แบ่งแยก-กีดกัน-มองข้าม-สื่อสารไม่ได้ โควิดเลวร้ายเพราะราชการไทยล้มเหลวทั้งระบบ

นับแต่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยรายแรก (12 มกราคม 2563) รัฐไทยได้ออกมาตรการป้องกันและเยียวยาจำนวนมาก ประสิทธิผลและความเหมาะสมของมาตรการก็เรื่องหนึ่ง แต่ดังที่หลายคนพูดกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะเป็นอุบัติเหตุของโลกสมัยปัจจุบันแล้ว ยังเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เผยให้เห็นปัญหาซึ่งซุกตัวในสภาวะปกติ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้อธิบายถึงมุมมองที่รัฐไทยมีต่อประชาชน ผ่านทั้งกระบวนการและผลลัพธ์ของมาตรการป้องกันและเยียวยาได้อีกด้วย

ไม่มากก็น้อย การสำรวจว่ารัฐไทยปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไรในยามวิกฤติ อาจพอเป็นคำตอบให้สังคมไทยได้ว่า แนวทางการรับมือของรัฐเหมาะสมแล้วหรือยัง ประเทศไทยพร้อมกลับเข้าสู่สภาวะปกติหรือสภาวะดั้งเดิมก่อนเกิดโรคระบาดแค่ไหน และหากอนาคตเกิดวิกฤติที่ไม่คาดคิดขึ้นอีก รัฐไทยควรปรับท่าทีและกลยุทธ์อย่างไร

แนวคำตอบเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้นได้ก็อาจไม่รอบด้านพอ หากเราไม่ถอดบทเรียนว่า รัฐไทยล้มเหลวในการบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 อย่างไรบ้าง

พลเมือง 2 มิติ กับสภาวะทับซ้อนในรัฐโรคระบาด

งานศึกษาของ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ในหัวข้อ ‘มิติทับซ้อนของความเป็นพลเมืองทางชีววิทยาและเศรษฐกิจจากนโยบายและมาตรการของรัฐราชการไทยเพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)’ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐทั่วโลกต้องเจอในสถานการณ์โรคระบาด คือสภาวะอิหลักอิเหลื่อที่รัฐต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับการแก้ปัญหาสุขภาพของพลเมือง ซึ่งในหลายรัฐก็เลือกที่จะพยายามแก้ปัญหาโรคระบาดและประคับประคองเศรษฐกิจแบบลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กัน นฤพนธ์เรียกสภาวะนี้ว่า ‘สภาวะทับซ้อนที่ลักลั่น’

สภาวะทับซ้อนที่ลักลั่นสัมพันธ์กับความเป็นพลเมือง 2 แบบ หนึ่ง-ความเป็นพลเมืองทางชีววิทยา (Biological Citizenship) สอง-ความเป็นพลเมืองทางเศรษฐกิจ (Economic Citizenship) 

สำหรับความเป็นพลเมืองทางชีววิทยา หมายถึง การเป็นพลเมืองภายใต้รัฐที่ใช้ความรู้ทางการแพทย์เข้าควบคุม และจัดระเบียบคุณสมบัติทางกายของมนุษย์ อันทำให้แต่ละคนมองตนเองในฐานะเป็น ‘ร่างทางกายภาพ’ (Somatic Individuality) ที่ต้องมีการปกป้องคุ้มครองและเยียวยาเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ ทั้งยังส่งผลให้เกิดความรับผิดชอบแบบใหม่ เป็นความรับผิดชอบต่อตนเองที่แต่ละบุคคลจะมองเห็นคุณค่าของตนผ่านการพิจารณาสภาพร่างกาย และเมื่อถอยห่างออกมามองสังคมในภาพใหญ่แล้ว ความรู้ลักษณะนี้ยังทำให้เกิดรูปแบบประชากรที่มีอัตลักษณ์ร่วมกันบนคุณสมบัติทางกายภาพ หรือเรียกว่า ‘สังคมแห่งชีวะ’ (Biosociality)

ส่วนความเป็นพลเมืองทางเศรษฐกิจ เป็นกรอบคิดที่มีฐานมาจากความเป็นเหตุเป็นผลของอุปสงค์และอุปทาน และมองว่าพลเมืองสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมให้กับตัวเอง เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุดจากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ พึงระลึกว่า ความเป็นพลเมือง 2 แบบนี้มิใช่สิ่งที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในรัฐสมัยใหม่ทั่วโลก การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เห็นความเป็นพลเมือง 2 แบบนี้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวะทับซ้อนดังกล่าว ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ความเป็นพลเมืองเท่านั้น ‘ความอ่อนแอทางสังคม’ (Social Vulnerability) ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโรคระบาดมีความซับซ้อนเพิ่มไปอีก เพราะการที่รัฐใช้วิธีการแบ่งแยกคน เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การกักตัวในพื้นที่เฉพาะ ไปจนถึงจัดให้มีโรงพยาบาลสนามและสถานที่กักตัวของรัฐ (State Quarantine) ก็ฟ้องชัดว่า รัฐมองข้ามมิติทางชนชั้น ฐานะ และอัตลักษณ์ทางสังคมที่แตกต่างกันของพลเมือง และเห็นพลเมืองเป็นเพียงที่ซึ่งเชื้อโรคอาศัยอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐมิได้สนใจว่าพลเมืองของตนมีข้อจำกัดทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอย่างไร แต่มองทุกคนเป็นพาหะนำโรคที่จำเป็นต้องควบคุมและเชื่อฟังคำสั่ง

ล้มเหลวเพราะมองข้าม

โครงการเราไม่ทิ้งกัน รัฐจะเยียวยาชดเชยรายได้ให้กับประชาชนที่มีอาชีพอิสระและทำงานนอกระบบในช่วงล็อกดาวน์คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

โครงการเราชนะ รัฐจะให้เงินเยียวยาเกษตกรคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน 

โครงการคนละครึ่ง ประชาชนต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์คนละครึ่ง เพื่อรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

โครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากรัฐไทยจะแทนค่าประชาชนด้วยเงินตราแล้ว ยังมองข้ามข้อจำกัดของคนจำนวนมาก กล่าวคือ แม้จะมีมาตรการเยียวยาหรือแจกเงินจริง แต่ก็มองข้ามเงื่อนไขของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ขาดทักษะและอุปกรณ์ในการลงทะเบียนเข้าถึงสิทธิในโครงการข้างต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การออกแบบโครงการเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า ประชาชนทุกคนมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง ‘แอปพลิเคชัน’ (เป๋าตัง, G-Wallet, ถุงเงิน ฯลฯ) ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีความพร้อมและทักษะเช่นนั้น

ในด้านมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เช่น การจัดหาและเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนก็ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพราะรัฐเลือกบริหารจัดการผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มซึ่งไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนและไม่มีทักษะในการใช้ระบบโปรแกรมแอปพลิเคชันมีความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิของตน (ยังไม่นับว่าประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนหาวัคซีนเอง คนที่มีกำลังทรัพย์ก็จ่ายเงินจองคิวฉีดกับโรงพยาบาลเอกชน หรือคนบางกลุ่มก็ต้องพึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าหน่วยราชการจากส่วนกลาง)

อีกสิ่งหนึ่งที่ฟ้องชัดว่ามาตรการเหล่านี้ของรัฐมองข้ามข้อจำกัดของประชาชนไป คือการที่ระบบถูกออกแบบมาโดยมีสมมติฐานว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคนมีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ 

คำสัมภาษณ์ในงานศึกษาประสบการณ์ของกลุ่มเปราะบางในช่วงโควิด-19 ของ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ภายใต้หัวข้อ ‘“ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” โควิด-19 กับสังคมไทย บันทึกวิกฤติและประสบการณ์ของกลุ่มเปราะบางในการรับมือไวรัสโคโรน่า’ สะท้อนข้อจำกัดที่กล่าวมาทั้งหมดได้เป็นอย่างดี 

“บ่ครับๆ ตัวนี้บ่ได้เลย มันต้องมีโทรศัพท์ มันเข้ายาก ต้องลงทะเบียนผ่านอิหยังเขา มันกะคั่นว่ามันยากเดะ คุณลุงเฮ็ดบ่ได้”

“ผิดที่ว่าให้ใช้โทรศัพท์แบบสัมผัส คนอ่านบ่ออกเขียนบ่ได้แม่นมีมันกะเฮ็ดบ่เป็นลูก คนบ่ได้มีความรู้มาแต่มื้อเกิดแม่นบ่ล่ะ”

และในหลายกรณี มาตรการช่วยเหลือที่รัฐประกาศออกมาก็กลายเป็นการผลักภาระให้คนเหล่านี้จำเป็นต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงสิทธิ

“พอทุกอย่างลงผ่านโซเชียลลงผ่านเน็ต เข้าถึงยาก อย่างคนงานพี่ตู่ เป็นคุณป้าแก่ๆ แกก็ไม่ได้เล่นโซเชียล ไม่มีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ก็เป็นสมาร์ทโฟนแบบเก่า เขาไม่ได้เห็นความจำเป็นต้องเล่นเน็ต เล่นโซเชียล ใช้งานแค่โทรเข้า โทรออก ทำให้ช่วงแรกๆ ที่รัฐมีมาตรการช่วย พวกเขาก็ไม่ได้ จนมารอบสองที่ไม่ไหวแล้วจริงๆ เขาก็เลย ต้องไปซื้อโทรศัพท์ เพื่อที่จะเข้าถึงมาตรการของรัฐ แล้วก็ต้องมานั่งลงทะเบียนอีก ยายก็ทำไม่เป็น ต้องคอยให้คนข้างบ้านสอน ช่วยทำให้”

ล้มเหลวในการสื่อสาร

การออกมาตรการที่มองข้ามคนจำนวนมาก ราวกับไม่รู้ถึงข้อจำกัดของคนเหล่านั้น สะท้อนชัดว่า รัฐขาดการใช้ข้อมูลและการสื่อสารที่เหมาะสม ชัดเจน ตรงจุด กับประชาชนอย่างมาก เช่น รัฐเลือกประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคม (social media) ทั้งๆ ที่คนจำนวนหนึ่งอาศัยติดตามข่าวสารจากช่องทางอื่นเป็นหลัก ทำให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและข้อมูลจากรัฐ โดยผู้ถูกสัมภาษณ์เกินกว่าครึ่งหนึ่งในงานศึกษาของบุษบงก์ มีแหล่งในการรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่แหล่งข่าวจากภาครัฐ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือการที่ข่าวสารไม่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของพวกเขา

“ยายฟังจากคนในซอย แรกๆ โทรทัศน์มีแต่บอกว่าคนติดไปไหนๆ ไม่เข้าใจ ยายไม่ได้ไปไหน ยายเลยรอฟังคนในซอยเขาบอกกันดีกว่า ยายไม่อยากรู้ว่าติดกี่คนกี่คน คนติดไปไหนบ้าง ยายอยากรู้แค่ซอยยายมีติดไหม”

ปัญหาเรื่องการสื่อสารไม่ได้จำกัดเฉพาะในหมู่ประชาชนเท่านั้น เพราะหากพิจารณาต่อไปอีก จะเห็นว่าการสื่อสารข้อมูลในสถานการณ์โรคระบาดมีปัญหาในทุกห่วงโซ่ของระบบ ดังที่บุคลากรทางการแพทย์เองก็เกิดความสับสนในข้อมูลที่จะใช้ปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนและความซับซ้อนของหน่วยงานราชการ จนทำให้บุคลากรเหล่านี้รู้สึกถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวในการปฏิบัติงาน

กระทั่งข้อต่อที่สำคัญในด้านการสื่อสารอย่างสื่อมวลชนก็ประสบปัญหาอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อจะใช้สื่อสารต่อประชาชน ดังที่ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สัมภาษณ์ไว้ในงานศึกษา ‘ทุกข์ยากจากการสื่อสาร: ความป่วยไข้ของข้อมูลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19’

“ผมเคยบอกกับที่ประชุม ศบค. ไปว่า ทำไมประเทศนี้เราจึงมีปัญหาเรื่องสับสนกับข้อมูลข่าวสาร ประชาชนก็โทษสื่อว่า ทำไมเรารายงานไม่ตรง เราก็บอกว่า เอามาจากข้อมูลของรัฐที่เขาบอกมา เช้ามีคนบอกอย่างหนึ่ง บ่ายมีคนพูดอีกอย่างหนึ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอคนพูดไม่ตรงกันเช้าและบ่าย สื่อก็ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงตามนั้น แต่มันกลายเป็นความสับสนของสังคม”

หากข้ามจากการสื่อสารเชิงข้อมูล ไปยังการสื่อสารเพื่อการปฏิบัติงานหรือการประสานงาน จะพบว่า บุคลากรด้านการควบคุมโรคและงานเชิงรุกส่วนใหญ่ก็จะประสบกับปัญหา ‘ระบบการบริหารจัดการ’ โดยเฉพาะการบังคับบัญชา การประสานงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยหรือภาคส่วนต่างๆ เช่น ปัญหาสายงานบังคับบัญชาหรือการสั่งการที่ไม่ชัดเจน หรือปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ เป็นต้น

ระบบราชการรวมศูนย์คือที่มาของทุกปัญหา

จากที่ได้ว่ามา จะเห็นว่ารัฐไทยภายใต้ระบบราชการรวมศูนย์แบบไทยๆ มีส่วนอย่างมากในการสร้างอุปสรรคปัญหาในช่วงการแพร่ระบาด ไล่ตั้งแต่การออกมาตรการป้องกัน เยียวยา และควบคุมโรคระบาด ไปจนถึงการสื่อสารสั่งการที่สับสน ไม่ชัดเจน จนเกิดปัญหาในทุกจุดของห่วงโซ่วิกฤติ

หากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะบอกอะไรสักอย่าง ก็อาจบอกได้ว่ารัฐไทยยังกำลังทำให้สังคมตกอยู่ในสภาวะ ‘ตัวใครตัวมัน’ รัฐไทยกำลังตกอยู่ในวังวนของกระบวนการที่ทำให้ประชาชนแยกกันอยู่แบบปัจเจกชน (Individualization) ที่คนแต่ละคนต้องดิ้นรนด้วยตัวเองเพื่อที่จะมีชีวิตรอดในสังคม

ปรากฏการณ์นี้ยังบอกอีกว่า รัฐไทยจะไม่สร้างมาตรการคุ้มครองประชาชนแบบถ้วนหน้า แต่จะให้ประชาชนแข่งขันแย่งชิงกันเองเพื่อที่จะเข้าถึงเงินเยียวยาและความช่วยเหลืออันจำกัดที่รัฐมีให้ รัฐไทยยังขาดความรอบคอบในการบริหารจัดการและการออกมาตรการ จนทำให้คนจำนวนมากตกขบวนและถูกทิ้งให้ต่อสู้เพียงลำพัง

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนว่า รัฐไทยไม่ประสบความสำเร็จนักในการบริหารจัดการวิกฤติ และยังต้องพัฒนาปรับปรุงอีกมากเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดวิกฤติครั้งใหม่ขึ้นอีกในอนาคต

อ้างอิง

ชัชชล อัจนากิตติ. ประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์และการใส่ใจดูแลท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. มิติทับซ้อนของความเป็นพลเมืองทางชีววิทยาและเศรษฐกิจจากนโยบายและมาตรการของรัฐราชการไทยเพื่อแก้ปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

บุษบงก์ วิเศษพลชัย. “ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” โควิด-19 กับสังคมไทย บันทึกวิกฤติและประสบการณ์ของกลุ่มเปราะบางในการรับมือไวรัสโคโรน่า. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ภูภุช กนิษฐชาต, อภิสิทธิ์ เรือนมูล และ อธิคม คุณาวุฒิ. ทุกข์ยากจากการสื่อสาร: ความป่วยไข้ของข้อมูลท่ามกลางวิกฤติ COVID-19. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
วิวัฒน์ วนรังสิกุล. รายงานประมวลผลการศึกษากลุ่มเป้าหมายบุคลากรด้านการควบคุมโรคและงานเชิงรุก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า