Ten Years Thailand: 10 ปีผ่านไปไม่ไวเหมือนที่เขาหลอกลวง

Sunset

อาทิตย์ อัสสรัตน์ ไม่ได้เล่าเรื่องพรุ่งนี้ แต่เขาฉวยห้วงเวลาร่วมสมัยมาฉายซ้ำแบบโคลสอัพ เหตุการณ์สนธิกำลังทหารตำรวจ เพื่อไป ‘ตรวจความเรียบร้อย’ ที่แกลอรี่แห่งหนึ่ง เนื่องจากมีผู้แจ้งว่าชิ้นงานบางชิ้นนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

สิ่งที่ ผกก โฟกัสคือชีวิตรักทางไกลของทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นพลขับ เขาจีบสาวพนักงานทำความสะอาดแกลอรี่ การมาวันนี้จึงเป็นเรื่องเซอไพรส์ของคนสองกลุ่ม คือ เหล่าศิลปิน และป้าแม่บ้านกับน้องผู้หญิง

สิบปีแล้วนะ สี่ปีแล้วนะไอ้สัส เหตุการณ์สองปีก่อนน่ะ วันก่อนครับ…

-วันก่อนครับ
-ครับ?
-ทหารมาแกลอรี่ผมด้วยครับ
-โห บ้านเมืองศิวิไลซ์ ขนาดทหารยังสนใจงานศิลปะ
-…เขามาปลดรูปครับ

(แต่เขาไม่ได้อยากทำอย่างนั้นหรอกครับ เขาทำตามหน้าที่ เขาเบื่อจะแย่ ต้องขับรถเข้าเมืองมาจากโชคชัย 4 ขากลับรถก็ติด งานแบบนี้ไม่เห็นมีอะไร ความชอบไม่มีความดีไม่ปรากฏ นายก็สั่งให้ทำไปงั้นๆ เนี่ย เดี๋ยวพรุ่งนี้ มะรืนนี้ มีคนแจ้งก็ต้องมาอีก แถมถ้าเกิดเหตุฉิบหายลงข่าว ลงโซเชี่ยล เดี๋ยวนายก็เรียกไปด่าอีก)

นี่เป็นหนึ่งวันอันดาษดื่น มีคนเซ็ง มีคนทำหน้าที่ มีคนร้องไห้ มีคนจีบกัน มีความรัก มีอนาคต

ในยามอาทิตย์กำลังตกดิน

 

CATOPIA

หาก ‘Sunset’ ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ คือเรื่องเล่า ‘หนึ่งวันอันดาษดื่น มีคนเซ็ง มีคนทำหน้าที่ มีคนร้องไห้ มีคนจีบกัน มีความรัก’ อย่างที่ดีไซเนอร์ของเราบอกไว้ ‘CATOPIA’ ของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ก็คือหนึ่งวันของการล่าแม่มด คือวันของการอำพราง ซ่อน และความตาย

หาก ‘Planetarium’ (กระบวนการล้างสมองผ่านระบบการศึกษา) ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ Song of the City (กระบวนการสร้างความทรงจำของรัฐไทย) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล รวมถึง ‘Sunset’ (อำนาจในการเซ็นเซอร์หรือลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก) ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ คือการพูดถึงโครงสร้างทางสังคมไทยCATOPIA ก็เลือกที่จะโฟกัสไปที่ระดับของผู้คนภายใต้โครงสร้างของสังคมแมวที่ไม่อนุญาตให้คนคิดต่างมีที่อยู่หรือที่ยืนได้อย่างสง่าผ่าเผย มนุษย์ผู้คิดต่างจะต้องถูกปาหินด้วยมนุษย์แมว มนุษย์ผู้แตกต่างต้องอำพรางตนด้วยน้ำหอมกลิ่นแมว การสูบบุหรี่จึงเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เขาเคยเป็นมนุษย์ (แม้ว่ามนุษย์แมวจะขอบุหรี่เขาสูบก็ตาม)

การปาหินน่าจะมีจุดอ้างอิงจากการล่าแม่มดในยุโรปสมัยยุคกลาง ยุคสมัยที่ยุโรปตกอยู่ใต้การปกครองของศาสนจักรที่ต้องรักษาอำนาจและความเชื่อของผู้คนเอาไว้ การจับหญิงชราหรือหญิงสาวมาปาหิน ทรมาน และเผา ก็เป็นสิ่งที่ได้รับความชอบธรรม นี่คือสิ่งที่เคยเกิดในยุโรปในศตรวรรษที่ 14-18

การล่าแม่มดเป็นปรากฎการณ์หนึ่งของสังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าแม่มดในสังคมไทยจะไม่ถูกปาหินหรือเผาทั้งเป็น (เอ๊ะ จริงหรือเปล่า) แต่กฎหมายที่ลงลึกเข้าไปในระดับจิตใต้สำนึกก็ดูจะเป็นอะไรที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าก้อนหินและเปลวไฟเลย กฎหมายใน CATOPIA จึงมีลักษณะไม่ต่างจากกฎหมู่ที่ออกคำสั่งให้เราคิดเหมือนแมว กินเหมือนแมว แม้ว่าเราไม่ได้เกิดเป็นแมว

 

Planetarium

หากจะบอกว่านี่เป็นเรื่องอนาคตก็เป็นอนาคตที่ใกล้เคียงปัจจุบันย้อนลงไปถึงอดีต ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ระบบ อำนาจ การปลูกฝัง ทำให้เชื่อง หนังเล่าเรื่องจริงผ่านความเซอร์เรียล เพื่อให้เห็นภาพขยายที่ชัดเจนขึ้น

อำนาจทำลายอัตลักษณ์ เราดูคล้ายกัน ใส่ชุดแบบเดียวกัน เดินตามกัน ทำอะไรแบบเดียวกัน ใครแตกต่างก็สลายไปซะ ไม่มีใครสนใจ ถูกทอดทิ้ง ไปเผชิญชะตากรรมพร้อมพวกหัวดื้อเอาเองแล้วกัน ทั้งที่ลึกลงไปในคนที่ยอมจำนน อาจมีคนสนใจคนคิดต่างอยู่บ้าง แต่ก็สนใจแค่ระดับปรายตามอง แค่ปรายตาเท่านั้น

ในบรรดาหนังสั้นทั้ง 4 เรื่อง นี่เป็นเรื่องที่อาร์ตไดจัดที่สุด การวางเฟรม การจัดองค์ประกอบภาพ รวมถึงดนตรีประกอบล้วนฉูดฉาด ร่วมสมัย

“สังเกตว่าน้ำที่สาดออกไป ช่วงท้ายของหนังนั้น มันดูข้นกว่าปกติ นี่ตั้งใจหรือเปล่าครับ”
“แค่ใช้เทคนิคสโลภาพครับมันเลยดูหนืด”

คุณเชื่อที่ผู้กำกับตอบไหม?

 

Song of the city

มีอะไรหลายอย่างใน Song of the city ที่ทำให้เชื่อได้ว่ากล้องของอภิชาติพงศ์อาจทำงานด้วย eternal power เป็นแบตเตอรีที่ไม่มีวันหมด ออกมาเป็นรสมือที่คุ้นเคยกับการวางกล้องแช่ทิ้งไว้ – ในฐานะคนดู นอกจากกลัวว่าจะมีคนกดโหมด sleep เราคิดเสมอว่า การหาวัตถุดิบของ ‘พี่เจ้ย’ คือวางกล้องทิ้งไว้จนแบตหมดแล้วค่อยเอามาตัดต่อเป็นเรื่อง

Song of the city ดำเนินเรื่องอย่างเนิบช้า รอบอนุสาวรีย์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จังหวัดขอนแก่น ที่ดูเหมือนก่อสร้างไม่มีวันจบสิ้น อำนาจศูนย์กลางที่สูงส่ง ไม่ว่าบุคคลบนแท่นสักการะจะเป็นใครก็ตาม – ในที่นี้คือการบูชามนุษย์ผู้ถูกขนานนามเป็น ‘เผด็จการ’

ตัวละครรายล้อมรอบเป็นบริวารคือนักแสดงจากหนังหลายเรื่องของอภิชาติพงศ์ ดึงดูดและสัมพันธ์กันอย่างฉ้อฉล มิตรภาพที่ท้ายสุดแล้วถูกกำกับด้วยชนชั้น การล่อลวงผ่านโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ ที่สุดแล้วแม้เป็นใครก็ต้องหลับหูหลับตายอมสยบอย่างเชื่องและว่าง่าย

กลางดินทรายที่แล้งความหวัง ‘เพลงนั้น’ บรรเลงซ้ำๆ ในหลายเวอร์ชั่น วงจรอำนาจนี้ยังคงหมุนวนไปเรื่อยๆ ด้วย eternal power แม้เวลาจะผ่านไป 10 ปี…หรือนานกว่านั้น เราก็ยังบูชาอนุสาวรีย์

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า