้น เรากินดื่มเพื่อความสุข กินดื่มเพื่อเรียนรู้ ที่สำคัญวันนี้เรากินดื่มเพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กันได้”
“เราชอบกินเบียร์มาก ชอบแบบสุดๆ มาถึงจุดหนึ่งก็พบว่าส่วนประกอบหลักของมันคือมอลต์ คือบาร์เลย์ ซึ่งก็คือข้าว แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ในเมื่อบ้านเราก็ทำนา เลยตัดสินใจลองทำดู ตอนทำครั้งแรกยังไม่เวิร์กเท่าไหร่ ออกเป็นสาโทมากกว่าเบียร์ แต่ด้วยความภูมิใจที่ทำครั้งแรกเราก็กินนะ ส่วนตัวมองเบียร์ไม่ต่างจากอาหาร เราควรที่จะสามารถหมัก หรือปรุงได้ตามใจ มันสะท้อนอัตลักษณ์ของคน นอกจากนั้น ถ้าในอนาคตเสรีมากขึ้น เบียร์ยังสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างเข้มข้นอีกด้วย”
ฐปนีย์ เอียดศรีไชย
นักข่าว ผู้มาเปิดบูธขนมจีนและอาหารในชื่อ ‘บ้านพี่แยม’
“ในปัจจุบันประชาชนตื่นตัวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งการตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเองและการละเมิดสิทธิในตัวผู้อื่น แต่ในส่วนของภาครัฐ หรือตัวผู้มีอำนาจอาจจะสร้างภาพว่าให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เอาเข้าจริงนับตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ การตระหนักนั้นยังมีน้อย
“แต่ก็คิดว่าในอนาคตการตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนจะดีขึ้น พูดได้ว่าเห็นความเปลี่ยนแปลง ในยุคสิบกว่าปีก่อนที่ทำข่าว เอาแค่ในมุมนักข่าวก็ยังให้ความสำคัญน้อยมาก สมัยก่อนอาจจะมีแค่สื่อกระแสหลัก นักข่าวน้อยคนที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ว่าพอเราชักชวนเพื่อนๆ สื่อให้มาร่วมกันทำมากขึ้นหลังจากการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ พี่คิดว่ามันกลายเป็นแรงผลักดันหรือแรงขับเคลื่อนให้การพูดและตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนเสียงดังมากขึ้น”
รัฐที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน จะเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เราพูดแบบนี้ได้ไหม
“ใช่ มันเป็นแรงผลักให้ผู้มีอำนาจหรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองมาสนใจเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ชัดว่าตอนนี้พรรคการเมืองไหนไม่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน พรรคนั้นก็เหมือนเป็นพรรคที่ตกยุค แม้แต่พรรคที่อยู่ในฝั่งรัฐบาลก็ต้องพูดเรื่องนี้ ดังนั้นนี่จึงเป็นยุคสมัยที่ปฏิเสธความสำคัญของสิทธิมนุษยชนไม่ได้แล้ว”