ไทย-อาเซียน อยู่อย่างไรต่อไป ในยุคระเบียบโลกพลิกโฉม

มีคำถามให้คุยกันต่อ แม้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย อาทิ หลังการประชุมอาเซียนซัมมิท ฐานะของอาเซียนเป็นอย่างไร มุมมองของอาเซียนส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอย่างไร The ASEAN Way จะช่วยทำให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้นหรือเปล่าในอนาคต การประชุมอาเซียนมีอะไรใหม่มากน้อยเพียงใด มีความสำคัญพอจะนำพาสันติภาพความมั่นคงและความมั่งคั่งมาสู่ภูมิภาคได้หรือไม่ ถึงที่สุดแล้วไทยได้อะไรบ้างจากการประชุมที่ผ่านมา

วันที่ 17 ธันวาคม 2562 ชุดโครงการจับตาอาเซียนร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการ จัดงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง ‘ไทยกับการเป็นประธานอาเซียน: ไทยและอาเซียนได้อะไร? จะไปอย่างไรต่อ?’ ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ

หนึ่งในหัวข้อน่าสนใจที่จะมาตอบปัญหาข้างต้นคือเรื่อง ‘ไทย-อาเซียน และมหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายมุมมอง ได้แก่ อุศนา พีรานนท์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์กิตติ ประเสริฐสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ 

โจทย์ใหญ่ 3 ข้อในยุคการเมืองพลิกโฉม

จิตติภัทร พูนขำ เริ่มวงเสวนา ด้วยการกล่าวถึงปี 2019 ว่ามีความสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรวมถึงฐานะของไทยบนเวทีนานาชาติ ขณะที่การเมืองของประเทศมหาอำนาจก็มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า การสะสมอาวุธ อิทธิพลเหนือทะเลจีนใต้ ฯลฯ ในแง่นี้จิตติภัทรตั้งคำถามว่า ภาพใหญ่ของการเมืองมหาอำนาจนั้นส่งผลต่อทั้งไทยและอาเซียนอย่างไร โดยเสนอว่าโจทย์ที่สำคัญต่อทั้งไทยและอาเซียนอาจจะมี 3 ข้อ ดังนี้ คือ

  1. การขึ้นมามีบทบาทนำของจีน ซึ่งมีนักวิชาการที่กำหนดนโยบายให้ความสนใจมากว่า ลักษณะเช่นนี้จะสั่นคลอนระเบียบการเมืองโลกและภูมิภาคมากน้อยแค่ไหน
  2. แนวคิด ‘อินโด-แปซิฟิก’ (Free and Open Indo–Pacific) หรือภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ทั้งเสรีและเปิดกว้างขวางนั้น แต่ละตัวแสดงในภูมิภาคนี้ต่างก็มีคำนิยามต่อแนวคิดที่แตกต่างกันด้วย บางกลุ่มเลือกนิยามเป็นกลุ่ม บางกลุ่มเสนอให้มีการเปิดกว้างหลอมรวมผู้คนต่างๆ ให้มากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าคำคำนี้จะเกิดขึ้นมาก่อนการประชุมอาเซียนในปีนี้ แต่กระทรวงกลาโหมของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถึงกับหยิบมาพูดถึงแนวคิดนี้ราวกับเป็นเทรนด์ใหญ่ รวมถึงระหว่างการประชุมเอเชียแปซิฟิกในปีล่าสุด
  3. ประเทศมหาอำนาจทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย ในปัจจุบันซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือ การขยับตัวของประเทศเหล่านี้จะส่งผลอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเวทีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) ฯลฯ

อาเซียนเลือกข้างไม่ได้และไม่ควรเลือก

อุศนา พีรานนท์ กล่าวในเสวนาในฐานะที่เข้ามาทำงานกับอาเซียนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งในช่วงก่อนที่จะเริ่มเป็นประธานอาเซียน การจัดประชุมอาเซียน จนกระทั่งส่งไม้ต่อประธานอาเซียนให้แก่ประเทศเวียดนามต่อไป

อุศนากลาวว่า ก่อนจะมารับตำแหน่งนี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และเริ่มมองเห็นเรื่องช็อกมากมายในหลายระลอก ทั้งข้อตกลง Brexit ของอังกฤษ ท่าทีของผู้นำสหรัฐต่อการค้าเสรี หรือคำที่ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาในอดีต เช่น คำว่า การค้าพหุภาคี (multilateral trading system) กลับเป็นเรื่องยากที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

จนกระทั่งราว 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เมื่อสหรัฐได้หันมาตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น พบว่าคนที่ออกมาปกป้องระบบการค้าเสรีกลับเป็น ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน ซึ่งอุศนาเห็นว่า สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าโลกมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในการเตรียมท่าทีในการเป็นประธานอาเซียนจึงต้องปรับตัวรองรับพอสมควร คำถามที่ตามมาคือจะทำอย่างไรที่จะสร้างความสมดุลของประเทศมหาอำนาจ 2 ประเทศนี้

“ถ้าจะให้ต้องเลือกข้าง สหรัฐหรือจีน มันไม่เกิดประโยชน์ที่จะต้องเลือก” 

ต่อโจทย์ที่สำคัญอีกหนึ่งประการคือ อาเซียนจะทำอย่างไรจึงจะปรับตัวมากพอกับการปฏิเสธระบบการค้าพหุภาคีและภูมิภาคนิยมของประเทศมหาอำนาจ อุศนาเห็นว่า ทั้งที่อาเซียนได้ทำการยกร่างกฎบัตรอาเซียนซึ่งมีคำถามว่าควรจะเป็นโมเดลแบบสหภาพยุโรปหรือไม่ แต่ด้วยความแตกต่างทั้งในระดับภาษา วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง การพัฒนา ทำให้ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าสหภาพยุโรปอาจจะเป็นแรงบันดาลใจแต่ไม่ได้เป็นตัวแบบหลักสำหรับการรวมตัวของอาเซียนต่อไป

ต่อมาเมื่ออังกฤษได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ก็ได้สร้างความตระหนกให้กับสมาชิกอาเซียน แนวคิดภูมิภาคนิยมซึ่งเคยเป็นจุดแข็งในหลายๆ ประเทศก็ถูกท้าทายตามมา รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ทำให้เทคโนโลยีก้าวกระโดด ฯลฯ บริบทเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการเตรียมตัวเป็นประธานอาเซียน ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ (Advancing Partnership for Sustainability) ซึ่งอาเซียนจะบรรลุความยั่งยืนนี้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ตลอด 52 ปีที่ประเทศเข้าร่วมกับอาเซียน อาเซียนก็ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ 3C คือการ ปรึกษาหารือ (consultation) ความร่วมมือ (cooperation) และ ฉันทามติ (consensus) อาจจะช้าไปบ้างแต่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นสิ่งที่คิดว่า ณ ตอนนี้อาจจะไม่ถูกใจบ้างก็ได้   

ต่อประเด็นแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ผู้คนน่าจะได้ยินครั้งแรกในที่ประชุมอาเซียนซัมมิทที่มะนิลา จริงๆ อุศนาบอกว่า แนวคิดนี้เริ่มพูดกันมานานตั้งแต่ปี 2007 เมื่อ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ได้ไปเยือนรัฐสภาของอินเดีย คือการเสนอให้เชื่อมสองมหาสมุทร (มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก) ส่งผลให้ภาพนี้ชัดมากยิ่งขึ้นที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า เมื่ออาเบะได้พูดในที่ประชุม ซึ่งหัวใจของญี่ปุ่นต้องการให้มีโครงสร้างพื้นฐาน และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ เป็นตัวนำ 

อุศนาชวนมองไปยังอีกหนึ่งชาติมหาอำนาจ คืออินเดีย เนรันทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ก็มองว่า แนวคิดอินโด-แปซิฟิก จะต้องเปิดกว้างรองรับทุกคนเข้ามาได้ ในแง่นี้นายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ จะต้องไม่เป็นคลับที่รับสมาชิกจำกัด หรือมีฐานะทางยุทธศาสตร์ใดๆ ซึ่งกรณีนี้ต่างจากสหรัฐ ที่พยายามโจมตีจีนตลอด แม้ในตอนต้น สหรัฐเองกล่าวถึงอำนาจอธิปไตย ความเป็นอิสระ แต่สิ่งที่สหรัฐเปลี่ยนในเวลาต่อมา คือเชิงสัญลักษณ์ เช่น กรณีการเปลี่ยนชื่อกองกำลังเป็น ‘หน่วยบัญชาการอินโดแปซิฟิกสหรัฐ’ (United States Indo-Pacific Command) ซึ่งประเด็นเรื่องความมั่นคงทางการทหารมีความสำคัญสำหรับสหรัฐ

สำหรับในกลุ่มประเทศ ‘The Quad’ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐ ออสเตรเลีย อุศนาเห็นว่า ในการประชุมเอเชียตะวันออกที่ฟิลิปปินส์ (2017) ซึ่งไทยเป็นเพียงประเทศเดียวนอกกลุ่มที่กล่าวถึงต่อมาถึงแนวคิดอินโด-แปซิฟิก เราจะเห็นว่ามีความแตกต่างกัน ก่อนจะมาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าอาเซียนจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความร่วมมือตามแนวคิดนี้

อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวก็ส่งผลให้บางประเทศไม่สบายใจ รวมถึงรัสเซีย และจีน ที่มองว่าแนวคิดนี้มีเพื่อต่อต้านจีนโดยเฉพาะ อาเซียนจึงถูกบังคับกลายๆ ให้เลือกข้าง ต่อประเด็นนี้ อุศนามีความเห็นว่า ในฐานะที่ไทยกำลังจะก้าวมาเป็นประธานอาเซียน สิ่งจำเป็นที่ต้องทำคือ เราจะต้องมีมุมของเราต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การปล่อยให้มีความตึงเครียดในภูมิภาคไม่ส่งผลดีต่อประชาคมอาเซียน

ถึงที่สุด เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (Asean Outlook on the Indo-Pacific) ก็ได้สะท้อนให้เห็นทิศทางของเราว่าจุดแข็งอาเซียนอยู่บนฐานของ 3M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน (mutual trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) อาเซียนเห็นตรงกันว่าจะไม่ควบคุมกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ท้าทาย ไม่พยายามแสดงอิทธิพลใดๆ ต่อใคร ทั้งหมดเพื่อให้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ดังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ถ้าจะจมก็จมด้วยกันถ้าจะลอยก็ลอยด้วยกัน”

ไทยไม่ยอมเสียผลประโยชน์แห่งชาติ

กวี จงกิจถาวร อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้กล่าวถึงถึงบทบาทไทยต่ออินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะความสำเร็จของไทยบนเวทีนานาชาติ ประเด็นแรกคือ ‘DNA ของไทยคืออาเซียน’ 

“ต่อจากนี้ไม่ควรจะมาถกเถียงเรื่องอาเซียนแล้ว เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของไทยคืออาเซียน และนี่คือโจทย์ที่มีคำตอบชัดเจน นโยบายไทยคืออาเซียน อาเซียนคือไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด ในแง่นี้ประเทศไทยเป็นสมาชิกเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนโยบายต่ออาเซียน มีแต่เพิ่มพูนความแน่นแฟ้น และการที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ คือทำสิ่งที่สำเร็จหลายอย่าง หลายคนไม่เข้าใจว่ากว่าจะมาถึงขนาดนี้ เราต้องใช้ความพยายามมาแค่ไหน”

กวีกล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เราเสียเงิน 16 บาท 70 สตางค์สำหรับร่วมการจัดประชุมถือว่าคุ้ม โดยเฉพาะในประเด็นอินโด-แปซิฟิก ในความเป็นจริง แนวคิดนี้จะเกิดขึ้นปีที่แล้วก็ไม่ได้ หรือปีหน้าก็ไม่ได้ จำต้องเกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น เหตุผลคือประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพครั้งก่อน ได้ข่าวจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าข้อมูลไม่เพียงพอ จึงตกลงกันไม่ได้ 

“ขณะที่อินโดนีเซียก็ดูถูกสิงคโปร์ สิงคโปร์ก็ดูถูกอินโดนีเซีย พอมาถึงไทยก็ได้โอกาสที่จะพัฒนาข้อตกลงนี้”

ต้นปี 2562 แทบไม่มีใครเชื่อว่าไทยจะทำได้ หลังจากนั้นข้อตกลงก็มาชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

“เพราะนิสัยคนไทยไม่สร้างศัตรู ประนีประนอม ไทยก็เข้าหาอินโดนีเซียไปปัดฝุ่น บอกว่าเอาไอเดียของ มาร์ตี มูเลียนา นาตาเลเกวา (รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตั้งแต่ปี 2013 มาทำ โดยที่ไทยจะเป็นคนช่วยให้เกิดขึ้น”

ขณะเดียวกัน กวีเห็นว่า หลายต่อหลายคนกลับไม่ได้สังเกตว่า การประชุมปีนี้มีเอกสารที่ต้องลงนามจำนวนมาก ซึ่งมีความก้าวหน้าจากเมื่อครั้งสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ จุดมุ่งหมายมีเพียงอย่างเดียว คือ ‘สมาร์ทซิตี้’ หรือไม่ ขณะที่ในวาระของไทย หลายประเทศต่างก็อยากจะให้ความช่วยเหลือในการเป็นประธานการประชุมของไทย เนื่องจากไทยส่งเสริมแกนกลางของอาเซียนอยู่เสมอ ในแง่นี้ไทยจึงมีความต่างจากมาเลเซียที่บางช่วงก็หันหลังให้อาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่ตอนนี้หันมาร่วมมือกับไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สมัยสงครามกัมพูชา อินโดนีเซียวางท่าทีต่อต้านไทย ดังนั้นจะเห็นว่า ที่อินโดนีเซียตอนนี้ เร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี ได้ถูกเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศต่อ ทั้งๆ ที่สื่อมวลชนมักต่อว่าว่าฝีมือไม่ถึง

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีต่างประเทศดูถูกไทยว่า หนึ่ง-ประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้ง สอง-เอาการเมืองภายในไปยุ่งกับการเป็นประธานอาเซียน อีกทั้ง action plan ก็คืบหน้าไปถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์

“อันนี้ไม่ได้เชียร์รัฐบาลนะ เพราะรัฐบาลชุดนี้ชอบทำตามแผน แผนอาเซียนง่ายเพราะวางไว้แล้ว ยกเว้น RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ที่อินเดียเข้าร่วมไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดบางอย่าง”

อีกประเด็นที่กวีได้กล่าวถึงคือบทบาทของสมาชิกผู้แทนราษฎรของไทย ซึ่งแต่เดิมเขาเห็นว่า สส. ไทยล้าหลัง แต่เมื่อการประชุมมาถึง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสำคัญกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) เนื่องจากการแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้มีรอยต่อกับคน 655 ล้านคนต้องถือว่าสำคัญ ชวน หลีกภัย ได้พยายามยกระดับเรื่องนี้ขึ้นมา อาทิ ยกระดับบทบาทสุภาพสตรี เพิ่มศักยภาพคนด้อยโอกาส ในแง่นี้จึงนับเป็นความโชคดีที่ไม่มีคนมายุ่งกับ ‘plan of action’ ของกระทรวงต่างประเทศด้วย จึงทำให้การประชุมสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี 

ต่อกรณีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมักจะดูถูกประเทศไทย โดยมักจะพิจารณาพัฒนาการทางการเมืองไทยในประเทศ โดยมองข้ามฐานะทางการเมืองของไทยในระดับภูมิภาคและต่างประเทศ กวีได้เป็นคนหนึ่งที่ไปต่างประเทศเสนอความคิดความอ่านของแนวนโยบายต่างประเทศไทยต่ออาเซียน เขาได้ยกตัวอย่างด้วยการพูดภาษาชาวบ้านว่า 

“ประเทศไทยเป็นตัวแสบในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เหตุผลคือไทยมีความริเริ่มเป็นของตัวเอง เมื่อสหรัฐมาไทยบอกว่า เธอไม่ต้องเลือกข้างหรอก แต่ด่าจีนตลอด สหรัฐมาเลคเชอร์ไทยหลายรอบ มี 3 ประเด็นคือ หนึ่ง-อย่าให้จีนหลอก สอง-อย่าไปรับเงินจีนนะ เดี๋ยวจะติดหล่ม สาม-อย่าไปหลงคารมจีนนะว่าจะมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสะพาน จะพังทลายทีหลัง มาบอกว่า เราสหรัฐ high quality infrastructure ตามจริงแล้วประเทศไทยมีความคิดของตัวเอง คุณลองสังเกตวิธีการเจรจารถไฟความเร็วสูงกับจีน 4 ปีกว่าไปได้แค่ไหน จีนบ่นมากเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจรจาลำบากมากที่สุด”

นอกจากนั้น กวียังเห็นว่า ในการโหวตบนเวทีสหประชาชาติ หลายต่อหลายครั้งไทยโหวตไม่เข้าข้างสหรัฐ สิ่งหนึ่งที่ไทยจะไม่ยอมเลย คือการเสียผลประโยชน์แห่งชาติ       

อาเซียนในอนาคตจะต้องแข็งแรงและกล้าขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์กิตติ ประเสริฐสุข ได้กล่าวถึงบทบาทอาเซียนในการประชุมที่กรุงเทพฯ ว่า จะต้องให้เครดิตกระทรวงต่างประเทศ กิตติเล่าว่าหลังจากการเดินทางไปประชุมวิชาการที่มิชิแกน นักวิชาการหลายคนได้ชื่นชมประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนบทบาทของไทยต่อที่ประชุมอาเซียนนั้นพบว่า ไทยสามารถผลักดันอินโด-แปซิฟิกให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น ขณะที่อินเดียก็พอใจ จีนก็พอใจ แต่กิตติเห็นว่า “สหรัฐอาจจะต่างออกไปบ้าง แต่โดยรวมไทยประสานงานได้ดี”

ต่อกรณี RCEP ซึ่งเหล่าสมาชิกอาเซียนตั้งเป้าให้เป็นอาเซียน +6 ประเทศ โดยในการประชุมครั้งนี้อินเดียเลือกที่จะไม่ร่วมด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่ความสำเร็จก็เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือการผลักดันให้ RCEP ลงนามทั้งหมด 15 ประเทศได้ ทั้งๆ ที่ข้อตกลงนี้ได้ถูกเลื่อนมาหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นถ้าในปีนี้ไม่มีความชัดเจนแล้ว อาเซียนก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป ส่วนคำถามว่าทำไมต้องให้บรรลุข้อตกลง ก็เนื่องมาจากอาเซียนจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้โลกทราบว่าเราไม่สนับสนุนลัทธิกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ตามปัจจัยหนึ่งที่อาจจะส่งผลให้ข้อตกลงนี้เป็นผลสำเร็จคือ ‘การเล่นแรงของประธานาธิบดีทรัมป์’ ที่ปฏิเสธการค้าเสรี ท่าทีแบบทำนายไม่ได้เช่นนี้เองได้ส่งผลให้ญี่ปุ่นกับจีนหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น โลกจึงได้เห็นว่าปี 2018 ที่ผ่านมา มีการพบปะกันระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ และปี 2020 จะเป็นการไปเยือนกันอีกครั้งของทั้งสองประเทศ ซึ่งยังรวมถึงความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 ซึ่งอาจจะเป็นประเทศไทยที่ใช้ระบบรถไฟฟ้าหลายระบบ 

ประเด็นต่อมาคือเรื่อง ‘code of conduct’ ซึ่งกิตติเสนอว่า การเจรจาระหว่างจีนและประเทศที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ ได้มีความสำเร็จเกิดขึ้น กล่าวคือมีเอกสารหารือชุดเดียวกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเสียดายคือ เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพแล้ว สิ่งที่อยากจะเห็นคือน่าจะมีสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือความตึงเครียดของเกาหลีเหนือกับสหรัฐ อาเซียนซึ่งไม่เคยกดดันเกาหลีเหนือน่าจะเป็นทางออกได้ ทั้งในแง่ความร่วมมือในเชิงหน้าที่ ในเชิงเฉพาะด้าน เช่น การบรรเทาภัยพิบัติ การบรรเทาโรคระบาด ฯลฯ

ส่วนกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เดินทางมาประชุม กิตติเห็นว่า “เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม” ซึ่งอาจจะมองในแง่ สหรัฐยังรักษาหลักการทางการทูต ด้วยการไม่ได้ส่งแม้กระทั่งรองประธานาธิบดีเพื่อมาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

มาสู่ความท้าทายภายในอาเซียน กิตติได้ตั้งประเด็นไปถึงข้อริเริ่มในการตั้งศูนย์ 7 ศูนย์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงของที่ประชุมอาเซียนซัมมิท เช่น ศูนย์อาเซียน-เจแปน เสริมสร้างสมรรถนะความปลอดภัยไซเบอร์ กรณีนี้จะเห็นว่าถ้าอาเซียนร่วมมือกับจีนหรือให้ความร่วมมือกับสหรัฐ อาจจะนำมาสู่ข้อสรุปที่ต่างออกไปหรือไม่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันหลายประเทศต่างตระหนักว่าแนวรบไม่ได้มีแค่บก เรือ อากาศ อวกาศ แต่ตอนนี้มีแนวรบด้านไซเบอร์ด้วย และในอนาคตอาจจะมีป้อมค่ายไซเบอร์ที่ทำให้ความร่วมมืออาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้มากขึ้น 

นอกจากนั้นยังมีศูนย์ช่วยเหลือด้านผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ของไทยและอาเซียน ด้วยเหตุที่มหาอำนาจมีแนวโน้มใช้พื้นที่ในอาเซียนเพื่อซ้อมรบ สิ่งที่ไทยและอาเซียนทำคือ ซ้อมได้ แต่เลือกให้เป็นการซ้อมแบบช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการกู้ภัย ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัย ฯลฯ

สุดท้าย ข้อริเริ่มที่สำคัญอีกประการที่กิตติเห็นว่าสำคัญ คือ ‘Vision 2040’ หมายถึงการนำอาเซียนไปสู่ความแข็งแรงขึ้นและกล้าขึ้น ซึ่งกิตติเห็นว่าอาจจะทำให้สามารถมองได้ 2 อย่างคือ หนึ่ง-ต้องมีการปรับสถาบันภายในประเทศเพื่อรองรับกับข้อตกลงมากมายที่จะทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ สอง-การประสานงานกันมากขึ้นของหน่วยงานราชการ ซึ่งสามารถรองรับการข้ามแดนของคนและสินค้ามากขึ้น สาม-คือการปฏิรูปสำนักงานเลขาธิการอาเซียน

ส่วนกรณีที่ท้าทายประชาคมอาเซียน คือการเสริมความเข้มแข็งแก่อาเซียน รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ซึ่งในการประชุมอาเซียนไม่ค่อยเน้นประเด็นนี้มากเท่าที่ควร รวมถึงมาตรการทางกฎหมาย เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งในหลายประเทศยังเป็นอุปสรรค ข้อตกลงหลายอย่าง ยังต้องมีการอนุวัติให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศในอาเซียนไม่ค่อยทำกัน

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า